“ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามใครบอกว่ายาก เราจะบอกว่าง่ายเพราะไม่มีอะไรยากเกินความพยายามของเรา หากมัวแต่คิดแต่ไม่ลงมือทำ เรื่องง่ายก็อาจกลายเป็นเรื่องยากได้เช่นกัน” เหมือนกับเขาคนนี้ที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคและคอยคว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามาทุกเมื่อ จากเส้นทางผู้นำนักเรียนก้าวขึ้นสู่นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรงทาง ช่องวัน 31 ได้ตามความฝันสำเร็จ
ชวนทุกคนมาพูดคุยกับ พี่ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รุ่นพี่มากความสามารถในด้านการสื่อสาร ที่กว่าจะมาถึงวันนี้เขาต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และฝึกฝนมากน้อยเพียงใด ไปพบกับเรื่องราวของเขากันได้เลย!
จุดประกายความฝัน
พี่ลีวายเล่าว่าตนพึ่งเริ่มจับทางเรื่องของการสื่อสารได้ช่วงประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นช่วงที่เข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพ ทำให้มีโอกาสทำกิจกรรมของทางโรงเรียนอย่างการเป็นผู้นำโรงเรียนที่ต้องใช้ทักษะการพูดบ่อยครั้ง ระหว่างเรียนชั้นมัธยมทำให้ได้ทุนการศึกษาจากความสามารถด้านการพูด ส่งต่อมาถึงมหาวิทยาลัยจึงตั้งปณิธานกับตนเองว่าเราชื่นชอบการสื่อสารและการแสดงออก
ซึ่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาและหลักสูตร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตรงกับเรามากที่สุด คือ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และการผลิตสื่อสตรีมมิง แต่ความเป็นจริงไม่ว่าจะเรียนคณะหรือสาขาใดก็สามารถทำงานในสายข่าวได้เหมือนกัน
ช่วงแรกที่เข้ามามหาวิทยาลัยพื้นฐานการสื่อสารเรายังค่อนข้างน้อย จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมชมรมร่วมกับเด็กทุนและเพื่อนพี่น้องมากมาย ทำให้ได้เห็นมุมมองการทำงานและการสื่อสารของคนที่มากประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรหรือรุ่นพี่ รวมไปถึงการเรียนการสอนที่เน้นเรื่องของการสื่อสารด้วยเช่นกัน ทำให้ทักษะการสื่อสารในตัวเราแน่นมากยิ่งขึ้น
แข่งในสิ่งที่เราถนัดแล้วไปให้สุดทาง
ความใฝ่ฝันของพี่ลีวายคือการเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว ด้วยความที่เป็นคนช่างพูดและเชื่อว่าเป็นความฝันสูงสุดของคนที่ทำงานในสายข่าวนี้ด้วย เนื่องจากเรามองการณ์ไกลว่างานนี้อาจเป็นใบเบิกทางให้เรามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เมื่อถึงเวลาเกษียณงานเราสามารถนำชื่อเสียงเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นอาชีพอื่นได้ในอนาคต ที่สำคัญเป็นงานที่ตรงกับความสามารถที่โดดเด่นของเราอีกด้วย ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใครในสิ่งที่เราไม่เก่ง แต่ให้เลือกแข่งขันในสิ่งที่ถนัด และเราจะเดินไปได้สุดทางเหมือนกับที่พี่ลีวายทำอยู่ทุกวันนี้
ใบเบิกทางสู่การเป็นผู้สื่อข่าว ช่องวัน 31
ในช่วงปี 2–3 พี่ลีวายเริ่มมองหาโครงการที่ตอบโจทย์ตัวเองมากขึ้น จึงได้เห็นโครงการ BU COME ONE ที่เป็นหลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพและ ช่องวัน 31 กับการฝึกปฏิบัติงานจริงในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่เราจะส่งผลงานไปในรอบที่ผ่านคัดเลือก เนื่องจากรอบแรกส่งไม่ทัน รอบต่อมาเราจึงรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ ทำให้ผ่านจากคัดเลือกเข้าโครงการ BU COME ONE Gen 2 ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากเพราะนั่นคือเส้นทางที่เราต้องการมากที่สุด ทุกครั้งที่ทำอะไรก็ตามใครบอกว่ายาก เราจะบอกว่าง่ายเสมอเพราะเรารู้สึกสนุกชอบกับสิ่งที่ทำ แม้บางครั้งจะรู้สึกเหนื่อยหรือกดดันกับงาน แต่ก็ยังมีรุ่นพี่ในทีมที่คอยมาพูดคุยเล่นทำให้ลืมความเครียดไปได้บ้าง
ปัจจุบันจากเด็กฝึกงานก้าวขึ้นมาเป็นผู้สื่อข่าวที่ ช่องวัน 31 แบบเต็มตัว สิ่งแรกที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้คือความสามารถ อย่างที่สองคือโอกาสจากรุ่นพี่ ผู้ใหญ่ ผู้บริหารทุกคน และอยากขอบคุณความตั้งใจของตัวเองที่ไม่เคยย่อท้อไม่คิดจะหยุดพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำหากเราหยุดนิ่งไม่แสวงหาเรียนรู้เพิ่มเติมข้อมูลความรู้ก็คงเท่าเดิม ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราหมุนไปตลอดเวลา ดังนั้นเราอย่าให้สิ่งเหล่านี้มาหมุนรอบตัวเราได้ เราต้องเป็นคนคว้าแล้วหมุนรอบตัวสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราเป็นคนมีความรู้รอบด้าน
โอกาสมาถึงรุ่นน้องแล้ว BU COME ONE Gen 3
พี่ลีวายยังแชร์เทคนิคให้มัดใจกรรมการกับคนที่สนใจโครงการ BU COME ONE Gen 3 ที่เปิดรับสมัครแล้วตอนนี้อีกว่าอย่างแรกให้ทำความเข้าใจโจทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ดี แนะนำให้ทำเรื่องใกล้ตัวสิ่งที่สังคมต้องการหรือกำลังเป็นกระแสอย่าทำเรื่องที่ไกลตัว รวมถึงใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปด้วยส่วนหนึ่ง ให้เขาเห็นกลิ่นอายความเป็นตัวเรา ซึ่งจะทำให้เขามองเห็นจุดเด่นของเราที่ไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างประเด็นเรื่องทางม้าลาย ที่เป็นกระแสให้สังคมตื่นตัวมากขึ้น ถ้าคุณอยากคิดต่อยอดเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจให้ลองไปคิดทบทวนว่าอยากทำออกมาในรูปแบบใด
และอย่าปิดโอกาสให้กับตัวเอง เพราะโอกาสเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดทุกสิ่งทุกอย่าง พยายามเรียนรู้ ดู อ่าน เขียน ฝึกฝนสม่ำเสมอ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งหรือทำได้ทุกอย่าง เพราะยังมีอีกหลายคนที่เขาเก่งกว่าเรา ดังนั้นพยายามทำตัวเองให้เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว บางครั้งอาจจะต้องถามคนรอบข้างว่าเราทำได้เต็มที่แล้วหรือยัง เพราะคนเหล่านี้จะมองเห็นเราได้ชัดเจนมากที่สุด และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน สู้ ๆ
ฝึกงานครั้งแรกหนักมาก !?
พี่ลีวายแชร์ประสบการณ์การฝึกงานครั้งแรกที่ ช่องวัน 31 อีกว่าในช่วงแรกรู้สึกเหนื่อยเกร็งมาก เพราะเรายังไม่ทราบบริบทขององค์กรทั้งหมด เช่น รูปแบบการทำข่าว วิธีการเขียนข่าว การส่งข่าว การรีไรท์ข่าว ซึ่งเราต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แต่โชคดีที่มีโค้ชรุ่นพี่ผู้สื่อข่าวคอยสอนงานให้เป็นบางส่วน ที่เหลือเราต้องคอยสังเกตจดจำเองทั้งหมด
ในช่วงนั้นรู้สึกยากมากในเรื่องการเขียน บางครั้งเราเขียนออกมาเหมือนเรียงความ ซึ่งการเขียนข่าวต้องมีขั้นตอนเป็นลำดับ ทำให้เราโดนตำหนิเขาจึงแนะนำวิธีการเขียนข่าวที่ถูกต้อง เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ในครั้งแรก รวมถึงทักษะการจับประเด็น เรายังพูดจับประเด็นไม่ค่อยได้ จึงต้องไปขอคำแนะนำกับคนที่จับประเด็นเก่งว่าต้องเริ่มต้นแบบไหนทำอย่างไร รวมถึงการฝึกบุคลิกภาพของเราว่าต้องเพิ่มหรือปรับปรุงส่วนไหน ถ้าส่วนไหนไม่ดีรุ่นพี่เขาพร้อมติเตียนให้เสมอ เพราะกระจกที่สะท้อนตัวเราได้ดีที่สุดไม่ใช่ตัวเองแต่คือคนรอบข้าง แต่บางครั้งกระจกนั้นก็สามารถทิ่มแทงเราได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องพิจารณาด้วยตนเองให้ดี
โดยหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบคือการเป็นผู้สื่อข่าว เมื่อได้หมายข่าวมาเราต้องลงไปทำข่าว เขียนข่าว ตัดเสียง คัดเสียง และส่งให้ส่วนกลางคัดไปออกอากาศอีกครั้ง หลังจากฝึกงานได้ 1 เดือน ต่อมาเป็นการทดลองงานอีก 4 เดือน ซึ่งทางผู้ใหญ่ในช่องวันให้โอกาสเราลงสนามทำข่าวจริง โดยไม่ต้องมีโค้ชรุ่นพี่ช่วยเหลือและต้องรับแรงกดดันมากขึ้น ทำให้เรามองเห็นภาพการผลิตข่าวของแต่ละช่อง รวมถึงการทำงานของแต่ละคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
คอนเนคชั่นเป็นสิ่งสำคัญ
ในมุมมองของพี่คิดว่าสายงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องคอยเอาใจใส่คนรอบข้างอยู่เสมอ ซึ่งการเป็นผู้สื่อข่าวหากเราไม่มีเพื่อนพี่น้องที่รู้จักเราจะอยู่ในสนามข่าวยาก เช่น ข่าวการเมือง เป็นข่าวที่ต้องมีข้อมูลเชิงลึก จึงต้องเป็นคนที่รู้จริงและเกาะติดทุกสถานการณ์การเมือง โดยส่วนตัวเป็นคนที่อัธยาศัยดีชอบเข้าหาพูดคุยเล่นกับรุ่นพี่สำนักข่าวอื่นเป็นประจำ ทำให้เราเข้ากับรุ่นพี่หลายคนได้ดีในเวลาทำข่าว
เพราะฉะนั้นเมื่อมีข่าวไหนที่เราไม่ทราบแหล่งข่าวหรือไม่ถนัดเราสามารถโทรปรึกษารุ่นพี่ผู้สื่อข่าวที่รู้จักกันได้ เขาจะให้คำแนะนำว่าควรติดต่อใครควรไปที่ไหนเพื่อให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือข่าวไหนที่เขียนยากเราจะขอเสนอช่วยเขียนให้พี่เขาเพื่อแลกข้อมูลกัน เป็นเหมือนวัฒนธรรมหรือมารยาทอย่างหนึ่งในการทำข่าวรุ่นน้องช่วยเหลือรุ่นพี่ ทำให้เราได้ข่าวมาง่ายมากขึ้นถึงแม้จะเหนื่อยแต่สนุกมาก ดังนั้นเราต้องมีคนเหล่านี้คอยช่วยเหลือไม่อย่างนั้นข่าวของเราจะไม่ครบองค์ประกอบแน่นอน
กว่าจะได้ 1 ข่าวมาออกอากาศ
การผลิตข่าวแต่ละครั้งเราต้องประชุมทุกคืนว่าใครต้องไปทำข่าวที่ไหนอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนเตรียมตัว ซึ่งในการลงพื้นที่ทำข่าว ทางทีมจะวางหน้าที่ตามความเหมาะสมของแต่ละคน อย่างเราสามารถทำได้ทุกสายข่าว โดยเฉพาะข่าวสังคม ข่าวอาชาญกรรม และข่าวชีวิตประจำวันทั่วไป เมื่อประชุมเสร็จเรียบร้อยหากช่วงเวลานั้นสามารถติดต่อแหล่งข่าวได้ล่วงหน้าให้รีบติดต่อ เพื่อถึงเวลาเช้าเราสามารถเดินทางไปสัมภาษณ์กับแหล่งข่าวได้ไวมากขึ้น
หลังสัมภาษณ์เสร็จเราจะมาเขียนข่าว โปรยข่าว เขียนซีจี หลังได้รายละเอียดเหล่านี้เรียบร้อย เราจะกลับมาคัดเสียงที่ช่องและให้ทีมช่างภาพคัดเลือกภาพ เพื่อส่งไปยังบรรณาธิการข่าวเขาจะนำไปไรท์ข่าว เสร็จเรียบร้อยจะมีบรรณาธิการบริหารและโปรดิวเซอร์คอยเช็คข่าวก่อนออกอากาศจริง หากประเด็นใดตกหล่นไปเขาจะโทรหานักข่าวให้ไปทำประเด็นนั้นเพิ่มเติม ซึ่งเวลาข่าวของแต่ละช่องไม่เหมือนกันอย่าง ช่องวัน 31 ข่าวจะเข้าช่วงเวลา 11.30 น. ดังนั้นเราต้องส่งข่าวก่อนเวลา 10.30 น.
ในแต่ละวันเราลงพื้นที่ทำข่าว 1-4 ข่าวแล้วแต่วันไหนข่าวมากหรือน้อย นอกจากเราลงสนามข่าวแล้ว ยังมีนักข่าวภูมิภาคเข้ามาร่วมช่วยด้วย เพราะข่าวมีองค์ประกอบหลายอย่างจึงต้องมีหลายทีม ยกตัวอย่างข่าวแถลงสรุปผลคดีคุณแตงโมที่ผ่านมา เราจะแบ่งออกเป็น 4 ทีมประจำจุด ส่วนตัวทำหน้าที่ช่วยเหลือทีมรุ่นพี่ คอยเก็บภาพข่าวและรายละเอียดให้ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเขียนข่าวฉบับเต็มทั้งหมด เขียนเพียงรายละเอียดในส่วนที่เราทำไปเท่านั้น
ปัญหาคือสิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุด
ด้วยความที่พี่ลีวายเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม ซึ่งอาจจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ หากผิดพลาดหน้างานหรือเหตุกะทันหันย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนว่าสามารถแก้ปัญหานั้นได้หรือไม่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติอย่าทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน อย่างที่สองอย่าทำให้ตัวเองต้องหนักใจ
แก้ปัญหาด้วยการโทรเช็คกับรุ่นพี่สายข่าวในทีม เล่าเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เกิดเหตุยิงกันไม่สามารถรายงานสดหรือทำข่าวตรงนี้ได้ เขาจะแนะนำช่วยเหลือเราส่วนหนึ่งว่าเราต้องปรับแผนอย่างไร หรือแพลนกล้องมุมไหน หากเราทำหน้างานเต็มที่เราสามารถส่งข่าวเท่าที่ได้ไปก่อน และแจ้งข้อมูลกับบรรณาธิการข่าวให้ทราบอีกครั้งว่าเกิดเหตุการณ์ใดบ้าง ส่วนกรณีแหล่งข่าวเปลี่ยนใจไม่ให้สัมภาษณ์ เราต้องไปหาแหล่งข่าวใหม่หรืออาจจะไปทำประเด็นอื่นแทน เพราะบริบทการทำข่าวขององค์กรเราไม่เหมือนกับที่อื่น ช่องวัน 31 จะเน้นทำข่าวที่สั้นกระชับเข้าใจ ดังนั้นประเด็นต้องเข้มข้นถึงจะเป็นข่าวได้
และส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องของระยะเวลาทำข่าว บางครั้งแหล่งข่าวแจ้งปรับเปลี่ยนสถานที่และเวลากะทันหัน เช่น กำหนดเดิมแถลงข่าวที่บางนาเวลา 10.00 น. มาเปลี่ยนเป็นที่นครปฐมเวลา 13.00 น. ทำให้ทีมข่าวของเราและทีมอื่นต้องเหนื่อย เพราะเราต้องหาทีมข่าวใหม่ที่ต้องไปได้เร็วที่สุด ทำให้เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่เราไม่ทราบแหล่งข่าวที่ชัดเจนว่าเขาจะแถลงหรือทำแผนที่ไหน ซึ่งเราต้องคอยสังเกตเช็คข่าวตามสื่อและคอยรีไรท์ข่าวใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจ บางครั้งอย่าไปฟังคำคนมาก ประสบการณ์เท่านั้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้
ทักษะการสื่อสารในการทำงาน
ทุกบริบทของการทำงานการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะสายงานข่าวเพราะการสื่อสารคือการติดต่อ หากขาดทักษะนี้ไปอาจเป็นอุปสรรคของการทำงานอย่างมาก ส่วนการทำข่าวไม่จำเป็นต้องหาความรู้ที่หน้างานอย่างเดียว เราสามารถกลับไปดูสิ่งแวดล้อมรอบข้างตัวเอง เพื่อนำมาปรับใช้ในการตั้งคำถามสัมภาษณ์หรือย่อยคำถาม ซึ่งจะทำให้แหล่งข่าวนั้นเชื่อใจว่าเรารู้จริงทำการบ้านมาดีและดูมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอ
การเรียน VS ทำงานจริง
พี่ลีวายยังให้ความเห็นถึงการเรียนและการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเรียนคือการนำความรู้ไปหาประสบการณ์ ส่วนการทำงานคือการนำประสบการณ์มาเรียนรู้ การเรียนจะดีได้หากเราเรียนตรงสายที่ถนัด ย้อนไปช่วงเรียนมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์พิเศษจากช่องโทรทัศน์หนึ่งเข้ามาสอนเรื่องของการทำข่าว ส่วนนี้เราจะได้เรียนรู้เบื้องต้น แต่เมื่อถึงเวลาออกไปทำงานจริงบริบทการทำข่าวของแต่ละช่องกลับแตกต่างกัน สุดท้ายเราต้องไปเรียนรู้การทำข่าวในช่องใหม่อยู่ดี ดังนั้นการเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความรู้รอบตัว แต่ความรู้เชิงลึกเราต้องเข้าไปหาในองค์กรนั้นเอง
ความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิต
ความรู้ติดตัวที่ได้จากการเรียนไปใช้ได้จริงในสายงานข่าว อย่างแรกคือเรื่องของการเขียนข่าว โปรยข่าว ตั้งหัวข้อข่าว เพราะการเรียนเขาจะบอกวิธีการโปรยข่าวว่าต้องเขียนอย่างไร หัวข้อข่าวต้องมีกี่คำ อย่างที่สองคือเรื่องของระดับการสื่อสารที่ได้นำมาใช้จริงแน่นอน แต่ส่วนนี้จะรู้ด้วยความรู้สึกของตัวเองว่าจะต้องพูดคุยกับแหล่งข่าวด้วยภาษาระดับใด เช่น นักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้ แต่อาจจะไม่ได้ใช้ตลอดเพราะบางครั้งแหล่งข่าวแจ้งว่าให้พูดคุยแบบกันเอง แต่ชาวบ้านอาจจะบอกให้พูดคุยทางการ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทหน้างานอีกที
ใช้อดีตเป็นแรงผลักดัน
แม้ครั้งหนึ่งพี่ลีวายจะเคยโดนคนรอบข้างล้อเลียนเรื่องสำเนียงภาษา แต่ก็ฝ่าฟันคำพูดเหล่านั้นมาด้วยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง อย่างทุกวันนี้สำเนียงการสื่อสารของเราก็ยังออกไปทางบ้านเกิดทั้งภาคอีสานและภาคใต้ แต่เรากลับมองเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะปรับให้เข้ากับบริบทของการทำงานในแต่ละองค์กรนั้น อย่างการทำข่าวเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คนเราจะเปลี่ยนบุกคลิกลักษณะการพูดไปอีกแบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์คำพูดของเราตลอดเวลา หากทำแบบนั้นเราอาจจะเหนื่อยเพราะการเป็นตัวเองไม่ต้องเปลี่ยนอะไรให้เยอะมาก เราเปลี่ยนเฉพาะงานเท่านั้นไม่จำเป็นต้องปรับทั้งหมด
ส่วนใครที่ยังล้อเราในเรื่องการสื่อสารบางครั้งไม่จำเป็นต้องไปตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ตอบโต้ด้วยการกระทำของตัวเองว่าเราสามารถก้าวไปได้ไกลแค่ไหน สิ่งนี้จะตอกย้ำคนที่ล้อเราเพราะเมื่อเขาเห็นเราประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้เขาจะรู้สึกเจ็บใจมากกว่าเราด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าเก็บมาใส่ใจจงทำในสิ่งที่เราต้องการ มุ่งหน้าต่อไปอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับพี่ลีวายการมีอุปสรรคคือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากที่สุด
สร้างความมั่นใจฉบับพี่ลีวาย
เทคนิคสำหรับคนอยากออกหน้ากล้องแต่ขาดความมั่นใจ พี่ลีวายได้ให้คำแนะนำว่าความมั่นใจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่ไม่เคยพูดหน้ากล้องไม่เคยกระทำใดหน้ากล้อง แนะนำให้ฝึกพูดกับหน้ากระจก หรือดูคนที่เก่งกว่าให้เยอะแล้วนำมาปรับเป็นตัวเองฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น
กลุ่มที่สองคือคนที่มีประสบการณ์แต่เขินอายหน้างานเล็กน้อย แนะนำวิธีที่ง่ายคือให้ตั้งสติอยู่กับตัวเองให้นิ่ง อย่างพี่เคยทำสกู๊ปข่าวหรือการรายงานสดเราจะตั้งสติอยู่กับตัวเองก่อน ส่วนคนรอบข้างที่เข้ามารบกวนเราไม่ต้องสนใจเขา เพราะประสบการณ์จะทำให้เรามีความมั่นใจขึ้นเอง
ก้าวข้ามทุกวิกฤต
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ทำให้การทำงานของสายข่าวภาคสนามยากขึ้นตาม และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางครั้งเราไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ต้องคอยฝ่าฝูงชนเข้าไปเพื่อให้ได้ข่าวนั้นมา ดังนั้นเราต้องดูแลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งใส่แมสก์ ฉีดแอลกอฮอล์ตลอดเวลา หากเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็ต้องรีบรักษาเมื่อหายก็กลับมาทำงาน เป็นเหมือนวงจรชีวิตอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครทราบว่าโรคนี้จะหายเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดและพร้อมป้องกันตนเองเสมอ
เป้าหมายสูงสุดของสายงานข่าว
จากผู้สื่อข่าวเป้าหมายของพี่ลีวายคือการไต่ระดับขึ้นไปเป็นผู้ประกาศข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ และมีช่วงข่าวของตนเองคือการทำข่าวสารคดี เหมือนกับบุคคลต้นแบบที่เราชื่นชอบอย่าง พี่หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง ที่มีไลฟ์สไตล์คล้ายคลึงกับเรา รวมถึงการชอบลงพื้นที่ทำข่าวในท้องถิ่นเป็นสายลุยที่เราถนัดด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้คนจดจำเราได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรายังต้องพัฒนาต่อไปในเรื่องของการสื่อสาร เรื่องคำพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ และเรื่องของการรายงานสดที่ต้องเรียนรู้ให้มากกว่านี้ นอกเหนือจากนั้นคืออยู่ที่ดวงโอกาสและความสามารถว่าเราสามารถขยับขึ้นไปตามความฝันได้หรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้เราพยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด
เปิดโอกาสใหม่ให้ได้เข้ามา
พี่ลีวายยังฝากถึงทุกคนที่ตามหาความฝันหรือกำลังทำในสิ่งที่ชอบอีกว่า สิ่งสำคัญที่ย้ำตลอดคือการเปิดโอกาสให้กับตัวเองเจอสิ่งใหม่ ๆ มุ่งมั่นในสิ่งที่ต้องการให้หลากหลาย อย่าพึ่งตีกรอบว่าเราไม่สามารถทำได้ให้ศึกษาข้อมูลหรือลงมือทำจริงก่อน อะไรที่ว่ายากให้เราคิดว่าง่ายไว้ หากทำแล้วยังไม่ได้เราค่อยหาข้อมูลกับคนที่มีประสบการณ์มาช่วยเหลือหรือแนะนำอีกที
ที่สำคัญมองหาความสามารถของตัวเองให้ได้มากกว่าหนึ่ง เมื่อใดที่มีความสามารถมากกว่าหนึ่ง เราจะสามารถเป็นต่อคนอื่นได้อีกหลายเท่า ดังนั้นการฝึกฝน หาข้อมูล หาความรู้รอบตัว สิ่งเหล่านี้คือโซ่ที่คล้องความสามารถในตัวเราไปทุกที่ และเราจะเก่งขึ้นเองไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เริ่มแรก ขอให้สู้อย่ายอมแพ้หากใครชื่นชอบงานสายนี้มาเป็นนักข่าวกับพี่ พี่ลีวายพร้อมสอนทุกคนเสมอ
หากใครเริ่มมี Passion เดียวกันกับพี่ลีวายสามารถติดตามเขาได้ที่หน้าจอ ช่องวัน 31 กับรายการข่าวเช้าช่องวัน, ข่าวเที่ยงช่องวัน, ข่าวเย็นช่องวัน, ข่าวค่ำช่องวัน, และรายการเอาให้ชัด ที่หลายคนต้องคุ้นหน้าคุ้นตาพี่ลีวายกับการลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามอยู่บ่อยครั้ง และติดตามอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของพี่ลีวายได้ทาง Facebook : นครินทร์ โคตรศรี ที่จะคอยลงภาพกิจกรรมรวมถึงเรื่องราวข่าวสารบ้านเมืองให้ทุกคนได้ชมกันตลอด
อ่านเรื่องราวของพี่ลีวายจบแล้วเห็นได้ชัดเลยว่ากว่าคนเราจะประสบผลสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนล้วนต้องผ่านการฝึกฝนและมีใจรักในสิ่งที่ทำ เชื่อว่าหลายคนคงได้ข้อคิดรวมถึงเทคนิคที่ดีมากมายไปปรับใช้ในการเรียนหรือการทำงานแน่นอน หากใครคนไหนที่มีความชื่นชอบสายงานนี้ ขอให้หมั่นฝึกฝนตนเองเป็นประจำ พร้อมมองหาโอกาสให้ตัวเองได้ลองท้าทายสิ่งใหม่ ๆ พวกเราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้เดินตามความฝันเหมือนกับพี่ลีวาย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก พี่ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ