ก้าวออกจากเซฟโซน ต่อยอดสร้างโอกาสฝึกงานกับองค์กรในฝัน เติมเต็มประสบการณ์การเรียนรู้ คุยกับรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่ข้าวสวย-ณิชาพร เล็กสมบูรณ์ รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ด้วยความชอบที่จะศึกษาค้นคว้า เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ พี่ข้าวสวยก้าวสู่เส้นทางนักสื่อสาร นักคิดสร้างสรรค์ที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอรักในการเรียนรู้ แม้ว่าจะเป็นคน Introvert แต่ก็อยากได้ประสบการณ์และคอนเนคชันในการทำงานด้วย
นอกจากเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว เธอยังเข้าร่วมโครงการพิเศษ ATIME x BRS GET 2 GO คัดเลือกนักศึกษาไปฝึกงานกับองค์กรสื่อชั้นนำของประเทศไทย อย่าง Atime Media บริษัทสื่อที่ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์และสื่อออนไลน์มากมาย เช่น คลื่นวิทยุ Green wave, EFM 94 รายการแฉ ทันทุกกระแสแชร์ทุกข่าว พุธทอล์คพุธโทร Club Friday และรายการยอดฮอตติดกระแสอีกมากมาย
พี่ข้าวสวยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับโอกาสฝึกงานกับโครงการ ATIME x BRS GET 2 GO ในตำแหน่งกราฟฟิก เรามาฟังเรื่องราวของพี่ข้าวสวย เกี่ยวกับความชื่นชอบในงานด้านสายสื่อไปพร้อมกัน
ฝึกฝน ขัดเกลา คือจุดเริ่มต้นของฝันใหม่
การฝึกฝนเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ พี่ข้าวสวยไม่ได้ชื่นชอบการทำงานด้านกราฟฟิกมาตั้งแต่แรก หากแต่เมื่อเริ่มทำช่อง YouTube ของตัวเองจากการแนะนำของครอบครัวและเพื่อน และผลงานกราฟิกส่วนใหญ่ที่สร้างโอกาสได้เข้าไปฝึกงานกับ Atime
“เราไม่ได้ชอบทำงานกราฟฟิกมาตั้งแต่แรก แต่พอเราทำช่อง แล้วก็ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งตัดคลิปเอง ทำปกคลิปเอง ก็ทำให้เราชอบกราฟฟิกไปด้วย ความตั้งใจแรกที่เริ่มทำคือการบันทึกความทรงจำ เหมือนกับบันทึกกิจวัตรประจำวันในวันนี้เผื่อในอนาคต 10 ปี หรือ 20 ปี ข้างหน้ากลับมาดูก็เหมือนเราได้ย้อนกลับไปในวันนั้น ภาพจำหลายอย่างก็ยังชัดเจนราวกับเปิดความทรงจำในไดอารี่ของเรา”
พี่ข้าวสวยเล่าถึงประสบการณ์จริงในการฝึกงานว่า “เวลาในการทำงานจริงคือประมาณ 9 โมง เลิกเกือบ 1 ทุ่ม แต่ว่าทีมกราฟิกที่เราทำค่อนข้างชิล เข้างานประมาณ 10-11 โมงก็ได้ ส่วนเวลาเลิกงานจะขึ้นอยู่กับแต่ละวันว่าเราทำงานเสร็จเมื่อไหร่ ถ้าวันนั้นบรีฟมาเร็วก็จะทำงานเสร็จเร็ว 5 โมงก็กลับแล้ว แต่ถ้าบางวันบรีฟมาช้าก็เกือบ 1 ทุ่ม แล้ว เราก็จะทำปกคลิป แล้วก็เอาไปลง แต่ก็แล้วแต่วันว่าวันไหนจะได้ทำอะไรบ้าง”
การทำงานจริงแตกต่างจากการเรียนตรงที่ว่า ต้องมีความพร้อมในการทำงาน คิดสร้างงานได้ด้วยตนเอง ลงมือทำ มีสมาธิ ทำงานให้เสร็จตามเวลา นี่คือสิ่งที่พี่ข้าวสวยได้เรียนรู้
แรงบันดาลใจจากศิลปินที่ชื่นชอบ
ศิลปินที่ชอบเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานและเธอมีความฝันว่าอยากทำอะไรสักอย่าง เช่น การโปรโมทศิลปินทางอ้อมด้วยผลงานอาร์ตเวิร์คที่พี่ข้าวสวยทำเอง เพื่อสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของศิลปินคนนี้ที่เรารัก และตั้งแต่ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในทีมงาน ก็ทำให้เธอได้มีโอกาสทำงานที่รัก และยังสามารถโปรโมทหรือสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบได้อีกด้วย
ครั้งหนึ่งพี่ข้าวสวยได้ทำอาร์ตเวิร์ครายการแฉ โดยมีแขกรับเชิญเป็นศิลปินบอยแบนด์เกาหลีอย่างวง POW ที่มีสมาชิกคนไทยคือ ยอร์ช–ยงศิลป์ วงศ์พินิตนนท์ จากงานนี้สิ่งที่ทำให้ใจฟูคือค่ายต้นสังกัดของวงยังแชร์งานออกไปให้แฟนคลับคนอื่นเห็นอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นติ่งที่แต้มบุญสูงสุด
เดินตามฝัน เก็บประสบการณ์
ไม่เพียงเท่านั้น พี่ข้าวสวยเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า การเป็นเด็กฝึกงาน ไม่เพียงแต่ฝึกฝนทักษะ ความรู้ และฝีมือเท่านั้น แต่ยังสานฝันติ่งตัวน้อยด้วยประสบการณ์สุดฟินอย่างการทำอาร์ตเวิร์คให้ศิลปินชื่อดังตามมาอีกหลายคนเลย
อย่าง พี่เจฟ-วรกมล ซาเตอร์ หรือ พี่เจฟ ซาเตอร์ โดยเธอเล่าให้เราฟังถึงความทรงจำที่ประทับใจและจะจำไม่มีวันลืมจากการฝึกงานว่า “วันนั้นเราทำกราฟิกรายการแฉแล้ว เจฟ ซาเตอร์มาเป็นแขกรับเชิญ ชอบเจฟมาก แล้วเขาแชร์งานของเราไปลงเพจของเขา พอเราก็ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ เราเลยบอกกับเขาว่า งานอาร์ตรายการแฉอันนี้เราเป็นคนทำนะ แล้วเจฟเป็นคนแชร์เองด้วย เลยทำให้เราดีใจมาก”
“เจฟ appreciate กับงานของเรา เราก็ appreciate ในตัวเขาด้วยเหมือนกัน เราก็บอกเขาว่าวันนั้นร้องไห้เลยนะรู้มั้ย เจฟก็แบบดีใจด้วยนะที่ได้ทำตามความฝัน คือเมนพูดคำนี้กับเรา เลยทำให้เราดีใจมากขึ้นไปอีก วันนั้นก็ร้องไห้ไปอีกรอบ แล้วตอนก่อนที่เจฟจะกลับ เขาบอกพี่ในทีมว่าฝากดูแลคุณวันเสาร์ (ชื่อแฟนคลับของเจฟ) ด้วยนะแล้วก็ชี้มาที่เรา เราจำไม่ลืมเลย”
แต่การทำงานไม่ใช่ว่าจะโชคดีได้ทำแค่งานที่เราถนัดเสมอไป เรายังต้องเจอกับอะไรบางอย่างที่เราไม่ถนัด ไม่ชอบ หรือไม่เคยทำมาก่อนอีกมากมายในชีวิต แต่หากเราไม่ลองเผชิญหน้ากับมันก็เหมือนกับว่าเรากำลังย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปไหน แต่หากลองลงมือทำ สิ่งที่ได้คือเก็บประสบการณ์
ทั้งที่พี่ข้าวสวยมีความกลัวผีมาก ไม่กล้าที่จะดูรายการผี หรือไม่แม้แต่คิดว่าจะได้มาทำรายการผีด้วยซ้ำ แต่ต้องมาทำรายการอังคารคลุมโปง แต่ความน่ากลัวจึงเป็นทั้งความท้าทาย โอกาส เพราะเมื่อได้เข้ามาทำงานในฐานะนักศึกษาฝึกงานแล้ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ การได้รับประสบการณ์กลับไปคือสิ่งที่สำคัญและคุ้มค่าอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นคนกลัวผี ต้องต่อสู้กับความลำบากเพราะเรื่องผีในช่วงแรก แต่พอผ่านพ้นมันมาได้ตอนนี้ก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
“เห็นได้ชัดเลยว่างานเราพัฒนามากขึ้น จากตอนที่เข้ามาฝึกงานช่วงแรกที่เราแก้งานหลายดราฟต์มาก แต่พอหลัง ๆ เราทำแก้แค่ประมาณสองดราฟต์งานก็ผ่านแล้ว ทำให้เราเห็นว่าตัวเองพัฒนาจากวันแรกมากแค่ไหน และรู้สึกว่าตั้งแต่ได้มาทำงาน เราได้รู้จักพี่ในทีมและคนจากทีมข้างนอกเยอะมาก ได้รับ Connection จากการฝึกงานเยอะมาก”
กล้าที่ก้าวออกจากเซฟโซน
พี่ข้าวสวยเป็นผู้หญิงตัวเล็กแต่เต็มที่กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องการทำงาน กิจกรรมที่เคยทำในมหาวิทยาลัยคือเป็นหนึ่งใน Staff งาน Open House BU แต่พี่ข้าวสวยบอกกับเราว่า “จริง ๆ แล้วเราเนิร์ดมาก เรียนอย่างเดียว แล้วก็ไม่ค่อยชอบทำกิจกรรมด้วยซ้ำ คือเราเป็น Introvert มาก แต่ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดไปว่าเราจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องออกมาจากเซฟโซนของเราบ้าง เราอยากทำกิจกรรมแล้วมี Connection กับคนอื่นบ้าง อยากมีเพื่อนหลายคนก็เลยลองก้าวออกมาทำกิจกรรมมากขึ้น”
“อยากจะบอกเขาว่าอยากให้ลองออกจากเซฟโซนของตัวเองดู เพราะตอนแรกเราก็เป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก อยู่ในเซฟโซนของตัวเองมาโดยตลอดและนานเหมือนกัน อยากให้ทุกคนลองออกมาจากกรอบเดิม ลองเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือลองทำอะไรที่เราไม่เคยทำดู บางทีเราอาจจะได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป หรือถ้าได้ประสบการณ์ที่ไม่ดีก็ไม่เป็นไร ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราโตขึ้นและผ่านพ้นอุปสรรคที่ต้องเจอไปได้มากขึ้นแบบนี้ อยากให้ลองออกมาจากเซฟโซนของตัวเอง เพราะเราอาจจะได้เจอโลกใบใหม่และเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น”
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่เป็น Introvert ไม่ต้องกลัวนะ แค่กล้าที่ก้าวออกจากเซฟโซน ใช้ความเป็น Introvert ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน เพียงแค่นี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้โลกกว้าง และเปิดประสบการณ์ใหม่อีกมากมายเลย