ไปพิพิธภัณฑ์กันไหม อยู่ในมอเรานี่เอง !!! เราหันบอกกลุ่มเพื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นประจำ
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าม.กรุงเทพมีพิพิธภัณฑ์
“พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian Ceramics Museum) ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2543 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพครบรอบ 40 ปี และในอีกไม่นานนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็กำลังจะครบรอบ 60 ปี
เพื่อเป็นการย้อนวันวาน ในวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ทุกคน เข้าไปทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์ที่เด็ก BU เรียกกันอย่างย่อ ๆ ว่า “พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วย”
อาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้เนินดิน
พอก้าวเท้าเข้ามาในบรรยากาศบริเวณพิพิธภัณฑ์ที่ตัวอาคารออกแบบลึกลงไปอยู่ใต้ดิน โดยมีทางลาดเดินเข้าสู่ตัวพิพิธภัณฑ์ ร่มรื่นไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ ตามประวัติบอกไว้ว่า เป็นความตั้งใจที่จะให้ตัวอาคารอยู่ใต้เนินดิน เปรียบเสมือนเครื่องถ้วยที่ได้นำเข้าเตาเผานั่นเอง
ก่อนเข้าประตู สายตาของเราสัมผัสกับเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาจำลองหรือที่เรียกว่า “เตาประทุน” ก่อด้วยอิฐ ด้านหน้าทางเข้าประตูพิพิธภัณฑ์เป็นเตาประทุนแบบล้านนา และด้านหลังพิพิธภัณฑ์มีเตาประทุนแบบสุโขทัย โดยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เตาทุเรียง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเตาเผาเครื่องสังคโลกหรือเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย
จากข้อมูลที่เราได้มา อาคารหลังนี้ดีไซน์แบบปูนเปลือย ประกอบกับบรรยากาศสีเขียวของแมกไม้ยิ่งขับเน้นให้ตัวอาคารดูโดดเด่น ทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันหรืออาคารทางศาสนาประจำปี 2551 และในปี 2552 ก็ได้รับรางวัล 1 ใน 9 ของสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นของประเทศไทยอีกด้วย ชนะเลิศสุด ๆ
ก่อตั้งด้วยความรักและรวบรวมงานเครื่องถ้วยอันทรงคุณค่า
บานประตูขนาดใหญ่ที่พวกเราผลักเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เราได้สัมผัสถึงความเย็นฉ่ำของเครื่องปรับอากาศที่ตั้งค่าอุณหภูมิไว้อย่างเหมาะสม ด้านหน้าทางเข้า เรามองเห็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2548
พื้นที่การจัดแสดงเต็มไปด้วยเครื่องถ้วยหลากหลายยุคสมัยที่จัดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีจำนวนประมาณ 16,000 รายการ ด้วยความรักและชื่นชอบในการสะสมเครื่องถ้วยของ อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกทั้งยังต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องถ้วยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์สุรัตน์ จึงมอบเครื่องถ้วยที่สะสมให้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการออกแบบพื้นที่แบ่งหมวดหมู่การจัดแสดงเครื่องถ้วยตามยุคสมัยและแหล่งที่มา รวมถึงมีนิทรรศการหมุนเวียนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงเพิ่มเติมความมีชีวิตชีวาให้กับพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
เครื่องถ้วยในกระบะทราย
ความน่าตื่นตาตื่นใจของการจัดแสดงเครื่องถ้วยอันดับแรกคือ การจัดแสดงเครื่องถ้วยในกระบะทราย พร้อมกับแสงไฟสาดส่อง ทำให้เห็นความงดงามของเครื่องถ้วยในทุกรายละเอียด
ข้อมูลบอกไว้ว่าส่วนนี้คือเครื่องปั้นดินเผาไทยและต่างประเทศที่เป็นสินค้าส่งออกในพุทธศตวรรษที่ 21 การจัดแสดงในกระบะทรายมีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่นั่นคือแสดงถึงการค้นพบเครื่องถ้วยที่เกิดจากเรืออับปางในทะเล พร้อมทั้งยังมีแผนที่จัดแสดงให้เห็นถึงแหล่งที่พบเครื่องถ้วยตามบริเวณจุดที่เรืออับปางอีกด้วย
หลากหลายสัญชาติของเครื่องถ้วย
ตู้กระจกที่จัดแสดงรายรอบยังบ่งบอกความหลากหลายของเครื่องปั้นดินเผาที่มาจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ เขมร ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เวียดนาม และจีน เครื่องถ้วยที่มาจากแตกต่างที่มายังสื่อสารถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงสะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสมัยก่อนที่ช่างคิด ช่างออกแบบข้าวของเครื่องใช้อย่างมีศิลปะ งดงาม และใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น คนโท คนที หรือ ภาชนะมีลักษณะคล้ายขวด กาน้ำ และภาชนะใส่อาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ
งานศิลปะและของใช้ของคนในยุคโบราณ
เราเดินไปตามทางเล็ก ๆ ที่ทอดยาว เป็นพื้นที่ส่วนกลางของพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้าเป็นตู้กระจกขนาดใหญ่ เรียงรายไปด้วย “ไห” รูปทรงต่าง ๆ เหลี่ยมบ้าง โค้งมนบ้าง เหมือนภาพวาดแบบ 3 มิติ ภายในตู้กระจกเป็นไหบรรจุภัณฑ์ ที่มีสัญชาติไทย จีน เขมร และเวียดนาม เราคิดในใจว่า คนสมัยก่อนเขาใช้สิ่งของที่ออกแบบมาอย่างเป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย
ศรีสัชนาลัย สุโขทัย แหล่งกำเนิดเครื่องสังคโลกอันลือลั่น
ถ้าใครเคยไปศรีสัชนาลัย สุโขทัย คงประทับใจความงามของสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยที่อ่อนช้อย ไม่เว้นแม้แต่เครื่องปั้นดินเผาในยุคสมัยสุโขทัย ที่ออกแบบได้เรียบง่าย หมดจด งดงาม มีหลากหลายรูปแบบ ในสมัยนั้นจึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสุโขทัย ซึ่งในยุคนี้เป็นของสะสมที่ทรงคุณค่าแก่เก็บรักษาเพื่อเรียนรู้อย่างยิ่ง
ผลงานระดับ Masterpieces
ถัดมาด้านในเป็นตู้กระจกขนาดพอดีกับตัวเครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงผลงานชิ้นเยี่ยม ซึ่งอาจจะมีเพียงชิ้นเดียว เราชื่นชมกับลวดลาย รูปทรง และสีสันของเครื่องถ้วยราวกับต้องมนต์สะกด ใครที่แวะมาจุดนี้คงต้องใช้เวลาดื่มด่ำกับเครื่องปั้นดินเผาแต่ละชิ้นที่เป็นเหมือนไทม์แมชชีนพาเราย้อนกลับสู่อดีตได้อย่างมหัศจรรย์ !!!
หยิบจับ สัมผัสฉัน
มากันที่ไฮไลท์ของส่วนสุดท้าย เราเห็นป้ายโดดเด่นว่า “หยิบจับ สัมผัสฉัน” หลังจากดูด้วยตามาตลอด ตรงจุดนี้ เขาเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับเครื่องถ้วยด้วยมือของตัวเราเองเลยนะ!!! ว่าแล้วก็ไม่รอช้า เรายื่นมือผ่านช่องกระจกเล็ก ๆ เข้าไปสัมผัสตัวเครื่องถ้วยด้วยใจเต้นแรง ผิวสัมผัสของเครื่องถ้วยมีร่องรอยแตกบิ่นบ้างเล็กน้อย บอกเลยว่าจุดนี้ฟินสุด ๆ
หนึ่งวันที่เต็มอิ่มกับการเดินทางกลับสู่อดีตที่ “พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ไม่มาไม่ได้แล้ว ถ้าเพื่อน ๆ มีเวลาว่างจากการเรียน ลองแวะเข้ามาสัมผัสความงดงาม และร่องรอยแห่งอดีตด้วยกัน แล้วจะพบว่าความงามและคุณค่าของเครื่องถ้วยพาเราเดินทางย้อนกลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้มากมาย
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น. ก่อนมาอ่านข้อมูลล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ http://museum.bu.ac.th แล้วมาย้อนวันวานยังหวานอยู่ด้วยกันนะคะ