คิดถึงความหลัง มาย้อนวันวานกับ BU CHEER DAY 2019 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาภายใต้คอนเซ็ปท์ The Amazing Precious Carnival : Go Go G.I.Y ร่วมแรงร่วมใจเชียร์แบบคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บอกเลยว่า ยิ่งใหญ่ อลังการ และงดงามไปด้วยความร่วมมือร่วมใจของน้องพี่ที่รักทุกคน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงาน Cheer Day คือ การแสดงโชว์เชียร์ของเหล่า ผู้นำเชียร์จากแต่ละคณะ นี่คือเรื่องราวดีงามที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น การเรียนรู้ ประสบการณ์การเติบโตของวัยรุ่น ที่เราอยากจะนำมาบอกเล่าให้ฟัง
งานชิค ๆ คูล ๆ ระดับมหาวิทยาลัยแบบนี้ เราไม่พลาดจ้า ขอนำทุกคนย้อนกลับไปก่อนวันงาน ไปดูเบื้องลึกและเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นผู้นำเชียร์ของคณะได้นั้น พวกเขาต้องผ่านการฝึกซ้อม และอุปสรรคอะไรกันมาบ้าง และพวกเขาคิดอย่างไร กับคำคนที่ว่า ลีดมีดีก็แค่หน้าตา!
เราไปคว้าตัวเฟรชชี่ลีดจาก 3 คณะ เช่น คณะนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว และคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ หรือ BUSEM รวมตัวพวกเขามานั่งจับเข่าพูดคุยกันว่า เขาคิดเห็นกับเรื่องทั้งหมดนี้อย่างไร
เป็นหน้าตาเป็นตา เป็นภาพลักษณ์ของคณะ
เมย์-จิรัฐิวรรณ แก้วคำ ตัวแทนลีดคณะนิเทศศาสตร์ ให้คำจำกัดความคำว่าลีด ในความคิดของเธอว่า “ลีดคณะ จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีค่ะ มีบุคลิกและภาพลักษณ์ที่ดี และต้องเป็นคนที่มีความมานะพยายามด้วยค่ะ”
เมย์-จิรัฐิวรรณ แก้วคำ
หน้าตาดีอย่างเดียวไม่พอ…แต่ต้องมากความสามารถด้วย
เมย์ขอตอบในคำถามที่ว่าลีดมีดี แค่หน้าตา “อยากให้มาเห็นการทำงานของพวกเขา เพื่อจะได้เข้าใจจริง ๆ ค่ะ ว่า ลีดไม่ได้มีดีแค่หน้าตา เพราะว่า งานของเราล้วนมาจากความสามารถจริง ๆ หลายคนชอบคิดว่างานนี้คือเข้ามาแบบสวย ๆ มันก็ต้องสวยด้วย จริงนั่นแหละ! แต่มันก็สวยแค่ภาพเบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลังการทำงานนี้ ก็ทำพวกเราโทรมไปเลย”
เบื้องหน้าการแสดงสุดสวย เบื้องหลังกับการซ้อมหนักราวทหารฝึกไปสู้ศึก
ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย เพราะชีวิตไม่เคยง่าย การแสดงของเหล่าลีดคณะ ก็เช่นกัน เธอยังเล่าให้เราฟังถึงการซ้อมที่หนักหน่วงของลีดคณะนิเทศศาสตร์ว่า “ลีดคณะนิเทศ ค่อนข้างซ้อมหนัก เพราะมีท่าเต้นค่อนข้างละเอียด ซ้อมหนักมาก หนักจริง ๆ ค่ะ บางวัน ซ้อมตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม เราต้องเต้นท่าให้พร้อมเพรียงกัน บางครั้ง ยังมีการนัดซ้อมนอกรอบเพิ่มขึ้นอีกด้วย เวลาซ้อมเต้น ถ้ายังไม่ดี ไม่สวย ก็ต้องเต้นใหม่ วน ๆ ไป ซ้ำ ๆ เต้นจนกว่าจะดี การฝึกนั้น โหดมากค่ะ แล้วก็ท่าตั้งการ์ดเป็นชั่วโมง ๆ ก็ฝึกความอดทน ต่อให้ปวดจนร้องไห้ แขนล้า ก็ห้ามเอาลง”
“เคยมีบางครั้ง เราซ้อมหนักมาก จนร่างกายไม่ไหวแล้ว บวกกับพักผ่อนน้อย ร่างกายป่วย อากาศร้อนมาก ๆ เราซ้อมอยู่ ๆ ก็เป็นลมแล้วก็ชักไปเลย แต่ก็เป็นที่โรคส่วนตัวเราเองด้วย บางครั้งก็คิดนะว่า ทำไมต้องเอาร่างกายมาทรมานขนาดนี้ด้วย แต่เราก็คิดว่า เป็นที่ความอ่อนแอของตัวเราเองด้วย เลยพยายามปรับตัว”
ทำให้ดีที่สุด ดีกว่าท้อแล้วทิ้งมันไป
เวลาที่เหนื่อยและท้อเธอบอกว่า “จะนึกถึงวันแรกที่ได้เข้ามาเป็นลีด ในเมื่อเราเข้ามาแล้ว เราทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ดีกว่าเราท้อ แล้วก็ทิ้งมันไปง่าย ๆ แล้วก็นึกถึงเพื่อนคนอื่นที่เขาอยากเป็น แล้วไม่ได้เป็นสิ ถ้าเราอยากเป็นลีด เราต้องพยายาม ไม่ใช่ว่าเราอยากเป็น แต่ไม่พยายามทำอะไรเลย”
เข้ามหาวิทยาลัยทั้งที ไม่อยากแค่เรียนแล้วก็จบออกไป
“อยากลองเปิดประสบการณ์ใหม่ดูบ้าง เข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วทั้งที ไม่อยากเรียนอย่างเดียว แล้วก็จบไป” นี่คือคำตอบจาก อิ๊งค์-จิดาภา เจริญพงษ์ ตัวแทนลีดคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ หรือ (BUSEM) นี่คือคำตอบจากคำถามที่ว่าทำไมถึงอยากมาเป็นลีด
อิ๊งค์-จิดาภา เจริญพงษ์
ด้วยความตั้งใจจริงที่อยากจะเป็นลีด อิ๊งค์จึงเตรียมตัวเองอย่างมาก ด้วยการฝึกซ้อมท่าเต้น ลองเต้นหน้ากระจก และฝึกให้ตัวเองกล้าแสดงออก จนในที่สุดก็ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของลีด BUSEM
ตื่นเช้าขึ้นอีกหน่อย เวลาก็เพิ่มขึ้น
ทั้งเรียน ทั้งซ้อมลีด แบบนี้แล้วแบ่งเวลาอย่างไร กับสองสิ่ง ที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน “เริ่มจากการแบ่งเวลาให้เป็น และใช้เวลาให้คุ้มค่าค่ะ วันไหนที่เรียนเสร็จเร็ว มีเวลาว่าง ก็จะอ่านหนังสือ พอซ้อมลีดเสร็จ รีบกลับหอพักแล้วทำการบ้าน วันไหนว่างก็จะตื่นเช้าหน่อยเพื่อมาทำการบ้านค่ะ”
ใครไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจกัน
ระหว่างการฝึกซ้อมที่ยาวนาน และมหาโหด ความเหนื่อยและความท้อแท้ มักไม่เข้าใครออกใคร ช่วงเวลาที่เหนื่อย และท้อ คนที่เข้าใจเธอมากที่สุด ก็คือเพื่อนที่เป็นลีดด้วยกัน “ถ้าท้อ ก็จะคุยกับเพื่อนที่เป็นลีดด้วยกัน เพราะว่าคนเป็นลีดด้วยกัน จะเข้าใจกันมากที่สุดค่ะ เพื่อนก็บอกว่าก็มีมุมที่ท้อ หรือเหนื่อยกันทุกคนเลยค่ะ แต่ว่าเมื่อเราคุยกันแล้ว ก็ให้กำลังใจกันและกันว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวงานก็จะจบลงแล้ว”
เราอยากรู้ว่าบรรดาลีดเขามีความรู้สึกกดดันบ้างไหม “กดดันหลายเรื่องมากค่ะ ทั้งตัวเอง ก็กลัวการเต้น ๆ อยู่ แล้วจะลืมท่าทาง จำท่าไม่ได้ กลัวว่าในวันจริง เราจะลืมท่าเต้นไหม จะหน้าแตกหรือเปล่า แล้วก็ความกดดันที่มาจากรุ่นพี่ ที่ทำไว้ดีมาก ๆ กลัวว่า เมื่อมาถึงปีของพวกเรา จะทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นพี่”
คุ้ม..หรือ…ไม่คุ้ม
ซ้อมมาตั้งนาน แต่วันงานกลับได้โชว์แค่แป๊บเดียว มันคุ้มไหม “ถ้าให้มองดี ๆ มันก็มีทั้งคุ้ม แล้วก็ไม่คุ้มค่ะ รู้สึกว่าบางทีต้องเสียเวลาส่วนตัวไปเยอะ บางคนที่ไม่ได้เป็นลีด เขาก็ไม่ต้องเสียเวลามาซ้อมตอนเย็นทุกวัน เขาได้กลับบ้าน ได้ไปเที่ยว คิดว่าตรงนี้แหละที่ไม่คุ้ม แต่อย่างน้อย เราก็ได้เจอเพื่อนดี ๆ ที่ซ้อมลีดมาด้วยกัน เจอรุ่นพี่ที่มีความอบอุ่นกันเอง ก็เลยรู้สึกว่าหน้าที่นี้ มันมีทั้งคุ้ม และไม่คุ้มอยู่ในงานเดียวกัน”
ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่ต้องมีความรับผิดชอบด้วย
ลีดมีดีแค่หน้าตาคือทัศนคติของคนส่วนใหญ่ เราตั้งคำถามนี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เธอบอกว่า “ก็ไม่ได้คิดอะไรนะคะ รู้สึกว่ามันเป็นความคิดของเขาค่ะ เพราะต่างคน ต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ มันก็จะมีบ้างที่เขาคิดว่า เรามีดีแค่หน้าตา แต่มันก็ต้องมีคนที่คิดว่า คนเป็นลีด กว่าจะเป็นได้เขาก็ต้อมซ้อมหนัก ต้องเจออะไรมาบ้างเหมือนกันค่ะ”
เธอย้ำกับเราว่า “อยากให้มองว่าลีดคณะ ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่ต้องมีความรับผิดชอบมาก กว่าจะถึงงาน Cheer day มันยากลำบากมาก อยากให้คนมองถึงเบื้องหลังว่า มีความเหนื่อยมากซ่อนอยู่” เชื่อแน่ว่าลีดทุกคนก็อยากได้กำลังใจสนับสนุนอย่างแน่นอน
รักการเต้นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
มาถึงหนุ่มคนแรก ที่เราได้พูดคุย อัด-ทักษ์ดนัย สนูน้อย ตัวแทนลีดคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว เด็กหนุ่มผู้มีความชอบการเต้น และต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ “ผมมาเป็นมาลีด เพราะส่วนตัวผมชอบทางด้านนี้อยู่แล้วครับ ผมคิดว่าการได้ใช้เวลาว่างมาทำกิจกรรม ได้มาทำตรงส่วนนี้ ดีกว่าการนอนอยู่บ้านเฉย ๆ ครับ”
อัด-ทักษ์ดนัย สนูน้อย
หน้าตาดีเป็นแค่องค์ประกอบอย่างหนึ่ง
อีกครั้งกับประเด็นคำถามลีดมีแค่หน้าตา เราได้ถามอัดเช่นเดียวกันว่ามีความคิดเห็นอย่างไร “ผมว่าเมื่อก่อนเขาอาจจะมองกันแค่หน้าตา แต่ตอนนี้ ผมว่า มันเปลี่ยนไปแล้วครับ เขาต้องดูเรื่องของทักษะการแสดงด้วย เพราะมันไม่ใช่แค่ลีด มันต้องมีความหมาย เราต้องตีความหมายเพื่อแสดงออกมา มันคือการแสดงที่มากไปอีกขั้นนึง”
“ในธีมงานแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่การโชว์ ถ้าถามว่าแค่หน้าตารึเปล่า ผมว่ามันเป็นองค์ประกอบหนึ่งมากกว่า เช่น คนนี้สามารถเป็นลีดจริง ๆ ได้ไหม มีความพยายามมากพอไหม ถ้าแค่หน้าตาดีอย่างเดียว แต่ไม่มีความพยายาม ไม่มีความอดทน ก็ทนกับการซ้อมที่หนักไม่ได้อยู่ดี”
การฝึกซ้อมที่เข้มข้น
เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ผ่านการซ้อมหนักและบทลงโทษสุดโหด ของการเป็นลีดมาได้อย่างงดงาม อัดได้เล่าถึงรายละเอียดขั้นตอนการซ้อมได้อย่างเห็นภาพ
“ขั้นตอนในการซ้อม ก่อนซ้อมท่า จะมีวิ่ง 2 รอบ ยืนตั้งการ์ดนาน 10 นาที ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งใช้เวลานานขึ้นเป็น 15-20 นาที ถ้าใครทำไม่ได้ ก็ต้องทำใหม่ ไปเรื่อย ๆ จะมีช่วงพัก 4-5 ครั้ง ๆ ละ 3 นาที เวลาซ้อมตั้งการ์ด เราจะเครียดมาก เพราะเรายังไม่ชินกับการเป็นลีด การให้เรามายืนเป็นชั่วโมง ๆ แล้วก็วิ่งเพื่อวอร์มการตั้งการ์ดอีก ในจุดนั้น วันนั้น เราพึ่งเริ่มต้น จึงรู้สึกว่า การเป็นลีดนั้น มันคืองานหนักมาก ยิ่งเวลาที่คนสอนท่าเต้น เข้ามาสอนจะเป็นช่วงเวลาที่หนักมาก ๆ จะหนักกว่าตอนซ้อมตั้งการ์ดหลายเท่าตัว และจะมีการทำโทษ เช่น ฉีกขาออกจากกัน นาน 2-3 นาที”
แต่เพราะมีกำลังใจที่ดีและมีความตั้งใจจริง แม้การฝึกซ้อมจะหนักแค่ไหน เขาก็ยังตอบเราด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจว่า “ถึงจะเป็นงานหนักมาก ผมก็ชอบที่จะอยู่ตรงนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมอยากลองทำดูครับ”
เราเป็นเหมือนครอบครัว
เมื่อจบงาน Cheer Day แล้ว คิดว่าคุ้มไหม กับการที่เราสละเวลาส่วนตัวมาซ้อมนานนับเดือน คำตอบ คือ “คุ้มมาก ๆ ครับ เพราะการที่เรามาทำตรงนี้ มันเหมือนทักษะที่จะติดตัวเราไปตลอด ทำให้เรามีความแข็งแกร่ง และมีความรับผิดชอบมากขึ้น รุ่นพี่ที่มาสอนก็ดีมากเลยครับ ถึงจะมีโหดบ้าง แต่ก็เพราะรุ่นพี่อยากให้เราทำออกมาให้ดีครับ แล้วการที่เรามาทำตรงนี้ ทำให้เราได้สังคมใหม่รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่สามารถปรึกษากันได้แทบทุกเรื่อง” เขายังทิ้งท้ายว่า “เราเป็นเหมือนครอบครัวครับ”
เปิดประสบการณ์ใหม่
อีกหนึ่งหนุ่ม ตัวแทนจากลีดคณะ BUSEM เอิร์ธ-ศุภกฤต สุรีย์ จากวันแรกที่มาสมัครลีด ถึงวันนี้กับการได้เป็นลีดคณะเต็มตัว
เอิร์ธ-ศุภกฤต สุรีย์
“จริง ๆ ตอนแรก ผมไม่ได้อยากเป็นลีดเลยครับ” เอิร์ธเล่าถึงเหตุผลการเข้ามาเป็นลีด “วันนั้น เพื่อนชวนมา ผมก็เลยลองดู แล้วพอดีกับที่พี่เขากำลังมองหาลีดรุ่นใหม่ด้วยครับ”
การแสดงแสนสวยที่แลกมาด้วยหยดน้ำตา
เอิร์ธเริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังการซ้อมหนักไม่ต่างจากคณะอื่นที่ทุกวันจะเริ่มต้นการซ้อมตั้งแต่เย็นถึงสองทุ่ม และความกดดันที่ทำให้เอิร์ธถึงขั้นเสียน้ำตา
“ซ้อมหนักครับ ยิ่งใกล้วันโชว์ พี่เขาก็จะติวหนักหน่อย แต่ถามว่าโหดไหม มันก็ไม่ถึงขั้นโหดมากครับ บางครั้งพี่เขาจะทำให้บรรยากาศนั้น ตลกหน่อยครับ มันก็เลยมีสีสันในการซ้อม ไม่น่าเบื่อจนเกินไป ความกดดันมีอยู่แล้วครับ พี่เขาบอกว่าเพื่อนกันต้องไปด้วยกัน อย่างเช่นว่าถ้ามีคนหนึ่ง ทำผิด ก็ต้องโดนลงโทษด้วยกันทั้งหมด ผมเลยพยายามไม่ให้ตัวเองทำผิด เพราะไม่อยากให้เพื่อนโดนลงโทษไปด้วย”
เขาก็มีวิธีการระบายด้วยการปลดปล่อยความกดดันด้วยการน้ำตา “ผมมีช่วงหนึ่งครับ ที่แอบร้องไห้ แล้วไปแอบร้องไห้คนเดียว เขากำลังซ้อมอยู่ แล้วผมก็วิ่งไปร้องไห้ ช่วงนั้นคือมันแบบอารมณ์ดาวน์ กดดัน เพราะซ้อมหนัก พี่เขาก็อยากให้มันออกมาดี ผมก็พยายามทำเต็มที่แล้ว แต่มันอาจจะยังไม่ดีพอสำหรับพี่เขา ก็เลยต้องแอบไปร้องไห้คนเดียว จนเพื่อนกับพี่ต้องมาปลอบครับ”
เพื่อสิ่งที่ดีกว่า…ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
เพราะแรกเริ่ม ไม่ได้มีความคิดว่า ตัวเองจะมาเป็นลีดคณะ ภาพลีดในความคิดของเอิร์ธจึงเป็นแค่ผู้นำเชียร์ในกิจกรรมต่าง ๆ แต่หลังจากผ่านฝึกซ้อมที่หนักหน่วง สำหรับงาน BU Cheer Day 2019 มุมมองและความคิดต่อการเป็นลีดของเอิร์ธก็เปลี่ยนไป “ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่หน้าตาอย่างเดียวครับ แต่ต้องมีความตั้งใจที่อยากจะเป็นลีดจริง ๆ ด้วย ผมคิดว่า ถ้าเขาคัดคนที่หน้าตาอย่างเดียว แต่ว่าความสามารถไม่มี ไม่สามารถโชว์ได้ งานก็อาจจะออกมาไม่ดี แต่ถ้าได้คนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น หน้าตาเป็นส่วนประกอบที่มาเสริมแต่งได้ เมื่อพอมองภาพรวมปุ๊ป การแสดงก็จะออกมาดี ออกมาสวยครับ”
“ผมอยากให้เขามองว่าเราเป็นผู้นำเชียร์ และเราเองก็ต้องเป็นคนที่ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ด้วย เพื่อที่จะให้ตัวเองไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าจุดเริ่มต้นครับ”
เราต้องบอกว่าจากการพูดคุยกับลีดคณะ ก็พอจะเข้าใจถึงความยากลำบาก และความหนักหน่วงของหน้าที่ลีดคณะได้ดียิ่งขึ้น กว่าจะมาเป็นผู้นำเชียร์ของคณะได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และแน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องของหน้าตา ความสวย ความหล่อเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝน มุ่งมั่น ตั้งใจ เต็มไปด้วยความมานะพยายาม และที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการแสดง รวมถึงมีใจรักในสิ่งนี้ด้วย พวกเราหวังว่าบทสนทนาชิ้นนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจการเป็นลีดมากยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณรุ่นพี่ตัวแทนลีดคณะนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว และคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ