BU Come One ปั้นคนข่าวรุ่นใหม่ บิว-จักรี ที่ใช้ความพยายามสานฝันบนเส้นทางสื่อกับช่อง One 31

ขับเคลื่อนความฝันสู่งานข่าวที่ทำด้วยความพยายาม ความมุ่งมั่น และใจที่ใฝ่เรียนรู้

         “ความสำเร็จของทุกวัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับความพยายามของเราเองทั้งนั้น” นี่คือคติประจำใจของ บิว-จักรี ทิพบุญชู ผู้สื่อข่าวสำนักข่าววันนิวส์ รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาคือผู้มุ่งมั่น ตั้งใจและหาโอกาสใหม่ให้ตนเอง ได้ร่วม โครงการ BU Come One รุ่นที่ 3 ฝ่ายข่าว ฝึกฝนตนเองกว่า 6 เดือน จนคว้าโอกาสได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าววันนิวส์

         BU Come One คือโครงการที่ค้นหาคนผลิตสื่อรุ่นใหม่ ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ กับช่องวัน 31 ในหลากหลายสายงาน ได้แก่ ข่าว รายการ ละคร เพื่อร่วมเรียนรู้และฝึกฝนกับช่องวัน 31 และได้รับโอกาสเข้าทำงานกับช่อง หลังจากสิ้นสุดโครงการอีกด้วย เรามาทำความรู้จักรุ่นพี่ที่มีใจรักการผลิตสื่อคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ก่อนเข้าร่วมโครงการ BU Come One เป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน                                                        

         เราได้ข้าร่วมโครงการ TO BE NUMBER ONE ตั้งแต่เรียนมัธยม โครงการนี้ไม่ได้มีแค่ร้อง เต้น เล่นสนุกกันอย่างเดียว แต่หัวใจของ TO BE NUMBER ONE คือโครงการที่จัดตั้งเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างกิจกรรมขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนเข้ามาร่วม จุดมุ่งหมายสำคัญคือให้ห่างไกลยาเสพติด ใช้เวลาว่าง ใช้ความสามารถของตัวเองเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน ตอนนั้นพี่ได้เข้าร่วมโครงการโดยตำแหน่งที่ได้มาคือ ประธานชมรม TO BE NUMBER ONE ของโรงเรียน

         หลังจากได้เป็นประธานมีโครงการ TO BE NUMBER ONE Idol พี่ได้ลองไปแข่งดู เป็นโครงการที่สร้าง idol ของโครงการ เหมือนการประกวดแข็งขัน ร้องเพลง เต้น เป็นการแสดงศักยภาพที่โชว์บนเวที ซึ่งพี่ก็ได้ตำแหน่งนี้มา ได้ทำงานกับองค์ประธานโครงการ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งช่วง 1 ปีนั้นพี่อยู่ปี 1 พอดี

         ตอนปี 1 เป็นช่วงที่ต้องปรับตัวในการเข้ามหาวิทยาลัย และต้องทำงานกับโครงการ TO BE NUMBER ONE ด้วย ซึ่งถือว่าหนักหน่วงกับการทำงานอยู่  

ความรู้และประสบการณ์จากโครงการ TO BE NUMBER ONE นำมาใช้กับการเป็นนักข่าว

         สิ่งที่นำมาใช้คือการทำงาน การปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่โครงการ TO BE NUMBER ONE สอน คือสอนให้เราพัฒนา EQ ของเราอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่พัฒนา IQ เพราะว่า EQ จะมีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ เวลาทำงานเราจะต้องปรับตัว หรือรับมือกับสิ่งที่เราจะต้องเจอในแต่ละวัน

         งานข่าวไม่เหมือนงานอื่นที่ในแต่ละวันเราไม่รู้ว่าเราจะต้องเจอกับอะไร ในแต่ละวันเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราคิด และวางแผนแล้ว จะมีการปรับเปลี่ยนในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น 1 ปีที่ทำงานกับ TO BE NUMBER ONE โครงการได้สอน และพยายามทำให้โตขึ้นสำหรับการทำงานในอนาคต ตรงนี้ถือว่าได้นำมาใช้ในการทำงานสายข่าว เพราะว่าการทำงานสายข่าวต้องทำงานร่วมกับแหล่งข่าว ทำงานร่วมกับผู้คน ทำงานร่วมกับทีม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ และนำมาใช้เพื่อให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ได้รับทุน BUCA Talent ทุนการศึกษาของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         เป็นนักศึกษาทุนโครงการ BUCA Talent 7 พอมาเรียนในมหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำกิจกรรมกับโครงการ BUCA Talent โดยพี่ได้เข้าไปอยู่ในการทำ PR ของโครงการ เพื่อที่จะมีการจัดทำโครงการให้กับน้องปีต่อไป เหมือนกับการทำโฆษณาให้โครงการการทำ PR คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กับโครงการ BUCA Talent ซึ่งการทำ PR จะมีการคิดคอนเทนต์ การวางแผนคอนเทนต์ และการนำเสนอสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารว่าโครงการ BUCA Talent มีดีอย่างไรที่จะให้น้อง ๆ เข้ามา เพื่อจะมาคัดเลือกทุนหรือเข้ามาร่วมโครงการในการทำงานให้คณะหรือมหาวิทยาลัย นี่คืองานหลักที่ทำตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3

จุดเริ่มต้นความฝันเข้าร่วมโครงการ BU Come One Gen 3

         ตอนนั้นเห็นเพื่อนเข้าร่วมโครงการ BU Come One Gen 1 ฝ่ายข่าว เห็นเพื่อนมาทำงานออนไลน์ให้กับข่าวช่องวัน ซึ่งได้เห็นผลงานของเพื่อน ยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียดายโอกาส ที่เราไม่ได้สมัครไปกับเพื่อน เพราะว่าเพื่อนก็ชวนไปอยู่เหมือนกัน แต่ติดภารกิจที่จะต้องทำกับโครงการ TO BE NUMBER ONE เลยไม่ได้สมัคร พอปี 2 รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม เนื่องจากจะต้องทำงานให้กับโครงการ BUCA Talent เพราะพี่เป็นหัวหน้าหลักในการทำงานด้วย เลยพักไว้ใน Gen 2

         พอถึง Gen 3 เห็นความสำเร็จของรุ่นพี่ Gen 2 ซึ่งเป็นรุ่นพี่ BUCA Talent เหมือนกัน คือพี่ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เห็นความสำเร็จของพี่ลีวายตั้งแต่การเข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงาน เข้ามาเป็นนักศึกษาทดลองงาน จนสามารถพิสูจน์ตัวเองเข้าไปทำงานได้ เมื่อเห็นความสำเร็จของพี่ลีวาย เราก็มาสู้ใน Gen 3 รู้สึกว่าตัวเองมีความพร้อมที่สุด นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ลองทำผลงานเกี่ยวกับข่าว สกู๊ปข่าว ส่งเข้ามาจนสามารถเข้ามาฝึกงานกับโครงการ BU Come One Gen 3 ได้

BU Come One โครงการที่เปิดโอกาสให้คนรักการทำสื่อรุ่นใหม่

         โครงการ BU Come One เปิดประสบการณ์ให้กับเด็กคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้วอยากลองหาประสบการณ์ใหม่ เหมือนโครงการให้เราเข้ามาทดลองว่าเราชื่นชอบหรือเราเหมาะกับงานอย่างไร เพราะว่าโครงการ BU Come One เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กที่ชอบทั้งรายการ การเขียนบทละคร และงานข่าว ซึ่งพี่มองว่ามันครอบคลุมสำหรับเด็กที่ชอบในการทำงานสื่อสาร ถือว่าเป็นโครงการที่ยื่นโอกาสให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะคณะใดคณะหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้เด็กทั้งมหาวิทยาลัยสมัคร

         ในฐานะที่เป็นเด็กโครงการอยากจะสื่อสารบอกว่า BU Come One ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเราจะไปทำงานเพื่อบริษัท แต่เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนลองเข้ามา ซึ่งถ้าเราเข้าไปแล้วเราอาจะไม่ได้ชอบในสายงานนี้ เราอาจจะไม่ถูกใจหรือทำงานแล้วไม่มีความสุข โครงการก็พร้อมรับฟังแล้วให้เราลองทำหลายอย่างที่เราอยากนำเสนอ ตรงนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พยายามสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานจริงตั้งแต่ยังเรียน

ความสำเร็จของรุ่นพี่คือแรงบันดาลใจ

         พอเข้ามาแล้วได้ทำงานจริง ลงมือจริง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เห็นถึงศักยภาพที่เราแสดงออกมาผ่านการทำผลงาน ผ่านการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นจุดที่ทำให้พี่ตัดสินใจว่า ถ้าเราเข้ามาโครงการนี้เราอาจจะได้โอกาสในการทดลองหรือพิสูจน์ในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่เป็นเรา เป็นเอกลักษณ์ของเรา เป็นผลงานของเราจริง ๆ ออกมาให้ทุกคนได้เห็น ถือว่าเป็นผลงานที่เราได้สร้างขึ้นเอง รู้สึกว่าผลงานที่มันเป็นตัวตนของเรา จะทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองขึ้นไปได้อีกหลายระดับ

ส่งผลงานประเด็นอะไร ทำไมกรรมการถึงเลือก      

         ผลงานที่ส่งไปเป็นประเด็นเกี่ยวกับสังคม เพราะว่าในมุมมองของเราในตอนนั้นที่เป็นนักศึกษาอยู่ รู้สึกว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันมีหลากหลาย ถ้าเราเลือกเล่นประเด็นสังคม อาจจะสะท้อนได้หลาย ๆ มุมไม่ว่าจะเป็นความเดือนร้อน มุมของประชาชนที่เป็นคนในพื้นที่

         ประเด็นที่ส่งไปเป็นประเด็นเกี่ยวกับ เสาไฟส่องสว่างที่ดับไปประมาณ 1-2 ปี พี่มองเห็นว่ามันไม่ได้รับการแก้ปัญหา ก็เลยเลือกประเด็นตรงนี้มา ถ้าเป็นประเด็นสังคมในมุมมองตอนนั้นเหมือนเราได้สะท้อนสังคม สะท้อนประชาชนว่าเขาคิดเห็นอย่างไร สะท้อนว่าการทำงานของหน่วยงานรัฐเป็นอย่างไร นอกจากนี้อาจจะสะท้อนไปถึงเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองหรือการทำงานของนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำงาน ประเด็นสังคมจะสะท้อนได้ทุกมุมมองของทุกหน่วยงาน กรรมการให้คำแนะนำว่าเลือกประเด็นดี ซึ่งตอนนั้นพี่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำข่าว อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการเปิดหน้า การพูดอาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ว่าเราจะเน้นไปจุดไหน

บรรยากาศการฝึกงานกับสำนักข่าววันนิวส์

         บรรยากาศการทำงานช่วงแรกที่เป็นนักศึกษาฝึกงานรู้สึกกดดัน เราไม่มีประสบการณ์ในการทำข่าว การเข้าโครงการเหมือนเราได้เรียนมหาวิทยาลัยในแบบที่เป็นการทำงานจริง ช่วงแรกรู้สึกถอดใจ บางวันรู้สึกไม่อยากทำต่อแล้ว

         แต่ว่าสิ่งที่ทำให้ประทับใจคือ เพื่อนในโครงการที่เข้าไปด้วยกัน ตอนนั้นมี 4 คน ซึ่งเพื่อนเป็นเหมือนพลังใจที่ทำให้พยายามสู้ และพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด เพราะเราได้ผ่านการคัดเลือกเข้าไป พยายามให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อีกอย่างคือรุ่นพี่ที่เป็นผู้สื่อข่าว รุ่นพี่ไม่เคยทิ้งเรา รุ่นพี่พยายามสอน แนะนำเราทุกอย่างเพื่อให้เราสามารถทำงานสายข่าวให้เป็นมืออาชีพได้ ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพี่ที่จบจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำให้รู้สึกใจชื้นขึ้นมา พยายามฮึดสู้เต็มที่ทุกครั้งที่ลงสนาม

เมื่อจะต้องเขียนข่าวครั้งแรก

         ยอมรับว่าเขียนไม่เป็นครั้งแรก ต้องขอรุ่นพี่ช่วย “ผมขอดูตัวอย่างพี่ได้ไหมครับ” ที่ขอดูตัวอย่างครั้งแรก เพราะว่ายังทำไม่ได้ เขียนไม่เป็น ตอนนั้นรุ่นพี่ได้แนะนำวิธีการเขียนข่าวให้เราได้รู้ก่อนว่าควรเขียนข่าวอย่างไร

         การเขียนข่าวเหมือนการที่เราเล่าต่อจากสิ่งที่เรารับรู้มา แล้วต้องการจะสื่อสารต่อว่าข่าวนี้คืออะไร ประเด็นอะไร ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ที่ไหน ทำไม เหมือนการที่เล่าสิ่งที่เราเห็น เล่าสิ่งที่เรารับรู้มา แต่ต้องเล่าในสิ่งที่เป็นความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใหม่ พอลองทำจริงพบว่าเป็นพื้นฐานในการสื่อสารจริง ๆ สิ่งที่จำเป็นของนักนิเทศศาสตร์อย่างเราคือการสื่อสาร ซึ่งการทำข่าวเหมือนพื้นฐานหลักที่เราต้องเรียนรู้ และเข้าใจในการนำไปใช้ในการทำงาน

เบื้องหลังของการออกไปทำข่าว

         ต้องมีการวางแผนตั้งแต่การประชุม เพื่อเลือกประเด็นในวงประชุมกับพี่บรรณาธิการ พี่นักข่าวทุกคนต้องเข้าประชุมกันทุกวัน เพื่อเตรียมตัวออกหมายในวันต่อไป โดยในแต่ละวันต้องเลือกประเด็นว่าใครจะไปประเด็นไหน ไปทำประเด็นอะไร เช่น วันพรุ่งนี้พี่บิวไปข่าวการเมือง พอได้มอบหมายแล้วจะจัดทีมขึ้นมา ในทีมจะมีผู้สื่อข่าว 1 คน ช่างภาพ 1 คน และผู้ช่วยช่างภาพ 1 คน รวม 1 ทีมมี 3 คน

         หลังจากนั้นตอนเช้าประมาณ 8.00 น. ต้องออกไปตามหมายข่าวที่เราได้รับผิดชอบในประเด็นนั้น ออกไปลงพื้นที่ทำข่าว ก่อนจะถึงพื้นที่จะมีการพูดคุยในทีมว่า วันนี้เราจะเจออะไรบ้าง ไปถึงเราจะทำอะไรก่อน เรียงลำดับในการสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างไร เรียงลำดับในการถ่ายภาพอย่างไร ฯลฯ ซึ่งตรงนี้เป็นการทำงานที่มีเวลามาบังคับในการทำงาน ต้องทำให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ให้ได้ภาพมากที่สุดให้ทันตามเวลาข่าวของแต่ละช่วงของโทรทัศน์

         เมื่อลงพื้นที่ไปต้องทำตามลำดับที่วางแผนกับทีมไว้ หลังจากที่ได้ข้อมูลจะต้องเขียนข่าว ซึ่งระยะเวลาในการเขียนข่าวจะมีประมาณ 20-30 นาที ต้องเรียงลำดับว่าจะต้องนำเสนออะไรบ้างจากสิ่งที่เราลงพื้นที่ไป จากนั้นก็ส่งเข้าไปในกองบรรณาธิการ เพื่อให้กองบรรณาธิการได้รีไรท์ข่าวว่าข้อมูลที่ได้มา จะนำเสนอออกไปให้ผู้ชมได้รับชมอย่างไร ผ่านผู้ประกาศข่าว ผ่านภาพที่เราสื่อสารไปในโทรทัศน์

ความรู้จากการเรียนนิเทศฯ ม.กรุงเทพ ปรับใช้ในการทำข่าว

         ความรู้ที่นำมาใช้กับการทำข่าวคือ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปใช้ในการสื่อสารกับแหล่งข่าว สื่อสารกับคนที่เราต้องไปทำงานด้วย สื่อสารกับทีมของเรา ซึ่งการใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อออกไปทำงานด้านข่าว เราจะต้องพยายามสื่อสารเพื่อให้คนได้เข้าใจง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวที่เราลงพื้นที่ไป สื่อสารผ่านการเขียนข่าวออกมา เพื่อให้คนที่รับสารจากเราได้เข้าใจตรงกัน ได้เข้าใจข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามแหล่งข่าวที่เราไปลงพื้นที่มา     

         จากที่เรียนนิเทศถือว่าครอบคลุมในการสอนเราในทักษะการสื่อสาร ได้นำทุกอย่างมาใช้จากที่เราเรียนที่นิเทศ ถือว่าตอบโจทย์มาก เพราะว่าได้สอนทุกอย่างทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง รู้สึกว่าวิชาที่เรียนไปทำให้เรามีทางเลือกที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้า เบื้องหลังสามารถไปได้ทุกทาง หรือว่าวันหนึ่งที่เราทำงานไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่จริง ๆ เราก็สามารถดึงอีกทักษะการสื่อสารที่เรามีเพื่อไปสมัครงานอีกสายในอนาคตได้

ปัญหาอุปสรรคที่นักข่าวต้องเจอ

         ปัญหาที่เจอคือสถานการณ์ที่เราไม่รู้ เราจะไปเจออะไร อย่างเช่น ข่าวอาชญากรรมที่เราไม่รู้เลยว่าพื้นที่ที่เราลงไปจะมีลักษณะภูมิประเทศอย่างไร มีสิ่งที่เราไม่คาดคิด เช่น ข่าวสารวัตรคลั่ง สายไหมที่เราต้องลงพื้นที่ไป ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่บริเวณจุดเกิดเหตุจะหลบหนีออกมา แต่ผู้สื่อข่าวต้องลงพื้นที่ไปเพื่อให้ใกล้ชิดกับสถานการณ์นั้น เพื่อรายงานสถานการณ์ให้ผู้ชมที่ติดตามข่าวได้รู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่บริเวณนั้น สิ่งที่พี่ลงพื้นที่ไปแล้วเจออุปสรรคดังกล่าวจะต้องเตรียมรับมือคือ ในแต่ละครั้งที่ลงพื้นที่ไปแหล่งข่าวจะมีลักษณะนิสัย ใจคออย่างไร ซึ่งแต่ละวันเราไม่รู้ว่าเราจะต้องไปเจอคนแบบไหน               

         เพราะฉะนั้นในทุกวันเราจะต้องเตรียมตัว พยายามตั้งสติตัวเองให้ดีที่สุด บางวันเราเจอแหล่งข่าวที่อาจจะพูดยากหน่อย บางทีเขาไม่ยอมเลย เราต้องพยายามใช้คำพูด ใช้จิตวิทยาอย่างไร เพื่อที่จะให้เขาเชื่อใจ ไว้ใจในการพูดคุยกับเราให้มีความสบายใจที่สุด ไม่ใช่เราลงไปในฐานนะนักข่าวเพื่อมาเอาความจริงกับคุณ แต่เราจะต้องทำให้แหล่งข่าวเชื่อใจ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คุยกับเรา สิ่งที่จะได้คือ ข้อมูลเชิงลึกจากแหล่งข่าว

ทุ่มเทฝึกฝนการทำงานสายข่าว

         ข่าวสารวัตรคลั่ง ที่สายไหม เป็นข่าวที่ท้าทายในการทำงาน เพราะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่ได้ไปทำข่าวที่มีเหตุการณ์ที่เราไม่รู้ว่ามันจะอันตรายแค่ไหน ถ้าเราลงไปใกล้ชิดในพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพื้นที่ และใช้แก๊สน้ำตา เหมือนเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่รับรู้

         ซึ่งรุ่นพี่นักข่าวบอกว่านักข่าวทุกคนต้องได้เจอสถานการณ์แบบนี้ เหมือนเราได้เรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ทำให้เราได้แก้ปัญหา ได้บริหารจัดการทีมตัวเองในการที่จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนั้น ซึ่งประทับใจพี่ทีมงานช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพช่วยกันได้ดีมากในการทำงาน อีกอย่างรุ่นพี่นักข่าวจากสำนักอื่น คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นภาพประทับใจที่ได้เห็นในเหตุการณ์นี้ ในสนามข่าวจริง เราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่เราทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นช่องของตัวเองหรือทีมพี่จากช่องอื่นที่คอยช่วยเหลือทั้งข้อมูล และทุกอย่าง

         นอกจากนี้ข่าวสารวัตรคลั่ง ที่สายไหม ถือเป็นข่าวที่ท้าทายตัวเอง เพราะจะต้องรายงานสถานการณ์เป็นระยะเพื่อให้สถานีได้อัพเดตสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับรู้ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก การที่ได้ลงสนามไปทำให้ได้เรียนรู้ สิ่งที่ยากของข่าวนี้คือสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ไม่รู้ว่าจะวางแผนไปแบบไหน ซึ่งจะต้องคอยสังเกต คอยดู ต้องเสาะหาแหล่งข่าวเอาเอง ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ด้วยระยะเวลาที่ลงพื้นที่ค่อนข้างนานกว่า 12 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 13.00 น. จนถึง 01.00 น.

         จากเหตุการณ์นี้ทำให้ได้ท้าทาย ก้าวข้ามสิ่งที่ยังไม่ปลดล็อก พอได้ลงพื้นที่ไปในวันนั้น ได้ไปเกาะติดจริง ๆ เหมือนได้ปลดล็อกตัวเองในขั้นหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่ยังไม่ได้เรียนรู้คือ ยังไม่เคยได้รายงานสด รายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉินตรงนั้น ยังเหลืออีกกุญแจสำคัญที่จะต้องปลดล็อกให้ได้

ชอบทำข่าวประเด็นสังคมเพื่อสะท้อนปัญหาให้ได้รับการแก้ไข

         ตอนแรกชอบไปทำข่าวการเมือง แต่พอได้มาทำข่าวจริง ๆ แล้ว อยากทำประเด็นสังคมที่เป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมา หรือเกิดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ตัวพี่เองไปเปิดประเด็นว่าปัญหาตรงนี้มันเกิดขึ้นมา แต่ประชาชนพยายามทำตัวให้ชิน แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

         พี่รู้สึกว่ามันเป็นข่าวที่เกิดประโยชน์เพื่อทำให้มีแรงกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องหรือคนที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น รับผิดในสิ่งนั้นที่มันเกิดขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เขาได้กระตือรือร้นที่อยากจะแก้ปัญหา และอยากเป็นกระบอกเสียง เป็นคนที่เปิดประเด็นให้สังคมได้รู้ว่า ปัญหาในสังคมมันมีมากเหลือเกิน ซึ่งแต่ละอย่างเราจะต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียงในตรงนี้ ที่ผ่านมาพี่พยายามเสนอข่าวประเด็นสังคมเข้าไปให้กองบรรณาธิการได้พิจารณาว่าควรที่จะไปเปิดประเด็น ควรที่จะไปทำข่าวเพื่อนำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ทุนจีนบุกตลาดดอกไม้ไทย สกู๊ปข่าวตัวแรกในชีวิตที่ได้ออกอากาศ

         ทำสกู๊ปข่าวพี่ถือว่าเป็นงานที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ในการวางแผนของพี่คือตอนนั้นได้รับโจทย์มาตอนแรกให้ไปทำเป็นข่าวอ่านธรรมดา แต่ทางกองบรรณาธิการอยากได้ให้เป็นสกู๊ปข่าวขึ้นมา 1 ตัว ซึ่งตอนนั้นได้รับโจทย์ในช่วงบ่าย ปกติการทำสกู๊ปข่าวต้องลงพื้นที่อยู่กับแหล่งข่าว เพื่อไปหาแหล่งข่าวให้ได้ข้อมูลที่ลึกที่สุด ให้ได้ข้อมูลที่นำมาประกอบสกู๊ปข่าวให้ได้มากที่สุด

         พอได้รับโจทย์แล้วก็รีบลงพื้นที่เลย เตรียมตัว และวางแผนกับทีมว่าพอถึงพื้นที่แล้ว 1, 2, 3, 4 เราจะทำอะไรก่อนอันดับแรก ตรงนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนก่อนลงพื้นที่ทำสกู๊ปข่าว จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ที่เราไปเจอตอนที่ถึงพื้นที่แล้ว อาจจะไม่เหมือนที่เราได้วางแผนไว้ แต่ถ้าเราวางแผนไปก่อนอาจจะสามารถปรับแผนได้ง่ายกว่าการที่เราไปด้นสดหน้างาน ตรงนี้พี่ว่าเป็นส่วนสำคัญ นักข่าวที่ไปทำสกู๊ปข่าวพี่ว่าเป็นทุกคนที่จะต้องวางแผนไปก่อนว่าภาพในหัวเราอยากได้อะไร มุมภาพอะไร แหล่งข่าวคนไหน ซึ่งตรงนี้พี่พยายามวางแผนให้ได้มากที่สุด

         หลังจากได้ทำปั้นมาเป็นสกู๊ปข่าว 1 ตัว ความคิดเห็นของตนเองคิดว่าการพูดเปิดหน้ายังไม่ดีมาก ซึ่งตรงนี้พี่คิดว่าต้องปรับปรุงอย่างหนัก ทำการบ้านอย่างหนักในการทำสกู๊ปข่าวครั้งต่อไป สำหรับความคิดเห็นของคนอื่นก็ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้ในการทำสกู๊ปข่าว

สำนักข่าวซีนใหญ่ ช่องทางออนไลน์ที่สร้างสรรค์ด้วยตนเอง

         ซีนใหญ่เกิดจากพี่และลูกนัท เป็นรุ่นน้องที่ฝึกงาน BU Come One Gen 3 มาด้วยกัน บางวันที่เราจะต้องลงพื้นที่ไปทำข่าวเป็นคู่หรือไปด้วยกัน พอไปทำข่าวด้วยกันแล้วเมื่อเห็นข่าวตัวเองได้ออกอากาศก็จะอุทานพร้อมกันว่าซีนใหญ่ เมื่อนึกถึงซีนใหญ่ก็เหมือนตัวเองได้ออกโทรทัศน์ รู้สึกเหมือนตัวเองมีซีน เป็นที่มาของซีนใหญ่

         ก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดอะไรเหมือนพูดเล่น อุทานเล่นว่า “ซีนใหญ่” ช่วงก่อนจบฝึกงานคิดว่าจากการที่เราได้มาฝึกงาน 6 เดือน เราลองเปิดเป็นช่องของตัวเองดีไหม ตอนแรกยังไม่คิดว่าจะใช้ชื่อซีนใหญ่ พยายามหาชื่อว่าจะใช้ชื่อช่องว่าอะไร จนนึกขึ้นได้ว่าคำที่เราพูดติดปากอยู่ทุกวันคือ คำว่า “ซีนใหญ่” ตรงกับความที่เป็นข่าวได้ออกหน้าจอ เลยนำคำว่าซีนใหญ่มาเป็นชื่อช่องข่าวของพี่และลูกนัท

         เหตุผลที่ต้องดูซีนใหญ่ เพราะซีนใหญ่จะเน้นประเด็นสังคมส่วนใหญ่ ประเด็นที่โซเชียลให้ความสนใจ ซีนใหญ่จะเอามาขยายข้อเท็จจริงให้คนได้เห็นว่า เรื่องที่คนสนใจเรื่องนี้มีซีนอยู่ในจอ Passion ของพี่ทุกวันคือ สำนักข่าวซีนใหญ่ เพราะอยากให้ตัวเองมีประสบการณ์เยอะ ๆ ให้ตัวเองอยู่กับสถานการณ์ อยู่กับคนทำงานที่มีประสบการณ์มาก ๆ เพื่อที่จะเอามาต่อยอดกับสิ่งที่ตัวเองกำลังสร้างอยู่ขณะนี้ ทุกวันนี้ทำเพื่อให้ตัวเองมีประสบการณ์ สะสมประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อเอามาสร้างให้เป็นช่องที่รู้จักขอวงการสื่อ วงการข่าว

คอนเทนต์ข่าวของสำนักข่าวซีนใหญ่

         ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวที่เป็นกระแสสังคมที่สังคมให้ความสนใจ เราจะเอามาเล่าเป็นคลิปให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เพื่อให้คนได้เข้ามาดูแล้วได้เข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ที่ตัวเองสนใจอยู่ โดยรูปแบบในการนำเสนอข่าวถ้าเป็นช่องทาง TikTok จะเป็นคลิปเล่าข่าว ถ้าช่องทาง Facebook จะนำเสนอในรูปแบบคลิปเล่าข่าว และรูปภาพ

ฝึกฝนตนเองด้วยช่องทางโซเชียลสำนักข่าวซีนใหญ่

         ดูแลคอนเทนต์ว่าวันนี้เราจะนำเสนอคอนเทนต์อะไร ซึ่งในแต่ละวันจะพยายามเช็คคอนเทนต์ว่าเรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องไหนที่สังคมสนใจอยู่ นอกจากนี้จะเป็นคนตัดสินใจเคาะว่าวันนี้ต้องนำเสนออะไร เป็นคนคิดคอนเทนต์ คิดสคริปต์ ตัดต่อคลิปที่ตนเองเล่า มีทีมกราฟิกด้วย แต่ถ้าทีมกราฟิกไม่ว่างก็จะทำกราฟิกเอง และเป็นคนเล่าข่าวด้วย

ยอดวิวกว่า 2 ล้านวิวใน TikTok “เด็กวัย 6 ขวบ ร่วงตกทางด่วน” 

         TikTok คนจะดูภาพ ดูเหตุการณ์ ดูสิ่งที่ตื่นเต้น ถ้าเป็นข่าวผู้ชมจะชอบดูเหตุการณ์ หลักการของ TikTok คือ 1-30 วินาทีแรกจะต้องมีภาพเหตุการณ์ที่ผู้ชมได้เห็นเพื่อดึงให้ผู้ชมอยู่ฟังเราเล่าข่าวต่อ ในมุมของการทำคอนเทนต์ถ้าเรายังไม่มีกระแสหรือไม่เป็นที่รู้จักในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เราจะต้องนำเสนอเหตุการณ์ให้เห็นภาพก่อน เช่น คลิปรถตกทางด่วนจะเห็นภาพจากกล้องหน้ารถขึ้นมาก่อน จากนั้นจะมีเสียงเหตุการณ์ตอนที่เกิดเหตุ ถือเป็นจุดดึงดูดของผู้ชมเพื่อให้ดูเราเล่าข่าว สรุปข่าวให้จบ

         ซึ่งพี่มองว่าเหตุการณ์หรือภาพที่จะสื่อมาก่อน 30 วินามีแรกเป็นส่วนทำให้คลิปนี้ได้รับความนิยม ทำให้คนเข้ามาดู เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย หากใครยังไม่เคยดูคลิปข่าวสามารถดูได้ใน 4 ช่องทาง Facebook จะชื่อสำนักข่าวซีนใหญ่ สำหรับ TikTok จะเป็น seenyainews ส่วน Instagram คือ seenyai_news และ YouTube สำนักข่าวซีนใหญ่

         “คำว่าข่าวคือ ข้อเท็จจริงที่คนข่าวหรือนักข่าวจะต้องนำเสนอให้ตรงไปตรงมา ไม่มีลำเอียง เราได้ข้อมูลอย่างไรต้องสื่อสารออกไปแบบนั้น นี่เป็นหลักที่คนข่าวหรือนักข่าวจะต้องพยายามเตือนใจตัวเองนำเสนอให้ตรงไปตรงมา หัวใจของข่าวในแต่ละข่าวที่จะนำเสนอ เช่น เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของครอบครัวเขา สื่อส่วนใหญ่จะไปถามพยานแวดล้อม ถามชาวบ้าน พี่รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เจอเหตุการณ์ของครอบครัวตนเอง แล้วให้คนอื่นมาแสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในครอบครัวเขาเอง พี่มองว่ามันคือหัวใจของข่าวที่ทุกคนจะต้องตระหนักไม่ว่าจะเป็นคนข่าวหรือนักข่าว”

         นี่คือนิยามของคำว่า งานข่าวและคนข่าว ของบิว-จักรี ทิพบุญชู ผู้สื่อข่าวสำนักข่าววันนิวส์ ที่ไม่มีประสบการณ์งานข่าวในช่วงแรก แต่ใช้ความพยายาม ความตั้งใจ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอจนประสบความสำเร็จในการทำงาน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่บิว-จักรี ทิพบุญชู ผู้สื่อข่าวสำนักข่าววันนิวส์ รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมือง เริ่มทำข่าวตั้งแต่เรียนมัธยม ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น อนาคตอยากทำงานสายงานข่าว