โลกแห่งฝันของนักเขียนบทหนังผู้ไม่เคยยอมแพ้ พี่มาร์วิน-รุ่นพี่ BUDC ม.กรุงเทพ

แบ่งปันประสบการณ์การทำหนังและมินิซีรีส์ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

         เมื่อรู้ว่ามีความชอบในการเล่าเรื่อง การทำภาพยนตร์ การทำแอนิเมชัน การเขียนเรื่องสั้น การแต่งนิยาย มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม ทำให้ พี่มาร์วินภัทรพงศ์ เพ็งอ่วม ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในการเรียนรู้ที่ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขา Producing for Animation and Visual Effects ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พี่มาร์วิน-ภัทรพงษ์ เพ็งอ่วม รุ่นพี่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         การเข้ามาเรียนที่นี่เปิดโอกาสให้พี่มาร์วินได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในงานที่เกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่อง ทั้งการรวมกลุ่มกับนักศึกษาที่สนใจการเล่าเรื่อง Storyteller BU เรียนรู้เรื่องการเขียนเรื่องสั้น วาดการ์ตูน วาดภาพประกอบ อีกทั้งยังเข้าร่วมโครงการ Content Creator x Be You LIFE และรวมไปถึงการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทางด้านการทำคลิปไวรัล ทำภาพยนตร์สั้น ในหลายเวทีมากมาย

         หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมประกวดทำมินิซีรีส์ โครงการ New Perspective Mini Series มุมมองใหม่ ใส่ใจประโยชน์สาธารณะ เน้นการนำเสนอแนวคิด Social Enterprises และความยั่งยืน โดยสามารถเลือกผลิตซีรีส์ในประเด็นเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

         โครงการ New Perspective Mini Series มุมมองใหม่ ใส่ใจประโยชน์สาธารณะ จัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

         เส้นทางการทำโครงการมินิซีรีส์ของพี่มาร์วินจึงเริ่มต้นขึ้น โดยได้ร่วมทีมกับรุ่นน้องนักศึกษา ได้แก่ น้องเบอร์ดี้เชิดศักดิ์ ประจักษ์ และน้องฟาร์คณพัฒน์ เย็นเกษม นักศึกษาสาขาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายใต้ชื่อทีมที่ใช้ประกวดแข่งขันว่า Be You LIFE

         เราจึงอยากชวนมาติดตามเรื่องราวของการคิด การเขียนบท การออกกองถ่ายทำมินิซีรีส์เพื่อสังคมจากพี่มาร์วินไปพร้อมกัน เรียกได้ว่าได้เรียนรู้ทุกกระบวนการทำมินิซีรีส์ Pre-Pro-Post Production เลยทีเดียว

สนใจเรียนรู้จากการลงมือทำจริง

         พวกเราพบกับพี่มาร์วินทางออนไลน์ พี่มาร์วินแนะนำตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า สวัสดีครับ มาร์วินนะครับ เรียนอยู่ที่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขา Producing for Animation and Visual Effects ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         เราถามต่อถึงผลงานมาสเตอร์พีซที่พี่มาร์วินเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศเมื่อต้นปี 2565 พี่มาร์วินเล่าว่างานประกวดชื่อโครงการ New Perspective Mini Series เป็นการผลิตมินิซีรีส์สร้างสรรค์สังคม พี่เห็นข้อมูลจากที่อาจารย์แจ้งข่าวในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

         โดยโครงการมีการคัดเลือกผู้สมัครอย่างเข้มข้น แบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกคือคัดเลือก 20 ทีม รอบสองคัดเลือก 5 ทีม ตัวพี่เองเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ มีน้องที่ร่วมทีมเรียนด้านนิเทศศาสตร์ พวกเราจึงรวมตัวกัน ลองส่งเรื่องย่อและ Storyboard ไปสมัคร พวกเราได้ผ่านเข้ารอบแรก ตอนนั้นก็ดีใจกันมากแล้ว เราก็ลงมือทำงานอย่างเต็มที่ มีการไปเวิร์คช้อปได้ความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากรที่โครงการจัดให้พวกเราด้วย

ได้เงินทุนสนับสนุนการทำมินิซีรีส์ บวกกับพลังของการทำงานเป็นทีม

         การผลิตมินิซีรีส์ เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องทำงานเป็นทีม พี่มาร์วินเล่าต่อว่า ตอนเเรกตั้งเเต่ประกวดรอบเเรก ทีมที่ทำหลักจะมี 3 คน เเต่ว่าพอมาทำงานจริง ผ่านเข้ารอบมาเเล้ว ได้เงินทุนมาทำตัวเต็มของ Mini Series

         เราชวนเพื่อนในคณะอีกหลายคนมาด้วย เป็นการรวมตัวของคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ กับคณะนิเทศศาสตร์ รวมเป็นกลุ่มเดียวกัน การไปชวนเพื่อนก็ชวนปกติ เรามาทำ Mini Series กันไหม เราได้เงินทุนมา เเล้วเพื่อนที่เรียนทำหนังด้วยก็ช่วยกันทำ เป็นปกติของคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์อยู่เเล้ว เราจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราสามารถชวนเพื่อนมาช่วยกันทำได้ เเลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะทุกคนก็อยากได้เครดิต อยากได้ประสบการณ์เพื่อนำไปต่อยอดกับสายการเรียนหรืองานของตัวเอง

ขั้นตอนการผลิตและเรื่องราวของมินิซีรีส์

         โครงการที่พี่เข้าร่วมมีการคัดเลือก 2 รอบใหญ่ รอบแรกคัดเลือกจากตัวเนื้อหาที่ส่งไป รอบที่สอง เป็นรอบ 20 ทีม ผ่านการคัดเลือกได้เงินทุนมาผลิต มินิซีรีส์ที่พี่ทำรอบแรกชื่อเรื่องว่า ขยะกับเธอ เป็น Mini Series Yaoi ผสมผสานกับเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งเเวดล้อม บางคนอาจจะสงสัยว่า Yaoi คืออะไร Yaoi อ่านว่ายาโอย หมายถึงเรื่องราวที่มีตัวละครเป็นคู่รักแบบชายรักชาย

         ขยะกับเธอ เป็นเรื่องของเด็กชายสองคนที่เรียนคณะบริหารธุรกิจ เเล้วต้องทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์ อีกคนหนึ่งบ้านเป็นโรงงานผลิตขยะ ส่วนอีกคนบ้านเป็นโรงงานคัดเเยกขยะ เเล้วคราวนี้สองธุรกิจนี้ก็เลย ขัดเเย้งกัน แต่สุดท้ายก็รักกัน อยากรู้แบบละเอียดต้องไปติดตามดูทาง Youtube ของ Be You LIFE เรื่องนี้ที่ทำก็ลุยกันไปแบบเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากปัญหาจริง แก้ปัญหากันทุกขั้นตอน

         พอเราทำเรียบร้อยก็ส่งทางโครงการ ปรากฏว่าทีมเราได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 5 ทีม ที่ได้รับทุนมาผลิตซีรีส์ในรอบสุดท้าย ทางโครงการให้งบมากกว่าเดิม จาก 15,000 บาท ก็เป็น 25,000 บาท ผลิต 5 ตอน ครั้งนี้เราทำเรื่องที่ชื่อว่า เค้กมหัศจรรย์วัยอลเวง

         เรื่องราวของคุณลุงกับเด็กวัยรุ่นที่ไม่ค่อยเข้าใจกัน เป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap ที่หลายคนต้องเผชิญ แล้วมีความมหัศจรรย์เกิดขึ้นในเรื่อง มีการย้อนวัยกันเกิดขึ้น พอคุณลุงมาอายุเท่ากันกับเด็กก็เรียนรู้มุมมองของกันและกัน อันนี้ต้องไปติดตามดูที่ Youtube Be You LIFE ให้แง่คิดหลายอย่างในสังคมไทยเลย

ที่มาของเรื่องราวและแรงบันดาลใจในการทำผลงาน

         พี่มาร์วินอธิบายว่า พล็อตหรือเรื่องราวบนโลกมีไม่กี่อย่าง เช่น ความรัก ย้อนวัย กลับมาเกิด ถ้ามาเปรียบกับเรื่องขยะกับเธอและเรื่องเค้กมหัศจรรย์วัยอลเวง เอาจริง ๆ พี่ไม่ได้เอา Reference จากหนังเรื่องใดมาเป็นแรงบันดาลใจเลย แต่ว่าก็จะมีกลิ่นอายจากซีรีส์ที่ชอบ มีในส่วนของพวกภาพ ฉาก สี ภาษาบ้างที่เอาหลายเรื่องมาผสมผสานกัน อย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง 18 Again เกี่ยวกับการย้อนยุค ซีรีส์เรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ ซีรีส์เเค่เพื่อนครับเพื่อน ภาษาที่ตัวละครใช้ก็เป็นแนววัยรุ่น

อุปสรรคคือโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

         การผลิตมินิซีรีส์มีหลากหลายองค์ประกอบที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่กระบวนการ Pre-Production ขั้นนี้คือการเตรียมการทุกอย่าง คิดเรื่อง เขียนบท เตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์ในการถ่ายทำ นัดหมายทีมงาน นัดหมายนักแสดง ส่วนขั้นที่สองคือ Production คือการลงพื้นที่ไปถ่ายทำจริง ให้เสร็จตามวันเวลาที่วางไว้ และขั้นสุดท้ายคือ Post-Production การตัดต่อ เล่าเรื่อง ใส่เพลง ใส่กราฟิค ทำองค์ประกอบของงานให้สมบูรณ์

         พี่มาร์วินนั่งแท่นในตำแหน่ง Producer และเขียนบท ซึ่งก็ต้องเรียนรู้และจัดการกับปัญหาหลายอย่าง พี่มาร์วินเล่าว่าอุปสรรคสำหรับพี่ในตอนที่ถ่ายทำ เป็นเรื่องปกติของการออกกองที่พบเห็นได้ทั่วไป ถึงแม้ว่าเราจะทำแผนในการถ่ายทำมาแล้ว ที่เขาเรียกกันว่า Breakdown ฉากแต่ละฉากจะถ่ายทำอย่างไร ที่ไหน เสร็จเมื่อไหร่ ใครอยู่ในฉากบ้าง แต่เวลาอยู่หน้างานจริง ก็อาจจะไม่ตรงกับแผนที่เราวางไว้ ต้องยืดหยุ่นบ้าง

         ส่วนเรื่องงบประมาณที่ได้มา ก็ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน ให้ใช้จ่ายในกองถ่ายได้ บางทีก็มีเกินจากงบ 25,000 บาท ที่ได้รับมาบ้าง ออกเงิน แชร์เงินกันเองบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้

         อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้คือเรื่องสถานที่ ต้องทำเอกสาร ประสานงานเรื่องขอสถานที่ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างในเรื่องเค้กมหัศจรรย์วัยอลเวง เราต้องขอใช้สถานที่ร้านคาเฟ่ที่ใช้ถ่ายในเรื่อง การทำงานครั้งนี้ในฐานะ Producer หรือผู้ควบคุมการผลิต เราทำงานคุยกับหลายฝ่ายมาก เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

เขียนบทคืองานที่รักและถนัด

         ส่วนงานเขียนบทเป็นงานที่พี่มาร์วินมี Passion อยู่แล้ว เพราะเคยเขียนบท Thesis โปรเจกต์งานของนักศึกษาที่เรียนทางด้านดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์และสนุกกับการทำงานมาก

         สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเราต้องจัดการงานให้เสร็จตามเวลา เรามีเวลาประมาณแค่ 20 กว่าวันในการถ่ายทำ เขียนบท รวมทุกอย่าง การถ่ายทำหนัง อย่างที่บอกไปจะมี 3 ช่วงก็คือ Pre-Production, Production, และ Post-Production ถ้าการเตรียมงานไม่แข็งแรงที่เหลือก็คือพังหมดเลย

         ดังนั้นถ้าเราจะทำหนังเรื่องหนึ่ง ต้องเป๊ะตั้งแต่ขั้นการวางแผน การทำงานที่ได้รับโจทย์มาค่อนข้างท้าทายที่เราต้องตอบโจทย์ด้วย เราจะทำอย่างไรให้สื่อกับคนดู ทำให้เรารู้สึกว่ามี Passion ในการจะทำเรื่องนี้ พยายามถาม พยายามคุยกันให้มากที่สุดในทีม งานจะดำเนินไปได้ต้องใช้ความพยายาม

ความรู้สึกหลังที่ได้รางวัลชนะเลิศ

         ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร จากที่ลงมือทำงานอย่างหนักหน่วง ผลปรากฏว่ามินิซีรีส์เรื่องเค้กมหัศจรรย์วัยอลเวง คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา 120,000 บาท พี่มาร์วินบอกว่า แน่นอนเลยคือรู้สึกดีใจที่ได้เงินรางวัล ภูมิใจด้วย เพราะว่าการที่เราทำหนังเรื่องหนึ่ง มันไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ตัวเรา เป็นความสำเร็จของเพื่อนร่วมทีมกว่า 40 คน ที่เราชวนมาทำ พวกเขาได้ความภาคภูมิใจไปด้วย เขาก็มีเครดิตที่ได้เข้าร่วมโปรเจกต์ ส่งไปสมัครงานได้ มินิซีรีส์เป็นงานค่อนข้างใหญ่มากและทุกคนก็พยายามช่วยกันให้มันออกมาดีที่สุด

ประสบการณ์ที่ดีหรือสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการทำ Mini Series

         พี่มาร์วินเน้นย้ำว่าจากการทำโปรเจกต์นี้ ทำให้ตัวเขาเติบโตเรียนรู้ในฐานะ Producer ด้วย เพราะบทบาทของโปรดิวเซอร์ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการทำงาน เรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นอย่างเช่นเรื่องการจัดการงบประมาณ รวมถึงเรื่องการประสานงาน การสานสัมพันธ์กับคนในทีม พี่ได้มิตรภาพก็คือเรารู้จักคนในกองมากขึ้น ได้สร้างมิตรที่ดีภายในรั้วมหาวิทยาลัย

งานที่รักและกำลังสานต่อ

         นอกจากความสนใจในการทำภาพยนตร์ ทำมินิซีรีส์แล้ว พี่มาร์วินยังเขียนนิยายในแพลตฟอร์มออนไลน์ พี่มาร์วินอธิบายว่า เมื่อเปรียบเทียบกันการเขียนบทหนังจะยากกันคนละแบบ นิยายสามารถเขียนอิสระกับตัวเองได้ บางฉากบางซีนเราสามารถเพ้อบรรยายตั้งแต่ต้นจนจบ

         ส่วนบทหนังยากตรงที่เราต้องคอยดูทุกฉากจะทำยังไงให้คนดูไม่เบื่อ มีปัจจัยมากมายเกี่ยวข้องเพราะภาพยนตร์ใช้เวลาคิดค่อนข้างเยอะ สื่อสาร พูดกับผู้พูดสนับสนุน คุยกับทีมงาน คุยกับผู้กำกับ หลายความคิดทำให้ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ภาพยนตร์แสดงความเป็นตัวเองน้อยกว่านิยาย ขณะที่นิยายอยู่ในโลกของตัวเองมากกว่า

การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

         สำหรับพี่ก็คงเป็นการฝึกเขียนนิยายให้บ่อย เวลาว่างก็จะมานั่งเขียนนิยาย เวลามีคนมาติชมนิยายของเรา การใช้ภาษาเขียนของเราทั้งดีและไม่ดี พี่จะนำมาปรับและนำมาทบทวนตลอด ตรงนี้เราดีแล้ว แต่จะสามารถทำได้ดีกว่านี้ไหม หรือตรงไหนเราผิดพลาด หาสาเหตุของว่าทำไม แล้วแก้ไขทันที อย่าคิดอยู่แต่ในกรอบ ถ้าชอบการทำหนังก็ต้องหมั่นดูหนังให้มากที่สุด วิเคราะห์หนังสม่ำเสมอ และยิ่งไปกว่านั้นการได้ลงมือทำจริงจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จกับตัวเองมากขึ้น

อนาคตที่วางแผนไว้หลังจากเรียนจบ

         พี่ชอบไปทางการเขียนบทภาพยนตร์ ทำงานด้านคอนเทนต์ ทำรายการช่องอาหาร ติดตามผลงานมินิซีรีส์ของพวกเราที่ YouTube New Perspective Mini Series, Youtube Be You LIFE แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ลงนิยายสามารถติดตามได้ทุกแพลตฟอร์มในนามปาก Mawin is Happy และเป็นกำลังให้กันได้ทาง IG:marvinnnnnnnnnn

         ตัวพี่เองในอนาคตก็ยังไม่ได้แน่ใจว่าจะไปทำอะไร แต่เมื่อเรามีความฝันที่ชัดเจน เราก็จะพยายามไปให้ถึงฝันให้ได้มากที่สุด จะทำได้หรือทำไม่ได้ ก็ขอให้ได้ลองดูก่อน เราจะได้ไม่มานั่งเสียใจทีหลังในวันที่ไม่มีโอกาสได้ทำแล้วครับ

         เชื่อแน่ว่าระหว่างการเดินทางไปตามความฝันที่หวังไว้ มีเรื่องที่น่าเรียนรู้อีกมากมาย ขอเพียงคิดฝัน จินตนาการ และทำให้เป็นความจริง ทุกจังหวะการเดินทางของชีวิตก็จะมีความหมายมากยิ่งขึ้น ดังเช่นเรื่องราวของ พี่มาร์วินภัทรพงษ์ เพ็งอ่วม รุ่นพี่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบพี่มาร์วิน-ภัทรพงษ์ เพ็งอ่วม รุ่นพี่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ