เสื้อดำธรรมดี ออกเดินทางเรียนรู้วิชาชีวิตบนดอยสูง

เครือข่ายสร้างสรรค์ อาสาด้วยใจ ส่งต่อ แบ่งปันความสุข สู่พื้นที่บนดอย

         เปลี่ยนจากการเดินทางท่องเที่ยวธรรมดา ให้กลายเป็นการเดินทางทำความดีเพื่อสังคม นี่คือจุดเริ่มต้นของ กลุ่มเสื้อดำธรรมดี กว่า 12 ปี ของการเดินทางธรรมดีเพื่อสังคม เสื้อดำธรรมดีเป็นกลุ่มกิจกรรมที่ริเริ่มโดย นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 จนกระทั่งเติบโต ค่อยขยายวงกว้าง และชักชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมเดินทางออกไปแบ่งปันและเรียนรู้สังคมที่หลากหลายไปด้วยกัน

         การเดินทางครั้งแรกเริ่มที่ภาคใต้ หมู่บ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร กับการแบ่งปันสิ่งของ และสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับชุมชน ถึงแม้จะใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านไม่นาน แต่ก่อนหน้านั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางคือกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ ในวันนี้กลุ่มเสื้อดำธรรมดีออกเดินทางอีกครั้ง เพื่อไปฝึกฝนวิชาชีวิต สร้างการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมบนดอยสูง

         เป้าหมายการเดินทางครั้งล่าสุด คือ ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) บ้านคุทะ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พื้นที่ธรรมชาติที่ต้องใช้แรงกายแรงใจ บากบั่นไปให้ถึงเป้าหมาย เราได้ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของกลุ่มเสื้อดำธรรมดี ที่กลายเป็นมากำลังสำคัญของการเดินทางครั้งนี้มาพูดคุยกัน พวกเขาเป็น นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         ใหญ่-วชิรวิทย์ หาสาฤทธิ์, เล็ก-วสิษฐ์พล หาสาฤทธิ์ สองพี่น้องฝาแฝด ที่สนใจการเดินทางเพื่อเรียนรู้ชีวิต ทั้งสองเติบโตที่จังหวัดสระแก้ว เดินทางเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เต็มเปี่ยมด้วยความฝันและพลังในการเรียนรู้แบบเด็กรุ่นใหม่ ขณะที่ ฟลุ๊ค-สุชาครีย์ พงศ์พิริยะจิต เด็กจังหวัดสุพรรณบุรี ที่สนใจการเดินทางเช่นกัน พวกเขานิยามตนเองว่าเป็นเด็กที่แสนธรรมดาที่สนใจการเรียนรู้นอกห้องเรียน และประสบการณ์ที่แปลกใหม่

เสื้อดำธรรมดี เครือข่ายจิตอาสาที่ทำงานด้วยใจ

         วันที่ได้พูดคุยกัน ทั้งสามสมาชิกใหม่ ใหญ่ เล็ก และฟลุ๊ค ตัวแทนของเสื้อดำธรรมดี บอกกับเราว่า กิจกรรมของเสื้อดำธรรมดี เป็นสิ่งที่พวกเขารับรู้จากรุ่นพี่และอาจารย์ โดยมี อาจารย์เต้ย-อาจารย์อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นกำลังสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาและให้การดูแลนักศึกษา

         เสื้อดำธรรมดี เป็นการรวมตัวของศิษย์เก่าและรุ่นพี่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ทุกปีจะลงพื้นที่ทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะการขึ้นดอย นอกจากเรียนรู้ธรรมชาติแล้ว ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนบนดอยอีกด้วย โดยในปีนี้มีสมาชิกเข้าร่วมเดินทางประจำปีกว่า 10 ชีวิต

         ใหญ่วชิรวิทย์ เด็กหนุ่มมาดเข้ม จากสระแก้ว เล่าถึงเสื้อดำธรรมดีด้วยความภาคภูมิใจว่า เสื้อดำธรรมดี เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยังขาดแคลนบนดอยสูง ซ่อมแซมบ้านเรือน แบ่งปันของใช้ ของกิน เป็นกลุ่มที่ทำมาหลายปีแล้ว ถึงแม้ตนเองจะมีโอกาสได้เดินทางไกลในการทำงานอาสาบนดอยเป็นปีแรก ทำให้พบว่ายังมีอีกหลายโรงเรียนที่อยากไป อยากช่วยเหลือ

         ขณะที่ เล็ก-วสิษฐ์พล เสริมว่ากลุ่มกิจกรรมเสื้อดำธรรมดี ทำมาหลายปีแล้ว เรานำของ เสบียงที่จำเป็นในการใช้ชีวิต และความสุขไปมอบให้กับผู้คนบนดอย ทั้งนี้เขาอาจจะไม่ต้องการก็ได้ เขาอาจจะมีบ้างอยู่แล้ว แต่เราไปเพิ่มความสุขให้เขา ไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนให้เขา ไปทำกับข้าวให้เขา ถือเป็นการสร้างความสุขให้เขาอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่เขาได้รับเป็นสิ่งที่ดี และเขาก็อยากให้เราไปช่วยเหลือเขาในตรงนี้อีก

         สมัยตอนอยู่มัธยมก็เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้มากมาย พอขึ้นมาเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้รู้ข่าวกิจกรรมของกลุ่มเสื้อดำธรรมดี ก็อยากลองทำบ้าง การได้ไปขึ้นดอย ได้ไปเรียนรู้ในสถานที่ห่างไกลจากตัวเมืองจริง ๆ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไฟฟ้าพอมีอยู่ ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการและขั้นตอนการทำงานที่ได้ลงมือทำจริง รวมทั้งความสนุกสนานที่ได้รับกลับมาด้วย

         ส่วน ฟลุ๊ค-สุชาครีย์ แบ่งปันว่าตนเองเป็นคนที่ชอบเข้าป่า กางเต้นท์อยู่แล้ว ได้ไปกับเพื่อนด้วย พอได้ไปลองทำจริง รู้สึกดีมาก ได้เห็นรอยยิ้มชาวบ้าน ได้เรียนรู้การทำงานของรุ่นพี่ทีมเสื้อดำ แล้วความสุขที่ชาวบ้านได้รับก็ทำให้มีความสุขไปด้วย

เตรียมตัวขึ้นดอย 

         พวกเขาทั้งสามได้มีโอกาสเรียนรู้ทุกกระบวนการในการทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะก่อนการเดินทางที่ต้องรวบรวมสิ่งของและอุปกรณ์มากมายเพื่อไปส่งต่อให้กับโรงเรียนบนดอย

         ใหญ่-วชิรวิทย์ บอกเล่าประสบการณ์ว่า ทุกปีก่อนที่จะขึ้นดอย ก็ต้องติดต่อไปยังพื้นที่เป้าหมายก่อน วางแผนและกำหนดวันเดินทาง มีการออกไปสำรวจ ขนของที่จำเป็นขึ้นไปก่อน ประสานงานกับครูของโรงเรียนที่จะเข้าไปทำกิจกรรม อธิบายรายละเอียดกิจกรรมให้เขารู้ มีการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน เงินที่ได้รับก็นำมาวางแผนในการซื้อของ ซื้ออุปกรณ์ เหล่านี้คือเตรียมการทั้งหมดก่อนขึ้นดอย การเตรียมการก็ฝึกให้เป็นคนรับผิดชอบในการทำงานด้วย ไม่ใช่เพียงการไปเที่ยวเล่นธรรมดา แต่ได้มากกว่าการท่องเที่ยว เพราะได้ไปเรียนรู้ด้วย

         นอกจากเตรียมข้าวของแล้ว การเตรียมใจก็สำคัญ เพราะต้องพร้อมที่จะไปเจอประสบการณ์ สถานที่ และผู้คนที่แปลกใหม่ ฟลุ๊ค-สุชาครีย์ อธิบายว่าการเดินทางครั้งนี้ต้องเตรียมใจอย่างเดียว ที่จริงตนเองยังไม่เคยนั่งรถไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน พี่ทุกคนและอาจารย์ที่ไปด้วย ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ขับรถได้ปลอดภัยอุ่นใจ ช่วงที่เดินทางไปเป็นช่วงโควิดด้วย ต้องเตรียมของมากขึ้น มีการเตรียมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และก็สวมหน้ากากตลอดการเดินทาง ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เป็นกังวลกับคุณครู เด็ก ๆ และชาวบ้าน

สิบเอ็ดชั่วโมงจากพื้นราบสู่ดอยสูง

         กลุ่มเสื้อดำธรรมดี ปีที่ 12 ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง เป็นการขับรถในช่วงกลางคืนที่ทุกคนบอกว่าช่วยกันดูทางตลอดเวลา จนมาถึงจังหวัดตาก จึงต่อรถขึ้นไปที่ท่าสองยาง ระหว่างทางมีแวะพักรับประทานอาหาร และดื่มกาแฟ เพื่อคลายความเหนื่อยล้า

         ใหญ่วชิรวิทย์ ย้อนความทรงจำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า ออกเดินทางตอนค่ำ ขับรถไปตอนกลางคืน ระหว่างทางมีการพูดคุยไม่ให้ง่วงนอน แวะพักระหว่างทางดื่มกาแฟกัน ช่วยกันดูรถ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง จากกรุงเทพ ไปที่จังหวัดตาก พอมาถึงตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง ก็แวะกินข้าวเช้าทำภารกิจส่วนตัว ระหว่างรอรถมารับขึ้นดอย เราก็เตรียมขนของ เอาของมาแพ็ค เพื่อใส่รถที่มารับเรา พวกเราต้องเดินทางขึ้นดอยด้วยรถของชาวบ้านโฟร์วิลเท่านั้นอีก 4 ชั่วโมง จากอำเภอท่าสองยางเพื่อขึ้น ดอยแม่อุสุ ไปยังโรงเรียน ทางที่ขับรถขึ้นบนดอย ไม่ใช่ทางธรรมดา เหมือนหลุมอุกกาบาต ก็เริ่มมีอาการเล็กน้อย ท้องไส้ปั่นป่วน หน้าเขียว หน้าเหลือง ต้องรับประทานยาแก้เมารถ ทางเป็นเนินชัน แต่ก็ผ่านพ้นไปได้

         พอขึ้นไปถึงบนดอยก็มีน้ำค้างตก เราเดินทางในช่วงหน้าหนาว สิ่งที่ประทับใจคือมีเด็กตัวน้อยของโรงเรียนมายืนรอรับ เป็นเด็กของโรงเรียนบ้านคุทะ เรานอนพักกางเต้นท์กันอยู่ที่โรงเรียน ตรงที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นเนินเขา ด้านล่างก็เป็นหมู่บ้าน บ้านมีอยู่ไม่มาก เมื่อขึ้นไปถึงก็ต้องเว้นระยะกับคนบนดอย เพราะสถานการณ์โควิด ก็มีหน้ากากอนามัยไปแจกให้เขาด้วย ใกล้ค่ำก็กางเต้นท์นอน

โรงเรียนบ้านแม่คุทะ

         โรงเรียนบ้านแม่คุทะ ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โรงเรียนเป็นอาคารขนาดเล็ก มีพื้นที่ว่างด้านหน้าเหมือนสนามบอล มองลงไปเบื้องล่างเห็นหมู่บ้าน เห็นป่า มีห้องครัวติดกับห้องเรียน มีบ้านพักครู มีโรงอาหารก่อด้วยปูนและมุงหลังคา มีโต๊ะกินข้าวสองโต๊ะ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน พื้นที่ของโรงเรียนตั้งอยู่บนเชิงเขา ด้านล่างเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านประมาณ 20 หลังคาเรือน ถือได้ว่าโรงเรียนและชุมชนมีความใกล้ชิดกันค่อนข้างมาก

         อย่างไรก็ตาม ในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ก็ยังขาดอะไรหลายอย่าง เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กอนุบาลถึงปฐมวัย ที่จริงช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยสำคัญ แต่ทว่าอุปกรณ์การเรียนรู้ของเด็กไม่ค่อยเพียงพอ การเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนกับโรงเรียนข้างล่างปกติ ที่แตกต่างอาจจะเป็นความใกล้ชิดของบ้านกับโรงเรียน ใกล้ชิดธรรมชาติ สิ่งที่สังเกตเห็นคือความสดใสในตัวเด็กน้อยทุกคนที่อยากรู้อยากเห็นต่อเรื่องราวธรรมชาติรอบตัว

ห้องเรียนวิชาชีวิต เรียนรู้ ลงมือทำจริง

         การเดินทางคือการเรียนรู้วิชาชีวิต ที่นี่มีกิจกรรมให้ทำตลอดทั้งวัน ทุกอย่างเป็นการลงมือทำ ฝึกฝนด้วยตนเอง เริ่มต้นแต่วิชาการเดินทางขึ้นดอย ที่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งสุขภาพกายและใจ ตามมาด้วยวิชากางเต้นท์ ที่ฝึกหัดกันกางเต้นท์ และวิชาทำอาหาร

         เล็ก-วสิษฐ์พล แฝดผู้น้องบอกเราว่าวันแรกที่ขึ้นดอย ก็มีอาการมึนหัว เวียนหัว แต่เมื่อได้พักก็มีแรงมากยิ่งขึ้น ช่วงเย็นวันแรกก็ฝึกทำอาหารเลย ทำให้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นอาหารที่ได้กินตรงหน้า คนทำต้องลงทุนทั้งแรงกายแรงใจ ทำให้เห็นคุณค่าของอาหารทุกมื้อมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็เรียนรู้การกางเต้นท์ อาจจะมีติดขัดเล็กน้อย แต่ก็ผ่านไปได้ อีกทั้งยังต้องรับมือกับอากาศหนาวด้วย เรียกได้ว่าพบเจอกับสถานการณ์จริงที่หาไม่ได้จากห้องเรียนปกติอย่างแน่นอน

         พอเข้าวันที่สอง ก็เรียนรู้วิชาตื่นเช้าแต่เช้าตรู่ นาฬิกาปลุกชั้นดีคือสภาพธรรมชาติที่สวยงามและหนาวเย็น ลงมือเข้าครัวทำอาหารกินเองกันอีกครั้ง เมนูอาหารก็ทำได้ง่าย เช่น ผัดกะเพรา ไข่ดาว แกงเผ็ด เราก็ช่วยกัน อีกวิชาที่ได้เรียนคือการสังเกตสภาพธรรมชาติที่แตกต่างจากในเมือง เช้ามืดอากาศค่อนข้างหนาว ประมาณ 17-18 องศา พอเช้าตรู่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น หมอกหนาจนถึง 10 โมง ข้างบนจะมองไม่ค่อยเห็นมากนัก ตอนสายแดดก็มา อุ่นขึ้น พอได้มาอยู่ที่นี่กลายเป็นว่าต้องตื่นเช้ามากขึ้น แต่ก็มีข้อดีคือการได้สัมผัสบรรยากาศยามเช้าที่งดงามมาก

         ช่วงนี้ก็มีของเตรียมให้ชุมชน ได้ฝึกฝนวิชาวาดภาพ โดยวาดลงบนแผ่นไม้ ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระราชกรณีกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้เวลาพอสมควร การฝึกวาดรูปก็เป็นการฝึกสติและสมาธิ ทำให้ใจเรานิ่งและสงบมากยิ่งขึ้น

         พวกเขายังได้ผูกมิตรกับคนในชุมชน โดยได้ฝึกฝนวิชาทาสี วิชาซ่อมแซมบ้านเรือน และวิชาภาษาต่างประเทศ ใหญ่-วชิรวิทย์ เล่าให้ฟังว่า ได้แบ่งกลุ่มกับเพื่อนทำกิจกรรมช่วยกันทาสีอาคาร และลงพื้นที่ชุมชนของชาวบ้าน ช่วยกันทำน้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างจาน

         รวมถึงผูกมิตรกับเด็ก ก็ฟังภาษาที่เด็กพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะพูดภาษถิ่นปกาเกอะญอ ที่จริงเด็กก็พูดภาษาไทยได้ แต่ฟังไม่ชัด ถือได้ว่าได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาของผู้คนบนดอยไปในตัว นอกจากนี้ก็ยังช่วยทำความสะอาดพระพุทธรูปประจำโรงเรียน กวาดพื้นที่บริเวณโรงเรียน ช่วยวาดป้ายชื่อโรงเรียนใหม่ ช่วงบ่ายเราก็แจกของที่เตรียมไปให้กับเด็ก ๆ โรงเรียน และชุมชน

         พอช่วงสายก่อนเที่ยงก็ลงมือทำงานชุดใหญ่ คือการทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงลุงป้า น้าอา กลุ่มเด็กที่โรงเรียน เป็นเมนูอาหารที่เราได้ลงมือทำเอง เตรียมวัตถุดิบ เตรียมเส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำซุป และทำวุ้นแจกด้วย เป็นเมนูเพิ่มสีสันมีวุ้นกะทิน้ำเขียวน้ำแดง เด็กบนดอยก็สนุกสนานกับเมนูอาหารที่เราเตรียมไป

         ก่อนจากกันก็มีกิจกรรมนิทานไฟฉาย ที่บอกเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 โดยใช้อุปกรณ์หลักคือไฟฉาย ฉากม่านผ้าสีขาว งานนี้เป็นงานใหม่สำหรับสามหนุ่มเลย เพราะปกติรุ่นพี่ทีมเสื้อดำจะดำเนินการ ปีนี้พวกพี่รับน้องใหม่ให้ทั้งสามได้ลองใช้ทักษะทางด้านดนตรีที่ชอบมาลองทำดู เล็กเป็นคนเล่นดนตรี ดีดกีตาร์ตามลำนำของเนื้อเพลงและเรื่องราว ส่วนใหญ่กับฟลุ๊คเป็นคนเล่นหุ่นเงาอยู่หลังม่านขาว

         นิทานไฟฉายซ้อมกันเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ถือเป็นการเรียนรู้วิชาดนตรี และวิชาสร้างความสุขไปในตัว ชาวบ้านและเด็กน้อยบนดอยก็มีกิจกรรมการร้องเพลงพื้นเมืองมาฝากพวกเขาเช่นกัน เป็นล้อมวงรอบกองไฟ ร้องเพลงร่วมกันในภาษาถิ่นที่ถึงแม้จะฟังไม่ออก แต่ท่วงทำนองของดนตรีก็สื่อสารถึงความสุขของชีวิตได้อย่างมากมาย สำหรับพวกเขาทั้งสามถือเป็นอีกหนึ่งคืนที่น่าจดจำ

ถอดบทเรียน ไม่มีเกณฑ์ตัดสิน ไม่มีการให้เกรด แค่เพียงรับฟัง

         เช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับบ้าน พวกเขาบอกว่าขามาและขากลับให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ชาวบ้านและเด็กน้อยบนดอยมาส่งพวกเขาพร้อมกับเอากระเป๋าผ้าที่ถักกันเองมาให้

         เมื่อลงจากดอยมาแล้วก็ได้มีเวลาพัก เพื่อพูดคุยถอดบทเรียนที่น่าจดจำ เป็นการประเมินผลวิชาชีวิตที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทว่าไม่มีการตัดสิน ไม่มีการให้เกรด มีเพียงการเปิดใจรับฟังประสบการณ์ที่ผ่านมาของกันและกันอย่างตั้งใจ

         ฟลุ๊ค-สุชาครีย์ บอกในวงถอดบทเรียนว่า คนเรามีความสุขกันคนละแบบ การที่เราอยู่ท่ามกลางคนมากมาย บางครั้งจิตใจเราก็วุ่นวายไม่สงบ หรือการเป็นคนเมือง เราใช้ชีวิตอยู่กับโลกโซเชียล อยู่กับหน้าจอ แต่พอเราได้ขึ้นดอย เราเหมือนได้เจอโลกใหม่ พักจากโลกโซเชียลบ้าง เราได้สังเกตชีวิตของผู้คนมากขึ้น เขามีความสุขในแบบของเขา เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนที่นี่อยู่กับธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ เราไปเรียนรู้จากเขา จริง ๆ เขาต่างหากที่เป็นผู้ให้ เราไม่ได้เป็นผู้ให้ แต่เราได้รับความสุขจากเขากลับมามากมาย

         ขณะที่ เล็กวสิษฐ์พล คิดคล้ายกันว่า การอยู่ในเมืองมีความวุ่นวายถาโถมเข้ามาหาเราทุกเรื่อง เราได้ออกไปจากโลกที่คุ้นเคย ได้ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ใช้ชีวิตที่อยู่กับความธรรมดา ถึงแม้ว่าชีวิตที่ผ่านมาก็ธรรมดาไม่หวือหวาอยู่แล้ว แต่เรากับได้พบความจริงที่สุดแสนจะธรรมดาแบบมีความสุข เราขึ้นไปบนดอย เหมือนเราได้ตัดขาดจากโลกภายนอก กลายเป็นว่าเราใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ได้รับความสุขจากคนรอบข้าง เป็นความสุขที่อิ่มเอมใจ เรานำของไปให้ นำอาหารไปแบ่งปัน ไปช่วยซ่อมแซมบำรุงที่อยู่อาศัย เราได้เห็นรอยยิ้มของเขา ดีมาก ดีต่อใจสำหรับทุกคน พวกเรารู้สึกอิ่มเอมใจกับความสุขที่เราต่างแบ่งปันให้กันและกัน

         ปิดท้ายที่แฝดพี่ ใหญ่-วชิรวิทย์ ก็ทิ้งท้ายว่า นี่เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียน เป็นวิชาชีวิตที่ต้องอาศัยพลังกายและพลังใจในการเรียนรู้ ทุกอย่างสอนให้เกิดการเรียนรู้จากการช่วยเหลือกันและกัน ฝึกสังเกต ไม่มีการสอน ไม่มีโจทย์คำสั่ง มีเพียงแผนงานที่วางแผนร่วมกัน ใครถนัดหรืออยากเรียนรู้สิ่งไหนสามารถเลือกทำได้ตามใจ ขอเพียงตั้งใจทำสิ่งนั้นจากใจ และก็เต็มที่กับงาน ให้รู้สึกว่างานที่ทำนั้นเป็นของเราเอง เขาบอกอีกว่าอยากกลับมาที่นี่อีกครั้ง และอยากมาอยู่ให้นานกว่าเดิม

         การเดินทางที่ดีงามที่สุดคือการเดินทางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและธรรมชาติ ไปอยู่ ไปเรียนรู้ ไปสังเกต เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้ช้าลง และเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ขอแนะนำเพิ่มเติม

         เสื้อดำธรรมดี คือเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม ที่ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ติดตามเรื่องราวของพวกเขาได้ที่ https://www.facebook.com/blackthumdee

Writer & Photographer

ทำงานสื่อสารอยู่ในองค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ชอบถ่ายรูปและหลงใหลในธรรมชาติ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ก้าวย่างออกจากสังคมเมือง ไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ