CDE First Gen First Meet สาขาสุดจี๊ด Need Gen ใหม่! นิเทศ ม.กรุงเทพสุดปัง

สาขาใหม่ของนิเทศ ม.กรุงเทพ Creative Content Production and Digital Experience

            “จงมองไปที่ดวงจันทร์ เพราะหากไปไม่ถึงดวงจันทร์ คุณก็จะอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว” อ.เต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวกับน้องใหม่ในงานปฐมนิเทศนักศึกษาสาขา CDE : Creative Content Production and Digital Experience

            บรรยากาศล้ำ ๆ แบบโลกยุคอนาคตและแสงสีเสียงตระการตา ภาพบนจอกับงาน Mapping สุดอลังการ ที่ได้รับการเนรมิตอย่างยิ่งใหญ่ เพียงชั่วข้ามคืน ก็เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดา ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ประสบการณ์ดิจิทัล พร้อมต้อนรับน้องใหม่ นี่คือ งานเปิดตัวและปฐมนิเทศนักศึกษาสาขาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล หรือ Creative Content Production and Digital Experience คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยเรียกเป็นตัวย่อที่เริ่มจะคุ้นหูว่า CDE

            เราขอนำทุกคน มารู้จักกับสาขาน้องใหม่ไฟแรงนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563 สาขา CDE มีการจัดกิจกรรม “CDE : First Gen First Meet” สาขาสุดจิ๊ด Need Gen ใหม่! พบปะพูดคุย และทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกับอาจารย์ และรุ่นพี่สุดแซ่บอย่างสนุกสนาน

            วินาทีต่อจากนี้ไปการเดินทางสู่ความล้ำยุคกำลังจะเริ่มต้นขึ้น เราสังเกตเห็นบรรดาน้องใหม่มาในชุดธีมสีม่วง-เหลือง รอคิวยาวเข้าห้องปฐมนิเทศอย่างกระตือรือร้น งานปฐมนิเทศในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของรุ่นพี่จากหลายสาขาและคณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ทุกท่าน ที่มาร่วมต้อนรับน้องใหม่กันอย่างอบอุ่น

Creativity + Technology

            เริ่มงานปฐมนิเทศ เป็นโอกาสที่ดีที่น้องใหม่จะได้พบกับ อ.เต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            อ.เต้ย บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของหลักสูตร CDE ที่ผสมผสานเทคโนโลยีแห่งอนาคตและยังเป็นเป็นหลักสูตรที่สร้างไลฟ์สไตล์ ยุคดิจิทัลได้หลากหลายรูปแบบว่า “เทคโนโลยีที่เราจะเอามาสอนในหลักสูตรนี้ ใหม่มาก จนบางครั้ง ณ ตอนนี้ เทคโนโลยีนั้นอาจจะยังไม่เกิด ระหว่างที่เรียน 4 ปี ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่อะไรเกิดขึ้น เราจะเอามาสอน เทคโนโลยีในสาขา CDE จะเป็นเทคโนโลยีที่ออกมาจากจอ เป็นเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น เราจะเรียนรู้เพื่อผลิตสื่อที่ไม่ได้อยู่แค่ในจอสี่เหลี่ยมอีกต่อไป แต่จะอยู่ทุกที่รอบตัวเรา”

            ขณะที่น้องเซิฟ หนึ่งในนักศึกษาสาขา CDE บอกถึงแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนว่า “ชอบในด้านที่เป็นเทคโนโลยีอยู่แล้ว พอเห็นว่ามีสาขาใหม่ ก็มั่นใจว่า BU จะให้ประสบการณ์ดิจิทัลจริง ๆ ให้เราได้ ในด้านที่เป็นเทคโนโลยี”

            อ.เต้ย ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีของอนาคตให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ว่า “แว่นตาของอนาคตอาจจะช่วยให้เราหารองเท้าได้ ป้ายโฆษณาอนาคตจะติดเซนเซอร์ เมื่อเราเดินผ่านรู้ได้เลยว่า เรากำลังหารองเท้าอยู่ Immersive technology หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เทคโนโลยี AR (ย่อมาจาก Augmented Reality) และเทคโนโลยี VR (ย่อมาจาก Virtual Reality) อาจจะดูเหมือนว่าได้เห็นแต่ในภาพยนตร์ ในความเป็นจริงเรื่องพวกนี้กำลังจะกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวเรา โดยเฉพาะช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา เป็นเหมือนเชื้อเร่งให้มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีพวกนี้ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจอาจารย์ตอนทำหลักสูตร”

เด็ก CDE เด็กแห่งโลกอนาคต

            เมื่ออนาคตออกแบบได้ และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสื่อสารพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ อ.เต้ย ย้ำว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา คือ เด็กแห่งโลกอนาคต

            “เทคโนโลยีที่เราจะเรียนรู้กัน เป็นเทคโนโลยีของอนาคต เด็ก CDE คือ คนของอนาคต เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยบางอย่างอาจจะยังมาไม่ถึง แต่เราเตรียมเด็กเอาไว้ อาจารย์เตรียมพวกเราไว้ ให้มี Mindset ให้มี Creative Idea และพอเทคโนโลยีเหล่านั้นมาถึง เราจะรู้วิธีสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีเป็น Create Content ได้ หรือทำธุรกิจได้ ที่อาจารย์มาวันนี้ เพราะอยากมาเห็นหน้าคนของอนาคต และเด็กที่นั่งอยู่ในห้องนี้ ไหวตัวทันว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นผู้กล้าที่เข้ามาเลือกเรียนในสาขานี้”

            เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของเด็ก CDE เราจึงมองไกล มองไปยังอนาคต “จงมองไปที่ดวงจันทร์ เพราะหากไปไม่ถึงดวงจันทร์ คุณก็จะอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว คือขอให้เป็นเด็กที่มี ambition มีความทะเยอทะยาน มี Passion ขอให้มองให้ไกลเกินกว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้ายังไปไม่ถึงดวงจันทร์ ไม่เป็นไรครับ คุณจะไปลอยอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว นี่คือลักษณะของเด็กสาขานี้ที่อาจารย์นั่งคิดอยู่ในหัวว่า เด็กเหล่านี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร วันนี้อาจารย์เห็นแล้วครับ นั่งอยู่ในห้องนี้ ปรบมือให้ตัวเอง นี่คือผู้กล้าของอาจารย์”

            อ.เต้ย ยังบอกว่า “เป็นความภูมิใจของคณะนิเทศศาสตร์ ที่เราได้เปิดสาขานี้เป็นปีแรก ถือเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีคนเข้ามาร่วมเรียนกันเยอะมาก เราจะมาเรียนรู้ศาสตร์ของอนาคต พวกเราเข้ามาอยู่ตรงนี้เหมือนเข้ามาอยู่ในยานอวกาศ ที่เรากำลังจะเรียนรู้ และพาตัวเองเดินหน้าไปไกลกว่าคนอื่น ๆ รับมือกับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้”

เรียนรู้แบบ Project-based Learning

            วิธีการเรียนรู้แบบเด็กรุ่นใหม่ คือการเรียนรู้ที่ท้าทาย สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง “อาจารย์อยากให้พวกเราเรียนรู้กันในรูปแบบ Project-based Learning เราจะเรียนรู้กันผ่านโจทย์ ผ่านหัวข้อในโลกความเป็นจริงที่ท้าทาย เราเข้าห้องเรียนเพื่อรับโจทย์ อาจจะไม่ใช่สัปดาห์ละครั้ง บางสัปดาห์อาจจะเรียนรู้ต่อเนื่องยาว เพราะทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิดเห็น ทำ Design Thinking หัวข้อพวกนี้ เราจะได้เรียนกัน ได้เอามาใช้กัน เพราะพวกเราต้องพร้อมรับและเรียนรู้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง”

            “เมื่อเราเจอโจทย์ที่ท้าทาย เราจะมีกระบวนการคิดอย่างไร เราจะได้ค้นพบสิ่งที่ล้ำยุค ได้เรียนรู้เทคโนโลยี ได้ฝึกฝนการคิด ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเขาคิดไม่ทัน เขาคิดไม่ออก เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน เราต้องล้ำนำเทคโนโลยี เราถึงจะใช้มันได้ เรื่องของ Design Thinking, Creative Idea เรื่องการทำงานร่วมกันจึงต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะต้องบ่มเพาะกัน เรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดโปรเจคจากโจทย์ที่ท้าทาย นี่คือกระบวนการเรียนการสอนที่ออกแบบให้มีความเป็น Project-based Learning และเราจะมีโปรเจคนำร่องให้ก่อน อยากให้เราสนุกกับการเรียนรู้ให้มากที่สุด”

ไขข้อข้องใจกับสาขาใหม่ของคณะนิเทศศาสตร์

            หลังจากฟังการแนะนำเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตรแล้ว กิจกรรมในวันนี้น้อง ๆ ยังได้ถามตอบข้อสงสัยจากอ.เต้ย อย่างใกล้ชิด หนึ่งในคำถามที่น้องใหม่สนใจคือ

สาขานี้เราจะมีการเรียนรู้การทำ Mapping ไหม ?

            คำตอบจาก อ.เต้ย  คือ “ที่เห็นอยู่ในห้องนี้คือการทำ Mapping เดี๋ยวจะมีรุ่นพี่เบอร์หนึ่งตัวจี๊ด ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่เจมส์ มาให้ทำความรู้จัก และเรียนรู้การทำ Mapping”

จบสาขานี้แล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?

            คำตอบ จากคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ คือ “ในงานที่เราคุ้นเคยกันของเด็กนิเทศ เช่น ทำงานทีวี อยู่วงการโฆษณา ทำ Agency โฆษณา การแสดง และทำงานอีเว้นท์ สำหรับอาจารย์มั่นใจว่าพวกเราทำได้หมดครับ คนที่ผ่านหลักสูตร CDE ทำงานสายนิเทศศาสตร์ได้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะในหลักสูตร เราสอนทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น การถ่ายทำ การเขียนบท การตัดต่อ การโปรดิวซ์ การขายไอเดีย การเป็นพิธีกร การเล่าเรื่อง เรื่องเหล่านี้เป็นเบสิค ส่วนสาขา CDE มีหมัดน็อคคือเทคโนโลยีล้ำ ๆ นี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก”

            “เราจะได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากกว่าสาขาอื่น ๆ เช่น เรื่อง Mapping เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้อยู่ในจอ เพราะไป Mapp กับผนัง Mapp กับตึกเพชร Mapping สามารถสร้างภาพลวงตาที่ตื่นตาตื่นใจ เหนือจริงให้เราเห็นได้ เรากำลังผลิตสื่อที่อิงกับการใช้เทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งไม่ได้แค่นำเสนอในจอเท่านั้น แต่อยู่ทุกที่รอบตัวเรา ชื่อของสาขานี้จึงมีคำว่า ประสบการณ์ดิจิทัล (Digital Experience) เป็นประสบการณ์ในโลกอนาคตที่สื่อวิ่งเข้าหาเรา เด็ก CDE จะเป็นแนว Idea คิด ดีไซน์ เราสามารถเป็น Project Manager ที่จะสามารถคิดสร้างสรรค์หรือออกแบบประสบการณ์ดิจิทัลที่น่าตื่นเต้นได้”

พบรุ่นพี่ สานฝันประสบการณ์ดิจิทัล

            อีกหนึ่งสิ่งที่น้อง ๆ หลายคนรอคอย คือ โอกาสพบ และพูดคุยกับรุ่นพี่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มจาก พี่เจมส์-ฐานวัฒน์ ธนาเลิศวสุนนท์ รุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญงานด้าน Mapping ที่เกิดจากความชอบ ความสนใจ ศึกษาเรียนรู้ และทดลองทำ อีกทั้งยังได้มีโอกาสทำงาน Mapping ในงานสำคัญให้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพมากมาย เช่น งาน Open House และงานความร่วมมือ (MOU) มหาวิทยาลัยกรุงเทพกับองค์กรภายนอกชั้นนำมากมาย

            สิ่งที่ “พี่เจมส์” พูดบนเวทีวันนั้นคือ “เคล็ดลับในการปลุกไฟในตัวเอง ของพี่เจมส์ คือการดูงานเยอะ ๆ หาอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาท้าทายความสามารถของตัวเอง และเริ่มต้นทำเลย ในระหว่างทางมันอาจจะรู้สึกเหนื่อย หรือท้อไปบาง แต่ถ้าเรามองไปถึงปลายทาง คือการได้เห็น reaction จากคนที่ดูงานของเรา นั่นแหละมันคือ ความสุข ที่ทำให้เราอยากทำมันต่อไปเรื่อย ๆ”

            ตามมาด้วยการทำความรู้จักกับกลุ่มกิจกรรมในรั้วคณะนิเทศศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ กลุ่มรุ่นพี่ BUCA Talents และรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์อีกมากมาย ยกทัพกันมาทำกิจกรรมสันทนาการ ละลายพฤติกรรม แบบรักษา Social Distancing ได้แก่ รุ่นพี่จากสาขาการประชาสัมพันธ์ สาขาการโฆษณา สาขาการสื่อสารแบรนด์ สาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล สาขาศิลปะการแสดง สาขาการผลิตอีเว้นท์และการจัดนิทรรศการและการประชุม สาขาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง และสาขา Innovative Media and Production พาเหรดกันมาแบบจัดเต็มขนาดนี้ ไม่เสียชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จริง ๆ !!!

เปิดตัวคุณแม่ เจ๊ดัน…ของเด็ก CDE

            ปิดท้ายงานด้วยการแนะนำคุณแม่ของน้องใหม่ทุกคน คือ อ.ลูกบอล-อาจารย์พัชราพร ดีวงษ์ หัวหน้าหลักสูตรการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล ที่ได้มากล่าวต้อนรับน้อง ๆ อย่างอบอุ่น “ขอต้อนรับเด็ก CDE รุ่นแรก และเราหวังว่าคุณจะมาสร้างเซอร์ไพรส์ดี ๆ ให้เราค่ะ” ยิ่งไปกว่านั้น อ.ลูกบอลพร้อมสนับสนุนงานทุกด้านที่เด็ก CDE อยากทำ และพร้อมจะดันทุกโปรเจคสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่

            “ครูจะดูแลพวกคุณเหมือนเป็น คุณแม่ ประจำบ้าน CDE มีปัญหาอะไรขอให้บอก ขอให้มาปรึกษา ถ้าครูช่วยได้ ครูยินดีช่วยเต็มที่ งานแบบไหนที่สนใจ Project แบบไหนที่อยากทำ ใช้พื้นที่ CDE ในการปล่อยไอเดีย สร้างสรรค์พัฒนาและเรียนรู้ เติมทักษะแบบ Project Based Learning ได้อย่างเต็มที่” อ.ลูกบอล กล่าวปิดท้ายงานปฐมนิเทศ

            เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ทุกคนคือเด็กแห่งโลกอนาคต เหมือนดังคำที่อ.เต้ยกล่าวไว้ว่า “เด็ก CDE จะเป็นคนแห่งอนาคต ที่สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าคนอื่น ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแค่ไหนก็ตาม เพราะเราจะโค้ชให้คุณเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์เนื้อหาที่ไม่ยึดติดกับ platform ใด Platfrom หนึ่ง พร้อมทั้งติดอาวุธทางด้านเทคโนโลยี ในการสร้างประสบการณ์ดิจิทัล ที่ทุกคนต้องตื่นตาตื่นใจ”

            CDE คือ สาขาใหม่ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่จะสร้างนักคิด นักผลิตเนื้อหา นักออกแบบประสบการณ์ดิจิทัลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับทักษะด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต

            เราขอเฝ้ารอดูการเติบโตอย่างมีคุณภาพของน้องใหม่หรือเพื่อนใหม่ที่จะก้าวไปเป็นเด็กแห่งอนาคต สามารถรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญพวกเขาไม่หยุดที่จะเรียนรู้และสนุกกับประสบการณ์ใหม่ที่เข้ามาท้าทายอยู่ตลอดเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ สาขาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : www.facebook.com/CDEBUCA

Writer

ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังสือ หนังสือเล่มนี้ภายนอกอาจดูไม่ค่อยน่าสนใจนัก แต่เมื่อคุณลองเปิดอ่านแล้ว คุณจะเจอสีสันโทนสีแปลกตา เป็นหนังสือที่จะพาคุณไปเจอกับมุมมองใหม่ ๆ

Writer

คิดเสมอว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น จะทำให้มัน “ดีขึ้น” อีกได้อย่างไร

Writer

กล้าคิดกล้าทำ ในสิ่งที่ชอบ

Writer

จงคิดถึงสิ่งสวยงามที่ยังคงอยู่รายรอบตัว และมีความสุขไปกับมัน

Writer

ชีวิตยังมีอะไรอีกเยอะ อย่าหยุดอยู่กับอะไรเดิม ๆ

Writer

อยากเป็นคนเก่งต้องคิดนอกกรอบ แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องคิดนอกกระดาษ ไอสไตน์ไม่เคยกล่าว

Writer

การเขียนเหมือนกับการนอนใต้ต้นไม้ใหญ่ท่ามกลางพื้นหญ้าที่แสนสงบสุข ก็เพราะว่ามันไม่เคยน่าเบื่อเลยสักครั้ง

Writer

ไม่มีอะไรที่วงศ์ชนกทำไม่ได้

Writer

คนเราเกิดมาชีวิตเดียว อยากจะทำอะไรก็ทำ

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว