หนึ่งในงานที่หลายคนใฝ่ฝันคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ (Film Director) จะดีแค่ไหนถ้าเราได้เริ่มต้นทำงานนี้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ ปั้น-พงศ์ปณต ชายกุล รุ่นพี่สาขาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาเจอตัวตนและได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะมีใจรักในการทำภาพยนตร์ มีแพชชั่นที่ลุกโชน มุ่งมั่น และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
เมื่อโอกาสมาถึงเขาจึงไม่พลาดที่จะคว้ามันไว้ โอกาสครั้งสำคัญคือการร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Viu ภายใต้ชื่อ โครงการ Viu x DiMC x BUDC โครงการพิเศษเฉพาะสำหรับนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ทำให้เขาได้รับโอกาสในการผลิตภาพยนตร์สั้น และได้รับการคัดเลือกฉายทาง Viu เรามาติดตามเรื่องราวของผู้กำกับหน้าใหม่คนนี้ไปด้วยกัน
ความชอบต่อยอดสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่
เมื่อรู้ตัวเองว่าชอบการเล่าเรื่องด้วยภาพและงานวิดีโอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปั้นเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ยิ่งได้เข้ามาเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ ยิ่งทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นและมีความฝันที่จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
เขามีแรงต่อสู้กับการเรียน การทำงานในแต่ละวัน ทำให้มองเห็นว่าในทุกการทำงานจะมีข้อผิดพลาด ฝากรอยแผล เพื่อให้เรานำไปปรับปรุง พัฒนาตัวเองเสมอ และสิ่งนั้นจะผลักดันให้เรามองเห็นตัวตนของเรามากยิ่งขึ้น
การเรียนที่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ยังเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เจอเพื่อนใหม่ที่มีความชอบเหมือนกัน เรียนรู้จากรุ่นพี่ อาจารย์ รวมถึงอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่เข้ามาสอน เปิดโลกในการเรียนรู้ให้กับเขาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการได้ชมภาพยนตร์ที่ได้รับการแนะนำจากอาจารย์
กล้า เรียนรู้ และลงมือทำ
แม้ว่าจะยังเรียนหนังสืออยู่ ทว่าการได้มีโอกาสทำงานไปด้วยคือการเติมประสบการณ์ ฝึกฝนฝีมือในการทำงาน ปั้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ทำเช่นนี้มาเรื่อย ได้เจอมุมมองการทำงานจากเพื่อนร่วมงานมากมาย
จนได้พบกับ โครงการ Viu x DiMC x BUDC โครงการพิเศษเฉพาะสำหรับนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมมือกับ Viu แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังที่ให้บริการเนื้อหาด้านความบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ และคอนเทนต์ออนไลน์มากมาย ที่ให้โอกาสนักศึกษาส่งโปรเจคผลิตภาพยนตร์เข้าร่วมคัดเลือก ผลงานของปั้นและเพื่อนผ่านเข้ารอบเป็น 1 ใน 4 ทีม จากทั้งหมด 84 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกไปผลิตเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ ออกฉายทาง Viu
เขาบอกว่าถ้าเราปิดกั้นโอกาสที่เข้ามา เพียงเพราะกลัวจะผิดหวังหรือผิดพลาดในสิ่งที่ทำ เราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน หากเราไม่เริ่มลงมือทำ แล้วเมื่อไหร่เราจะประสบความสำเร็จ ความกลัวเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนกลัวได้แต่ต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันและแก้ไขปัญหา ทำทุกอย่างให้เต็มที่แล้วเราจะมีความสุขกับผลงานที่ออกมา
เขาได้เล่าย้อนให้ฟังถึงการทำโปรเจคนี้เริ่มต้นจากการรวบรวมเพื่อนในคณะ แล้วเริ่มระดมความคิดในการเขียนบท Viu สนใจบทภาพยนตร์ของเขาและเพื่อน จึงได้ผ่านเข้ารอบต่อไป เมื่อได้ผ่านเข้าไปทำงานอีกขั้นหนึ่ง เต็มรูปแบบแล้ว พวกเขาจึงต้องวางแผนการถ่ายทำ รวมถึงตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน เพื่อนจึงไว้ใจเลือกให้เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
เนื่องจากปั้นค่อนข้างมีแนวทางการเล่าเรื่องเป็นของตัวเอง และเป็นแนวทางที่ชัดเจนต่อบทภาพยนตร์เรื่องนี้พอสมควร ผลงานงานภาพยนตร์เรื่องนี้จึงใช้ชื่อว่า The Uncle เฮ้ย! ลุง นี่ร่างผม ซึ่งแสดงถึงจุดเด่น บอกเล่าเรื่องราวของเรื่องได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ผลงานเรื่องนี้จึงกำกับโดย ปั้น-พงศ์ปณต ชายกุล และโปรดิวเซอร์โดย แบม-พลอยทิพย์ คนยืน เพื่อนนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปภาพยนตร์เช่นเดียวกัน
ก้าวแรกของความสำเร็จ
ในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ เขาค่อนข้างกดดันในการร่วมงานกับองค์กรใหญ่อย่าง Viu เพราะอยากทำออกมาให้ดีที่สุด แต่ละขั้นตอนของการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนั้นมีปัญหาเล็กน้อยมาให้คอยแก้อยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องง่ายไปจนถึงเรื่องยาก แต่ด้วยสปิริตและความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ทำให้ก้าวผ่านไปได้
เขายังได้มีโอกาสร่วมงานกับทีมงานที่เก่งและนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง คุณพีค–ภีมพล รับบท เกมส์ คุณต้นหลิว–มรกต รับบท ฝ้าย ทั้งสองเป็นพระเอกนางเอกของเรื่อง และอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญคือ พี่ประชา ครองข้าวนาสาร รับบท ลุงพล
ตอนแรกเขาไม่เคยได้กำกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง จึงสร้างกำแพงเล็ก ๆ ในใจ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้งานค่อนข้างใหญ่ ทำให้รู้สึกว่าตนเองกับนักแสดงค่อนข้างห่างไกลกัน ไม่กล้าเข้าไปพูดคุย หรือทำอะไรมากเกินไป เพราะกลัวเกิดข้อผิดพลาด
ทว่าสิ่งที่ทำให้ผู้กำกับหน้าใหม่และนักแสดงเชื่อมถึงกันได้คือพี่แอคติ้งโค้ช ที่มาโค้ชชิ่งนักแสดง และแน่นอนว่าทุกตำแหน่งต้องมาประสานงาน คุยงานกับเขาอยู่แล้วในฐานะผู้กำกับ ทำให้เริ่มพูดคุยได้ง่ายมากขึ้นกับนักแสดง และเมื่อได้เข้าถึงตัวนักแสดงแล้ว เขาเล่าว่ารู้สึกดีมาก ๆ เพราะนักแสดงนิสัยดี น่ารักกันทุกคน ช่วยทลายกำแพงตรงนี้ไปได้อย่างสวยงาม
มุมมองชีวิตการทำงาน
จากการเรียนสู่การทำงานจริง มุมมองของเราที่มีอาจเปลี่ยนไป ปั้นมองว่าทุกส่วนของการทำงานมีความท้าทาย โดยเฉพาะการทำงานกับผู้คนคือสิ่งยากสุด เพราะต้องพูดคุย โต้ตอบซึ่งกันและกัน ในรูปแบบที่ต้องเข้าใจกันจริง ๆ มันไม่สามารถที่จะพูดคุยอะไรเรื่อยเปื่อย หรือตัดสินใจเร่งด่วนได้เลย ในฐานะของผู้กำกับคิดว่าตัวเองต้องแข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ ตัดสินใจเด็ดขาดในตำแหน่งนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ควรจะมีความยืดหยุ่นเช่นกัน เพราะในแต่ละปัญหาก็ต้องแก้ไขต่างกันออกไป ปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสถานการณ์เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
การสนับสนุนจาก Viu
เขายังเล่าอีกว่าประทับใจ Viu ที่มอบโอกาสที่ดีให้ เพราะไม่คิดว่าจะได้ทำงานที่ดึงตัวตนและศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งโอกาสที่ได้รับทำให้เราได้มองเห็นตัวตนชัดเจน พัฒนาตัวเองได้มากขึ้นกว่าที่เคย ทางองค์กรได้สานฝันให้นักศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่แค่การขายฝัน
พี่ทีม Viu ทำงานกันเต็มที่มาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเตรียมงาน ช่วงถ่ายทำ และในทุกช่วงจะมีทีมมาดูแล ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี พร้อมสนับสนุนทุนสร้างมาเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ให้บริหารจัดการกันเอง และให้ความสำคัญกับทุกตำแหน่งหน้าที่ ปั้นและเพื่อนได้ลงมือทำงานกันเองอย่างเต็มที่
เรียนรู้จากข้อผิดพลาดแล้วเราจะเก่งขึ้น
การที่ได้มีโอกาสทำงานตั้งแต่ยังเรียน เป็นการเปิดโลกกว้างทางความคิด ปั้นเล่าว่าการได้ทำงานในมหาวิทยาลัยค่อนข้างแตกต่างกับการทำงานด้านนอกอย่างเห็นได้ชัด เพราะการทำงานในมหาวิทยาลัยยังได้มีการร่วมงานกับเพื่อนที่เป็นสายงานเดียวกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน เคยรู้จักและเรียนมาด้วยกัน ทำให้กล้าทำอะไรได้เต็มที่มากกว่า
ทั้งนี้เมื่อได้ไปทำงานนอกมหาวิทยาลัยหรืองานที่มีขอบเขตงานที่ใหญ่มากขึ้น จึงทำให้มีความกดดันสูง เนื่องจากต้องทำงานกับมืออาชีพ Professional อีกหลายท่าน ทำงานกับคนที่ไม่เคยรู้จัก และการวางแผนงานทุกอย่างล้วนมีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น ทำให้เขาต้องมีความแม่นยำในทุกส่วนของงานก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบตามมา
คนเราทุกคนไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด อยู่ที่เราจะเรียนรู้ แก้ไข และนำไปพัฒนา เขาแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังอีกว่าตนเองก็เคยทำงานผิดพลาด นั่นคือการวางแผนที่น้อยเกินไปในบางฉากที่ไม่เคยทำหรือพึ่งเคยทำ เช่น ฉากต่อสู้กัน จะต้องมีเลือด การวางแผนไม่ดีทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน จากที่วางแผนว่าฉากนี้สามารถถ่ายได้หลายรอบ กลายเป็นต้องถ่ายแค่รอบเดียว
ส่วนตัวเองคิดว่ามันคือการเตรียมตัวที่ไม่มากพอของตนเอง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือการเรียกประชุมกับทางทีมของตนเอง และปรับเปลี่ยนแผนงานเล็กน้อยให้ดำเนินต่อไปได้ เขาเชื่อว่าข้อผิดพลาดทำให้เราเก่งขึ้น เพราะได้แก้ไขปัญหา หากในวันข้างหน้าเจอปัญหาอีกเราก็จะมีเกราะกำบัง และสามารถเอาชนะปัญหานั้นได้
แนะนำการทำงานในวงการภาพยนตร์
คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับวงการภาพยนตร์มากขึ้น เราจึงอยากให้ปั้นแนะนำในฐานะรุ่นพี่และคนที่ก้าวขาเข้าวงการภาพยนตร์ เขาบอกว่าในวันหนึ่งเราก็ต้องกลายเป็นคนยุคก่อนในสายตาของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเราอาจจะไม่ได้เข้าใจความนึกคิดของเด็กสมัยใหม่ที่จะมาทำงานต่อจากเรามากนัก ประเด็นนี้ทำให้เขาคิดเสมอว่าต้องพัฒนาตนเอง เรียนรู้เท่าทันสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ เพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในวงการนี้เช่นกัน หากยุคสมัยยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดอยู่ที่เดิมได้ ถ้าเรายังอยากทำงานตรงนี้อยู่
สิ่งที่เขาอยากฝากกับน้องหรือเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในวงการภาพยนตร์หรือวงการบันเทิง สิ่งที่ต้องเจออย่างแน่นอนคือช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ หมดกำลังใจ รุ่นพี่ผู้กำกับหน้าใหม่คนนี้อยากให้มองในมุมที่ว่าสิ่งที่เราต้องการแท้จริงนั้นคืออะไร ค้นหาตัวเองให้เจอและหาให้ลึกลงไป เพื่อให้ตัวเราค้นพบทางที่เราต้องการ แต่ถ้าเรายังไม่เจอก็ไม่ต้องกังวล
อยากให้ทุกคนลองลงมือหาประสบการณ์อย่างเต็มที่ อย่าใช้คำว่าไม่พร้อมมาเป็นข้ออ้าง เพราะเราทุกคนไม่มีทางรู้ว่าเราจะพร้อมเมื่อไหร่ หากไม่เริ่มลงมือ เชื่อว่าเราจะสามารถเข้าใจตัวเองและเจอเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างแน่นอน แม้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม
พวกเราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงเหมือนกับ ปั้น-พงศ์ปณต ชายกุล รุ่นพี่สาขาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพียงแค่เชื่อมั่นในตัวเอง ตั้งใจและลงมือทำอย่างเต็มที่ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา และโอกาสนั้นจะทำให้เราได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นเสนอ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ปั้น-พงศ์ปณต ชายกุล รุ่นพี่สาขาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ