“เราเป็นคนที่มีภาษาอังกฤษโอเคระดับหนึ่ง คือใช้สื่อสารได้ แต่ด้วยความที่ว่าไม่ได้ใช้บ่อยนักเพราะอยู่กับสังคมคนไทย ทักษะนี้เลยขึ้นสนิม แต่พอได้มาอยู่บริษัทนี้ก็เหมือนได้เคาะสนิมออก พอลื่นขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ถามว่าปร๋อขนาดพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ไม่ แต่โดยรวมคือสื่อสารดีขึ้นมากเลย”
ประโยคเหล่านี้ถูกขับจากปาก คุณกาย–ปภัสสร์ จิลลานนท์ รุ่นพี่นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ด้วยแววตาอาบความสุขที่ยังไม่จางหายไปจากการออกกอง เพราะขณะให้สัมภาษณ์ เขาได้ผ่านการฝึกงานในบริษัทที่อัดแน่นด้วยพนักงานต่างชาติมาแล้วร่วมสามเดือน และในเวลาเหล่านั้น เขาก็ตกผลึกเรื่องราวมาฝากแก่รุ่นน้องนักศึกษามากมายทีเดียว
การฝึกงานคือหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งผลต่ออนาคตอย่างมากไม่ว่าสำหรับนักศึกษาทุกคน มันคือด้านสุดท้ายของใครหลายคนในรั้วมหาวิทยาลัย ที่จะหยิบความรู้และทักษะมาใช้กับชิ้นงานจริง ๆ ลูกค้าจริง ๆ และเพื่อนร่วมงานจริง ๆ
แต่ยังมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ยังกลัวลึก ๆ ในใจ ว่าตัวเองอาจยังไม่พร้อมลงสนามจริง ยังหวาดหวั่นว่าจะถูกด่าทอว่ากล่าวหากทำตัวไม่ดีพอ จนทำให้ไม่กล้ายื่นเรซูเม่ไปหาบริษัทใด ๆ
คุณกาย ผู้ผ่านการฝึกงานกับชาวต่างชาติมากหน้าหลายตาในตำแหน่ง Producer Assistance จะหยิบยื่นประสบการณ์สดใหม่ให้คุณผู้อ่าน เพื่ออย่างน้อยที่สุด เรื่องราวแปลก แหวก งง แต่เต็มเปี่ยมด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ เหล่านี้อาจช่วยให้คุณรู้สึกคันมือ อยากพาตัวเองออกไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวของตัวเองบ้าง
เรื่องเล่าจากคนรอบข้าง และภาพจำที่แปรเปลี่ยนหลังฝึกงาน
แต่เดิมชายหน้าเข้มคนนี้ไม่ได้มีแผนจะทำงานในบริษัทต่างชาติเสียด้วยซ้ำ เพราะเขายื่นเรซูเม่ไปทางบริษัทสื่อที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมหลายเจ้าในไทย ที่ตั้งใจยื่นผลงานไปเล่น ๆ เผื่อฟลุ๊ค แต่ด้วยวาสนาหรือโอกาสใดก็ตาม เขาก็ได้รับอีเมล์ตอบกลับจากบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อรับเข้ามาในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวล
หนึ่งในบริษัทด้าน Production Service เปิดโอกาสให้เขาร่วมงานด้วย บริษัททำเกี่ยวกับการอำนวยการผลิต Production ให้กองถ่ายอื่น ๆ ทั้งจัดหาสถานที่ถ่ายทำ จัดการที่พักให้ทีมงาน จัดหาทรัพยากรบุคคล รวมถึงบริการอาหารภายในกอง แต่ในหลายโอกาสพวกเขาก็รับผลิตงานโปรดักชั่นเช่นกัน ไม่ว่าจะโฆษณาหรือสารคดี และลูกค้าก็เป็นชาวต่างชาติเสียส่วนใหญ่
คุณกายยังเสริมว่าการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารคือสิ่งจำเป็นในบริษัทนี้ ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยสมาชิกทีมงานที่เป็นคนต่างชาติและลูกครึ่งต่างชาติ ก็ทำให้ภาษาอังกฤษต้องออกจากปากแทบตลอดเวลา และนั่นส่งผลให้เขาพัฒนาตัวเองได้มากภายในระยะเวลาสามเดือน
เขาพูดถึงตัวเองในบริษัทว่าคือเบ๊ดี ๆ คนหนึ่ง และเป็นซูเปอร์เบ๊ที่พนักงานรุ่นพี่ต่างให้ความเอ็นดูและใส่ใจ ด้วยความที่เป็นคนกล้าลุย กล้าลอง ทำให้เขาสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมบริษัทได้ภายในเวลาไม่กี่วัน และหากให้ขยายความ–เขาปรับตัวได้ดีเสียจนเล่นมุกกวนประสาทกับรุ่นพี่หลาย ๆ คนได้เลยทีเดียว
“ไปฝึกตำแหน่ง PA หรือคือ Producer Assistance ฝ่าย Production ไปช่วยเขาทำนู่นนี่นั่น พวกวิ่งเอาของ ซื้อของ จัดของ หาอะไรก็ตามที่จำเป็นต่อการผลิตงานในเวลานั้น ประมาณนี้เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำแค่นั้นนะ ก็มีไปช่วยฝ่าย Storage อยู่ประมาณหนึ่ง เอาจริง ๆ ก็ไม่ประมาณหนึ่งหรอก เรียกว่า 50/50 เลยก็ได้นะ ไปช่วยเขาจัดเตรียมทุกสิ่งอย่าง จะใช้อะไรก็รื้อออกมาในตอนนั้นเลย แหกห้องเพื่อหาของอย่างเดียวก็ทำมาแล้ว ว่าตามตรงก็เพิ่งไปรื้อมาไม่นานนี่เอง”
คุณกายเล่าพร้อมยิ้มบาง ๆ ที่ปรากฏบนมุมปาก สื่อว่าเขาชอบใจที่ได้แบ่งปันเรื่องราวไม่มากก็น้อย “ก่อนจะเข้ามาฝึกงาน เราได้ยินมาจากหลายปากมากว่าบริษัทฝรั่งน่ะจะเคร่งมากนะ เครียดมากจริง ๆ แต่ปรากฏว่าพอได้เอาตัวเองไปอยู่เท่านั้นแหละ รู้เลยว่าเคมีเดียวกันเลยอ่ะ ถึงจะเข้มงวดด้านการทำงานแบบมาตรฐาน แต่โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเขาชิลอ่ะ ไม่ได้กดดันอะไรขนาดนั้น”
เรื่องเล่าสุดงง กับลูกค้าที่หายตัวได้
หลังเข้ามาฝึกงานได้สักพัก เขาก็ได้รู้ถึงคำสองคำที่สำคัญมากกับบริษัทนี้ ซึ่งคือ Production service หรือที่เขามักใช้แทนบ่อย ๆ ว่า “Service Mind ในงานโปรดักชั่น” สิ่งนี้คือความใส่ใจของทีมงานที่มีต่อลูกค้าทุกคน ไม่ว่าด้วยสภาพการณ์ไหน ลูกค้าต้องรู้สึกประทับใจที่ได้ร่วมงาน มีเหตุการณ์ที่เขายังจดจำได้ถึงทุกวันนี้ วันหนึ่งเขาต้องไปสนามบิน เพื่อยืนถือป้ายรอนานแสนนาน แต่ลูกค้าคนสำคัญคนสุดท้ายกลับไม่ปรากฏให้เห็นเสียที
“ตอนนั้นก็รับลูกค้าไปสาม-สี่คน แต่พอมาคนสุดท้าย คนที่สำคัญที่สุด ดันมา…หาย แบบ หายไปเลยอะ เอางี้ มันมีจุดนัดพบอยู่ใช่ไหมเวลาลูกค้าลงจากเครื่องสู่สนามบิน ไอ้เราก็ยืนถือป้ายอยู่นาน แต่ก็ไม่เห็นเจ้าตัวผ่านมาสักที จนบริษัทโทรมาเท่านั้นแหละว่า กาย! ลูกค้าขึ้นรถแล้ว! เราก็แบบ เฮ้ย! ได้ไง! แต่สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยดีนะ ใช้ได้เลย แปลก ๆ ฮา ๆ ดี” เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และปรับตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น
เรื่องเล่าชวนหัว จากสองกองถ่ายที่ต่างกันเกือบสุดขั้ว
“มีอยู่หลายช่วงเลยที่น่าประทับใจ อย่างช่วงที่เข้าไปวันแรก ระหว่างช่วยเขาจัดเอกสารจัดนู่นจัดนี่ อยู่ดี ๆ ก็มีพี่คนหนึ่งเดินมาบอกว่า กาย! พรุ่งนี้ออกกองนะ! ไอ้เราก็แบบ ห๊ะ? อ่า…ได้ดิพี่ แล้วก็ได้ไปออกกองในเวลาถัดจากนั้นเลย กองที่ว่านั่นเป็นกองถ่าย…ลากยาวตั้งแต่ลาดพร้าวถึงตัวรังสิต แล้วไม่นานเท่าไรตั้งแต่ตอนนั้น ก็ได้มีโอกาสทำงานกับลูกค้าคนอินเดีย แล้วจุดที่แปลกแบบไม่เคยเจอมาก่อน จากทั้งสองกองเลยนะ คือตรงนี้…”
คุณกายหยุดเล่าไปพักหนึ่งเพื่อให้เราได้เดาว่าเขาได้เผชิญประสบการณ์อะไรมา และเมื่อสังเกตจากแววตาและน้ำเสียง ก็รู้ได้ทันทีเลยว่าเรื่องนี้จะประหลาดไม่แพ้เหตุการณ์สั้น ๆ ที่สนามบินแน่นอน
“เริ่มจากกองชาวจีน สิ่งที่เจอมากับตัวจริง ๆ และสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ตอนที่กำลังจะสรุปทุกอย่าง เอาไฟล์วิดีโอทั้งหลายไว้ให้ลูกค้า แต่ลูกค้าดันบอกว่า ขอตอนนี้เลย ขอตอนนี้เลย ถึงจะบอกไว้ตั้งแต่เนิ่นแล้วว่ามันเป็นขั้นตอนของเราที่ต้องทำก๊อปปี้เอาไว้สำหรับฉุกเฉิน แต่พวกเขาก็ไม่ยอม จะเอาตอนนี้ให้ได้ สุดท้ายเราก็ตัดสินใจให้ไปเลย เพื่อให้จบ ณ ตรงนั้น ไม่มีปัญหาอะไรอีก”
“ส่วนอีกกองหนึ่งคือกองอินเดีย ซึ่งสามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า ชิลมาก ชิลตรงข้ามกับกองจีนแบบคนละฟ้าคนละโลกเลย เอางี้นะ ทำความเข้าใจกันอีกทีว่าบริษัทเราไม่ใช่แค่ช่วยผลิตงานโปรดักชั่นเท่านั้น แต่เรามี Production Services หรือคือคอยบริการลูกค้าทุกอย่างเลย ทั้งหาน้ำหาข้าวให้เขา พาเขาไปซื้อของ พาเขาไปเข้าห้องน้ำ พาไปทุกที่ที่เขาต้องการตราบที่ยังเกี่ยวกับงาน นั่นทำให้เราต้องถามลูกค้าตลอดเวลาว่าขาดเหลืออะไรหรือเปล่า”
“แต่กับลูกค้ากองนี้ เวลาลงมาจากเครื่องบินปุ๊ป…เหมือนเขาเลือกจะบริการตัวเองมากกว่าใช้บริการเราน่ะ วินาทีแรกที่เจอกันเลยนะ ลูกค้าเดินมาพร้อมกระเป๋า ไอ้เราก็เตรียมพาไปกินข้าวพร้อมคุยงานแล้ว แต่ด้วยสาเหตุอะไรสักอย่าง เขาก็บอกว่า ไอขอฝากกระเป๋าหน่อยนะ เดี๋ยวขอไปซื้อข้าวแป๊ปนึง แล้วเขาก็เดินไปเลยทิ้งให้เรายืนงงอยู่คนเดียว”
“ส่วนตอนที่ไปสำรวจสถานที่ มีหลายสถานที่ที่เจ้าของยืนยันเลยว่าถ่ายทำไม่ได้ ตอนแรกเราคิดว่าจะตกลงอะไรกันแบบตึงเครียด หรือยืนกรานจะถ่ายตรงนี้เหมือนกองจีน แต่ไม่ใช่เลย ลูกค้าก็แค่หันมาบอกว่า โอเค ไม่เป็นอะไร หาที่อื่นที่แสงกับวิวใกล้เคียงกันก็พอ ซึ่งนั่นรวมถึงตอนจบโปรดักชั่นด้วย เวลาถ่ายเสร็จ ปิดกล้อง ไม่มีความตึงเครียด ไม่มีใครโวยวายอะไรทั้งนั้น การถ่ายทำทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก และผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก เจ๋งจริง ๆ เป็นโมเมนท์หนึ่งเลยที่ประทับใจ”
เรียกได้ว่าเป็นการไปอยู่หน้างานจริง ที่แตกต่างจากประสบการณ์ในการทำงานกองถ่าย ร่วมกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันอย่างแน่นอน
เรื่องเล่าอบอุ่นหัวใจ ของกระป๋องเบียร์กับชาวอินเดียใจดี
ในขณะนี้คุณกายวกกลับมาที่คำว่า Service Mind อีกครั้ง พร้อมพูดเสริมฉะฉานว่าต่อให้ลูกค้าเป็นใคร บุคลิกแบบไหน ต้องการผลลัพธ์อย่างไร สุดท้ายในฐานะผู้ให้บริการโปรดักชั่น เราก็จำเป็นต้องดูแลพวกเขาประหนึ่งลูกแท้ ๆ เพราะจากการทำงานที่ผ่านมา มันสะท้อนแล้วว่าสิ่งดี ๆ มักเกิดขึ้นเมื่อต่างฝ่ายมีความไว้วางใจแก่กันและกัน ซึ่งความไว้วางใจนั้นเองก็เป็นผลผลิตจากความประทับใจในบริการของเรานั่นเอง
“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือหลังสำรวจสถานที่ให้กองกองหนึ่งเสร็จ เวลานั้นได้ยินแว่วหูมาว่าผู้กำกับกับตากล้องเป็นคนดื่มหนัก แล้วเขาบ่นอยากลองเบียร์ไทย ได้ยินแบบนั้นเราเลยซื้อมาให้สองกระป๋อง แช่ไว้ในตู้เย็นโดยที่เขาไม่รู้” คุณกายเล่าพลางยิ้มสนุก
“พอเสร็จสรรพทุกอย่างในคราวนั้น แล้วได้จังหวะที่รุ่นพี่ฝากเบียร์ให้ลูกค้าทั้งสองท่านนั้นพอดี เราเลยไปโผล่หัวในห้องลูกค้า ถามว่าหิวอะไรหรือยัง แล้วเราก็ยื่นกระป๋องเบียร์นั้นให้เลย ปฏิกิริยาของเขาทำให้เรารู้สึกชื่นใจมาก เพราะรู้สึกได้ถึงความสุขสูงสุดจากรอยยิ้มพวกเขาเลย อารมณ์เหมือนลุงป้าน้าอาเวลาได้อุ้มหลานน่ะ อย่างนั้นเลย คือรู้เลยว่าเขาเอ็นดูเราแค่ไหน ต่อให้เราเป็นแค่เด็กฝึกงานตัวเล็ก ๆ ก็ตาม”
เรื่องเล่าปลุกใจ ที่อยากส่งต่อให้รุ่นน้องทุกคน
ประสบการณ์ที่ผ่านมาสามเดือนจะแปลก แหวก งง น่าสนุก และได้เรียนรู้มากมาย เท่าไหน เขาขยายความอีกว่าจริง ๆ แล้วรุ่นพี่ในที่ทำงานอยากจะจับตัวเขาไว้ให้มาทำงานด้วยกันหลังเรียนจบ แต่ด้วยกำหนดการในอนาคตที่คุณกายจะได้โอกาสไปทำงานที่อเมริกา ก็ส่งผลให้เขาลำบากใจไม่น้อยทีเดียว
“แผนหลักในตอนนี้คือจะไปช่วยยายทำงานร้านอาหารไทยที่อเมริกา แต่เอาจริง ๆ คือกะจะไปหาลู่ทางว่ามีอะไรที่พอใช้ทักษะเราได้บ้าง ยิ่งเป็นงานสายโปรดักชั่นยิ่งดีเลย ด้วยความที่เราเองก็มุ่งหมายจะอาศัยอยู่ต่างประเทศอยู่แล้วนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องเป็นอเมริกา ที่ไหนก็ได้ ขอแค่เราได้ทำในสิ่งที่เราถนัด”
และท้ายที่สุด เขาก็ยังฝากคำพูดปลุกใจผ่านบทความนี้ ถึงน้องนักศึกษาที่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ เรื่องการฝึกงาน ด้วยใบหน้าเคร่งขรึมที่อัดแน่นความตื่นเต้นในนัยน์ตาคู่นั้น
“ถึงน้อง ๆ นะครับ ไปฝึกซะ ดีกว่าทำโปรเจกแน่นอนพี่พูดเลย คือการไปฝึกงานเราจะได้ประสบการณ์ตรง เราจะได้ประสบการณ์จากรุ่นพี่จริง ๆ จะได้รู้ว่างานจริง ๆ มันเป็นยังไงต้องทำอะไรบ้าง จุดนี้แหละที่จะขยายความรู้เราจากที่เคยเรียนพื้นฐานมาทั้งหมดให้กว้างไปอีกหลายเท่าเลย ในงานจริงเราจะไม่ได้ขลุกกับหน้าที่ของเราเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เราต้องรับมืออีก และนั่นจะดีกว่าสำหรับน้อง ๆ ทุกคน ถ้าได้เรียนรู้จากของจริง ตอนนี้น้องเปรียบเหมือนปลาใหญ่ในบ่อเล็ก มีความรู้ มีสกิล แต่ขาดที่ปล่อยของ เพราะงั้นไปฝึกงานซะครับ ลุย”
รู้อย่างนี้ อย่ารอช้า ลองทำจริง ออกไปฝึกงานจริง ๆ ให้รู้ไปเลยว่า เราจะแปลก แหวก งง และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มอีกบ้าง เราขอสนับสนุน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ คุณกาย-ปภัสสร์ จิลลานนท์ รุ่นพี่นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ