Let’s Break the Binary Together! ทลายกำแพงทางความคิด โอบกอดทุกความหลากหลายของตัวตน กับงานนิทรรศการ Interactive สื่อสาร สร้างความเข้าใจ เฉลิมฉลอง Pride Month ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรม BU BE Proud ประกอบด้วยกลุ่มนักศึกษาจากหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมด้วยนักศึกษาจาก โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) สายกิจการนักศึกษา และศูนย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยกรุงเทพขึ้น
นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ความพิเศษในการจัดงานในครั้งนี้ คือการขับเคลื่อนโดย กลุ่มนักศึกษาที่เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสังคม ที่ต้องการ สร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วม และผลักดันการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคม โดยเริ่มต้นจากในมหาวิทยาลัย
กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่การนำเสนอเรื่องราวที่ถ่ายทอดด้วยความตั้งใจจากปลายปากกาของ เม-ณัฐพร เทพานนท์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักเขียน นักกิจกรรม ผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรม BU Be Proud พร้อมด้วยเสียงจากเพื่อนในกลุ่มกิจกรรมต่างคณะ ได้แก่ ทิวา-สิริกร เกศวพิทักษ์ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์, แทน-ธนะรัชต์ บัวแก้ว นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, โบ้-พลวัฒน์ ช้างโต นักศึกษาคณะนิติศาสตร์, ตี๋-ต่อศักดิ์ มณีวรรณ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ และอีกหลากหลายความคิดเห็นจากผู้ที่มาร่วมงานนิทรรศการ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการแห่งการโอบรับครั้งนี้
แทน-ธนะรัชต์ บัวแก้ว และเม-ณัฐพร เทพานนท์ นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud
เปิดพื้นที่เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศสภาพ
นิทรรศการ Interactive Break the Binary จัดขึ้น ณ Imagine Lounge (เลานจ์หมี) อาคาร A3 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตหลัก) ซึ่งงานในครั้งนี้ถือเป็นนิทรรศการไพรด์เชิงวิชาการครั้งแรกของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปิดโอกาสให้เหล่านักศึกษาและผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเรียนรู้ความหลากหลาย บอกเล่าประสบการณ์ และร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศไปด้วยกันได้อย่างอิสระ
แต่ก่อนจะเข้านิทรรศการ ก็ต้องมาทำความรู้จักกับเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่รู้จักกันว่า เดือนไพรด์ (Pride Month) กันก่อน
Pride Month มีจุดเริ่มต้นมาจาก เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ณ บาร์ที่มีชื่อว่า สโตนวอลล์ อินน์ ในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ชาว LGBTQIAN+ ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้ความรุนแรง และการกลั่นแกล้งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดเป็นเหตุจลาจลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ในเวลาต่อมาจึงมีการเดินขบวนพาเหรดแห่งความภาคภูมิใจ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และยกให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือน Pride Month ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เม-ณัฐพร เทพานนท์ นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud
Break the Binary ทลายกรอบคิดแบบขั้วตรงข้าม
ในฐานะหนึ่งในผู้จัดงาน เราอยากจะแบ่งปันแรงบันดาลใจในการทำงานนี้ เพื่อจุดประกายความหวัง และไฟในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไป โดยจุดตั้งต้นของเรา มาจากการเข้าร่วมโครงการ Young Pride Club LGBTQIAN+ ของ Young Pride Club ที่ที่ทำให้เราได้เจอกับเพื่อนในคอมมูนิตี้มากมาย ซึ่งจุดประกายให้เราคิดว่า มันคงจะดีหากมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศในสถานศึกษาบ้าง เราจึงชักชวนเพื่อนที่สนใจทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาช่วยกันออกแบบการขับเคลื่อน และผลักดันไอเดียเล็ก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัว จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นงาน Break the Binary ในครั้งนี้
แทน-ธนะรัชต์ บัวแก้ว นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud
โดย แทน หนึ่งในทีมผู้จัดงานบอกว่า การมีกิจกรรมฉลองเดือนไพรด์นี้ เป็นการเปิดพื้นที่ทำให้กลุ่มเพศหลากหลายได้ออกมาเฉลิมฉลอง และเรียกร้องสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าพวกเขาจะเพศสรีระหรือเพศวิถีอะไรก็ตาม และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพันธมิตรหรือคนที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษา และทำความเข้าใจความหลากหลายในสังคมไปพร้อมกันได้อีกด้วย
ทิวา-สิริกร เกศวพิทักษ์ นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud
ในขณะที่ ทิวา อธิบายว่า หากทุกคนได้รับความเท่าเทียมแล้วจริง ๆ หรือประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQIAN+ อย่างที่ Google เขียนไว้ การดิ้นรน และเรียกร้องมาซึ่งความเท่าเทียม รวมไปถึงกิจกรรมในครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น
เรียนรู้ร่วมกันผ่านนิทรรศการ Interactive
นิทรรศการ Break the Binary จึงมีเป้าหมายเพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ และกรอบเพศทวิลักษณ์ (Gender Binary) ในสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการเลือกปฏิบัติในหลากหลายมิติ ที่สามารถนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจ และการโอบรับทุกความหลากหลายในอนาคตได้
กิจกรรมที่จัดอยู่ในงานตลอดทั้งสามวัน ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายเป็นการชวนให้ผู้เข้าชมเรียนรู้ ใคร่ครวญ ทบทวน และเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการนี้ผ่านการแสดงความคิดเห็นภายในงาน นอกจากนี้ทุกคนยังสามารถเข้าร่วมวงเสวนาที่ทุกกระบวนการคิด ริเริ่มโดยนักศึกษาทั้งหมดได้อีกด้วย
และหากใครอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว เราอยากจะเน้นย้ำว่า งานนี้ไม่ได้จัดขึ้นมาเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เพราะสิ่งสุดท้ายที่ทีมผู้จัดงานต้องการ คือ การผลิตซ้ำความเป็น ‘พวกเขา-พวกเรา’ ออกไป และปลายทางของพวกเราจะยังคงเป็นเรื่อง ความเท่าเทียมของคนทุกเพศ อยู่เสมอ
และเมื่อพูดว่าทุกเพศ แน่นอนว่างานนี้ต้องเกี่ยวกับทุกคน ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด นิยามตัวเองว่าอะไร หรือเป็นใครก็ตาม ที่อาจจะกำลังค้นหาตัวเองอยู่ ก็สามารถเข้ามาร่วมสร้างพื้นที่แห่งการโอบรับนี้ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนต่างก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่อุดมไปด้วยความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้
รู้จักตัวตนกับกิจกรรมหลากหลาย
ภาพแรกที่เห็นเมื่อทุกคนเดินเข้ามาในงาน จะพบกับธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิใจโดดเด่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งก่อนเข้าร่วมนิทรรศการ ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าไปรับบิงโกแห่งความหลากหลาย ที่จะพาให้สำรวจตัวเอง พร้อมตอบคำถามแลกรับของรางวัลจากทีมงานมาร่วมเล่นได้
โดยไม่ต้องกังวลว่าคำถามจะไกลตัวเกินไป และทุกคนสามารถช่วยกันหาคำตอบได้จากการเรียนรู้ภายในงานนิทรรศการครั้งนี้นี่เอง
ซึ่งโซนให้ความรู้ได้แบ่งย่อยออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโซนประวัติศาสตร์การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในไทย และต่างประเทศ, โซนชวนรู้จักกรอบเพศทวิลักษณ์ หรือกรอบชายจริง หญิงแท้, โซนเรียนรู้ความหลากหลายด้วยโมเดลขนมปังขิง SOGIESC ที่ทำให้เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
โซนการ์ดคำศัพท์น่ารู้ และควรรู้ เสริมสร้างความเข้าใจและการเคารพในทุกตัวตน โดยตลอดทั้งงานจะเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการนี้ได้ ผ่านการแสดงความคิดเห็น บอกเล่าประสบการณ์ ความในใจ ผ่านโพสอิท และสติ๊กเกอร์ตามจุดที่เตรียมไว้ให้
นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสะท้อนเสียงของเหล่าผู้เข้าร่วม ที่มีต่อความหลากหลายทางเพศในไทยไม่ว่าจะในหรือนอกรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย
โดยกระแสตอบรับก็นับว่าเป็นไปในทางที่ดีมากทีเดียว เสียงจากผู้ร่วมงานล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้เรียนรู้ ได้เปิดโลกใบใหม่ ได้กล้าที่จะแสดงตัวตนออกมามากขึ้น
แสงตะวัน และมะม่วง ผู้ร่วมงานบอกว่า กิจกรรมนี้เป็นการสนับสนุนให้ตนค้นพบอะไรที่นอกเหนือจากกรอบที่เคยเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเราทุกคนต่างตกอยู่ในสังคมที่ตีกรอบความเป็นเพศอย่างชัดเจน นอกจากนี้ทั้งสองยังได้เล่ามุมมองในฐานะเด็กต่างจังหวัด ที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ หรือเข้าใจประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมากเท่าไร หลายครั้งต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่สับสนแต่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ ดังนั้นการได้เจอนิทรรศการแบบนี้ ก็ช่วยให้คำตอบหลายด้านที่เคยสงสัยได้เป็นอย่างดี
แสงตะวัน และมะม่วง ผู้เข้าร่วมงาน
ท่าน คืออีกหนึ่งผู้ร่วมงานที่บอกกับพวกเราว่า งานนี้ให้ความรู้กับตนได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงบูธกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้จัดไว้ ซึ่งในหลายประเด็นก็ถือว่าเป็นเรื่องเปิดโลกสำหรับตน นอกจากนี้ท่านยังช่วยร่วมแชร์เรื่องราว และประสบการณ์ของตนเองให้พวกเราฟังอีกด้วย
ท่าน ผู้เข้าร่วมงาน
ท่านเล่าว่า ในช่วงเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพใหม่ ๆ ตนยังไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ แต่พอได้เจอเพื่อน ๆ ได้เจอสังคม และได้ลอง explore หลายอย่าง ผ่านการพูดคุย ค้นคว้า และทบทวนกับตัวเองว่าจริง ๆ แล้วชอบอะไรกันแน่ ก็เลยทำให้ท่านกล้าที่จะลองใส่กระโปรง ลองใส่เสื้อผู้หญิง ลองอะไรหลายอย่างที่เป็นตัวของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครในมหาวิทยาลัยมานั่ง judge แม้แต่น้อย เพราะเพื่อน ๆ น้อง ๆ พี่ ๆ ทุกคน รวมถึงอาจารย์ต่างซัพพอร์ตอยู่เสมอ และทำให้ท่านได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ท่าน ยังบอกอีกว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เกิดการเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ขึ้นมาในประเทศไทย เพราะในความเปิดกว้างของประเทศไทย การยอมรับกลับยังไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายสิ่งหลายอย่างยังคงถูกปลูกฝังกันมาในสังคมไทย โดยที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนักรู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ การเหยียด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่
วงสนทนาพื้นที่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
อีกหนึ่งไฮไลท์หลักของงาน คือ วงสนทนาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (Talk session) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้อย่างเสรี โดยปราศจากการตัดสิน หรือชี้ถูกผิด ผ่าน 5 หัวข้อ 5 มิติ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ ประวัติศาสตร์การเรียกร้องของ LGBTQIAN+, กรอบเพศชายจริงหญิงแท้ในชีวิตประจำวัน, ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยต่อความหลากหลาย, สื่อและการนำเสนอภาพแทน (Representation) และการเคารพซึ่งตัวตนของกันและกันในทุกวัน
ซึ่งจุดประสงค์หลักของการมีวงสนทนาในครั้งนี้ คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะทีมผู้จัดทุกคนต่างเชื่อว่า สังคมที่เป็นมิตรและโอบรับทุกความหลากหลายไม่สามารถเริ่มได้ที่คนเพียงคนเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา
ฟีฟ่า ผู้เข้าร่วมงาน
ฟีฟ่า หนึ่งในผู้ร่วมงาน บอกกับเราว่า ดีใจที่ทางมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญตรงนี้ ถึงจะไม่มีงานนี้ แต่ตนก็รู้สึกว่าทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาทุก gender อยู่แล้ว ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสและให้อิสระ ที่ไม่ว่าใครจะเป็นเพศไหน หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วการกระทำ ความสามารถ ก็สำคัญกว่าเรื่องเพศอยู่ดี
ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้เข้าใจความหลากหลาย
การจัดงานครั้งนี้ เราได้พบกับเพื่อนร่วมทีมที่มีความสามารถมากมาย ซึ่งทุกคนดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ร่วมกัน เพราะงานนี้ไม่ได้มอบเพียงมิตรภาพและความสนุก แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่หลายคนต้องการ ในโลกที่การโอบรับอย่างแท้จริงยังไม่เกิด
โดย แทน บอกว่าการมีพื้นที่แบบนี้ภายในสถานศึกษา ก็เหมือนเป็นการบอกกับผู้เข้าร่วมทุกคนว่า ในสังคมนี้ยังมีพื้นที่ให้เขาได้มีส่วนร่วมอยู่ และไม่มีใครอยู่ตัวคนเดียว และเขาเข้าใจดีว่าความเหงาของทุกคนเจ็บปวดแค่ไหน
ในขณะที่ โบ้ รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ทำให้ตนได้ร่วมปรับร่วมเปลี่ยน ร่วมขับเคลื่อน ให้สังคมมันก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอะไรที่ผิดพลาดไป ก็สามารถใช้อะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง
โบ้-พลวัฒน์ ช้างโต นักศึกษากลุ่มกิจกรรม BU BE Proud
ทิวา กล่าวว่า ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในก้าวเล็ก ๆ ที่จะทำให้ community นี้ปลอดภัยมากขึ้น หากมี LGBTQIAN+ คนใด หรือคนที่เป็นพันธมิตร ที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นตัวเองได้ แต่เมื่อเขามาเดินงานนิทรรศการ Pride Month ที่พวกเราจัดขึ้น แล้วเขารู้สึกว่ามันคือพื้นที่ปลอดภัย หรือรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ได้รับการมองเห็นมากขึ้น ทิวาคิดว่าก็คุ้มสำหรับตนแล้ว ต่อให้มีแค่คนเดียวก็คุ้ม
เพราะสิ่งสำคัญที่พวกเราอยากให้มหาวิทยาลัยเป็น คือ พื้นที่ปลอดภัยของคนทุกเพศ ไม่ใช่แค่ LGBTQIAN+ แต่เป็นคนทุกคน เพราะหากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยหนึ่ง ที่จะผลิตคนเข้าไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นถ้ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ ก็ย่อมสามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ และคนที่มีความโอบรับ และใจกว้างกับทุกความหลากหลายในสังคมต่อไปได้เช่นกัน
ก้าวต่อไปของการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม
นิทรรศการ Break the Binary ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมนำร่อง และจะไม่จบลงไปพร้อมกับเดือนไพรด์อย่างแน่นอน เพราะพวกเรามีแผนในการสร้างสรรค์และต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในมหาวิทยาลัยต่อไปอีก โดยเนื้อหาและข้อมูลที่ได้จัดแสดงในเดือนไพรด์ปีนี้ จะนำไปจัดแสดงต่อบริเวณ หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อให้เพื่อนนักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นกระบอกเสียงและแหล่งความรู้ให้กับคนอื่น ๆ แล้ว พวกเราเองในฐานะทีมผู้จัดงานก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งเพิ่มเติมมาเช่นกัน และพวกเราก็หวังว่า นิทรรศการครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมทุกความหลากหลายให้กับสังคมได้ โดยเฉพาะในสถานศึกษา และอยากให้ทุกคนพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่าการเฉลิมฉลองไม่จำเป็นต้องจำกัดเพียงแค่ในเดือนไพรด์ แต่เราทุกคนสามารถเคารพ โอบรับ และสนับสนุนทุกความหลากหลายได้ในทุกวัน
ขอขอบคุณข้อมูล ภาพประกอบ และการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) สายกิจการนักศึกษา ศูนย์นานาชาติ และเวิร์คอินเทค® เรียนควบงานและพัฒนาทาเล้นท์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ