เจ้าชายซีรีย์จีน พี่หยุง-ไชยยงค์ นักพากย์เสียงไทยโลดแล่นไปทั่วยุทธภพความบันเทิง

เริ่มต้นจากเรียนภาพยนตร์ สู่งานพากย์เสียง ผู้นำความสุขมาใช้ในทุกโมเมนท์ของการทำงาน

         “นี่! ตาแก่ก๊องแก๊ง หลบอยู่ที่บ้านสิบกว่าปีไม่โผล่หัวออกมา เหมือนเต่าในกระดอง! คิดว่าตัวเองฝึกจนอิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศ แล้ววิ่งมาหาเรื่องที่เทียนฉี่ เรื่องนี้เกี่ยวกับท่านหรือไง!” คนที่รู้จักและกำลังติดตามซีรีย์จีนกำลังภายใน ดรุณพเนจรท่องยุทธภพ The Blood of Youth อาจคุ้นเคยดีกับฉากเรียกเสียงหัวเราะที่ เซียวเซ่อ แรปตวาดใส่ เซียนกระบี่เดียวดาย เพราะตั้งแต่ฉากนี้ปรากฏบนจอโทรทัศน์ เหล่าแฟนคลับก็ต่างพูดถึงความสนุกกันไม่หยุดปากบนโลกโซเชียล และได้แต่ถามหากันว่า ใครกันที่เป็นเจ้าของเสียงเซียวเซ่อ

         ด้วยพรแสวงที่มาพร้อมสเน่ห์ในน้ำเสียง เขาคนนั้นคือ พี่หยุง-ไชยยงค์ กนกคุณ นักพากย์อิสระ ทีมพากย์ Master Studio รุ่นพี่ศิษย์เก่าสาขาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สมัยที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ และยังเป็นอดีตรุ่นพี่ กลุ่มกิจกรรมละครนิเทศศาสตร์ อีกด้วย

         “โห สมัยเรียนสนุกมาก ได้เจอคนเจ๋ง ๆ ตลอดเวลาเลย” พี่หยุงกล่าวในช่วงต้นของการสัมภาษณ์ รอยยิ้มบนใบหน้าเขาแสดงความถ่อมตัวออกมาอย่างไม่ปิดบัง ทั้งที่เขาคือนักพากย์เจ้าของผลงานมากมายที่เคยผ่านหูผู้ชมมากหน้าหลายตามาแล้วนักต่อนัก คนที่ชมสื่อป๊อปคัลเจอร์คงรู้จักตัวละครเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ยูจิโอ จาก Sword Art Online: Alicization, สึโยชิ จาก สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารในต่างโลก, โอบาไน อิงุโระ จาก ดาบพิฆาตอสูร, ฟัลโก้ ไกรซ์ จาก Attack On Titan: The Final Season, จางกึนวอน จาก Itaewon Class, คิโยทากะ จาก Classroom of The Elite, ยูริ จาก Spy X Family, หรือกระทั่ง พอล จาก All Quiet on The Western Front

         การพากย์ ตัวละครพอล จากเรื่อง All Quiet on The Western Front เป็นเครื่องพิสูจน์ความพยายามของพี่หยุงในสายงานนี้ เพราะเป็นภาพยนตร์สงคราม เสียงตวาด เสียงหอบ เสียงคำราม เสียงร้องไห้ ต้องทำออกมาให้สมจริงและถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

         ด้วยความมุ่งมั่นในการพากย์จึงส่งผลให้พี่หยุงเกิดอาการ Hyperventilation หรือหายใจเกินระหว่างดำเนินการพากย์เสียง มีอาการหน้ามืด ร่างกายชาบางส่วนโดยเฉพาะใบหน้าและปาก จึงต้องขอหยุดพากย์เป็นระยะ แต่ด้วยพรแสวงที่เขาสั่งสมมาตลอดหลายปีในการทำงาน สุดท้ายก็ทุ่มเทแรงกายจนการพากย์สำเร็จไปได้ด้วยดี และตัวละครพอลนั้นก็ได้โลดแล่นบนจอเงินในที่สุด

         หากอะไรคือขุมพลังในการทุ่มเทต่องานพากย์ของพี่หยุง พรแสวงที่เราได้รับรู้ผ่านเสียงของตัวละครนับสิบนั้นมีที่มาอย่างไร พี่หยุงเล่าให้ฟังกันอย่างเจาะลึก เราขอปล่อยเสียงพี่หยุงแบบยาว ๆ กันไปเลย

งานพากย์เสียง จุดกำเนิดของพรแสวง

         เป็นความชอบนะ ตั้งแต่เด็กเลย ชอบเลียนเสียงสปอตหนัง พวกรถแห่ฉายหนังตามโรงแถวบ้าน ชอบมาก เลียนเสียงทุกครั้งที่ได้ยินไม่ก็ได้ดูเลย ทีนี้พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้มาเรียนภาพยนตร์ แล้วมีช่วงหนึ่งอาจารย์ให้ทำหนัง แล้วเพื่อนกลุ่มหนึ่งเขาทำหนังแบบโจวซิงฉือ ปกติมันต้องเป็น คนเล็กปะทะ…อะไรทำนองนี้ใช่ไหม แต่นี่ไม่ใช่ เป็น คนกลางโคตรเซียน ไปซะงั้น (ฮา) มันเป็นหนังมีเล่นพงเล่นไพ่เหมือนโจวซิงฉือเลย แล้วกิมมิคคือมีการพากย์เสียงทับลงไปอีกที ไม่ใช้เสียงต้นฉบับจากกล้อง พากย์ตามสไตล์พันธมิตรหรืออินทรีเลย

         ตรงนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้น คือนักแสดงทุกคนจะได้พากย์ทับเป็นตัวละครที่ตัวเองเล่น แต่ตัวร้ายดันไม่ว่างมาพากย์ ทีนี้เพื่อนก็นึกถึงพี่ พี่ก็เลยได้พากย์ ตอนนั้นก็เลยได้ค้นพบว่าเฮ้ย สนุกจังเลยอ่ะ ทำไมพากย์มันสนุกแบบนี้ ตอนนั้นเรายังไม่ได้รู้จักกับวงการพากย์อะไรแบบนี้เลยนะ เป็นแค่ความชอบไปเฉย ๆ

         กระทั่งเรียนจบ มีพี่คนหนึ่งที่รู้จักกันในละครนิเทศ เข้ามาถามว่าได้สมัครงานที่ไหนหรือยัง ตอนนั้นเราก็ยังเป็นฟรีแลนซ์อยู่น่ะนะ ไม่ได้ทำงานที่ไหน พี่เขาเลยบอกว่าตอนนั้นช่อง 7 มีโครงการ ค้นหานักพากย์เสียงดี ที่ให้ใครก็ตามที่สนใจจะเป็นนักพากย์ส่งเดโมเสียงเข้าไป มันจุดประกายเราเลยว่า มันมีโครงการอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ พอเห็นว่าเราสนใจ เขาเลยบอกว่า พี่เฟิร์ส-วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ ก็เป็นนักพากย์อยู่นะ ต่อมาเราได้เจอเขาที่มหาลัย วันที่ละครนิเทศกำลังเลือกประธานรุ่นเวทีอยู่ เราแลกคอนแทคกัน จนพี่เฟิร์สพาเราไปดูห้องพากย์เป็นครั้งแรกเลยนะที่ทาวน์อินทาวน์

         ตอนนั้นเราก็…ยังพากย์อะไรไม่เป็นเลย ส่วนใหญ่ก็จะไปนั่งดูแล้วก็เริ่มพากย์ตัวประกอบไม่กี่ประโยค เราเรียนรู้จากตรงนั้นมาได้เยอะเลยนะ แต่สุดท้ายก็ห่างเหินไปเลย เพราะตอนนั้นกรุงเทพน้ำท่วม ประกอบกับแม่พี่ไม่สบายด้วย พี่เลยต้องกลับไปอยู่บ้านเป็นช่วยงานพ่อเป็นปี ต่อมาพอน้ำลดก็กลับมากรุงเทพ ได้ทำงานเขียนบทไปอะไรไป จู่ ๆ เราได้เห็นอบรมการพากย์ของ ThaiPBS ที่จัดโดยน้าม็อกสังวาลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เราก็สมัครเลย ไม่ลังเล

         แล้วด้วยความที่เรามีพื้นฐานมาบ้างแล้วจากการได้ไปลองดูห้องพากย์ เรารู้ว่าการเข้าหนังคืออะไร บทหน้าตาเป็นยังไง เวลาหนังขึ้นปั๊ปเราก็พากย์ตามได้เลยไม่ดีเลย์มากเหมือนครั้งแรก ตอนเข้าร่วมอบรม มันก็เลยเหมือนการฉายแววเล็ก ๆ นั่นแหละที่ทำให้พี่ถูกชวนไปพากย์อีกที่หนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาเราก็ย้ายไปทีมนู้นทีมนี้บ้าง เพราะเขาเห็นว่าเราทำงานได้ บางทีมขาดคนเขาก็เรียกเรา บางโปรเจ๊กขาดเสียงเขาก็เรียกเรา เป็นอย่างนี้มาเรื่อย จนถึงปัจจุบันครับ

พรแสวงจากการศึกษาและฝึกฝน

         มีน้องหลายคนเคยถามเหมือนกันว่าทำให้ยังไงให้เสียงเข้ากับบุคลิกตัวละครที่จะพากย์ พี่ก็ตอบไปตรง ๆ ว่าฝึกครับ มันต้องฝึกเพื่อขยายระยะเสียง ปกติเราจะมีเสียงต่ำ, เสียงธรรมดา, และเสียงเหินใช่มะ เราต้องดูบริบทของเรื่องก่อนว่าตัวละครเราอยู่ในสถานการณ์ไหน พูดอะไรอยู่ แล้วถ้าแปลไทยจะออกมาในระดับเสียงเดียวกันได้ไหม สมมติว่าตัวละครพูดว่าสวัสดีครับ เราก็ต้องสังเกตว่าเขาพูดเพื่ออะไร ทักทาย ? ท้าทาย ? ตอบรับ ? กวนประสาท ? ถ้าเราเข้าใจ เราจะรู้ว่าควรใช้เสียงระยะไหน ทดสอบได้ด้วยการพูดประโยคเดียวกันซ้ำซ้ำในหลายระยะ สวัสดี…ครับ สวัสดีครับ! สวัสดีคร๊าบบ! ลองดูหลายแบบ แล้วหมั่นฝึกฝน จะทำให้เรามีบุคลิกเสียงเยอะขึ้น

         นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะแยะที่พี่ได้รู้ตอนทำงาน ไม่ว่าจะเสียงร้องแปลก ๆ ระหว่างโมโนล็อก ลีลาการพูดที่เกิดจากอารมณ์ของตัวละคร หรือจังหวะที่บางครั้งเราก็อาจเลียนแบบได้ไม่ดี แต่สุดท้ายเราต้องทำให้ได้ เสียงเราต้องให้เหมือนต้นฉบับที่สุด นั่นเป็นหัวใจของการทำงานพากย์

         งานพากย์เสียงจะมี 2 รูปแบบหลักคือ ระบบแคสต์และระบบทีม โดยระบบแคสต์จะเป็นระบบที่สตูดิโอใหญ่ ๆ พวก Netflix หรือ Disney เขาจะทำกัน ระบบทีมจะมีงบเยอะกว่ามาก ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติเลยที่จะมีผู้กำกับเสียงมาคุมในห้องอัด เรียกว่าตามหาเสียง-คัดเสียง แล้วดัดเสียงเจาะทีละคนทีละตัวละครเลย จะมีคนพากย์ประมาณ 10 กว่าคน หรือในบางงาน 20 กว่าคนเลยก็มี ส่วนระบบทีมจะเป็นอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกัน แบบ ทีมพากย์พันธมิตร เป็นต้น รูปแบบการทำงานจะต่างจากระบบแคสต์ที่แยกกันอัดเสียง ระบบทีมจะนั่งรวมกัน 6 ถึง 8 คน แล้วพากย์ไปพร้อมกันเลย มันจะไม่มีผู้กำกับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับบทและสัญชาตญาณของคนพากย์ สตูดิโอพากย์ระบบทีม ยกตัวอย่างก็สตูดิโอที่พี่ทำงานอยู่ Master Studio ก็มักระรับงานเป็นซีรีย์ที่มีจำนวนตอนเยอะ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นซีรีย์จีน เกาหลี จะรับงานจากค่ายแอพซีรีย์ที่ไม่ค่อยมีงบประมาณจ้างนักพากย์เยอะนัก

         การพากย์ก็มีข้อจำกัดนะ ไม่ใช่ว่านักพากย์คนนึงจะพากย์เป็นทุกตัวละครได้ มันไม่ใช่ แต่เรามีขอบเขตคือ ถ้าเสียงไม่ตรงกับอายุตัวละคร เสียงที่พากย์ออกมาอาจไม่ดีเท่าที่ควร จุดนี้บางคนก็ทำได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เลือกใช้เสียงนั้น เพราะงานพากย์ไทยที่ดี วัยของนักพากย์ควรใกล้เคียงกับวัยของตัวละคร ข้อจำกัดตรงนี้จะค่อนข้างเคร่งในงานประเภทแคสต์ แต่กับงานระบบทีม ไม่ค่อยเท่าไรนัก นักพากย์เลยต้องพยายามดัดให้มันพอเหมาะพอควรที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างพี่ถ้าต้องไปพากย์เสียงตัวละครมีอายุ ก็จะต้องเติมความสากความขรึมเข้าไปในน้ำเสียง มันไม่เป๊ะหรอก แต่เราก็ต้องทำให้ได้ใกล้เคียงกับเขาที่สุด ใช่ไหม คนอายุ 30 ไปพากย์เป็นตัวละครอายุ 70 มันไม่เนียนกริ๊บอยู่แล้ว แต่ของแบบนี้มันฝึกให้เราพากย์ได้ใกล้เคียงได้

พรแสวงจากการฝ่าฟันอุปสรรค

         โห…ตอนเข้ามาพากย์ใหม่ ๆ พี่พากย์ตัววัยรุ่นไม่ได้เลยนะ ถึงตอนนั้นพี่จะอายุประมาณยี่สิบต้น ๆ ก็เถอะ แต่ด้วยความที่พี่เป็นคนเสียงทุ้ม คือ เสียงธรรมดาของพี่ก็เหมือนคนอายุ 30 ไปแล้ว คราวไหนที่ได้พากย์เป็นหนุ่มใหญ่วัยกลางคน ก็กดเสียงได้ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นเสียงวัยรุ่นนี่พี่ไปไม่เป็นเลยนะตอนนั้น

         แล้วด้วยความที่นักพากย์หน้าใหม่มักจะให้โดนรับบทวัยรุ่น เพราะนักพากย์รุ่นใหญ่เขาจะไปพากย์ตัวละครที่ตรงกับวัยของตัวเอง พี่ก็ลำบากเลยสิงี้ ต้องฝึกเหินเสียงครั้งยิ่งใหญ่เลย(ฮา) ตอนแรก ๆ เราทำไม่ได้เลย เครียดมาก เลยหยิบบทกลับไปซ้อมที่บ้าน พยายามทำให้เสียงเล็กแหลมให้ได้ แล้วก็พยายามขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ เรากลัวว่ามันจะตลกที่เราฝืนทำเสียงแหลม แต่น้า ๆ ผู้ใหญ่ก็ปัดว่าเฮ้ย จะตลกได้ยังไง ลองทำไปก่อน ทำแบบไหนได้ทำไปเลย จนต่อมาเราก็ได้ลองพากย์บทยาว ๆ แบบใช้เสียงแหลมนั่นแหละ เที่ยวแรกยังยากอยู่ ต่อมาก็เริ่มทำได้ หลัง ๆ ก็เริ่มสบาย เหินเสียงจากที่เคยคิดว่ายาก จนสุดท้ายพี่ก็ทำสำเร็จ

         อีกปัญหานึงที่เราเจอกันเป็นปกติเลยคือเรื่องบทพากย์ ถ้าเป็นระบบงานแคสต์ บทพากย์เขาจะคุณภาพที่สุดอยู่แล้ว เพราะด้วยทุนที่เยอะและเวลาที่มาก แต่ถ้าเป็นระบบทีมแบบที่พี่ทำงานอยู่ บทเขาจะไม่ค่อยดีเท่าไร งบที่จ้างนักแปลกับนักพากย์ก็น้อยกว่า เวลาก็น้อยกว่า คุณภาพเลยสมน้ำสมเนื้อ หลายครั้งที่รับงานจีน แต่คนพากย์ไม่แตกฉานภาษาไทยเท่าภาษาจีน ใช่ บทแปลมันถูกบริบทนะ แต่พอเอามาพากย์แล้วมันไม่เคลียร์เหมือนแบบที่คนปกติเขาคุยกัน

         ในฐานะนักพากย์ เราเลยต้องเอาบทนั้นมาเกลากันหน้างาน โชคดีที่พี่เรียนสายภาพยนตร์มา พี่อยู่กับการทำหนัง อยู่กับการเขียนบท พี่เลยเข้าใจว่าไดอาล็อกแบบไหนถึงจะเข้ากับบริบทของฉากที่เรากำลังพากย์ แต่สุดท้ายก็ใช้ประสบการณ์อยู่ดี ถ้าบทสั้น พี่ก็จะเติมคำเข้าไป ถ้าบทยาวก็ต้องเร่งสับปาก แต่ถ้าตัดได้ก็ตัด เราจะสังเกตก่อนว่าอะไรคือใจความหลักของประโยคนั้น คือตัวละครจะสื่ออะไร แล้วบรรยากาศรอบ ๆ คืออะไร ตัวละครอยู่ในยุคไหน เราเอาทั้งหมดนั้นมารวมกัน แล้วเปรียบเทียบกับบทของทางต้นฉบับ พี่จะจูนระหว่างมันเข้าหากัน แล้วสุดท้ายงานจะออกมาดี

พรแสวงที่นำความสนุกมาให้

         ในบรรดาตัวละครทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นงานพากย์ประเภทไหน ชาติไหน ซีรีย์หรือหนังยาว พี่ชอบตัวละครที่แสดงอารมณ์ออกมาชัดเจนที่สุด! พี่ชอบเวลาได้พากย์ตัวละครแบบนี้ มันสนุกจนแบบว่า บ้าบอไปเลย เพราะถ้าตัวละครโกรธก็จะได้ตะโกน ถ้าเศร้ารันทดก็จะได้สะอื้นร้องไห้ ถ้าคลั่งก็จะได้พูดจากกวนตีนท้าทาย ตัวละครประเภทนี้จะไม่ซับซ้อนมาก ไม่ต้องตีความเยอะ พี่ไม่ค่อยชอบตัวละครลึกลับซับซ้อน มัน…พากย์แล้วเครียด เพราะต้องมาเข้าใจในไดนามิกตัวละครพวกนั้น

         ยกตัวอย่างก็เรื่อง Classroom of the Elite ขอต้อนรับสู่ห้องเรียนนิยม(เฉพาะ)ยอดคน ที่พี่ได้พากย์เป็นตัวละครเอกอย่าง คิโยทากะ แล้วก็ตัวร้ายอย่าง ริวเอ็น จะบอกว่าบุคลิกของสองตัวละครนี้มันต่างกันสุดขั้วเลย ห่างกันฟ้ากับเหวเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกค้าเห็นอะไรในตัวเราถึงได้ให้พากย์เป็นสองตัวนี้(หัวเราะ) เริ่มจากตัวแรกเลย ก็คือคิโยทากะ ในแวบแรกเลย พี่มองว่าเจ้าตัวละครนี้เป็นคนที่นิ่งมาก นิ่งแบบไร้อารมณ์จนพากย์แล้วอึดอัด เขานิ่งเกินมนุษย์อ่ะ พอถึงเวลาจะแสดงอารมณ์อย่างต้องตกใจ เขาก็จะตกใจแบบนิ่ง ๆ  ในกรณีนี้จะละเอียดอ่อนมาก เพราะต้องพากย์การตกใจให้คนดู ดูแล้วรู้สึกว่าตกใจ แต่ต้องไม่ให้ออกนอกขอบเขตความนิ่งสงบของตัวละคร ขนาดตอนพูดจาประชดประชันยังต้องนิ่ง ยากมากที่จะพากย์ไม่ให้ราบเรียบเกินไปจนเหมือนอ่านหนังสือ ตัวนี้พูดเลยว่า…เครียด

         แต่พอมาถึงอีกตัวหนึ่งอย่างริวเอ็น โอ้โห! ตัวนี้ไหลแบบโฉ่งฉ่างเลย ถ้าเปรียบว่าการพากย์คิโยทากะเหมือนกับการเอาตัวเองไปคลานร้อน ๆ ในทะเลทราย พอได้พากย์ริวเอ็น เหมือนได้มาเจอโอเอซิสอะ ได้ปลดปล่อยอารมณ์ออกมาสุด ๆ หลังจากอัดอั้นมานาน ได้เปล่งรัศมีความชั่วร้ายออกมาเต็มที่ ได้หัวเราะ ได้โกรธ เป็นตัวละครที่พากย์สนุกที่สุดแล้ว

พรแสวงที่อาจสั่นคลอนด้วยปัญญาประดิษฐ์

         ตอนนี้วงการพากย์เสียงมีคุณภาพมากขึ้นจริง ๆ เพราะด้วยการเข้ามาถึงของโซเชียล ทำให้คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนสามารถเข้าถึงตัวอย่างงานพากย์ดี ๆ ได้เยอะ แถมยังเกิดเป็นช่องยูทูป เพจเฟซบุ๊ก หรือติ๊กต๊อกทื่ลงผลงาน FanDub กัน นั่นทำให้ผู้กำกับเสียงพากย์มีคลังเสียงให้เลือกเยอะ ทำให้ตัวผลงานยิ่งตรงต้นฉบับขึ้นไปอีก แต่ตอนนี้เทคโนโลยีก็มาพร้อมความน่ากังวลเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่อง AI เพราะตอนนี้ในงานพากย์สารคดีหรือวิดีโอพรีเซนเทชั่นในองค์กร ก็เริ่มผันมาใช้ปัญญาประดิษฐ์กันบ้างแล้ว หมายความว่า ในงานเล็ก ๆ ที่เน้นการสื่อสาร ไม่เน้นอารมณ์ที่มนุษย์สร้าง AI จะไปแทนที่ตรงนั้น

         แต่กลับกันในวงการพากย์เสียงการ์ตูนหรืองาน Live-Action พี่มองว่า AI คงจะยังไปแทนที่จุดนั้นไม่ได้ เพราะมันต้องอาศัยน้ำเสียงที่สามารถสื่อถึงอารมณ์ได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ออกเสียงเป็นคำคำคำเหมือนอ่านหนังสือ นั่นไม่ใช่การพากย์ แต่เป็นการอ่าน ตอนนี้ AI ยังเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้เท่านี้ แต่พี่มองว่าในอนาคต สัก 5 ปี 10 ปี มันก็ต้องมาแทรกซึมในวงการพากย์เสียงได้จริง ๆ จัง แต่อย่างที่ว่า ไม่ใช่ตอนนี้ครับ

พรแสวงและพรสวรรค์ของคนรุ่นใหม่

         สำหรับนักพากย์รุ่นใหม่ พี่อยากให้น้อง ๆ หมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็เปิดรับการเรียนรู้อยู่เสมอ อย่ารีบคิดไปเองว่าตัวเองเก่งแล้ว คือถึงวันนี้เราจะทำได้ที่ แต่วันต่อมาฝีมือเราอาจทื่อลงก็ได้ เพราะงั้นก็เหมือนนักกีฬา ต้องลับดาบตัวเองให้คมตลอด ไม่งั้นจะทื่อ พี่เห็นหลายคนพากย์ไว้แล้วเอาลงโซเชียลมีเดีย ถ้าได้รับคำชมก็เก็บไว้เป็นแรงใจ แต่ถ้าได้คำติคำคอมเมนต์ก็อย่าเพิ่งไปห่อเหี่ยว นั่นแหละคือยาชั้นดีเลย หยิบความเห็นพวกเขามาปรับปรุง เราจะได้พัฒนา มันยากนะที่เราจะมองเห็นว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหน เพราะอย่างนั้นไงเราถึงต้องรับฟังความเห็นคนอื่น เราจะได้เก่งขึ้นเก่งขึ้น

         เวลาเราฝึกพากย์มาได้สักพัก ก็ลองหาเวลากลับไปดูงานเก่าของตัวเองบ้าง เราจะได้รู้ว่าเรามาไกลขนาดไหน และมีจุดไหนที่เราไม่พัฒนาเลย แบบว่า โอ๊ย ทำไมตอนนั้นเราไม่พากย์ให้มันขยี้กว่านี้อีกนะ หรือ โห ทำไมเราปิดประโยคแบบตวัดหางขนานั้นนะ อะไรอย่างนี้ การที่เรามองว่าตัวเองในช่วงก่อนหน้าพากย์แย่ยังไง นั่นหมายความว่าตัวเรามีความรู้มากขึ้น และพร้อมจะรับประสบการณ์ให้มากขึ้นแล้ว แต่ละคนมีวันแรกของตัวเองเสมอ เพราะฉะนั้นอย่าไปท้อ ฝึกฝึกฝึกครับ

         เบื้องหลังงานพากย์เสียงจึงเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย คนที่ชอบดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ให้เสียงภาษาไทย คนสนใจในงานพากย์เสียง และแม้แต่คนธรรมดาที่ใช้เสียงทุกวัน คงได้เกร็ดความรู้ วิธีคิดในการทำงาน ไปปรับใช้กับตนเอง และที่สำคัญไม่ว่าจะงานอะไรก็ต้องใช้การฝึกฝน ฝึกฝึกฝึก เหมือนที่ พี่หยุง-ไชยยงค์ กนกคุณ รุ่นพี่นักพากย์คนเก่งของเราได้กล่าวไว้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่หยุง-ไชยยงค์ กนกคุณ นักพากย์อิสระ รุ่นพี่ศิษย์เก่าสาขาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer & Photographer

ได้เรียนรู้อะไรเล็ก ๆ ทุกวัน สนุกดีนะ