สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ อีกประการหนึ่ง คือ การรับฟังกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราต้องทำงานร่วมกับผู้คนที่แตกต่าง และมีความหลากหลาย ความหลากหลายนั้น อาจมีข้อดีตรงที่ไม่ได้มาจากความคิดของคน ๆ เดียว
วิชา GE ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ต้องเรียนก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งวิชาที่นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ ร่วมกับเพื่อนจากต่างคณะ การจัดการเรียนรู้ในวิชานี้ จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับอาจารย์ผู้สอน
เราขอพาเพื่อนทุกคนมารู้จักกับ อาจารย์เจี๊ยบ–ดร.รุ้งลาวัลย์ สกุลมาลัยทอง ที่สอนคลาสเรียนวิชา General Education ที่มีผู้เรียนมาจากหลากหลายคณะ
GE หรือ General Education รายวิชาศึกษาทั่วไปว่าด้วยทักษะชีวิต
การเป็นผู้สอนวิชา GE ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนี้มายาวนาน ทำให้อาจารย์เจี๊ยบมีความเข้าใจถึงความแตกต่างของนักศึกษาที่มาจากหลากหลายคณะเป็นอย่างดี อาจารย์เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า “General Education เป็นวิชาการพัฒนาผู้เรียน ให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เน้นการพัฒนาทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ความฉลาดทางอารมณ์ การแก้ไข้ปัญหา เรียนรู้ผ่านกิจกรรมในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ให้นักศึกษาได้ใช้ความสามารถ ความคิดแก้ไขปัญหา”
บุคลิกของครูวิชา GE ต้องช่างสังเกต และเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา
คนเป็นครู ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเปิดใจที่จะเรียนรู้ไปกับนักศึกษา อาจารย์เจี๊ยบบอกถึงเส้นทางการเป็นครูในวิชา GE ให้เราได้เห็นภาพมากขึ้น ว่า “อาจารย์สอนมาห้าปีแล้ว ก่อนการสอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะวิชาอะไร เราเริ่มจากการสำรวจผู้เรียนก่อน มีการโหวตว่า นักศึกษาอยากเรียน เลือกเรียนหัวข้อใด หรือที่เราเรียกกันว่า โมดูล (Module) เพราะในคลาสมีผู้เรียนจากหลากหลายคณะ เด็กอาจจะมีความสนใจที่แตกต่างกัน เราต้องคอยสังเกตว่าเด็กสนใจเรื่องอะไร แล้วหยิบสิ่งที่เขาสนใจมาประยุกต์ใช้กับบทเรียนที่มี เราต้องช่างสังเกตและเลือกใช้แนวทางที่ต่างกันไปกับเด็กแต่ละคน มีการบริหารจัดการเรียนการสอนโดยเน้นหาความชอบ หาความถนัด หาความน่าสนใจ จัดหัวข้อการเรียนที่สนุก และตอบโจทย์ตรงความต้องการของผู้เรียน”
ฟังเสียงจากเด็ก แล้วการสอนวิชา GE จะสนุกมากขึ้น
เราอาจจะคุ้นชินกับภาพที่อาจารย์เป็นผู้พูดอยู่ฝ่ายเดียว แต่ในวิชา GE เสียงความต้องการของเด็ก ๆ มีความสำคัญ ถึงแม้คลาสเรียนจะมีนักศึกษาหลากหลาย แต่เราเชื่อมโลกของครูกับนักศึกษาด้วย LXD ย่อมาจาก Learning Experience Designer หรือเด็ก ๆ ที่มาช่วยครู GE ออกแบบการเรียนรู้ และเราได้รับฟังเสียงของเด็กมากยิ่งขึ้น
“การเรียนรู้ของครู GE คือ ลดอัตตาความเป็นครูลง เริ่มต้นง่าย ๆ เลย เริ่มจากการฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น ฟังสิ่งที่เขาสะท้อนกลับมาหาเรา ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่เราต้องบอกว่ากิจกรรมการเรียนรู้แต่ละส่วนเราต้องการให้เขาได้คิดหรือเรียนรู้อะไร หลังจากกิจกรรมต้องสรุปให้เด็กได้ฟัง และทำความเข้าใจกับผู้เรียนแต่ละคลาส และมองหาของดีในคลาส มีเด็กกลุ่มใด คณะใด ดึงเด็กที่มีศักยภาพในห้อง ให้เขาก้าวขึ้นมาเป็น LXD ให้เด็กช่วยออกแบบกิจกรรมหรือการเรียนการสอน ให้เด็กได้ลงมือสัมผัสการวางแผนการเรียนการสอน ผู้เรียนจะได้ทักษะที่มากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และลงมือทำอย่างไม่ลังเล”
จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน…ครู GE กับนักศึกษา LXD
ถ้าหากจะเข้าใจเด็ก ก็ต้องให้เด็กมีส่วนร่วม อาจารย์เน้นย้ำว่า LXD มีความสำคัญ LXD มีหน้าที่อะไรบ้าง และให้การดูแลนักศึกษาอย่างไร อาจารย์เจี๊ยบตอบว่า “LXD จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกช่วยอาจารย์จัดการกิจกรรมในห้องเรียน เขาจะได้ทักษะกล้าแสดงออก กลุ่มที่สอง ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากขึ้น คล้ายหัวหน้ากลุ่ม แต่มีบทบาทมากกว่า เขาจะเข้าไปอยู่กับผู้เรียน ลงประจำกลุ่ม คอยสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ คอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา อธิบายงานแทนครูได้ เป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับผู้เรียน เด็กจะได้ทักษะความเป็นผู้นำ และกล้าตัดสินใจ กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่บันทึกการเรียนรู้ในชั้นเรียน เช่น ทำคลิปวิดีโอ ถ่ายภาพบรรยากาศการเรียนรู้ ทำกราฟฟิคต่าง ๆ สื่อสารกับเพื่อนในห้อง ทำให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวามากขึ้น เขาจะได้ฝึกประสบการณ์การทำงานด้านกราฟฟิก และการทำคลิปวิดีโอ”
ครูผู้สอนกับทีมเด็ก ๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบนี้ ถึงทำให้การเรียนรู้ในวิชา GE ท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา อาจารย์เจี๊ยบเสริมอีกว่า “เด็ก LXD จะช่วยมาเติมในส่วนของความสนุก สร้างสีสัน จะทำหน้าที่ก่อนเข้าคลาสเรียน คือออกแบบกิจกรรม ดูแลบรรยากาศการเรียนรู้ ชักชวนให้ผู้เรียนถามคำถาม กระตุ้นความคิด และหลังจากคลาสต้องมีการสรุปบทเรียน หาจุดที่ต้องปรับปรุง มีการสังเกตการณ์ ฟังผู้เรียน ดูปฏิกิริยาว่าเป็นอย่างไร เพื่อสรุปกับอาจารย์ตอนท้ายคาบเรียน และปรับเปลี่ยนกิจกรรมในคลาสเรียนต่อไปให้ดียิ่งขึ้น”
GE ประเมินจากกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม
เราถามแทนนักศึกษาหลายคนที่อยากรู้วิชาว่า GE มีการประเมินและให้เกรดนักศึกษาอย่างไร อาจารย์คลายข้อสงสัยให้เราว่า “GE เรามุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ นักศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการเรียน ต้องแสดงให้ครูเห็นถึงการพัฒนาตัวเอง ในวิชา GE ที่อาจารย์สอนมีการให้คะแนนกิจกรรมในห้องเรียน คิดเป็น 50% คะแนนการทำงานกลุ่มหรือ Final Project คิดเป็น 30% แล้วให้ผู้เรียนได้ประเมินเพื่อนในกลุ่ม คิดเป็น 10% และการบันทึกทักษะการเรียนรู้ของตนเอง ด้วยโปรแกรมที่ชื่อว่า Skillset คิดเป็น 10%”
อาจารย์เจี๊ยบบอกถึงทักษะการเรียนรู้นั้นสำคัญมากกว่าความรู้ ทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาสำคัญอย่างไร การใช้โปรแกรม Skillset ทำให้เราเข้าถึงนักศึกษาเป็นรายบุคคล เห็นพัฒนาการของนักศึกษา “Skillset คือแพลตฟอร์มส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ที่ช่วยให้คณะได้เห็นพัฒนาการของนักศึกษา ครูที่ปรึกษาเห็นว่าเด็กคนนี้มีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร นักศึกษาได้เข้าไปบันทึกการเรียนรู้ ออกแบบเป้าหมายชีวิตของตัวเอง โชว์ไลฟ์สไตล์ และครูที่ปรึกษาได้เข้าไปดูการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าของตัวนักศึกษาเองได้ด้วยโปรแกรม Skillset”
ปัญหาจริง ๆ แล้ว คือ ความท้าทาย
ในทุกชั้นเรียนย่อมมีปัญหาแตกต่างกัน โดยเฉพาะการหลอมละลายให้เด็ก ๆ ที่มาจากต่างคณะ สามารถทำงานร่วมกันได้ อาจารย์เจี๊ยบเล่าต่อด้วยสีหน้าที่สดชื่นว่า “ปัญหาในห้องเรียนมีเช่นกัน การจัดการหรือทำกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนทำงานด้วยกันได้ โดยที่ไม่มีปัญหา เป็นความท้าทาย แต่อาจารย์มีผู้ช่วย คือ เด็ก LXD ด้วยความที่ LXD กับผู้เรียนอายุห่างกันไม่มากนัก อาจจะสื่อสารได้ดีมากกว่า หากเกิดปัญหา เราจะหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จะใช้วิธีการพูดคุยกัน อาจจะให้ LXD เปลี่ยนกลุ่มดูแล หลังจากสอนเสร็จ จะมีการประชุมเพื่อสรุป จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ช่วยสะท้อนภาพให้กันและกัน หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน”
ความประทับใจในการสอน GE
การเป็นครู คือ ผู้ที่ต้องพร้อมรับความหลากหลาย และความเปลี่ยนแปลง อาจารย์บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่สอน GE มากว่า 5 ปี ได้เรียนรู้จากเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน “เราชอบความหลากหลายของเด็ก คือ เด็กมีรากฐานพื้นฐานที่ต่างกัน มีความคิดมุมมอง หรือแนวคิดที่ต่างกันอยู่แล้ว เมื่อเขามาอยู่รวมกัน ได้ทำโปรเจคร่วมกัน กลายเป็นโปรเจคที่ได้ความหลากหลายมากขึ้น เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริง คือ การจำลองการทำงานในชีวิตจริง การจำลองการอยู่ร่วมกันในสังคม พวกเขาต้องมีวิธีการปรับตัวอย่างไร ชอบการที่เขายอมเปิดมุมมอง ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน ผลงานเด็กที่ทำโปรเจคร่วมกัน คือ ดีมาก ๆ เลย และสิ่งสุดท้าย คือ ความสัมพันธ์ที่สานต่อกันออกไปจากห้องเรียน มีความสนิทสนมกันมากขึ้น ระหว่าง LXD กับผู้เรียน คอยช่วยเหลือกัน คือ สิ่งที่ครูประทับใจ”
เราได้เห็นมุมมองความคิดจากอาจารย์ผู้สอนวิชา GE ที่ต้องเรียนรู้ ปรับตัว รับมือกับปัญหา และสังเกตความแตกต่างหลากหลายของนักศึกษาที่มาจากหลายคณะ เพื่อที่จะได้จัดการเรียนรู้ได้ตอบสนองกับความชอบ ความสนใจของนักศึกษามากขึ้น รู้แบบนี้แล้ว ต้องบอกต่อกันว่าวิชา GE นั้น สำคัญและจำเป็นมากในการพัฒนาทักษะชีวิต ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ เพราะความจริงข้อหนึ่งคือเราไม่สามารถอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ได้นั่นเองจ้า