รู้จักหอประวัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพ Bangkok University History Hall

ทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพผ่านนิทรรศการที่รวบรวมเรื่องเล่า ของที่ระลึก และบันทึกความทรงจำ

            ความทรงจำมีคุณค่าให้เราได้หวนระลึกถึงและเรียนรู้อยู่เสมอ เราอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับ หอประวัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพ Bangkok University History Hall สถานที่ตั้งอยู่ ณ หอสมุดสุรัตน์โอสถานุเคราะห์ บริเวณชั้น 3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus หอประวัติคือห้องแห่งความทรงจำที่รวบรวมเรื่องราวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงเป็นนิทรรศการที่รวบรวมเรื่องเล่า ของที่ระลึก และบันทึกความทรงจำของผู้คนที่ผูกพันใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            มาทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยของเราให้ลึกซึ้งอีกสักนิด เราขอพาทุกคนเดินทางย้อนอดีตกลับไปสมัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่งเริ่มก่อตั้งด้วยกันนะคะ

จากอดีตสู่ปัจจุบัน…จากปัจจุบันสู่อดีต

            ห้องจัดแสดงนิทรรศการออกแบบไว้อย่างสวยงาม เก็บทุกรายละเอียดของอดีต เมื่อพ้นทางเข้าประตูเราจะได้พบกับผนังขนาดใหญ่ที่รวบรวมรูปภาพขาวดำในอดีตของมหาวิทยาลัย และภาพศิษย์เก่าหลายท่านที่ในปัจจุบันกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ในแวดวงหลากหลาย

            เมื่อเดินลึกเข้าไปห้องแรก เราจะได้พบการจำลอง “ห้องเรียนในอดีต” พร้อมกับกล่าวของ อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวไว้ว่า “…อยากฝึกเขาออกไปสร้างธุรกิจด้วยตนเองนั่นคือเป้าหมาย ผมคิดและหวังว่าสถาบันการศึกษาซึ่งดำเนินการโดยเอกชนจะทำได้…” นั่นคือข้อความที่สะท้อนถึงปณิธานของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ผู้อุปถัมภ์ ผู้ก่อตั้ง และคณะผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัย

            อาจารย์สวัสดิ์  โอสถานุเคราะห์ และคุณหญิงล้อม  โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นบิดาและมารดาของอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนหรือผู้อุปถัมภ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

            โดยในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2505 มหาวิทยาลัยเริ่มก่อตั้งโดย อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ใช้ชื่อว่า โรงเรียนไทยเทคนิค และเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยไทยเทคนิค จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok College) ในปี พ.ศ.2508 จนกระทั่งวันที่ 24 ตุลาคม 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University) นอกจากนี้ยังมีคณะผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตอย่างมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

แรกเริ่มก่อร่างสร้างตึก

            เริ่มแรกมหาวิทยาลัยกรุงเทพมี 2 วิทยาเขตคือ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพ และวิทยาเขตรังสิต ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี การก่อสร้างตึก ทั้งวิทยาเขตกล้วยน้ำไทและวิทยาเขตรังสิต ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแฝงคุณค่า ความหมาย และประโยชน์ในการใช้งานให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังเน้นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา โดยในปีพ.ศ.2542 มีการก่อสร้างอาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าศึกษาหาความรู้ และทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์

ความรู้คู่ความดี

            คำขวัญประจำสถาบัน “ความรู้คู่ความดี” มาจากการจัดประกวดคำขวัญประจำสถาบัน โดยคณะกรรมการพิจารณาและตัดสินให้คำขวัญ ความรู้คู่ความดี ของ ด.ช.สุจิโรจ  เรืองวานิช  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสมุทรปราการ ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นทุนการศึกษา 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ซึ่งคำขวัญดังกล่าว ได้นำมาใช้เป็นคำขวัญประจำสถาบันมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีเพลงความรู้คู่ความดี ที่จะเปิดทุกเช้า หลังเคารพธงชาติด้วย ใครไปมหาวิทยาลัยในช่วงเช้า ก็จะได้ฟังเพลงนี้ทุกวัน

ความผูกพันไม่สิ้นสุด

            ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ได้แก่ ครู อาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกท่าน ทุกยุคทุกสมัยล้วนคือ ผู้เป็นที่รักในความทรงจำตลอดไป ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถเอ่ยนามได้อย่างครบถ้วน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญและอยู่ในความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพเสมอมา

แก้วอันประเสริฐหรือ “เพชร”

            กว่าจะมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยอย่างทุกวันนี้ เปลี่ยนมาหลายครั้ง แต่สังเกตได้ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้รูปเพชร ประกอบในตราประจำมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ซึ่งมีที่มาจากนามของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือ สุรัตน์ ซึ่งแปลว่า “แก้วอันประเสริฐ” ซึ่งก็หมายถึง “เพชร” นั่นเอง

            การนำรูปเพชรมาใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย จึงเป็นการให้เกียรติ และรำลึกถึงผู้ก่อตั้ง นอกจากนั้น “เพชร” ยังสื่อความหมายถึงคุณค่า และความแข็งแกร่ง อุปมาดั่งมหาวิทยาลัยเป็นเสมือนสถานที่ “เจียระไน” ให้นักศึกษากลายเป็นเพชร ซึ่งทรงเกียรติ ทรงคุณค่า มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม

เครื่องแบบนักศึกษาที่ยังความคลาสสิคอยู่เสมอ

            สัญลักษณ์ของการเป็นนักศึกษาคือการสวมใส่เครื่องแบบ และเครื่องแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพก็สะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน แต่อย่างไรก็ตามในพิธีการที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เรายังคงไว้ในเรื่องของภาพลักษณ์ของเครื่องแบบที่มีความสุภาพเรียบร้อย

4 ทศวรรษของเรื่องราวมากมายและก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6

            ใน 4 ทศวรรษแรกนั้น ทศวรรษที่ 1 พ.ศ.2505 ทศวรรษแห่งการบุกเบิก ทศวรรษที่ 2 พ.ศ.2516 ทศวรรษแห่งการสร้างรากฐานที่มั่นคง ทศวรรษที่ 3 พ.ศ.2526 ทศวรรษแห่งการขยายตัว ทศวรรษที่ 4 พ.ศ.2536 ทศวรรษแห่งการเติบโตอย่างยั่งยืน และทศวรรษที่ 5 – 6 เรากำลังใกล้เข้าสู่วาระการเฉลิมฉลองมหาวิทยาลัยกรุงเทพครบรอบ 60 ปี

            เรื่องราวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพยังคงมีให้บอกเล่าอีกมากมาย อยากรู้รายละเอียดความเป็นมาอย่างลึกซึ้งกว่านี้ ต้องลองเข้าไปเดินอ่านศึกษากันที่หอประวัติของมหาวิทยาลัย และเราเองก็กำลังเป็นผู้ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพไปด้วยกันนะคะ

            การมาเยี่ยมชมสถานที่นี้แห่งนี้จะทำให้เรารู้จักมหาวิทยาลัยกรุงเทพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราใช้เวลาส่วนใหญ่ ในช่วง 4 ปีของวัยเรียน เพื่อการเรียน เล่น และเติบโต ที่นี่บันทึกความทรงจำไว้มากมาย ถ้ามีเวลาว่างลองแวะมาเยี่ยมชม

Writer & Photographer

เด็กนิเทศศาสตร์ เสพติดการดูซีรีส์ ชอบดูละคร ภาพยนตร์ และรายการแวดวงบันเทิงเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยากทำงานเบื้องหลัง ผลิตงานในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ดีเป็นที่รู้จัก

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว