กีฬาเป็นยาวิเศษ คุยกับนักกีฬาเปตองทีมชาติ พี่แต-ลลิตา พี่แนท-สุนิตรา

สองรุ่นพี่นักกีฬาเปตองทีมชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คว้ารางวัลระดับโลก

         “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล” มาพูดคุยกับสองสาวชาวบียู พี่แตและพี่แนท นักกีฬาเปตองทีมชาติ ผู้คว้ารองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภททีมหญิง รายการ World Triples and Precision Shooting Championships for Women and Youth ประเทศสเปน กับทักษะ S.M.A.R.T ที่ได้เรียนรู้จากกีฬา

         เชื่อว่าทุกคนย่อมต้องเคยได้ฟังเพลง “กราวกีฬา” ผลงานการประพันธ์ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมาตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย

         เป็นเรื่องน่ายกย่องอย่างมากที่ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมองเห็น “ความวิเศษ” ของการเล่นกีฬาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะหากมองแค่ตื้น ๆ กีฬาคงมีหน้าที่เพียงทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่หากมองลึก ๆ กีฬากลับมอบคุณประโยชน์ต่าง ๆ มากมายให้แก่ชีวิต เหมือนเช่นที่ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้พรรณนาไว้ในเนื้อเพลงกราวกีฬานั่นเอง

         เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ได้เห็น “ความวิเศษ” ของกีฬา จึงมุ่งหวังที่จะนำกีฬามาเป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีทักษะหลัก 5 ข้อ ภายใต้ชื่อย่อว่า S.M.A.R.T ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้

         S: Self & Social Awareness Skill หมายถึง การเรียนรู้และเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น

         M: Moral Skill หมายถึง การมีคุณธรรม จริยธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี มีเมตตา ทำด้วยใจ และคิดเชิงบวก

         A: Adaptive Skill หมายถึง การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้างและสังคม

         R: Responsive Skill หมายถึง ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม รู้จักและเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตน

         T: Team Management หมายถึง การทำงานเป็นทีม รู้จักเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เพื่อให้การบริหารจัดการทีมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

         นอกจากนี้ยังไม่ละเลย Creativity Skill หรือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์อันเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วย

(ซ้าย) แต-ลลิตา เชี่ยวชาญ (ขวา) แนท-ส.ต.ต.หญิง สุนิตรา พ่วงอยู่

         ในโอกาสที่สองสาวชาวบียู นักกีฬาเปตองทีมชาติ เพิ่งบินไปคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ประเภททีมหญิง รายการ World Triples and Precision Shooting Championships for Women and Youth ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศสเปน เราจึงไม่รีรอที่จะไปคุยกับ แต-ลลิตา เชี่ยวชาญ บัณฑิตปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะเดียวกัน กับ แนท-ส.ต.ต.หญิง สุนิตรา พ่วงอยู่ นักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่แท็คทีมกันไปสร้างชื่อเสียงให้กับทั้งมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ มาบอกเล่าทักษะ S.M.A.R.T กับ Creativity Skill ที่พวกเธอได้เรียนรู้จากการเล่นกีฬา

S: Self and Social Awareness

         แต: การเล่นเปตองต้องอยู่กับตัวเอง การมีสมาธิต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนจะโยนลูกแต่ละครั้ง สายตาเราต้องมองจุดตกว่าอยู่ตรงไหน แล้วเราต้องออกแรงหรือกะน้ำหนักเท่าไรที่เหมาะสม จึงจะทำให้ลูกไปถึงเป้าที่ต้องการ ทุกอย่างต้องใช้ทั้งสายตา มือ และความคิดประสานสัมพันธ์กันหมด ถึงจะโยนแล้วเป็นลูกที่ดีได้ อารมณ์ต้องนิ่งและสลัดสิ่งกวนใจออกให้หมด แตเคยเป็นคนใจร้อน แต่พอได้มาเล่นเปตองก็ทำให้ใจเย็นลง เพราะต้องมีสมาธิ ต้องอยู่กับตัวเอง ไม่งั้นเราจะเล่นไม่ได้ แต่ก่อนเวลากรรมการให้ใบเหลืองโดยที่เราไม่ผิด หรือฝั่งตรงข้ามมีเสียงรบกวน ก็จะหงุดหงิด ตอนหลังเมื่อได้เรียนรู้ตัวเอง ก็ทำให้ปรับตัวเองให้อยู่กับตัวเองให้ได้ เพราะถ้าเราทำสำเร็จ ใครก็มาทำอะไรเราไม่ได้ ซึ่งการมีสมาธิก็ทำให้เราตระหนักรู้ในตัวเอง และเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย ตอนนี้เจอคนใจร้อนเหมือนเรา แต่เรากลับใจเย็น เพราะเรารู้แล้วว่าการใจร้อนส่งผลเสียอย่างไร เราจึงเลือกที่จะหยุด และพอเราใจเย็น เพื่อนเขาก็ใจเย็นขึ้นด้วย เพื่อน ๆ หลายคนอยากมาเล่นเปตองเพราะอยากรู้ว่าฝึกสมาธิได้จริงไหม การที่เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ก็เหมือนส่งพลังงานดี ๆ ให้กัน

         แนท: แนทต่างจากแต เพราะแนทเป็นคนใจเย็นอยู่แล้ว ซึ่งการมาเล่นเปตอง สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบมากกว่าเดิม อย่างจังหวะที่เข้าไปในเกมแล้ว เราเป็นมือยิง เราก็ต้องคิดให้รอบคอบว่า ลูกนี้ต้องทำอย่างไรถึงจะถูก เราต้องคำนวณให้ดีในแต่ละลูก จังหวะที่เราเสียคะแนนเยอะ เราก็ต้องกลับมารัดกุมให้มากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรเพื่อจะทำให้คะแนนดีขึ้นหรือเสียคะแนนน้อยที่สุด ซึ่งการคิดรอบคอบนี้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงเยอะ จะทำอะไรสักอย่าง ก็คิดก่อนอย่างถี่ถ้วน และช่วยให้เราวิเคราะห์คนอื่นได้ด้วยว่าเป็นคนอย่างไร อย่างแตเป็นคนใจร้อน เวลาจะคุยกัน เราก็จะคุยด้วยน้ำเสียงหนึ่งหรือเข้าหาเขาด้วยอีกมุมมองหนึ่ง การเล่นเปตองจึงทำให้เราคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบมากขึ้น ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และรู้จักคนอื่นมากขึ้นตามไปด้วย

M: Moral Skill

         แต: ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร น้ำใจต้องมาที่หนึ่ง ถ้าเรามีน้ำใจ เราจะมีเพื่อนที่ดี มีคนรอบข้างที่ดีและรักเรา อยู่กับเราได้นาน ถ้าเราไม่มีคุณธรรมหรือเอาเปรียบเขา ก็จะไม่มีเพื่อนหรือพวกพ้อง โดยเฉพาะกีฬาถ้าไม่มีเพื่อนพ้องเราจะลำบาก อย่างสมมติเราแข่งอยู่ ชัยชนะอยู่ข้างหน้า แล้วเราไปเจอคนที่ไม่ถูกกับเรา ก็ทำให้มีวิธีเล่นที่ยากขึ้น เพราะเขาจะจ้องแต่เอาชนะ แต่ถ้าเจอพวกพ้อง เราจะเล่นได้ง่ายขึ้น จะไม่แข่งกันแบบเพื่อหวังเอาแต่ชัยชนะอย่างเดียว โอกาสที่เขาจะให้เราชนะก็มี การมีคุณธรรมจึงช่วยสร้างมิตรไปในตัว นอกจากนี้ถ้าเรามีคุณธรรม ก็ทำให้เราไม่คิดโกงใครในเกมการแข่งขัน และเราเคยโดนโกงมาก็รู้ดีว่ารู้สึกอย่างไร ดังนั้นจะไม่ทำแบบนั้นกับใคร และไม่เคยคิดจะเอาคืนด้วย เพราะแตเชื่อว่า ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น วันหนึ่งเขาจะแพ้ภัยตัวเอง การมีคุณธรรมจึงจะทำให้สังคมมีความสุข และเราเองก็จะมีมิตรภาพเพิ่มขึ้น

         แนท: แนทก็เคยโดนโกงมา เพราะบางครั้งอาจไปเจอกรรมการที่ไม่ถูกกับเรา พอฝั่งตรงข้ามรู้ว่ากรรมการคนนี้ไม่ถูกกับเรา เขาก็จะไปเรียกกรรมการคนนั้นมาวัดระยะให้ แบบพวกใครพวกมัน ที่ผ่านมาก็เคยนึกอยากโกงกลับบ้างเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็คิดว่าไม่เป็นไร และถ้าเจอกันอีกอาจคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน อยากให้รู้ว่าการโกงกันเป็นเรื่องไม่ดีเลย และเมื่อเรารู้แล้วว่าการโกงกันมันแย่ เราก็ตั้งใจจะไม่โกงคนอื่น คุณธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเล่นกีฬา

A: Adaptive Skill

         แต: การจะมาเล่นเป็นทีมเดียวกันได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากมหาวิทยาลัยหรือจังหวัดเดียวกัน หรืออายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ต้องผ่านการคัดตัวแทนของแต่ละที่ ต่างคนต่างมาจากต่างที่ ต้องมาอยู่ร่วมกัน ดังนั้นเราต้องเรียนรู้นิสัยของเพื่อนว่าเป็นคนอย่างไร เป็นคนคิดเล็กคิดน้อยหรือเปล่า การเล่นเป็นแบบไหน เราจะได้ปฏิบัติตัวหรือพูดกับเพื่อนคนนั้นและปรับตัวเข้าหากันได้ถูก เพื่อให้มีความเป็นทีมเวิร์กจนไปคว้าชัยชนะได้ อย่างทีมเรา 4 คน แตกับแนทรู้จักกันอยู่แล้ว อีกคนหนึ่งค่อนข้างสูงอายุ ส่วนอีกคนก็อายุเยอะกว่ารุ่นพี่มหาวิทยาลัย ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า คนสูงอายุขี้น้อยใจหรือคิดเล็กคิดน้อยหรือเปล่า เราต้องใช้คำพูดหว่านล้อมเขาอย่างไร ส่วนพี่อีกคนเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่ลึก ๆ อยากจะพูด เราก็ต้องศึกษาแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะปรับตัวได้อย่างถูกต้อง หรือการจัดการกับความเครียดก็ถือเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สมมติเราเล่นไม่ได้ ก็ต้องกลับมานึกถึงจังหวะและลีลาที่เคยเล่น จัดการความคิดตัวเองให้ได้ว่า เราเคยเล่นได้นะ เราก็ต้องทำได้อีกสิ เพื่อทำให้ความเครียดของเราลดลง

         แนท: การไปแข่งที่ต่างประเทศยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศและวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างด้วย อย่างเช่นการไปแข่งที่สเปน การกินถือเป็นปัญหาของคนไทย เพราะเขากินแต่พิซซ่าซึ่งให้พลังงานน้อย กินแป๊บ ๆ ก็หิว อิ่มแล้วไปซ้อม กลับมาก็หิวอีก ไม่เหมือนกินข้าวที่กินแล้วอิ่มได้นานกว่า แต่เราก็ต้องปรับตัวให้ได้ การปรับตัวสำคัญกับเรามาก เพราะจะทำให้เราสามารถเข้ากับสังคมนั้นได้ ปัจจุบันแนทเรียนไปและทำงานไปด้วย โดยรับราชการเป็นตำรวจ ซึ่งนักศึกษากับข้าราชการย่อมต่างกันแน่นอน เพราะฉะนั้นอยู่กับเพื่อนก็คุยแบบหนึ่ง อยู่กับที่ทำงานก็คุยอีกแบบ ยิ่งถ้าโตขึ้นไปอีก เรายิ่งต้องรู้จักปรับตัวให้อยู่ในสังคมให้ได้

R: Responsive Skill

         แต: อย่างแรกเลย เราต้องมีความรับผิดชอบกับตัวเองก่อน มีระเบียบวินัยในการซ้อม ถ้าอยากเป็นนักกีฬาที่ดี  อยากติดทีมทุกปี และสามารถอยู่ในแวดวงนั้นนาน ๆ ก็ต้องฝึกซ้อมและมีระเบียบวินัยในการเล่น นอกจากนี้สิทธิของเราก็ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อย่างเช่นการแต่งตัวถ่ายรูปลงโซเชียล แตเองก็เคยโดนผู้ใหญ่ตำหนิ เพราะเราคิดแค่ว่ามันเป็นสิทธิ์ของเรา มันเป็นเฟซบุ๊กของเรานะ เราจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ทันคิดว่าฟีดแบ็คที่มองกลับมาจะเป็นอย่างไร เขาอาจจะไม่มองแบบเรา แต่เมื่อเราโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ว่า พอเป็นผู้ใหญ่มุมมองความคิดของเราจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบจริง ๆ ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคนอื่นด้วย

         แนท: การเล่นกีฬาเป็นทีม ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่มีร่วมกัน สมมติในทีมมีคนบกพร่องคนหนึ่ง คนที่เหลือก็ต้องประคับประคองเพื่อนคนนั้นให้เล่นต่อให้ได้ เพราะคนที่เล่นไม่ได้ จังหวะนั้นเขาก็เครียดอยู่แล้ว เราจึงต้องคอยซัพพอร์ตทั้งตัวเขาและตัวเองด้วย ความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในการเล่นเป็นทีม

T: Team Management

         แต: ทีมเวิร์กเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการจะเล่นเป็นทีมได้ เราต้องเข้าใจรู้ใจกัน เราคิดอย่าง อีกคนคิดอีกอย่าง เราจะไปด้วยกันไม่ได้ เพราะมันมีผลกระทบต่อเพื่อนในทีม ในทีมมี 4 คน ถ้ามีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายกันในทีม จะทำให้เกิดทีมเวิร์กได้ยาก ถ้าไม่ยอมลดทิฐิ ลดอีโก้ของตัวเอง หรือไม่ยอมหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน ก็ยากที่จะทำให้เกิดทีมเวิร์กได้ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นเสน่ห์ของแต่ละคน ไม่ว่าในการทำงานหรือการใช้ชีวิต เพราะถ้าอยู่ในส่วนรวมแล้วเราเข้ากับใครไม่ได้เลย คนอื่นคงเครียด เราเองก็เครียด ทำไมเราเข้ากับคนอื่นไม่ได้ แต่ทำไมคนที่เหลือเขารวมกลุ่มเฮฮากันได้ เราก็ต้องกลับมาคิดแล้วว่า เรามีอะไรที่ต้องปรับเข้าหาเขาไหม ในขณะที่เขาก็ควรปรับเข้าหาเราด้วย ต่างคนต่างต้องปรับตัวเข้าหากัน ต้องพูดคุยกัน เพื่อหาตรงกลางกันให้ได้ เหมือนสังคมไทยตอนนี้ที่ต่างคนต่างความคิด แต่ไม่พูดคุยกัน ทำให้ไม่มีทางที่จะเป็นสังคมที่สมบูรณ์ได้

         แนท: ถ้าไม่มีทีมเวิร์กที่ดี แข่งเท่าไรก็ไม่มีทางชนะ หรืออย่างการทำงาน ถ้าไม่มีพี่ ๆ คอยประคับประคอง ก็ทำให้งานชิ้นนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ แม้จะต่างวัยกัน เราก็เป็นทีมได้ โดยเราต้องคุยกัน พี่มีมุมมองอีกแนวหนึ่ง เรามีอีกมุมหนึ่ง ถ้าได้คุยกันและเคารพในความแตกต่างกัน ก็จะทำให้ทำงานเป็นทีมเวิร์กที่ดีได้ แนทเชื่อว่า ความสำเร็จของแต่ละอย่าง อย่างน้อยต้องมีความเป็นทีมเวิร์กที่ดี

         ส่วนเรื่อง Creativity Skill หรือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์นั้น ทั้งคู่พูดตรงกันว่า ในเกมกีฬามีกฎกติกาเป็นกรอบกำกับอยู่ จึงไม่สามารถที่จะทำอะไรนอกเหนือจากกฎกติกาได้ แต่ถ้าความคิดสร้างสรรค์หมายถึงการรู้จักต่อยอดความสำเร็จ กีฬาก็มีความสำคัญมากสำหรับต่อยอดงานการทำงานในอนาคต เพราะการติดทีมชาติ งานต่าง ๆ ก็จะวิ่งเข้ามาหา และสำหรับในชีวิตประจำวัน ความคิดสร้างสรรค์จะทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่เสมอ ในฐานะคนรุ่นใหม่ แตและแนทจึงเห็นพ้องต้องกันว่า การคิดออกนอกกรอบหรือเดินออกนอกเส้นทางบ้าง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะประสบการณ์ต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

         ได้เห็นความคิดอ่านของทั้งสองสาวแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่า นอกจากสุขภาพพลานามัยที่ดีและความภาคภูมิใจที่ได้รับเมื่อชนะการแข่งขัน กีฬายังให้สิ่งที่ดีอีกมากมายเหมือนเป็นยาวิเศษเช่นที่เพลง “กราวกีฬา” ว่าไว้จริง ๆ !!

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ