98/cent Band วงดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กับมุมมองการใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องเต็ม 100

พูดคุยกับนักดนตรีรุ่นใหม่ ผู้ที่ไม่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ มีชีวิตก็ต้องปล่อยใช้ให้สนุก

         “ทุกครั้งที่ขึ้นเวที เราไม่ได้คิดว่า จะแสดงอย่างไรให้มันออกมาสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เราจะทิ้งความกังวลเอาไว้ข้างล่างเวที จะพกแค่ความสนุกขึ้นไป และปลดปล่อยความเป็นตัวเราออกมาให้เต็มที่”

         หลายคนมักจะยึดติดกับคำว่าสมบูรณ์แบบ หาวิธีที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาแบบหาข้อติไม่ได้ โดยอาจลืมไปว่า ชีวิตคนเรามีผิดหรือพลาดบ้างก็ได้ 

         ชวนมาพูดคุยกับสองนักดนตรี เซฟ-ชิษณุพงศ์ ศรีโยธี รุ่นพี่ภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง และ นันท์-จิรวัฒน์ ธิติวัฒนาวงศ์ รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         ทั้งสองคือสมาชิกวง 98/cent แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเพื่อนที่รู้จักหรือสนิทสนมกันมาก่อน การมารวมตัวกันของพวกเขา มาจากความชอบในดนตรีเหมือนกัน และยังมี คติในการใช้ชีวิตคล้ายกัน นั่นก็คือ จะใช้ชีวิตแบบไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้ชีวิตแบบ 98 เปอร์เซ็นต์ พอแล้ว

         เซฟและนันท์ เป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยเซฟเป็นนักร้องนำ และนันท์เป็นมือกีตาร์ของวงดนตรีเลือดใหม่ แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้มีผลงานเพลงออกมาเป็นของตัวเอง แต่พวกเขากำลังจะปล่อยซิงเกิลแรกในเร็ววัน

         98/cent ได้ผ่านเวทีแสดงมามากมายแล้ว ทั้งเวทีในและนอกมหาวิทยาลัย เช่น งาน First Meet BRS, งาน Open House BU ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, งานกาชาด 2565 และยังได้ไปเล่นดนตรีที่สยามสแควร์ แหล่งรวมวัยรุ่นทุกสารทิศ เอกลักษณ์ ที่ทำให้ 98/cent โดดเด่นแทบจะทุกเวทีที่ผ่านมา คือการสร้างบรรยากาศที่สนุกให้กับผู้ชมแบบจัดเต็ม ทำให้คนดูโยกตัวตามไปกับเสียงดนตรีของพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง

เราทั้งสองคนมารวมตัวกันเป็น 98/cent ได้ยังไง

         นันท์: เซฟมีวงดนตรีของตัวเองอยู่ตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว เราสองคนอยู่โรงเรียนเดียวกันแต่คนละห้อง ตอนนั้นมือกีตาร์ของเซฟไม่ว่าง แล้วเรารู้จักกับมือเบสของเซฟพอดี ก็เลยชวนกันไปเล่นแทน พอเล่นแล้วเรารู้สึกว่าเราเข้ากันได้ ก็เลยอยู่ด้วยกันยาวเลย แต่ตอนนั้นก็เล่นกันแบบเอาสนุก ยังไม่ได้จริงจังอะไร

         เซฟ: ตอนนั้นเรายังไม่สนิทกันเลย นันท์เรียนสายวิทย์-คณิต ส่วนเราเรียนสายศิลป์ อยู่คนละห้องแต่ว่าได้มารู้จักกันก็เพราะดนตรีนี่แหละ อีกประเด็นที่ทำให้เราเข้ากันได้ก็คือ เราทั้งสองคนเป็นคนสนุก เป็นคนเฮฮา เป็นคนที่ไม่ได้ยึดมั่นในความสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่เชื่อว่า จะมีใครที่สมบูรณ์แบบ 100% เราเลยอยากจะใช้เวลาในชีวิตให้มันสนุกและเต็มที่

         ตอนที่มารวมกันเป็น 98/cent จริง ๆ คือยุคคาบเกี่ยวระหว่างมัธยมและมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดพอดี ทุกคนว่างเหมือนกันหมดเราก็เลยมีไอเดียว่าอยากจะตั้งวงดนตรีของเราเองแบบจริงจังมากกว่าเดิม

ทำไมถึงตั้งชื่อวง ว่า 98/cent

         นันท์: ตอนแรกที่เราคิดกันว่าอยากทำวงดนตรีแบบจริงจัง เราก็มองหาชื่อวงที่มันเท่ ชื่อวงที่มันมีเอกลักษณ์ ก็ย้อนกลับมาที่สิ่งที่เราทั้งสองคนคิดเหมือนกัน คือความที่เราไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเลข 98% มันก็คือความไม่เต็ม 100%

         เซฟ: มันไม่ได้เท่แค่ในแง่ของความหมาย แต่มันตอบโจทย์กับผู้ใช้งานอย่างเรา เพราะคำว่า 98% นี่คือตัวเราจริงๆ

2% ที่เหลือ เว้นไว้สำหรับอะไร

         นันท์: ถ้าพูดว่าเกือบจะเต็ม 100% แล้ว สิ่งที่คนคิดก็คือ 99% แต่เรารู้สึกว่าธรรมดาไป 99 คือตัวเลขที่ถ้าพูดว่าไม่เต็ม 100 ใครก็นึกถึงตัวเลขนี้อยู่แล้ว และด้วยความที่เราเป็นคนขี้เล่นทั้งคู่ เราก็เลยอยากจะคิดชื่อที่ไม่เต็ม 100% แบบไม่ใช่ 99%

         เซฟ: ก็คือเราอยากจะกวนนั่นแหละ

ดนตรีเข้ามาอยู่ในชีวิตตั้งแต่เมื่อไร 

         นันท์: เราเล่นดนตรีมาตั้งแต่ช่วง ม.2 แต่ก็ไม่ได้เป็นการเล่นที่จริงจังอะไร เราเล่นกีตาร์มาตลอดตั้งแต่ตอนนั้น

         เซฟ: ของเราจะช้ากว่านั้น เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุณพ่อร้องเพลง คุณแม่ชอบฟังเพลงมาตลอด แต่ช่วงที่เราเริ่มมาจับไมค์จริงๆ มันคือประช่วงประมาณ ม.4 มันเป็นเหมือนกับจุดเปลี่ยน เพราะว่าตอนนั้นเรามองหางานอดิเรกที่จับต้องได้ และอยากจริงจังขึ้นมา เลยเริ่มทุกอย่างที่อยากทำตอนม.ปลายหมดเลย ส่วนตอน ม.ต้น เราแค่อยากจะสนุกกับชีวิตในวัยนั้น

ทุกครั้งที่เห็น 98/cent ขึ้นเวทีจะรู้สึกว่ามันสนุกและมีพลังมาก อะไรทำให้เราเล่นดนตรีได้สุดขนาดนั้น

         เซฟ: เราแค่ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมาให้หมด แต่ละวันเรายอมรับว่าเราใช้ชีวิตให้มันสนุกตลอดเวลาไม่ได้ บางอย่างก็ต้องจริงจัง บางทีก็รู้สึกเครียดและกดดัน เราเลยถือคติว่า ถ้าวันหนึ่งที่มันมีเรื่องเครียดมากมายแล้วเราไม่มีพื้นที่ใช้ความสนุกเลย เวทีนี่แหละคือพื้นที่ใช้ความสนุก ถ้าเดือนหนึ่งเรารู้สึกว่าเป็นเดือนที่ไม่ดีเลย ไม่สนุกเลย แต่ถ้าเดือนนั้นมีเวทีสักเวทีหนึ่งให้เราได้ขึ้นไปเล่น มันก็จะเป็นดั่งพื้นที่ปลดปล่อยทุกอย่างออกมา

         นันท์: เรารู้สึกว่าเวลาเราขึ้นเวทีแล้วประหม่า มันมักจะเกิดจากการที่เราซ้อมไม่พอ เราเลยซ้อมให้พอ ให้รู้สึกมั่นใจว่าถ้าเราซ้อมมาดีที่สุดแล้วมันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวหรือกังวลอะไรเลย ขึ้นไปทำให้ดีที่สุดเหมือนกับตอนที่ซ้อมมา ถ้าเราเอาแต่คิดมาก เอาแต่ประหม่ามันไม่เสียดายหรือไงที่ขึ้นไปแล้วทำหน้างอ มันไม่เสียดายหรือไงที่ช่วงเวลาแห่งความสนุกนั้นมันผ่านไปโดยที่เรายังไม่ได้อะไรจากมันเลย

         เซฟ: อีกอย่างคือเราเชื่อในเรื่องของโอกาส มันไม่ใช่ว่าเราจะได้รับโอกาสบ่อย ๆ เมื่อเราได้รับมันมาจากผู้ใหญ่หลายท่าน จากอาจารย์ จากเพื่อน ๆ และจากผู้จัดงานต่าง ๆ เราก็ต้องใช้มันให้เต็มที่ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราทำมันให้ดีในเวทีนี้ แน่นอนว่ามันจะมีเวทีต่อ ๆ ไป เราอยากให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาลงแรงลงทุนกับเราไปเขาจะได้อะไรกลับมา

         ที่สำคัญคือเราต้องจริงใจกับคนดู อย่างงาน First Meet BRS 2022 ที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ชมจะเป็นคนในสาขา และในคณะของตัวเอง แต่เรารู้สึกว่าเราต้องจริงใจกับเขา เขาคือคนที่มาเพื่อความสนุก อยากฟังดนตรีจากเรา หน้าที่ของเราคือร้องและมอบความสนุกแก่พวกเขา

ถ้าเคยได้ยินที่เขาบอกว่า “ดนตรี คือ safe zone” หรือ “ดนตรี คือ สถานที่หลบภัย” คำถามคือว่า ดนตรีคืออะไรสำหรับเราทั้งสองคน

         เซฟ: เรามองว่ามันเป็น สสารที่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเป็นอะไรก็ได้ หมายถึงว่า ถ้ามันอยู่กับอากาศมันก็เป็นอากาศ ถ้ามันอยู่กับน้ำก็เป็นน้ำ หรืออยู่กับไฟก็เป็นไฟ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพามันไปอยู่กับอะไร เพราะเราเชื่อว่าเพลงและดนตรี มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเราอีกทีหนึ่ง มันเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ว่าเราจะนำพามันไปอยู่ตรงไหนในความคิด เช่น ถ้าเราฟังเพลงรักแต่เราอกหัก เราก็อาจมองเพลงนั้นว่ามันเป็นเพลงเศร้า มันขึ้นอยู่กับเราว่าเราอยากจะแปลสสารนั้นเป็นอะไร หรือบางทีมันก็เป็นเหมือนกับ กระจกเงา เพราะคนบางคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่ แต่ดนตรีทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะมันสะท้อนความรู้สึกของตัวเองในเวลานั้นออกมาได้

         นันท์: เราว่ามันคือ ความสุนทรีอย่างหนึ่งในชีวิต เริ่มแรกแน่นอนว่าคนฟังเพลงก็ต้องฟังเพื่อความบันเทิง ความสนุก ความเศร้า แต่มันเป็นสิ่งที่เราใช้เรียนรู้ เรามีความสุขเมื่อได้ฟังมัน และยิ่งสนุกเมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับมันมากขึ้น และยิ่งรู้ลึกเกี่ยวกับดนตรีเท่าไหร่มันยิ่งสนุก ยิ่งไม่น่าเบื่อ มันคือความสุนทรี

         เซฟ: ดนตรีมันโตไปกับเราด้วย เช่น เราฟังเพลงนี้ตอนอายุ 10 ขวบมันก็จะเป็นความรู้สึกหนึ่ง พอเราฟังตอนอายุ 15 ก็เป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง พอเราฟังตอนที่เราอายุ 20 มันก็จะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วปลายทางคือมันอยู่กับเราไปได้เรื่อย ๆ มันทำให้เราเห็นโลกใบนี้กว้างขึ้นและเข้าใจโลกมากขึ้น

ในเมื่อเปิดกว้างให้กับความไม่สมบูรณ์ แล้วอะไรคือ ข้อผิดพลาด ที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุด

         เซฟ: ตอนเด็ก ๆ เรายังไม่ได้มีทฤษฎีเกี่ยวกับการร้องเพลงมาก เราแค่รู้สึกว่าเราอยากร้องแบบไหนก็ร้อง มันก็อาจจะไม่เพราะ อาจจะผิดคีย์บ้าง พอมองย้อนกลับไปก็รู้สึกเขินนะ แต่พอคิดดูจริง ๆ มันคือข้อผิดพลาดที่ทำให้เราได้รู้ตัวเองว่าอย่าร้องแบบนี้นะ อย่าทำแบบนี้ มันเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้เราเติบโตขึ้นในด้านของการร้องเพลง

         นันท์: ในช่วงแรก เรารู้สึกว่าเราเป็นนักดนตรีที่ขี้เกียจซ้อม ถ้าเทียบกับนักดนตรีคนอื่นที่เขาซ้อมกัน เขาใช้เวลาในการซ้อมเป็น 10 ชั่วโมง แต่เราคือแป๊บเดียว แล้วก็ไม่มีแบบแผนอะไรเท่าไหร่ แต่ช่วงหลังก็ซ้อมให้มันเยอะขึ้น อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่อย่างน้อยก็ได้พัฒนา พอมองกลับไปแล้วรู้สึกว่าถ้าตอนนั้นเราขยันซ้อมนะ ตอนนี้เราก็น่าจะไปไกลได้มากกว่านี้ แต่มันก็เป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้เรารู้ว่าควรจะปรับปรุงตัวเองยังไง

มีวิธี Move on จากข้อผิดพลาดอย่างไร

         เซฟ: เราว่าสิ่งแรกที่เราต้องทำเมื่อเกิดข้อผิดพลาดคือยอมรับให้ได้ก่อน ไม่ว่ายังไงก็ตามเวลาเล่นดนตรีแล้วมีเสียงตอบรับไม่ดี คือเรายอมรับก่อน แล้วก็คิดต่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง เราทำผิดพลาดอย่างที่เขาว่าจริงไหม มันก็อาจจะมีเศษซากความรู้สึกบ้างที่รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย แต่สุดท้ายวิธีการของเราคือยอมรับให้ได้แล้วมันจะง่ายขึ้นมาก ถ้าเราไม่ยอมรับมันก็จะยิ่งคิดและเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ แต่พอยอมรับแล้วก็ต้องให้อภัยตัวเองด้วยนะ เก็บจุดผิดพลาดมาพัฒนาต่อ อย่ากลัวความผิดพลาด

         นันท์: เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องใช้วุฒิภาวะประมาณหนึ่ง ถ้าเป็นตอนเด็กเราก็คงโทษตัวเองหรือโทษคนอื่นไปแล้ว เราจะไม่ได้มองว่าเราผิดพลาดตรงไหน แต่พอเราโตขึ้น เราก็ยอมรับและถามตัวเองว่าเราจะแก้ไขมันยังไงได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องที่เกินกว่าจะแก้ไขได้ ก็แค่ปล่อยมันไป และรู้ว่าอะไรไม่ดีก็อย่าทำมันอีก

         เซฟ: ในแต่ละวันมันก็ต้องเกิดข้อผิดพลาดใหม่ขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ว่าเกิดขึ้นแล้วยังไงล่ะ เป็นข้อผิดพลาดที่เคยเกิดมาก่อนหรือเปล่า หรือเป็นข้อผิดพลาดที่เรายังไม่เคยเจอ ถ้าเรายังไม่เคยเจอก็ถือว่าได้เจอบทเรียนใหม่ แต่ถ้ามันเคยเกิดขึ้นแล้วก็ถามตัวเองว่าทำไมเราถึงปล่อยให้มันเกิดขึ้นอีกและนำไปปรับปรุงตัวเองต่อไป

เป้าหมายที่เรามองไว้ในตอนนี้คืออะไร

         นันท์: ถ้าเป็นเป้าหมายที่มองไว้ในตอนนี้นะ คืออยากได้สักเพลงหนึ่งก่อน

         เซฟ: ตอนนี้เราว่าในมหาวิทยาลัยมีคนรู้จักเราเยอะขึ้นแล้ว เริ่มมีคนเดินมาทักที่โรงอาหาร มีรุ่นน้องเดินมาทักทาย เราเริ่มได้โอกาสจากคนในมหาวิทยาลัย แต่สำหรับคนนอกมหาวิทยาลัย เขายังไม่รู้จักเราเลย เราพูดเล่น ๆ กับนันท์มาตลอดว่าวงเรามีทุกอย่าง มี Passion มีศักยภาพ แต่เราไม่มีอย่างเดียว คือผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในนามของวงเรา

         นันท์: ถึงเราจะเริ่มมีงาน เริ่มมีเวที แต่ว่าเราก็ยังไม่มีเพลงของเรา อันนี้คือเป้าหมายแรก เราอยากมีผลงานที่ทุกคนจับต้องได้ อยากให้ทุกคนจำเราได้จากเพลงของเรา ไม่ใช่จำเราได้จากการโคฟเวอร์ ถึงแม้เราจะสอดแทรกความเป็นตัวเราเข้าไปในเพลงทุกเพลงที่ร้องทำให้มันมีกลิ่นอายของความเป็นตัวเรา แต่สุดท้ายมันก็ยังไม่ใช่เพลงของเรา

         เซฟ: อีกอย่างคือเรื่อง Achievement เหมือนเราเก็บ Achievement ไปเรื่อย ๆ สะสมเวทีไปเรื่อย ๆ เช่น เราเคยมีภาพจำว่าสยามมันคือสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมวัยรุ่น เป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่ แล้วการที่วงดนตรีวงหนึ่งอย่างเราได้ไปเล่นในสถานที่นั้นมันทำให้เรารู้สึกเหมือนเราเก็บ Achievement ไปได้อีกหนึ่งอย่าง เราได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้นตอน ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คือการที่เราได้พกเพลงของตัวเองไปเล่นจริง ๆ ทำให้คนนอกมหาวิทยาลัยได้รู้จักเรา ให้เราได้เข้าไปสร้างการจดจำให้เขา

ถ้าเราสามารถบอกตัวเองในอนาคตอีกสามปีข้างหน้าและตัวเราอีกสามปีในอดีตได้ จะบอกว่าอะไร

         เซฟ: อยากจะบอกตัวเองในอนาคตว่าให้ใส่ใจรายละเอียดในดนตรีให้มากขึ้น บางทีเวลาเราแต่งเพลงก็เขียนออกบ้าง ไม่ออกบ้าง บางทีก็เชื่อในสิ่งที่เขียน แต่บางทีก็ไม่ เราเลยอยากจะฝึกความนิ่งตรงนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากบอกก็คืออยากให้พัฒนาเรื่องความสม่ำเสมอในการทำเพลง

         แต่ถ้าให้บอกตัวเองในอดีตก็จะบอกว่า บริหารเวลาให้ดี เรารู้สึกดีนะที่เราใช้ชีวิตสนุก แต่บางทีมันก็สนุกเกินไปจนเสียดายกับบางส่วนในอดีต เรารู้สึกว่ามันต้องได้อย่างเสียอย่างแหละ แต่บางทีสิ่งที่ได้มันไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป

         นันท์: อยากจะบอกตัวเองในอนาคตว่า ตอนนั้นน่าจะเหนื่อยแหละ แต่อย่าลืมพักผ่อน ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อยากให้เราคิดอะไรให้น้อยลงมันเสียพลังงานเยอะไปกับการคิดมากเกินไป

         เซฟ: ถ้าใครผ่านมาเห็นนันท์ลง stories ตอนดึก ๆ ก็อย่าลืมทักไปบอกด้วยว่านอนบ้างนะ เพราะนันท์เป็นคนที่ทำงานหนักมาก

         นันท์: แต่ถ้าต้องบอกตัวเองในอดีตก็คงไม่อยากบอกเท่าไหร่ อยากปล่อยให้เรียนรู้เองจากข้อผิดพลาดมากกว่า

อยากฝากบอกอะไรกับคนที่อยากตั้งวงดนตรีเหมือนเราบ้าง

         เซฟ: อยากจะบอกว่าเวลาเราอยากทำอะไรขึ้นมา นอกจากความจริงจังแล้วลองปล่อยให้ความสนุกเป็นตัวนำ และที่สำคัญคืออย่าโกหกตัวเอง แต่ละคนมีจุดเริ่มต้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะอยากเล่นดนตรีเพราะว่าครอบครัวอยากให้เล่น บางคนอาจจะอยากเล่นดนตรีเพราะเล่นแล้วมันดึงดูดสาว ๆ ได้ บางคนเล่นเพราะมันดูจับต้องง่าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อยากจะบอกว่าให้จริงใจกับตัวเอง อยากทำก็แค่ทำ ถ้าใครได้เห็นข้อความนี้แล้ว เราอยากจะบอกว่าข้อผิดพลาดที่ผ่านมาของเราคือเราอยากทำแต่เราไม่ได้ทำ มันก็เลยยังอยู่ได้แค่ตรงนี้ เพราะเราเชื่อว่าศักยภาพที่พวกเรามี ถ้าเราทำสุดความสามารถแล้วเราไปไกลได้มากกว่านี้แน่ แต่เราแค่ยังทำมันไม่สุดพอก็เลยอยากจะบอกว่าลองใช้ความสนุกนำ แล้วถ้าเหนื่อยก็แค่ลดลงแต่อย่าหยุด และดนตรีมันเป็นของทุกคน ไม่ใช่เอาแต่คิดมากว่าจะทำดีไหม

         นันท์: ก็เหมือนกับที่เซฟบอกเลย ดนตรีมันคือมันคือเรื่องของความสนุก และถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่เชื่อ ถ้าเราไม่มีความสุขกับมัน มันจะกลายเป็นเรื่องที่ยาก อาชีพหลายอาชีพ การที่เราทนทำงานไปแม้ว่าเราจะไม่มีความสุขแต่เราใช้ความอดทนมันก็ยังไปต่อได้ แต่สุดท้ายมันก็ขาดความสุขอยู่ดี และดนตรีมันเป็นเรื่องของศิลปะ มันต้องมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการจะทำมันให้ดีเราจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อในสิ่งที่ทำ เชื่อในสิ่งที่เล่นอยู่ เชื่อในสิ่งที่แต่งออกมา และทุกวันนี้แรงบันดาลใจของเรามันไม่ได้อยู่ไกลนะ บางทีมันก็อยู่ใกล้มาก ๆ มันอาจจะเป็นเพื่อน ๆ อาจจะเป็นใครสักคนที่เป็นแรงผลักดันให้กับเรา

         98/cent เป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ได้มีเพลงของตัวเอง ทว่าสมาชิกทั้งสองคนกำลังตั้งใจทำเพลงแรกให้ออกมาดีที่สุด และเชื่อว่าเอกลักษณ์และความตั้งใจของวงดนตรีวงนี้ จะเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนทุกคน และ 98/cent ยังคอยอัปเดทผลงานเพลงโคฟเวอร์ และข่าวสารเกี่ยวกับวงลงใน Youtube และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลากหลายภายใต้ชื่อ 98percent Band เตรียมพบกับความไม่สมบูรณ์ที่สมบูรณ์แบบที่กำลังเดินทางและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขอส่งกำลังใจให้พวกเขาก้าวเดินต่อไปในเส้นทางสายดนตรีอันงดงาม

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ เซฟ-ชิษณุพงศ์ ศรีโยธี รุ่นพี่ภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง และนันท์-จิรวัฒน์ ธิติวัฒนาวงศ์ รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Photographer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ