นับหนึ่งไปให้ถึงฝัน คุยกับครูยุ้ย-ครูเต้ย เรียนรู้วิธีคิดคนทำหนังสารคดีชั้นหนึ่ง

บอกเล่าเรื่องที่ใกล้ใจ ใกล้ความรู้สึก สัมผัสได้ เคล็ด (ไม่) ลับของคนทำหนังสารคดี

         นับหนึ่งไปให้ถึงฝัน ต้องใช้แรงบันดาลใจที่แสนทรงพลัง เป็นแรงขับให้คนเราลงมือทำอะไรบางอย่างได้ ยิ่งไปกว่านั้นเราทุกคนต่างรู้ดีว่าการบอกเล่าเรื่องราวสักเรื่องต้องใช้มากกว่าแรงบันดาลใจ แต่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดไม่ได้เลย หากไม่เกิดการจุดประกายที่เข้มข้น

         ด้วยความที่สนใจในการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้ ครูยุ้ยและครูเต้ย สองผู้กำกับภาพยนตร์ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย นักคิด นักวิชาการด้านภาพยนตร์ และพ่วงด้วยบทบาทการเป็นคุณพ่อคุณแม่ของน้องแฝดอู่ข้าว-อู่น้ำ ออกเดินทางเรียนรู้อีกครั้งกับ ภาพยนตร์สารคดีชั้นหนึ่ง (First Grade) ต่อยอดความฝันจากภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นทางสังคมอย่าง ที่ว่างระหว่างสมุทร The Isthmus (2013) บอกเล่าเรื่องแรงงานพม่าในประเทศไทย โดยมีเด็กเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งได้รับการคัดเลือกเข้าฉายรอบ World Premiere ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 18 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ติดถ้ำ The Caved Life : ปางหนองหล่ม A Village on a Fault (2020) ที่บอกเล่าเรื่องราวเชิงสังคมต่อยอดจากเหตุการณ์น้องหมูป่าติดถ้ำ

         นับหนึ่งจากวันที่เริ่มลงมือทำสารคดี กว่า 4 ปี พร้อมด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่มากมาย เดินทางมาถึงในวันนี้ ภาพยนตร์สารคดีชั้นหนึ่ง ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว เราได้พูดคุยกับ ครูยุ้ยผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการทำหนัง ขั้นตอน มุมมอง และแง่คิด เคล็ด (ไม่) ลับที่จะสามารถจุดประกายความคิดแก่ นักอยากเล่าทุกคน ให้สามารถมุ่งหน้าทำตามความฝันให้สำเร็จ มาเริ่มนับหนึ่งให้ถึงฝันไปพร้อมกับเรา

เมื่อความสงสัยจะพากลับไป ณ จุดเริ่มต้น

         เราพบกับครูทั้งสองในงานฉายรอบสื่อของ ภาพยนตร์สารคดีชั้นหนึ่ง (First Grade) ที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ใจกลางกรุงเทพมหานครในวันที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ครูยุ้ยแบ่งปันจุดเริ่มต้นของหนังสารคดีเรื่องนี้ให้เราฟัง

         “ครูก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาหลายปี เราเห็นปัญหาว่าช่วงหลังลูกศิษย์ป่วยกันเยอะ เขารู้สึกว่าไม่มีแรงบันดาลใจในการเรียน ไม่อยากจะทำอะไร ไม่รู้ว่าอยากจะเป็นอะไร พอเห็นปัญหาเราก็อยากจะตั้งคำถามกลับไป เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษายุคเก่า เราจึงกลับไป ณ จุดเริ่มต้น ว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

         ครูทั้งสองใช้เวลากว่าหนึ่งปี ตระเวนเดินทางไปหลายโรงเรียน ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างพื้นที่ ต่างบริบทในการใช้ชีวิต เพื่อหาคำตอบให้กับสมมติฐานที่ว่า การศึกษาในวัยเด็กสามารถส่งผลต่อชีวิตของคน ๆ หนึ่งในอนาคต

         “สารคดีเรื่องนี้เริ่มทำก่อนมีลูก ตอนแรกสนใจจะ survey ก้าวแรกสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ นั่นคือ ป.1 แต่พอทำไปเริ่มเห็นความสำคัญของก่อนจะ ป.1 ด้วย นั่นคือ ช่วงแรกเกิด หรือจริง ๆ ต้องบอกว่าตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนถึง 8 ขวบ เราก็เลยขยายขอบเขตของเรื่องลงไปพูดถึงเด็กในระดับอนุบาลด้วย” ครูเต้ยเล่าเสริม

         ทั้งสองเลือกเข้าไปสำรวจชีวิตนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นอันดับแรก ทว่าเมื่อศึกษาไปเรื่อย ๆ กลับพบว่า การศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นั้นสายเกินไป แต่การเรียนรู้ใน ช่วงปฐมวัย หรืออายุ 0-8 ปี ต่างหาก ที่ส่งผลต่อพัฒนาการ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตสำคัญ ที่การศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยอาจจะมองไม่ค่อยเห็น

         “อย่างไรก็ตามเด็ก ป.1 หรือ ชั้นหนึ่ง โดยตัวของมันก็ยังเป็นตัวเอกของเรื่องอยู่ดี เพราะเป็นปีสำคัญในช่วงปฐมวัยเช่นกัน แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองโดยกฎหมายในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับความเป็นปฐมวัย เด็ก ป.1 จำนวนมากจึงต้องเผชิญหน้ากับกับความกดดัน การถูกเร่งเรียนให้อ่านออก เขียนได้ก่อนวัยอันควร ยิ่งพอเรามีลูกเอง ได้สังเกตเห็นธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ด้วยตนเอง เราจึงยิ่งเข้าใจและเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำให้คนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยแนวทางที่ถูกต้อง” ครูเต้ยขยายความให้เราเห็นภาพ

         ครูยุ้ยยังบอกอีกว่า “ทุกคนพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่การศึกษาแบบ standard สามารถให้ได้ และเราพบว่าในท้ายที่สุดแล้ว เด็กทุกคนก็เป็นเด็กเหมือนกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายยังไง เด็กก็ต้องการมีสิทธิพื้นฐานในความเป็นปฐมวัยของเขา มีพื้นที่ให้เขาเป็นเด็กอย่างที่เขาเป็น”

ปั้นเรื่องเล่าภาพยนตร์สารคดี ความยากไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังท้าทายทุกครั้งที่เจอ

         หนึ่งในสิ่งที่ทำให้งานสารคดีดูเป็นเรื่องยากคือ การเก็บข้อมูลมากมาย แหล่งข่าวที่หลากหลาย ที่ไม่ว่าคุณจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาแค่ไหน หรือช่ำชองด้วยประสบการณ์มากน้อยเพียงใด อุปสรรค ที่ท้าทายจะยังคงวิ่งตามมาอยู่เสมอ

         “ตอนแรกก็ไม่นึกว่าการทำงานจะยากเกินไป แต่พอเราเริ่มลงพื้นที่ไปสำรวจและถ่ายทำทั่วประเทศ เราก็พบว่ามันยากมากที่จะให้ภาพรวมของการศึกษาในช่วงวัยนี้ได้อย่างครบถ้วน เพราะประเทศเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดกลับถูกกดทับไว้ด้วยหลักสูตร ตัวชี้วัดการประเมินและกฎระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นจากส่วนกลาง สิ่งที่เราได้เห็นคือความพยายามที่จะปรับตัวปรับวิธีการให้ตอบโจทย์ที่ได้รับให้เข้ากับบริบทของตน มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ทีนี้พอเราจะเอาทั้งหมดมาเรียบเรียงเล่าให้น่าสนใจให้ได้ประเด็นในความยาวประมาณ 90 นาทีและก็ต้องทำให้ไม่น่าเบื่อด้วย มันก็เลยยาก” ครูเต้ยกล่าว

         ความคาดหวังของทั้งสองผู้กำกับที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจสร้างภาพยนตร์สารคดีนี้ขึ้นมา จึงนำมาสู่ความตื่นตัวและการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อความสำคัญในช่วงปฐมวัยของคนทั่วไป ที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ หากแต่เป็นพลังที่สามารถผลักดันให้สังคมเห็นว่านี่คือเรื่องใหญ่ของคนทุกคน เพราะในที่สุดแล้วพวกเขาเหล่านี้ก็คืออนาคตที่เราฝากความหวังเอาไว้

         เมื่อรู้ว่าสิ่งที่อยากบอกเล่าอย่างแน่ชัดคือเรื่องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ครูยุ้ยและครูเต้ยไม่ปล่อยให้แรงบันดาลใจเหล่านั้นร้องเรียกอย่างไร้จุดหมาย หากแต่ตอบรับมันอย่างสุดความสามารถ จนได้ผลงานออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีให้พวกเราได้ชมในวันนี้ หรือหากใครยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ที่ House Samyan ครูยุ้ยและครูเต้ยบอกว่าให้รอติดตามการฉายภาพยนตร์ในวงกว้างต่อไปในอนาคต

         ที่สำคัญครูทั้งสองยังฝาก เคล็ดลับเล็ก ๆ ที่ฟังแล้วใกล้ใจ สำหรับจุดประกาย นักอยากเล่าทุกคน ให้กล้าเล่าในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร จะมีอะไรบ้าง เราอยากชวนนับหนึ่งไปด้วยกัน

นับหนึ่งกับเรื่องใกล้ใจ

         “สารคดีมันดูเหมือนเรื่องไกลตัวเนอะ” ครูเต้ยว่า หลายคนอาจมองว่าสารคดีบางเรื่อง เป็นสิ่งที่ “ไกลตัว” ในฐานะผู้ชม ทว่าแม้สารคดีอาจจะดูเหมือนไกลตัว แต่สารคดีก็สามารถ “ใกล้ใจ” ทั้งผู้ชมและผู้สร้างได้เช่นกัน เพราะสารคดีไม่ได้ลดทอนความรู้สึกลง ใช้การร้อยเรียงข้อมูลจากความจริงที่สัมผัสได้ถึงความรู้สึก มีน้ำเสียงของผู้เล่า ส่งผลให้ใกล้ใจผู้ชมได้

         ครูเต้ยได้แสดงทัศนะในฐานะผู้สร้างว่า คนที่จะทำสารคดีได้ดีที่สุด หรือสารคดีอะไรก็ตาม ที่คนหนึ่งจะทำได้ดีที่สุดก็คือเรื่องใกล้ตัว โดยความใกล้ตัวในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เรารู้จัก หลายคนมีเรื่องใกล้ตัวที่คนอื่นไม่มี ขณะที่บางคนสนใจเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ ดังนั้น หากใครมีใจที่อยากสร้างสารคดีดูสักตั้ง ลองเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ที่เราสามารถสัมผัส รู้จัก ชอบ และรัก จนสามารถอยู่กับมันได้นาน

         “ลากมันออกมาเลย สารคดีไม่จำเป็นจะต้องดูแล้วเครียด และไม่ต้องเป็นวิชาการเสมอไป ในชั้นหนึ่ง มีบทสัมภาษณ์ แต่จริง ๆ สารคดีไม่จำเป็นต้องมีบทสัมภาษณ์อะไรเลยก็ได้นะ อาจจะใส่ดนตรี ใส่ซาวน์ ใส่อะไรให้มันดูน่าตื่นเต้น เส้นแบ่งเดียวของสารคดีกับภาพยนตร์รูปแบบอื่น มันมีแค่ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้น แค่นั้นเอง”

         “หาให้เจอเถอะ มนุษย์ธรรมดาก็มีดราม่าได้ หาเจอเมื่อไรคุณก็จะได้ material ดี ๆ”

         ครูเต้ยอธิบายเสริมอีกว่า เมื่อตัวละครภายในสารคดีต้องเป็นคนจริง ๆ ไม่ใช่ตัวละครสมมติ จึงทำให้เป็นข้อได้เปรียบของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ เพราะชีวิตของคนแต่ละคนย่อมมีเรื่องราวอยู่แล้ว โดยการทำสารคดีในมุมมองของครูเต้ย ไม่ใช่การบอกเล่าเรื่องราวดราม่า ฉูดฉาด น้ำตาร่วง เพียงอย่างเดียว แต่คือการร้อยเรียงเรื่องราวในชีวิตของคนให้ออกมาน่าสนใจ ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงใดก็ตาม

         โจทย์สำคัญของผู้สร้างคือการหาสิ่งเหล่านั้นให้เจอ เพราะเมื่อหาเจอ คุณจะพบกับพระเอก นางเอก และตัวละครดี ๆ หลังจากนั้น จึงต่อด้วยการหาโครงสร้างและแนวทางในการนำเสนอ วิธีในการเริ่มเรื่อง เล่าเรื่อง และจบเรื่อง ตอบกับตัวเองให้ชัดว่า climax อยู่ที่ใด และจะปิดฉากสารคดีเรื่องนั้นอย่างไร โดยกระบวนการทั้งหมดที่ว่ามาย่อมนำไปสู่หัวใจสำคัญที่ผู้สร้างต้องการสื่อสาร ซึ่งก็คือประเด็นที่อยู่ใกล้ใจในตอนแรกนั่นเอง

นับสองให้กล้าที่จะเล่า

         “พอเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เราก็ย่อมกล้าเล่า ถ้าเล่าในสิ่งที่เรารู้ดีที่สุด ใครจะกล้ามาเถียงเราจริงไหม”

         ครูเต้ยยกตัวอย่างรายการแฟนพันธ์แท้ขึ้นมา โดยกล่าวว่ามนุษย์แต่ละคนต้องมีความเป็นแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แน่ ๆ จะเหลือเพียงแค่หาให้เจอว่า คุณเป็นแฟนพันธุ์แท้อะไรเท่านั้นเอง บางคนชื่นชอบฟุตบอลเหมือนกัน มีความเป็นแฟนพันธุ์แท้เหมือนกัน แต่ความรู้อาจจะไม่เท่ากัน ก็มีอยู่ถมเถ

         “ไม่ต้องไปสนใจว่าคนนั้น คนนี้ จะไม่เข้าใจ เราทำงานแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป แล้วคุณจะเจอว่าจุดไหนคือจุดที่เรามี แล้วคนอื่นไม่มี จุดไหน คือ จุดที่เราเห็นแล้วคนอื่นไม่เห็น”

นับสามเคล็ดลับคือเล่าให้เพื่อน

         “เวลาจะเล่าให้คิดว่ากำลังเล่าให้เพื่อนสนิทของเราฟัง ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะต้องเล่าให้แมส เราจะต้องทำให้เรื่องมันดัง จะต้องทำให้มันหวือหวา ไม่ใช่เลย”

         ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อีกหนึ่งเคล็ดไม่ลับในการทำสารคดีของครูเต้ยคือปล่อยใจให้สบายแล้วเล่ามันให้คนที่อยากรับฟัง โดยสารคดีจัดเป็นหนึ่งในสื่อเฉพาะกลุ่มโดยธรรมชาติ ดังนั้นในฐานะผู้สร้าง คุณไม่จำเป็นต้องฝืนหรือพยายามเกินตัว เพื่อตีตลาดความแมส ‘คนนี้ไม่อิน ดูแล้วเขาไม่น่าอินหรอก ก็ไม่ต้องเล่าให้ฟัง’ เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ที่สารคดีจะเลือกผู้ชม ก่อนผู้ชมจะตัดสินใจดูภาพยนตร์เรื่องนั้นเสียอีก

         อย่างไรก็ตามศิลปะในการเล่า ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากการศึกษา พัฒนา และปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เรื่องราวที่ถูกฉายกว่าสองชั่วโมงตรึงตาและตรึงใจผู้ชมต่อไป

นับสี่แล้วระลึกเสมอว่าทุกเรื่องราวมีความสำคัญ

         เมื่อมาจนถึงจุดนี้ หลายคนอาจยังมีความกังวลว่าเรื่องราวที่ตนสนใจ อาจโดนปัดตกไป เพราะไม่ได้อยู่ในกระแส ครูเต้ยจึงขอย้ำให้ฟังอีกครั้งว่า “เรื่องเล็ก ๆ ต่อให้เล็กแค่ไหน ก็ย่อมสะท้อนเรื่องใหญ่บางอย่างอยู่เสมอ”

         โดยครูเต้ยยังเสริมอีกว่าในฐานะนักเล่าเรื่อง ให้จำขึ้นใจไว้เสมอว่า “จงอย่ากลัวว่าเรื่องที่เล่าจะมีคุณค่าต่อโลกหรือเปล่า เพราะทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เหมือนดังที่ชั้นหนึ่ง เล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กตัวเล็ก ๆ จากหลากหลายพื้นที่ แต่กลับสะท้อนภาพการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ปัญหาส่วนตัวเล็ก ๆ ในระดับปัจเจกบุคคล สามารถพูดถึงปัญหาสากลที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจออยู่ก็เป็นได้ เหลือก็เพียงแต่เรา ในฐานะผู้สร้าง ที่ต้องจับจุดเหล่านั้นให้เจอเท่านั้นเอง”

ทุกเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับทุกคน

         ภาพยนตร์ทำให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น กระตุ้นให้คนสนใจ เข้าถึงได้ง่าย ครูเต้ยย้ำว่า “ภาพยนตร์สารคดีมันเป็นเหมือนตัวจุดประเด็น ให้เห็นว่ายังมีเรื่องอะไรที่คนควรจะรู้อีกบ้าง ซึ่งบางเรื่องอาจจะอยู่นอกเหนือความสนใจ เคยเพิกเฉย หรือคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ความท้าทายของคนทำอย่างเรา ก็คือจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเรื่องที่เราเล่าออกมานี้ เป็นเรื่องของเขาด้วยเช่นกัน”

         ก่อนจากกันเรายังขอให้ครูช่วยแนะนำหนังสารคดีในดวงใจ ที่อยากให้ทุกคนไปตามดูและเรียนรู้เพิ่มเติม ครูบอกกับเราว่า มีหลายเรื่องเลย เอาเท่าที่นึกออกก่อน เช่น Childhood (2017) หนังเด็กแนวการศึกษา My Octopus Teacher (2022) หนังสารคดีสัตว์น้ำที่ล้ำทั้งเรื่องทั้งภาพ The Cove (2019) หนังเพื่อปลาวาฬที่คนญี่ปุ่นเป็นผู้ร้าย สนุกเหมือนหนังทริลเลอร์ Wild wild country (2018) สารคดีขนาดยาวเกี่ยวกับท่าน Osho สนุก น่าติดตาม มี Big Character ตามมาด้วย Farenheit 9/11 (2004) สารคดีวิพากษ์การเมืองจอร์จ บุช โดยไมเคิล มัวร์ ตลกเสียดสี Dark Humor และ The Staircase (2004) ฆาตกรรมซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างกับเรื่องแต่ง

         เต็มอิ่มกับเรื่องราววิธีคิดเบื้องหลังการทำหนังสารคดี มานับหนึ่งเดินทางต่อไปให้ถึงฝันด้วยกัน นี่คือเคล็ด (ไม่) ลับที่จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คนมีฝันจาก ครูยุ้ย-ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ ครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ ผู้เป็นทั้งครู อาจารย์ เป็นคนทำหนัง เป็นนักวิชาการ และเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่นับหนึ่งในการเลี้ยงลูกอย่างเข้าอกเข้าใจธรรมชาติการเติบโตของเด็กเล็ก

         เทคนิคจากครูทั้งสองไม่เพียงใช้ได้แค่ในงานสารคดีเท่านั้น แต่ผู้มีใจรักการเล่าเรื่องทุกคนยังสามารถนำไปปรับใช้ในเรื่องราวของตัวเอง ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตามได้อีกด้วย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้แรงบันดาลใจต้องนั่งรอเลย เพราะทุกเรื่องราวล้วนมีคุณค่าทั้งนั้น และทุกเรื่องเล่าที่สร้างสรรค์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้ มานับหนึ่งไปให้ถึงฝันด้วยกัน

ขอแนะนำเพิ่มเติม

         ทำความรู้จักกับภาพยนตร์ สารคดีชั้นหนึ่ง (First Grade) ให้มากยิ่งขึ้นและติดตามเรื่องราวของ ครูยุ้ย-ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร และครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คนทำหนังที่มีหัวใจรักการเรียนรู้ได้ที่เพจ Dream sequenze https://www.facebook.com/dreamsequenze

         ภาพยนตร์สารคดี ชั้นหนึ่ง (First Grade) สร้างขึ้นภายใต้การดูแลของ บริษัท ดรีม ซีเควนซ์ จำกัด (Dream Sequenze) กำกับโดย โสภาวรรณ บุญนิมิตร และพีรชัย เกิดสินธุ์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Faculty of Communication Arts, Chulalongkorn University)

Writer

อะไรจะดีไปกว่าการแต่งแต้มศิลปะบนเรือนร่าง และสลัดมันฝรั่ง หลังเดินป่า 10 กิโล

Photographer

นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Graphic

นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ