เมื่อช่างกล้องโอลิมปิกคือปลายฝั่งฝัน เปิดใจณัฐนันท์ ผู้ไม่เคยหยุดไขว่คว้าโอกาส

สนทนาถึงประสบการณ์ ที่ผันเปลี่ยนเธอจากนักกีฬาบาสเกตบอลสู่ช่างกล้องที่อัดแน่นด้วยวินัยและแรงบันดาลใจ

         ไม่ว่าจะชีวิตนักกีฬาหรือชีวิตช่างภาพต่างก็มีความท้าทาย แต่สิ่งหนึ่งที่ ณัฐนันท์ แสงวรรณ์ลอย รุ่นพี่นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ BU International College มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชื่อว่าทักษะที่จำเป็นในทุกสายอาชีพไม่ใช่อะไรเลย นอกจาก วินัย เพราะหากขาดสิ่งนี้ไป โอกาสสำคัญจะเข้ามาในชีวิตมากเท่าไร เราก็จะไม่มีทางพร้อมเลยที่จะไขว่คว้ามา

         “โอกาสเหมือนไอติม ไม่รีบกินมันก็ละลาย”

         คุณณัฐนันท์บอกเล่าอย่างสบาย ๆ เป็นกันเอง ขณะให้สัมภาษณ์ท่ามกลางบรรยากาศร้านกาแฟแห่งหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอคือนักกีฬาบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยผู้ผันแปรชีวิตตัวเองสู่การเป็นช่างกล้องสายกีฬาอย่างเต็มตัว เจ้าของเพจ ณัฐนันท์ และไอจี nscgi มีผลงานล่าสุดในฐานะช่างภาพประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 48 ดอกจานบ้านเชียงเกมส์ จังหวัดอุดรธานี ที่เธอสนุกมากเสียจนต้องกล่าวถึงประสบการณ์ดังกล่าวลงในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “กีฬามหาลัยในครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อยมาก ก.ไก่ล้านตัว และก็สนุกมาก ก.ไก่อีก สองล้านตัว” เลยทีเดียว

โอกาส–จากมือที่เคยชู๊ตลูกหนัง

         ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่คุณณัฐนันท์ยังเป็นนักกีฬาจังหวัด เธอเล่าปนอมยิ้มว่าได้จับกล้องถ่ายรูปมาตั้งแต่ตอนนั้น หลายครั้งที่มีโอกาสถ่ายภาพเกมการแข่งขันในคราวที่ถูกส่งไปแข่งต่างจังหวัด แต่ยังไม่ได้เข้าไปคลุกคลีถ่ายขอบสนาม เธอมักถือกล้องอยู่รอบนอก ยกวิวไฟน์เดอร์แนบตา แล้วกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพแทนความทรงจำ

         “คือถ้าพี่รู้จักใครที่แข่งอยู่ ก็จะไปถ่ายให้แล้วก็ส่งให้ น่ารัก ๆ” คุณณัฐนันท์หัวเราะร่วน “เพิ่งจะมาถ่ายจริง ๆ จังก็ตอนใกล้จะจบมัธยม ตอนนั้นพี่ถ่ายเกมบาส ถ่ายน้อง ๆ ในโรงเรียน แต่ช่วงนั้นชอบโดนถ่ายมากกว่า (ฮา)”

         แล้วเป็นผลงานในฐานะนักกีฬาจังหวัดนั้นเองที่ชักนำให้โอกาสมากมายเข้าหา คุณณัฐนันท์ได้รับการเชิญชวนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย แต่ด้วยความลังเล เธอก็ไม่สามารถตัดสินใจได้เสียทีว่าควรเดินไปทางไหน สถาบันใดกันแน่ที่เหมาะสมกับอนาคตของตัวเอง

         กระทั่งวันหนึ่งที่ได้ร่วมซ้อมกับทีม รุ่นพี่คนหนึ่งแสดงความเห็นว่าเธอเล่นบาสเกตบอลได้ และอยากให้ลองเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ยินดังนั้น คุณณัฐนันท์จึงไม่รอช้า คัดตัวเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ และติดในฐานะนักเรียนทุนนักกีฬาบาสเกตบอลในที่สุด

โอกาส–ให้เธอได้ตกผลึกรูปแบบชีวิตในฐานะนักกีฬา

         “ตอนเรียน พี่ไม่ทำอะไรนอกจากเรียน เข้ายิมเล่นเวทแล้วนอนในยิมนั่นเลย ซ้อมจนเย็น ขับรถกลับบ้าน นอน แล้วตื่นเพื่อมาทำทุกอย่างนี้อีกที วนอยู่แบบนั้น” คุณณัฐนันท์เล่าพลางยกกาแฟขึ้นจิบ “สุดท้ายแล้วบาสเป็นเหมือนใบเบิกทาง ให้เรามีทุนเรียน ให้เรามีโอกาสหาความรู้สำหรับงานในอนาคต เพราะอย่างนั้นพี่เลยพยายามลุยให้เต็มที่ทั้งเรื่องกีฬาและเรื่องเรียน”

         คุณณัฐนันท์ยังกล่าวอีกว่าวินัยคือกุญแจสำคัญที่ผลักดันชีวิตของเธอไปข้างหน้า ไม่ว่าในแง่การเรียน การแข่ง หรือกระทั่งการหาความสุข เธอเชื่อว่าเมื่อมองปลายทางให้แตกฉานว่าเราจะมุ่งไปทางใด เมื่อนั้นเราก็จะมีเหตุผลที่จะขับเคลื่อนตัวเองสู่ปลายทางนั้น และหลักการนี้เองที่เธอเชื่อว่าถูกตกผลึกมาจากการเล่นกีฬามาตลอดหลายปี

         “วินัยเหมือนเป็นอาวุธที่เราใช้ขวนขวายสิ่งที่เราอยากได้ อย่างพี่ โอกาสเหมือนไม่มีเลยสำหรับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องขวนขวาย พี่ก็พยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อที่เราจะไม่จำเจอยู่ที่เดิม และพร้อมรับโอกาสนั้นเข้ามาได้ตลอดเวลา”

โอกาส–ที่นำสองมือมาประคองเลนส์กล้อง

         แม้จะพัฒนาตัวเองผ่านโลกของนักกีฬาบาสเกตบอลในรั้วมหาวิทยาลัยมาสี่ปี แต่ความชอบในการกดชัตเตอร์ของเธอกลับไม่ได้น้อยลงไปเลย หลังจบการศึกษา คุณณัฐนันท์ตัดสินใจไป Work & Travel ที่รัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน ที่นั่นเธอได้พบกับ Michael Ambrose ช่างกล้องแลนด์สเคป ขณะทำงานเป็น Guest Recreation ในโรงแรมแห่งหนึ่ง และเป็นเวลานั้นเองที่ประกายความฝันของเธอถูกจุดขึ้นมาจนโชดช่วงในหัวใจ

         “ด้วยความที่ช่วงนั้นพี่บ้าแลนด์สเคปมาก ชอบถ่ายแลนด์สเคป ชอบไปเดินป่า พี่ก็ไปคุยกับแก (คุณ Ambrose) ทุกวัน ไปชวนคุยนู่นคุยนี่ ถามเรื่องถ่ายภาพ ถามเรื่อง route ที่จะไปเดินป่า มีครั้งหนึ่งที่พี่เปรยขึ้นว่า เอ้อ เราก็เป็นช่างกล้องนะ เราถ่ายกีฬา เขาก็ตอบกลับมาว่าอ้าว จริงเหรอ พี่เราก็ถ่ายกีฬาเหมือนกัน พี่เราเพิ่งกลับมาจากโตเกียวโอลิมปิก!”

         พี่คนนั้นคือ Gary Ambrose ช่างภาพกีฬามืออาชีพที่เคยร่วมเก็บภาพเกมการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเมื่อ 2020 ที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ LA Times อีกด้วย แล้วด้วยการเปิดมุมมองใหม่ในครั้งนั้น คุณณัฐนันท์จึงตั้งมั่นว่าปลายทางความฝันของตัวเองไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการเป็น ช่างภาพงานโอลิมปิก

         แม้หลังกลับมาที่ไทยความคิดเรื่องการผลักดันตัวเองไปให้ถึงโอลิมปิกก็ยังไม่จางหาย ในช่วงแรก เธอคิดจะกลับไปอเมริกาโดยหวังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากขึ้นด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่เปรยสั้น ๆ ขำ ๆ ให้เราว่า “อุตสาหกรรมกีฬาบ้านเขาคือแบบ…คนละโลกอ่ะ ถ้าให้เปรียบ ลีกบ้านเขาอย่าง NBA ก็คนละเรื่องกับลีกไทยเลย อย่างนี้ ถ้าได้ทำงานที่นั่นคงจะดีมาก ๆ เลย”

         แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับ Strength Coach คนหนึ่ง แล้วคำพูดจากเขาก็กระตุกฟันเฟืองความคิดให้เคลื่อนไหวอย่างไม่รู้จบ

         “ทำไมไม่อยู่นี่แล้วลองสร้างอะไรขึ้นมาล่ะ ในไทยไม่มีเท่าต่างประเทศก็จริงนะ แต่ทำไมไม่ลองสร้างอะไรขึ้นมาล่ะ ใช่ ถ้าเธอไปอเมริกามันก็มีโครงสร้างอะไรของมันอยู่แล้ว มันตายตัวอยู่แล้วว่าไปถึงก็ทำนู่นทำนี่–จบ แต่ถ้าเกิดอยู่ไทยอ่ะ เธอลองสร้างอะไรขึ้นมา ลองทำอะไรสักอย่างให้อุตสากรรมไทยไหม”

         คำถามเหล่านี้เองที่กระชากต่อมความคิดของคุณณัฐนันท์ จากที่มีความฝันสู่ช่างภาพโอลิมปิกเป็นทุนเดิม ก็ต่อยอดไปสู่แนวทางชีวิตการทำงานในฐานะช่างกล้อง ระหว่างนั้นเองเพจ ณัฐนันท์ และไอจี NSCGI จึงเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานให้ลูกค้า ช่างกล้อง นักกีฬา หรือใครที่สนใจได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและคอนเนกชั่นแก่กันและกัน

โอกาส–ของการไม่หยุดเรียนรู้

         คุณณัฐนันท์เชื่อเสมอว่ามนุษย์ทุกคนต้องการเฉิดฉายไม่ว่าในด้านใดด้านหนึ่ง แต่การจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องมาได้ด้วยโอกาส เธอย้ำอยู่บ่อยครั้งในการสนทนาว่าโอกาสอยู่รอบตัวเรา แต่สิ่งที่แตกต่างกันไป คือเราทุกคนต่างมีความสามารถในการรับโอกาสนั้นต่างกัน บ้างก็เตรียมรับทุกสถานการณ์ บ้างก็ไม่พัฒนาตัวเองจนไขว่คว้าอะไรไม่ได้ต่อให้โอกาสมาอยู่ตรงหน้า และที่เชื่อมั่นอย่างที่สุด คือโอกาสมีวันหมดอายุ–ถ้าเราไม่คว้ามันให้ทันเวลา

         “โอกาสเหมือนไอติม ไม่รีบกินมันก็ละลาย มันจะเข้ามาตอนไหนก็ได้ เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือทำตัวเองให้พร้อมรับโอกาสที่มันเข้ามา ไม่ว่าคุณจะเรียนจบไปแล้ว คุณจะยังเรียนอยู่ หรือว่าคุณจะแก่แค่ไหนก็ตาม อย่า–หยุด–เรียน–รู้! ไม่เคยมีอะไรตายตัว โลกมันหมุนเร็วมาก อย่าคิดว่าตัวเองรู้ไปซะทุกอย่าง สมมติว่าเราเป็นคนแก่ แล้วไม่เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็เปรียบได้กับแขนขาด้วนไปเลย ในยุคสมัยนี้ วัน ๆ ทำอะไรได้ยาก” คุณณัฐนันท์ยิ้ม น้ำเสียงเธอเข้มข้นจริงจังขึ้นอย่างฟังได้ชัด “การหยุดเรียนรู้คือสิ่งที่เราเลือก ไม่ใช่เพราะแก่แล้วทำไม่ได้ แต่เพราะเราเลือกเองว่าจะหยุดเรียนรู้ ฉะนั้น ทำให้เต็มที่ ถ้าเราหยุดเรียนรู้ โอกาสก็จะหยุดเข้ามา”

         แล้วการสนทนาก็จบลง ด้วยการที่คุณณัฐนันท์เล่าถึงงานต่อไป ที่จะได้ไปถ่ายงานไตรกีฬา เธอมองว่าถึงอนาคตจะไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้สิคือของจริง

         อย่าได้ทิ้งความกระหายจะพัฒนา แล้วพาสองขาของตัวเองไปถึงเป้าหมายให้จงได้

         เราสวัสดีร่ำลากัน แล้วเราก็เดินจากร้านกาแฟด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นที่ถูกส่งถอดจากคุณณัฐนันท์ ก่อนจะนิ่งไปเพราะเพิ่งรู้ตัวได้ว่า “อ้าว…ไอ้เราก็ลืมขอลายเซ็นต์เธอนี่นา”

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ณัฐนันท์ แสงวรรณ์ลอย รุ่นพี่นักศึกษา BU International College มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ได้เรียนรู้อะไรเล็ก ๆ ทุกวัน สนุกดีนะ