ถ้าพูดถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความรู้สึกที่แปลกใหม่กว่าวัยมัธยม ทั้งอิสระที่เราได้รับ ความสนุกสนาน หรือแม้แต่ความกดดันและเวลาแสนยากลำบาก ทว่าก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างที่ตัวเองชอบ เรียกได้ว่าเป็นช่วงวัยแห่งการไล่ตามความฝันอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับเรื่องราวของวงดนตรี ที่แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน แต่ก็เป็นเรื่องราวที่อธิบายความสนุกสนานในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี
Twins Plus เป็นวงดนตรีที่เริ่มก่อตั้งโดยมีสมาชิกทั้งวงเป็น นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ พวกเขาขึ้นแสดงในหลายเวทีของมหาวิทยาลัยและนอกรั้วมหาวิทยาลัยและยังเคยได้ไปร้องเพลงที่สยามต่อหน้าผู้คนมากมาย มีสมาชิกด้วยกัน 6 คน คือ ใหญ่-วชิรวิทย์ หาสาฤทธิ์ (ร้องนำ), เล็ก-วสิษฐ์พล หาสาฤทธิ์ (กีตาร์ริทึ่ม), ต้น-โชคอนันต์ แก้วพิกุล (กีตาร์โซโล่), ทิม-พงศ์ธร รัตน์นุ่มน้อย (เบส), นัท-ณัฐดนัย โรจนหัสดินทร์ (คีย์บอร์ด), ติวเตอร์-รัตนชัย เกษรเจริญ (กลอง)
ทั้ง 6 คนนี้ มีทั้งคนที่เคยเรียนมัธยมด้วยกันมาก่อน และคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถึงอย่างนั้นการที่ได้มาอยู่ร่วมกันแบบนี้ เห็นได้ชัดว่า Twins Plus มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่เพียงเพื่อนที่สนิทกัน แต่ยังเป็นเพื่อนที่มีความฝันเดียวกัน และร่วมเดินทางบนเส้นทางสายเดียวกันไปเพื่อไปให้ถึงความฝันนั้น
ก่อนจะมาเป็น Twins Plus
“ส่วนมากสมาชิกในวงเคยเล่นดนตรีมาก่อนแล้ว หลายคนก็เป็นหนึ่งในสมาชิกวงโยธวาทิต สมัยมัธยมมีงานประกวดบ้าง มีวงโรงเรียนมาก่อนบ้าง ที่จริงพวกเราก็สนใจในดนตรีมาตั้งแต่เด็กทุกคนเลย”
พวกเขาได้เล่าให้เราฟังว่าช่วงเวลาก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ต่างคนต่างได้เดินในเส้นทางสายดนตรีมาก่อนแม้จะไม่ได้คิดถึงการตั้งวงดนตรีจริงจัง แต่เมื่อเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย ใหญ่ เล็ก และต้น ก็ได้เริ่มเล่น Folk song แล้วรู้สึกว่าอยากจะขยายวงให้เป็น Full band จึงได้หาสมาชิกมาร่วมด้วย และลองไปปรึกษา อาจารย์เต้ย-อาจารย์อาชวิชญ์ กฤษณะสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่าอยากลองตั้งวงดนตรีจริงจัง ให้ความฝันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จึงได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากอาจารย์เต้ยจนวง Twins Plus ได้เกิดขึ้น
แม้ Twins Plus เพิ่งรวมตัวกันได้ไม่นานนักแต่ผลงานที่ได้แสดงออกมาก็ทำให้เห็นว่าวงได้เติบโตขึ้นมาก จุดสำคัญคงเป็นความหลงใหลในเสียงดนตรี ความมุ่งมั่นของสมาชิกทุกคนจนได้ขึ้นแสดงในหลายเวทีของมหาวิทยาลัย ได้ไปร้องเพลงที่สยามสแควร์ และยังได้เข้าร่วมงานประกวดร้องเพลงจากเวทีระดับประเทศ
ต้น: “สำหรับเราดนตรีมันเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้อยู่แล้ว ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน ขับรถ เรียน ทำงาน ต้องเปิดเพลงเพื่อฟังเพื่อคลายเครียด สังเกตดูดี ๆ เหมือนในแต่ละวันเพลงจะอยู่กับเราประมาณ 70-80% เลย ก่อนนอนก็ฟัง ตื่นนอนก็ฟัง เหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งไปแล้ว ให้นิยามก็เหมือนกับมันเป็นเพื่อนเรายามเหงา มันแทบจะเป็นชีวิตได้เลย ในฐานะคนที่รักดนตรี เป็นสิ่งที่ใช้หาเงินก็ได้ ใช้ผ่อนคลาย ใช้เพื่อความสนุกสนานก็ได้ มันมีอิทธิพลกับพวกเรามาก”
มิตรภาพในวงดนตรี
หลายคนคงคิดว่าสาเหตุที่ Twins Plus ตั้งชื่อวงแบบนี้เป็นเพราะมีสมาชิกที่เป็นแฝดกันคือ ใหญ่ และเล็ก ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะมีคนเคยพูดว่า ทิม ใหญ่ และต้น ถ้ามองจากข้างหลังจะเหมือนกันมากจนแยกแทบไม่ออก ส่วนคำว่า Plus ก็คือสมาชิกที่ได้เข้ามาเพิ่มเติมทำให้วงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และถ้าพูดถึงมิตรภาพแล้ว สิ่งที่น่าสนใจและไม่พูดถึงไม่ได้คงเป็นเรื่องราวของการเจอกันครั้งแรกหรือ First Impression
ต้น: “ตอนเรียนซัมเมอร์ปีหนึ่งวิชาแรกเลย เรายังไม่มีเพื่อน ไม่รู้จักใครเลยสักคนในห้องเรียน แต่อาจารย์มีโจทย์ให้ถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับเพื่อนคนข้าง ๆ แล้วทำความรู้จักกัน ใหญ่ก็เดินมาขอลิ้งก์ส่งงาน ก็เริ่มรู้จักกันตั้งแต่ตอนนั้นมา ไปเรียนด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน พอรู้จักเล็กและใหญ่ แล้วก็รู้จักทิมต่อเพราะสามคนนี้เรียนมัธยมที่เดียวกัน แล้วก็รู้ว่าแต่ละคนทำเพลง ทำดนตรี มาเยอะเหมือนกันตอนมัธยม พอรู้ว่าเราชอบสิ่งเดียวกันด้วย มันก็สนิทกันมากขึ้น”
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ส่วนหนึ่งก็เพราะมีดนตรีเป็นตัวเชื่อม หรือดังคำที่บอกว่าโลกมักจะดึงดูดคนที่มีอะไรคล้ายกันเข้ามาหากันเอง และถ้าหากมองมิตรภาพภายในวงแล้วเปรียบเป็นคาแรคเตอร์ตัวละครได้ Twins Plus ก็คิดว่าคงหนีไม่พ้น มินเนี่ยน เพราะคาแรคเตอร์ของคนในวงก็ต่างกันออกไป แต่พอจะดีดก็ดีดสุด ซนสุด หรือบางทีก็มีช่วงมึน ๆ งง ๆ กันบ้างไม่ได้ต่างอะไรกับมินเนี่ยน หรือไม่ก็อาจจะเป็น Power Rangers เพราะทุกคนมีความเป็นตัวเองที่แตกต่างกัน เหมือนกับ Power Rangers ที่มีหลายสี แต่ก็รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ติวเตอร์: “แต่ยังไงวงเราก็เข้ากับมินเนี่ยนที่สุดอยู่ดี ดูซน ๆ งง ๆ แล้วก็น่ารักกว่า Power Rangers”
มือกลองที่ตามหา จนได้พบกัน
ใหญ่: “ขอเล่าเรื่องมือกลอง เราตามหามือกลองมานานมาก ๆ จนมันหมดหวังแล้ว มันท้อจริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็เคยเปลี่ยนมือกลองมาแล้วสองคนเป็นรุ่นพี่ที่จบไปแล้วและเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย จนมีอยู่วันหนึ่ง เราเล่นดนตรีอยู่ข้างหน้าโรงอาหารกลาง โดยไม่ได้มีเสียงกลองเพราะไม่มีคนตีกลอง แล้วอยู่ดี ๆ ในตอนนั้น มีคนอยู่คนหนึ่งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่เคยเห็นหน้าเลย เดินเข้ามาหาแล้วก็เดินไปตีกลองเลย เราก็งง ๆ กัน พอลงจากเวทีวันนั้นก็แยกกันไปเลยไม่ได้จำหน้ากันไว้ด้วย สักพักอาจารย์เต้ยก็ติดต่อมาว่ามีน้องมือกลองมานะ ก็คือติวเตอร์ จนวงมีทุกวันนี้”
ถ้าติดตามวง Twins Plus คงจะเห็นได้ว่าวงได้เปลี่ยนมือกลองบ่อย จนมีช่วงที่มีสมาชิกน้อยลงเพราะยังหามือกลองไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ได้ติวเตอร์เข้ามารับตำแหน่งนี้ไป หลังจากนั้นก็มีนัทตามเข้ามาได้ทันเวลาก่อนจะมีงาน เปิดบ้านรับน้อง First Meeting BRS 2022 ของสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เพิ่งจัดไปไม่นานนัก
ช่วงเวลาบนเวที มิตรภาพที่ส่งพลังถึงผู้ชม
First Meeting BRS 2022 ของคณะนิเทศศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นการขึ้นเวทีด้วยกันครั้งแรกแบบครบทั้ง 6 คน ความรู้สึกตอนที่ได้อยู่บนเวทีมันไม่ได้กดดันเลย ไม่ได้ตื่นเต้นขนาดนั้นด้วย แต่รู้สึกถึงความสบายใจและความปลอดภัยมากกว่า เหมือนกับได้เล่นดนตรีในบ้านของตัวเอง ในพื้นที่ของตัวเอง คนด้านล่างเวทีก็เป็นคนในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และที่สำคัญคือความรู้สึกในวันนั้น แม้การแสดงจบลงแต่ความรู้สึกที่ยังคงอยู่คือความรู้สึกดี เหมือนถูกเติมเต็มอะไรบางอย่างในใจ
ส่วนเวทีแรกที่ได้ไปเล่นก็คงเป็นที่สยาม ตอนนั้นจำได้ว่ารู้สึกกดดันแบบไม่เคยกดดันขนาดนี้มาก่อน ซ้อมกันหนักมากแต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็คุ้มค่ามากเช่นกัน
ใหญ่: “แต่ถ้าพูดถึงความประทับใจว่าประทับใจในงานไหนมากที่สุด ก็คงเป็นทุกงานที่ได้เล่นมาเลย เพราะว่าในทุกงานมันก็มีบทเรียนให้เราได้รู้และได้แก้ไขอยู่เสมอ” ขณะที่ความผิดพลาดบนเวที เช่น ร้องผิด เล่นผิด มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวขนาดนั้น มันจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้วงได้พัฒนาตัวเอง ได้ปรับปรุงข้อผิดพลาดเพื่อให้การแสดงครั้งหน้าออกมาดีกว่าที่เคย
สิ่งสำคัญคือพลังใจในการทำงานด้านดนตรี
“อย่างแรกเลยคงเป็น อาจารย์เต้ย เป็นกำลังใจสำคัญของวงเรา เขาซัพพอร์ตและให้เราหมดเลย แม้จะไม่ได้ขออะไร เวลาท้อเราก็ยังมีกำลังใจจากเขาและไม่อยากให้เขาเหนื่อยหรือผิดหวังในตัวเรา อีกหนึ่งอย่างคือ เสียงเชียร์จากคนฟัง ได้เห็นคนฟังชอบและยิ้มแย้มไปกับเสียงเพลง และมันยิ่งตื่นเต้นทุกครั้งที่ขึ้นเวทีแล้วมีเสียงเฮดังขึ้น ทำให้เราก็รู้สึกว่าอยากได้ความรู้สึกแบบนี้อีกเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นกำลังใจที่สำคัญที่สุดของวงก็คือคนดู”
และถ้าลองเปรียบวงดนตรีวงหนึ่งเป็นการเดินทางที่มี 3 ช่วง ช่วงแรกคือการเริ่มต้น ความสนุกสนาน การได้ลองผิดลองถูกมากมาย ช่วงที่สองคงเป็นช่วงระหว่างการเดินทาง ที่มีฐานแฟนคลับมากขึ้น มีเพลงเป็นของตัวเอง เริ่มมีประสบการณ์และความแน่นแฟ้นที่มากขึ้นของเพื่อนร่วมวง ส่วนช่วงที่สามไม่ใช่จุดจบ แต่คงเป็นการที่วงดนตรีได้บรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ หรือประสบความสำเร็จแล้ว
ภาพของการเดินทางในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ก็อยากจะทำดนตรีต่อไปให้นานที่สุด และแทบไม่น่าเชื่อว่าเส้นทางดนตรีที่กำลังเดินอยู่นี้จะเป็นแผนที่ชีวิตของพวกเขาจากแบบฝึกหัดในคาบเรียนวิชาศึกษาทั่วไป (GE) ที่ได้ส่งผู้สอนไป
“นิยามความสำเร็จที่พวกเราคิดไว้ คือการที่คนฟังเขามีความสุขกับเรา เหมือนพอพูดชื่อวงออกไปก็มีคนรู้จักวงเรา หรือร้องเพลงของเราได้ อยากให้มีคนรู้จักเยอะ ๆ อยากฟังคนร่วมร้องเพลงของเราไปด้วยกัน ถ้าหากตัวเองมีมนต์วิเศษ สิ่งที่อยากจะขอให้เกิดขึ้นกับวง คือขอให้สิ่งที่ทุกคนเพิ่งตอบไปก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นได้จริง ๆ”
แม้ว่า Twins Plus จะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนัก แต่ช่วงเวลาสั้น ๆ ตรงนี้ก็บอกเล่าเรื่องราวความสนุกสนานในช่วงเริ่มต้นของวงได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนต่างมีความหลงใหลในเสียงดนตรี มีความมุ่งมั่นและพยายามลองผิดลองถูกเพื่อสิ่งที่ตัวเองรัก วงดนตรีในมหาวิทยาลัยวงนี้ อนาคตอาจจะไม่ใช่แค่วงเล็ก ๆ วงหนึ่ง แต่อาจจะเป็นวงที่ไม่ว่าพูดชื่อออกไปเมื่อไหร่ ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก และที่สำคัญพื้นที่เล็ก ๆ ของพวกเขาจะทำให้พวกเขาเหล่านี้ได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จต่อไปได้ในอนาคตไม่ว่าจะทิศทางใดก็ตาม
ผลงาน Twins Plus กำลังจะมีเพลงใหม่ปล่อยออกมาในเร็ว ๆ นี้แน่นอน และสามารถติดตามอัปเดตข่าวสารของวงได้ที่ Instagram twinsplus_band รวมถึงช่องทาง Social Media ที่จะมีให้ติดตามกันทุกช่องทางในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ Twin Plus และสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ