DIAMOND DAYS ONLINE ORIENTATION

เจาะลึกเบื้องหลังเด็ก ม.กรุงเทพ จัดงานปฐมนิเทศออนไลน์ Virtual Event ต้อนรับน้องใหม่

            มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดประสบการณ์ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่รูปแบบ Virtual Event ครั้งแรกของไทยในงาน Diamond Days Online Orientation ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักศึกษาใหม่ ได้สัมผัสความทันสมัยของการผสานความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ทำให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ในยุคใหม่ที่ไร้ขีดจำกัด ให้โอกาสค้นหาศักยภาพและตัวตนที่ชัดเจนเพื่อปูทางสู่อนาคตการเรียนและการทำงานที่สร้างคุณค่าต่อตนเองและสังคม

            การปฐมนิเทศนักศึกษาด้วยรูปแบบ Virtual Event ที่เกิดขึ้นอลังการแสงสีเสียงขนาดนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เนรมิตสร้างสรรค์คอนเซปต์งานออกมาได้สมกับความเป็นเด็กม.กรุงเทพที่มี DNA ความคิดสร้างสรรค์

ทำความรู้จักกับ Project Manager ของงานปฐมนิเทศออนไลน์

            ชวนมาทำความรู้จักพูดคุยถึงความสำเร็จของงานปฐมนิเทศครั้งนี้กับ ทีมพี่นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เริ่มต้นด้วย พี่พีท-วีรภัทร สุขรินทร์ นักศึกษาสาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม ที่รับหน้าที่เป็น Project management ของงานที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้

            เมื่อได้รับโจทย์ของงานนี้มาตั้งแต่แรก ตัวผมไม่รอช้าประสานวางแผนงานแต่ละฝ่าย เพื่อหาหัวหน้างานแต่ละฝ่าย พูดคุยสื่อสารคอนเซปต์ของงานให้ออกมาในทิศทางเดียวกัน ความสนุกคือเราทำงานภายใต้สถานการณ์แบบ New Normal จากงานปฐมนิเทศที่เราเคยเห็นการรวมตัวกันของน้องเฟรชชี่ปี 1 แต่ละคณะได้พบปะพูดคุยกัน ต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีวิกฤตผมจึงมองหาไอเดียจัดงานเล่าเรื่องราวใหม่ให้สนุกกว่าเดิม

พี่พีท-วีรภัทร สุขรินทร์

            ในใจตอนนั้นคิดว่าน้องปี 1 ที่เข้ามาต้องรับรู้ได้ถึงความรู้สึกอบอุ่น ความเป็นกันเอง และใกล้ชิดกับรุ่นพี่เสมือนมาที่งานปฐมนิเทศเหมือนอย่างที่เฟรชชี่ควรจะได้รับ จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์งานในคอนเซปต์ไอเดียกับคำว่า “ไร้ขีดจำกัด” จึงนำเสนอความสนุกนี้ผ่าน Virtual Event ด้วยจอ LCD 360 องศา ที่ทำให้น้องเข้ามาสัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่าอึดอัดเหมือนมีอะไรมากั้น ได้สัมผัสความเต็มอิ่ม ได้อรรถรสแสงสีเสียง แถมงานนี้ไม่ใช่เพียงตัวน้องเองที่ได้สัมผัส คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ได้สัมผัสบรรยากาศการปฐมนิเทศ Virtual Event ผ่านออนไลน์แบบ New Normal นี้ไปด้วย

            มาถึงเรื่องความท้าทายคือการประชุมงาน วางแผนงาน และนำเทคโนโลยีนี้มาให้น้องเฟรชชี่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสนุก ไม่เป็นเพียงแต่เราถ่ายทอดสดออกไปฝั่งเดียว แต่รูปแบบเทคโนโลยีนี้ได้ทำให้เราได้พบหน้าเห็นกันแบบตัวไกลแต่ชิดกันผ่านหน้าจอ เพื่อให้น้องเฟรชชี่และครอบครัวที่อยู่ทางบ้านได้รับรู้ถึงบรรยากาศที่เสมือนมานั่งอยู่หน้าเวที เป็นความตั้งใจที่เราต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อความสุขของทุกคน

งาน Visual Design สุดอลังการ

            พีทบอกต่อว่า ความสนุกอลังการงานสร้างยังไม่หมดขอส่งไม้ต่อให้ส่วนของงานดีไซน์อย่าง Visual Design กับ พี่ราเมศวร์ แสงสมัย และพี่วัตร-ชัยวัฒิ พันวิลัย สองนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากทีม BUCA Talent รับหน้าที่ดูแลออกแบบดีไซน์กราฟิก

พี่ราเมศวร์ แสงสมัย (ซ้าย) และพี่วัตร-ชัยวัฒิ พันวิลัย หรือ วัตร (ขวา)

            เริ่มด้วยหนุ่มหน้ามลยิ้มเก่งอย่างวัตรเล่าถึงไอเดียกราฟิกนี้ว่า เมื่อได้รับโจทย์งานที่ต้องการสื่อถึงความสดใสร่าเริงแบบไร้ขีดจำกัดของน้องเฟรชชี่ ผมจึงตีโจทย์ของงานและสื่อสารกราฟิกโดยใช้ Symbol มาใช้ในการสื่อสารลูกเล่นให้โดนใจวัยรุ่น คิดคีย์อาร์ตของงานดีไซน์เรียบร้อย เราต้องส่งให้ทีมครีเอทีฟและทีมอื่น ๆ ช่วยกันดู เพื่อนำเสนอความคิด และแก้ไขจนกว่าจะลงตัวที่สุด

            เมื่อดีไซน์กราฟิกผ่านได้ลูกเล่นความสวยงามมาแล้ว ต้องมาลองกับหน้าจอ 360 องศา ยังไม่พอความสนุกที่ผมสอดแทรกเข้าไปในงานกราฟิกครั้งนี้คือ แต่ละช่วงของกิจกรรมผมออกแบบลูกเล่นความสนุกเข้าไปด้วยให้มีมิติทั้งน้องทางบ้าน และพี่ที่อยู่ในสตูเองก็เกิดความเซอร์ไพรส์บนจอไปด้วยกัน เป็นการดึงดูดน้องทางบ้านระหว่างการแสดงโชว์ไลฟ์สด สร้างการมีส่วนร่วมไปด้วย

            ส่วน Mood and Tone ของงานก็สำคัญ งานนี้ผมใช้สีเขียวมิ้นต์เป็นสีเทรนด์ที่กำลังนิยม นำขึ้นจอสีสันดูตอบโจทย์ธีมของงานได้ลงตัว ราเมศเล่าต่อว่า การทำงานส่วนนี้ไม่ใช่เพียงมองในมุมมองของกราฟิกเท่านั้น แต่พวกเขาคำนึงถึงฝ่ายอื่นด้วย

            พอนำงานกราฟิกขึ้นจอเซตหน้างานแล้ว ฝ่ายอื่นเห็นว่าต้องปรับ ฝ่ายเขาก็จะปรับเพื่อให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด ทำงานฝ่ายนี้พวกเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น  AR, 3D และ 4D  การทำงานครั้งนี้ท้าทายคนทำกราฟิกมาก เพราะเป็นการทำงานในรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่ต้องสอดแทรกลูกเล่นความสนุกเรียกความตื่นเต้นในรูปแบบใหม่ ถือเป็นทักษะให้พวกเราได้เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้แบบ New Normal ได้อย่างเต็มที่

แสง สี เสียง อลังการงานสร้าง

            เมื่อได้กราฟิกสวยแล้วจะขาดแสงสีไปได้ยังไง เรื่องนี้ต้องมาคุยกับ พี่แบงค์-ธวัชชัย พุทธัญญะ นักศึกษาจากสาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์

พี่แบงค์-ธวัชชัย พุทธัญญะ

            ผมรับหน้าที่ Lighting Designer ไม่เพียงแต่ควบคุมแสงแต่ยังต้องออกแบบแสงอีกด้วยตามคอนเซปต์ของงานไร้ขีดจำกัด ต้องตีโจทย์ให้แตกให้เข้ากับงาน ผมเริ่มวาดแบบสเก็ตภาพของแสงเพื่อให้เห็นทิศทางของแสงและลูกเล่นที่จะใช้ เมื่อเสนอแบบผ่านจึงนำเครื่องมือลงเพื่อติดตั้งหน้างานและปรับมุมองศาให้เข้ากับจอเวทีได้อย่างลงตัว

            แสงสีถือมีส่วนสำคัญในการเพิ่มสีสันและอรรถรสในการไลฟ์สดตั้งแต่เริ่มจนจบ เราวางแผนเซตหน้างานไว้แล้วแต่ในช่วงไลฟ์สดเวลาที่มีพิธีกรหรือแขกรับรับเชิญขึ้นพูด เราต้องคอยดูความพอดีของแสงไม่ให้แย่งซีนดึงสายตาคนชมมากเกินไป

            ในการทำงานตำแหน่งนี้ก็ต้องเรียนรู้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในงานเพื่อให้ราบรื่น นำเสนอออกมาเป็นเรื่องราวธีมเดียวกัน การทำงานที่ต้องเข้าใจฝ่ายอื่น รับฟังความคิดเห็นเพื่อให้งานของเราออกมาดีที่สุด จึงอยากให้น้องรับรู้และสัมผัสถึงแสงสี มูดแอนด์โทนที่พี่ทีมงานตั้งใจสร้างสรรค์ความสนุกนี้ขึ้นมา

Show Director ตำแหน่งที่ขาดไม่ได้

            ฟังพี่เล่าถึงขั้นตอนเบื้องหลังไปแล้วมาถึงตำแหน่งที่ถือว่าสำคัญในการรันกิจกรรมตลอดการไลฟ์สดอย่าง Show Director กับ พี่ต้นหลิว-ชมพูนุช จันทรา นักศึกษาสาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม สาวน้อยยิ้มหวานเล่าถึงหน้าที่ที่ได้รับด้วยความภาคภูมิใจ

พี่ต้นหลิว-ชมพูนุช จันทรา

            การเป็น Show Director คือสตาฟที่ดูแลกิจกรรมบนเวทีและคอยดูแลการปล่อยคิว พร้อมทั้งประสานฝ่ายอื่น ขณะไลฟ์สดไปด้วยความสนุกสนานงานในรูปแบบ New Normal ที่จำกัดจำนวนคน ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงรันงานคนเดียวทั้งหมด 6 วันที่มีความหลากหลายของคณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวันกิจกรรมของแต่ละคณะก็มีการนำเสนอไม่เหมือนกันเลย นี่คือความท้าทายที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั้นคือสติต้องดี ห้ามหลุด ห้ามอ๋องเด็ดขาด เพราะทุกวินาทีคือความสดบนหน้าจอที่เราต้องส่งให้น้องที่เป็นผู้ชมอยู่ทางบ้านได้รับชม

            ทุกวันที่เข้าประจำหน้าเซตเวทีจะตื่นเต้นทุกครั้งเพราะรู้ว่าพลาดไม่ได้เลย แต่ก็บอกตัวเองเสมอว่าเราทำเต็มที่เอาใจใส่ในทุกกระบวนการของกิจกรรมทุกอย่างผ่านไปด้วยดีความสนุกของงานนี้ แต่ละช่วงกิจกรรมผ่านไปด้วยดีสร้างรอยยิ้มความภูมิใจให้กับเรา แม้น้องไม่ได้เห็นเราผู้เป็นเบื้องหลัง แต่เชื่อว่าน้องเฟรชชี่ เขารับรู้ได้ว่าพี่ตั้งทำงานนี้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับน้องเฟรชชี่ปี 1 ทุกคน พี่ยินดีต้อนรับสู่รั้ว BU มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่เต็มไปด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง และความคิดสร้างสรรค์ที่ให้เรากล้าลงมือทำอย่างไร้ขีดจำกัด

Video Director ทีมสตรีมมิ่ง

            มาต่อด้วยคนสุดท้ายถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองผ่านกล้องในมุมที่สวยและลงตัวต้องยกให้ พี่แทน-กฤติพงษ์ เปรมจินดา นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง หนุ่มรุ่นพี่จากทีม BUCA Talent มาสมทบในการทำหน้าที่เป็น Video Director อยู่หน้าจอมอนิเตอร์ควบคุมภาพทั้งหมด การเลือกมุมมองภาพก่อนนำเสนอไปยังผู้ชม เรามีหน้าที่ต้องส่งภาพความสนุกไปให้ถึงน้องที่ดูผ่านยังหน้าจอ ให้เต็มอิ่ม ได้อรรถรสมากที่สุด และมีอารมณ์ร่วมอินไปกับกิจกรรม

พี่แทน-กฤติพงษ์ เปรมจินดา

            ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายเป็นเวลา 6 วันที่ผมนั่งตำแหน่ง Director ผมตั้งใจทำการบ้านทุกวันเพราะเสน่ห์ของแต่ละวันมีความหมาย ทุกคณะและทุกกิจกรรม ผมจึงหาเทคนิคการเล่าเรื่องสไตล์ที่แปลกใหม่ ดูสนุก น่าติดตาม รวมถึงศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ในการควบคุมมุมมองภาพให้ออกมาได้ดีที่สุด ความท้าทายคือการไลฟ์สดแบบไม่มีตัดต่อ การปล่อยคิวที่ยาว เต็มเวลาทำให้เราต้องตั้งสติ และอาศัยการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่เพียงแค่คุมภาพแต่เราต้องรู้พื้นฐานของมุมกล้องการวางเฟรมของภาพ ถ้าเพียงผมคนเดียวก็อาจไม่สำเร็จ โชคดีที่มีน้องจาก BUCA Talent และ Event มาช่วยกัน ทุกคนเต็มที่งานปฐมนิเทศนี้จึงออกมาสำเร็จ และสร้างรอยยิ้มให้ทุกคนมีความสุข

            ฟังแล้วน่าสนุกอยากกลับไปเป็นน้องใหม่ ได้เห็นพวกพี่เขาตั้งใจสร้างสรรค์งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ที่ทำได้แบบเฟี้ยวสุด มอบความสนุก สร้างความสุขผ่านออนไลน์ งานปฐมนิเทศฉบับ Meet from Home ที่ทำให้เกิดเรื่องราวพูดคุยสนุกสนานบนโลกโซเชียลชนิดที่ต้องแชร์ ต้องบอกต่อกันแบบหยุดไม่อยู่เลยทีเดียว

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ