เสียงนี้ของพี่เอง! ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน คลิปไวรัลต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มดังอย่าง Netflix, Disney+, HBO, VIU, Monomax หรือ True ID และอีกมากมาย ติณห์-เตชินห์ ศรีเบญจโชติ รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คนนี้ก็ให้เสียงพากย์มาเกือบหมดแล้ว!
เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ติณห์-เตชินห์ ศรีเบญจโชติ รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง (Broadcasting and Streaming Media Production-BRS) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับอาชีพศิลปินนักพากย์ในเงามืดที่ไม่เปิดเผยหน้าตา แต่ทุกคนคุ้นเคยกับน้ำเสียงของเขาเป็นอย่างดี ร่วมสำรวจและผจญภัยไปกับเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของการเป็นนักพากย์หน้าใหม่ ไฟแรง และมากฝีมือ เราหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ อาจจะช่วยจุดไฟฝันให้กับใครหลายคนได้!
โลกของการ์ตูนคือแรงบันดาลใจ
จากเด็กโลกส่วนตัวสูง ผู้ชื่นชอบ การ์ตูนกันดั้ม สุดใจ ฉายแววจะได้เป็นนักพากย์ ตั้งแต่เล่นปล่อยพลังคลื่นเต่ากับเพื่อนข้างบ้าน ใครว่านักพากย์ต้องช่างพูดช่างเจรจาเสมอไป เขาเปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนเงียบ ๆ โลกส่วนตัวสูง เป็นคนติดบ้านมาก และชอบสะสมโมเดลเป็นชีวิตจิตใจ มีโอกาสออกจากบ้านทีไร เป็นต้องแวะร้านขายโมเดลทุกครั้งไป โดยเฉพาะโมเดลกันดั้ม มาจากการชอบดูการ์ตูนกันดั้มซี้ด มาตั้งแต่เด็ก รวมถึงชอบเสียงพากย์ไทยของพระเอกเรื่องนี้ ซึ่งพากย์โดย น้าหนึ่ง-ภัทรวุฒิ สมุทรนาวี ผู้ให้เสียงพากย์พระเอกการ์ตูนสุดเท่ ในความทรงจำของใครหลายคน ทั้ง คุโด้ ชินอิจิ ในเรื่องยอดนักสืบจิ๋วโคนัน, ซุนโกคู ตอนโต จาก Dragon Ball Z รวมถึง ผลงานภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด (Batman: The Dark Knight Rises) น้าหนึ่งก็พากย์เป็น บรูซ เวย์น หรือ แบทแมน ฮีโร่สุดเข้มขวัญใจเด็กทั่วโลก
นี่คือจุดเริ่มต้นให้เด็กชายติณห์ตัวน้อย อยากพูดชื่อพลังท่าไม้ตาย จากการ์ตูนที่น้าหนึ่งพากย์ให้เท่ขาดใจได้อย่างเขาบ้าง เวลาเล่นกันเพื่อน เขาจึงเหมือนได้ฝึกทักษะการพากย์มาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ การแผดเสียง ทำท่าปล่อยพลังจากการ์ตูนเรื่องดังใส่เพื่อนนั่นเอง
ได้พากย์เป็นพระเอก แต่ชอบตัวร้ายมากกว่า
ผลงานที่ผ่านมาของติณห์ได้รับบทบาทหลากหลาย ด้วยน้ำเสียงที่มีไดนามิก ทุ้ม กว้าง เป็นธรรมชาติ และมีความสด ใหม่ ทำให้เขาพากย์เป็นตัวประกอบอยู่ได้ไม่นาน จนได้พากย์เป็นตัวเอกในที่สุด ติณห์ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในแพลตฟอร์มดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix เขาก็กวาดตำแหน่งเสียงพระเอกมาแล้ว ทั้งเจ้าชายวิลเลียม จากเรื่อง Young Royals, นิค เนลสัน จาก Heartstopper, อี ชองซาน จาก ALL OF US ARE DEAD หรือจะเป็น Disney+ ติณห์ก็ได้พากย์เป็น มาร์ค สเปคเตอร์ (วัยหนุ่ม) จาก Moon Knight และผลงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ การ์ตูนแอนิเมชั่น และซีรีส์ดังที่น่าสนใจอีกเพียบ!
ถึงเสียงจะหล่อ จนได้พากย์เป็นตัวเอกอยู่บ่อยครั้ง ทว่าใจจริงแล้วติณห์กลับชื่นชมบทบาทของเหล่าวายร้ายมากกว่า ทั้งอุดมการณ์ เสน่ห์ มิติความขัดแย้ง ที่น่าสนใจ รวมถึงเป้าหมายอันสูงส่ง ที่คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ จึงมองพวกเขาว่า เป็นคนไม่ดี ซึ่งเขาคิดต่างออกไป เขาพร้อมที่จะเปิดกว้าง ทำความเข้าใจ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านมุมมองของเหล่าวายร้าย และนำมาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างแยบยล โดยตัวร้ายที่ชอบมากที่สุด คือ Zaku II Char Custom ฉายาดาวหางสีแดง เป็นตัวร้ายจากเรื่องกันดั้ม ดังนั้น หากมีโอกาสจึงอยากพากย์เป็นตัวร้ายบ้าง เพราะท้าทายความสามารถ และมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ซับซ้อนมากกว่าบทพระเอกมากนัก
ซีรีส์จีนสุดยิ่งใหญ่ในตำนาน จุดประกายฝันให้อยากเป็นนักพากย์มือโปร
หากการชอบดูการ์ตูน เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้ติณห์สนใจงานพากย์ สิ่งที่ทำให้เขาคิดจริงจัง จนอยากเป็นนักพากย์มืออาชีพ คือการได้ดูซีรีส์จีน สุดอลังการในตำนานอย่างเรื่อง ไซอิ๋ว ที่มีครบรส ทั้งความตลก มันส์ ฮา และข้อคิดที่ลึกซึ้ง รวมถึงการได้รู้จักกับสังคม Fandub หรือกลุ่มฝึกพากย์ ที่ช่วยเป็นสนามฝึกฝีมือ ทั้งยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนักพากย์ ทำให้ติณห์รู้สึกชอบและผูกพันอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ ช่วยขับเคลื่อนความสนใจ และความฝันของเขาให้ก้าวเดินไปข้างหน้า และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่แค่อยากพากย์ด้วยความเท่เฉย ๆ กลายเป็นอยากพากย์ให้มีคุณภาพ และมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย
เพราะความโชคดีไม่ได้ลอยมาหาเรา เราต่างหากที่เป็นคนสร้างความโชคดี
นักพากย์คนนี้ยังเป็นคนที่ไม่เคยหยุดสร้างโอกาสให้ตัวเอง เขาเน้นย้ำว่า First Impression สำคัญมาก ถ้างานไม่ดีเขาจะไม่ส่งไปออดิชั่น ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลงานพากย์ไปยังที่ต่าง ๆ มากมาย ทั้ง พากย์อินโฟกราฟิก พากย์ Demo ของภาพยนตร์ ซีรีส์ และการ์ตูนแอนิเมชั่น ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอแค่ไม่หยุดทำ ไม่ว่าความโชคดีแบบไหน เราก็จะได้มันมาในที่สุด
สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อม ก่อนหน้าที่เขาจะมีโอกาสพากย์ให้กับสื่อสตรีมมิ่งระดับโลก อย่าง Netflix, Disney+, HBO หรือ VIU เขาได้ฝึกฝนมาอย่างสม่ำเสมอ ระยะเวลาหลายปี จนเมื่อถึงเวลาที่ค่ายต้องการเสียงนักพากย์ใหม่ ติณห์จึงได้เข้าร่วมเวิร์กชอป และเริ่มก้าวเข้าสู่วงการนักพากย์อย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอโอกาส เป็นเวลาของการพัฒนาทักษะ และสร้างผลงานไปเรื่อย ๆ เมื่อโอกาสเดินทางมาถึง เราจะพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้
วงการนักพากย์ยุคใหม่ มองหาความสดใหม่ สมจริง และเป็นธรรมชาติ
เขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันการเป็นนักพากย์ เป็นอาชีพที่ทำได้จนถึงวัยผู้สูงอายุ เพราะสิ่งที่วงการนักพากย์ยุคใหม่ตามหา ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ หรือความชำนาญเหมือนอย่างสมัยก่อน แต่ต้องการความเป็นธรรมชาติในเนื้อเสียง ความสดใหม่ สมจริง และพยายามหลีกเลี่ยงการพากย์แบบข้ามช่วงอายุให้มากที่สุด เช่น ยุคนี้ไม่นิยมให้ผู้ใหญ่ดัดเสียงเป็นเด็ก ให้วัยรุ่นดัดเสียงเป็นคนชรา เป็นต้น แต่จะหาคนพากย์ที่มีช่วงวัย อุปนิสัย และบุคลิกใกล้เคียงกับตัวละครให้ได้มากที่สุด เน้นของจริงมากกว่า
นักพากย์สายติส นิ่ง ๆ คูล ๆ เงียบ ๆ แต่ฟาดเรียบทุกงาน
มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งซึ่ง Disney+ ได้นำมาลงฉายใหม่ ติณห์ได้พากย์เป็น จอร์จ ซินาวอย จาก The Art of Getting By เขาให้ความเห็นว่า ตัวละครนี้แหละที่เข้าปากเขามากที่สุด เพราะคาแรกเตอร์ของจอร์จ เป็นเด็กหนุ่มโลกส่วนตัวสูง ตั้งคำถามกับตัวเองถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เขาสงสัยว่า คนเราจะเรียนวิชายาก ๆ ในโรงเรียนไปทำไม ในเมื่อสักวันหนึ่งก็ต้องตาย เขาจึงใช้เวลาหมกหมุ่นอยู่กับการวาดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ จนได้พบรักกับเพื่อนร่วมชั้น แซลลี่ ที่ทำให้โลกของจอร์จค่อย ๆ เปลี่ยนไป
เขายังให้คำนิยามตัวเองในปัจจุบันว่า เป็นนักพากย์สายติส มีโลกส่วนตัวสูง ดูเดาอารมณ์ยาก เงียบ ๆ หน้านิ่ง บางครั้งก็ดูหน้าง่วงตลอดเวลา แม้ภายในใจจะลุกเป็นไฟ พร้อมสู้งานเสมอก็ตาม ตัวละครที่ติณห์มักได้โอกาสพากย์เสียง จึงเป็นคาแรกเตอร์ของเด็กมีปม เงียบขรึม โลกส่วนตัวสูง พูดเสียงอยู่ในลำคอ เขาจึงอยากลองพากย์คาแรกเตอร์ที่ตรงกันข้ามดูบ้าง เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่และทดลองทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม
ไอดอลในดวงใจ ต้องยกให้พวกเขาเหล่านี้เลย
เหตุผลที่ติณห์เลือกเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะตามรอยไอดอลอารมณ์ขันมากความสามารถอย่าง พี่กอล์ฟ-ธนกฤต เอ็นดูรัศมี หรือ กอล์ฟ โอมงกะลงปง รุ่นพี่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของ MV ยอดฮิตสุดฮา ที่มีชื่อว่า โอมงกะลงปง x ตะมู่ยคริ x ต๊ะอิ๊อึอัส – แทนบ๋อย feat. สมปองงานวัด ซึ่งพี่กอล์ฟมีผลงานพากย์ที่โด่งดังมากมาย เช่น พากย์เป็น ชาง-ชี จากเรื่อง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, จัสติส สมิท จาก Jurassic World: Fallen Kingdom, ชินโซ ฮิโตชิ จาก My Hero Academia เป็นต้น
นักพากย์ที่ติณห์ได้รู้จัก สมัยที่เขายังทำคลิปฝึกพากย์ใหม่ ๆ และรู้สึกชื่นชอบน้ำเสียงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ พี่แบงค์-รุจิระ ขจีเจริญ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของเสียงหล่อ สุขุม ทุ้ม อันทรงเสน่ห์ ตัวละครที่พี่แบงค์พากย์ ต่างทำให้หัวใจสาวทั่วทั้งประเทศหลอมละลายมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เว่ยอู๋เซี่ยน (เซี่ยวจ้าน) จาก ปรมาจารย์ลัทธิมาร, มุนคังแท (คิมซูฮยอน) จาก It’s Okay to Not Be Okay, นัมโดซาน (นัมจูฮยอก) จาก Start-Up, ฮิบาริ เคียวยะ จากการ์ตูนยอดนิยม ครูสอนพิเศษจอมป่วนรีบอร์น เป็นต้น
นอกจากน้าหนึ่ง พี่กอล์ฟ และพี่แบงค์ ยังมี พี่บอส-อภิชิต ลิขิตลิ้มปรีชา เจ้าของเสียงพากย์ แคสเซี่ยน แอนดอร์ จาก Star wars Rogue one, ชา ดัลกอน จาก Vagabond, The แฮร์รี่ ออสบอร์น จาก Amazing Spider-Man 2 และผลงานอื่นยาวเป็นหางว่าว นักพากย์ดาวรุ่งยังเล่าต่อว่าเสียงของพี่บอส นอกจากจะหล่อเท่แล้ว ยังมีความยืดหยุ่นสูง เทคนิคแพรวพราว พากย์ได้หลายคาแรกเตอร์ สายตลกก็ได้ พระเอกสายบู๊ก็ดี หรือจะพากย์การ์ตูนให้น่ารักโดนใจเด็ก ๆ ก็ทำได้สบายมาก เรียกได้ว่า ครบเครื่องที่สุดเลยสำหรับคนนี้
การเลือกเรียนนิเทศฯ บรอดแคสติ้ง มีส่วนช่วยอย่างมากในงานพากย์
รุ่นพี่ BRS ม.กรุงเทพ คนนี้ ยังอธิบายให้ฟังว่าการเลือกเรียนสาขาบรอดแคสติ้ง ทำให้เขาได้ฝึกฝนและเข้าใจงานพากย์ได้ดียิ่งขึ้น จากการเรียนวิชา Art of Storytelling ที่สอนลงลึงถึงศิลปะการเล่าเรื่อง การถ่ายทอดผลงานให้ผู้ชมเข้าใจ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจซึ่งนำไปปรับใช้กับงานพากย์ได้ รวมถึงวิชา Art of Speaking ที่สอนเทคนิคการออกเสียง การอ่าน การพูด การฝึกสมาธิ และการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลงในเสียงที่ใช้ให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท
ท่องจำให้ขึ้นใจ อ่านให้คล่อง ฟังให้ดี ตาต้องมองจอกับบท คือคุณสมบัติของนักพากย์ที่ต้องยึดถือเสมอ
ติณห์ได้แนะนำคุณสมบัติของการเป็นนักพากย์ที่ดี โดยทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ดังนี้
ประการแรกการอ่านหนังสือให้คล่อง เพราะเมื่ออยู่ในห้องอัดเสียง การอ่านบทสนทนาในสคริปต์ได้อย่างคล่องปาก ถือเป็นทักษะที่สำคัญมาก ดังนั้น ควรฝึกอ่านออกเสียงบ่อย ๆ ฝึกโปรเจคเสียง หรือใช้เสียงจากท้อง จะช่วยถนอมเสียง และทำให้ไม่เจ็บคอเวลาที่ต้องทำงานติดต่อกัน
ถัดมาต้องใช้การฟัง เพราะตอนพากย์ จะต้องเปิดเสียงตัวงานต้นฉบับให้พากย์ทับ ซึ่งไมค์และหูฟังของบางสตูดิโอ จะมีเสียงเพลย์แบคของตัวเราเอง ดังขึ้นในขณะที่เราพากย์ จะได้ยินสองเสียงซ้อนทับกัน ทั้งเสียงตัวเราเอง และเสียงต้นฉบับ ดังนั้น เราต้องมีไหวพริบ และสมาธิอย่างมาก
สุดท้ายเน้นเรื่องการมอง ต้องมองและสังเกตใบหน้าตัวละครให้ดี หลายครั้งนักพากย์ต้องทำหน้าตาให้เหมือนกับตัวละครที่ตัวเองพากย์ เพื่อจัดระเบียงกล้ามเนื้อบนใบหน้า และร่างกายที่จะสามารถส่งเสียงได้อย่างสมบทบาท และคล้ายคลึงกับตัวละครนั้นให้ได้มากที่สุด ตัวละครยิ้ม เราก็ต้องยิ้ม ตัวละครขมวดคิ้ว เราก็ต้องทำตาม เขาบอกว่ามันคือการแสดงหลังจอที่นักพากย์ต้องทำ และต้องงับคำให้ตรงกับปากของตัวละครด้วย
ข้อแนะนำเพิ่มเติมที่อยากฝากถึงคนอ่านที่สนใจการพากย์ ต้องดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสิ่งนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้เสียง ถ้าวันไหนนอนไม่พอ เสียงจะแกว่ง และเครือ ดวงตาจะล้า รวมถึง ไม่มีสมาธิในการทำงาน ส่งผลให้งานออกมาไม่ดีและล่าช้า นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่า (น้ำไม่เย็น) ยังช่วยถนอมเสียง และเพิ่มความชุ่มชื่นในลำคอ เมื่อต้องพากย์ตัวละครที่ชอบตะโกน เขายังแอบบอกเคล็ดลับว่า ควรใช้เสียงขึ้นเฮดโทน แทนการตะโกน จะช่วยเซฟเสียงได้เป็นอย่างดี
นักพากย์เปรียบได้กับนักรบ พร้อมไปตายเอาดาบหน้า ต้องพร้อมรบตลอดเวลา
หลายคนคงสงสัยว่า วิธีการทำงานของนักพากย์ เขาต้องทำอะไรกันบ้าง ซึ่งคำตอบของเขาทำให้เรารู้สึกแปลกใจมาก เขาเล่าให้ฟังว่างานพากย์หนึ่งงานนั้น ผู้กำกับการพากย์ จะไม่บอกก่อนว่า ในเรื่องนี้จะได้พากย์เป็นตัวไหน ยกเว้นบางเรื่องเท่านั้น ที่ส่งตัวอย่างเสียงไปแคส ซึ่งเขาจะมีเวลาทำการบ้านมาก่อน หากผลงานนั้น เป็นหนังหรือซีรีส์ภาคต่อ หรือผลงานรีเมค เขาจะกลับไปดูผลงานเก่า ๆ ได้
แต่ส่วนมาก งานพากย์ที่ได้มานั้น แม้แต่ชื่อเรื่องก็จะถูกปิดเป็นความลับก่อน เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล ตัวอย่างหนังก็ยังไม่ปล่อยเลยด้วยซ้ำ บางทีตัดต่อยังไม่เสร็จ CG ยังไม่ใส่ ก็ต้องมาลงเสียงพากย์กันแล้ว
เมื่อถึงหน้างาน ผู้กำกับเสียงพากย์จะเป็นคนบรีฟงาน อธิบายรายละเอียดคาแรกเตอร์ให้ฟังทีหลัง แต่ก่อนหน้านั้น นักพากย์จะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวได้ การขัดเกลาฝีมือ และทักษะการพากย์ของตัวเองให้รอบด้าน จึงสำคัญมากพอกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการทำงาน เหมือนกับนักรบที่ต้องฝึกปรือ มีอาวุธครบมืออยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวต้องลงสนาม ก็สามารถหยิบอาวุธ และทักษะต่าง ๆ ออกมาใช้ได้เลย
บทกับความไม่รู้เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ในการทำงาน
เมื่อได้รับบรีฟจากผู้กำกับเสียง เขายังต้องจดจำ คิดวิเคราะห์ และตีโจทย์หน้างานเดี๋ยวนั้นเลย หากได้รับโจทย์คาแรกเตอร์ที่ยาก เช่น เป็นเด็กออทิสติก ต้องมีการปรับและทำความเข้าใจอาการของตัวละครจากผู้กำกับเสียงโดยละเอียด เพื่อดีไซน์เสียงให้ตรงกับคาแรกเตอร์มากที่สุด
การทำงานพากย์ ต้องมีการประสานงาน เพราะอีกหนึ่งอุปสรรคที่นักพากย์ต้องเจอ และปวดหัวไปตาม ๆ กัน คือ บทพากย์ขาด ๆ เกิน ๆ คนแปลภาษาต้องคอยเกลาบทให้เข้ากับปากของตัวละคร ถ้าบทไม่ดี นักพากย์จะทำงานลำบาก เช่น บทแปลมาหกคำ แต่ตัวละครอ้าปากพูดแค่สามคำ นักพากย์ก็ต้องมาตัดคำสร้อยออกให้พอดีกับการงับคำของตัวละคร ตรงกันข้าม ถ้าแปลมาสั้นเกินไป นักพากย์ต้องคอยหาคำสร้อยมาเติมให้ครบ ตามที่ตัวละครพูด
กันดั้มและแพชชั่น เป็นแรงใจสำคัญ ที่ทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคมาได้
นอกเหนือจากการต่อโมเดลกันดั้ม นักพากย์เสียงมีเสน่ห์ผู้นี้ยังบอกอีกว่า ขอสักครั้งในชีวิตให้ได้พากย์เรื่องกันดั้ม จะพากย์เป็นตัวประกอบ หรือตัวแวดล้อมใดก็ได้ ขอแค่ได้พากย์เสียงการ์ตูนในดวงใจ บทบาทไหนก็ไม่เกี่ยง ที่อยากพากย์มากที่สุด คือพระเอกเรื่องกันดั้ม เพราะคาแรกเตอร์มีความใสซื่อ จริงใจ ค่อนข้างตรงกับคาแรกเตอร์เสียงโดยธรรมชาติของตัวเอง
อีกหนึ่งแรงผลักดันที่เขาพูดถึงคือ อยากเป็นคนที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อย ๆ เขามักหาข้อบกพร่องของตัวเองในการทำงานเสมอ ไม่ใช่เพื่อบันทอนกำลังใจ แต่เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น อยากจูนเสียงตัวเองให้เข้ากับตัวละครได้ดีขึ้น สามารถลงเสียงคำให้สวย บรรจบพอดีกับประโยคที่ตัวละครพูด เช่น การลงท้ายคำคาแรกเตอร์แบบผู้ใหญ่จะลงต่ำ เพื่อให้ฟังสุขุมและเหมาะกับช่วงวัย ต่างจากคาแรกเตอร์วัยรุ่น ที่มักจะลงท้ายคำด้วยเสียงสูง ให้มีความสดใสสมวัย รวมถึงการเปิดหน้าคำให้สวย และไม่ติดพากย์เร็วจนเกินไป ก็เป็นสิ่งที่ติณห์อยากพัฒนาเช่นกัน
ผลงานที่ยากคือความท้าทาย และจะกลายเป็นบทเรียน
ผลงานซีรีส์ที่ลง Disney+เรื่อง Ms. Marvel เขาได้พากย์เป็น เรด แด็กเกอร์ ศัตรูหัวใจของพระเอก ซึ่งเขาต้องต่อสู้กับแรงกดดันอย่างมาก เพราะเป็นตัวละครจากค่ายใหญ่อย่าง Marvel ที่โด่งดังไปทั่วโลก ถ้าพากย์แย่ Feedback คงหนักหน่วง และทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจไปอีกนาน
ถัดมาคือซีรีส์ของ Netflix เรื่อง Vincenzo ติณห์ได้พากย์เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ชื่อ ฮวังมินซอง ประธานธนาคารที่ดันมาตกหลุมรักทนายมาเฟียพระเอกของเรื่อง ความท้าทายของงานนี้ ต้องเค้นความน่ารักของ ฮวังมินซอง ออกมาให้ได้ ซึ่งเป็นบุคลิกที่ตรงข้ามกับตัวเองโดยสิ้นเชิง รวมถึงเขาเอง ก็ไม่มีประสบการณ์ตรง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง แม้ผู้กำกับเสียงพายก์ จะชมว่า เขาพากย์ได้ดี สื่อสารได้ดี แต่เขาก็ยังยกให้ตัวละครนี้ เป็นอีกงานที่โหดหินอยู่ดี
ขณะที่อีกเรื่องคือซีรีส์เกาหลีจาก Netflix ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง ALL OF US ARE DEAD เขาเป็นนักพากย์หน้าใหม่คนเดียวในทีม ที่ได้พากย์เป็น อี ชองซาน พระเอกของเรื่อง แม้คาแรกเตอร์จะตรงกับสไตล์การพากย์ของเขามากแค่ไหน แต่เมื่อ Netflix โปรโมตซีรีส์เรื่องนี้ออกไป จนเป็นกระแสอย่างมากในโลกโซเชียล ทำให้เกิดความคาดหวังของผู้ชม และกลับมาสร้างความกดดันให้ติณห์อย่างมหาศาล เขาบอกเคล็ดลับการรับมือแรงกดดัน และงานที่ไม่ถนัดเอาไว้ว่า “ให้โฟกัสที่ปัจจุบัน พยายามผ่อนคลาย แล้วพากย์ในแบบของตัวเองให้ดีที่สุด”
เปล่งเสียงให้โลกจำคือความฝันสูงสุด
หลังจากได้ทำอาชีพในฝันแล้ว จุดหมายที่เขาอยากจะก้าวต่อไปคือการเป็นนักพากย์ที่ผู้คนจดจำเสียงได้ เมื่อพูดถึงคาแรกเตอร์เสียงติส ๆ ออกแนวโลกส่วนตัวสูง จะต้องนึกถึงเขาเป็นคนแรก เมื่อมีคนจำชื่อของติณห์ ในฐานะนักพากย์เสียงติสได้แล้ว โอกาสต่าง ๆ รวมถึงงานอีกหลากหลาย คงจะวิ่งเข้ามาหามากขึ้น เขาจะได้ทำงานที่ตัวเองรักมากขึ้น และได้ฝึกฝีมือให้เก่งขึ้นในทุกวัน นี่คือ ความฝันสูงสุดในตอนนี้ นอกเหนือจากนี้ อนาคตข้างหน้า หากมีโอกาสทำสตูดิโอพากย์ของตัวเอง แล้วรับงานพากย์เกมส์ หนัง การ์ตูน หรือซีรีส์ได้ เขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าที่จะเริ่มการผจญภัยครั้งใหม่อยู่เสมอ
การเป็นนักพากย์ให้อะไรมากกว่าที่คิด
ติณห์เล่าให้ฟังว่า การเป็นนักพากย์ได้ให้หลายสิ่งหลายอย่างที่มีค่า ทั้งมิตรภาพจากเพื่อนร่วมงาน ได้ใกล้ชิดกับไอดอล ที่เคยรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ไกลเกินเอื้อม แต่ทุกวันนี้ กลายเป็นเพื่อนเล่นเตะบอลด้วยกัน การได้ทำงานตรงนี้ จึงเหมือนประตูบานใหญ่ที่เปิดไปสู่หนทางการสร้างรายได้ ช่วยเติมเต็มประสบการณ์ ทำให้ชีวิตมีความหมาย มากกว่าแค่ตื่นเช้ามา แล้วใช้ชีวิตไปวัน ๆ
“คนเราทะเลาะกัน เพราะน้ำเสียง” มีให้เห็นเยอะแยะไป ฉะนั้นอาชีพนักพากย์ จึงสอนให้เขาได้รู้จักการใช้เสียงอย่างถูกวิธี ถูกกาลเทศะ และเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
ผลงานที่น่าติดตาม สนับสนุนให้กำลังใจ
ผลงานปัจจุบันที่อยากให้ทุกคนติดตาม ได้แก่ การพากย์เป็นเควิน พระเอกของซีรีส์ The Midnight Club ชมรมสยองขวัญเที่ยงคืน เป็นเรื่องราวของสมาชิกชมรมสยองขวัญเที่ยงคืนทั้งแปดคน ที่นัดพบกันทุกคืน เพื่อผลัดกันเล่าเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัว
อีกหนึ่งผลงานที่รอคอยคือซีรีส์แอนิเมชันเกาหลีชื่อดังยอดนิยมจาก WEBTOON เรื่อง LOOKISM เรื่องราวของเด็กหนุ่มมัธยมอาภัพที่มีรูปร่างอ้วนเตี้ย ทำให้เขาต้องต่อสู้กับปัญหาสังคมในการตัดสินคนจากภายนอก เรื่องนี้ติณห์ได้พากย์เป็น พัคฮยองซอก พระเอกของเรื่อง
ฉายาศิลปินในเงามืด ลึกลับ มีเสน่ห์ราวกับต้องมนต์
ตลอดการสนทนา เมื่อติณห์เปล่งเสียงออกมา ราวกับมีเวทมนตร์บางอย่างตราตรึงให้เราต้องฟังเขาพูดจนจบ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเขาถึงได้เป็นนักพากย์ ทั้งน้ำเสียง และจังหวะการพูดมันช่างน่าฟัง น่าสนทนาด้วยไม่รู้เบื่อ
ไม่ว่าตอนนี้ ความฝันของทุกคนจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายเพียงใด ขอให้เชื่อมั่น มีใจรักในสิ่งที่ทำ หมั่นพัฒนาทัศนคติควบคู่กับทักษะการทำงาน สู้ไม่ถอย สักวันความฝันนั้นจะกลายเป็นจริง และมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับตัวเราเอง รวมถึงเรื่องราวของเราจะส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมาย เช่นเดียวกับเรื่องราวของนักพากย์รุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้ ติณห์-เตชินห์ ศรีเบญจโชติ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ติณห์-เตชินห์ ศรีเบญจโชติ รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ