Mental Healing เมื่อใจของเธอเจ็บปวด มาหาทางฮีลใจให้บรรเทา

จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยพลัง จะพาโบยบินไปยังความฝันที่หวังไว้

         จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การดูแลสุขภาพจิตใจก็มีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เมื่อสุขภาพใจดีทำให้เรามีพลังในการเรียนและการทำงาน พวกเราสนใจเรียนรู้เรื่องจิตใจ จึงได้ไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคและกลุ่มอาการที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจในวัยเรียนมาแบ่งปันกับเพื่อนทุกคน พร้อมยกตัวอย่างอาการเจ็บป่วยทางจิตใจจากภาพยนตร์และซีรีส์มาเป็นกรณีศึกษาให้ได้เรียนรู้ด้วยกัน

พลังของจิตใจช่วยเติมเต็มฝันให้เป็นจริง

         วัยรุ่นอย่างพวกเรามีเรื่องที่ต้องทำมากมาย บางคนเรียนและทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียนไปด้วย บางคนเรียนออนไลน์แล้วไม่มีความสุข การรับมือกับจิตใจที่เปราะบาง อารมณ์ที่แปรปรวนเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้

         ทุกคนรู้หรือไม่ว่า มี 3 สภาวะทางด้านจิตใจที่มักเกิดขึ้นในวัยรุ่น อาจจะมีสาเหตุมาจากความเครียด เช่น เรื่องครอบครัว เพื่อน คนรัก การเรียน การทำงาน รวมถึงปัจจัยอื่นอีกมากมาย

         เราไปทำความเข้าใจกันว่า 3 สภาวะทางจิตใจที่เราเลือกมานำเสนอให้ทุกคนรู้จัก มีผลต่อวัยรุ่นอย่างไรกันบ้าง พร้อมทั้งวิธีจัดการหรือดูแลตัวเองหากตกอยู่ในสภาวะนั้น แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษาและแนวคิดการดูแลจิตใจ เสมือนมีเพื่อนที่เข้าใจคุณอยู่เคียงข้าง

Imposter Syndrome เมื่อฉันยังไม่ดีพอ

         เคยเป็นไหม ไม่ได้มีใครว่าอะไรเราหรอก แต่เรากลับกดดันตัวเอง คิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอ คิดไปเองว่าเรายังไม่เก่ง ทั้งที่เราเองก็พัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างมากมาย นี่คืออาการของโรคที่เรียกว่า Imposter Syndrome คิดว่าตัวเองไม่เก่ง กดดันตัวเองให้ทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ

กรณีศึกษา: แพนด้าโป ที่คิดไปว่าตัวเองไม่ดีพอ

         อาการของคนที่ชอบคิดว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ต้องทำงานเยอะ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีให้เห็นอยู่ในภาพยนตร์เหมือนกัน เรื่องที่เราเลือกมาคือ Kung Fu Panda แพนด้าที่มีชื่อว่าโป มีแนวโน้มจัดอยู่ในอาการ Imposter syndrome

         วันวานในอดีตของโปเป็นแค่แพนด้าลูกเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับการคาดหวังให้กลายเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวเหมือนพ่อของเขา แต่เมื่อจับพลัดจับผลูได้กลายเป็นนักรบมังกร ก็มีทั้งความกดดันและข้อกังขาในความสามารถและรูปร่างของเขาว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนักรบมังกรหรือไม่ นั่นทำให้เขาเริ่มท้อและเกือบจะยอมแพ้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ด้วยความช่วยเหลือและคำชี้แนะจากอาจารย์ของเขา ก็ทำให้โปผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้

         การคิดว่าตัวเองไม่เก่งของโป ทำให้เขาไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง ในภาพยนตร์เราได้เรียนรู้ว่าโปพยายามที่จะฝันฝ่าอุปสรรคทางด้านจิตใจ การที่จะก้าวข้ามเรื่องแบบนี้ หรือพยายามอยู่กับมันให้ได้ แค่ตัวเราคนเดียวอาจจะไม่พอ เราอาจจะเริ่มจากตัวเอง หรือลองเปิดใจระบายกับใครซักคนก่อนที่จะเดินหน้าต่อ นั่นอาจจะดูช้าดูไม่ทันใครเขา แต่คนเราก็มีวิธีนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน ถ้าเราลองถอยหรือหยุดพักซักหน่อย เราก็อาจจะมีวิธีที่เหมาะกับเราซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวเดินต่อไปได้

Burnout Syndrome เครียดเกินไปจนกลายเป็นหมดกำลังใจ

         เรียนหนัก ทำงานหนัก ครอบครัวมีปัญหา คนรักไม่มีเวลาให้ ทุกอย่างถาโถมเข้ามาจนกลายเป็นอาการของโรคที่ชื่อว่า Burnout Syndrome โดยเฉพาะหากต้องรับผิดชอบงานที่ไม่ถนัดเป็นเวลานานจนทำให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ไม่มีแรง กำลังใจ หรือสมาธิ รู้สึกว่างานนั้นเกินความสามารถของเรา

กรณีศึกษา: ผู้พิพากษาหญิง ที่รับผิดชอบงานยาก จนเครียด

         หากใครเคยดูซีรีส์เกาหลีสุดฮิต Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน คงรู้จักตัวละครผู้พิพากษา เธอมีชื่อว่าชิม อึนซอก งานที่ทำทุกวันคือการพิจารณาคดี ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับเยาวชนที่กลายเป็นอาชญากร การทำงานหนักส่งผลให้เครียดอย่างมาก นี่อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า Burnout Syndrome

         สิ่งที่ทำให้ชิม อึนซอก กลายเป็นแบบนี้ ด้วยเรื่องงานที่ถาโถม เคร่งเครียด รวมถึงเรื่องครอบครัว การสูญเสียลูกชายที่ยังเป็นปมฝังลึกของเธอเมื่อหลายปีก่อน เป็นบาดแผลในใจ จนทำให้พฤติกรรมที่ขาดการดูแล จนร่างกายขาดสารอาหาร และการโหมงานอย่างหนักที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน เกิดกำเริบจนร่างกายรับไม่ไหวและหมดสติไปในที่สุดบางครั้งการก้าวผ่านเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก

         การชะลอหรือยับยั้งไม่ให้อาการหนักไปมากกว่านี้ควรเป็นสิ่งที่เริ่มทำทันที อาจจะเริ่มจากการดึงตัวเองกลับมา อยู่กับตัวเองในช่วงเวลาที่ไม่มีใครรบกวนเพื่อผ่อนคลาย ที่สำคัญมีเวลาหรือคนที่ไว้วางใจพูดคุยระบายปัญหาต่าง ๆ ด้วย หากเครียดมาก อาจจะต้องใช้ยาช่วย หรือบำบัดด้วยวิถีแบบธรรมชาติ ดูแลจิตใจให้ผ่อนคลายก็จะช่วยลดความเครียดลงได้

Depression ภาวะซึมเศร้า ผิดหวัง กังวล โทษตัวเอง

         อาการซึมเศร้า Depression กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นทั่วโลก รู้สึกด้อยค่า รู้สึกผิด หดหู่ เป็นกังวล ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชอบ อารมณ์แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน จนอาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

กรณีศึกษา: อียอร์ ความเศร้าที่รักษาด้วยความเข้าใจ

         โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ถูกพูดกันถึงมากทั้งในสื่อและในโลกโซเชียล โรคซึมเศร้ามีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ มาจากปัจจัยภายใน สภาพจิตใจ สารเคมีในสมอง และปัจจัยภายนอก อาจจะเกิดจากการที่เราเจอปัญหาและหาทางออกไม่ได้ เกิดความกังวลใจติดต่อกันเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบกิจวัตรประจำวัน และอาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวผู้คนเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเอง เพราะโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง

         เราจะมาเล่าถึงตัวละครตัวหนึ่งที่แสดงออกถึงโรคนี้ในระยะยาวนั่นก็คือ อียอร์ จาก Winnie The Pooh ตุ๊กตาลาแสนเศร้า สิ่งที่ทำให้ผู้คนมองว่าอียอร์เป็นตัวแทนแห่งโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้น ก็มาจากพฤติกรรมที่มักจะทำหน้าหม่นหมอง ขี้กังวล และมีน้ำเสียงที่ฟังแล้วชวนหดหู่อยู่ตลอดเวลา แต่โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากแค่สิ่งแวดล้อม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สารเคมีในสมอง หรือกรรมพันธุ์ก็ส่งผลเช่นกัน คนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็น

         ลองเริ่มเช็คจากรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ เซื่องซึม ใจลอยไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับหรืออ่อนแรงมากกว่าสองอาทิตย์หรือเปล่า ถ้ามีอาการตามที่กล่าวไปเบื้องต้น นัดปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อเข้ารับการปรึกษาและรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

รับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

         การเข้าไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาสภาวะจิตใจเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ค้นหาข้อมูลแหล่งผู้ให้คำปรึกษาที่น่าเชื่อถือ แล้วติดต่อนัดหมาย ที่สำคัญคือการเปิดใจ พร้อมที่จะแบ่งปันปัญหานั้นให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

         กรณีศึกษาที่เรานำเสนอไปเป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าคนที่มีอาการเหล่านี้แล้ว จะต้องเป็นโรคพวกนี้แน่นอน แต่ละคนมักมีหลายตัวแปรที่ทำให้ข้อสรุปนั้นแตกต่างออกไป สำหรับใครที่ลองเช็กตัวเองแล้ว มีอาการตามที่กล่าวมาเบื้องต้น อาจจะลองนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาหรือยืนยันอาการอีกที ไม่ต้องกังวลหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อย่างน้อยก็อาจจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น

         มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็มีบริการให้คำปรึกษาทั้งสุขภาพกายและใจ สำหรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย คือบริการ BU care สามารถติดต่อเข้ารับบริการ นัดพบคุณหมอได้ที่ BU Links https://bulinks.bu.ac.th

         เราทุกคนต้องการการรับฟัง ต้องการคนที่เข้าใจ พร้อมที่จะให้เวลารับฟังความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อเกิดอาการที่เราเล่าให้ฟังไป ใคร่ครวญและทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ทางที่ดีการพบกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก็จะทำให้เราคลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพกายและใจ เพราะใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังจะพาเราไปถึงความฝันที่หวังไว้

ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Writer & Graphic

พิชชาพร ยุตติโกมิตร์
ตั้งตี้ชุมนุมรอบกองไฟโปรเจค

Writer

สุพิชชา ปันคำ
ใช้ชีวิตให้เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้าย

Writer

สุวรรณพงษ์ศักดิ์ โคสะสุ
นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ปุณณณัฐ สิมะสุวรรณรงค์
นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ภัคธีมา มีมั่นคง
ทั้งชีวิตถวายให้งาน

Writer

ปณิธิ มั่นระวัง
If there's something out there that you're supposed to do, if you have a passion for it, then stop wishing and just do it.-Wanda Sykes