เจาะลึกกับ 5 ชมรมของเด็กม.กรุงเทพ เน้นทำงานจิตอาสา กองหนุนเพื่อสร้างสรรค์สังคม

รู้จักชมรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ลุยงานแบบติดดิน มีจิตใจอาสา และสร้างพลังบวกให้กับสังคม

            ชมรมคือแหล่งรวมของคนที่ชอบและสนใจในเรื่องเดียวกัน ชีวิตนักศึกษาหลายคนคงได้พบเจอกิจกรรมที่ใช่ ชมรมที่ชอบ รู้หรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็มีชมรมสำหรับคนที่ชอบทำงานเพื่อสังคม มีจิตใจชอบช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน เราขอถือโอกาสนี้ย้อนวันวานแนะนำชมรมที่เกี่ยวกับการทำงานจิตอาสา รวบรวมมาได้ทั้งหมด 5 ชมรมดังนี้

ชมรมค่ายอาสาพัฒนา

            ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ชมรมในตำนาน สุดฮิตติดลมบน ที่มียอดผู้สมัครเฉลี่ยปีละมากกว่า 500 คน ที่ยังคงสายสัมพันธ์เหนียวแน่นของรุ่นพี่และรุ่นน้องในการทำงานเพื่อสังคม แม้ว่าจะจบไปแล้วก็ยังคงติดต่อกันอยู่เสมอ

พี่เบล-อัศวิญา หินเธาว์

            คุยกับเลขานุการชมรม พี่เบล-อัศวิญา หินเธาว์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว บอกกับเราว่า ชมรมมีจุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ชอบทำกิจกรรมเกี่ยวกับงานอาสา พวกเขาจึงจัดตั้งชมรมนี้ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์สายลุยผู้ที่ชอบทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้คน เช่น การพัฒนาพื้นที่ในต่างจังหวัดไกล ๆ ให้ดีขึ้น ด้วยแนวคิดที่ว่า “อยากเห็นผู้รับมีความสุข ผู้ให้ก็มีความสุข”

ร่วมแรงร่วมใจ สร้างสรรค์สังคม

            ภายในชมรมมีกิจกรรมการออกค่ายเพื่อไปพัฒนาสังคม แบ่งค่ายออกเป็น 3 ช่วง คือ ค่ายเล็ก 1 วัน, ค่ายย่อย 7 วัน, ค่ายใหญ่ 25 วัน ซึ่งจะออกเดินทางไปตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ละค่ายนั้น เราเน้นการไปปรับปรุง ซ่อมแซม ทาสี สร้างอาคาร เช่น ห้องสมุด ห้องน้ำ สนามกีฬา สาธารณประโยชน์ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในชนบทที่น้องยังขาดแคลน มีการทำกิจกรรมสันทนาการ และสอนหนังสือ ส่วนกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้น เป็นการออกบูธ BU Market เช่น การขายของ เพื่อจัดหาทุนเข้าชมรม สำหรับการออกค่ายแต่ละครั้ง

สร้างค่าย สร้างงาน สร้างมิตรภาพ

            ค่ายอาสา ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ที่มาทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ชีวิตในเมืองหลวง เพราะเราได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในต่างจังหวัด เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวค่ายและชาวบ้าน พร้อมทั้ง ยังได้มิตรภาพใหม่ ๆ ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องที่มาจากต่างคณะ ได้มาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวในช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือความรู้สึกอันแสนอบอุ่น ซึ่งหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้

เป็นผู้ให้ สุขใจยิ่งกว่า…เชื่อสิ!!!!

            พี่เบลยังฝากถึงคนที่มีใจรักในการทำกิจกรรมจิตอาสาอยากให้มาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะการเป็นผู้ให้จะรู้สึกอิ่มเอมมากกว่า เมื่อเราได้แบ่งปัน หรือให้อะไรใครไป เราจะได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขาตอบรับกลับมา นี่คือความสุขใจยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ มาร่วมสร้างสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น มาสร้างค่ายอาสาไปด้วยกัน

ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            นาทีนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ร้อนแรงทุกมิติ ไอเดียการรักษ์โลก จึงเป็นเรื่องสำคัญ และนับเป็นสัญญาณที่ดี ที่หลายคนหันมาตระหนักและเริ่มปรับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน โดยพยายามให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

พี่โอ๊บ-ธนโชติ ก้องสกุล

            ประธานชมรมอนุรักษ์ พี่โอ๊บ-ธนโชติ ก้องสกุล นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ให้เวลาในการสนทนากับเราในเรื่องนี้

ชมรมอนุรักษ์ คือ การเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ

            จุดเริ่มต้นของชมรมมาจากการเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ต่อสู้และแลกด้วยชีวิต เพื่อปกป้องผืนป่าตะวันตก แรงบันดาลใจของการก่อตั้งชมรมอนุรักษ์มาจากจุดนั้น งานของเราจึงเน้นการอนุรักษ์ การปกป้องสิทธิ์ของสัตว์ป่า การเรียนรู้ธรรมชาติ การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายแนวคิด และการตั้งชมรมนี้ ไปในแต่ละมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้องการถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้กับน้องนักศึกษาและบุคคลทั่วไป

            การทำงานของชมรมแบ่งออกเป็น 7 ฝ่ายหลักคือ 1.ประธาน 2.รองประธาน 3.ฝ่ายสันทนาการ 4.ฝ่ายศิลป์ 5.ฝ่ายสื่อสาร 6.ฝ่ายครัว 7.ฝ่ายสวัสดิการ โดยหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ฝ่ายสวัสดิการ คอยดูแลจัดหาอุปกรณ์ใช้สอย ส่วนฝ่ายสถานที่ เวลาออกค่ายแต่ละครั้ง ก็ต้องไปดูสถานที่ก่อนว่า ห้องน้ำเป็นอย่างไร มีไฟฟ้าใช้หรือไม่ การออกค่ายแต่ละครั้งต้องประสานงานติดต่อกับทางอุทยานล่วงหน้าเสมอ

ทำแล้วได้อะไรมากกว่าการปลูกป่า

            กิจกรรมภายในชมรมของเรา มีการเข้าค่ายอนุรักษ์ เป็นค่าย 3 วัน 2 คืน ซึ่งไปตามอุทยานต่าง ๆ แล้วแต่ค่ายที่จัดขึ้น โดยมีกิจกรรมให้เราทำคือการเดินเข้าป่าศึกษาธรรมชาติตามแหล่งอุทยาน การสร้างฝายดินชะลอน้ำ การปลูกป่าทดแทน การยิงหนังสติ๊กเมล็ดพันธุ์ปลูกป่า เข้าไปในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การทำอาหารให้สัตว์ การทำโป่งเทียม เพื่อเพิ่มแร่ธาตุสำหรับสัตว์ป่า ช่วยเหลือสัตว์ป่า หรือแม้แต่การให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอุทยานว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่ออยู่ในอุทยาน ที่สำคัญเรายังได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เช่น นอนกางเต็นท์ รับลมธรรมชาติ พร้อมส่องนก และกิจกรรมรอบกองไฟ เป็นต้น

ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน

            ออกค่ายหนึ่งครั้งได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด จริง ๆ นะ เพราะเราได้เปิดมุมมอง เปิดโลกทัศน์ใหม่ สัมผัสธรรมชาติ ระบบนิเวศ เวลาไปในแต่ละสถานที่นั้น เราได้ไปประสบพบเจอในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างเช่น ล่าสุดเราเข้าไปในป่า เราได้พบกับกระทิง แบบระยะใกล้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า เขาไม่ได้ดุร้ายขนาดนั้น ถ้าเรารู้จักปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เราก็อยู่ร่วมกันได้ อีกทั้ง ยังได้ทำประโยชน์ร่วมกัน นอกเหนือจากสิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมแล้ว ยังได้ทั้งความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม มิตรภาพ และเพื่อนใหม่ นี่คือบางสิ่งบางอย่างที่เราหาไม่ได้จากในห้องเรียน

ธรรมชาติอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีธรรมชาติ

            พี่โอ๊บยังบอกอีกว่า “น้องหรือพี่คนไหนที่สนใจในเรื่องของธรรมชาติ หรือมีใจรักอยากมาเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสร้างความหวงแหนขึ้นในจิตใจเช่นนี้ ก็ขอเชิญชวนทุกคนให้มาสมัครกันเยอะ ๆ จะได้มาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน กับพวกเราชาวอนุรักษ์ พวกเรายินดีต้อนรับเสมอ”

            เอาล่ะ…แว่วมาว่า เร็ว ๆ นี้ จะมีค่ายปลายปี ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน เขาจะไปออกค่ายกันที่เขาใหญ่อีกด้วยนะจ๊ะ

ชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค

            ชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค เป็นชมรมเล็ก ๆ ที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู ทว่ามีเรื่องราวดี ๆ มากมายไม่แพ้ชมรมอื่นเลย

พี่โบว์-ชนิษฐา เลิศรุ่งโรจน์

            พูดคุยกับประธานชมรม พี่โบว์-ชนิษฐา เลิศรุ่งโรจน์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บอกว่า “ชมรมเกิดจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาสนับสนุนอยากให้เกิดเป็นชมรม เพื่อดูแลสุขภาพของคนทั่วไป ภายหลังจึงได้นำกิจกรรมจิตอาสา เพิ่มเข้ามาในชมรม เนื่องด้วยชมรมของเราเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติกที่กระทบต่อสัตว์ทะเล ดังจะเห็นได้จากข่าวอยู่บ่อย ๆ ล่าสุด คือ เจ้าพะยูนน้อย มาเรียม และยามีล เรื่องนี้ทำให้เราต้องตระหนักถึงคนรอบข้าง ผลที่ตามมาเสมอ เราจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์

การทำงานที่ดีต้องวางแผนก่อนเสมอ

            กระบวนการทำงานของชมรม แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก ๆ คือ 1.Mind 2.Waste 3.Social  และ 4.Natural

            เริ่มต้นที่หัวข้อแรก Mind คือ ด้านการพัฒนาความคิด ปรับทัศนคติ ให้เข้าใจตัวเอง เริ่มที่ตัวเรา

            ถัดไป คือ Waste ความเข้าใจในเรื่อง “ขยะ” ไม่ใช่แค่การลด แต่เป็นการนำขยะต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพราะเรามีความคิดว่าทุกอย่างไม่ได้เป็น “ขยะ” สูญเปล่า ถ้าเราใช้ให้ถูกทาง นอกจากนั้น ยังแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มเข้ามา

            Social คือ เราต้องทำเพื่อสังคมมากขึ้น เริ่มคิดถึงคนรอบข้าง

            และสุดท้าย Natural ธรรมชาติ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราทุกคนควรนึกถึง เพราะเป็นทรัพยากรหลักที่ใช้แล้วหมดไป ถ้าเราไม่รู้จักรักษา ไม่เยียวยา ไม่ทดแทน วันหนึ่งทุกอย่างอาจจะสูญหายไป

น้ำใจมีไว้เพื่อแบ่งปัน

            ภายในชมรมยังมีกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น กิจกรรมปันกัน คือ การร่วมแบ่งปัน บริจาคสิ่งของเหลือใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาส การออกไปช่วยดูแลรักษาความสะอาด บำรุงซ่อมแซมโรงเรียน หรือทาสีอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม การฝึกทำ CPR ช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์คับขัน การออกบูธขายอาหาร โดยใช้ภาชนะจากธรรมชาติล้วน ลดการใช้พลาสติก และอีกหนึ่งผลงานสำคัญที่ชมรมจัดทำขึ้นคือเรื่อง “ยาเสพติด” มีการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักอนามัยด้วย

โครงการดีที่อยากบอกต่อ

            ตอนนี้ชมรมนี้ มีอีกหนึ่งโครงการดี ๆ คือ การจำหน่ายเสื้อ Who Am I ตามภาพด้านบน ซึ่งมีทั้งสีขาวและดำ ภายใต้คอนเซ็ปต์เราคือใคร กับการตั้งคำถามถึงชีวิตตัวเอง ว่าสิ่งที่กำลังทำ และตัวตนที่เราเป็นอยู่นั้น เป็นไปเพื่ออะไรกันแน่

            ความพิเศษ คือ ลายเสื้อ “อักษรเบรลล์” ที่เราต้องการนำเสนอเรื่องของความไม่สมบูรณ์ ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน และการสื่อสารผ่านตัวอักษร และความหมายที่แม้จะมองไม่เห็น แต่สามารถรับรู้ในเรื่องราวที่อยู่บนเสื้อตัวนี้ได้ รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายเราจะนำไปสมทบทุน โครงการให้ “ธรรม” เป็น “ทาน” ของมหาวิทยาลัย เพื่อวัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง เพื่อนำไปเป็นค่าอาหารน้อง ๆ เด็กกำพร้ามากกว่า 2,000 ชีวิต

            ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีโครงการ Transfer Bottle ซึ่งเป็นการรับบริจาค ฝา หลอด และขวดพลาสติก เพื่อนำไปส่งตามงานที่รับผิดชอบ โดยฝาพลาสติก จะนำไปทำบ้านปลารีไซเคิล ส่วนหลอดพลาสติกจะนำไปทำเป็นหมองรองคอ และหลัง ของผู้ป่วยติดเตียง และขวดพลาสติก นำไปรีไซเคิลผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นจีวรพระ

ขอแค่มีใจอยากอาสา

            ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในชมรมนี้ได้หมดไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เพียงขอแค่มีใจอาสาอยากช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งสามารถเข้ามาสมัครกันได้เรื่อย ๆ พี่โบว์ยังแอบบอกอีกว่า ชมรมเรารับสมาชิกตลอดทั้งปี สามารถติดต่อสอบถามได้ ผ่านทางแฟนเพจชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เปลี่ยนมุมมอง-ความคิด ก็เป็น “จิตอาสา” ได้แล้ว

            พี่โบว์ยังฝากถึงน้องทุกคน ที่ยังไม่มั่นใจ อยากให้ได้ลองเข้ามาสมัคร มาสัมผัสด้วยตัวเอง ชมรมนี้อาจช่วยให้น้องเกิดแรงบันดาลใจ หรือมีมุมมองความคิดเกี่ยวกับตนเอง และสังคมมากขึ้น ได้เจอเรื่องใหม่ ๆ จากตรงนี้ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ ร่วมกับน้อง ๆ ไม่อยากให้กลัวคำว่าจิตอาสาเพราะว่า กิจกรรมที่เราไปทำ อาจจะเป็นกิจกรรมธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป ไม่อยากให้คิดเราว่า ต้องมาเสียสละหรือต้องไปลำบากอะไร แค่เราเปลี่ยนมุมมอง ปรับความคิด ก็เป็นจิตอาสาได้แล้ว

            “สังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ก่อนที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น ถ้าตัวเรายังไม่เริ่ม แล้วใครจะเริ่มตาม”

ชมรมโรทาแรคท์

            หลายคนอาจสงสัยว่าชมรมโรทาแรคท์คืออะไร ? ด้วยชื่อที่แปลกหู ชวนให้อยากรู้ เรามีคำตอบมาบอกกัน

พี่วิน-นพวินทร์ พรหมดวงศรี

พี่วิน-นพวินทร์ พรหมดวงศรี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ประธานชมรมบอกว่า ROTARACT เกิดจากคำว่า ROTARY+ACTION หมายถึง การกระทำของ ROTARY นั่นเอง เป็นชมรมสำหรับก่อสร้างหรือพัฒนาชุมชน จุดเริ่มต้นเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจอยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับจิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และความรู้สู่ชนบท ผสมผสานความเป็นเพื่อน พี่ น้อง และความสนุกสนานลงไป เราจึงอยากพัฒนาจุดนี้ให้ก้าวไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุด

เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน

            กิจกรรมของชมรมมีทั้งภายในค่าย และภายในชมรม ไฮไลท์สำคัญของชมรม คือการออกค่ายใหญ่ หรือค่ายหน้าหนาว นาน 15 วัน ในทุกเดือนธันวาคม ของทุกปีเราจะออกเดินทางไปตามต่างจังหวัด โดยจะเน้นออกไปช่วยเหลือผู้คน ชาวบ้าน ผู้ประสบภัย เช่น น้ำท่วม หรือบ้านเด็กกำพร้า ไปบริการและพัฒนาชุมชน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เช่น สร้างอาคารอเนกประสงค์ ทาสี ทำความสะอาด บริจาคสิ่งของ เช่น อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา เครื่องนุ่งห่ม ขนม ให้แก่เด็กที่ขาดโอกาสตามโรงเรียน และชาวบ้านที่ขาดแคลนในพื้นที่ชนบท

            เราเองจะได้เรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ว่า เขาอยู่กันอย่างไร ความสุขในชีวิตที่แท้จริง คืออะไร ? ฟังมาขนาดนี้แล้วก็มาหาคำตอบพร้อมกันที่ชมรมโรทาแรคท์จ้า

            ส่วนกิจกรรมภายในชมรม มีการจัดตั้งซุ้มขายอาหาร ซุ้มสมุดทำมือ D.I.Y. paper ranger  จิตอาสาทำสมุดเพื่อน้อง ที่จัดขึ้นตามงานวันกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยรายได้จากการทำกิจกรรมทั้งหมด นำไปบริจาคและสมทบทุนสร้างอาคารอเนกประสงค์ในพื้นที่ชนบทอีกด้วย

แม้เหนื่อยแค่ไหน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มา คุ้มค่าแน่นอน

            หลายคนบอกว่า กิจกรรมของพวกเรา มีแค่สร้างอาคาร แต่รู้หรือไม่ เราสร้างอะไรอีก ? เราสร้างทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มิตรภาพ ความรัก ความสามัคคี เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน ทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบ อย่างฝ่ายโครงงาน บางคนไม่เคยได้ฉาบปูน ก็ได้ลองฉาบปูน นี่คือประสบการณ์ใหม่ที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ บางสิ่ง บางอย่าง เราไม่เคยคิดจะทำด้วยตัวเอง ก็ได้มาลองทำ ถึงแม้เหนื่อยเพียงใด แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาถือว่าคุ้มแน่นอน

สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเรา

            พี่วินฝากว่าหลายชมรมนั้นมีดี มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่า ทุกคนอยากเจอสิ่งที่ถนัด สิ่งที่ชอบหรือสิ่งไหนกันแน่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเรา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเรา ขอแค่มีใจอาสาให้นึกถึงชมรมโรทาแรคท์

            ออกค่ายหน้าหนาว หนาว !! จะไม่เหงาคนเดียว เพราะเราจะหนาวและเหงาไปด้วยกัน ฮิ๊ววววว!!!

ชมรมวิทยุสมัครเล่น

            ปิดท้ายกันด้วยชมรมวิทยุสมัครเล่น ชมรมเล็ก ๆ แต่ขอบอกว่าใจนั้นใหญ่มาก เป็นชมรมที่คอยประสานงาน ติดต่อสื่อสาร และช่วยเหลือผู้คน

พี่บลุ๊ค-สหรัฐ สำลี

โดยมีประธานชมรม คือ พี่บลุ๊ค-สหรัฐ สำลี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า “ชมรมเรานั้น เป็นการรวมตัวกันของเหล่านักวิทยุสมัครเล่น ที่มีความสนใจในการติดต่อสื่อสาร ได้มาพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรม ทดลอง ศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และการส่งคลื่นกระจายความถี่วิทยุสื่อสารเพื่อช่วยเหลือระหว่างกัน”

รักสุดใจ นายฉุกเฉิน

            กิจกรรมในชมรมส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่เบื้องหน้า แต่จะเป็นงานที่อยู่เบื้องหลังมากกว่า หลัก ๆ คือ การทำงานของพวกเรา จะตั้งอยู่ในจุดดูแลความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย ตามงานกิจกรรมต่าง ๆ หน้าที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือผู้คนในยามฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ไม่ติดขัด ด้วยวิทยุสื่อสาร เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญ เรามีเรื่องของการปฐมพยาบาลเพิ่มเข้ามาอีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีการจัดอบรมการปฐมพยาบาล การดับเพลิงขั้นพื้นฐาน และการอบรมการใช้วิทยุ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้มากมาย และยังมีการสอบเพื่อไปร่วมกิจกรรมแข่งขันของนักวิทยุสมัครเล่นอีกด้วย

คนข้างหลัง

            สิ่งที่ได้รับจากการทำงานในชมรมวิทยุสมัครเล่น ไม่เพียงแต่ได้ช่วยเหลือผู้คน แต่เรายังได้ทั้งทักษะการปฐมพยาบาล ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บแบบเบื้องต้น การใช้วิทยุติดต่อสื่อสารในยามฉุกเฉิน หรือแม้แต่การทำงานการติดต่อประสานงานให้กับผู้ป่วย ถือว่า เป็นการทำความดีในรูปแบบที่ต่างออกไปในชีวิตประจำวันปกติ ได้รับประสบการณ์เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยตรง ผ่านการปฏิบัติร่วมกันจริง และมิตรภาพใหม่ ๆ แถมเรายังได้รับความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ชุมชนและสังคมอีกด้วย

            พี่บลุ๊คฝากว่า คนที่สนใจสามารถเข้ามาดูการทำงานของพวกเขาได้ ที่แฟนเพจชมรมวิทยุสมัครเล่นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ E20AK “แม้ชมรมของพวกเราจะดูเป็นชมรมเล็ก ๆ แต่รับรองว่าเป็นอีกหนึ่งชมรมที่อบอุ่น เปรียบเสมือนครอบครัว มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง คอยช่วยเหลือกันอยู่เสมอ มาเป็นครอบครัวเดียวกันกับพวกเราได้เลย ชมรมวิทยุสมัครเล่น

            ทั้งหมดนี้คือ 5 ชมรมที่เนื้องานของพวกเขาเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “จิตอาสาสร้างสรรค์สังคม” ที่เรารวบรวมมาฝากกัน งานจิตอาสาไม่ยาก เป็นเรื่องของใจล้วน ๆ ว่าแต่…คุณพร้อมที่จะทำอะไร เพื่อคนอื่นบ้างหรือยังล่ะ ?​

ขอขอบคุณภาพประกอบจากแฟนเพจของชมรม

  • ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • Rotaract Club of Bangkok University
  • ชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ชมรมวิทยุสมัครเล่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

จากเด็กนักเรียนเซฟได้ผลันตัวเองมาเรียนนิเทศ มีงานอดิเรก คือดูหนัง ฟังเพลง ชอบการชอปปิ้งออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ รักในการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ชอบหาความสุขให้ตัวเองและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

Writer

ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเราไม่ควรมีต่อความล้มเหลว แต่ควรมีต่อความสำเร็จในเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตจริง ๆ

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว