การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อบางอาชีพ แต่ถ้าเรารู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา “อุปสรรค” อาจเป็นแค่คำในพจนานุกรม! การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกสาขาอาชีพ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป โดยธุรกิจโรงแรมดูจะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศค่อนข้างมาก โรงแรมบางแห่งจึงต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบน้อยที่สุด
ทว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ชวนหนักใจ หากเพียงรู้จักปรับตัวด้วยการนำทักษะและความรู้ที่ได้รับนอกเหนือจากการเรียนในวิชาหลักมาประกอบสัมมาอาชีพ อย่างเช่น แป้ง-เปมิกา เสนพูน เด็กใต้จากนครศรีธรรมราช ศิษย์เก่าจากสาขาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่นำความรู้จากวิชาเสริมมาผสมผสานกับ Passion ส่วนตัว ทำธุรกิจร้านจัดดอกไม้จนรุ่งเรือง ทำรายได้อย่างงดงามสวนกระแสโควิด
“แป้งเรียนสาขาการจัดการการโรงแรม เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและรายได้ค่อนข้างดี”
แป้งเอ่ยถึงความมุ่งหวังเมื่อแรกเรียนสาขาการจัดการการโรงแรม ในขณะที่ทั้งโลกยังไม่มีใครคาดเดาว่า จะต้องเผชิญกับโรคโควิด-19
แต่ด้วยความที่แป้งมีความสนใจทักษะหลายด้าน เธอจึงไม่ลังเลที่จะเรียนสาขานี้ เพราะศึกษามาก่อนแล้วว่า สาขาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ม.กรุงเทพ ไม่ได้บ่มเพาะทักษะที่ใช้ภายในโรงแรมโดยตรงเท่านั้น แต่ยังสอนศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ทำงานอื่นในธุรกิจบริการแบบครบวงจรด้วย เช่น เชฟทำอาหาร ฟู้ดสไตลิสต์ บาร์เทนเดอร์ บาริสต้า พนักงานสปา นักจัดดอกไม้ เป็นต้น
“แป้งเลือกเรียนที่นี่เพราะเห็นว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้าง ไม่มีขีดจำกัด เช่น เรื่องการแต่งตัว อีกทั้งทางคณะก็ซัพพอร์ตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนที่ครบครันหรือแล็บสำหรับฝึกปฏิบัติ ที่สำคัญคือสาขานี้สอนทักษะที่หลากหลาย โดยมีวิชาจัดดอกไม้ที่แป้งชอบเป็นการส่วนตัว”
ซึ่งกลายเป็นว่า วิชาเสริมดังกล่าวได้กลายมาเป็นอาชีพหลักให้กับแป้งในทุกวันนี้
“ตอนใกล้จะเรียนจบ เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด แป้งก็คาดการณ์แล้วว่า โรงแรมคงต้องได้รับผลกระทบแน่เลยนำทักษะการจัดดอกไม้ที่ได้เรียนตอนปี 2 กับ อาจารย์โกสินทร์ ประสานเกลียว อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม มาทำเป็นอาชีพ เพราะเล็งเห็นแล้วว่าทุกเทศกาลต้องใช้ดอกไม้ ไม่ว่าจะงานแต่ง งานบวช หรืองานศพ
อาจารย์โกสินทร์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดดอกไม้ และสอนการจัดดอกไม้อย่างละเอียด ตั้งแต่การเลือกดอกไม้ การนำเข้าดอกไม้ การแช่ดอกไม้ การอบดอกไม้ สอนการตัดกิ่ง ผูกโบ เข้าช่อ ฯลฯ ซึ่งแป้งประทับใจมาก เพราะท่านเป็นอาจารย์ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย ใจดี สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการสอนของอาจารย์ ทำให้เราตั้งใจเรียนมาก ๆ ไม่อยากพลาดสักวินาที อีกอย่างที่ประทับใจคือ จะใช้ริบบิ้นเท่าไรก็ได้ ดอกไม้จะหยิบเท่าไรก็ได้ที่มีอยู่ (หัวเราะ) ที่ประทับใจสุดคือ อาจารย์ให้ความใส่ใจและเป็นกันเองมาก แม้จะเรียนจบแล้ว ก็ยังสามารถทักไปถามได้ตลอด
ส่วนตัวแป้งไม่ใช่คนเก่งภาษามาก อาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ก็ได้รับกำลังใจจากอาจารย์โกสินทร์ที่ชมว่า แป้งจัดดอกไม้ได้สวย น่าจะทำขายได้ อาจารย์บอกว่าถ้าเรามีฝีมือและลูกค้าเชื่อใจ เราก็สามารถเรียกราคาได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งทำให้แป้งยิ่งมีกำลังใจที่จะฝึกฝน เริ่มแรกก็จัดพวกดอกไม้แห้ง และค่อย ๆ พัฒนามาจัดดอกไม้สด เช่น ดอกสแตติสที่อาจจะช้ำบ้างก็ไม่เป็นอะไร แล้วพัฒนาฝีมือตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยพยายามเรียนรู้วิธีการทำดอกไม้และนำความรู้ที่อาจารย์โกสินทร์สอนมาใช้ครบทุกอย่าง
ระหว่างนั้นก็เปิดเพจที่ชื่อว่า ช่อดอกไม้แห้ง ดอกไม้ปัจฉิม ของเซอร์ไพร์แฟน https://www.facebook.com/pemikaii ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าก็มีผู้ติดตามเกือบหมื่นคน”
แป้งจัดดอกไม้ขายอย่างจริงจัง โดยวันพิเศษต่าง ๆ เช่น วันแม่ วันวาเลนไทน์ จะสามารถทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งทำให้เธอยิ่งภูมิใจที่ตนเองไม่ยึดติดในอาชีพ หากแต่รู้จักนำวิชาเสริมมาใช้ประกอบอาชีพ
“ความจริงแป้งอยากเป็นนายตัวเองมานานแล้ว เพราะคุณแม่ก็เป็นคนค้าขาย ตอนมัธยมต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อช่วยที่บ้านขายข้าวต้ม ขายน้ำ เรียกว่าซึมซับการทำธุรกิจจากที่บ้านมาตั้งแต่เด็ก ๆ ส่วนช่วง ม.3 ก็เคยขายของออนไลน์ แต่ค้นพบตัวเองว่า ชอบทำงานประดิษฐ์มากกว่า แต่ครอบครัวก็อยากให้เราลองทำงานบริษัทก่อน จะได้รับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น แป้งเลยขอเลือกเรียนสาขาการโรงแรม เพราะมีสอนทำอาหาร สอนทำดอกไม้ ไม่น่าเบื่อแน่ ๆ
ซึ่งพอได้มาทำธุรกิจของตัวเองก็พบว่า การเรียนการโรงแรมทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับงานบริการทุกอย่าง เช่น การพูดคุยกับลูกค้า เหมือนกับการบริการแขกในโรงแรมที่ต้องพูดจาสุภาพและให้ความจริงใจกับลูกค้าซึ่งสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจ
แต่ธุรกิจก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เช่น บางทีไปรษณีย์ส่งของช้าบ้าง เราก็ต้องมาคำนวณวันใหม่ว่า ต้องให้เขาส่งล่วงหน้ากี่วัน หรือบางทีสั่งดอกไม้ไปแล้วแต่ได้มาช้า ก็ต้องหาอีกร้านหนึ่งทดแทน บางครั้งสั่งดอกไม้จากจีนมาแล้วส่งของมาไม่ครบ ก็จะส่งผลให้การวางแผนคลาดเคลื่อนไปหมด ดังนั้นต้องหาร้านเผื่อไว้ด้วย หรือราคาที่ได้มาสูงมากเกือบเท่าตัว ก็ต้องพยายามหาร้านที่ได้ราคาดีที่สุด นอกจากนี้ต้องเช็กของให้ดี เพราะเคยมีที่เราไม่สังเกตว่าลังมันเล็ก ทั้งที่เราสั่งไปตั้งเยอะ ถ้าไม่เช็กก็จะขาดทุนเยอะมาก เรียกว่าทุกอย่างเกิดจากการค่อย ๆ เรียนรู้ไป
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ก็ทำให้บางช่วงร้านดอกไม้ที่ปากคลองตลาดและตลาดไทไม่สามารถนำเข้าดอกไม้มาได้ ทำให้เราต้องหาวิธีพลิกแพลงเพื่อพยุงธุรกิจให้รอด โดยช่วงวันแม่ได้เห็นคนทำพวงมาลัยจากเงิน แป้งจึงได้ไอเดียคือ การจัดดอกไม้จากธนบัตร เพิ่มเติมขึ้นจากการจัดดอกไม้สด จนกลายเป็นสินค้าใหม่ที่ขายดี”
แป้งพูดถึงเสน่ห์ของการจัดดอกไม้ว่า ดอกไม้ทุกชนิดมีความหมายของตัวเองที่แตกต่างกันไป หรืออย่างดอกสแตติสที่เธอโปรดปรานเป็นพิเศษก็มีความสวย แม้จะตากแห้งไว้เป็นปีก็ยังคงความสวยได้อยู่ ส่วนดอกไม้ที่ทำจากธนบัตร เสน่ห์อยู่ที่การนำแบงค์มาดัดแปลงให้เป็นดอกไม้ที่สวยงามได้อย่างคาดไม่ถึง
“การนำกระดาษแบงค์มาทำเป็นดอกไม้ไม่ยากนะคะ แต่เราก็ต้องเรียนรู้วิธีการทำและการแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ อย่างตอนแรกแป้งไม่ได้ใช้สก็อตเทปติดไว้ก่อน แต่ใช้ปืนกาวยิงเลย มันจะทำให้เลอะ ต่อมาจึงนำสก็อตเทปมาติดไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ ยิงกาว ก็จะไม่ยากและไม่เลอะเทอะ นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจเรื่องธนบัตร คือต้องคัดแบงค์ใหม่ ต้องสั่งจองกับธนาคารไว้ล่วงหน้าเลย ซึ่งแป้งคิดว่า การที่เราจะให้เงินแฟนไปก้อนหนึ่งเลย กับการทำธนบัตรเป็นช่อดอกไม้ขึ้นมา ความรู้สึกความประทับใจมันมีมากกว่ากันมาก”
แม้ธุรกิจร้านจัดดอกไม้ของแป้งกำลังไปได้สวย เธอก็ยังอยากใช้ทักษะและความรู้ด้านการโรงแรมมาประกอบอาชีพในอนาคตให้สมกับที่ร่ำเรียนมา แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่ทิ้งอาชีพนักจัดดอกไม้ไปอย่างแน่นอน
“ถ้าวันหนึ่งโควิดหมดไป ก็อาจจะกลับไปทำโรงแรม แต่ก็ตั้งใจต่อยอดการนำธุรกิจจัดดอกไม้ต่อไป โดยจะสอนที่บ้าน ให้แม่ น้อง ญาติ ทำเป็นด้วย อย่างตอนนี้คุณแม่ก็ช่วยพับกุหลาบตามแบบที่ตั้งไว้ได้ เป็นคนเข้าช่อ ช่วยรับออร์เดอร์ได้ เพื่อวันหนึ่งสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะไปทำงานโรงแรมที่ตั้งใจไว้ แล้วให้ที่บ้านสานต่อกิจการ
แต่คิดว่า ในอนาคตเราก็สามารถทำสองอย่างพร้อมกันได้ โดยต้องรู้จักจัดการเวลา เพราะรายได้จากการจัดดอกไม้ก็เยอะมาก คุ้มกับที่เรียนมา บางครั้งเราอาจทำสิ่งที่ใช่หรือสิ่งที่ชอบไปพร้อมกันได้ค่ะ”
แป้งทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า ทุกวิชาล้วนมีประโยชน์ อยู่ที่ความชอบและความใส่ใจของเรา เหมือนเช่นการเรียนการโรงแรมที่สามารถนำความรู้จากวิชาเสริมมาหารายได้ได้จริง และความรู้จากทุกวิชายังนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ทั้งหมด เช่น ศิลปะในการพูดคุยที่สามารถนำไปใช้ทั้งกับในชีวิตประจำวันและการสนทนากับลูกค้า
ที่สำคัญคือ การบริการคือเรื่องที่ต้องใช้ “ใจ” ในการทำงาน ซึ่งถ้าเราใช้ใจ ไม่ว่าทำอะไรก็ย่อมทำสำเร็จ เหมือนเช่นที่เธอใช้ใจในการจัดดอกไม้
วิชา “เสริม” จึงกลายมาเป็น “หลัก” ให้เธอยึดเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในช่วงโควิดระบาดมาได้อย่างงดงาม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ แป้ง-เปมิกา เสนพูน ศิษย์เก่าจากสาขาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ