เปิดโลกดิจิทัลสุดล้ำ BUDM ShowPro 2022 Thesis Exhibition

นิทรรศการโชว์สารนิพนธ์ของนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         ความคิดสร้างสรรค์คือจุดเริ่มต้นของการค้นพบสิ่งใหม่ จินตนาการ การลงมือทำที่ต่อยอดได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด กระบวนการเรียนรู้คือการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้เติบโต เราขอพาไปท่องโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์กับงานนิทรรศการสุดล้ำของ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         BUDM ShowPro 2022 Thesis Exhibition คืองานนิทรรศการแสดงสารนิพนธ์ประจำปีของนักศึกษาสาขาสื่อดิจิทัล งานในปีนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre-BACC) เป็นงานนิทรรศการที่รวบรวมผลงานสารนิพนธ์ (Degree Project) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อดิจิทัล คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กว่า 100 ผลงานมาจัดแสดงให้ได้รับชมกัน

         ภายในงานปีนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ รองอธิการบดีสายวิชาการ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ร่วมให้กำลังใจนักศึกษา และชื่นชมผลงานนิทรรศการ พร้อมด้วย อาจารย์ปนิญญา ภักษา และ อาจารย์พีร์ ภานุวัฒน์วนิชย์ รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ รองอธิการบดีสายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์ปนิญญา ภักษา รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

อาจารย์พีร์ ภานุวัฒน์วนิชย์ รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

         BUDM ShowPro Thesis Exhibition 2022 เป็นกิจกรรมแสดงผลงานสารนิพนธ์ (Degree Project) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อดิจิทัล คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ กว่า 100 ผลงานที่ได้รับการผลิตในปีการศึกษา 2564 ใช้เวลากว่า 1 ปีการศึกษา จากนักศึกษาสาขาเฉพาะด้าน 6 สาขาดังนี้ ได้แก่ สาขาการสร้างสรรค์แอนิเมชัน 3 มิติ สาขาการสร้างสรรค์ผลพิเศษทางภาพ สาขาการควบคุมการผลิตแอนิเมชันและผลพิเศษทางภาพ สาขาการถ่ายภาพดิจิทัล สาขาการผลิตเสียงและดนตรีสำหรับสื่อดิจิทัล และสาขาการผลิตกราฟิกเคลื่อนไหวและสื่อผสม

         การนำเสนอผลงานครั้งนี้มีแนวคิดคือ ShowPro ได้แก่ Project คือการเรียนรู้จากการสร้างสรรค์โครงการจริง Production คือการเรียนรู้จากกระบวนการลงมือผลิตงาน และ Professional คือการได้รับคำแนะนำ มีอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพจากอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลมาให้คำแนะนำ

         Creatimon คือแนวคิดผลงานสารนิพนธ์ของนักศึกษา ผสมผสานคำว่า Creative และ Monster สื่อความหมายถึง แก๊งมอนสเตอร์แห่งการสร้างสรรค์ มีมาสคอตประจำงานที่เป็น ปลาหมึกสุดน่ารัก หมายถึงความหลากหลายของการสร้างสรรค์งานสื่อดิจิทัล

         โดยการจัดรูปแบบภายในงานจะแบ่ง Show Pro ออกเป็นทั้งหมด 4 Show Pro ด้วยกัน ได้แก่ Show Pro Gallery, Show Pro Study, Show Pro Show Time และไฮไลท์สำคัญของงานนี้เลยคือช่วง Show Pro Talk ที่ทางคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ได้เชิญเหล่า Guest Speaker ในวงการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัลมาให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และให้คำแนะนำกับผู้ที่มาเข้าร่วมงานอีกด้วย               

Show Pro Gallery ตื่นตาไปกับงานภาพถ่าย

         พื้นที่สำหรับรวบรวมผลงานของนักศึกษาสาขา Digital Photography โดยรวบรวมงานภาพใน Concept ที่หลากหลายไว้ เช่น ชุดภาพโรงเรียนของหนู, สัตว์ประเสริฐ: Better than Other, Human Are Trash, Tawilak, Bliss, ไปบ่…ชัยภูมิ, HELLA 90’S, Uniqueface, trip trip, โลกใต้สะพาน, อิสตรี: LILITH และ Proximity Distance เป็นต้น

Show Pro Study เรียนรู้แบบลงลึกในงานสื่อดิจิทัล

         การศึกษาค้นคว้าวิจัยอิสระของนักศึกษา Research & Independent Study ประกอบไปด้วยผลงานทั้งหมด 17 หัวข้อด้วยกัน ซึ่งแสดงถึงการศึกษาค้นคว้า ศึกษาวิจัย วิเคราะห์อย่างลงลึกในหัวข้อที่นักศึกษาสนใจ มีหัวข้อที่น่าสนใจดังนี้

         การศึกษาดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Mulan 2020, La La Land ที่มีผลต่อการเล่าเรื่อง, การศึกษาดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีผลต่อการเล่าเรื่องการสื่อสารหลักในกรณีศึกษา Your Name, Harry Potter I-III, การศึกษาเสียงและดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ, การศึกษาดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีผลต่อการเล่าเรื่องในกรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now, เรื่อง The Dark Knight, เรื่อง Sweeney Todd The Demon Barber of Fleet Street, เรื่อง Green book, เรื่อง mad max: fury road, เรื่อง Midsommar, เรื่อง Sicario, เรื่องเลิฟ ไซมอน Love, Simon

         การศึกษาและเปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ของผู้ควบคุมการผลิตฝ่ายภาพในขั้นตอนหลังการผลิตของภาพยนตร์ ละคร และรายการโทรทัศน์, การจัดการธุรกิจแอนิเมชัน วิชวลเอฟเฟคและภาพยนตร์ในไทยช่วง COVID-19, การศึกษาลักษณะการทำงานและทักษะเฉพาะทางของการควบคุมการผลิตสำหรับ International Film Service ในประเทศไทย, และการศึกษาปัจจัยการประสบความสำเร็จภาพยนตร์แอนิเมชันกรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง Spirited away มิติวิญญาณมหัศจรรย์

Show Pro Show Time รื่นรมย์ไปกับงานเสียงดนตรี

         Show Time เป็นพื้นที่สำหรับโชว์ผลงานของนักศึกษาจะมีทั้งผลงานด้าน Sound and Music Production ได้แก่ Reflect, The sound of “Rivulet of Universe”, Kick Twist และ Lenticular Project

         ผลงานด้าน 2D Animation and 3D Animation ได้แก่ Cycle Dark, UNDERGROUND, The Steel Berserk, The War of Vengeance, Humanoid & Quadruped creature, Eaton’s Nightmare, Home, Unleash the Demon, มันอยู่ทุกที่, Homemate, Fetish, Megical Girl, MY PATH, Sindy และ That Train

         ผลงานด้าน Mixed Media เช่น Macaw, Ulti Prod., เด็ด, PiXXiE, Ponte, Dating, Mood UP, 7 sins, รีเมคไตเติลภาพยนตร์ เดดพลู 2, Game Cabinet, FRIEND ZONE และ Case Study

         ผลงานด้าน CG Short & Short Film ได้แก่ Arcade, War Mate, Project D2, Forsaken, Lenticular Project, Bleach, ELF of Norse my thlogy, Meteorites crash into building, XR City, Transform Artstyle, 3 Seasons Changing of Environment และ Alien World สลับกันไปตลอดงานที่เกิดขึ้นทั้ง 3 วัน

เส้นทางของนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ A pathway to become a successful film composer

         เวทีสนทนาภายในงานก็มีรุ่นพี่ Guest Speaker ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์แบบมืออาชีพ ท่านแรก พี่ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน พูดถึงเส้นทางสู่การเป็น นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์

         โอกาสที่พี่ต๋อยได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัวเลยคือการทำเพลงโฆษณา จนค่ายเพลงที่ทำอยู่ได้ให้โอกาสไปทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกนั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง เด็กหอ 2006 กำกับโดย พี่ย้ง-ทรงยศ และในช่วงหนึ่งพี่ต๋อยได้เล่าประสบการณ์ถึงวันที่ได้เข้าไปขายงานกับผู้กำกับพี่ย้ง-ทรงยศและพี่ต้อม โดยได้กล่าวว่าคนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการทำเพลงจริง ๆ แล้วนั่นก็คือ ‘ผู้กำกับภาพยนตร์’ ที่จะบอกเราว่าอยากให้เพลงไปในทิศทางใด

         พี่ต๋อยยังพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำเพลงประกอบซีรีส์ที่โด่งดังอย่างซีรีส์เลือดข้นคนจาง พี่ต๋อยได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของ Thomas Bergersen อย่างเพลง Empire of Angels (Sun) เพราะช่วงนั้นติดการฟังเพลงของ Thomas Bergersen บวกกับได้มีโอกาสทำเพลงในแนวนี้พอดี พี่ต๋อยเลยได้ใส่ความเป็น Thomas Bergersen ลงไปในบทเพลง จนได้กลายมาเป็นเพลง เลือดข้นคนจาง ฉบับ Original Soundtrack ที่ทุกคนได้ฟังกัน และเราเชื่อว่าหลายคนคงจะติดตราตึงใจกับเพลงนี้อย่างแน่นอน

เปิดเผยตัวตนผู้กำกับภาพสุดสร้างสรรค์ A DP, a street photographer, a rapper, or an artist ? Which becomes real Tang Tawanwad ?

         ขณะที่ พี่ตั้งตะวันวาด วนวิทย์ TangBadVoice ได้พูดถึงตัวตนจริง ๆ ของตัวเองไว้ว่า ถ้าให้บอกว่าตอนนี้ผมทำอาชีพอะไร ก็ต้องบอกว่า ผมเป็น DP: Director of Photographer ผู้กำกับภาพ พี่ตั้งยังได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานให้พวกเราได้ฟัง

         ผมใช้วิธีการที่ว่าการถ่ายหนังคือวิธีหาเงินของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องทำมันได้ ในวันที่ดีมาก ๆ และวันที่แย่มาก ๆ และเราจะให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วในชีวิตการทำงานก็ยังมีปัจจัย factor อื่นที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น คน และวิธีจัดการกับคนที่ควบคุมไม่ได้ก็คือการคุย พูดออกไปตรง ๆ หรือแก้ไขด้วยการไม่รับงานกับคนนี้อีก

         พี่ตั้งได้กล่าวอีกว่าประโยชน์ของการลอง คือการได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เปรียบเสมือนการเรียนเทควันโดของตัวเองในอดีตและได้รู้จักตัวเองจากการเรียนเทควันโด ในตอนนั้นว่าเขาเป็นคนที่ไม่ชอบการทำร้ายร่างกายคนอื่นและเขาก็ยังสามารถบอกตัวเองได้ว่าต่อจากนี้อะไรบ้างที่เขาไม่ชอบ เพราะอย่างนั้นการเลือกลองทำอะไรสักอย่างก็ไม่ได้แย่เลย และการลองเหล่านั้นทำให้กลายมาเป็นตั้ง-ตะวันวาด หรือ TangBadVoice จนถึงทุกวันนี้

         ก่อนจากกันพี่ตั้งได้ฝากถึงน้องนักศึกษาและผู้เข้าร่วมงานว่าไม่ต้องกดดันตัวเอง เพราะเราเปลี่ยนไปตลอดเวลา เสียใจได้ แต่ไม่ต้องโทษตัวเองว่าเราไปไม่ถึงและไม่อยากทำมันอีกแล้ว การที่เราได้เข้าไปสำรวจตัวเองไปเรื่อย ๆ มันเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ได้แย่เลย

สร้างโลกจินตนาการ From CG Artist to Filmmaker

         การทำงานคือการเรียนรู้ พี่เบญจมินทร์ วีลาทัศไพศาล นักสร้างสรรค์งานกราฟิค บอกกับเราว่า Visual Effect (VFX) ก็เหมือนนักมายากลคนหนึ่งที่แสดงผลงานตัวเองผ่านภาพที่อยู่ในจอ

         ทุกการทำงานคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ใช่ว่าเรามีความรู้ติดตัวมาแล้ว แล้วไม่ต้องเจอกับการเริ่มต้นใหม่ ทุกครั้งที่ย้ายงาน ทุกคนที่เปลี่ยนสาย ทุกครั้งที่เราทำอะไรเพิ่มเติม มันคือการพลิกทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการเรียนรู้อยู่ตลอดเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่อย่าหักโหมเกินไปก็พอ

         พี่เบญจมินทร์ยังย้ำด้วยว่าไม่ใช่ว่าเราจบไปแล้ว พอเราเข้าไปอยู่ในองค์กรแล้วเราทำงาน เราจะถูกปล่อยทิ้ง ก็จะยังมีคนที่มีประสบการณ์คอยมาดูแลเรา เพื่อให้เราทำงานให้สำเร็จอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนั้นมันเป็นสิ่งที่จะได้เรียนรู้และกอบโกยความรู้จากตรงนั้นไป

         การเรียนรู้อยู่เสมอคือหัวใจในการเติบโตของความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะคนที่ผลิตงานสายสื่อดิจิทัลที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา BUDM ShowPro 2022 Thesis Exhibition คือนิทรรศการแห่งความภาคภูมิใจและความสำเร็จของพี่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาสื่อดิจิทัล พวกเราขอร่วมชื่นชมความสำเร็จในการก้าวแรกและก้าวต่อไป และจะรอติดตามผลงานของรุ่นพี่ทุกคนในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ คณาจารย์ นักศึกษา และทีมผู้จัดงาน BUDM ShowPro 2022 Thesis Exhibition คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

โอกาสหาได้ แต่จะได้โอกาสนั้นไหม ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง

Photographer

นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ