สมาย-สุธิดา บัวคอม เด็ก JR ม.กรุงเทพ กับประสบการณ์ Fact & Fake สองคำนำสังคม!

ผู้ชนะเวที FACTkathon หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม แชร์ประสบการณ์ค้นหาความจริงแบบเด็กรุ่นใหม่

          ผู้ชนะเวที FACTkathon “หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” แชร์ประสบการณ์แข่งขันกับคำว่า Fact & Fake สองคำที่สะกดคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกันลิบลับ และสามารถส่งผลต่อสังคมต่างกันอย่างลิบลับเช่นกัน

          เมื่อไม่นานมานี้ สมาย-สุธิดา บัวคอม รุ่นพี่นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้นำทีมเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบัน ไปคว้าชัยชนะจากโครงการแข่งขันระดมสมอง การหักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม FACTkathon: Fact-Collab To Debunk Dis-Infodemic ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบของข่าวลวงหรือ Fake News ที่ปัจจุบันระบาดเป็นอย่างมาก และเยาวชนคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทัน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงเหล่านั้น

          สมาย เด็กบียูคนเก่ง ได้เป็นหัวเรือชักชวนเพื่อนจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 4 คน ได้แก่ มิน-อมินตา เกตุแก้ว, แฮม-ศศิธร หงษ์โง่น, อะตอม-อาภาภัทร ศรีบุตร และ เน็ต-จิตรภานุ กสิฤกษ์ มาร่วมทีมเข้าแข่งขัน ในชื่อ ทีมบอท ร่วมหัวจมท้ายกันคิดนวัตกรรมสำหรับตรวจสอบข่าวลวงจนเป็นที่เข้าตากรรมการ และคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

สมาย-สุธิดา บัวคอม

เล่าถึงที่มาที่ไปและขั้นตอนการแข่งขันครั้งนี้ให้ฟังหน่อย

          งานนี้มีชื่อว่า FACTkathon เป็นการเอาคำว่า Fact ที่แปลว่าความจริง มารวมกับคำว่า Hackathon ซึ่งเป็นสไตล์การแข่งขันการสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน ภายในระยะเวลาที่จำกัด ไม่ได้เน้นว่านวัตกรรมนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้ข้อมูลและเน้นการระดมความคิดกันมากกว่า ให้ค้นหานวัตกรรมที่จะสามารถมาแก้ไขเรื่องข้อมูลลวงหรือ Fake News เราต้องส่งใบสมัครพร้อมนำเสนอแนวคิดก่อน จากนั้นคณะกรรมการจะคัดทีมให้เข้ารอบ 5 ทีม เพื่อมาแข่งขันกันจริง ๆ อีกครั้ง โดยในใบสมัครจะถามเลยว่า นวัตกรรมที่ทีมของคุณคิดค้นเป็นอย่างไร ให้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดภายใต้เงื่อนไขที่ว่า นวัตกรรมต้องตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขข้อมูลลวง และสร้างการแสวงหาความจริงร่วม ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับการแก้ไขในนวัตกรรมนั้นด้วย

นวัตกรรมต่างที่ว่า จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่เราคิดเลยใช่ไหม

          ใช่ค่ะ เนื่องจากเขาเลือกนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนมาแข่งเป็นหลัก จึงไม่ได้จำกัดว่าต้องไปคิดค้นอะไรที่เป็น IT หรือเป็นโปรแกรมมาก ๆ ขอแค่ว่าแนวคิดนั้นตอบโจทย์และมีความเป็นไปได้ โดยจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคน เป็นการสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา หรือจะต่อยอดจากสิ่งที่เขามีอยู่ ซึ่งก็คือองค์กร Cofact โคแฟค (Collaborative Fact Checking) https://blog.cofact.org ก็ได้ และต้องมีส่วนร่วมกับการแก้ไขในนวัตกรรมนั้นด้วย

ทราบมาว่าเป็นการรวมกลุ่มกับเพื่อน ซึ่งมาจากต่างสถาบัน เพื่อนกลุ่มนี้รู้จักกันมานานแล้วหรือเพิ่งรู้จักกัน

          หาเพื่อนร่วมทีมอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็เลยตัดสินใจไปชวนเพื่อนสนิทที่โรงเรียนมัธยมเดิมมาร่วมทีม แล้วเพื่อนก็ไปช่วยหามาอีก 3 คน ปรากฏว่าเป็นเพื่อนสมัยมัธยม 2 คน ส่วนอีก 2 คนเป็นเพื่อนใหม่ โดยเราเป็นหัวหน้าทีมที่คิดไอเดียตั้งต้น คือเรามีไอเดียแล้วถึงได้กล้าชวนคนอื่น เพราะหลังจากรวมทีม ก็เหลือเวลาแข่งขันสำหรับระดมความคิดแค่ 1-2 วัน เพราะฉะนั้นเราเลยคิดไอเดียตั้งต้นไว้แล้วคร่าว ๆ เพราะกลัวจะไม่มีใครเข้าทีม

ทำไมถึงสนใจที่จะลงแข่งเวทีนี้ เพราะเรื่อง Fake News เป็นประเด็นที่เราสนใจอยู่แล้วหรือเปล่า

          จริง ๆ ก็ไม่ใช่คนที่ใส่ใจเรื่อง Fake News มากนัก แต่ด้วยความที่เราเคยแข่งขันงานพวกนี้มาแล้วสมัยมัธยม ทำให้เราสนใจอะไรที่เป็นปัญหาเชิงสังคมมากกว่า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงยกประเด็น Fake News มาใช้ในการแข่งขัน มันอันตรายขนาดนั้นเลยหรือ เพราะที่ผ่านมาเราอาจเห็นแค่ข่าวจำพวกน้ำมะนาวรักษามะเร็ง แล้วคนสูงอายุก็เชื่อ ซึ่งวัยเราไม่ใช่เหยื่อของข่าวพวกนั้นอยู่แล้ว แต่พอสงสัยก็เลยไปเสิร์ชดูจึงพบว่า ข่าวลวงมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับแค่ข้อมูลผิดพลาด ข้อมูลบิดเบือน ไปจนถึงข้อมูลบิดเบือนร้ายแรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัยเราไม่ใช่แค่น้ำมะนาวรักษาโรคมะเร็ง แต่ยังมีข้อมูลบิดเบือนอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก เช่น ตอนที่มีการเลือกตั้งอเมริกาหรือแม้แต่เรื่องวัคซีนโควิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนทุกวัยกำลังตกเป็นเหยื่อสิ่งนี้อยู่ และมองย้อนกลับมาว่า บางครั้งเราเองก็เน้นความรวดเร็วในการหาข้อมูล จนขาดการตรวจสอบก่อนจึงตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน เลยคิดว่าน่าจะลงแข่งในเรื่องนี้

แสดงว่าสมายมีประสบการณ์ตรง หรือเคยได้รับผลกระทบจาก Fake News

          สื่อโซเชียลที่เราใช้เป็นหลักคือทวิตเตอร์ แล้วทวิตเตอร์ก็เน้นการแชร์ข่าวสารที่รวดเร็ว โดยเราเคยติดตามคนที่เป็น expert หรือว่าคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ลืมนึกไปว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เล่นทวิตเตอร์จะเป็น expert ทุกคนต่างเป็นคนธรรมดา เป็นคนที่อาจจะได้ยินมาแค่ ‘เขาเล่ามาว่า’ ทุกคนไม่ได้สามารถคอนเฟิร์มข่าวที่รับรู้มาได้ว่าจริงหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาพิมพ์ลงไปถือว่าเขาคอนเฟิร์มแล้ว ทำให้คนอื่นเชื่อว่า ข่าวที่มีคนรีทวีตหรือมีคนถูกใจเยอะ นั่นคือความจริงโดยไม่ได้ตรวจสอบ โดยเชื่อจากยอด engagement มากกว่า ซึ่งพอเรามารู้ทีหลังว่ามันไม่ใช่ความจริง ก็เลยรู้สึกเหมือนตัวเองก็เป็นเหยื่อเหมือนกับผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าน้ำมะนาวรักษาโรคมะเร็งได้ เรียกว่าเราถูกข้อมูลลวงเหมือนกัน เพียงแค่เป็นคนละประเด็นเท่านั้นเอง

สมายบอกว่า แต่เดิมไม่ได้ใส่ใจเรื่อง Fake News มากนัก แสดงว่าที่สนใจแข่งขันเพราะเป็นเด็กกิจกรรมใช่หรือเปล่า  

          ตั้งแต่เกิดโควิด ทำให้ห่างหายจากการแข่งขันไปนาน ซึ่งอันที่จริงรู้สึกว่างานแข่งขันนี้ไม่ค่อยเหมาะกับตัวเอง เพราะปกติจะแข่งในด้านของการทำมีเดีย ถ่ายรูป ตัดต่อวิดีโอ หนังสั้น เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเรียนนิเทศฯ ก็ถนัดแข่งขันแบบนี้มากกว่า งานนี้จึงเป็นงานแรกที่แข่งเกี่ยวกับนวัตกรรมซึ่งดูเป็นวิชาการ

รู้สึกว่าการแข่งขันนี้ท้าทาย หรือว่าทำให้เราได้เพิ่มประสบการณ์อะไรในชีวิต

          ใช่ค่ะ เพราะลึก ๆ โจทย์ของการแข่งขันก็ต้องตอบโจทย์ตัวเองด้วย คือตัวเองก็อยากทำด้วย อยากรู้ อยากแก้ไขมันจริง ๆ ถึงจะมีพลังหรือมี passion ในการทำ ถ้าตัดสินใจแข่งงานนี้แล้ว แสดงว่าเราก็ต้องไปให้สุดในงานนั้นด้วย

นวัตกรรมที่เราคิดค้นจนชนะมาคืออะไร

          นวัตกรรมที่ชนะการแข่งขันมีชื่อเรียกว่า Extension เป็นโปรแกรมส่วนขยายใน Web Browser ซึ่งเกิดจากไอเดียที่อยากแก้ปัญหาว่า ทุกวันนี้มีหลายแพลตฟอร์มที่คอยเตือนว่า ข่าวนี้ลวง ข่าวนี้จริง ข่าวนี้ถูกต้อง ข่าวนี้ถูกต้องกี่เปอร์เซ็นต์ เราก็มาคิดต่อยอดว่า ควรมีเครื่องมือที่ส่งข้อมูลเหล่านี้สู่มือผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปเช็กในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นอีกครั้ง โดยแค่โหลดโปรแกรม Extension ไว้ในคอมพ์ เวลาคุณอยู่ในหน้าเว็บที่กำลังอ่านอยู่ ก็แค่กดปุ่มคลุมดำตรงข้อความที่เราต้องการตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จ จากนั้นโปรแกรม Extension ของเราก็จะดึงฐานข้อมูลมาเพื่อตรวจสอบข้อความนั้นให้ทันที เพราะฉะนั้นผู้ใช้ก็ไม่ต้องออกไปจากหน้าเว็บเดิม ทำให้สะดวกสบายเวลาอยากจะใช้ ไม่ใช่ว่าอยากตรวจข่าวนี้จังเลย ก็ต้องก็อปข้อความเพื่อไปเสิร์ชหาอีกที เพราะคนเราสมัยนี้ต้องการอะไรที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ถ้าขั้นตอนเยอะ อาจทำให้ไม่อยากเช็กข้อมูลว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวงกันแน่

แสดงว่าต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอยู่ในระดับหนึ่ง จึงคิดว่าสิ่งที่เราคิด ต้องทำได้จริง

          การส่งนวัตกรรมเข้าประกวด เราต้องบอกแผนการทั้งหมดให้ได้ว่า มันจะไปอย่างไรต่อ หรือจะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน โดยเบื้องต้นแต่ส่ง interface แบบภาพไปให้กรรมการพิจารณาดู ซึ่งพอดีเพิ่งเรียนการทำ interface มา เลยพอมีพื้นฐาน แต่ว่าในการแข่งขันก็มีเมนเทอร์หลายคนคอยให้คำปรึกษาว่า ระดับในการทำได้จริงอยู่แค่ไหน ก็เลือกระดับนั้นมาพัฒนาเป็นชิ้นงาน สำหรับฐานข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวงมีทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระที่วางแผนว่า ต้องทำ MoU เพื่อขอข้อมูลของเขามาเป็นฐานข้อมูลของเรา และเพื่อความถูกต้องแม่นยำ ฐานข้อมูลพวกนี้จะต้องไม่กระจุกรวมตัวกันที่เดียว เพราะเราก็ต้องยึดว่า มันคือ fact ที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะใช้เครื่องมือของเรานี้เป็นอาวุธ

การได้ร่วมงานกับเพื่อนต่างสถาบันนั้น ความแตกต่างกันของแต่ละคนมาช่วยอะไรเราบ้าง

          แม้เราทุกคนจะเรียนคณะสื่อสารมวลชน แต่ก็ยังมีความสนใจ ความรู้ หรือการเรียนทักษะมาแบบหลากหลายมาก ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการประชุม เรามีข้อมูลด้านนี้ เพื่อนมีข้อมูลด้านนั้นมาเสริมซึ่งกันและกัน อย่างเช่นเพื่อนอาจถนัดการหาข้อมูลจากวารสารต่างประเทศ ส่วนเราก็จะมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทรนด์และความสนใจของผู้คน รู้ว่าควรเลือก interface แบบไหนที่คิดว่าคนจะคลิกดู เรียกว่าเอาทุกอย่างที่หลากหลายมารวมกันจนเกิดเป็นความพอดี

สิ่งที่ตัวเองในฐานะหัวหน้าทีมใส่ใจมากที่สุดในการทำงานร่วมกันคืออะไร

          เรื่องความสัมพันธ์ในทีมค่ะ เพราะคิดว่าการไปแข่งขันแบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน การตะลุยกับการค้นหาข้อมูล 72 ชั่วโมง ถ้าทุกคนอดนอนย่อมมีปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะการทำงานกับคนที่ไม่รู้จักด้วย ก็ยิ่งต้องดูแล wellbeing ของเพื่อน ถ้าใครง่วงก็ให้แยกย้ายกันไปนอนดีกว่า เวลามาประชุมก็จะหา Quality Time ของทีม อาจจะแค่ชั่วโมงเดียว แล้วที่เหลือไปพักผ่อน เพราะต่อให้ฝืนทำตอนง่วง ก็คิดไม่ออกอยู่ดี เพราะฉะนั้นเลยพยายามดูแลเรื่องจิตใจกันเยอะเพื่อทำให้ไม่มีปัญหาและไม่เครียด

หลังจากชนะการประกวดแล้ว โครงการ Extension จะได้รับการต่อยอดต่อไปอย่างไร

          เราต้องหาทุนเพื่อพัฒนาโครงการต่อ จริง ๆ กองประกวดก็มีการคุยกัน แต่ยังไม่ถึงวันรับรางวัลจึงยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เบื้องต้นเราพยายามหากองทุนที่จะสนับสนุนเพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาตรงนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้

อยากให้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับ Fake News ว่าสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร

          ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ที่ส่งไปถึงเด็กรุ่นใหม่ ก็อยากให้ทุกคนตระหนักว่า Fake News มันร้ายแรงจริง ๆ สามารถคุกคามทั้งทรัพย์สิน สุขภาพ และชีวิตของเราได้ จึงอยากให้ลองดูข้อมูลที่ดีว่า ข้อมูลไม่ได้แค่ผิดพลาด แต่อาจส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายอะไรกับเราบ้าง อยากให้ติดนิสัยในการเช็กข้อมูลก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยในชีวิตเรา เพราะมันเป็นปัญหาระดับชาติ ระดับประเทศ ระดับโลก ในอนาคตทุกคนจะต้องแก้ไขร่วมกันในสังคม เพราะฉะนั้นคิดว่าใครตื่นรู้ก่อนก็มีประโยชน์มากกว่า ใครรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วให้ดูว่าอันตรายอย่างไร จริงอยู่ว่าเพราะเราเป็นห่วงคนอื่น เราจึงแชร์ข่าวต่อ เพราะอยากให้คนอื่นได้รับรู้ข้อมูล แต่พอเป็นข้อมูลที่ผิด ความหวังดีของเราก็กลับกลายเป็นแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย ฉะนั้นมันยังมีอะไรที่ร้ายแรงกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ดังนั้นการเช็กข้อมูลแค่แป๊บเดียวก็อาจจะช่วยรักษาชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินของอีกหลายคน

เราได้เรียนรู้อะไรจากการแข่งขันครั้งนี้บ้าง

          การแข่งขันครั้งนี้ทำให้ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพมาก ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถคิดนวัตกรรมได้ภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ว่า ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อชีวิตคนเรามาก เรียกว่าเป็นหัวข้อการแข่งขันที่แทบจะเปลี่ยนชีวิตไปเลย เพราะทำให้เรากลายเป็นคนที่หันมาใส่ใจความสำคัญของเรื่อง Fact & Fake News มากขึ้น

          ที่สำคัญคือ เราได้มีโอกาสยื่นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้คนจำนวนมาก และไม่เพียงทำให้เรารู้ว่า Fact & Fake News สำคัญกับชีวิตเราแค่ไหน แต่ยังสำคัญกับคนอื่นมากแค่ไหนอีกด้วย

มิน-อมินตา เกตุแก้ว

แฮม-ศศิธร หงษ์โง่น

อะตอม-อาภาภัทร ศรีบุตร

เน็ต-จิตรภานุ กสิฤกษ์

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ สมาย-สุธิดา บัวคอม, มิน-อมินตา เกตุแก้ว, แฮม-ศศิธร หงษ์โง่น, อะตอม-อาภาภัทร ศรีบุตร และ เน็ต-จิตรภานุ กสิฤกษ์ ผู้เข้าร่วมโครงการแข่งขันระดมสมอง “การหักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” FACTkathon: Fact-Collab To Debunk Dis-Infodemic จัดขึ้นโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ