งานแฟชั่นสุดปัง! สุดสร้างสรรค์ ของเด็ก ม.กรุงเทพ ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี

ผลงานแฟชั่นสุดสร้างสรรค์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ หรือ Bangkok Design Week กันมาแล้ว ซึ่งปี 2563 ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 มหกรรมการออกแบบแห่งกรุงเทพ เปิดให้ผู้ชมได้สนุกสนานไปกับการดูงานดีไซน์สร้างสรรค์ เพื่อเติมแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนที่มาชมในงาน มีงานออกแบบหลากหลายรูปแบบ

            เราได้ข่าวมาว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้นำแฟชั่นโชว์ชื่อชุดว่า To Be Strecient Way, Housekeeper High-tech 2020, Bimbo Dumb Barbie และ JE CREVE CHAUD โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำให้ชุดสุดตื่นตาตื่นใจ ภายใต้โชว์ชื่อว่า NIGHT OF RESILIENCE

            ขอพาทำไปความรู้จักกับ 4 รุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ออกแบบชุดแฟชั่นสุดปัง พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากอะไรถึงได้ออกแบบชุดได้สุดแนว และได้เฉิดฉายในงาน Bangkok Design Week 2563

To Be Strecient Way

Inspiration & Concept

            พราว-อภิสรา พรปรีชาธนกุล เจ้าของชุด To Be Strecient Way กล่าวว่างานชิ้นนี้คอนเซ็ปต์เริ่มจากการที่ได้ไปเดินที่สิงคโปร์ แล้วชอบถนนแห่งหนึ่งชื่อว่าถนนฮาจิเลน ถนนนี้มีจุดเด่นเรื่องกราฟิก และมีศิลปินหลายคนได้มาเขียนไว้ ก็เลยเลือกมาหนึ่งกราฟิกที่ชอบมากที่สุด คือกราฟิกเกี่ยวกับชนเผ่ามายา เราก็เลยไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่าว่าในชนเผ่านี่มีอะไรบ้าง วัฒนธรรมเขาเป็นยังไง สัญลักษณ์เขาเป็นยังไง สามารถนำมาใช้กับงานเราได้ยังไงบ้าง และเทคนิคที่ใช้ก็จะเป็นในรูปแบบของกราฟฟิก แล้วค่อยนำมาปริ๊นต์เป็นลายผ้า ส่วนคอนเซ็ปต์ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี เราจะใช้หมึกที่โดนน้ำแล้วเปลี่ยนสีได้ เปรียบเสมือนว่าเราเอาพู่กันมาทาสีบนกำแพงแล้วจะมีลายออกมา

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

            ขั้นตอนแรกเลยคือเราต้องหาเรื่องที่เราสนใจ หรืออยากทำมาก่อน พอหาได้แล้วเราก็ต้องมาเจาะลึกลงไปอีก ว่าเรื่องของเรามาทำอะไรกับน้ำแล้วนำมาเล่นเป็นเทคนิคได้ในงานของเรา และมาคิดว่าเทคนิคที่เราใช้จะออกมาในรูปแบบไหนบนชุด หาทรงเสื้อที่เราจะใช้ พอได้แล้วเราก็เริ่มสเก็ตช์ชุดให้เรียบร้อยว่าเราจะใช้เทคนิคอะไร จากนั้นเราต้องเลือกผ้าเพื่อมาตัดเป็นชุด และหลังจากตัดเสร็จเราก็นำเอาชุดมาใส่เทคนิคที่เราได้คิดไว้

จุดเด่นของงาน

            จุดเด่นของงานเราก็คือการที่เราสกรีนหมึกลงไป พอหมึกโดนน้ำ หมึกก็จะล่องหน ทีนี้เราก็จะเห็นเป็นลายผ้าที่เราได้สกรีนค้างไว้ เราจะสกรีนลายทับไว้อีกรอบ อันนี้แหละคือจุดเด่นของชุดเราเลย และลายของเราที่คิดขึ้นมาก็จะให้เข้ากับปี 2020 นี้

ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

            น่าจะตอบโจทย์กับรุ่น Gen Y นี่แหละเพราะว่ามันเป็นชุดแนว Street วัยรุ่นหน่อย ๆ ก็จะตอบโจทย์กับคนอายุ 20-30 ประมาณนี้มากกว่า

ความคาดหวัง

            มันไม่ใช่ความคาดหวังนะ แต่เป็นความอยากพัฒนามากกว่า คืออยากพัฒนาให้เป็นชุดที่แบบว่าใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ ได้ อาจจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ก็ได้ มันก็อาจจะดูดีไปอีกแบบ พอสาดน้ำมาโดน แล้วชุดเราสามารถเปลี่ยนสีเป็นลายได้

เทคโนโลยีมีความสำคัญกับแฟชั่น

            คิดว่าเทคโนโลยีกับแฟชั่นมันต้องพัฒนาควบคู่กันไปเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าถ้าเราใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ อยู่ มันอาจจะทำให้การทำงานช้าหรือผลิตไม่ทัน เราเลยต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อทำให้แฟชั่นดูน่าสนใจมากขึ้น และงานเสร็จไวขึ้น พอต่อจากนี้ก็จะทำให้ผู้คนเห็นว่าเทคโนโลยีกับแฟชั่นก็สามารถเข้ากันได้ แฟชั่นไม่ใช่จะต้องทำได้แค่บนผ้าเท่านั้น

อุปสรรคที่ได้เรียนรู้

            อุปสรรคตอนแรกเลย คือการนำเสนอเรื่องกับอาจารย์ไม่ผ่าน อุปสรรคในการตัดเย็บ เพราะเราเป็นคนที่ตัดเย็บไม่เก่ง หรือเราอาจจะต้องมีตัวช่วย เช่น การจ้างช่างเพื่อให้เขาช่วยในการแก้ปัญหา

Housekeeper High-tech 2020

Inspiration & Concept

            ต๊ะ-ลลิตา อาจะ เจ้าของชุด Housekeeper High-tech 2020 เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจของเรามาจากแม่บ้านในปัจจุบัน หรือการหาอะไรสักอย่างที่มันเกี่ยวกับเทคโนโลยี แล้วได้ความสนใจจากแม่บ้านที่เป็นหนังในสมัยก่อนที่ดังมาก ๆ คือเรื่อง สมศรี 422R คือเป็นหนังเรื่องแรกของไทยที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ เราเลยคิดว่ามันน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราทำ

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

            มีการส่งลายผ้าเพื่อหาข้อมูลของลายผ้าว่า ในหนังเป็นลักษณะแบบไหน มีอะไรบ้าง ส่วนมากที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือความเป็นจุดเด่นของลายผ้าที่เราได้นำมาทำให้ทันสมัยมากขึ้น ทันเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเช่น การปริ๊นต์ลายผ้าที่เราไม่ต้องเอาผ้าลูกไม้ที่มีขายทั่วไปอยู่แล้วมาทำ แต่เราจะเอาผ้ามาปริ๊นต์ลายเหมือนลูกไม้ให้ดูหวาน ๆ น่ารัก แล้วเราก็นำเทคโนโลยีที่คล้าย ๆ กับการดึงผ้าม่านมาใช้ โดยติดกลไกไว้ตรงกระโปรงเพื่อสามารถดึงกระโปรงให้สูงขึ้นได้ แม่บ้านในสมัยนี้จะเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้น

จุดเด่นของงาน

            จุดเด่นของงานเป็นวัสดุที่ใช้ และเทคโนโลยีที่นำมาประกอบ พวกโครงสร้างชุดนำมาจากในหนังเรื่อง สมศรี 422R เลย ส่วนลวดลายอื่น ๆ ก็นำมาจากในหนังเหมือนกัน ซึ่งในเรื่องผ้าเป็นลายสกอต เราก็นำมันมาปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่น การทำผ้าเป็นลายดอกไม้ที่ไม่ใช่การนำผ้าลูกไม้มาทำ แต่ใช้การปริ๊นต์ลายแทน

ตอบโจทย์คนกลุ่มเป้าหมาย

            ตอบโจทย์กลุ่มแม่บ้านอย่างเดียว แต่ถ้าจะให้ตอบโจทย์กับกลุ่มอื่นด้วยก็จะเป็นสไตล์ออกแซ่บ ๆ แฝงความเซ็กซี่น่ามองของผู้หญิงอยู่บ้างนิดหน่อย

ความคาดหวัง

            ความคาดหวังของเราคืออยากทำชุดให้มันแซ่บขึ้นมากกว่านี้ เพราะเนื่องจากสีของชุดมีความหวานอยู่แล้ว แต่ความแซ่บยังไม่มากพอ เราทำได้แค่ปรับแก้แบบให้กระโปรงดูสั้นขึ้น ไม่ยาวจนทำให้ชุดดูน่ารักเกินไป

เทคโนโลยีมีความสำคัญกับแฟชั่น

            ปัจจุบันการที่นำเอาเทคโนโลยีมารวมกับแฟชั่นมันมีความน่าตื่นเต้น และมีความแปลกใหม่อยู่เรื่อย ๆ เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราสบายขึ้น อย่างเช่น รองเท้าที่ใส่แล้วดูสบาย ไม่ร้อน รองเท้าไม่กัด เหมือนกับเสื้อผ้าที่เวลาอากาศร้อนมาก ๆ แต่พอเรานำเทคโนโลยีมาใช้ อย่างเช่น ชุดใส่แล้วระบายอากาศ ก็ทำให้ไม่ร้อนจนเกินไป และยังช่วยทุ่นแรง ทุ่นเวลา อารมณ์เราเวลาเจออากาศร้อนแล้วทำให้หงุดหงิด ก็จะช่วยให้บรรเทาลง ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

อุปสรรคที่ได้เรียนรู้

            จะมีเรื่องการปริ๊นต์ลาย การทำลายผ้าที่ค่อนข้างจะวุ่นวายนิดหนึ่ง เพราะว่าเราต้องเอาลายเก่ามาทำใหม่ให้มันไม่เหมือนแบบเดิม แต่ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ และทำให้มันดูทันสมัยมากขึ้น

Bimbo Dumb Barbie

Inspiration & Concept

            ยีนส์-สิริมา จารุวัตร เจ้าของ ชุด Bimbo Dumb Barbie ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาบาร์บี้ เพราะเป็นตุ๊กตาที่ผู้หญิงชอบและเป็นตุ๊กตาในอุดมคติของผู้หญิงหลาย ๆ คน ซึ่งตุ๊กตาบาร์บี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค 50 เป็นตุ๊กตาที่ยอดนิยมมาก และมียอดขายสูงมาก ซึ่งเมื่อมาอยู่ในยุคของเรา ผู้หญิงสมัยนี้จะคิดว่าบาร์บี้เป็นตุ๊กตาที่มีความสมบูรณ์แบบทั้งรูปร่าง ทั้งหน้าตา ส่วนคอนเซ็ปต์ เราคิดว่าผู้หญิงสมัยนี้เป็นผู้หญิงที่รักความสวยงาม ชอบทำศัลยกรรม อยากได้หน้าตาที่สวยแบบบาร์บี้ ก็เลยหยิบเอาตรงนั้น ยกเอาตรงนี้ มาใช้เป็นคอนเซ็ปต์เลยก็แล้วกัน แล้วก็นำมาผสมกับบาร์บี้ พอชุดที่ได้ออกมาก็จะเป็นชุดที่มีความน่ารัก และเรายังหยิบช่วงยุค 90 อย่างวง Spice Girls มาทำให้เป็นชุดผู้หญิงที่มีความขี้เล่นด้วย

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

            เริ่มแรกก็คือเราต้องคลิกแรงบันดาลใจก่อนเลย อย่างที่สองเราต้องหาเทคนิคว่า เราใช้เทคนิคไหนได้บ้างในการทำชุด อย่างที่สามก็คือการสเก็ตช์ภาพออกมาตามหัวข้อที่เราคิดไว้ อย่างที่สี่เราก็ต้องทำตัวอย่างชุด และอย่างที่ห้าก็คือเริ่มตัดชุดจริง ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการที่เราต้องหานางแบบให้เข้ากับของชุดเราด้วย

จุดเด่นของงาน

            ด้วยความที่เราต้องทำเป็นอินโนเวชั่น (innovation) และอินโนเวชั่นของเรามีอยู่ประมาณ 3 อย่าง อย่างแรกคือ เป็นเม็ดบีตพลาสติกที่นำมาละลายด้วยความร้อน เพื่อเอามาทำเป็นตัวตุ๊กตาเล็ก ๆ บนเสื้อผ้า อย่างที่สองคือ เราทำเป็นไฟ LED ติดบนชุด และอันที่สามก็คือ เป็นลำโพงที่สามารถเปิดจากในชุดได้ แล้วชุดของเราก็เป็นขนเฟอร์ ปักด้วยเทคนิคที่เป็นเม็ดบีตที่เราได้เอามาทำการละลายเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นคำล้อเลียนเสียดสี หรือเป็นคำต่าง ๆ ติดไว้บนขนเฟอร์ ส่วนตัวเสื้อข้างใน ใช้เป็นเทคนิค โดยการเย็บแล้วก็เอาเสื้อไปรูดเป็นรูปหัวใจเหมือนกับการดึงไหมเวลาที่เราทำศัลยกรรม กระโปรงก็จะทำเหมือนกันคือ เราจะใช้เทคนิคการดึงสายรูดขึ้นมาให้เป็นกระโปรง

ตอบโจทย์คนกลุ่มเป้าหมาย

            เราคิดว่าตอบโจทย์กับรุ่น Gen Z ที่เป็นพวกเด็กที่มีความซน สนุกสนาน และชุดของเราก็ออกแบบมาเพื่อให้ใส่ออกงานได้ อย่างเช่น งานดนตรี หรืออาจจะเป็นปาร์ตี้ เพราะชุดของเราเปิดได้ทั้งเพลง ทั้งไฟ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะเด่นมาก ๆ เวลาใส่ไปออกงาน

เทคโนโลยีมีความสำคัญกับแฟชั่น

            ต้องบอกก่อนเลยว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญกับแฟชั่นมาก ๆ เพราะว่าอินโนเวชั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะเอาอะไรก็ได้มาทำในเสื้อผ้า แต่อินโนเวชั่นต้องมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งชุดของเรามันค่อนข้างตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในช่วง Gen Z ที่เราได้เลือกมาเป็นกลุ่มเป้าหมาย แล้วก็สามารถหยิบมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

อุปสรรคที่ได้เรียนรู้

            ด้วยความที่บาร์บี้มันไกลตัว การรีเสิร์ชเลยค่อนข้างยาก เพราะบางครั้งแรงบันดาลใจของเราเป็นนามธรรมมาก เราจึงต้องคิดว่าจะทำยังไง จับประเด็นตรงไหนให้มันเป็นรูปธรรม แล้วสามารถนำมาดีไซน์ออกมาเป็นชุดได้

JE CREVE CHAUD

Inspiration & Concept

            ป๊อป-พรธีรา รัตนพงษ์ เจ้าของชุด JE CREVE CHAUD กล่าวว่า Heat Wave หรือคลื่นความร้อน ซึ่งเป็นข่าวที่ดังมากในทวีปยุโรป เราเลยดึงแรงบันดาลใจจากเมืองปารีสในประเทศฝรั่งเศสมา และคลื่นความร้อนรอบนี้เป็นวิกฤตที่ทำให้คนเจอคลื่นความร้อนจนเกิดลมแดดมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา เราเลยอยากให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าเราทำอะไรกับโลก แล้วโลกส่งผลมาหาเรายังไง

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

            หลังจากเราได้ Inspiration และได้ค้นคว้าลึกมากขึ้นแล้ว เราก็เอาดีเทลมาบวกกับเทรนด์ในปี 2020 ว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ทำลายผ้าที่สอดคล้องกับเทรนด์ ลายของชุดที่เห็นเป็นลายแผนที่แสดงพื้นที่โลก และแสดงเหมือนเป็นอุณหภูมิที่บอกว่า จุดนี้ร้อน จุดนี้เย็น และทำให้มี movement โดยกางเกงข้างในที่เป็นเลกกิ้ง พอบวกกับคลื่นความร้อน ก็เป็นภาพเสมือนว่า เวลาโดนความร้อนแล้วมีไอขึ้นมาเป็นภาพเบลอ ซึ่งเราก็เอามา adapt เป็นลายผ้า

จุดเด่นของงาน

            คนจะได้เห็นแฟชั่นในรูปแบบใหม่ที่มีนวัตกรรมผสมด้วย แต่สำหรับชุดนี้จะต้องใช้ AR สแกน คือชุดจะเป็นแบบปกติ แต่พอสแกนแล้วจะเห็นลายผ้าของชุดเป็นโมเดล 3 มิติ

ตอบตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

            จะเป็นคนแนวแอคทีฟ แนวสปอร์ต และคนที่มีความมั่นใจ เพราะลายผ้าเป็นแบบลายชนลาย อาจจะใส่ยากในชีวิตจริงนิดหนึ่ง อาจใช้ได้จริงแต่ไม่ได้เป็นชุดสำหรับขายขนาดนั้น เพราะงานนี้เป็นโปรเจ็กต์ของนักศึกษามากกว่า แต่ถ้าเรานำลายผ้ามาประยุกต์กับชุดที่สามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ ก็อาจจะขายได้

เทคโนโลยีมีความสำคัญกับแฟชั่น

            ในคอลเลกชั่นนี้ช่วยทำให้แฟชั่นมีมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น และทำให้คนคิดว่าอินโนเวชั่นก็มาอยู่ในชุดแฟชั่นได้เหมือนกัน

อุปสรรคที่ได้เรียนรู้

            จะเป็นช่วงของการค้นคว้า บางครั้งเราค้นไม่ลึกมากพอ ทำให้เราทำงานต่อไม่ถูก มีคิดไม่ออกเล็กน้อย เราเลยต้องค้นเพิ่ม และต้องนำมา adapt กับงานเทคนิค เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่บวกอินโนเวชั่นเข้ามา ทุกคนอาจจะงงเล็กน้อยว่า เราจะนำอินโนเวชั่นมาใส่ในแฟชั่นนี้ได้ยังไง

            เห็นแล้วว่า ในปัจจุบันแฟชั่นกับเทคโนโลยีกำลังเริ่มมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีกับแฟชั่นมารวมกันก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ และเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของดีไซเนอร์ ดังเช่นงานแฟชั่นในครั้งนี้ที่ทำให้เห็นว่า เด็กมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความเป็นมืออาชีพ ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความสามารถ และจะกลายเป็นดีไซเนอร์ไฟแรงของวงการแฟชั่นต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ชีวิตก็เหมือนกล้องถ่ายรูป โฟกัสเฉพาะจุดที่สำคัญแล้วเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์เอง

Writer

เป็นคนชอบถ่ายรูป เพราะการถ่ายภาพทำให้เราผ่อนคลาย และเป็นงานอดิเรกที่สามารถเยียวยาจิตใจ

Photographer

ศิลปะก็คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ที่เหลือก็อยู่ที่คุณเอง จะมองเห็นหรือเปล่า

Photographer

เด็กนิเทศที่ชอบออกไปข้างนอก พบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย วัน ๆ อาจจะไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้ามีงานให้ทำก็เต็มที่ไปกับมัน ถึงนิสัยจะบ้าหน่อย แต่ก็รักการถ่ายรูป