“ไม่เคยมีใครเหมือน…จินนี่แห่งตะเกียง! อยู่นี่! อยู่เบื้องหน้าท่านเพื่อสนองคำอธิษฐาน ขอบคุณ!” เสียงแฝงความยียวนนี้อาจเป็นที่คุ้นหูใครหลายคนที่เคยรับชมการ์ตูนอะลาดินกับตะเกียงวิเศษบ้างไม่มากก็น้อย
แม้เสียงของจินนี่จะเคยสร้างวัยเด็กอันแสนสนุกให้ใครต่อใครผ่านจอภาพยนตร์ แต่ยังมีหลายคนทีเดียวที่ไม่ทราบว่าเบื้องหลังเสียงนี้คือ พี่เจิ๋น-สรรเสริญ โภคสมบัติ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รุ่นเก๋าด้วยรหัส 29 ผู้มีผลงานกำกับเสียงพากย์ไทยให้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากมาย ซึ่งนั่นก็รวมถึงภาพยนตร์ในจักรวาลมาร์เวลด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งมีธุรกิจส่วนตัวที่ทำงานด้านพากย์เสียงอีกด้วย
“ตอนนี้อาชีพคือผู้กำกับการพากย์หนังที่เข้าโรงภาพยนตร์ อย่างเช่นค่าย Disney, UIP(United International Pictures), หรือ Sony ครับ และยังมีบริษัทชื่อ ช่อมะกอกสตูดิโอ ที่รับทำงานพากย์พวกสตรีมมิ่งและหนังใหญ่ครับ พวกค่าย FOX, Disney+, หรือ Netflix ก็มีเหมือนกัน”
ฉะนั้นเป็นโอกาสดีจะได้ตีแผ่ชีวิตการทำงานทั้งนอกและในห้องอัดของพี่เจิ๋น ที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กกิจกรรมนิเทศ สู่การเล่นละครเวที จนได้ทำฟรีแลนซ์ออร์แกไนเซอร์ กระทั่งมาบรรจบที่งานกำกับเสียงพากย์ในที่สุด
เคยคิดเรียนสถาปัตย์ฯ แต่กลับเข้าสู่ศึกษานิเทศศาสตร์
“ตอนเด็ก ๆ เรียนเก่ง เป็นอย่างนี้มาจนถึงโรงเรียนจินดามณี แล้วพอได้เข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเริ่มเรียนไม่รู้เรื่องล่ะ เลยเริ่มเข้ามาทางด้านศิลปะมากขึ้น ออกแนวสังสรรค์กับเพื่อนมากขึ้น”
พี่เจิ๋นเริ่มต้นเรื่องราวปนหัวเราะ ก่อนเล่าให้เราฟังว่าเป็นช่วงเวลาที่ศึกษาในโรงเรียนสวนกุหลาบนี้เอง ที่ได้ทำความรู้จักกับ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม เพื่อนซี้ผู้ที่จะมีส่วนเปลี่ยนเส้นทางการงานของพี่เจิ๋นในอนาคต
“พอช่วงมัธยมหกก็อยากเข้าสถาปัตย์ฯ แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่องเลย ทั้งเลข ฟิสิกส์ เคมี สุดท้ายก็เลยเอนฯ ไม่ติด แล้วไปเข้านิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ขณะที่เพื่อนซี้ ป๋าเต็ดก็ไปเข้านิเทศจุฬา คือเหตุมันด้วยการที่เราไม่ได้เตรียมตัวสอบสำหรับสถาปัตย์ฯ ก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี เห็นป๋าเต็ดเข้านิเทศ เราก็เข้านิเทศ”
แล้วนับจากนั้นชีวิตมหาวิทยาลัยของพี่เจิ๋นก็เริ่มต้นในฐานะเด็กกิจกรรม และสิ่งแรกที่สบสายตาที่สุดในขณะนั้นคือ ละครนิเทศ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาจึงได้มีโอกาสแสดงในละครเวทีเรื่องแรกของคณะในชื่อ หมายจะปั้นให้มันเป็น และเรื่องที่สองในชื่อ ฤาจะไปถึงฝั่งฝัน ซึ่งจุดนั้นเองที่เขาได้พัฒนาทักษะให้ก้าวไปอีกขั้น จากคำวิจารณ์ของคนในวงการละครเวทีหลายท่านอย่าง คุณต้อ–มารุต สาโรวาท, คุณลิง–สุวรรณดี จักราวรวุธ, คุณหนูเล็ก-บุรณี รัชไชยบุญ, และอาจารย์คํารณ คุณะดิลก พี่เจิ๋นจึงเรียนรู้ เข้าใจในโครงสร้างของการแสดงละครเวที และทักษะความรู้นี้เองที่เป็นเครื่องสร้างโอกาสที่จู่ ๆ ก็ถูกหยิบยื่นเข้ามาโดยไม่ทันรู้ตัว
“แล้วโอกาสมันก็เข้ามาน่ะนะ คือแดส เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ บริษัททำละครเวทีที่พี่ต้อกับพี่ลิงเป็นผู้กำกับอยู่ เห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะไปเล่นที่นั่นได้ อาจจะเป็นเพราะว่าตัวใหญ่ สามารถโปรเจกเสียงได้ดัง เขาเลยชวนไปเล่นละครหลายเรื่องเลย” พี่เจิ๋นเล่า ขณะแสดงสีหน้าคล้ายกำลังนึกย้อนไปถึงความทรงจำที่ดี
“ตอนอยู่ที่นั่นเหมือนได้ไปเข้าโรงเรียนการแสดงเลย มีทั้งพี่ต้อกับพี่ลิงที่คอยสอน แถมยังมี พี่ดุ๊ก-ภาณุเดช วัฒนสุชาติ คนรุ่นเดียว ๆ กันที่มีประสบการณ์มากกว่ามาคอยโค้ชให้อีก ตามจริงพี่ดุ๊กเคยมาโค้ชตั้งแต่อยู่ละครนิเทศฯแล้ว แต่พอได้มาเจอกันอีก ก็เหมือนได้เรียนคุ้มกว่าคนอื่น”
ก้าวแรกของวัยทำงาน
หากเส้นทางของพี่เจิ๋นไม่ได้บรรจบบนละครเวทีเท่านั้น เพราะเมื่อจบการศึกษาเขาก็ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการเพลงไทยโดยการทำงานในค่ายเทปชื่อเอสพี ศุภมิตร ค่ายเพลงในเครือสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย เจ้าของเพลงฮิตอย่าง ใช่ว่าไม่รัก โดยวงชาย, เดิมเดิม โดยจริยา, และยกมาทั้งใจ โดยกิตติพันธ์
จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ป๋าเต็ดได้มีเข้าไปทำงานในค่ายเทปดังกล่าวก่อน ขณะที่พี่เจิ๋นในขณะนั้นยังมองหาประสบการณ์ใหม่ จึงเลือกตามป๋าเต็ดเข้าไปในฐานะนักศึกษาฝึกงาน แต่นับจากนั้นไม่นาน เขาก็เลือกขยับตัวเองไปสู่งานต่อไป
“ช่วงนั้น ตอนที่อยู่ศุภมิตรก็ช่วยเขาทำสปอตโฆษณาขายเทป ทำอยู่สามเดือน เต็ดก็ลาออกไปอยู่แว่วหวานเราที่ยังอยู่ตรงนี้เลยถามพี่ผู้ดูแลว่ามีนโยบายรับทำงานไหม ถ้าไม่มีเราก็จะไปแล้วนะ ซึ่งเขาไม่มี เราเลยตามเต็ดไปอยู่แว่วหวานต่อ แต่ก็ไม่นานเท่าไรนักนะ เพราะพักหนึ่งเต็ดก็ออกไปทำงาน A-Time Media พอเต็ดไม่อยู่ในแว่วหวานก็ยุ่งเลย เพราะไม่มีคนช่วยงาน เราก็เลยว่าจะอยู่ต่อ ก็อยู่ต่อยาว 3 ปีจนแว่วหวานเปลี่ยนชื่อเป็นดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์”
พี่เจิ๋นยังเล่าเสริมอีกว่า เป็นดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่โปรโมทวงคาราบาว, ซูซู, รวมถึงหงา-สุรชัย จันทิมาธร แต่สุดท้ายระยะเวลาของเขาและค่ายเพลงนี้ก็จบลง ก่อนจะออกไปก่อตั้งบริษัทของตัวเองในฐานะฟรีแลนซ์ออแกไนเซอร์ รวมกับรุ่นน้องมหาวิทยาลัยกรุงเทพรุ่น 28 และรุ่นพี่รุ่น 30 ซึ่งคือ คุณเมธ-สุเมธ หอรุ่งเรือง
“ลูกค้าเจ้าแรกในฐานะคนทำออแกไนซ์คือบริษัทลิฟท์ชื่อโกลด์สตาร์ ในตอนนั้นเขาจ้างเราจัดงานประชุมการร่วมมือกันระหว่างคู่ค้าไทยกับเกาหลี ผลออกมาก็น่าพอใจ ถึงได้มีงานสองงานสามงานสี่ตามมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายวงการโฆษณากับโปรโมทแบบจัดอีเวนท์เริ่มซาไป เราอยู่ไม่ได้ สุดท้ายผม รุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็แยกทางกันไป”
เรื่องราวมากความหมาย ในงานพากย์ชิ้นแรก
พี่เจิ๋นขอเล่าย้อนกลับไปเสียเล็กน้อยเมื่อตอนยังอยู่ที่ดี-เดย์ เพราะแม้ขณะนั้นจะยังทำงานอยู่ แต่ก็ไม่ทิ้งโอกาสที่ได้แสดงละครเวทีไปเสียทีเดียว และเป็นโอกาสนั้นเองที่ถูกชักนำสู่ Disney ที่ที่จะพาเขาไปพบกับงานพากย์ชิ้นแรก คือการ์ตูนอะลาดินกับตะเกียงวิเศษ
“ช่วงนั้นเป็นสมัยที่หนังค่ายใหญ่ ๆ ในไทยหรือที่เรียกว่าค่ายเมเจอร์ ที่มี Disney รวมอยู่ในประเภทนั้นด้วย ยังอยู่ในความดูแลของคุณ Henry Tran อยู่ ตอนนั้น Disney ประกาศรับให้คนที่สนใจเข้ามาพากย์ ต่อให้คุณเป็นใครก็ตามแต่ ลองส่งเสียงเข้ามา เพื่อเข้ามาพากย์ในการ์ตูนอะลาดิน” พี่เจิ๋นเริ่มบอกเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“ประเทศไทยสมัยนั้นมีนักพากย์ไม่กี่คนเอง จะมีก็ อนึ่งทีมอินทรี, พันธมิตร, เสียงเอก, ทีม CVD อะไรอย่างนี้ แต่ Disney ต้องการเสียงที่ตรงกับต้นฉบับจริง ๆ เลยประกาศรับคนที่สนใจเข้ามา และควานหาคนกำกับเสียงพากย์ ซึ่งก็ได้ พี่ต๋อง-กฤษณะ ศฤงคารนนท์ มาร่วมงาน เสียงพากย์หลัก ๆ ในเรื่องก็ได้ อ๋อง-เดชพัฒน์ อรรถสาร มาเป็นอะลาดิน กับครูบี-สุชัญญ์ญา มาเป็นเจ้าหญิงจัสมิน และตัวสำคัญอื่น ๆ ก็ได้ครบหมดแล้ว คราวนี้มันยังขาดเสียงยักษ์จีนี่อยู่ ตอนแรก Disney ก็ตามหากันจากดารานักร้อง ตามหาไปถึงวิก 07 แต่ก็ยังไม่ได้เสียงที่ต้องการ สุดท้ายก็มาที่แดส เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ตอนนั้นก็มีสายเข้ามาหาเรา ถามว่ามีงานพากย์ตัวนี้เข้ามา สนใจไหม เราก็สนใจสิ ถึงจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็เถอะว่ามีโครงการแบบนี้อยู่”
จากนั้นพี่เจิ๋นจึงเริ่มการซ้อมพากย์ และร้องเพลงกับอาจารย์อนุชิต นันทขว้าง แล้วเมื่อถึงเวลาใช้เสียง เขาก็ใช้เวลาถึง 6 วันในการพากย์ และ 4 วันในการร้องเพลงเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นงานพากย์แรกที่หนักหน่วงและกินพลังงานเขามากพอสมควร
“เนื่องจากเจ้ายักษ์จินนี่เนี่ยมันนับเป็นตัวโจ๊กของเรื่อง แล้วคอยเสนอจะช่วย คอยโน้มน้าวจิตใจอะลาดินตลอด ทำนองว่าข้าช่วยเจ้าทำอย่างนี้ได้นะ ถ้าไม่ได้ ข้าก็ช่วยแบบนั้นได้เหมือนกัน อะไรแบบนี้ มันเลยเหมือนได้แสดงเป็นหลายตัวละครในตัวเดียว แล้วก็จะเข้าสู่การร้องเพลง ซึ่งการร้องเพลงก็ยากพอ ๆ กับการพากย์เลย แล้วการทำงานพากย์ในสมัยนั้นมันไม่เหมือนสมัยนี้นะ สมัยนี้บันทึกเสียงลงในคอมพิวเตอร์ เวลาพากย์ก็เห็นเวฟขึ้นบนจอ ถ้าพากย์ไม่ตรงปากก็ขยับได้ ตัดได้ ยืดได้ หดได้ แต่งได้ ไม่ใช่เรื่องยาก
“แต่สมัยที่พากย์จินนี่มันไม่มี เราอัดบนเทปสองนิ้วที่มันวิ่ง ๆ หมุน ๆ อยู่ในเครื่อง พอเราจะอัดเราก็ต้องถอยเทป สมมติว่าอยากให้ถอยไป 7 วิฯ ก็กดปุ่ม ปึ๊ง! แล้วมันก็จะถอยมาตามนั้น แล้วเราค่อยกดอัดเสียง นั่นแหละงานมันเลยยาก เพราะถ้าตัวละครอ้าปากเราต้องเริ่มพูด ตัวละครปิดปากเราก็ต้องจบให้ได้ อะไรแบบนี้มันอาศัยความชำนาญ คนเก่ง ๆ เขาจะไม่ต้องแก้เยอะ พออัดก็ถอยเทป–กดอัด–เสร็จ แล้วไปประโยคต่อไปได้เลย แต่ตอนนั้นเรายังไม่เก่ง อะไร ๆ เลยช้า กินเวลาทั้งหมด 10 วันเต็ม ๆ”
เมื่อหน้าที่ ‘กำกับ’ เข้ามาในชีวิต ‘ช่อมะกอก’ จึงเกิดขึ้น
“ตั้งแต่ยักษ์จีนี่ จากนั้นก็ได้พากย์อีกหลายตัวเลย ทั้งราฟิกี ลิงบาบูนในไลออนคิงที่เป็นชูซิมบ้าน่ะ แล้วก็พ่อของโพคาฮอนทัสในเรื่องโพคาฮอนทัส แล้วก็ตัวประกอบใน The Hunchback of Notre Dame แล้วก็มีพากย์มาเรื่อย ๆ เลย” พี่เจิ๋นเล่าพลางหยิบโทรศัพท์มือถือ เปิดภาพใบหน้าตัวละครเหล่านั้นให้ดู
“จน Disney มีความคิดอยากได้ผู้กำกับเสียงเพิ่มอีกสักคนหนึ่ง เพราะตอนนั้นมีแต่พี่ต๋องที่ทำหน้าที่นี้ที่ Gecco Studio อยู่คนเดียว เวลานั้นทั้ง Disney และคุณต๋องก็เห็นว่าผมมีศักยภาพ เลยให้ผมไปติดตามพี่ต๋อง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ คอยดูกระบวนการทำงานนู่นนี่อยู่หนึ่งปี แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ผู้กำกับเสียงเต็มตัว เพราะงานไม่ได้เยอะมากอะไรขนาดนั้น”
“จากนั้นไม่นาน ตอนที่ผมออกมาทำออแกไนเซอร์ต่อ วันดีคืนดี Columbia TriStar หรือก็คือ Sony ในสมัยนั้น กำลังอยากได้ผู้กำกับเสียงคนใหม่เพราะต้องการทำงานแยกออกมาจากค่าย เขาก็ติดต่อเรามา เราก็เลยรับหน้าที่นี้ เพราะเห็นว่ามั่นใจในความสามารถ ก็เลยเริ่มเป็นงานกำกับเสียงชิ้นแรก ก็คือ Spiderman 1 ยุค Tobey Maguire”
เมื่อพี่เจิ๋นได้พาตัวเองเข้าสู่วงการกำกับเสียงพากย์ด้วย Spiderman 1 เขาก็ได้โอกาสกำกับต่ออีก 4-5 เรื่องของ Columbia TriStar ก่อนจะสานต่อด้วยภาพยนตร์ Live-Action ที่ Disney มอบให้กำกับ อย่าง Reign of Fire, Shanghai night และอีกมากมายถัดจากนั้น หากด้วยปริมาณงานที่หลั่งไหลเข้ามาไม่แทบไม่ขาดสาย พี่เจิ๋นจึงจำเป็นต้องก่อตั้งบริษัทเพื่อรับงานในฐานะนิติบุคคล ด้วยเหตุนั้นช่อมะกอกสตูอิโอจึงถือกำเนิดขึ้น
“ตอนนั้นเราเริ่มรับงานพากย์ในชื่อช่อมะกอกแล้ว แต่ว่ายังไม่มีห้องอัดเป็นของตัวเอง เราเลยจับมือกับสตูดิโอรามอินทรา เพราะมันเป็นที่ที่ Disney และ Sony มิกซ์เสียงอยู่แล้วในตอนนั้น ระบบงานเลยเป็นแบบนี้ เรารับงานมาพากย์-มิกซ์เสียงที่สตูดิโอรามอินทรา แล้วส่งงานให้เขา เป็นอย่างนี้ไปประมาณ 15 กระทั่งเรามีห้องอัดเป็นของตัวเอง เริ่มสร้างปี พ.ศ.2555 มาเสร็จสิ้นปี พ.ศ.2557 ทุกอย่างก็ลงตัว ช่อมะกอดเลยลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน และยังทำงานให้ Disney เป็นหลัก ตามที่เห็นในโรงเลยครับ พวกหนังมาร์เวลแบบนี้ เราช่อมะกอกกำกับ”
เสียงหล่อเสียงนุ่มไม่สำคัญ จุดขายแท้จริงคือเสียงต้องเหมือนต้นฉบับ
ด้วยประสบการณ์ทำงานร่วมกับดิสนีย์มาร่วมสามสิบปี นั่นจึงทำให้พี่เจิ๋นเข้าใจดีถึงแก่นของเสียงพากย์ว่าความเหมือนต้นฉบับนั้นสำคัญแค่ไหน และส่งผลต่อคุณภาพงานอย่างไร ในบรรดางานกำกับทั้งหมดที่เคยได้ผ่านมือมา เราถามว่าพี่เจิ๋นชื่นชอบงานไหนมากที่สุด
พี่เจิ๋นก็ตอบกลับทันทีโดยไม่คิดซ้ำสอง ว่างานชิ้นนั้นคือภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Raya and the Last Dragon รายากับมังกรตัวสุดท้าย ที่ได้เสียงพากย์ไทยซึ่งเข้ากับเสียงต้นฉบับอย่างยอดเยี่ยม อย่างคุณญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ที่รับบทรายา, คุณพิม-พิมพิดา พิทักษ์สงครามที่รับบทซีซู, หรือคุณเฟิร์ส-วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณที่รับบทเบญจา
“คือรายาเนี่ย หนึ่งอย่างที่ภูมิใจเลยคือตำแหน่ง Head of Story ของเรื่องนี้เป็นคนไทย คุณฝน-ประสานสุข วีระสุนทร คือเขาคิดภาพในหัวว่าถ้ารายาเป็นคนไทยจะเป็นใคร–ก็ต้องเป็นญาญ่าสิ แล้วพอได้มากำกับ เราก็ได้ญาญ่ามาพากย์จริง ๆ คือเขาเป็นซูเปอร์สตาร์หญิงอันดับหนึ่งของเมืองไทยอยู่แล้ว แล้วในงานพากย์คราวนี้เขายิ่งทำออกมาได้ดีมาก ๆ อีก เราก็ยิ่งภูมิใจและมีความสุขไปอีก
“ส่วนหนึ่งเลยเพราะรายาในรูปแบบญาญ่า เรารู้สึกว่ามันดีกว่าต้นฉบับ มันสื่อความเป็นไทย ความเป็นพื้นบ้านออกมาได้ดีกว่าต้นฉบับมากด้วยซ้ำ แถมไม่ใช่แค่บทรายา ยังมีมังกร–ซีซูอีก คือไม่คิดไม่ฝันเลยนะว่าจะมีนักพากย์คนนี้เกิดขึ้นมาพอดี เหมือนน้องพิมเกิดขึ้นมาเพื่อซีซูโดยเฉพาะ เพราะเขาพากย์ดีมาก เวลาพูดเวลาส่งเสียงอะไรต่อมิอะไรเนี่ย เหมือนมังกรตัวนั้นพูดจริง ๆ ตามต้นฉบับเลย รวมถึงเสียงตัวละครอื่น ๆ ด้วย ทุกอย่างเพอร์เฟ็ก ชอบงานนี้มากจริง ๆ การที่เห็นเสียงพากย์เหล่านี้ ก็นึกย้อนไปถึงตัวเองตอนพากย์ยักษ์จินนี่เลย”
งานกำกับ(เสียง)ไม่ง่าย แต่หากทุ่มเทย่อมทำได้
กลางห้องรับแขกของช่อมะกอกสตูดิโอ แม้ในวันที่พระอาทิตย์กระจัดความร้อนใส่กรุงเทพมหานครยิ่งกว่าเวลาไหน ๆ แต่พี่เจิ๋นก็เล่าเส้นทางชีวิตในสายงานนี้ออกมาด้วยรอยยิ้มและความสุขที่แฝงในน้ำเสียง และในช่วงสุดท้ายของการสนทนา เขาก็มีสิ่งสุดท้ายที่ต้องการฝากถึงนักกำกับเสียงพากย์ในอนาคต ผู้ที่จะมากำหนดทิศทางของวงการพากย์ไทยต่อไป
“น้อง ๆ คนไหนที่อยากเป็นนักกำกับเสียง ก็ขอฝากให้ทำงานหนักและเต็มที่กับการค้นหาเสียงที่ตรงกับคาแรกเตอร์ ตรงกับบุคลิกของตัวละครต้นฉบับให้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหมือนเป๊ะ บางครั้งถ้าความเป็นไทยมันเข้ากับบริบทมากกว่าก็โอเวอร์ได้ เหมือนถ้าที่ตอนเรารับบทมาพิจารณา แล้วเห็นว่าถ้าแก้จุดนี้จุดนั้นจะเข้ากับตัวละครได้มากกว่า ก็เต็มที่กับมันเลย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด งานจะออกมาดีถ้าเราเข้าใจในบทในเรื่องราว ความแตกฉานในภาษาไทยก็จำเป็น เพราะในฐานะผู้กำกับ เราต้องเชื่อมโยงให้ได้ว่าภาษาพูดอังกฤษนี้ควรแปลออกมาเป็นภาษาพูดไทยแบบไหนน่ะครับ”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับพี่เจิ๋น คือความตั้งใจ ใส่ใจ รับผิดชอบทุกรายละเอียดในงานที่ทำ เพราะฉะนั้นการทำงานจึงไม่ใช่การร่ายเวทมนต์วิเศษอย่างเดียว ทว่าอาศัยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ลงมือทำ ฝึกฝน และรับผิดชอบต่องานที่ได้รับอย่างเต็มที่นั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่เจิ๋น-สรรเสริญ โภคสมบัติ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ