มารู้จัก Self-doubt ความสงสัยที่ทำร้ายตัวเอง

เราเป็นใครและเราต้องการอะไรกันแน่ ค้นหาตัวตนเพื่อพบเหตุผลในการมีชีวิตอยู่

         คุณเคยเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นในใจไหม

         คำถามที่ว่าเราเป็นใคร และต้องการอะไรกันแน่

         ทุกคนคงจะรู้กันดีว่าการค้นหาตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางคนก็โชคดี ได้รู้จักตัวตนและความต้องการของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนกว่าจะรู้ตัวก็อยู่ในช่วงวัยกลางคนเข้าไปแล้ว บางคนเจอสิ่งที่คิดว่าใช่ แต่พอได้ลงมือทำกลับรู้สึกว่ามาผิดทาง ในขณะที่หลายคนใช้เวลาจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตโดยที่ไม่มีโอกาสได้รู้เลยด้วยซ้ำว่าพื้นที่ของตัวเองอยู่ที่ไหน

         เป้าหมายในชีวิตของทุกคนล้วนแตกต่างกัน สำหรับคนที่รู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร การเลือกเส้นทางเดิน การศึกษา และการหาประสบการณ์อาจจะทำได้ง่ายกว่า แม้ว่าจะมีอุปสรรค อย่างน้อยก็ยังรู้ทิศทางอยู่บ้าง ทว่าเมื่อพูดถึงคนอีกกลุ่มที่เป้าหมายยังไม่ชัดเจน ความชอบ ความถนัดก็ยังไม่โดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ ก็ช่างเป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินที่พวกเขาจะเดินหลงทาง และก็เป็นเรื่องง่ายมากเช่นกันที่จะเกิดเป็นความรู้สึกสงสัยในตัวเองขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อต้องมาอยู่ท่ามกลางสังคมที่ทุกคนล้วนมีความฝัน พลังใจ และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า แถมยังพากันประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างในสมัยนี้

คำถามเกี่ยวกับตัวเราที่ทุกคนต่างหาคำตอบ

         เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่

         เรามาถูกทางหรือเปล่า

         ทำไมเราไม่มีแพสชั่นเหมือนคนอื่นเขา

         เราดีไม่พอ หรือยังพยายามไม่มากพอกันแน่

         เราควรอยู่ตรงนี้ ทำสิ่งเหล่านี้จริงหรือ

         การตั้งคำถามกับตัวเองใช่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป ในเมื่อการทบทวนและย้อนกลับมามองดูตัวเองอยู่เรื่อย เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว การสำรวจ และวิเคราะห์ตัวเองอย่างจริงจังโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจ และพัฒนาตัวเราไปได้ไกลยิ่งขึ้นได้ หากรู้ไม่ทันอารมณ์ ความคิดเหล่านั้นก็จะเข้ามาในรูปแบบของความรู้สึกเชิงลบ หรือความสงสัยในตัวเอง (Self-doubt) แทน

ความสงสัยในตัวเอง (Self-doubt)

         ความสงสัยในตัวเอง หรือ self-doubt คือภาวะความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือความไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตน ความรู้สึกเหล่านี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีชนวนความคิดแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นบุคลิก นิสัยส่วนตัว ทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมา สภาพแวดล้อม การถูกเปรียบเทียบ หรือความสัมพันธ์ที่มีกับบุคคลอื่น

         หากฟังแค่ผ่านหูไป เพียงแค่ชื่อ อาการ self-doubt อาจจะฟังดูเป็นเรื่องไม่หนักหนาสาหัสอะไร ทว่าความรู้สึกด้านลบเป็นพลังงานที่ไม่เคยให้ประโยชน์อะไรกับเรา มิหนำซ้ำยังจะดูดเอาพลังงานที่ดีของเราออกไปแทนเสียอีก และหากปล่อยทิ้งไว้จนสะสมขึ้นมาก็สามารถกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้ ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีที่จะสังเกตตัวเอง และหาทางรับมือเมื่อเกิดความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้ เพื่อให้ความกังขาในตนเองนี้ทำร้ายเราได้น้อยที่สุดนั่นเอง

         เพราะ self-doubt สำหรับบางคน อาจเป็นอารมณ์เพียงชั่ววูบที่ใช้เวลาไม่นานในการกำจัดทิ้ง แต่สำหรับใครหลายคนที่ไม่สามารถดึงตัวเองออกมาจากการถูกครอบงำ และจมจ่อมอยู่กับความคิดด้านลบ ความสงสัยในตัวเองนี้จะสามารถพัฒนาและส่งผลกระทบกับชีวิตโดยรวมไปโดยปริยาย

อาการของ self-doubt เป็นอย่างไร

         ระยะแรก ผลกระทบที่เห็นได้ชัดมักมาในรูปแบบของความรู้สึกหมดพลังงาน ไม่มีแรง และไม่อยากทำอะไรเพราะรู้สึกทำได้ไม่ดี ตามมาด้วยการหลบเลี่ยงกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เคยทำ ควรทำ หรือต้องทำ เพื่อเลี่ยงความรู้สึกบั่นทอนข้างต้น จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยลงมากขึ้น

         ระยะต่อมา เมื่อประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความรู้สึกไม่มั่นใจและไร้ความสามารถก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้นมาอีก โดยหากว่ายังไม่สามารถจัดการกับ self-doubt ที่มีอยู่ได้ ปัญหาก็จะยิ่งสะสมมากขึ้น และเมื่อล้มเหลวในการทำงานหรือกิจกรรมมีติดต่อกันหลายครั้ง สิ่งที่อาจจะตามมาได้ก็คือความกลัวที่จะเริ่มต้นลงมือทำสิ่งใหม่หรือความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการตอกย้ำความล้มเหลว และความไม่มีประสิทธิภาพของตนนั่นเอง

         เมื่อมาถึงระยะนี้แล้ว ความรู้สึกสงสัยในตัวเองก็จะยิ่งทวีคูณ และมีแต่จะกำจัดออกไปยากขึ้น ความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะระหว่าง self-doubt กับการมองตัวเองอย่างซื่อสัตย์จะพากันดิ่งลงจนแยกออกจากกันแทบไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวมีความภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) และเกิดความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง (Self-loathing) ขึ้นมา ซึ่งหากตกอยู่ในสภาวะนี้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดเป็นภาวะหรือโรคซึมเศร้า (Depression) โรคแพนิค (Panic disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ขึ้นมาได้

แล้วเราควรจะจัดการกับความสงสัยในตัวเองอย่างไร

         เริ่มจากเราควรหมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกหมดเรี่ยวแรง หมดกำลังใจ ไม่มีพลังงาน หรือรู้สึกไม่ดีกับตนเองเท่าที่เคย ควรจะรีบเปลี่ยนบรรยากาศ หาอะไรทำเพื่อลดพลังงานด้านลบทันที และหากความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้ตกค้างอยู่เป็นเวลานานหลายวันเกินปกติ สามารถสงสัยว่านี่คือภาวะของ self-doubt ได้เลย

         เมื่อเกิด self-doubt ขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบหรือไม่ก็ตาม เราควรกำจัดออกไปให้เร็วที่สุด โดยจะใช้วิธีการใดก็ได้ เนื่องจากแต่ละคนก็มีวิธีในการเติมพลังให้ตัวเองให้ได้ผลต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา เล่นกับน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน คุยกับครอบครัว ย้อนกลับไปมองตัวเองตอนเด็กหรือกระทั่งยกเอาผลงานที่ภูมิใจ หรือเคยมั่นใจกลับขึ้นมาดูอีกครั้ง เพราะไม่ว่าวิธีการใดก็นับเป็นวิธีที่ดีทั้งนั้น หากว่าวิธีการดังกล่าวสามารถช่วยเรียกความเชื่อมั่นและความรู้สึกดีต่อตนเองกลับมาได้              

โอบกอดความกลัวของตนเอง

         หากว่ารู้ตัวช้าไปสักหน่อย self-doubt เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงกับจิตใจ และประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตแล้ว หรือหากรู้ตัวว่าอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถจะฟื้นฟูตัวเองได้มากพอ โปรดอย่าลังเลที่จะปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาทันที

         ปัจจุบันก็มีศูนย์บริการด้านจิตเวชที่สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลินิกเฉพาะทาง แผนกจิตเวชในโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง โรงพยาบาลจิตเวชโดยตรง สถานศึกษา รวมไปถึงบริษัทหลายแห่งเองก็เริ่มมีสวัสดิการให้บุคลากรเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ขององค์กรได้ในราคาพิเศษแล้วด้วยเช่นกัน หรือหากกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จะลองเริ่มต้นจากการรับคำปรึกษาผ่านทางช่องทางออนไลน์ในราคาถูกกว่า หรือรับคำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ผ่านช่องทางโทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

         อย่าลังเลหรือพยายามฝืนทนเพียงเพราะกลัวถูกมองไม่ดี เพราะการรับความช่วยเหลือไม่ใช่ความผิด ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอหรือไม่เข้มแข็งเท่าคนอื่น และการเข้ารับการรักษาไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าอายเช่นเดียวกัน อาการป่วยทางจิตเวชนั้นเหมือนกับความเจ็บปวดทั่วไปที่มีที่มา อาการเหล่านี้ทำให้เราเจ็บปวด มีความรุนแรงหลายระดับ และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี

         ความสงสัยในตัวเองเกิดได้จากหลายปัจจัย วิธีการกำจัดจึงต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล และต้องอาศัยการประเมินอาการและทัศนคติ รวมถึงการปรับนิสัยอีกหลายขั้นตอน ระยะเวลาในการฟื้นฟูตัวเองของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวล รีบเร่ง หรือกดดันตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับการให้เวลากับจิตใจในการฟื้นฟู เพราะเมื่อเราสามารถก้าวผ่านมันไปได้แล้ว และกลับมาแข็งแรงดีอีกครั้ง เราเองก็จะมีความสุขกับการเดินบนเส้นทางของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจตนเอง เป็นตัวของเราเองที่พร้อมจะเรียนรู้จักตัวตนที่เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในทุกวัน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

Cambridge University. SELF-DOUBT. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/self-doubt

Merriam-Webster. Self-doubt Definition & Meaning – Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.merriam-webster.com/dictionary/self-doubt

Tchiki Davis, MA, PhD. Self-Doubt: Definition, Causes, & How to Overcome Doubts. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.berkeleywellbeing.com/self-doubt.html

10 Tips to Overcome Self-Doubt. (2563, 29 ตุลาคม). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://eugenetherapy.com/article/overcome-self-doubt

ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com

ขอขอบคุณภาพหน้าปกประกอบเรื่อง Photo by Alexandru Zdrobău on Unsplash

Writer & Graphic

ยังไม่เก่ง ก็ไม่เป็นไร สู้คนอื่นไม่ไหว ก็ไม่เป็นไร ถ้าวันนี้เดินไม่ไหว ก็พักเติมพลังให้ตัวเอง แล้วค่อยลุกมาสู้ต่อพรุ่งนี้นะ

Writer

อะไรจะดีไปกว่าการแต่งแต้มศิลปะบนเรือนร่าง และสลัดมันฝรั่ง หลังเดินป่า 10 กิโล