Master Class ของเด็กฟิล์ม ม.กรุงเทพ กับพี่แหม่ม-วีรพร นักเขียนรางวัลซีไรท์สองสมัย

เขียนจากหัวใจ เล่าเรื่องด้วยความเป็นมนุษย์ กับพี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา

         เมื่อเรื่องเล่าเริ่มต้นจากหัวใจและลมหายใจของมนุษย์ พี่แหม่มวีรพร นิติประภา กับบทสนทนาเรื่องวรรณกรรมและภาพยนตร์ ร่วมสร้างนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างงดงามในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

         “หัวใจของวรรณกรรมและภาพยนตร์คือความเป็นมนุษย์ที่หายใจอยู่ในเรื่องราว ตัวละคร และถ้อยคำ” ไม่ใช่เพียงคำพูดในบทสนทนา หากคือถ้อยประโยคที่เปลี่ยนห้องฉายภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับฟังเสียงของหัวใจ

         Master Class: Literature & Cinema โดย พี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรท์สองสมัย ร่วมด้วย อาจารย์ณพัฎน์ จิตตภินันท์กัณตา จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้อง Screening Room คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         เสียงของพี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา ดังขึ้นอย่างเรียบง่ายในความเงียบ ทว่าลึกแน่น เหมือนลมหายใจแรกที่เปล่งออกมาหลังคืนฝันยาวนาน แสงจากจอฉายทอดผ่านเบาะผ้าสีเทา เครื่องปรับอากาศส่งเสียงแผ่ว บรรยากาศนิ่งคล้ายหนังที่ยังไม่เริ่มฉาย แต่บางอย่างในใจเรากลับเริ่มขยับ เหมือนกำลังรอเรื่องเล่าที่จะพาเราย้อนกลับไปฟังตัวเอง

         ที่นี่ไม่ใช่เวทีของนำเสนอเทคนิคการเขียน แต่คือพื้นที่ซึ่งวรรณกรรมและภาพยนตร์มาบรรจบ ไม่ใช่เพื่อเปรียบเทียบ แต่เพื่อเผยให้เห็นว่าทั้งสองคือการหายใจในรูปแบบที่ต่างกัน และสิ่งที่หายใจอยู่เบื้องหลังเรื่องเล่าทั้งหมดก็คือ “ความเป็นมนุษย์” ที่เราพยายามจะเข้าใจผ่านการเขียน

จุดเริ่มต้นของการค้นพบ “หัวใจ”

         พี่แหม่มเล่าถึงวันหนึ่งเมื่อตอนเริ่มต้นทำงาน เธอทุ่มเทกับการเขียนอย่างเต็มที่ ใช้การกลั่นถ้อยคำให้ชัดเจน ละเอียด และถูกต้องที่สุด ทุกประโยคคือการเขียนได้ดีพอ ถ้อยคำนั้นจะพาเราไปถึงการสื่อสารที่ควรค่า แต่เมื่อถึงเวลาที่เธอต้องยื่นต้นฉบับ ก็ได้รับคำแนะนำกลับมาว่า “เขียนได้ดีนะ…แต่เหมือนยังไม่ได้เขียนด้วยใจ” คำพูดนั้นอ่อนโยน แต่ไม่เบาแรง มันสะกิดให้เธอหยุดคิด ไม่ใช่เรื่องการเขียนให้ดีขึ้น แต่คือการย้อนถามว่า “สิ่งที่ฉันเขียนนั้น มีตัวฉันอยู่ในนั้นจริงหรือเปล่า”

         ในห้องฉายภาพยนตร์วันนั้น หลังจากพี่แหม่มเล่าจบ ได้ยินเสียงพูดคุยแผ่วเบา จากมุมต่าง ๆ ของห้อง บางคนหันไปพยักหน้ากับเพื่อน บ้างก็กระซิบถึงประโยคที่เพิ่งได้ยิน ไม่ใช่เพราะความไม่ตั้งใจฟัง แต่เพราะคำแนะนำนั้นแตะบางอย่างในใจ บางอย่างที่อาจเคยถูกถามกับตัวเองอย่างเงียบเชียบมาก่อน

         พี่แหม่มพูดต่ออย่างเรียบง่าย แต่มั่นคง เธอไม่ได้ตำหนิอดีตตัวเอง ไม่ได้บอกว่าครั้งนั้นผิด เธอเพียงย้ำให้ฟังว่า การเขียนที่แท้จริงอาจไม่ได้เริ่มจากการรู้เทคนิค แต่อาจเริ่มจากการกล้ายอมรับว่า “ยังไม่มีหัวใจอยู่ในนั้น” แล้วค่อย ๆ ตามหา ไม่ใช่คำที่ถูกต้องที่สุด แต่คำที่มีหัวใจที่สุด

การเดินในเขาวงกต เขียนด้วยใจ และไม่กลัวจะหลงทาง

         หลังจากเรียนรู้ว่าการเขียนที่ดี อาจไม่พอหากไม่มีหัวใจ พี่แหม่มก็นำแนวคิดนั้นกลับมาสู่โต๊ะเขียนหนังสืออีกครั้ง ด้วยความตั้งใจใหม่ที่ไม่ได้มองหาความสมบูรณ์แบบทางภาษา แต่ต้องการจับ “ความรู้สึกที่ยังพูดไม่ออก” ให้กลายเป็นเรื่องเล่า

         ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต คือนวนิยายที่เขียนขึ้นด้วยหัวใจที่ไม่พยายามจะสรุปอะไร แต่มุ่งไปสู่การรับฟังบาดแผลของมนุษย์อย่างแผ่วเบา เรื่องเล่าของชาลิกา ชารียา และปราณ พี่น้องสามคนที่เติบโตมากับความขาด ความเงียบ และช่องโหว่ในความรัก ไม่ได้ดำเนินไปด้วยเหตุการณ์ใหญ่โต หากแต่พาเราเข้าไปฟังเสียงเบา ๆ ของความสัมพันธ์ที่พันกันจนแยกไม่ออกระหว่างความห่วงใยกับความเจ็บปวด

         ผู้เขียนวางรายละเอียดอย่างประณีต สอดแทรกสุนทรียะของดนตรีคลาสสิก ผ้าโบราณ และรสชาติของอาหาร เข้าไปในจังหวะของเรื่องเล่า ทำให้ผู้อ่านไม่ได้แค่เห็นภาพ แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของตัวละคร อย่างลึกซึ้ง การใช้กลวิธีที่ผสมผสานระหว่างสัจนิยมกับจินตนิยาย ทำให้โลกในเรื่องมีทั้งความจริงและความฝันปะปนกัน เหมือนการเดินในเขาวงกตที่มีหมอกบางเบาห่มคลุมอยู่เสมอ

         แม้นวนิยายจะเปิดเรื่องด้วยความรัก แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่เล่าคือบาดแผลจากครอบครัว ความเงียบที่กัดกินเราในวัยเยาว์ และความปรารถนาจะเป็นที่รักของใครสักคนโดยไม่ต้องร้องขอ นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสามคน แต่คือภาพสะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ที่อยากจะรักให้ดีที่สุด ทั้งที่บางครั้งเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักคืออะไร

         และเมื่อเขียนถึงที่สุด พี่แหม่มไม่ได้เขียนเพราะรู้คำตอบ แต่เขียนเพราะอยากจะอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้นานที่สุด ในเขาวงกตที่ไม่มีทางลัด ไม่มีจุดหมายชัดเจน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องหลง ถ้าเรากำลังฟังเสียงของหัวใจตัวเองอยู่ตลอดทาง

ไม่มีเรื่องเล่าใดที่ปราศจากความเป็นมนุษย์

         หลังจากพาเราเดินลึกเข้าไปในเขาวงกตของตัวละคร พี่แหม่มค่อย ๆ ขยับมาสู่คำถามที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่การเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ดี แต่คือการตั้งใจฟังว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำให้วรรณกรรมและภาพยนตร์ยังคงสำคัญต่อมนุษย์เสมอมา”

         “ไม่มีวรรณกรรมหรือภาพยนตร์เรื่องไหนเลยที่ไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น” พี่แหม่มพูดชัดถ้อย น้ำเสียงของเธอไม่ต้องเน้นย้ำให้หนักแน่น แต่ทุกคนในห้องก็รับรู้ได้ถึงความหนักแน่นในความเรียบง่ายนั้น

         บางเรื่องอาจซ่อนความเป็นมนุษย์ไว้อย่างแนบเนียน บางเรื่องอาจพูดออกมาตรง ๆ บางเรื่องบอกผ่านดวงตาของตัวละคร บางเรื่องซ่อนอยู่ในคำที่ไม่เคยถูกพูด แต่ไม่ว่าจะเล่าผ่านประโยค ภาพ เสียง หรือความเงียบ ทุกเรื่องเล่าล้วนเป็นเงาสะท้อนของมนุษย์ในแบบใดแบบหนึ่งเสมอ

         เราอาจพูดถึงจักรวาลอนาคต พูดถึงเทพเจ้า หรือโลกที่ไม่มีใครรู้จัก แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องเล่านั้นยัง “เชื่อม” กับเราได้ ก็เพราะมันแตะอะไรบางอย่างในใจ แตะความรักที่เคยผิดหวัง แตะความสูญเสียที่เรายังพูดไม่ออก แตะความหวังบางอย่างที่ยังไม่กล้าขอจากโลก

         ในท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนหรือนักทำหนัง ไม่ว่าคุณจะเล่าด้วยเสียงตะโกนหรือเสียงกระซิบ สิ่งเดียวที่เราต้องฟังเสมอระหว่างทางก็คือ ความเป็นมนุษย์ของตัวเองในเรื่องนั้นยังหายใจอยู่หรือไม่

เราสะท้อนตัวเองไว้ตรงไหน ในเรื่องที่เราเล่า

         เมื่อเราเข้าใจว่าไม่มีวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ใดที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ คำถามถัดมาที่พี่แหม่มฝากไว้กลางห้อง คือคำถามเรียบง่ายแต่พาให้ใจสะดุดชั่วขณะ

         “เวลาคุณเขียนหนัง หรือเขียนเรื่อง คุณสะท้อนตัวเองไว้ในนั้นหรือเปล่า”

         ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบในทันที แต่เป็นคำถามที่รอให้เราเงียบพอจะได้ยินเสียงของตัวเอง คำถามที่อาจพาใครบางคนกลับไปยังหน้ากระดาษเก่า หรือบทพูดที่เคยเขียนไว้ เพื่อสำรวจว่ามีความรู้สึกใดซ่อนอยู่ตรงนั้น โดยที่เราอาจไม่เคยรู้ตัว

         เพราะในทุกเรื่องเล่า เศษเสี้ยวของตัวเรามักแทรกซึมอยู่เสมอ อาจมาในรูปของท่าทางที่ไม่กล้าสบตา การตัดสินใจที่เปราะบาง หรือแม้แต่ความเงียบที่ตัวละครแบกไว้ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่ได้มาจากเทคนิค แต่มาจากที่ไหนสักแห่งในใจเราเอง

         พี่แหม่มบอกว่า การสะท้อนตัวเองไม่ได้หมายถึงการเปิดเผยชีวิตส่วนตัวออกมาทั้งหมด แต่มันคือการรับรู้ว่า เรากำลังเล่าจากตรงไหนของหัวใจ จากบาดแผล ความกลัว ความเงียบ หรือความรักที่ยังไม่กล้าพูด และเหนือสิ่งอื่นใด พี่แหม่มย้ำว่า “วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ ไม่จำเป็นต้องให้คำตอบเสมอไป”

         เพราะบางครั้ง การเขียนก็ไม่ได้มีไว้เพื่อไขปริศนา หากมีไว้เพื่อให้เราได้อยู่กับคำถามนั้นให้นานพอที่จะฟังเสียงของตัวเองที่อาจหล่นหายไประหว่างทาง

ความเจ็บตรงไหน เขียนตรงนั้น

         หากการเล่าเรื่องคือการฟังเสียงของตัวเอง คำถามต่อมาที่สำคัญไม่น้อยก็คือ “ตรงไหนที่เจ็บ แล้วเราได้เขียนถึงมันหรือยัง” พี่แหม่มตั้งคำถามนี้ไว้กลางห้อง ไม่ใช่เพื่อให้ใครตอบทันที แต่เพื่อให้เรายอมมองจุดที่ยังเจ็บ จุดที่อาจกลายเป็นรอยแผลถาวร หากเราไม่เคยให้มันได้พูดอะไรออกมาเลย

         การเขียนไม่จำเป็นต้องเริ่มจากโครงสร้างที่สมบูรณ์ แต่อาจเริ่มจากสิ่งที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา บางอย่างที่กัดกินอยู่ลึก ๆ และบางครั้ง ความรู้สึกเหล่านั้นก็ฝังอยู่ในคำตอบที่เราคุ้นชิน เช่น “ประวัติศาสตร์” พี่แหม่มตั้งคำถามไว้ว่า “ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่บอกว่าเราคือใคร แล้วมันคือความจริงของเราหรือเปล่า”

         เราอาจเติบโตมากับเรื่องเล่าที่ถูกย้ำซ้ำมาว่าเป็นสิ่งจริง ทั้งในครอบครัว สังคม หรือแม้แต่ความทรงจำส่วนตัว แต่ในท้ายที่สุด มันอาจไม่ใช่ “ความจริงที่เรารู้สึกอยู่” เลยก็ได้ ความทรงจำในฐานะนักเขียนจึงไม่ใช่เพียงเรื่องจะจริงหรือเท็จ แต่คือการเลือกจำ เลือกเล่า และกลั่นมันออกมาให้ใกล้เคียงที่สุดกับสิ่งที่หัวใจกำลังพยายามพูด

         พี่แหม่มพูดชัดว่า “การเล่าตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังบอกว่าเราคือใคร” การเขียนถึงตัวเองจึงไม่ใช่การสรุปตัวตน แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้บางสิ่งในใจได้หายใจ ได้ปรากฏ ได้ยอมรับว่ามันยังไม่จบ

         และในโลกของเธอ วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องให้คำตอบ ไม่ต้องจบอย่างสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปที่ดีพร้อม บางเรื่องเล่ามีไว้เพื่อทำให้เรารู้ว่าคำถามยังอยู่ตรงนี้ และแค่นั้นก็เพียงพอ

ทุกเรื่องเล่าเริ่มต้นจากแนวคิด

         เมื่อเรากล้ามองความเจ็บ และฟังเสียงของตัวเองอย่างแท้จริง คำถามสำคัญจึงไม่ใช่เพียงว่า “จะเล่าอย่างไร” แต่คือ “เรากำลังเล่าอะไรอยู่”

         พี่แหม่มชวนให้เราถอยห่างจากเทคนิค ภาษาสวย หรือโครงสร้างที่ดูสมบูรณ์ แล้วกลับมาหาต้นกำเนิดของเรื่องเล่า ว่าจริง ๆ แล้ว เราอยากพูดอะไรจากใจ ไม่ใช่จากความเคยชิน

         “ทุกเรื่องเล่าควรเริ่มจาก concept แล้วค่อยหาวิธีการนำเสนอ” พี่แหม่มพูดด้วยเสียงที่สงบนิ่ง แต่ชัดเจนพอจะทำให้ใครหลายคนหยุดนิ่ง และยอมรับว่า วิธีการที่ดีอาจไม่มีความหมายเลย หากเราไม่รู้ว่าเนื้อในของเรื่องคืออะไร

         เพราะบางครั้ง วิธีที่เราคุ้น อาจไม่ใช่หนทางที่จริงกับเรื่องนั้นที่สุด บางเรื่องอาจยังไม่ถึงเวลา บางเรื่องอาจต้องการความเงียบมากกว่าคำพูด และบางเรื่องอาจไม่ต้องการให้ใครเข้าใจทั้งหมด แค่ต้องการให้ได้ถูกฟังอย่างจริงใจ

         เรื่องเล่าที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่เรื่องที่เล่าได้ชัดที่สุด หรือสมบูรณ์ที่สุด แต่อาจเป็นเรื่องที่เรา “รู้แล้วว่าเขียนไปเพื่ออะไร” และกล้ายอมรับว่า มันสมควรถูกเล่า แม้จะยังไม่มีบทสรุปที่เรียบร้อยให้มันเลยก็ตาม เพราะเรื่องเล่าบางเรื่อง ก็มีไว้เพื่ออยู่กับคำถาม และในคำถามนั้นเอง เราก็อาจจะฟังหัวใจของตัวเองได้ชัดขึ้นกว่าเดิม

Writer

ทีฆทัศน์ วงค์สวัสดิ์
ทีฆทัศน์ หรือ แทน เติบโตท่ามกลางถ้อยคำในหนังสือ จังหวะในบทเพลง และภาพซ้อนทับบนจอภาพยนตร์ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เพียงเครื่องมือของความบันเทิง หากแต่เป็นช่องทางที่เขาใช้ฟังความรู้สึก เสียงสะท้อน และความหลากหลายของความเป็นมนุษย์