ครอบครัวบรอดแคสต์ติ้งที่ตอนนี้มีสตรีมมิ่งแล้วนะ !!! อีกหนึ่งสาขาวิชาอันโด่งดังของ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง (Broadcasting and Streaming Media Production) อยากรู้จักสาขาวิชานี้ให้มากขึ้นต้องทำความรู้จักกับศิษย์เก่าอดีตนักศึกษาประธานภาคบรอดฯ นิเทศ ม.กรุงเทพ ที่ตอนนี้กำลังโลดแล่นตามหาความฝันในสายบันเทิง เด็กบรอดบียูต้องคุ้นหน้าคุ้นตาพี่เขาเป็นอย่างดีแน่นอน
เราจะพาเพื่อนทุกคนมาทำความรู้จักกับอดีตประธานภาคบรอดแคสต์ติ้ง สุดเท่ คาแรคเตอร์ สุดจ๊าบ พี่แมลงปอ-อติคุณ คุณทะวงศ์ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
พี่แมลงปอ-อติคุณ คุณทะวงศ์ อดีตประธานภาคบรอดฯ นิเทศ ม.กรุงเทพ
ก้าวแรกของการเป็นประธานภาค
พี่ปอเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของการได้เป็นประธานภาคคือการเข้าร่วมเป็นสตาฟภาคของภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งในชั้นปีที่ 3 ตอนนั้นพี่รู้สึกว่าอยู่ปีสามแล้ว แต่ไม่เคยเข้าชมรมอะไรเลย มีแค่กลุ่มเพื่อนไม่กี่คน แล้วเราเรียนนิเทศมันก็ควรจะมีคอนเนคชั่นอะไรบ้าง เลยอยากหากลุ่มกิจกรรมอยู่ มีโอกาสมาเจอรุ่นพี่ภาคบรอดฯ ที่เขาเข้ามาประชาสัมพันธ์ในคาบเรียน เลยตัดสินใจเข้าไปเป็นสตาฟภาค ก็เริ่มจากการเป็นรุ่นน้องในภาคก่อนนี่แหละ ทำไปทำมาก็ถึงช่วงเวลาเลือกประธานภาคคนใหม่ ก็ได้รับเลือกจากเพื่อน ๆ ทุกคนให้เป็น
ตอนนั้นที่ได้รับเลือกเป็นลมไปเลย ร้องไห้ด้วย ช็อคกลางที่ประชุม เพราะว่าเขาให้โหวตแบบเสียงส่วนมาก ร้อยกว่าคน พอรู้ว่าเราได้รับเลือกให้เป็น ก็ช็อคเลย เพราะไม่ได้อยากเป็นตั้งแต่แรก ที่ไม่อยากเป็น เพราะรู้สึกว่าเราอยากเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่มีเวลาหลังเลิกเรียนไปเที่ยว ไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร
ภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของนักศึกษาประธานภาค
หน้าที่หลักของประธานภาคคือ ต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ เช่น ในกิจกรรมงาน Open House ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ต้องคุยกับแต่ละฝ่ายว่า เราจะสอนอะไรน้อง เราจะสอนน้องยังไง เราจะเอากิจกรรมไหนให้น้องได้ลองทำ ให้น้องได้รู้ว่าทำแบบนี้ เรียนรู้อันนี้จากตรงไหน แล้วนอกจากเรื่องการสอนแล้ว เราจะให้รุ่นน้องในภาคเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์งาน หรือว่ารายการที่จะต้องใช้ในปีนั้น ๆ จะมีการรันรายการให้ดูเหมือนกับจำลองหรือถ่ายทำรายการจริง เป็นสิ่งที่เราจะโชว์ให้เด็ก ๆ มาดู วันหนึ่งก็จะโชว์ 2 ถึง 3 รอบ เพื่อให้น้องได้เห็นข้อผิดพลาดตรงนี้ว่า เป็นยังไง ต้องแก้ไขตรงไหน เพิ่มตรงไหน ลดตรงไหน อันนี้ก็จะเป็นพาร์ทหรือหน้าที่ของการเป็นประธาน
เราก็จะคอยดูแลในส่วนของน้องก็คือประชุมกัน คุยกัน ในรุ่น เด็กทุกคนที่พึ่งเข้าประชุมกันก็จะมาระดมสมองกันทุกวัน ในช่วง 5 โมงเย็น ก็จะนัดรวมตัวกัน แล้วก็เอางานที่รับผิดชอบออกมาโชว์ มาแสดงให้เห็นว่า เราเป็นไงบ้าง ก็จะมีทั้งในช่วงของการซ้อม การแสดง แล้วรุ่นพี่ก็จะมาช่วยดู นอกจากนี้ ก็มีอาจารย์ที่จะมาช่วยดูว่าขาดตรงไหน เพิ่มตรงไหน ลดตรงไหน หรือว่าอยากได้อะไรเพิ่ม อาจารย์ก็จะช่วยเหลือด้านพวกนี้ด้วย เห็นได้ว่าการเรียนและกิจกรรมในสาขามีอาจารย์คอยเป็นโค้ชให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลา
เด็กบรอดเข้าภาคคืออะไร ? เข้าแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง ?
การเข้าภาคคืออะไร ? การเข้าภาคหรือไปเป็นสตาฟภาคคือการที่เราเข้าไปทำกิจกรรมให้ภาควิชาของเรา ในภาควิชา หรือคณะไหนก็ตาม มันจะต้องมีกลุ่มนักศึกษาที่เป็นกลุ่มแกนนำในการทำกิจกรรม คอยเป็นตัวตั้งตัวตีทำกิจกรรม การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างภาค ระหว่างคณะของมหาวิทยาลัย ต้องมีสตาฟคอยช่วยกัน การเป็นสตาฟภาค จึงเป็นการเข้าไปทำกิจกรรมให้กับภาค ไม่ว่าจะเป็น งาน Open House, Cheers Day หรือ Sport Day รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของสาขาวิชาที่จัดอย่างสม่ำเสมอ เช่น พี่พบน้อง เป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์ ทำให้เราได้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง ในรุ่นเดียวกัน รู้จักอาจารย์ในสาขา มีอะไรก็จะคอยช่วยเหลือกัน
พี่ปอยังเล่าต่อถึงการทำงานเป็นสตาฟว่า ในภาคบรอดฯ ของเรา ก็จะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ Casting, Art, Technique, Stage ฝ่ายที่ 1 Casting ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ดูแลเบื้องหน้าทั้งหมด เช่น การแสดงโชว์ การเป็นพิธีกร MC นักข่าว ฝ่ายที่ 2 ฝ่าย ART ก็ตามชื่อเลย จะเป็นฝ่ายที่คอยดูแล พรอพ ฉาก เมคอัพ รวมไปถึงการกำกับศิลป์อีก มากันที่ฝ่ายที่ 3 ฝ่าย Technique ฝ่ายนี้จะควบคุมดูแลสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกราฟิก มุมกล้อง แสง ไฟ หรือจะเป็นห้อง คอนโทลรูม ที่น้อง ๆ ที่จะเข้าภาคต้องเรียนรู้ ซึ่งฝ่ายเทคนิคจะเป็นฝ่ายที่เข้ามาดูแล ฝ่ายสุดท้าย ฝ่าย Stage ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่คอยประสานงานกับทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน อย่างเช่นจะเป็นคนคอยดู กำกับคิว ในการดำเนินการรายการทั้งหมด คอยประสานงานเพื่อน ๆ ทุกคน เป็นคนที่คอยรวบรวมงานทุกอย่าง และท้ายสุดก็จะมีฝ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา เรียกว่าฝ่าย Creative คือ จะเป็นฝ่ายที่รวมเด็ก ๆ ของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 1 ถึง 2 คน มารวมกัน และให้ครีเอทีฟคอยดู เรื่องของการสร้างสรรค์ว่าฝ่ายตัวเองขาด ลด ตรงไหน หรือควรเพิ่มตรงไหนยังไง
ฟังพี่ปอเล่ามาถึงตรงนี้ เรียกได้ว่าการเข้าภาคทำให้เราเรียนรู้การทำงานจริง แบบมืออาชีพ ได้ทำงานกับเพื่อน ๆ หลากหลายฝ่ายที่ทุกคนมีแพสชั่นในการทำงานด้านโปรดักชั่นหรือการผลิตรายการ เป็นทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่จะผลิตผลงานบันเทิงไปด้วยกัน การเข้ามาทำงานตรงนี้ นอกจากจะได้คอนเนคชั่นในการทำงานแล้ว สิ่งที่ได้รับนอกจากนั้นคือประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน มิตรภาพจากเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องในภาค ซึ่งดีต่อการทำงานในอนาคต
ประสบการณ์ที่ดีที่สุด แย่ที่สุด ที่จะไม่มีวันลืม
ที่ประทับใจที่สุดเลยสำหรับพี่ปอคืองาน Open house เพราะว่ามันเป็นงานใหญ่ เป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับภาค ปีที่พี่เป็นประธานภาค ได้มีโอกาสได้ทำคลิปโปรโมทคณะนิเทศศาสตร์ โดยให้นักศึกษาประธานภาคแต่ละภาคมาแร็ปโปรโมท แล้วคลิปนั้น เป็นคลิปที่มีคนดูเยอะที่สุด ตั้งแต่คณะนิเทศศาสตร์ทำคลิปวิดีโอคอนเทนต์ลงใน Facebook เป็นคลิปที่คนคอมเม้นท์เยอะที่สุด และกระแสตอบรับดีมาก แล้วทำให้งาน Open House ปีนั้น คนมาร่วมงานเยอะมาก พี่ปอย้อนรำลึกความหลังที่พึ่งผ่านมาไม่นานให้เราฟัง
อีกอย่างหนึ่งคือมีพลังส่งไปถึงศิลปินหลายคนที่มาร่วมงาน งาน Open House ของมหาวิทยาลัยโดยปกติจะมีดารา ศิลปิน มาร่วมกันอยู่แล้ว แต่ว่าของภาคเราต้องจัดการกันเอง ซึ่งในปีนั้นภาคบรอดฯ ทำใน Theme Hip-Hop เหมือนรายการ The Rapper เอาศิลปินฮิปฮอปมา ซึ่งคลิปนี้มันส่งไปถึง พี่ Twopee Southside ทำให้วง Southside เข้ามาร่วมแจมกับภาคบรอดฯ งานปีนั้นจึงสนุกมาก มีสีสันมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด
ส่วนประสบการณ์ที่แย่แต่ได้เรียนรู้และคุ้มค่ามากที่สุดคือช่วงที่เราเข้าไปเป็นสตาฟใหม่ ๆ สมัยตอนปีสาม มันเหมือนกับว่า เราก็ไม่อยากทิ้งการเรียน และก็ไม่อยากทิ้งการเข้าภาค เราเลยมุ่งมั่นมาก ๆ กับทั้งสองอย่าง ทำให้เวลาใช้ชีวิตของเรา มันน้อยลง เวลานอนเราก็น้อย บ้านเราก็ไม่ค่อยได้กลับ มันจะมีช่วงนึงที่ไม่ได้กลับบ้านเลย เป็นช่วงที่ทำให้เรามีปัญหากับคนรอบข้าง ทั้งแฟน พ่อแม่ ครอบครัว เขาก็จะไม่ค่อยเข้าใจเราว่า ทำอะไรดึกขนาดนั้น ซึ่งจริง ๆ เราก็ทำงานในภาคเนี่ยแหละ แต่พอพูดไปเขาก็ไม่ค่อยเชื่อ ก็เป็นช่วงที่แย่ที่สุดตอนนั้น เพราะไม่มีใครเข้าใจเลย
เราไม่ได้ทำงานตัวคนเดียว
การทำงานร่วมกับคนหมู่มากไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นประธานภาคด้วยแล้วหน้าที่คือการเป็นตัวหลักในการทำงานต่าง ๆ ประสานกับอาจารย์ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ทำให้งานหรือกิจกรรมของภาควิชาสำหรับลุล่วงไปได้ เราถามต่อว่าเมื่อมีอุปสรรคและปัญหาเข้ามาพี่ปอมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
สำหรับพี่สิ่งแรกคือ ต้องให้กำลังใจตัวเอง ต้องตั้งใจทำให้มันสำเร็จ ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำมันจริง ๆ นี่คือ การทำงานกับคนหมู่มาก ต้องทำงานกับอาจารย์ ทำงานกับมหาวิทยาลัย เราไม่ได้ทำงานอยู่คนเดียว เวลาเรามีปัญหาที่สามารถช่วยกันแก้ไขได้ และเราก็อยู่ช่วยกันตลอด อันนี้แหละคือสิ่งที่ดี และวิเศษมากสำหรับพี่ เราไม่ได้เปรียบเทียบสิ่งที่ได้ด้วยชื่อเสียง เงินทอง แต่เรามองไปทางด้านความสัมพันธ์ เรื่องของความทรงจำ พี่รู้สึกว่ามันคุ้มมาก ๆ เพราะการที่นักศึกษาคนหนึ่งที่ชีวิตธรรมดาได้มาเจออะไรแบบนี้มันไม่ได้หาง่าย ๆ
ส่วนตัวหากจะบอกว่าการรับหน้าที่นักศึกษาประธานสาขาคือตำแหน่งที่ยืนหนึ่ง คำนี้มันไม่ได้หมายถึงเราเด่นคนเดียวนะ ถ้าจะให้เรียกว่ายืนหนึ่งได้ เราก็ต้องรู้จักทุกคนที่ยืนรอบตัวเรา เราต้องเป็นมิตรกับทุกคนที่ยืนรอบตัวเรา เราเป็นตรงกลางที่ทุกคนรู้จักเรา เหมือนเราเป็นดวงอาทิตย์และทุกคนคือดวงดาวที่อยู่รอบตัวเรา ทุกคนได้พลังงานจากเรา เราต่างเติมพลังงานให้กันและกัน จนทำให้งานประสบความสำเร็จ
How to บินตามความฝันแบบแมลงปอ
ตอนนี้พี่ปอได้โลดแล่นโบยบินออกตามความฝันในสายงานบันเทิงที่ชื่นชอบ กำลังเดินทางตามความฝันโดยใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา พี่ปอบอกเคล็ดลับการเดินตามความฝันของตัวเองกับเราด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า การวิ่งตามความฝันก็เหมือนการยกเวท ถ้าเราทำบ่อย สักวันมันก็จะประสบความสำเร็จ
จากการสนทนาเราได้บทสรุปจากผู้ชายคนนี้เพื่อก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ คือปรับตัว อดทน และรอคอย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่แมลงปอ-อติคุณ คุณทะวงศ์ อดีตนักศึกษาประธานสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง (Broadcasting and Streaming Media Production) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ