ข้าวมันไก่โรงอาหารนิเทศฯ ความอร่อยคู่ ม.กรุงเทพ มากกว่าสิบปี

เติมเต็มวันที่เหนื่อยล้า ด้วยข้าวมันไก่แสนอร่อย

         เปิดประวัติความอร่อยที่มาพร้อมรอยยิ้ม เพียงประโยคว่า “สั่งอะไรดี” ก็พาเอาน้ำลายสอไปตามตามกัน เนื้อไก่หวานฉ่ำ เลือดหมูละมุนลิ้น และน้ำซุปหอมกรุ่น เจาะใจป้าตู่และป้าสำรวย สองพี่น้อง เจ้าของร้านข้าวมันไก่ ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพฝากท้องมากว่าสิบปี

         มหาวิทยาลัยและนักศึกษาเป็นของคู่กัน แต่เมื่อพวกเขาเหนื่อยล้าจากบทเรียนหรือท้องกิ่วจากกิจกรรม ในท้ายที่สุดของวัน ต่างตนก็ต่างมาลงเอยที่โรงอาหารกันอย่างเต็มใจ และสำหรับนักศึกษา สถานที่แห่งนั้นคงไม่ใช่ที่ใดอื่น หนึ่งในนั้นคือ โรงอาหารคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มาพร้อมกับบรรยากาศร่มรื่น อบอุ่น เมนูอาหารหลากหลาย ได้นั่งชิลกับเพื่อนได้อีกด้วย

อิ่มเอมกับข้าวมันไก่

         โรงอาหารคณะนิเทศศาสตร์ เป็นศูนย์รวมความอร่อยที่มาในราคาจับต้องได้ พร้อมสรรพด้วยเมนูทุกรูปแบบ ข้าว เส้น ต้ม ผัด ทอด ทั้งยังมีขนมนมเนยและเครื่องดื่ม แต่ท่ามกลางร้านรวงที่กำลังส่งกลิ่นหอมฉุย กลับมีร้านหนึ่งที่มักจะมีนักศึกษาต่อแถวเรียงรายแทบจะตลอดเวลา แสงนีออนจาง ๆ หลังป้ายไฟขับให้เห็นตัวอักษรสีสบายตาที่เขียนว่า ข้าวมันไก่ตอน ไก่ตอนแท้ (ประตูน้ำ)

สองพี่น้องข้าวมันไก่

         หลังแผงวางวัตถุดิบที่เรียงรายด้วยเนื้อไก่ ผัก เลือดหมู และเครื่องปรุง พนักงานในชุดผ้าเอี๊ยมต่างขันแข็งตักข้าวร้อน ๆ ลงจาน สับเนื้อไก่นุ่มเป็นชิ้นสวยงาม ประดับมันด้วยผักสีสด แล้วส่งจานให้เหล่านักศึกษาได้ลิ้มลองพร้อมรอยยิ้ม

         รอยยิ้มนั้นก็ปรากฏบนใบหน้าสองพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช เจ้าของร้านข้าวมันไก่ตอน ป้าตู่จินรัตน์ เรืองกิจศิริกุล และ ป้าสำรวย-วรินทร์พร เรืองกิจศิริกุล หากอะไรกันแน่คือที่มาที่ไปของร้านข้าวมันไก่ตอน ที่ชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ฝากท้องมานับหลายปี เราจะมาหาคำตอบกัน

         “ก่อนที่จะทำร้านข้าวมันไก่ สิบกว่าปีก่อนนู้น ป้าเคยไปเลี้ยงกุ้งกับเพื่อนที่จังหวัดตราดค่ะ” ป้าตู่เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง เสียงบรรยากาศร้านอาหารยังคงคลอหู “ตอนแรก ๆ ก็ทำแล้วดีอยู่พักหนึ่ง ช่วงนั้นก็ขายได้ อยู่ได้ แต่หลัง ๆ มาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร ก็เลยเลิกกิจการไปค่ะ กลายเป็นว่าตอนนั้นว่างอยู่สักพักเลย ไม่มีรายได้เข้ามา”

         ป้าตู่ยังเล่าต่ออีกว่า แท้จริงแล้วข้าวมันไก่เป็นความคิดของน้องเขยตัวเองที่กำลังเปิดร้านข้าวมันไก่ที่ประตูน้ำ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2553 ช่วงก่อนที่กรุงเทพฯ จะประสบน้ำท่วมใหญ่ ป้าสำรวยหรือคือน้องสาวป้าตู่ ก็ได้พื้นที่เปิดร้านในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อเห็นโอกาสระยะยาวในชีวิต ป้าตู่และป้าสำรวยจึงมาตั้งร้านข้าวมันไก่ตอนสูตรประตูน้ำในรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         “ตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ย้ายไปไหนเลย ขายดี ขายได้ตลอด ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มหา’ลัยปิด ก็มีน้อง ๆ มาซื้อไม่ขาดเลยค่ะ” นั่นคือประโยคที่ป้าตู่กล่าว สอดคล้องกับนักศึกษาจำนวนมากที่กำลังต่อแถวรอข้าวร้อน ๆ โปะด้วยเนื้อไก่หวานฉ่ำ ซึ่งยังคงมีมาเรื่อย ๆ แม้ในเวลาที่ขอสัมภาษณ์นี้จะเป็นช่วงระหว่างคาบเรียน ที่ที่นักศึกษาควรบางตาก็ตาม

         แต่เรื่องราวของสองพี่น้องยังไม่จบ เพราะถึงความสำเร็จจะอยู่ตรงหน้า แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาได้เพราะอุปสรรคที่เคยฝ่าฝันในครั้งอดีต

อุปสรรคของคนค้าขาย

         “แต่ตอนแรก ๆ ก็ลำบากค่ะ เพราะทำไปพักนึงก็เจอน้ำท่วม” ป้าตู่หมายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 “น้ำท่วมตอนนั้นทำมหา’ลัยปิด เกือบปีเลยค่ะเท่าที่จำได้ สุดท้ายเลยไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ต้องกลับไปอยู่บ้านค่ะ ทีนี้พอได้กลับมาทำ ก็ดีขึ้นค่ะ มีเงินเข้ามาก็ไปต่อได้ ขายแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนโควิดเข้ามา ตอนนั้นลำบากเลยค่ะ ลำบากกว่าตอนน้ำท่วมอีก ช่วงโควิดป้าไม่ได้ทำอะไรเลย ได้แค่อยู่เฉย ๆ ที่บ้าน คือป้ากลัวนะคะ จะเดินทางไปไหนก็กลัวโควิด ได้แต่เอาเงินเก่าที่เคยขายข้าวมันไก่ได้มาใช้ สองปีเลยค่ะ นานขนาดนั้นเลย ถึงจะมีบางช่วงที่ได้กลับมาขายบ้าง ขาย-หยุด-ขาย-หยุด เหมือนร้านอื่น ๆ ในโรงอาหารเลยค่ะ แต่ก็ถือว่าแย่ พอตอนนี้ได้กลับมาขายเต็มที่จริง ๆ จัง ๆ เพราะโควิดซาลงแล้ว ก็ดีใจมาก ๆ ค่ะ คิดถึงน้อง ๆ นักศึกษาด้วย”

         อย่างไรก็ดี นอกจากป้าตู่และป้าสำรวยจะเลี้ยงปากท้องของนักศึกษาด้วยข้าวมันไก่มาแล้วถึงสิบกว่าปี แต่พวกเธอก็ยังมอบอะไรให้มากกว่านั้น เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่สองพี่น้องจะปรากฏอยู่ในคอนเทนท์หลากหลายของนักศึกษา ม.กรุงเทพ ทั้งบทความ ทั้งภาพถ่าย ทั้งคลิป Vlog ทั้งภาพยนตร์สั้น หรือรวมไปถึงละครเลยก็มี สิ่งเหล่านี้คือผลจากความความไว้ใจที่ส่งต่อให้กันผ่านรสชาติของข้าวมันไก่ รอยยิ้ม และประโยคต้อนรับหน้าร้านของป้าตู่และป้าสำรวยว่า “สั่งอะไรดี”

สืบทอดกิจการความอร่อยให้ทายาท

         “ไม่รู้ว่าจะส่งร้านนี้ให้หลานได้ไหมนะคะ ไม่รู้เขาจะเอาหรือเปล่า เขากำลังเรียนอยู่ด้วย ทุกคนก็คงอยากทำงานสบาย ๆ ไม่เยอะหรอกที่อยากทำงานร้านข้าวมันไก่ คงต้องดูก่อนค่ะว่าใครจะรับร้านเราต่อไป แต่ถึงแบบนั้นก็ยังอยากทำไปเรื่อย ๆ”

         ด้วยอายุที่มากขึ้น นักศึกษาที่นับวันยิ่งมากจำนวน สองพี่น้องเริ่มตระหนักในอนาคตของร้านข้าวมันไก่ตอน แต่ไฟในการทำงานกลับยังคงลุกโชน พวกเธอไม่คิดจะวางเครื่องครัวง่าย ๆ ในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน “จะทำไปเรื่อย ๆ เลยค่ะ จนกว่าจะไม่ไหว คงต้องดูกำลังตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าจะทำได้ไปถึงขนาดไหนค่ะ ป้าไม่อยากเกษียณตัวเองเลย เหมือนตอนโควิดแล้วก็น้ำท่วมตอนโน้นนะคะ ไม่อยากอยู่เฉย ๆ เพราะถ้าอยู่เฉย ๆ แล้วมันเหมือนเป็นคนที่ไม่มีอะไร แบบนั้นชีวิตจะว่างเปล่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรดีขึ้นในชีวิต เพราะแบบนั้นก็เลยอยากขายข้าวมันไก่ไปตลอด จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวค่ะ”

         คำพูดของป้าตู่ลอยไปกับกลิ่นกรุ่นของน้ำซุปข้าวมันไก่ รอยยิ้มที่ถูกยกบนริมฝีปากนั้นสื่อตรงอย่างดีถึงความสุขที่ได้เห็นนักศึกษามากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาที่ร้านของพวกเธอ รวมถึงนักศึกษารุ่นถัดไปจากนี้ก็จะรู้สึกถึงความสุขนั้นเช่นเดียวกัน นี่คือหนึ่งในความอร่อยที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คนที่หิวบอกเลยให้รีบตรงไปที่ร้าน ข้าวมันไก่ตอน ไก่ตอนแท้ (ประตูน้ำ) โรงอาหารคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกได้เลยว่ามีหลากหลากหลายเมนูให้ลิ้มลอง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ป้าตู่-จินรัตน์ เรืองกิจศิริกุล และป้าสำรวย-วรินทร์พร เรืองกิจศิริกุล เจ้าของร้านข้าวมันไก่ตอน ไก่ตอนแท้ (ประตูน้ำ) โรงอาหารคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus

Writer & Photographer

ได้เรียนรู้อะไรเล็ก ๆ ทุกวัน สนุกดีนะ