การค้นพบว่าตนเองชอบอะไร อย่างน้อยเราต้องได้ทดลองทำสิ่งนั้น โดยเฉพาะงานในอุตสาหกรรมบันเทิงที่นอกจากจะเรียนรู้ทฤษฎีแล้ว ต้องลงมือทำด้วย ชวนมาพูดคุยกับ พี่แบม-พลอยทิพย์ คนยืน รุ่นพี่คนเก่ง นักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับโอกาสที่ได้รับในการทำภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ แถมด้วยประสบการณ์หลากหลายในสายงานบันเทิงที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา
พี่แบมได้เข้าร่วมโครงการสร้างหนังสั้นของ VIU Thailand VIU (วิว) คือผู้ให้บริการด้านความบันเทิง รวมซีรีส์ รายการทีวี รายการวาไรตี้ และรายการเพลง อย่างถูกต้องตามกฎหมายไว้ภายในแอพเดียว
การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง VIU x DiMC x BUDC คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานของพี่แบม ตำแหน่ง Producer เป็นหนึ่งใน 4 ทีมที่รับคัดเลือกจากผู้เข้าร่วมประกวดส่งผลงานทั้งหมด 84 เรื่อง และทีมของพี่แบมก็เป็นหนึ่งทีมได้ทำหนังสั้นลงใน Streaming VIU ในชื่อผลงานว่า The Uncle เฮ้ย! ลุง นี่ร่างผม กำกับโดย ปั้น-พงศ์ปณต ชายกุล และโปรดิวเซอร์โดย แบม-พลอยทิพย์ คนยืน เรามาทำความรู้จักกับพี่แบมให้มากขึ้นกันเลย
รู้ตัวว่าชอบงานด้านภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเรียนมัธยม
เริ่มจากการที่เราเป็นเด็กกิจกรรม มักจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำงาน ช่วงหนึ่งที่โรงเรียนมัธยม มีละครเวที แล้วได้ไปเป็นผู้กำกับ ก็เลย เฮ้ย !!!…นี่มันใช่ทางเราหรือเปล่า บทบาทนี้คือเราเป็นคนคุมเพื่อนได้ ก็เลยรู้สึกว่าน่าลอง นี่จึงเป็นเส้นทางของพี่แบมที่ทำให้เลือกเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เรียนรู้อยู่เสมอและปรึกษาอาจารย์
เราเป็นคนที่เข้าหาและปรึกษาอาจารย์เยอะมาก เวลามีปัญหา อาจารย์ก็ดูแลตลอด เราเคยโทรไปปรึกษาอาจารย์หมูดึกที่สุดคือประมาณ 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืนก็มี อาจารย์เขาก็รับสายนะ แล้วเขาก็แนะมาว่า ต้องแก้งานแบบนี้ อาจารย์ใจเย็นมาก อาจารย์ก็คอยให้คำปรึกษาตลอด ก็ขอบคุณจริง ๆ ที่ดูแลกันมาตั้งแต่ปีหนึ่ง
เรื่องการเรียนสำหรับเรามันก็ยาก แต่ถ้าเรามั่นใจ และตั้งใจก็อยู่ในระดับที่พยายามได้ ไม่ยากมาก ถ้าพูดถึงพาร์ทการทำงานในคณะ รู้สึกว่ามีให้ทดลองหลายอย่าง คือเราได้ทำทั้งหนังสั้นกับเพื่อน ได้ลองคิดบท ในอนาคตก็จะมีการเขียนบทที่แบบจริงจัง เราต้องชอบในสิ่งที่เรียนก่อน
จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ลงมือทำจริง
ในพาร์ทของการเรียนเหมือนเป็นทฤษฎีเบื้องต้น บางอย่างอาจจะหาไม่ได้ในคลาส เพราะว่า ปัญหาเฉพาะหน้ากอง ไม่ได้บอกในห้องเรียน เราต้องไปเจอเอง ถ้าออกกองก็ต้องไปเจออะไรที่ท้าทายกว่าเดิม อาจเป็นสิ่งใหม่ให้เราต้องรับมือ ซึ่งแตกต่างกัน สำหรับพี่คือเป็นสิ่งที่ดีทั้งสองอย่าง บางอย่างเราอาจต้องหาจากข้างนอก แต่บางอย่างก็เจอได้จากการเรียนในห้องเรียน
เรียนรู้จากการดูหนังเยอะมาก
ประเภทของหนังหรือ Genre ที่ชอบส่วนใหญ่ จะเป็น Comedy ก็จะเป็น Drama หนังที่ยังจดจำได้ เช่น Greenbook Argo แล้วก็หนังของ Marvel ดูเพลิน ถ้าสมมติเราเรียนกำกับแต่เราไม่ชอบดูหนังมันก็อาจจะไม่ถูกทาง เราต้องดู 20 เรื่อง ภายในหนึ่งเดือน บางคนก็อาจจะไม่โอเค แต่ถ้าเราชอบ เราก็สามารถทำไปเรื่อยได้เลย
โครงการ VIU x DiMC x BUDC คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
โครงการ VIU x DiMC x BUDC คือความร่วมมือของ VIU กับ BUDC คือคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในชื่อว่า Viu Shorts เป็นโครงการที่ให้นักศึกษาส่งเรื่องสั้น เป็นเรื่องย่อ 3 บรรทัด ให้กับทาง VIU อ่าน แล้วก็คัดเลือกมา ทั้งหมดมี 83 เรื่อง จะถูกคัดออกมาเหลือแค่ 4 เรื่อง ที่จะได้งบไปทำเป็นหนังสั้น ความยาว 10 นาที
การเข้าร่วมโครงการจะให้ทำตั้งแต่เริ่มต้น คือ ช่วง Pre, Pro, Post-production และรวมถึงทำเรื่องการตลาดด้วย ก็รู้สึกว่าท้าทายดี เพื่อนไปเห็นโครงการแล้วก็มาชวน เพราะเพื่อนที่มาชวน เขาเป็นคนเขียนบทแล้วเขาอยากได้คนคอมเมนต์งาน เราก็เลยลองดู จากนั้นพวกเราก็ส่งบทไป งานนี้ต้องยอมรับว่า ทีมเขียนบทเราเก่งมาก ก็ช่วยกัน พัฒนาบทไปเรื่อย จนออกมาตรงกับที่ Viu ชอบ
อุปสรรคคือโอกาสคือในการเรียนรู้
อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด คือการทำงานกับคนต่างวัย และคนที่ไม่รู้จัก ตอนเริ่มโครงการเราอยู่ปี 2 แล้วก็จะมีน้องปี 1 มาร่วมด้วย และมาจากต่างคณะ เช่น Digital Media กับ Film มาเจอกัน ก็ต้องปรับจูนเข้าหากันหนักมาก ใช้เวลา 2-3 เดือน กว่าจะมาเป็นทีมที่ดีได้ ค่อนข้างที่จะยากนิดนึง เพราะว่าต่างคนก็จะมีความคิดของตัวเอง เราต้องมาปรับ ช่วยกัน ยิ่งคนเยอะ แต่ละคนก็อยากปล่อยของ ก็ต้องผ่านการคุยกันก่อน ซึ่งตรงนี้ยากมาก แต่ตอนนี้โอเคแล้ว ปรับกันได้แล้ว เป็นทีมเวิร์คที่ดี
เวทีนี้มีคู่แข่งเยอะพอสมควร ถ้ารวมทีมพี่ด้วย ก็จะมีทั้งหมด 4 ทีม ที่ต้องแข่งกัน แต่ถ้านับตั้งแต่ตอนเริ่มเขียนบท จะมีประมาณ 83 เรื่อง ก็เยอะเหมือนกัน กว่าจะผ่านตรงนั้นมาได้
โอกาสที่ได้รับจาก VIU
อาจเพราะบทที่ค่อนข้างต่างจาก 3 เรื่อง คือ มีความ Comedy นำเรื่องของความรัก แต่ของทีมอื่นจะเป็นเรื่องของความรักเป็นหลักเลย นอกจากนี้ บทของเรายังมีตัวละครที่ต้องเข้ามาอยู่ในร่างเดียวกัน ปรับจูนเข้าด้วยกัน มีความเป็นครอบครัว มิตรภาพในเนื้อเรื่องเลยคิดว่านี่แหละคือจุดขาย
ตอนที่รู้ว่าได้รับเลือก ก็ยังงง เราได้จริงเหรอ เพราะว่าตอนที่คิดบท คิดแบบตั้งใจนะ แต่ไม่ได้คิดว่าจะผ่านเข้ารอบ งานนี้ก็มีความกดดัน เพราะว่าเป็นการทำงานใหญ่ บน Platform ที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งพวกเราอยู่แค่ปี 2 ปี 3 กันเท่านั้นเอง เราก็ต้องช่วยกันศึกษาและเรียนรู้กันไป สิ่งที่ทำได้ คือช่วยกัน พยายามให้มันออกมาดีที่สุด เพราะว่าทุกคนตั้งใจทำงานมาก
ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น
อย่างแรกเลยคือได้รู้จักการจัดการกับการทำงานที่มีคนเยอะมาก บทบาท Producer มีสิ่งที่ต้องควบคุมหลายอย่างมาก แล้วพอได้มาเป็นคนทำเอง เราก็รู้เลยว่าบทบาทหน้าที่นั้นเยอะจริง ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะเยอะขนาดนี้
ก่อนหน้านี้เป็นเพียงเด็กฝึกงาน ซึ่งมีหัวหน้าคอยจัดการตรงนี้ แต่พอเราได้มาทำเอง ต้องรอบคอบมาก คิดตลอด มีแผนสำรองไว้เยอะมาก เพื่อว่าตอนเกิดปัญหา เราจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ต้องนั่งจดรายการข้อผิดพลาด หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นเพื่อคิดว่าจะแก้ยังไง
มีความยากและท้าทายมาก รู้สึกว่า ตัวเราเองนิ่งขึ้น จากการทำงานนี้ มีการวางแผนมากขึ้น รู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่น และแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ในทีมเราก็ได้เติบโตไปด้วยกัน รุ่นน้องก็ค่อย ๆ เติบโตไปด้วยกัน แต่ละคนก็จะได้วิธีการจัดการ และรูปแบบการทำงานของตัวเองกลับมา เรามองว่างานนี้เป็นเหมือนใบเบิกทางสำหรับหลายคน อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใหญ่ที่สุดแล้ว
ในการที่จะเข้าไปทำงานในสายงานนี้ นี่คือ Port ชิ้นใหญ่ ทำให้เราได้ไปเจอกับผู้ใหญ่หลายคน คนที่ทำงานจริงทั้งหมดนี้ คือ Connection ที่ได้กลับมา ในอนาคตถ้าเรามี Connection เยอะในสายงานนี้ก็จะไปได้ไกล
ฝากผลงานกันหน่อย
พี่แบมทิ้งท้ายว่า ก็ขอฝากผลงานที่ทำกับ VIU เรื่อง The Uncle เฮ้ย! ลุง นี่ร่างผม คือผลงานที่เราเพิ่งพูดถึงไป และที่กำลังจะฉายของ WeTV เรื่อง Bangkok Fable เป็นซีรีส์แนวสยองขวัญ มีพี่พีช-พชร ร่วมแสดงด้วย ก็สนุกมาก ทำงานกองถ่ายสนุกจริง ๆ
อนาคตก็จะมีภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธุ์ 3 ยังไงก็ฝากด้วยนะคะ แล้วก็จะมีทำเกี่ยวกับ MV บ้าง มี MV ที่กำลังจะปล่อย ของ MAMA Dragon ชื่อเพลงว่า จนกว่าเราจะตายจากกัน เริ่มออนแอร์ ประมาณสิ้นเดือนมีนาคม 65 และก็มีเพลงจาก RoV x NOT’TOY ชื่อเพลงว่า เหม็นความรัก และในอนาคตก็จะมีเพลงชื่อว่า แม่ตาพ่อยาย ของพี่ NOT’TOY
พูดคุยมาถึงตรงนี้ เรียกได้ว่าพี่แบม เป็นคนรุ่นใหม่ที่คุณภาพคับแก้ว มีผลงานอีกมากมายที่ให้รุ่นน้องได้ติดตามกัน สิ่งสำคัญที่เราได้จากพี่แบมคือการเรียนรู้อยู่เสมอ พัฒนาตนเอง ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด แค่ได้ลงมือทำโอกาสที่จะก้าวเดินไปบนเส้นทางสายงานภาพยนตร์ก็จะตามมาอีกมากมาย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่แบม-พลอยทิพย์ คนยืน รุ่นพี่สาขาวิชาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ