เปิดเคล็ดลับธุรกิจเด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ เอิร์ธ-วนิดา แม่ค้าทุเรียนหน้าหวาน

กลยุทธ์การสื่อสารอย่างมีศิลปะ เอาชนะได้ทุกอุปสรรค

         เมื่อออนไลน์คือทางรอด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก้าวข้ามผ่านทุกขีดจำกัด ไม่ได้เกิดมารวย แต่ฉันจะสร้างด้วยตัวของฉันเอง นี่คือคำพูดของแม่ค้าหน้าหวานไลฟ์สดขายผลไม้ จากจังหวัดจันทบุรี

         เอิร์ธวนิดา ประภาโส รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของเพจ ทุเรียนจันทบุรี ร้านวนิดา ผู้ที่มาพร้อมกับทักษะการพูดที่น่าดึงดูดใจ ใครเห็น ใครเข้ามาฟัง ต้องหลง ทำให้เราอุดหนุนทุเรียนของเธออยู่เนือง ๆ มาติดตามเรื่องราวของเอิร์ธ เด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ ผู้มุ่งมั่นในการทำธุรกิจไปพร้อมกับเรา

ธุรกิจขายทุเรียน ผสมผสานความเป็นนิเทศศาสตร์

         เลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่เอิร์ธเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย หลายคนคงสงสัยว่าเพราะอะไร แม่ค้าอายุยังน้อยเผยความลับ

         “ต้องบอกก่อนว่าทำไมถึงเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์นะคะ ก็เพราะว่านิเทศศาสตร์ สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สด การใช้กล้อง การทำโปรแกรม OBS ได้รับทักษะการสื่อสาร กระบวนการคิด การทำงานที่มีแบบแผน สามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้คนใหม่ ๆ ได้”

         “แล้วอีกอย่างความเป็นนิเทศศาสตร์มักจะมีสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา ทำให้เหมาะกับการทำธุรกิจในรูปแบบออนไลน์มาก เพราะต้องแปรผันไปตามเทรนด์ของโลก เช่น ใครสามารถทำตามกระแสได้ไว มีคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ ก็จะเป็นจุดขาย หรือจุดสนใจให้กับผู้บริโภคได้”

         “ตอนนี้ธุรกิจที่ทำอยู่ ก็คือการขายทุเรียน เป็นรูปแบบการไลฟ์ขายของออนไลน์ผ่าน Facebook ทุเรียนจันทบุรี ร้านวนิดา จัดส่งทุเรียนจันทบุรีทั่วประเทศ ธุรกิจนี้เอิร์ธก็ได้นำเอาความรู้จากนิเทศศาสตร์มาปรับใช้ในโมเดลธุรกิจของเอิร์ธเป็นอย่างดี” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มสดใส

แม่ค้าออนไลน์ในยุคโควิด-19

         การเรียนที่เอิร์ธทำอย่างเต็มที่แล้ว อีกบทบาทคือการเป็นแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องอยู่หน้ากล้องไลฟ์ขายทุเรียน มีที่มาที่ไปอย่างไร

         “จุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตของโควิด-19 ทำให้บ้านขาดรายได้จึงมองหาธุรกิจออนไลน์ ได้หยิบยกมาเป็นทุเรียนจากพื้นที่ของจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ก็คือจังหวัดจันทบุรี ก่อให้เกิดรายได้”

         เอิร์ธเล่าต่อว่า “จากเมื่อก่อนที่ฐานะของที่บ้านค่อนข้างที่จะติดลบเนื่องจากค่าใช้จ่ายในบ้านที่มีจำนวนมาก ธุรกิจของที่บ้านไม่สามารถเปิดให้ลูกค้าเข้ามาหน้าร้านได้ เรามองว่าเป็นโอกาสในการค้า เพราะไม่ต้องมีหน้าร้าน เเละไม่ต้องสัมผัสกับผู้คน ไม่ต้องเสี่ยง ที่มาขายทุเรียนเพราะเราอยากที่จะหารายได้ เพื่อเข้ามาจุนเจือคนในบ้านก่อน จากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ จนสามารถดูแลคนในบ้าน ก็เกิดจากความพยายามของเราจนมีทุกวันนี้ได้”

         กว่าจะมีวันนี้เธอย้อนวันวานว่าต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง “จากจุดเริ่มต้นขาย 4-5 ผลต่อวัน ณ ตอนนี้เปิดเพจมานานกว่า 4 ปี ผู้ติดตาม 6 หมื่น ตลาดปัจจุบันยอดขาย 1200 กิโล/ต่อวัน ค่าเฉลี่ยต่อปี ยอดขายมากกว่า 10 ล้านบาท จากใช้ห้องไลฟ์เพียงห้องเล็ก ๆ ปัจจุบันสร้างเเผงทุเรียน เพื่อเตรียมเปิดรับซื้อทุเรียนในอนาคตได้”

จุดเด่นร้านทุเรียนจันทบุรี ร้านวนิดา

         ฟังที่เธอเล่าแล้ว เราอยากให้เธอขายของสักเล็กน้อย พูดถึงจุดเด่นของร้านที่เติบโต มีลูกค้าประจำอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง

         “จุดเด่นของเอิร์ธเลยก็คือ จากวันที่เริ่มต้นจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ เป้าหมายหลักในการทำงาน คือสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เเละสร้างชื่อเสียงให้กับคนจันทบุรีที่มีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรมสวนทุเรียน ของที่ลูกค้าได้รับ ต้องได้ความประทับใจอย่างสูงที่สุด”

         สิ่งสำคัญในการขายของคือความประทับใจ แม่ค้าหน้าหวานคนนี้บอกว่า “ความสามารถที่เเสดงออกขณะไลฟ์สด ขายออนไลน์ เอกลักษณ์ประจำตัวในการพูดภาษาถิ่นสื่อสารสามารถสร้างภาพจำให้กับลูกได้อย่างดี เเละการพูดจาที่มีความสุภาพกับลูกค้าตลอดจนจบไลฟ์ ทำให้ลูกค้าได้รับความรู้สึกที่ดีกลับไป และร้านของเรายังนำเสนอสินค้าที่ตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าทุกคน อันนี้เลยถือได้ว่าเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของร้านนะคะ”

การไลฟ์สดคือทางรอดในยุคแห่งโลกออนไลน์

         ยุคนี้ต้องใช้การสื่อสารในการเข้าถึงลูกค้า “สำหรับเอิร์ธการไลฟ์สดคือทางรอดจริง ๆ เพราะสามารถสร้างตัวตนได้ง่ายและรวดเร็ว คนดูสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถที่จะเปิดใจให้กับสินค้าได้ง่ายมากขึ้น ใช้การสื่อสารในการขาย น้ำเสียง แววตา การแสดงสินค้าที่ชัดเจน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะคนชอบดูการไลฟ์สด ต้องการเห็นของจริง ภาพจริง เราก็ต้องเสนอสินค้านั้นแบบจริง ๆ เพราะในยุคปัจจุบันคนเริ่มซื้อของนอกบ้านน้อยลง หันมาซื้อตลาดออนไลน์ค่อนข้างมาก เพราะสะดวกและรวดเร็ว” เธอวิเคราะห์สถานการณ์และแบ่งปันมุมมอง

อุปสรรคของธุรกิจที่ต้องเรียนรู้และก้าวข้าม

         ไม่ว่าการทำงานใด ก็ล้วนต้องมีอุปสรรคให้ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เอิร์ธเล่าเบื้องหลังให้ฟังว่าต้องรักษาความสดของผลไม้ไว้ให้นานที่สุด

         “อุปสรรคสำหรับการทำธุรกิจ คือทุเรียน เนื่องจากว่าเป็นของสด ต้องใช้การวางแผนงานที่ดี ตั้งสติในการทำงาน เพื่อให้งานออกมาผิดพลาดน้อยที่สุด ถ้าทุเรียนสุกเกินไป ก็เละ ลูกค้าก็ไม่อยากได้ บางทีตัดผิดพลาดไปบ้างเจอทุเรียนอ่อน ก็ต้องขาดทุนกันไป ต้องใช้ทักษะการบริหารแบบละเอียดและรอบครอบมาก”

         “การบริหารทีมคือบริหารโดยการใช้การสื่อสารเป็นหลัก มีความชัดเจนสุภาพ ไม่เอาตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง พร้อมยอมรับความคิดเห็นของทีมงานอยู่ตลอด เพราะคิดว่า หากเราต้องการบุคคลที่ช่วยงานเรา เราต้องทำตนเองให้บุคคลอื่นอยากทำงานร่วมกับเราด้วย”

แนะแนวทางการเริ่มการทำธุรกิจ

         ก่อนจากกัน เอิร์ธยังแบ่งปันเคล็ดลับให้คนที่อยากทำธุรกิจว่า “ควรให้คุณค่ากับเวลาให้มาก เพราะเวลาไม่เคยรอใคร กำลังใจที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจที่เรามอบให้กับตัวเอง หากเราบอกตัวเองว่าเราทำได้ เราจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดีด้วยกำลังของตนเอง คนนับสิบให้กำลังใจ แต่หากใจคุณไม่สู้ก็เท่านั้น ให้กำลังตัวเองให้มาก ๆ อยู่บนสติ จะสามารถผ่านไปได้ทุกอุปสรรค

         “อยากแนะนำให้นำสิ่งใกล้ตัวมาลองทำก่อนได้ หรือใช้ความชอบในการทำธุรกิจของตนเอง การทำในสิ่งที่ชอบหรือถนัดผลลัพธ์มักจะออกมาดีเสมอ ลองหยิบยกสิ่งใกล้ตัวมาสร้างรายได้ เพียงเล็กน้อยก็ยังดี ฝากให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้เอิร์ธด้วยนะคะ หรือสามารถมาอุดหนุนเอิร์ธได้ที่ Fanpage Facebook ทุเรียนจันทบุรี ร้านวนิดา”

         ทุกงาน ทุกอาชีพต้องใช้การสื่อสาร เรื่องราวของเอิร์ธเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ขอแค่ตั้งใจ ลงมือทำ มีศิลปะในการสื่อสารกับผู้คนและสังคม เราก็เชื่อมั่นว่าธุรกิจที่ได้ลงมือทำจะเติบโตอย่างงดงาม

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ เอิร์ธ-วนิดา ประภาโส รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

รักแท้แพ้เนื้อย่าง ถ้าไม่มีคนข้าง ๆ ก็ย่างกินเอง

Writer

Every new day is another chance to change your life