คุยเรื่องวิทย์และศิลป์กับพี่ลีวาย อดีตทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย

บอกเล่าเรื่องราวการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างมีศิลปะและสร้างสรรค์

            คุณคิดว่านิเทศศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะมาบรรจบพบเจอกันได้อย่างไร ? จงอ่านเรื่องนี้ เพราะเรามีคำตอบ วิทยาศาสตร์ที่ดูเหมือนเรื่องยาก และเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ทำให้เด็กหนุ่มจากสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกิดไอเดียที่อยากให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว

            ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาเพิ่งคว้ารางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ได้เป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยไปทัศนศึกษาไกลถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ในปี 2563

โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยประจำปี 2563

           ผมเป็นเด็กนิเทศฯ นั่นหมายถึงเราเรียนเรื่องการสื่อสาร จึงคิดนำเรื่องราว ข้อมูลมาย่อยเป็นรูปแบบเพื่อนำเสนอตามแพลทฟอร์มที่มีอยู่แล้ว วันหนึ่งมีพี่ในชมรมปาฐกถาและโต้วาทีนำข่าวโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ประจำปี 2563 Young Thai Science Ambassador 2020 ชักชวนผมและเพื่อนให้ลองเข้าร่วมโครงการ ตอนนั้น ผมเองมีข้อมูลความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำแคมเปญในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ก็เข้าธีมกับโครงการที่ให้ถ่ายทอดเรื่องราววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในแง่มุมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด การมีหรือการไม่มีวิทยาศาสตร์ ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และแน่นอนว่า เมื่อบอกใครต่อใครทุกคน ต่างตกใจว่าตัวผมเองจะลงแข่งขันจริง ๆ ใช่ไหม ผมตอบว่าใช่ ด้วยความที่ชอบเรื่องยากและเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวนี่แหละเป็นจุดท้าทายความสามารถในตัวผมได้ดีทีเดียว

ผสานความเป็นวิทย์และศิลป์

           ความสนุกนี้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่เข้าร่วมโครงการเป็นการแข่งขันเดี่ยวที่ผมต้องแข่งขันด้วยตัวผมเองจากรอบคัดเลือกผ่านเข้ามา 100 คน ระดับประเทศด้วยผลงาน “ล้อมวงเม้าท์ ยายจะเล่าให้ฟัง รอบที่ 2 ผลงานการสร้างตัวตนผ่านวิดีโอแนะนำตัว Ice Breaking-Activity 1 Let Me Introduce myself รอบที่ 3 ผลงาน Loe Breaking Activity 2-Let’s talk รอบที่ 4 ผลงาน He say she say รอบที่ 5 ผลงานการเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ หัวข้อ English for FUN-Activity 1 The Beauty of Green รอบที่ 6 ผลงานเล่าเรื่องภาคภาษาอังกฤษ หัวข้อ English for FUN-Activity 2 Only three words และรอบชิงชนะเลิศ Project Assignment คัดเหลือ 4 คน ที่เป็นผู้ได้รับรางวัลด้วยผลงาน “บังสุกุลรีไซเคิล โดยทั้งหมด 7 รอบ ผมใช้การเล่าเรื่องผ่าน แพลตฟอร์มต่าง ๆ และรูปแบบผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยอินโฟกราฟิก การทำคลิปวิดีโอ และโปสเตอร์แคมเปญ เพื่อให้เรื่องราวของข้อมูลที่เราจะเล่านั้น ถูกย่อยเปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใครก็สามารถมาดูผลงานของเราได้โดยรู้สึกสนุกและได้ความรู้ไปในตัว

บังสุกุลรีไซเคิล ผลงานชิ้นสำคัญ

           บังสุกุลรีไซเคิลคือผลงานในรอบสุดท้าย ที่ทำให้ภูมิใจที่สุดในการแข่งขันโครงการนี้นั้นคือผลงานที่มีชื่อว่าบังสุกุลรีไซเคิล เมื่อการแข่งขันมาถึงโค้งสุดท้าย ผมเลยโชว์ฝีมือและไอเดียในการทำงานชิ้นนี้ให้สร้างสรรค์ที่สุด แล้วเราจะทำอะไรดีหล่ะ คำถามนี้ผุดขึ้นในหัวของผมตลอดเวลา ทำเรื่องไหนแล้วใกล้ตัวคนอย่างพวกเราที่เป็นวัยรุ่น หันไปเห็นขวดน้ำพลาสติก จึงเกิดไอเดียให้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด จากนั้นขั้นตอนของการเล่าเรื่องเพื่อสื่อสาร ตัดสินใจใช้การเล่าเรื่องด้วยวิดีโอแล้วลงเสียงของผมเองเล่าด้วยภาพเคลื่อนไหวที่ตัดต่อมาสนุก ๆ ให้มีหลากหลายมุมเน้นสั้นกระชับสนุกตื่นเต้น หัวใจหลักคลิปวิดีโอของผมคือผู้ชมต้องดูแล้วรู้ว่าจะสื่อสารเรื่องอะไร ดูแล้วสนุก ไม่น่าเบื่อ

สิ่งแวดล้อมมีเรื่องน่าเรียนรู้มากมาย

           เมื่อเห็นโจทย์ของโครงการนี้ ทำให้ผมคิดถึงเนื้อหาที่จะใช้สื่อสารในแต่ละรอบมากมายเต็มไปหมด ถึงขั้นวางข้อมูลรอบชิงชนะเลิศเลย ทำไมตัวผมถึงคิดได้ขนาดนี้เหรอ ผมเชื่อว่าทุกคนเองก็รับรู้ถึงเรื่องนี้ดี นั่นคือโลกเราถูกทำลายด้วยมนุษย์กันเอง เช่น ปัญหาขยะที่มีมากจนเกินที่ธรรมชาติเองจะย่อยสลายได้ทัน แต่จะให้หยุดทิ้งขยะบนโลกนี้เลยทันที ก็คงเป็นไปไม่ได้ เราต้องหาวิธีคิดเมื่อโลกเปลี่ยนเราทุกคนต้องเรียนรู้ เราต้องปรับตัวตามธรรมชาติช่วยเหลือโลกใบนี้ให้อยู่กับเรา คนไทยเป็นคนเก่งที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมที่คนไทยคิดค้นมามีประโยชน์มากมาย ที่นี่ก็ขึ้นกับตัวเราแล้วว่าจะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มาต่อยอดสร้างประโยชน์อะไรให้กับโลกนี้บ้าง

           เมื่อได้ทำงานเกี่ยวกับโลกใบนี้ ได้รู้ว่าปัญหาที่เราทุกคนกำลังทำอยู่นั้นทำลายโลกนี้ทีละนิด ยิ่งทำยิ่งเกิดความตระหนักให้เราต้องช่วยโลกนี้ให้ได้ แม้จะเป็นเสียงเล็ก ๆ ก็ตาม แล้วอะไรที่เป็นเสียงสะท้อนส่งต่อเป็นเสียงให้ดังได้ ในฐานะเด็กนิเทศฯ เรามีอาวุธของความคิดสร้างสรรค์เนื้อหาข้อมูลให้ความรู้กับทุกคนได้ และเราจะใช้โอกาสที่ได้เป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประเทศเยอรมนีจะเก็บเกี่ยวนำความรู้ที่ได้จากบ้านเขามาสื่อสารเป็นเรื่องสนุกได้ความรู้ให้ทางฝั่งบ้านเราได้รู้วิธีการของประเทศอื่น แชร์ไอเดียแลกเปลี่ยนกัน เพราะเชื่อเหลือเกินว่าโครงการดี ๆ จากประเทศต่าง ๆ ที่เกิดก็เพื่อให้เราทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนได้เกิดความตระหนักและรักโลกให้มากขึ้น

ประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการ

           ผมเป็นคนที่มองหาประสบการณ์ไม่รอให้ประสบการณ์มาถึงตัวเรา เราเองที่เดินออกหาประสบการณ์ให้กับตัวเราเองตลอด ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ ที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมเป็นคนที่เข้าร่วมประกวดในโครงการต่าง ๆ เยอะมาก ไม่ใช่ว่าเราหวังเพียงแต่ชัยชนะรางวัล แต่ทุกครั้งที่เข้าร่วมจะเป็นคนที่ตั้งใจลงมือทำและแนวแน่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกการเรียนรู้เพราะหวังว่าอย่างน้อยเราก้าวเข้ามาร่วมโครงการผลงานเราอาจไม่โดดเด่นสะดุดตาจนได้รางวัล แต่ตัวเราจะได้ประสบการณ์ที่มากกว่ารางวัลทั้งเรื่องการทำงานร่วมกับคนอื่น การพรีเซ้นท์ผลงาน การตีโจทย์ให้เป็นผลงาน รวมถึงเราได้มิตรภาพต่างสถาบันที่มาเป็นเพื่อนกันในการแข่งขัน ตัวผมเองตั้งแต่เด็กก็ทำกิจกรรมมามากมาย จนวันนี้ก็ยังไม่รู้สึกว่าเบื่อที่จะทำ ยังรู้สึกสนุกและมีไฟในการทำงาน ตัวผมจะคิดเสมอว่าในโลกนี้ยังมีพื้นที่ให้ผจญภัยอีกมาก

ความยากง่ายของการผสมผสานวิทยาศาสตร์ และนิเทศศาสตร์เข้าด้วยกัน

           พอผมได้เข้ารอบลึก ๆ ของโครงการความดีใจในแต่ละรอบยิ่งทวีคูณให้เราตื่นเต้น รวมทั้งตัวคุณแม่ของเราเองด้วย ทุกรอบทางคุณแม่ของผมก็จะไหว้พระขอพรบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกรอบเช่นกัน ท่านก็เชียร์และลุ้นให้เราได้รับประสบการณ์ดี ๆ ตลอดคอยสนับสนุนเราทุกการแข่งขัน ถ้าถามถึงกำลังใจผมมีล้นเหลือไม่ใช่เพียงแต่คุณแม่ แต่ได้กำลังใจจากเพื่อน ๆ ที่คอยช่วยเหลือในเรื่องการแนะนำการทำเนื้อหาหรือเทคนิคลูกเล่นในคลิปวิดีโอต่าง ๆ ทั้งที่ผลงานเป็นของผมคนเดียวแต่เพื่อนไม่มองเราแบบนั้นเลย เมื่อไหร่ที่ผมติดมีปัญหาเพื่อนจะยื่นมือมาเสมอ ทุกครั้งที่ท้อหันเจอคุณแม่ เจอเพื่อนก็ทำให้ผมมีกำลังใจที่สุดแล้ว

สิ่งที่ได้เรียนรู้และอยากบอกต่อให้น้อง

           น้องทุกคนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์หรือโครงการอะไรก็ตามที่สนใจให้เราก้าวเข้าร่วมทันที อย่ามองว่าไม่ใช่สายงานตัวเอง ไม่ใช่ทางของเรา แต่ถ้าไม่ลองเราอาจจะไม่รู้เลยว่าเรื่องบางเรื่องจะมีอะไรเชื่อมโยงกันในตัวอยู่ ลองลงมือทำก่อนถ้าไม่ได้ก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้าไม่ทำอาจจะเสียใจภายหลังก็ได้นะ อยากเชียร์และให้กำลังใจน้องทุกคนมาร่วมหาประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ด้วยกัน ประสบการณ์ที่เราจะหาไม่ได้อีกแล้วเมื่อออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย

           ความสามารถทางการสื่อสารพาเราไปได้ไกลกว่าที่คิดมากมายเลย ขอเพียงมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ไม่ว่าจะทำอะไร เราก็จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ