“เลือกจากความชอบแล้วไม่ต้องรู้สึกว่าเสียดายเวลา ถ้าเลือกไปแล้วรู้สึกผิดจะรู้สึกเสียดายเวลามากกว่า”
เมนิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้เวลาในแต่ละวันต้องคุ้มค่ามากที่สุด เพราะ “เมนิว” เลือกที่จะเดินตามหาความฝันของตัวเอง ตั้งแต่อายุ 15
เมนิว จึงได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เร็วกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน เพื่อตามหา “คำตอบ” ให้กับ “คำถาม” ในใจของตัวเองว่า ทางเดินไหนที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จตามที่วางแผนไว้ได้เร็วที่สุด ??
ในวัย 15 ปี กับการตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยม ในวัย 16 ปี เธอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างไร เรามีโอกาสนั่งสนทนากับเด็กสาวคนนี้ “เมนิว”
เมื่อมีฝันก็ต้องลงมือทำ
ทำไมเมนิวตอนอายุ 15 ถึงตัดสินใจว่าจะต้องลาออกแล้วมาทำอะไรสักอย่าง ?
“ตอนเข้าเรียน ม.4 ได้ 2 อาทิตย์ เรารู้สึกว่า มันเหนื่อยนะ ที่ต้องตื่นไปเรียนตั้งแต่เช้า แล้วก็ต้องกลับมานั่งทำการบ้านต่อ อีกอย่างบางวิชาเรียนที่ต้องเรียน 3 ปี เราว่ามันคงจะไม่ใช้จริง”
แต่มีคนชอบบอกว่า เวลาตอนมัธยมน่าเก็บเกี่ยวที่สุดแล้ว ?
“อันนี้ก็จริงนะคะ 3 ปี คงจะเป็น 3 ปี แห่งความสนุกสนานของ ม.ปลาย เลยแหละ แต่เรามี passion มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่า เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนะ” คงเพราะหาตัวเองเจอเร็ว แล้วรู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองต้องการอะไร ประเด็นอื่นจึงกลายเป็นเรื่องรองสำหรับการตัดสินใจของเมนิวทันที
ก้าวแรกของถนนสายความฝัน
เมื่อรู้ว่าตนเองต้องการอะไร เมนิว จึงเรียนรู้และเรียนลัดด้วยตนเอง “เราเริ่มตามหาว่า อะไรบ้างที่จะพาเราไปถึงความสำเร็จได้เร็วที่สุด จนมาเจอกับการสอบ GED Test ที่ใช้เพื่อสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจไปคุยกับพ่อว่า เราจะลาออกนะ เราวางแผนว่า เราจะเดินแบบไหน เล่ารายละเอียดให้เขาฟังทุกอย่าง จนโอเค เข้าใจ และมองเห็นตรงกัน จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่”
เมื่อลาออกมาแล้วระหว่างรอไปสอบ ช่วงนั้นทำอะไรบ้าง ?
“ตัดสินใจลงมาที่กรุงเทพฯ เพื่อหางานสัมมนาฟรี ที่สามารถเข้าร่วมฟังได้ เข้าร่วมฟังไปเรื่อย ๆ ระหว่างนี้ก็เตรียมตัวสอบไปด้วย”
ในวันที่เธอตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ของถนนสายความฝันของ “เมนิว”
ประตูสู่ความฝัน คือ รั้วมหาวิทยาลัย
ได้พักจากการเรียนหันหน้าเข้าหางานสัมมนาในหัวข้อที่ชื่นชอบได้ไม่นาน เมนิวก็ต้องเตรียมตัวสอบ เพื่อยื่นเข้าเรียนในคณะที่คาดหวัง
“ตอนนั้นเรารู้จักกับ GED Test จากสหรัฐอเมริกา เป็นเหมือนการสอบแบบการเรียนนอกระบบ การสอบต้องผ่านทั้งหมด 4 วิชา เมื่อผ่านแล้วจะได้รับใบประกาศที่เรียกว่า ‘Diploma’ เป็นใบรับรองวุฒิการศึกษาสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่สามารถใช้ยื่นศึกษาต่อได้ทั้งมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศ ที่อาจจะกำหนดระดับคะแนนที่รับแตกต่างกันไป”
ซึ่งคณะที่ “เมนิว” ตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อ แน่นอนว่าต้องเป็นคณะที่ตอบโจทย์ในเส้นทางสายธุรกิจของเธอ “เลือกคณะนี้ (คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ หรือ BUSEM) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะมีที่เดียวในประเทศไทย”
เมนิว เห็นชื่อคณะแล้วรู้สึกว่าใช่เลย ตัวเราแน่นอน “เพราะมีเป้าหมายที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้วด้วย และเมื่อได้เข้ามาศึกษาหลักสูตรนี้ ทำให้รู้ว่า ถ้าเรียนคณะนี้แล้ว จะได้มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 3 ไม่ต้องรอเรียนจบ”
BUSEM เรียนรู้เพื่อเริ่มทำธุรกิจ
เมนิว เล่าให้เราฟังว่า คณะนี้เรียนรู้อะไร อย่างเป็นขั้นเป็นตอน “ช่วงปี 1 ก็จะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานการเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมด รวมถึงเรื่องของ Mindset ของเจ้าของธุรกิจด้วย ปี 2 เราจะต้องเริ่มทำแผนการธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า Business Plan พอขึ้นปี 3 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ซึ่งจะทำคนเดียว หรือทำกับกลุ่มเพื่อนก็ได้”
การทำธุรกิจเป็นความท้าทายอย่างมาก ? “ธุรกิจที่จะสร้าง สามารถสร้าง Brand ของตัวเองขึ้นมาใหม่ เช่น ร้านอาหาร ร้านขนม Platform ต่าง ๆ หรือจะนำธุรกิจของตนเอง ของครอบครัวมาต่อยอดก็ได้”
คณะค่อนข้างสนับสนุนให้ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่เรียนตามหลักสูตร
นอกจากนี้ ยังมีทุนสนับสนุนบางส่วนจากคณะที่ศึกษา “คณะจะให้งบในการลงทุนธุรกิจมาจำนวนหนึ่ง ส่วนปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย เราก็จะมาปรับแก้แผนธุรกิจที่ทำไปกันว่า หลังจากที่เราปล่อยสินค้าสู่ตลาดแล้ว จะเป็นอย่างไร ต้องปรับแก้ตรงไหน แล้วเมื่อเรียนจบสามารถนำแผนธุรกิจที่ทำมาไปต่อยอดได้เลย”
การปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัย
เพราะเด็กกว่าเพื่อน ๆ ร่วมคลาสคนอื่น “เมนิว” เองก็กลัวโดนมองว่าเป็นเด็ก “จริง ๆ แล้วเลือกที่จะยังไม่บอกเพื่อน เพราะไม่อยากให้มองว่า เป็นน้อง แต่ส่วนตัวเป็นคนที่ Friendly ชอบเข้าสังคม และเป็นคนทำงานอยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นปัญหาเลยที่ต้องเรียนกับเพื่อนที่อายุมากกว่า เพราะที่จริงแล้วก็ห่างกันแค่ 2-3 ปี อย่างเวลาไปสัมมนา ก็จะเจอรุ่นพี่ อายุ 30-35 ปี เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมชั้นปี บางคนเขามีอายุ 25-27 ปี ที่เขา เพราะรีไทร์มาจากมหาวิทยาลัยอื่น หรือกลับมาจากต่างประเทศก็มี จริง ๆ อายุคละกันอยู่แล้ว ไม่ได้มีแค่ 17-20 ปี ส่วนเรื่องการเข้าหา ก็คุยปกติเลย ก็มีถามประสบการณ์บ้าง แลกเปลี่ยนกันบ้าง ใช้ชีวิตปกติเลย แต่ถ้าคุยในมุมธุรกิจ เราต้องศึกษาและมีข้อมูลมาในระดับนึงที่จะสามารถคุยกับเขาได้”
การเรียนรู้กับเพื่อนที่หลากหลาย ต่างวัย มาจากต่างที่กัน ทำให้เราได้ประสบการณ์มากกว่าการเรียนในตำราเพียงอย่างเดียว
ข้อเสียเพียงข้อเดียว
เพราะเป็นการตัดสินใจที่จะเดินตามความฝันแล้ว เมนิว มองเห็นข้อเสียของการเข้าเรียนเร็วมหาวิทยาลัยเร็วเพียงแค่ข้อเดียวเท่านั้น คือ “เราไม่ได้มีชีวิตมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ได้นั่งคุยนั่งเล่นกับเพื่อน ๆ” นี่คือสิ่งที่ขาดหายไป
แต่ “เมนิว” บอกว่า “ไม่เป็นไร เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว มันคุ้มมาก ๆ แล้วเรายังได้รับโอกาสต่าง ๆ ทั้งการได้เข้าสัมมนา การได้มานั่งสัมภาษณ์ แล้วที่เราเริ่มตอนอายุยังน้อย หมายความว่าเรา ยังมีเวลาลองผิดลองถูกมากกว่าคนอื่น เพิ่มมาอีก 2-3 ปี”
วางแผนเรื่องธุรกิจ
เมื่อเราถามถึงแผนในอนาคต “เมนิว” มีแววตาตื่นเต้น และตอบอย่างมั่นใจในเป้าหมายของตัวเองว่า
“อยากเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และสืบทอดธุรกิจ Furniture แนว Loft ที่เป็นสินค้า Masterpiece ของครอบครัว และในอนาคตอยากจะปั้น Brand ของครอบครัวขึ้นมา เป็นอสังหาริมทรัพย์ชิ้นหนึ่ง” ที่สำคัญเมนิวยังบอกอีกว่า ตนอยากเกษียณก่อนอายุ 30 ปี เพื่อที่จะได้มีเวลาใช้ชีวิตหลังจากนั้น
“อีกเป้าหมายหนึ่ง นอกจากการเป็นนักลงทุนแล้ว อยากที่จะไปเที่ยวรอบโลก อยากที่จะไปใช้ชีวิตทั้งในรูปแบบของ Local และ High – Class เพราะชอบการท่องเที่ยวมาก และอยากที่จะลองดูว่าจริง ๆ แล้ว ชีวิตหนึ่งเราเกิดมานั้น เกิดมาเพื่ออะไรกันแน่” และการเดินทางมองเห็นโลกกว้างอาจจะทำให้เราได้เรียนรู้และค้นพบคำตอบนั้น
จังหวะชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน
เส้นทางชีวิตที่เราเลือก จังหวะของชีวิตที่ช้าหรือเร็วของคนเราแตกต่างกัน เมนิวทิ้งท้ายว่า “การตัดสินใจทำทุกอย่าง อยากให้เลือกจากความชอบของตัวเอง และดูเหตุผลประกอบ ว่าเราสมควรที่จะเดินทางไหน หรือวิธีที่เราตัดสินใจมันถูกจริง ๆ หรือไม่ มีแผนรองรับหรือแผนสำรองหรือเปล่า แต่ถ้าชอบจริง ๆ และตัดสินใจได้แล้ว อย่าลังเลให้ลงมือทำเลย การเลือกเรียนคณะใด ๆ ก็เช่นเดียวกัน ไม่อยากให้รู้สึกว่าเลือกผิดทีหลัง ให้ใช้เวลากับการเลือก จนกว่าจะใช่ตัวเราจริง ๆ”
เชื่อว่าเรื่องของสาวน้อยคนนี้ คงจะสร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนที่ยังสับสนกับการวางแผนอนาคตของตัวเองอยู่ในเวลานี้ เพียงแค่หาสิ่งที่ชอบให้เจอ ทุ่มเท มุ่งมั่น และไขว่คว้ามาให้สุดกำลัง เริ่ม และลงมือทำ เพราะถ้าแค่ฝัน มันก็จะเป็นแค่ “ความฝัน” และเชื่อไหมว่า…ความฝันก็มีวันหมดอายุนะเออ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เมนิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ