การหารายได้ระหว่างเรียนหนังสือหรือการเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปของวัยรุ่นสมัยนี้ เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่หลายคนเริ่มทำงานตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมก็ว่าได้ การมีรายได้เลี้ยงตนเอง จึงช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน และได้ทำตามฝันของตัวเองได้เร็วขึ้น
เราขอแนะนำหนึ่งในวัยรุ่นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่เห็นความสำคัญกับของการทำงาน และการได้มีเงินใช้ เพื่อดูแลตัวเอง น้องนน-อนณ บัณฑิตานุสรณ์ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือคนที่เริ่มทำงานที่ตัวเองรัก ด้วยการเป็นนักสร้างความบันเทิงหรือที่รู้จักกันในชื่อ VJ บน Application Vibie Live แคสเตอร์น่ารัก บนแพลตฟอร์มยอดนิยมของกลุ่มวัยรุ่น คาดว่าน่าจะเป็นอันดับ 1 ในเวลานี้เลยทีเดียว
Application Vibie Live คือ ช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ ที่รวมตัวเหล่าวัยรุ่นหลากหลายแนว มาจัดรายการแบบ Live ตามสไตล์ของแต่ละคน พูดคุยกับผู้ติดตาม อีกทั้ง ยังสามารถสร้างรายได้จากยอดวิว ยอดติดตาม เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดฮิตอื่น ๆ
ความมุ่งมั่นในการเริ่มต้นเป็น VJ ที่ Application Vibie Live
เราเปิดประเด็นด้วยการพูดคุยถึงการทำงานของ “นน” ผ่าน Vibie Live ซึ่งเขานิยามตัวเองว่า เราเป็น VJ หรือ Video Jockey ทำหน้าที่ในการพูดคุยกับผู้ชม ผู้ฟัง สร้างความบันเทิง รวมถึงอาจจะเรียกได้ว่า เป็นมือใหม่ที่อยู่ในเส้นทางของการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อเป็น Influencer ในอนาคต และสามารถต่อยอดไปสู่การทำงานอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
VJ ในความหมายเดิมที่เราคุ้นเคยกัน ต่างจาก DJ หรือ Disc Jockey ตรงที่ว่า เป็นบุคคลที่เปิดเผยหน้าตา เป็นคนคัดเลือกเพลงหรือ Music Video ที่น่าสนใจ มีความรอบรู้ในเรื่องของเพลงสไตล์ต่าง ๆ อีกทั้งสามารถสื่อสารและสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อให้ผู้ฟังและผู้ชมได้มีส่วนร่วม
แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานตรงนี้ นนบอกกับเราว่าคือ “การได้สร้างความสุข และเสียงหัวเราะให้กับคนดู ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญแล้ว และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ MONEY (เงิน) ครับ!”
สั้น ๆ แต่ชัดเจน !!! เพราะนนก็อยากทำงานที่รัก และมีรายได้เลี้ยงตนเอง
VJ หรือ Video Jockey ในนิยามของคนรุ่นใหม่
นน อธิบายความหมายของคำว่า VJ ในแบบที่ตนเองได้ทำไว้ว่า “วีเจ คือคนที่คอยให้ความสุข สนุกสนานแก่คนดู ทำหน้าที่เอนเตอร์เทนผู้ชม อยู่คุยเป็นเพื่อนเขา เหมือนกับเราเป็นเพื่อนคนหนึ่ง สามารถคุยกับเขาได้ ให้เขาดูหรืออยู่กับเรา คุยกับเราแล้วมีความสุข”
การทำงานเป็น VJ จึงต้องใช้ทักษะการสื่อสารที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ชั่วโมงบินในการอยู่หน้าจอ เพื่อทำรายการแบบ Live นั้นยังค่อนข้างน้อย แต่เพราะเขาต้องการให้ตัวเองมีความพร้อมก่อนจัดรายการบนหน้าจอ Application
การจัดรายการ LIVE ที่ต้องสนุกสนานน่าติดตาม
การทำรายการแบบ LIVE ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย สุขภาพ ข้อมูล ความรู้ และความบันเทิงที่จะนำมาพูดคุยกับผู้ชม จากที่เราฟังมาก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในหนึ่งวันหรือหนึ่งเดือน นนจัดรายการสดเฉลี่ยแล้วกี่ชั่วโมง มีการวางแผนอย่างไร เขาอธิบายให้เราฟังเพิ่มเติม
“การทำงานตรงนี้คือทำเป็นงานเสริม ไม่อยากเครียดกับงานมาก อยากขึ้นไลฟ์ตอนที่เราพร้อมที่จะไลฟ์จริง ๆ สามารถไลฟ์แล้วสร้างความสุขได้ เพราะว่าในความคิดส่วนตัวก็คือถ้าเกิดเราขึ้นไลฟ์แล้วนั่งหงอย ๆ ยูสเซอร์หรือคนดูเข้ามาดู เขาก็จะสงสัยว่า เห้ย! เป็นอะไรหรือเปล่า วันนี้เศร้า ๆ เขาก็จะไม่เอ็นจอยกับเรา คือด้วยความที่ว่าผมไม่ได้ทำเป็นงานหลัก ก็เลยไม่ต้องขึ้นไลฟ์ทุกวันครับ”
แวดวงของ VJ บนแพลตฟอร์ม Vibie Live
หลายคนคงอยากจะรู้ว่าแล้วเหล่า VJ วัยรุ่น หน้าใส น่ารักเหล่านี้ เขาทำงานกันอย่างไร เรามาเจาะลึกวัฒนธรรมของ VJ ที่บางคนอาจจะเคยได้ข่าวมาว่ามีรายได้หลักแสน นนอธิบายให้เราฟังอีกว่า การเป็น VJ ก็ต้องมีค่ายหรือมีสังกัด ซึ่งค่ายจะช่วยสนับสนุนเราในการทำงาน มีคนคอยให้คำแนะนำ รวมถึงทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ติดตามของเราได้ง่ายขึ้น
ตัวเขาเองอยู่ในสังกัดที่ชื่อว่า MAX Idol Family ซึ่งได้นิยามความหมายของสังกัดผ่านหน้าเฟสบุ๊คเพจว่า MAX IDOL FAMILY สังกัดที่ทำการค้นหาวีเจ หล่อสวย มากความสามารถ เพื่อมาสร้างความสนุกสนานแก่ทุก ๆ คน
“ตัวผมนะครับ อยู่สังกัดชื่อ MAX Idol Family ก็เป็นสังกัดที่ดีมาก ๆ สังกัดหนึ่งสำหรับผมเลยครับ เพราะว่าทุกคนเป็นกันเอง แอดมินเป็นกันเอง หัวหน้าสังกัดก็เป็นกันเอง และวีเจทุกคนที่อยู่ในสังกัดก็รักกันดีครับ” นนกล่าวด้วยรอยยิ้มถึงงานที่เขากำลังทำอยู่ด้วยความตั้งใจ
การสร้างรายได้จากการทำงาน
การทำงานด้วยการเป็น VJ ของนนท์ ได้รายได้จากผู้ติดตาม ในรูปแบบของ Coins หรือเหรียญ “Coins คือหน่วยเงินในแอพลิเคชั่น เวลาเราจะส่งของขวัญให้วีเจ เราก็ต้องเติมเงินเข้าไป สมมุติเติมเงินไป 100 บาท ผ่านทางแอพจะได้ 290 Coins แต่ถ้าเติมผ่านสังกัดก็จะได้ประมาณ 370 Coins เป็นหน่วยเงินที่เราซื้อของขวัญส่งให้วีเจได้ ส่วนได้ Coins เฉลี่ยก็ประมาณเดือนละ 50,000 Coins จนถึงประมาณ 200,000 Coins” มูลค่าของเหรียญที่มาจากผู้ติดตามก็จะแปลงเป็นรายได้ให้วีเจ
การทำงานลักษณะนี้ต้องมีความสม่ำเสมอ เพราะมีการจัดอันดับความนิยมอยู่ตลอดเวลา โดยแบ่งเป็นคลาสระดับต่าง ๆ เช่น คลาส A แสดงว่าได้รับความนิยมมาก มี Engagement กับผู้ติดตามมาก ถ้าเราได้ Engagement น้อย ยอดผู้ติดตามอาจจะลดลง คลาสก็ลดระดับลงเช่นเดียวกัน
นนท์บอกว่า “แอพนี้จะมีคลาส ยิ่งยอดสูง ก็ยิ่งคลาสสูง ตอนนั้นผมอยู่ประมาณคลาส A ก็ประมาณ 170,000 เกือบ 200,000 Coins แต่เดือนต่อมาก็เหนื่อยครับ เพราะว่าเดือนนั้นไลฟ์ไป 200 ชั่วโมง ก็เลยหยุดพักไม่ไลฟ์หรือไม่ได้จัดรายการ พอไม่ไลฟ์ยูซเซอร์ก็หาย ยอดเหรียญที่ได้ก็ตกจาก 200,000 Coins มาเหลือ 30,000 เกือบ 40,000 Coins ก็นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำที่สุดอย่างหนึ่งในการทำงาน การทำงานจึงต้องมีวินัยและมีความสม่ำเสมอให้มากขึ้นครับ”
น้ำพักน้ำแรงจากการทำงาน
เงินทุกบาททุกสตางค์มีคุณค่า วันที่เราได้มาหาเงินใช้เอง วันนั้นเราเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น “ก็รู้สึกดีนะครับ เป็นการหารายได้เสริมอย่างหนึ่ง และเป็นงานที่เราถนัดด้วย ทำแล้วมีความสุข ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป”
ความภาคภูมิใจของนนท์คือ “สามารถลดภาระทางด้านการเงินจากทางบ้านได้ครับ โดยการหารายได้เสริมมาใช้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่ากินอยู่ หรือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ส่วนใหญ่ก็ผมนี่แหละครับ ที่เป็นคนจ่ายด้วยตัวเองโดยไม่ได้พึ่งทางบ้าน” น่าภูมิใจมากมาย เราอดที่จะชื่นชมไม่ได้
การเรียนและการทำงานช่วยเติมเต็มทักษะชีวิต
ด้วยความที่ว่านนท์ ได้เลือกศึกษาต่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้งการเรียนในคณะกับอาชีพเสริม VJ มันสามารถนำมาใช้ควบคู่กันได้ “อาชีพวีเจกับคณะที่เรียนอยู่ก็คิดว่าจะช่วยส่งเสริมกันได้ เพราะว่าคณะที่เรียนอยู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดรายการ คิดว่าหลายอย่างสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันได้ อย่างเช่นมุมกล้อง การจัดแสง การเอนเตอร์เทนผู้ชมหรือคนดู การแสดงบุคลิกภาพท่าทาง และด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับการสื่อสารครับ” เรียนที่นี่นนท์ยังมีความเชื่อมั่นอีกว่าจะช่วยพัฒนาตนเองในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งการเป็นวีเจในยุคปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับการเป็น Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน บ่มเพาะ เรียนรู้ พัฒนาตนเอง สร้างสไตล์การสื่อสารที่เหมาะกับตนเอง เพื่อสื่อสารความเป็นตัวตน สร้างผู้ติดตาม จนสามารถทำเงิน และมีรายได้เป็นของตนเอง
นนทิ้งท้ายว่า “สำหรับคนที่อยากเป็นวีเจนะครับ ก็จะขอเน้นว่า ถ้าเกิดใจรัก ก็มาเป็นได้ เพราะว่ามันจะไม่เหนื่อยกาย แต่อาจจะเหนื่อยใจนิดนึง ส่วนสำหรับคนที่ทำงานอยู่ ก็สู้ ๆ นะครับ แล้วเจอกันในแอพนะครับ”
เราขอสนับสนุนเด็กดีที่ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ให้มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง เลือกทำงานที่สุจริต เป็นงานที่รัก และเราจะไม่มีวันหมด Passion ในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอนครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ นน-อนณ บัณฑิตานุสรณ์ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ