เติมเต็มความคิด แบ่งปันมุมมองการเรียนรู้กับอาจารย์น้ำพุ-นวพล หาญคำอุ้ย

การเรียนรู้คือการพัฒนาทักษะชีวิต ช่วยให้เราเติบโตอย่างมีความสุข

            การเรียนมหาวิทยาลัยนั้นแต่ละคณะสาขาจะมีวิชาเรียนที่แตกต่างกันไปตามสายอาชีพ แต่จะมีอยู่วิชาหนึ่งที่ไม่ว่าจะคณะไหน สาขาอะไร ก็จะต้องเรียนวิชานี้ นั่นก็คือ วิชา GE (General Education) จัดอยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าหลายคน ก็สงสัยว่าเรียนไปทำไม ? เรียนแล้วได้อะไร ?

            มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง สามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีทักษะของผู้ประกอบการ คิดอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ โดยวิชานี้อยู่ในกลุ่มวิชาบังคับ

            อีกทั้งยังมีอาจารย์ที่มีความสามารถ มีความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งมีเพื่อนนักศึกษาที่เรียนว่า LXD (Learning Experience Designer) ที่จะมาเป็นผู้ช่วยในการออกแบบการสอนอีกด้วย

            เราได้มาพูดคุยกับ อาจารย์น้ำพุ-นวพล หาญคำอุ้ย อาจารย์เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่สอนวิชา GE เรามารู้จักอาจารย์ให้มากขึ้นกันเลย

การได้มาเป็นอาจารย์สอน GE

            อาจารย์ได้เล่าถึงว่าเข้ามาเป็นผู้สอนวิชา GE ได้อย่างไร “ในที่นี้คือตอนนั้นอาจารย์พึ่งเข้ามาทำงานใหม่ คงเห็นว่าอาจารย์น่าจะเข้ากับเด็กได้เพราะมหาวิทยาลัยเริ่มมีนโยบายแล้วว่าจะปรับ GE ในมุมแบบใหม่ อาจารย์ที่ได้มาสอน GE จะเป็นอาจารย์ที่มีความยืดหยุ่นสูง อย่างอาจารย์ก็คือไม่ได้มีแพลนไว้ในใจว่าต้องแบบนี้เท่านั้น เราก็ปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้”

            อาจารย์น้ำพุก็พูดด้วยความประทับใจว่า “การสอน GE คือการสอนที่มีความสุขมาก เหมือนกับการปลดปล่อยอะไรบางอย่างในตัวของเรา แล้วเหมือนเป็นการเติมพลังอะไรบางอย่าง เช่น เราสอนให้เด็กทำความเข้าใจตนเอง แล้วเวลาเราเห็นเด็กศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวเอง นี่คือความสุขที่สุดแล้วของอาจารย์ เราไม่ได้ต้องการสอนให้เด็กเก่ง เราต้องการให้เขาเคารพตัวเค้าเองก่อน ก่อนที่เขาจะเคารพคนอื่นได้ สอนให้เค้ามีทักษะที่ดีก่อนและเขาก็จะใฝ่หาแสวงหาความรู้ได้ดีอย่างแน่นอน”

รู้จักกับ GE ให้ดีกว่าที่เคยรู้

            อาจารย์น้ำพุเล่าต่อว่า มนุษย์เรามีสมองสองซีก คือ Professional Skill คือวิชาต่าง ๆ ที่พวกเราร่ำเรียนกัน เช่น คณะนิเทศศาสตร์ ก็จะเรียนหลักการต่าง ๆ ของคณะนิเทศศาสตร์ สมองบางซีกที่โดนลืมไป คือ Soft Skill ที่สอนเรื่องของการพัฒนาคุณลักษณะนิสัยของมนุษย์คนหนึ่งที่พึงจะมีในสังคม

            เราอยากจะทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความเต็มเปี่ยมในศาสตร์วิชาที่เขาต้องการที่จะเรียน นอกจากจะเก่งแล้วก็ดีด้วย GE เราจะมุ่งเน้นตรงนี้ เราจะสอนเกี่ยวกับทักษะหรือคุณลักษณะที่ดี ในที่นี้คือ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในหลักพระพุทธศาสนา แค่เราเป็นคนดีก็พอ และในเมื่อคนดีหลายคนรวมกันสังคมก็จะดี ประเทศชาติก็จะดี โลกก็จะดีครับ

สไตล์การสอนที่โดดเด่น

            ทุกคลาสมีสไตล์การสอนที่แตกต่างกันเพราะว่า GE ของเราเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สมมติเราสอนเรื่อง Design Thinking ให้กับเด็กคณะมนุษย์กับคณะบริหาร เราก็ต้องยกตัวอย่างที่เหมาะกับเขา อาจารย์จึงต้องทำความเข้าใจนักศึกษา และหาวิธีการสอนที่เหมาะกับนักศึกษา

สำคัญที่การเตรียมตัว

            ถ้าพูดถึง GE ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์น้ำพุบอกว่าเราจะมีตัวช่วยสำคัญของอาจารย์ ที่เรียกว่า LXD (Learning Experience Designer) พอมีคำว่า Designer กับ Experience เข้ามาคือจะใช้ LXD เป็นส่วนสำคัญในการช่วยอาจารย์ อย่างสมมติอาจารย์จะสอนเรื่อง Internet of Things เราก็ต้องถามเด็กอีกว่าเคยเรียนประเด็นเรื่องนี้ไหม ดังนั้นจะมีนักศึกษาช่วยออกแบบวิธีการเรียนรู้ กิจกรรม เล่นเกมในชั้นเรียนร่วมด้วย

            บางทีมีประเด็นที่เกิดขึ้นตอนเที่ยงคืนและเป็นประเด็นสำคัญมาก ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา ในฐานะอาจารย์ GE สิ่งสำคัญของอาจารย์คือต้องมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นการเตรียมการสอนก็ถ้าจะบอกว่าเตรียมอย่างไร ก็คือเตรียมใจให้พร้อมรับสถานการณ์ทางสังคม เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และนำมาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนรู้ได้ด้วย

สิ่งที่ได้รับนั้นยิ่งใหญ่เสมอ

            ถามจริง ๆ แล้วเรียน GE ได้อะไร ? อาจารย์น้ำพุนำเสนอมุมมองว่า ไม่ว่าจะเรียนกี่ตัวกี่วิชาก็แล้วแต่มันจะมีหลักของมัน เช่นวิชา 005 ว่าด้วยเรื่องนี้ 001 ว่าด้วยเรื่องนั้น แต่สุดท้ายแล้วมันจะเป็นเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไรก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อทำให้นักศึกษาแต่ละคนเข้าใจตัวเอง เพราะ Soft Skill คนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้นอย่างเช่นเราอาจจะมีความรับได้ในประเด็นปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น ปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกันหรือพ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กบางคนอาจจะรับได้สบายมากเข้าใจ แต่เด็กบางคนรับไม่ได้เกิด เป็นเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาแต่สิ่งที่เราจะทำให้เขาเห็นว่า คุณต้องเข้าใจตัวเองว่าตัวเองอยู่ในจุดไหน สมมติว่าถ้าเรารู้ว่าเรารับไม่ได้แล้วจะเราจะทำอย่างไรเราถึงจะจัดการปัญหานี้ได้

            ดังนั้นเรียน GE เราจะได้เข้าใจตัวเองเพื่อเป็นการส่งต่อตัวเองใน 2 มิติ เข้าใจตัวเองเพื่อที่จะไปเรียนวิชาที่ชอบ ก็คือ Professional Skill ก็คือสมองอีกซีกนึงนั่นเอง คือถ้าเราเข้าใจตัวเองแล้วเราไปเรียนในสิ่งที่ชอบจะทำให้เราเรียนได้ง่ายขึ้น อีกอย่างก็คือหากเราเข้าใจตัวเองเราก็จะอยู่ในสังคมไม่ว่าสังคมจะอยู่ในรูปแบบไหน เราก็จะอยู่ได้ เราก็จะปรับตัวได้ เราก็จะเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว อยู่ในรูปทรงไหนเราก็จะเป็นแบบนั้น อาจารย์เคยทดสอบ เคยให้กระดาษ A4 ไป 1 แผ่น ถามว่าเรียน GE ได้อะไรสิ่งที่ตอบตรงกันมากว่า 90% เลย ก็คือได้เข้าใจตัวเอง แล้วก็ถูกต้องเพราะว่ามันคือวัตถุประสงค์ของ GE ที่อยากจะให้นักศึกษาได้รับ

เพราะเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

            การทำงานรวมกันคือสิ่งที่สำคัญและคือทักษะที่ Soft Skill จำเป็น มนุษย์เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ขนาดนกยังบินเป็นฝูง ปลายังว่ายเป็นกลุ่มเลย มนุษย์เราก็เช่นเดียวกันเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้เลยในสังคมนี้ ดังนั้นนี่จะเป็นแบบจำลองอีก 1 แบบแล้วก็เป็นอีก 1 ในการพัฒนา Soft Skill เพื่อทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือถ้าศัพท์ทางวิชาการที่อาจารย์ใช้ก็คือ การบูรณาการคือสิ่งที่สำคัญที่สุด รู้อย่างเดียวไม่รอดต้องรู้หลาย ๆ เรื่อง ดังนั้นเป็นที่มาว่าเมื่อเด็กต้องออกไปทำงานร่วมกับคนอื่นเราก็จำลองตั้งแต่ในห้องเรียนซะเลยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด

พบกันครึ่งทางระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา

            ถ้านักศึกษารู้สึกเบื่อที่จะเรียนวิชานี้ อาจารย์จะดึงความสนใจของนักศึกษาให้มีสมาธิกับการเรียนได้อย่างไร อาจารย์ก็ได้แบ่งสาเหตุออกเป็น 2 แบบคือ นักศึกษากลุ่มที่ไม่เคยเรียนวิชานี้มาก่อนและไม่มีความคุ้นชินและนักศึกษากลุ่มที่ผ่านการเรียนรู้แบบนี้มาแล้วซ้ำไปซ้ำมา

            ดังนั้นเมื่อมองเห็นสาเหตุแล้วก็มาถึงวิธีแก้ปัญหา อาจารย์น้ำพุได้ให้คำอธิบายโดยใช้การเปรียบเปรยว่า การเรียนก็เหมือนกับการทำหนัง เราต้องสร้างสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า “เช่นเดียวกันถ้าอาจารย์อยากจะนำเสนอเรื่องนี้อยากจะพูดเรื่องนี้มากแต่เด็กไม่รับฟังก็ไม่ได้ เด็กไม่ฟังเด็กก็เบื่อเหมือนกับที่เราอยากดูหนังตลก แต่เอาหนังดราม่ามาฉาย เราก็ไม่อยากดู” อาจารย์จึงต้องหาว่าสิ่งที่นักศึกษาต้องการคืออะไร แล้วก็ไปเสริม ณ จุดตรงนั้น “ต้องปรับตัวให้ได้มากที่สุด ในบางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดแต่เป็นสิ่งที่ต้องการ เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวแล้วก็เสริมไป” อาจารย์น้ำพุได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า การเจอกันครึ่งทางระหว่างนักศึกษาและอาจารย์คือสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด

ถ้าไม่มีวิชา GE

            เมื่อเราถามถึงความสำคัญของวิชานี้ อาจารย์น้ำพุก็ได้ยกตัวอย่างเป็นเคสของหมอและพยาบาลที่ทะเลาะกันเพื่อแย่งห้องคลอดหรือตำรวจที่ขายยาบ้า โดยอธิบายไว้ว่า “ความมีจริยธรรมอย่างที่อาจารย์บอก ความเป็นคุณลักษณะนิสัยที่ดีมันขาดหายไป ดังนั้นจะกลายเป็นว่าถ้าไม่มี GE สังคมของเราจะเป็นอย่างไร ตอบคำถามตรงนี้เลยว่าสังคมเราจะมีคนเก่ง แต่จะไม่มีคนดี จะทำให้โลกของเราอยู่ยาก”

            อาจารย์พูดพร้อมกับย้ำว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาเป็นอันดับแรกคือ คุณลักษณะนิสัยที่ดี การใฝ่รู้ใฝ่เรียน การให้เกียรติผู้อื่น นี่คือสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะมีมากกว่าความรู้ด้านอื่น ๆ

GE เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในอนาคต

            อาจารย์น้ำพุกล่าวว่า ม.กรุงเทพได้วางแผนให้วิชา GE ได้พัฒนาทักษะของนักศึกษาเป็น 2 ด้านคือ ด้านการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นและทักษะในวิชาชีพของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ทักษะของนักวิทยาศาสตร์และทักษะของผู้ประกาศข่าวก็มีไม่เหมือนกัน และผู้ประกาศข่าวก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะที่เหมือนกับศิลปิน “ดังนั้นวิชาชีพต่าง ๆ มันมีแนวทางของมันอยู่ สิ่งที่เราจะพัฒนาทักษะใดถามว่าทักษะต้องเหมือนกันไหม ไม่เหมือนกันดูผู้เรียนเป็นสำคัญนี่คือสิ่งที่ม.กรุงเทพเราทำ” ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องมี LXD เพื่อที่จะได้ช่วยนำประสบการณ์มาสอนในห้องเรียนและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

GE คือครอบครัว

            อาจารย์น้ำพุเล่าเกี่ยวกับ LXD ว่า ในหนึ่งสัปดาห์อาจารย์ต้องเจอ LXD ประมาณ 2-3 ครั้ง และในการทำงานนั้นก็จะมี 3 ขั้นตอน อย่างแรกคือการออกแบบหลักสูตรการเรียนในคลาสนั้น ๆ ว่ามีประเด็นสังคมไหนที่ควรจะมาเพิ่ม ต่อมาคือในคลาสเรียน LXD ก็จะนำโจทย์จากอาจารย์ไปแจกให้กับผู้เรียน

            ขั้นตอนสุดท้ายเป็นขั้นตอนที่ LXD จะได้มาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของคลาสนั้น ๆ ให้อาจารย์ฟัง “เรามีการคัดกรอง LXD ที่ดี ไม่ใช่ใครอยากจะเป็น LXD ก็ได้ มันก็ต้องเป็นคนที่เหมาะกัน พูดเข้าทางกัน ดังนั้นสนิทกันก็คือในระดับหนึ่งเลย” อาจารย์น้ำพุกล่าวเสริมมาอีกด้วยว่า “เราเป็นครอบครัวทั้งหมดเลย ครอบครัวอาจารย์ GE ด้วยกันเองเราก็มาแชร์กัน อย่างที่บอกว่าเราอยากให้ทุกคนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เราก็เริ่มจากสังคมของพวกเราก่อน”

            สุดท้ายสิ่งที่อาจารย์น้ำพุอยากจะฝากก็คือ อยากจะให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการเรียน GE แต่บางครั้งวิชานี้ก็ไม่ได้มีสูตรหรือทฤษฎีตายตัวให้ต้องท่องจำ นักศึกษาบางคนก็อาจจะละเลยวิชานี้ไป “แต่ย้อนกลับไปว่าสุดท้ายแล้ว โลกของเราไม่ได้อยู่ด้วยความเก่ง เราอยู่ด้วยความดี อยากจะให้นักศึกษาทุกคนถามว่า เรามีความดีเพียงพอที่จะอยู่ในสังคมนี้ได้รึยัง ถ้ายังหรือถ้ายังรู้สึกว่าตัวเองชีวิตยังมีปัญหายังจัดการปัญหาอะไรไม่ได้ ลองมาตั้งใจเรียน GE ดูแล้วคุณจะเห็นตัวเอง คุณจะเคารพตัวเอง ถ้าอยากให้คนอื่นเคารพเรา เราก็ต้องเคารพตัวเองก่อน เราต้องให้เกียรติตัวเอง ต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เพราะ GE เราจะสอนให้สร้างคุณค่าจากความสามารถหรือจากสิ่งที่อยู่ลึก ๆ ภายในของแต่ละคน”

Writer

จงศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเอง ตัวแม่สายมูเตลู ว่าง ๆ ชอบไปดูดวงเล่น มีชื่อเสียงอันโดดเด่น คือสั่งงานเก่งเป็นที่หนึ่ง จริงจังทุกการทำงาน มีมาตรฐานชั้นสูง ยืนหนึ่งเรื่องความเฟียส แต่ถ้างานไม่เนี้ยบก็กลับไปแก้มาใหม่

Writer

สาวน้อยสไตล์เกาหลี สนใจในภาษา รักทุกอย่างที่มีความเกาหลี หากว่างชอบเข้ากูเกิ้ลหาแรงบัลดาลใจใหม่ ๆ ชอบพอ ๆ กับการออกไปเที่ยวนั่งรถเล่นมองวิวข้างทาง มีตัวตนหลายมิติ ขึ้นอยู่ว่าคิดอะไรในตอนนั้น

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Writer

สาวคูลสุดมั่นที่ผมสั้นม้าเต่อ เลิศเลอไปกับแฟชั่น จริงจังเรื่องการกินเหมือนมีซูบินเป็นไอดอล

Photographer

ถ่ายรูปมือใหม่ ชอบอะไรเกี่ยวกับเบื้องหลัง ชอบเสียงดนตรีและผลงานศิลปะดาร์ก ๆ