เรียนรู้คู่ทำงาน จูเนียร์-รุ่นพี่เวิร์คอินเทค เรียนควบงานพัฒนาทาเลนท์ ม.กรุงเทพ

เต็มที่กับการเรียน ควบคู่ไปกับการทำงาน ได้ประสบการณ์ชีวิต

         แง้มเรื่องราวรุ่นพี่นักศึกษา Workinteg เวิร์คอินเทค เรียนควบงานพัฒนาทาเลนท์ มหาวิทาลัยกรุงเทพ เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นทั้งที่เรียนและที่ทำงาน ซูเปอร์นักศึกษา ผู้เรียนอย่างเต็มที่ และทำงานอย่างสุดเหวี่ยง!

         “เวลาทำงานมันได้แก้ปัญหาจริง ๆ มีแรงกดดันจริง ๆ ครับ เพราะมันมีเงินและเวลามาเกี่ยวด้วย แล้วการทำงานทั้งที่ยังเรียนอยู่ มันเป็นการชาเลนจ์ตัวเอง ต้องจัดการเวลาให้ดี ไม่งั้นทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียนจะพังไปง่าย ๆ ครับ”

         นี่คือคำพูดของ จูเนียร์-ศุภณัฐ โอดจันทึก รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ขณะนี้กำลังโลดแล่นกับการทำงานในฐานะฝ่าย VIDEO Production ของ BU Connect แพลตฟอร์มออนไลน์ของสายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้งยังถูกจ้างงานจากสตูดิโอนอกเป็นครั้งคราว นับว่าชีวิตเขาคนนี้เริ่มต้นด้วยสีสันตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของชีวิตมหาลัยเลยทีเดียว

         ใต้เงาไม้จาง ๆ ในวันที่แดดอบอ้าว เรานัดสัมภาษณ์จูเนียร์บริเวณโต๊ะหินอ่อนในรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ที่เขาทั้งเรียนและทำงานอย่างสุดเหวี่ยงเกินคนวัยเดียวกัน มุมปากของเขาถูกยกยิ้มเล็ก ๆ บ่งบอกถึงความภูมิใจในประสบการณ์เหล่านั้น

ชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วยหนึ่งอีเมล์ Workinteg เรียนควบงานพัฒนาทาเลนท์

         จูเนียร์อธิบายว่า เวิร์คอินเทค (Workinteg) เรียนควบงานพัฒนาทาเลนท์ คือหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย และเป็นโครงการของทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานควบกับการเรียน ทั้งยังมีค่าตอบแทน เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่เขาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ได้ออกกอง ได้ประสานงานกับบุคคลอื่น และสำคัญที่สุดคือได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นรายได้เสริม ยังนับเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชั้นดี ที่ไม่มีในห้องเรียนเสมอไป

         “ตอนแรกผมก็ไม่รู้จักเลยเหมือนกันครับว่า เวิร์คอินเทคคืออะไร ตอนผมอยู่ปีหนึ่งก็เห็นชื่อนี้ถูกส่งมาในอีเมล์ ก็เห็นว่ามีเปิดรับสมัครทีมงานของ BU Connect มีทีมวิดีโอ ทีมเขียน ทีมถ่ายภาพ มีตำแหน่งเยอะมากเลยครับ แล้วเห็นว่าเป็นงานในมหาลัยที่ได้ค่าตอบแทนด้วย แล้วตอนนั้นเป็นช่วงปี 1 เทอม 2 ครับ มีงานในมหาลัยเยอะมาก แต่ก็รู้สึกเหนื่อย เพราะเป็นงานที่ทำแล้วไม่ได้ตังค์ เป็นการทำงานฟรี ๆ ที่ทำเพื่อเก็บประสบการณ์ให้ตัวเองเก่งขึ้นเรื่อย ๆ”

         จูเนียร์เล่าพลางกวาดสายตามองดูพื้นที่มหาวิทยาลัย สถานที่ที่เขาเคยใช้ในการออกกองถ่ายทำ

         “แล้วจนถึงจุดนึงที่เราไปเจอเวิร์คอินเทค ทำให้เราคิดกับตัวเองว่าอยากลองชาเลนจ์ตัวเองอีกสักทีนึง ถ้าเราลองไปทำงานแบบว่าจ้างงาน ระบบงานก็จะเข้มข้นขึ้น มีการพรู้ฟงานที่เข้มงวดขึ้น หรือจะมีมุมมองอีกแบบนึงที่เราไม่รู้มาก่อนแน่ ๆ พอคิดแบบนั้น ก็เลยลองสมัครไปดูครับ”

         ไม่นานจากนั้นจูเนียร์ก็ได้เข้าสัมภาษณ์ จากที่คิดว่าจะเครียดจะตกตื่น พอถึงเวลาจริงกลับไม่มีอาการเหล่านั้นเลย เพราะฝ่ายสัมภาษณ์งานคืออาจารย์ที่เขารู้จักกันบ้างอยู่แล้ว การสัมภาษณ์นั้นจึงกลายเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่มีความตึงเครียด จนได้ทำงานในที่สุด

         บทบาทหน้าที่ของจูเนียร์ในงานที่ทำคือเป็นผู้นำในการดูแลกระบวนการผลิตของงาน Clip Video Production Pre-Pro-Post Production ตั้งแต่เรื่องการคิดประเด็น เลือกประเด็น นำเสนองานในที่ประชุม เขียนบท ดูแลการถ่ายทำ การออกกอง ติดต่อประสานงานส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงดูแลการตัดต่อ จนถึงส่งงาน ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ใช่เขาทำเพียงคนเดียว แต่มีเพื่อนร่วมทีมที่เข้ามาช่วยแบ่งเบา รับภาระ ช่วยกันแจกจ่ายงานไปให้แต่ละคนที่ถนัด โดยเขามีทีมผลิตที่เรียกตัวเองว่า One Way Production รวมทั้งหากมีการ Live ออกอากาศสดผ่านทาง Social Media เขาก็คอยดูแลจัดการแบ่งงานให้เพื่อนในทีมด้วยเช่นกัน

การทำงานคือการแก้ปัญหา

         “ที่ได้เรียนรู้หลัก ๆ เป็นเรื่องการแก้ปัญหาต่าง ๆ ครับ เพราะในแต่ละงานจะมีปัญหาเฉพาะของมันเองที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ถ้าไม่ระวัง อย่างเรื่องการออกกองอย่างนี้ มันก็จะมีเรื่องการดูแลอุปกรณ์ถ่ายทำ เรื่องบุคลากรคน เรื่องการประสานงาน แล้วหลายครั้งจะมีจุดที่เราติดขัดระหว่างทำงานด้วยน่ะครับ ซึ่งพอเราเจอปัญหา เราก็เรียนรู้ใช่ไหมครับ พอเจอแบบนี้อีกครั้งต่อไป เราก็จะแก้ได้”

         เขาใช้เวลาสักพักนึกเรื่องราวมายกเป็นกรณีตัวอย่าง “อย่างงานสตรีมมิ่งของ BU Connect ที่นับได้ว่าเป็นงานใหญ่ครับ คราวนั้นเราสตรีมงาน BU Job Fair กัน แต่เกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้นครับ คือหลัก ๆ งานนี้ต้องการให้ถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ทุกตัวในมหาวิทยาลัยแต่ปัญหาที่ว่ามันเกิดในลิงก์สัญญาณที่ส่งไปครับ บางครั้งภาพมา แต่เสียงไม่มา ไม่ก็มีภาพมาเสียงมา แต่ภาพมาแค่ครึ่งเดียวเฉยเลย ในครั้งนั้นก็เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการติดต่อไปทางทีมที่ดูแลเรื่องระบบครับ คือพยายามหาทางแก้ด้วยกันครับ จะให้เขาเปิดคลิปที่ว่าในไลฟ์ได้ไหม หรือจะส่งลิงก์ให้เขาแทนไปเลย”

         “ถ้าเป็นการทำงานกับคนในทีม สำหรับผมไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ เพราะในช่วงที่รวมทีมกันทำงาน เราเกิดจากคนที่รู้ใจกัน ทำงานด้วยกันได้อยู่แล้วด้วย รู้ว่าตรงนี้ ๆ ควรทำอย่างไรในหน้าที่ของแต่ละคนนะครับ เลยไม่ค่อยเกิดปัญหาอะไรกันในทีม ถึงบางครั้งจะมีการโวยวายกันบ้าง ถ้าบางครั้งสภาพงานกำลังตึงเครียด แต่สุดท้ายก็หาทางไปต่อกันได้ สุดท้ายเราก็เข้าใจว่ามันคือฟีลการทำงาน ไม่บาดหมางครับ จบกันไป ขอโทษ แล้วทำงานต่อ แต่ถ้าพูดถึงการทำงานกับคนอื่นหรือทีมอื่น ถึงจะไม่บ่อยแต่ก็มีบ้างครับ ส่วนใหญ่จะเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะมุมมองของทีมนึงจะต่างจากอีกทีมนึงอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติครับ ตรงนี้เลยแก้ปัญหาได้ด้วยการมาคุยกันหลายครั้ง จะได้ปรับความเข้าใจ เรารู้ว่าในงานไม่ได้มีทีมเดียว มีหลายทีมอยู่ในนั้น เลยต้องใช้เวลาจูนกันครับ”

เวลาคือทรัพยากร โชคดีที่เขาเก่งเรื่องบริหารเวลา

         การเรียนและการทำงานอาจฟังขัดแย้งกันไม่มากก็น้อย เพราะสองกิจกรรมนี้มักจะใช้เวลาพอพอกัน เข้าคลาส ออกกองถ่ายทำ การบ้าน โพสต์โปรดักชั่น หรือส่งงานให้ลูกค้า มันคือความเหมือนที่แตกต่าง แล้วการทำสองอย่างนี้พร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย หากจูเนียร์กลับบริหารจัดการได้อย่างอยู่หมัด เขามีเคล็ดลับอะไร

         “สำหรับผม การทำงานกับไม่ได้กระทบกับการเรียนเลยครับ เพราะว่าผมอยู่ BUCA Talent ด้วย แล้วก็มีการทำงานเทียบวิชาอยู่แล้ว เราเอางานที่เราทำมาถอดองค์ความรู้เปลี่ยนประสบการณ์เป็นเกรด ซึ่งตรงนี้ก็จะลดหย่อนในภาระการเรียนบ้าง แต่ก็จะมีบ้างที่เหนื่อย อย่างตอนปี 2 เทอมแรกที่ไม่ได้เทียบเลย เรียนเต็ม ๆ แล้วก็ทำงานไปด้วย ล้าบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่ก็จัดการเวลาได้ครับ ต้องดูช่วงเวลาเรียนว่าสัมพันธ์กับเวลาทำงานไหม บางครั้งถ้างานจำเป็นกว่า ก็ต้องลาเรียนไปครับ แต่ถึงแบบนั้นก็ต้องดูว่าวิชานี้ลาไปเยอะหรือยัง แยกแยะกับชั่งน้ำหนักเอาครับ ว่าเวลาไหนงานสำคัญกว่า เวลาไหนเรียนสำคัญกว่า แต่ที่แน่ ๆ เวลาที่การเรียนสำคัญกว่าคือช่วงสอบครับ การสอบสำคัญมาก เราต้องไป”

ประสบการณ์หนึ่งปี ก่อเกิดเป็นความผูกพันที่อยากส่งต่อให้รุ่นน้อง

         “ในอนาคตก็ยังอยากทำงานกับมหาลัยไปเรื่อย ๆ ครับ ถ้าสมมติว่าจบไปแล้ว แล้วเขาเรียกกลับไปทำงานด้วยกัน ก็อยากกลับทำมาทำอีกครับ” เขายังเล่าเสริมอีกว่า นอกจากเขา ในช่วงปีที่ผ่านมาก็ยังมีน้องนักศึกษาหน้าใหม่เข้ามาทำงานในโครงการเวิร์คอินเทคอยู่เรื่อย ไหลเวียนเข้ามาแทนที่รุ่นที่ปี 4 ที่จบไป ถึงแม้จะยังมีทีมเก่าบางทีมที่ยังอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ก็มาเติมเต็มในช่องว่างเหล่านั้นได้อย่างดี

         “ผมมองว่าโครงการนี้เป็นพื้นที่ ๆ นึงที่เปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ พัฒนาตัวเองครับ แถมยังได้รายได้ตอนกำลังเรียนอยู่ด้วย แถมยังเป็นการทดสอบตัวเองว่าในสายงานนั้น ๆ เหมาะกับเราหรือเปล่า บางทีเราอาจคิดว่าชอบถ่ายรูป แต่พอลองได้มาทำจริง ๆ อาจชอบการเขียนบท ไม่ก็งานวิดีโอ แถมในงานจริง เราจะได้รู้ความกดดันของจริง ปัญหาของจริง มีเงินจริง ๆ ไหลเวียนในโปรเจกต์แต่ละโปรเจกต์ครับ ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากครับ”

         ได้ยินได้ฟังแบบนี้บอกเลยว่าคนรุ่นใหม่ เต็มที่กับการเรียน เต็มที่กับการทำงาน ทุกอย่างคือโอกาสของการเรียนรู้ การฝึกฝน การพัฒนาตนเอง เพื่อเติบโตไปเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ จูเนียร์-ศุภณัฐ โอดจันทึก รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ได้เรียนรู้อะไรเล็ก ๆ ทุกวัน สนุกดีนะ