พี่เจแปน-ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ ศิษย์เก่าม.กรุงเทพ ที่รักในการทำงานสื่อ

อดีตรุ่นพี่นิเทศ ตัวอย่างคนทำสื่อที่ยัง survive

            “ถ้าคิดไม่ออก ให้ออกไปคิด” คำกล่าวนี้มาจาก พี่เจแปน-ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ (ปัจจุบันคือคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์) “พี่เจแปน” เปิดบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ มีชื่อว่า “มาแรงสตูดิโอ” (Marang Studio) และก็ทำช่อง YouTube และ Facebook Fanpage ชื่อ Buffet Channel

จัดให้แบบไม่อั้น แนวคิดของ Buffet Production

            การเริ่มต้นทำโปรดักชั่นกับเพื่อนของ “พี่เจแปน” เริ่มต้นจากการคิด ง่าย ๆ เลยครับวันนั้นไปกินอาหารญี่ปุ่นแบบสายพานกับเพื่อน นั่งคิดชื่อกันว่าจะเอาชื่อไรดีและก็ไปเห็นป้ายบนสายพานมันเขียนว่า Buffet 199 ก็เลยชื่อนี้ไหม Buffet มันรู้สึกหลากหลาย มันมีหมดเพราะมันเป็น Buffet เราก็เลยเอาคำนี้แหละ Buffet Production ให้คุณแบบไม่อั้น และจุดขายของงานเราคือ เราขายความฮา ความบันเทิง ความสนุก ความเป็นเพื่อน คาแรกเตอร์นักแสดงจะเป็นเพื่อนที่สนิทกัน 6 คนโดยคาแรกเตอร์แต่ละคนจะแตกต่างกัน

คิดไม่ออก ให้ออกไปคิด

            เมื่อคิดอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ต้องผ่อนคลายบ้าง เพราะการทำงานสร้างสรรค์ ต้องมีวันที่ตีบตันกันบ้าง เมื่อเจอภาวะไอเดียตีบตันจริง ๆ ก็คิดว่ามันไม่ถึงกับตันหรอก แค่ยังคิดไม่ออก บางทีเราอยู่ที่ออฟฟิศในห้องสี่เหลี่ยม เจอคนเดิม ๆ สภาพแวดล้อมเดิม ๆ สถานการณ์เดิม ๆ มันไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจใหม่ได้ ก็เลยไม่มีไอเดียใหม่เข้ามา บางทีเราจะไปหาไอเดียใหม่จากการดู Facebook Instagram Twitter Google YouTube มันไม่พอ มันต้องไปหาแรงบันดาลใจข้างนอกด้วย เลยมีแนวคิดว่า ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปคิด

มุมมองเกี่ยวกับการทำ Production House

            ยุคที่พี่เรียนจบออกมามีคนอยากทำ Production House เยอะมาก อาจจะเป็นหนึ่งอย่างที่มาจากไอดอล คือ แก๊งพี่ ๆ ผู้กำกับ GDH ที่เขาทำProduction House เลยเอาเป็นแบบอย่างจริง ๆ ในชีวิตจริงมันไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ จบออกมาตอนแรกก็คิดว่าง่าย คิดว่ามีคนรู้จักบนโลกออนไลน์เยอะ ในชีวิตจริงมันตรงกันข้าม เราต้องมาเริ่มใหม่ มาทำบริษัท สิ่งที่เราไม่รู้คือเรารู้แต่การผลิตแต่ไม่รู้กลยุทธ์ วิสัยทัศน์ มุมมอง แผนองค์กรต่าง ๆ แม้แต่งานบัญชี ทุกอย่างต้องมาเริ่มศึกษาเองหมดเลย ลองผิดลองถูกมาเยอะ กว่าจะมีงานหาลูกค้าได้

            พี่จบมาทำ Production ว่างเกือบ 2 ปี ซึ่งตอนนั้นก็ทำออฟฟิศแล้วนะ มันมีงานเข้ามาประปราย เรามุ่งผิดจุด ณ ตอนนั้นเรามีฐานแฟนคลับฐานแฟนเพจเราไม่ได้ต่อยอด เรามองข้ามตรงนั้นไป อันนั้นคือสิ่งที่เราคิดผิด เราคิดว่าเราอยากที่จะทำตาม Passion สิ่งที่เราจบมามันไม่ใช่ แต่เราไปว่ายทวนกระแสน้ำ ก็เลยปวดเมื่อยเสียแรง บางทีอาจจะตายได้ เราก็เลยกลับมาทำ YouTube Facebook มันคือสิ่งที่เราเป็น พอกลับมาทำยอดคนตามพุ่งเลย ลูกค้าติดต่อมาให้รีวิว Tie-in สินค้า

เคล็ดลับเพื่อ survive ในวงการสื่อ

            กลยุทธ์และวิธีการของเราว่าจะทำยังไงถึงจะอยู่รอด 1. บริษัทอยู่รอด 2. เราอยู่รอด 3. ไอเดียอยู่รอด พี่เลยทำ Signature ขึ้นมา 1 อย่างคือ ถ้าลูกค้ามาจ้างให้เราทำโฆษณา พี่เอา TVC กับสื่อออนไลน์มารวมกัน พี่จะต้องขายลูกค้าให้ผ่านว่าโฆษณาชุดนี้จะต้องเป็นแก๊งพวกพี่แสดงทุกคน ห้ามขาดใคร และงาน Production พวกพี่ต้องทำ เมื่อมีเบื้องหน้าคนดูจะรู้เลยว่าใครเป็นคนทำ บางทีเอาแก๊งพวกพี่ไปเล่นแต่เป็นทีมอื่นผลิต คนดูยังคิดว่าทีมพี่ผลิตด้วยซ้ำไป นั่นคือกลยุทธ์และมุมมองว่าวิสัยทัศน์ของเราเป็นอย่างไร

            ฉะนั้นทีมเวิร์คเราต้องดี โชคดีที่ทีมเวิร์คเราดีช่วยกันทำงานพัฒนาองค์กร มันเลยอยู่ได้ ถามว่าตอนนี้พอใจหรือยัง เราก็พอใจและเรายังต้องพัฒนาต่อไปอีกเรื่อย ๆ หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ขององค์กรมันปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ปีหน้านี่หนักเลยลูกค้ามาจองคิวขอทั้งปี เราก็รู้สึกแฮปปี้ เพราะว่า ออฟฟิศอยู่ได้ ลูกน้องอยู่ได้ เราอยู่ได้ หุ้นส่วนทุกคนอยู่ได้ เพราะเขาต้องการเงินปันผล กำไรถือว่าดีมากทุกคนแฮปปี้ อยู่ที่ว่าต่อจากนี้เราจะพัฒนาอะไรอีกต่อไป พี่มองว่าค่อย ๆ เดินอย่างมั่นคงดีกว่าก้าวกระโดดแล้วพลาด พี่ไม่รีบหรอกนะ Subscriber ลูกค้าไว้ใจเราให้เราทำงาน เราก็ยังได้งานจากลูกค้าอยู่ เราค่อย ๆ ก้าวอย่างมั่นใจและมั่นคงดีกว่า step by step

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก พี่เจแปน ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ อดีตศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

เด็กนิเทศศาสตร์ เสพติดการดูซีรีส์ ชอบดูละคร ภาพยนตร์ และรายการแวดวงบันเทิงเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยากทำงานเบื้องหลัง ผลิตงานในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ดีเป็นที่รู้จัก

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว