อยากสุขภาพดี ต้องเริ่มที่ก้าวแรก พาหัวใจออกวิ่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ก้าวแรกของชาวม.กรุงเทพที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการออกกำลังกาย พวกเขาพบกับความดีงามอะไรบ้าง ต้องมาติดตามอ่านกัน

            รักอะไรก็ไม่เท่ากับการรักสุขภาพ สุขภาพดี ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ขอว่าด้วยเรื่องของคนรักสุขภาพ ชวนมาดูกันว่าคนที่ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สดใสและสุขภาพแข็งแรงมีใครกันบ้าง

เติมความสดใสด้วยการออกกำลังกายทุกวัน

            ขอเริ่มที่ อาจารย์แอน-อาจารย์เสาวลักษณ์ ขำรัก ผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ ฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เราแอบสังเกตว่าเห็นอาจารย์ผิวสวยแบบนี้ มาดูกันดีกว่า อาจารย์มีเคล็ดลับอะไรแนะนำเรากันบ้าง  เริ่มต้นคืออาจารย์เคยเป็นนักกรีฑาของโรงเรียนมาก่อน เป็นคนชอบการวิ่งออกกำลังกาย รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่มีเหงื่อ เหมือนมันช่วยให้เราสดชื่น “เราจะออกกำลังกายทุกครั้งที่มีโอกาส เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา เล่นได้เกือบทุกชนิดกีฬา”

            “การออกกำลังกายทำให้เรารู้จักคนอื่นเพิ่มมากขึ้น มีเพื่อน และจากการที่ออกกำลังกายทำให้อาการภูมิแพ้อากาศที่เป็นในตอนเช้าดีขึ้น และปัจจุบันอาการภูมิแพ้อากาศก็หายแล้วค่ะ”

            มาย้อนหลังกันว่าอาจารย์คนสวยของเราเป็นอะไรมาถึงมาออกกำลังกาย “เราเป็นภูมิแพ้ มักจะแพ้อากาศตอนเช้า ตื่นขึ้นมาก็จะจาม มีน้ำมูก แต่หลังจากที่ออกกำลังกาย อาการเหล่านั้นก็หายไป ตอนนี้สุขภาพแข็งแรง การออกกำลังกายก็ช่วยทำให้เราดูเด็กลงอีกด้วย ผิวพรรณก็ดีขึ้นค่ะ”

            ดูแลตัวเองดีแบบนี้จะมีไอดอลในการดูแลตัวเองมั้ยนะ “จริง ๆ แล้ว ไม่มีนะคะ แค่เห็นคนที่ผอม สวย หุ่นดีแล้วอยากให้ตัวเอง ผอม สวย เหมือนอย่างคนเหล่านั้นบ้างก็แค่นั้นเองค่ะ บางครั้งก็มองรูปคนที่เขาผอม สวย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายค่ะ บอกกับตัวเองเสมอว่าสักวันเราจะผอมอย่างเขา ซึ่งเวลาใส่เสื้อผ้าคนที่มีรูปร่างผอม ใส่อะไรก็ดูดี ดูสวยงามค่ะ”

            มาดูเทคนิคในการออกกำลังกายของอาจารย์คนสวยของเรากัน “ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการวิ่งออกกำลังกาย แต่ปัจจุบันก็มีไปเต้นแอโรบิคสลับกับการวิ่งค่ะ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะไปเต้นแอโรบิคกับชมรมแอโรบิคของหมู่บ้าน ส่วนวันอังคาร กับ พฤหัสบดี วิ่งออกกำลังกายในมหาวิทยาลัยค่ะ วันธรรมดาต้องมาทำงานจะออกวิ่งตอนเย็นหลังเลิกงานค่ะ ส่วนวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ก็จะไปวิ่งตามสวนสาธารณะ แล้วแต่โอกาส จะออกกำลังกายประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์ค่ะ”

            ต้องขอบคุณอาจารย์แอนที่แนะนำและแชร์เทคนิคในการดูแลตัวเองดี ๆ แบบนี้ สาว ๆ คนไหนที่อยากมีสุขภาพดี หน้าเด็กลง มาเริ่มออกกำลังกายได้เลย

ออกกำลังกายต้านโรค

            เรามารับฟังเรื่องเล่าของ พี่ฟิว-ธนวัตน์ แจ่มศักดิ์ หนุ่มคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ที่ต้องสู้กับโรคที่ติดมากับตัวด้วยการวิ่งกันดีกว่า

            “ที่เริ่มมาวิ่งก็เพราะว่าอยากมีสุขภาพที่ดีและเราก็มีโรคประจำตัวคือโรคภูมิแพ้ แล้วอีกอย่างเราเป็นคนที่หายใจลำบาก หายใจสั่น ก็เลยคิดว่าถ้าเรามาวิ่งอาจจะทำให้ปอดเราแข็งแรงมากขึ้นการหายใจก็จะดีขึ้นตามมา” ถือว่าพี่ฟิวเลือกการออกกำลังกายได้ดีเลยทีเดียว

            “ปกติไม่ค่อยได้วิ่งเป็นทุกวันครับ ส่วนมากจะวิ่งอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง แล้วแต่โอกาสว่าถ้ามีเวลาก็จะวิ่ง ส่วนใหญ่จะมาวิ่งตอนเย็น ช่วงเช้าก็อยากมาแต่ก็ตื่นเช้าไม่ค่อยทันก็เลยจะมาวิ่งช่วงเย็นหรือเสาร์ – อาทิตย์ แต่ถ้าวันธรรมดาถ้ามีโอกาสก็จะมาครับ” พี่ฟิวนี้แบ่งเวลาเก่งจริง ถ้าว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำเพื่อน ๆ ลองมาวิ่งแบบพี่ฟิวก็ได้นะ

            เพื่อน ๆ ที่เคยวิ่งก็น่าจะเคยประสบปัญหาวิ่งไปได้สักพักแล้วรู้สึกขี้เกียจ มาลองฟังความเห็นของ “พี่ฟิว” กันดีกว่าเพื่อจะมีเคล็ดลับอะไรดี ๆ

            “เคล็ดลับไม่มีครับ แต่คิดว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำสักที เราก็ไม่ได้เห็นผลของการทำสิ่งนั้นครับ และเราก็ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าวันไหนเราขี้เกียจ หรือไม่อยากทำ เราก็ต้องคิดถึงตอนที่เราป่วย ตอนที่เราไม่สบาย คิดว่า เราไม่อยากกลับไปเป็นแบบนั้นอีก เราก็ต้องออกไปวิ่ง เพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น จะได้ไม่ต้องกลับไปป่วยอีก” บอกไม่มีเคล็ดลับ แต่นี้ละเคล็ดลับสุด ๆ เลย

            เพื่อน ๆ ที่ได้อ่านแล้วคิดจะวิ่ง “พี่ฟิว” ฝากบอกมาว่า “การวิ่งไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมาย เป็นกีฬาที่สะดวกมาก แถม ม.กรุงเทพ ก็มีพื้นกว้างมาก” บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็ดีอีกด้วยนะ พื้นที่สีเขียวตลอดทาง (อันนี้แถมให้) ถือว่าเป็นต้นแบบของคนป่วย แต่เลือกที่จะต่อสู้กับโรคด้วยการออกกำลังกาย สุดยอดไปเลยครับพี่ฟิว

จิ๋วแต่แจ๋ว

            เราพามาพบกับ พี่แวน-ณัฐธยาน์ พรก่ำศุภะไพศาล สาวน้อยจากคณะนิเทศศาสตร์ เห็นเขาตัวเล็กแบบนี้แต่พาวเวอร์เยอะไม่เบาเลย “การวิ่งเป็นเหมือนการวอร์มของเราในทุก ๆ วัน เพราะเราเป็นคนชอบเล่นกีฬา เล่นได้เกือบทุกประเภทเลยนะ”

            อ่านดูแล้วเพื่อน ๆ ก็คงจะคิดว่าเธอโกหก นางตัวเล็กขนาดนี้จะเล่นกีฬาอะไรได้แค่ไหนกันเชียว เราย้อนดูความหลังก่อนที่พี่แวนจะเริ่มมาเล่นกีฬากันดีกว่า “จริง ๆ ก็ไม่ได้วิ่งหรือออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นร่างกายเราก็ไม่ใช่แบบนี้ คือไม่ได้แข็งแรง (ไม่รู้จะอธิบายยังไง) เราได้รู้จักกับพี่ที่เป็นครูพละ เขาแนะนำให้มาออกกำลังกาย วิ่งเป็นอย่างแรกที่เริ่มเลย” ถือว่าพี่แวนโชคดีมาก ๆ ที่มีคนช่วยแนะนำ

            มาเข้าใจความหมายของการวิ่งในแบบของพี่แวนกันดีกว่า “อย่างที่บอกไปว่าการวิ่งมันเป็นการวอร์ม เพราะคิดว่าการวิ่งจะยืดกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน พอวิ่งเสร็จเราก็ไปเล่นกีฬาอื่นต่อเลย(พักแป๊บนึง)“ เห็นแบบนี้พี่แวนยังเล่น ตะกร้อ ฟุตซอล และเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของคณะด้วยนะ พลังเหลือจริง ๆ

            อยากรู้จังว่าระยะในการวิ่งแต่ละครั้งไกลแค่ไหน “ถ้าปกติก็วิ่งไป-กลับหน้ามอ หลังมอ (เริ่มที่ A7) ถ้าวันไหนจะมาวิ่งอย่างเดียวก็วิ่งไปกลับ 2 รอบ (รอบละประมาณ 2 กม.) แต่ถ้าวันไหนจะไปเล่นอย่างอื่นต่อ ก็วิ่งแค่รอบเดียว เห็นวิ่งไกลได้แบบนี้จริง ๆ ก็วิ่งไป เดินไปนะ วันไหนวิ่ง 2 รอบ ก็กลับดึกหน่อย (แอบหัวเราะ) สัปดาห์หนึ่ง ก็ออกวิ่ง 4-5 วัน” ชอบวิ่งแบบนี้ มีแรงบันดาลใจอะไรผลักดันหรือเปล่านะ “แรงบันดาลใจในการวิ่ง…ไม่มีนะ เมื่อก่อนไม่มี แค่รุ่นพี่เขาแนะนำมา แต่ตอนนี้ คือ วิ่งเพื่อเอาร่างกายไปเล่นกีฬาอื่น ๆ ต่อ”

            การวิ่งของพี่แวนถือเป็นการดึงขุดพลังในร่างกายออกมาใช้อย่างแท้จริง วิ่งเพื่อเอาแรงไปทำอย่างอื่นนี้น่าจะเป็นเคล็ดลับพาวเวอร์ของเธอ ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนไม่รู้จะเริ่มออกกำลังกายอย่างไร ลองเริ่มวิ่งแบบ “พี่แวน” ก่อนก็ได้นะ ไม่ต้องรอมีคนมาแนะนำ

หัวใจแข็งแรงขึ้นเพราะการออกกำลังกาย

            เพียงแค่เริ่มต้นก็เปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีสุขภาพดีได้ อาจารย์ชลธร อริยปิติพันธ์ อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ภาควิชาเกมและอินเตอร์แอคทีฟมีเดีย จากคนที่เคยป่วยเป็นภูมิแพ้อากาศมาก่อน ตอนนี้อาจารย์เปลี่ยนไปแล้ว แต่เปลี่ยนไปเพราะอะไรกัน ต้องมาพูดคุยกับอาจารย์ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นอย่างไร เผื่อทุกคนอยากเปลี่ยนตัวเองกันบ้าง

            เรามาย้อนกันไปตอนเด็ก ๆ ของอาจารย์กันดีกว่า ตอนเด็ก ๆ อาจารย์ร่างกายไม่แข็งแรง “ก็คือตอนเด็ก ๆ น้ำมูกไหล เหมือนกับแพ้อากาศ แม่ยังตกใจเลย สมัยก่อนใช้ผ้าเช็ดหน้าสั่งน้ำมูกจนผ้าเช็ดหน้าเปียกเลย แล้วพอดีมันมีช่วงหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ สมัยก่อนครูให้วิ่งตลอดเลย มาถึงก็ปี๊ด!!! เลย เริ่มต้นคาบก็วิ่ง พอหมดคาบครูก็ให้มารวมตัว ตอนแรก อู้ฮูมัน…ครั้งแรกที่วิ่งได้คือ 10 นาที แต่พอตอนสักประมาณครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 เริ่มได้แล้ว ก็คือวิ่งตลอดเลย 50 นาที”

            “พอหลังจากนั้น อาการที่เคยแพ้อากาศหรือไม่ก็สั่งน้ำมูกจนผ้าเช็ดหน้าเปียกก็เปลี่ยนไป หายไปเลย  อืม…ก็เลยคิดว่าการออกกำลังกายทำให้แข็งแรงขึ้น มันเกิดเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที แล้วก็พยายามออกกำลังกายมาเรื่อย ๆ”

            เรามาดูกันว่า นอกจากออกกำลังกายแล้วทำให้อาการน้ำมูกไหลของอาจารย์หายเป็นปลิดทิ้งได้แล้วยังมีอะไรอีกบ้าง “คือพอโตขึ้น ๆ เราก็ได้ศึกษา สิ่งที่สำคัญก็คือหัวใจ หัวใจนี่ไม่ได้เกี่ยวกับความรักนะ แต่เป็นการสูบฉีดโลหิต หัวใจมันเหมือนกับเครื่องปั้ม มันทำงานตลอดจนกระทั่งเราเสียชีวิตใช่ไหม เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายก็เหมือนกัน กระตุ้น ให้กล้ามเนื้อหัวใจมันแข็งแรงขึ้น”

            จากวันนั้นจนถึงวันนี้ความสม่ำเสมอจากการออกกำลังกายทำให้อาจารย์ไม่เคยป่วยอีกเลย “สมัยก่อนไม่ได้ออกกำลังกายเยอะเท่านี้ เมื่อก่อนก็วิ่งอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เหมือนกับที่เขาแนะนำ วิ่งมา 10 ปีละ ไม่เคยป่วยเลย แต่พอช่วงนี้อายุเริ่มมากขึ้น ก็เลยกลับมาออกกำลังกายแทบจะทุกวันถ้ามีโอกาส”

            “การวิ่งก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ยกเว้นวันอาทิตย์ก็นอนพักผ่อน (หัวเราะ) พอทำเรื่อย ๆ ก็แบบคนยิ่งแข็งแรงหัวใจยิ่งเต้นช้า ยิ่งเต้นช้าจะทำให้สูบฉีดครั้งเดียวในประมาณมาก เหมือนเครื่องปั๊มอะ ถ้าเครื่องปั๊มทำงานหนัก ก็ต้องทำงานถี่ ๆ แสดงว่าพวกนี่ไม่แข็งแรง แต่ถ้าปุ๊บทีเดียวแล้วมันเลี้ยงร่างกายได้หมด แสดงว่าหัวใจมันทำงานได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเกิดคนที่หัวใจเต้นช้า ๆ อย่างเช่น นักกีฬา ประมาณ 50/60 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าคนไม่แข็งแรงก็ประมาณ 80/90 ครั้ง ตอนนี้ผมเรทอยู่สักประมาณ 80 จริง ๆ อยากจะให้ลงมาเรื่อย ๆ มันแสดงว่าหัวใจเราแข็งแรงมากขึ้น”

            ในวันหนึ่งเราสงสัยว่าอาจารย์วิ่งได้เยอะขนาดไหน “ตอนแรกตั้งเป้าไว้ว่า 4 รอบ (รอบสระน้ำบ้านทรงไทย) รอบหนึ่ง 600 เมตร ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องจับ เดาคร่าว ๆ ประมาณ 600 เมตร แต่วันนี้ก็พัฒนาขึ้น 8 รอบ แล้วก็เดินอีก 2 รอบ เป็น 10 รอบ รวมแล้วประมาณสัก 6 กิโลเมตรต่อวัน คือพอวิ่งถึงจุด ๆ หนึ่งหัวใจมันจะรู้นะถ้าเหนื่อยก็พัก ผมมีทริคจะบอกสำหรับคนเริ่มวิ่งนะ ลองวิ่งไปก่อนแล้วจับจังหวะการวิ่งของตัวเองให้ได้ การจับจังหวะในการวิ่งถือเป็นทริคที่ดีเลยทีเดียวเพราะถ้าเรารู้จังหวะของตัวเอง ร่างกายเราจะเริ่มปรับสมดุลทำให้เราวิ่งได้นานขึ้นหรือลดอาการบาดเจ็บลง”

            พอพูดถึงเรื่องอากาศบาดเจ็บ ลองมาฟังอาจารย์สิว่าจะมีวิธีรับมือหรือแก้ไขอย่างไร “อย่างผมนะ วิ่งไม่เคยปวดกล้ามเนื้อนะ ผมวิ่งแบบเซฟ  หมายความว่าเราไม่วิ่งเร็วเกินไป ไม่วิ่งช้าเกินไป แล้ว การยืดกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่สำคัญ ตอนวิ่งจบ ยืดกล้ามเนื้อก็ยืดให้มันปวดนิด ๆ ให้มันปวด ตึง ๆ เขย่งเท้าให้มันตึง ๆ แสดงว่ามันเริ่มยืดได้ละหลังออกกำลังกาย ส่วนใหญ่หรือง่าย ๆ คือการเดิน เดินเพื่อปรับสมดุลร่างกาย”

            ทริคเล็กน้อย ๆ ที่ทุกคนสามารถลองเอาไปทำกันดูได้แค่เดินก่อนและหลังวิ่งเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล เคยสงสัยไหมว่าเราความวิ่งตอนไหนดี เช้าหรือเย็น ลองมาฟังความเห็นของอาจารย์ดีกว่า “เคยมีผลการวิจัยนะ เขาบอกว่าได้หมดเลย หมายถึงตอนเช้า ตอนเย็นเข้ายิม Outdoor และ Indoor มันดีหมดเลย ขอแค่ให้เหงื่อมันออก” ได้ฟังแล้วเพื่อนก็เลือกเอาเวลาที่ตัวเองสะดวกที่สุดเป็นดีที่สุด

            เห็นอาจารย์ลุกขึ้นมาวิ่งแบบนี้แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์มีไอดอลในการวิ่งหรือเปล่า “ถ้าไอดอลนี่จะเป็นคนละด้านนะ ของผมจะเป็นคนป่วย ตอนที่ผมไปเยี่ยมญาติ คุณเชื่อไหมห้องพยาบาลประมาณ 20 เมตร ที่เขาเรียกว่าห้องกายภาพบำบัดนะ อู้… มันยากมากสำหรับเขา เรามานั่งคิดว่า 20 เมตรเองหรอ เราก้าวสัก 20 ก้าวก็ถึง คือกำลังจะบอกว่า ช่วงชีวิตเราไม่สบายหรืออ่อนแอการทำบางสิ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก ขนาดแค่เดิน 10 ก้าวยากมาก”

            “เพราะฉะนั้นเราเลยสัญญากับตัวเองเลยจะพยายามไม่ให้เป็นคนป่วย ดูแลสุขภาพให้ป่วยน้อยที่สุด สมมติถ้าเกิดเราป่วยจริงเราทำอะไรไม่ได้ เราต้องใช้ภูมิคุ้มกันต่อสู้ไง ญาติที่เป็นแรงบันดาลใจ อย่างที่บอกว่าเขาเกิดอุบัติเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาต้องมานั่งทำกายภาพบำบัด ค่อย ๆ หัดเดิน แล้วมันเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะฉะนั้นออกกำลังกายก็คือเป็นการเสริมร่างกายให้มันแข็งแรง เราไม่อยากเป็นในจุดนั้น”

            เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นภาพได้ชัดเจน อย่างที่เขาว่ากันว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ มันเป็นคำที่สมเหตุสมผลที่สุดเลย ในยุคนี่ใช่ว่าจะมีแต่คนที่ร่างกายแข็งแรงที่จะมาออกกำลังกายกัน หลายคนก็อาจจะยังไม่เชื่อว่าคนที่ป่วยเป็นโรค จะออกกำลังกายได้ เราไปจะพาไปดูกันว่าเขาออกกำลังกันได้จริงหรือไม่

เคยป่วย…ออกกำลังกายช่วยได้

            สิ่งที่เยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีที่สุด ไม่ใช่ยาวิเศษที่ใด แต่คือการออกกำลังกาย พามารู้จักกับ น้าดำ-เลิศฤทธิ์ แดงเผือก พนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์ น้าดำเล่าให้เราฟังว่า ทำงานมา 20 กว่าปี จนวันหนึ่งก็เริ่มมาตรวจสุขภาพ ก่อนจะตรวจสุขภาพเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองเป็นจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน

            “มีสัญญาณเตือนแค่น้ำหนักที่ลดลงฮวบ จากคนที่เคยหนัก 80 กว่า ๆ 84-85 แต่ทีนี้น้ำหนักมันลงเราก็ไม่ได้เอะใจว่ามันลง เพราะว่าเราไม่ได้คิดว่าเราเป็นโรคอะไรสักอย่างหรือเปล่า เราก็ไม่ได้สนใจตรงนั้น  ก็เลยคิดว่าเราทำงานหนักมากเกินไป งานมันเยอะขึ้น น้ำหนักมันก็เลยลง แต่ว่าพอมาตรวจสุขภาพปุ๊บ เราถึงได้รู้ว่า เราเป็นโรคเบาหวาน”

            เมื่อน้าดำรู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานแล้วทำยังไง เราถามต่อเนื่อง “ก็ยัง…ยังไม่ได้ไปหาหมอ ทีนี้ก็เล่นกับลูก แล้วมันเจ็บหน้าอก พอเจ็บหน้าอกก็กลัว กลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจก็เลยไปหาหมอ พอไปหาหมอ หมอตรวจไปตรวจมาพบว่าที่เจ็บหน้าอกคือกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ที่เจอจริง ๆ คือโรคเบาหวาน”

            “พอรู้ว่าเป็นเบาหวานก็ไม่ได้อะไร ก็ยังไม่ได้ออกกำลังกายอะไร ก็ไปหาหมอ หมอก็จะบอกว่าน้ำตาลไม่ลง แต่ว่าก็ไม่ได้เกินมาตรฐานไปเยอะ แต่ว่าน้ำตาลยังไม่ลง  หมอเขาก็จะพูดทุกครั้งที่เราไปหาหมอว่า…เออคุณต้องออกกำลังกายนะมันถึงจะทำให้น้ำตาลลด ตอนแรกก็ยังเฉย ๆ อยู่ไม่ได้อะไร แต่แบบอยู่บ้านก็ว่าง เย็นมาไม่รู้จะทำอะไร เอ๊ะ…ลองวิ่งดู จากที่แบบวันหนึ่งแค่ 5 นาที 10 นาที ก็ค่อย ๆ เพิ่มไปเรื่อย ๆ”

            จนน้าดำได้ไปพบหมอไปตรวจน้ำตาลมันลงถึงในเกณฑ์ปกติ “ตอนนี้ก็เลยเหมือนเสพติดการวิ่ง แล้วก็วิ่งมาเรื่อย ๆ การที่เราออกกำลังกายบ่อย ๆ ก็ทำให้สุขภาพร่างกายของเราดีขึ้น มันทำให้เราเสพติดไปแล้ว ถ้าวันไหนไม่ได้วิ่งมันเหมือนจะไม่สบายตัว”

            “ปกติจะวิ่ง จันทร์-ศุกร์ ช่วงเย็นหลังเลิกงาน วันละ 40 นาที 45 นาที วิ่งจากตรงหอสมุด เพราะต้องเอากุญแจไปคืน วิ่งไปหลังมอแล้วก็วิ่งมาหน้ามอรอบสระน้ำตรงเรือนไทยต่อประมาณ 2-3 รอบ  ถ้าฝนไม่ตกหรือไม่ติดธุระอะไรก็จะมาวิ่งตลอด ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะหยุดพักให้ร่างกายได้พักผ่อน”

            การมีความสม่ำเสมอในการวิ่งจากเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ทำให้ลุงดำมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น “แรก ๆ ที่เริ่มวิ่งก็ 5 นาที 10 นาที มันก็เหนื่อยแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนน้ำหนักเยอะ แล้วก็ค่อย ๆ ขยับเพิ่มเวลาในการวิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” อีกทั้งน้าดำยังมีสูตรการควบคุมน้ำหนักที่มาแบ่งปันให้เราฟังอีกด้วย

            “วิ่งแล้วน้ำหนักมันไม่ลดเพราะว่าเราไม่ได้คุมอาหาร พอดีได้คุยกับอาจารย์นุกูลที่เขาอยู่ฝ่ายกีฬา เขาก็บอกว่าข้าวที่กินเมื่อกี้นี้พี่กินได้สองมื้อก็คือเราไปซื้อที่โรงอาหารแม่ค้าเขาจะตักข้าวให้เยอะ พออีกวันหนึ่งก็บอกว่าแม่ค้า…ผมขอข้าวแค่ทัพพีครึ่ง ก็คือลดปริมาณข้าวลงมา แล้วเย็นก็กินข้าวแค่ทัพพีเดียว แต่พอถ้าเราชินแล้วลดเหลือแค่ทัพพีเดียว ระหว่างวันถ้าเราหิวก็กินผลไม้แทนเอา แต่เที่ยงกินได้เต็มที่ แล้วก็เย็นแค่ทัพพีเดียวให้เน้นกับข้าวแทน”

            “เดือนหนึ่งน้ำหนักลงไป 3 กิโลกรัม แต่ว่าพอมันลงมาตอนนี้เหลือ 74-75 ก็ยังกินข้าวแบบน้อย ๆ เหมือนเดิม จะไม่กินข้าวเยอะ ถ้ากินเยอะแล้วบางทีมันอึดอัด” ถือว่าเป็นวิธีดีเลยทีเดียวกับการคุมอาหารในแต่ละวัน เพื่อนไม่ควรจะอดข้าวเพื่อลดน้ำหนัก แต่แค่เลือกกินแค่ของมีประโยชน์ในปริมาณที่พอดีก็สามารถช่วยเพื่อน ๆ ให้สุขภาพดีขึ้นแบบน้ำดำได้แล้ว

            สำหรับคนที่จะเริ่มออกกำลังกายน้ำดำก็มีอะไรอยากจะบอก “แนะนำให้ศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า บางคนคิดว่าการวิ่งคือมีรองเท้ากับมีแรงก็วิ่งได้ ผมว่ามันไม่ใช่ เพราะบางทีเราวิ่งไปแล้วมันเจ็บ คือมันเจ็บแล้วมันนานกว่ามันจะหาย ถ้ามีคนที่เขาเป็นแล้วอะไรแล้วมาสอน มันจะเซฟร่างกายเราได้มากกว่า อย่างคนที่ผมรู้จักเขาวิ่งอยู่กับ พี่ตูน บอดี้สแลม จากคนที่ไม่ชอบการวิ่งเลยตอนนี้เขาซ้อมวิ่งเพื่อที่ลงวิ่งมาราธอนแล้ว”

ผู้หญิงก็มีความสามารถด้านกีฬาไม่แพ้ผู้ชาย

            สาวเก่ง หุ่นบาง ร่างสูงโปร่ง เป็นที่ประทับใจของใครหลาย เราพามารู้จักกับ พี่จีน-ธิชาวีย์  หอวัฒนพันธ์ จากคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ เมื่อพบเธอเราแอบสงสัยว่าทำไมสาวสวยคนนี้ถึงเลือกใช้เวลาว่างในการเล่นกีฬามากกว่าไปทำอย่างอื่น

            “เริ่มจากเหมือนเราว่างไม่ได้ทำอะไรก็เลยอยากใช้เวลาว่างในการเล่นกีฬาเพื่อจะดูแลสุขภาพของตัวเอง  บวกกับส่วนตัวพี่เป็นคนที่เล่นกีฬาหลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเล่นแบด ว่ายน้ำ หรือตีปิงปอง แต่ปัจจุบันก็เล่นบาสเป็นหลัก” เรียกได้ว่าพี่จีนของเราเล่นกีฬาได้หลากหลายทีเดียว

            “กีฬาช่วยให้เรา ไม่เหนื่อยง่าย แบบเหมือนเป็นการได้ฝึกการหายใจ การทำงานของปอด เพราะปกติพี่เป็นคนเหนื่อยง่ายอะไรอย่างนี้ การเล่นกีฬามันก็ช่วยเราได้เยอะพอสมควร”

            แล้วถ้าถามถึงแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายพี่จีนจะตอบว่าไงนะ “โอ้…ไม่มีอ่ะ พี่ว่าบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องมีแรงบันดาลใจ เพราะแค่เราอยากทำ เราก็ทำเลย รู้สึกว่ามีเวลาว่างเราก็เลยอยากหาอะไรทำเพื่อในเราไม่มีเวลาว่างเกินไป แล้วพอมาเล่นแล้วมันแบบสนุกก็เลยเล่นมาเรื่อย ๆ ได้มีมิตรภาพที่ดีได้รู้จักคนเยอะขึ้นไม่ว่าจะรุ่นพี่หรือน้องต่างคณะมันเหมือนทำให้ชีวิตเราแฮปปี้ขึ้น” เรียกได้ว่าไม่ต้องมีแรงบันดาลใจอะไรเลย ได้ทั้งสุขภาพและมิตรภาพ ไม่ต้องรอใครแนะนำ เพื่อน ๆ ก็สามารถเริ่มออกกำลังกายได้เลย

            พี่จีนให้ทริคสำหรับผู้หญิงในการเริ่มต้นออกกำลังกาย “ส่วนตัวพี่นะ สมมติวันแรกเรามาวิ่ง เราวิ่งแบบรอบเดียว สองรอบ เราจะเหนื่อยง่าย เราต้องแบบค่อย ๆ เพิ่มรอบไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เหมือนแบบร่างกายมันปรับตัว ถ้าร่างกายเราปรับตัวแล้วพอเริ่มนานขึ้น ๆ มันจะทำให้อัตราการของหัวใจเราแข็งแรงขึ้น สมมติวันแรกวิ่ง 1 รอบ 2 รอบ อีก 3 วันถัดมาเราค่อยเพิ่มเป็น 3 รอบ 4 รอบ หรือเราจะค่อย ๆ เพิ่มวันละรอบก็ได้ มันจะช่วยให้แบบร่างกายเราแข็งแรงมากกว่าก่อนที่เราจะออกกำลังกาย” สำหรับสาวแรงน้อยลองเริ่มแบบพี่จีนก็ได้นะค่อย ๆ เริ่มวันละนิดแล้วเพิ่มไปเรื่อย ๆ

            ตอนนี้การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วสำหรับพี่จีน “เรารู้สึกว่ามันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนานแล้วนะ แบบว่าถ้าช่วงไหนเล่นกีฬาบ่อย ๆ ก็จะติดว่าต้องไปเล่นตลอด ถ้าไม่ได้เล่นก็จะโหวง ๆ เหงา ๆ เหมือนขาดอะไรไป ถ้าช่วงไหนไม่ได้เล่นนาน ๆ ก็คิดถึงเหมือนกัน แต่เพราะไม่ว่างจริง ๆ ก็เลยไม่ได้เล่น แต่ก็พยายามหาเวลาไปเล่นเพราะรู้สึกว่าถ้าไม่ได้เล่นเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง ส่วนมากจะเล่นบาส แต่เพราะบาสเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ถ้าเพื่อนไม่ว่าง เราว่างคนเดียวก็เหงา แล้วยิ่งเป็นคนเข้าหาคนอื่นไม่เก่งก็ยิ่งยากไปใหญ่เพราะเราไม่รู้ว่าจะเริ่มคุยจากตรงไหน”

            ทำไมพี่จีนถึงชอบบาสที่สุดละ แถมกีฬานี้ยังต้องมีจังหวะปะทะกันของผู้เล่นอีก “เพราะว่าบาสเป็นกีฬาที่ต้องคอยช่วยเหลือกันอยู่ตลอด ไม่สามารถเล่นคนเดียวได้เลย ถ้าทั้งทีมเล่นเป็นอยู่คนเดียว คนที่เล่นเป็นจะเหนื่อยและลำบากมาก รู้สึกว่ามีความคล้ายเราตรงที่ไม่อยากให้ใครลำบากหรือเหนื่อยคนเดียว ถ้าแบ่งเบาภาระได้ก็อยากช่วยให้ได้มากที่สุด” ถือว่ากีฬาบาสเกตบอล เป็นกีฬาที่มีความหมายมาก ทั้งในเรื่องสุขภาพก็ดี แถมยังได้เพื่อนอีกด้วย ทั้งสวยและเก่งแบบนี้เอารางวัล ธิดาสุขภาพดีไปเลย

            เราอยากย้ำกับเพื่อนชาว BU อีกครั้งว่า ไม่มีลาภใดประเสริฐเท่าการไม่มีโรคอีกแล้ว ให้ตายเถอะ จะวิ่งหรืออะไรก็เริ่มต้นสักอย่าง เพื่อสุขภาพที่ดีของเรานั่นเอง

Writer

เด็กนิเทศที่ชอบออกไปข้างนอก พบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย วัน ๆ อาจจะไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้ามีงานให้ทำก็เต็มที่ไปกับมัน ถึงนิสัยจะบ้าหน่อย แต่ก็รักการถ่ายรูป

Writer

ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ถึงจะยุ่งแค่ไหน แต่พร้อมเต็มที่ให้กับทุกงาน

Photographer

ทุกการผิดพลาด จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เรายิ่งใหญ่

Photographer

ชีวิตก็เหมือนกล้องถ่ายรูป โฟกัสเฉพาะจุดที่สำคัญแล้วเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์เอง