เครือข่ายต้นแบบกู้ภัย ขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รวมพลังเครือข่ายต้นแบบกู้ภัย พัฒนาทักษะการสื่อสาร สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

         เครือข่ายต้นแบบกู้ภัย ใส่ใจบ่มเพาะพลังการสื่อสาร ขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงการเครือข่ายต้นแบบกู้ภัยขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และบริษัทเพื่อนกระบวนกร จำกัด เปิดเวทีระดมความคิดเห็น และการลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อพัฒนากลไก ส่งเสริมการสื่อสารในสถานการณ์ประสบภัยที่สร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง A3-201 Imagine Lounge มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus

         เวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้ โครงการได้รับเกียรติจาก ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมด้วย อาจารย์ศิริวัฒน์ คันธารส หัวหน้าโครงการต้นแบบกู้ภัยขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คุณคณิต บุณยพานิช บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS คุณอัญวุฒิ โพธิ์อำภัย อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู คุณศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอาจารย์สืบศักดิ์ สืบภักดี ดำเนินรายการ

         ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่างานกู้ภัยเป็นงานที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตคน พร้อมด้วยการทำหน้าที่ด้านการสื่อสารก็สำคัญ การสื่อสารที่มีพลังและมีประสิทธิภาพ จะทำให้คนรับรู้ เป็นการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องงานกู้ภัย ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ในวงกว้างมากขึ้น

         มหาวิทยาลัยกรุงเทพยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา เราได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ และในด้านอื่นช่วยสนับสนุน สร้างทิศทางใหม่ในการสร้างประโยชน์กับสังคม เรายินดีที่ได้ร่วมทำงานกับเครือข่ายกู้ภัย ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทางกู้ภัยได้ฝึกฝนทางด้านการสื่อสาร และใช้เครื่องมือใหม่ทางการสื่อสารช่วยในการทำงานกู้ภัยให้มีประสิทธิภาพ ขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เครือข่ายกู้ภัย ก้าวแรกในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และเป็นการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต

         การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีระดมความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจาก 35 เครือข่ายกู้ภัย จำนวน 175 คน ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนถึงการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ให้กับเครือข่ายกู้ภัยจากทั่วประเทศ ซึ่งตัวแทนเครือข่ายกู้ภัยที่มาเข้าร่วมเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน กล่าวว่าได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปปฏิบัติจริง พัฒนาทักษะการสื่อสารของทีมกู้ภัยให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

         พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการทำงานของกู้ภัยในมิติของสื่อสาร อาจารย์ศิริวัฒน์ คันธารส หัวหน้าโครงการต้นแบบกู้ภัยขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เน้นย้ำว่าโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การทำงานการสื่อสารของกู้ภัยไม่ละเมิดสิทธิของผู้ประสบเหตุ และสามารถพัฒนาทักษะการทำงานด้านการสื่อสารเชิงรุกได้

         ขณะที่ ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพเห็นความสำคัญของการกู้ภัย มีการพัฒนาชมรมและหน่วยงานที่ดูแลด้านกู้ภัยภายในมหาวิทยาลัย คนที่ทำงานด้านกู้ภัยเปรียบเสมือนผู้นำทางความคิดเห็น เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานด้านสังคม เป็น Citizen Influencer ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ช่วยขับเคลื่อนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้านงานกู้ภัย เมื่อกู้ภัยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยมากขึ้น สร้าง Soft Power ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย และการที่คนรุ่นใหม่มาทำงานกู้ภัยมากขึ้น จะเป็นการสร้าง Social Influencer ให้เกิดขึ้นด้วย

         คุณคณิต บุณยพานิช บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS มีมุมมองว่าการสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียของกู้ภัยเป็นเรื่องสำคัญ หากจะส่งข้อมูลไปในทางช่องทางโซเชียลมีเดีย ควรหยุดคิดอย่างน้อยสักสามวินาที หรือหนึ่งลมหายใจ ข้อมูลที่กำลังจะส่งไปใครได้รับผลกระทบบ้าง ผู้ทำงานด้านกู้ภัยมีความสำคัญ เพราะไม่ใช่เพียงกู้ภัย แต่ยังทำหน้าที่ป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

         ตัวแทนเครือข่ายกู้ภัยคนสำคัญ คุณอัญวุฒิ โพธิ์อำภัย อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่าในการทำงานกู้ภัยที่ผ่านมาคำชมคือพลังใจ แต่คำติจะช่วยพัฒนาการทำงาน การเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานด้านกู้ภัยให้มีประสิทธิภาพ อยากให้ตัวแทนกู้ภัยเก็บเกี่ยวความรู้จากการอบรมให้มากที่สุด และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในสถานการณ์จริง

         อาจารย์ศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่าการสื่อสารที่ดีสามารถเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมได้ โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทำงานกู้ชีพกู้ภัยใส่ใจเรื่องการสื่อสาร ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น เราควรจะต้องช่วยกันสร้างแนวทางการสื่อสารของคนทำงานกู้ภัย บ่มเพาะการเรียนรู้ให้กับทีมกู้ภัย มีคู่มือ หรือมีสื่อการเรียนรู้ ให้ตระหนักถึงการรักษาสิทธิ์ของผู้ประสบภัย ออกแบบการสื่อสารในภาวะวิกฤตได้อย่างเหมาะสม ทำให้การทำงานกู้ภัยมีความสร้างสรรค์

         การจัดโครงการเครือข่ายต้นแบบกู้ภัยขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มุ่งหวังเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของเครือข่ายทีมกู้ภัย สร้างการสื่อสารที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ โครงการเครือข่ายต้นแบบกู้ภัยขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

Writer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ