รู้จักหนุ่มหล่อสุดฮอตว่าที่นักกฎหมาย พี่เอ็ม-ณัฐภัทร สุกิจพิรยพันธุ์

พูดคุยกับรุ่นพี่นักศึกษาประธานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เปิดอีกมุมมองชีวิตของเด็กนิติศาสตร์ กับหนุ่มสุดฮอต ดีกรีประธานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่เอ็ม-ณัฐภัทร สุกิจพิรยพันธุ์ ขวัญใจของชาวบียู พี่เอ็มเผยความในใจ ชีวิตเด็กนิติไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน

ทำไมต้องคณะนิติศาสตร์ ทำไมต้องมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            พี่เอ็มเล่าถึงเส้นทางชีวิตก่อนตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ฟังว่า ตอนมัธยมพี่เอ็มเคยไปแคสงานในวงการบันเทิงมาก่อน เคยถ่ายซีรีส์ เคยถ่ายแบบ แต่สุดท้ายก็รู้ว่ามันไม่ใช่ทาง เพราะมาเจอสิ่งที่ตัวเองชอบและอยากที่จะเรียนรู้ต่อไปนั่นก็คือ “กฎหมาย”

            เริ่มแรกเลย พี่เคยเรียนเกี่ยวกับวิชากฎหมายมาตั้งแต่อยู่มัธยมปลายแล้ว เคยได้ลองเรียนกฎหมายแล้วรู้สึกว่าชอบ เรียนแล้วมันมีความสุข อยากรู้ต่อ เช่น เรียนเรื่องทรัพย์สิน เราอยากเรียนเรื่องธุรกิจต่อ มันรู้สึกอยากเรียนต่อ ทีนี้ก็เลยมั่นใจแล้วว่าต้องเป็นคณะนิติศาสตร์แน่นอน

            มีในวงการรุ่นพี่เขาคุยกัน พี่รู้มาว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นมหาลัยที่มีการดึงอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในวงการกฎหมายมาก ๆ มาสอน ยกตัวอย่างเช่น การเอาผู้พิพากษามาสอน มีถึงขั้นว่าเอาผู้พิพากษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มี แล้วใครที่อยู่ในวงการกฎหมายก็จะรู้แล้วว่าจะต้องมีการสอบเนติบัณฑิต ซึ่งการสอบเนติบัณฑิตเป็นการสอบที่ไม่ง่ายเลย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีอาจารย์จากเนติบัณฑิตมาสอนเยอะมาก

            ซึ่งพี่กล้าพูดได้เลยว่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้าที่จะดึงอาจารย์ที่เป็นบุคลากรที่มีคุณวุฒิในด้านกฎหมายที่สูงส่งมาก ๆ มาสอน พี่เลยเลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพและพี่ได้รับคัดเลือกทุน BU Creative ด้วย

พื้นฐานและความเหมาะสมของนักนิติศาสตร์ คนแบบไหนที่เหมาะจะเรียนคณะนิติศาสตร์กันล่ะ?

            สำหรับพี่น่าจะเป็นคนที่มีเหตุมีผล เพราะว่าในการทำข้อสอบเขียนตอบในแต่ละครั้งนะครับ เราจะต้องใช้เหตุผลประกอบตลอดว่าทำไมเราถึงตัดสินแบบนี้ ทำไมเราถึงมองว่าในตัวข้อเท็จจริงนี้ กระทำความผิดในด้านนี้ แล้วก็เอาเหตุผลมาประกอบเสมอ การเขียนตอบที่ดีไม่ใช่เขียนตอบส่ง ๆ จะต้องเป็นคนที่เอาเหตุผลมาประกอบและสามารถฟังดูขึ้นและเป็นไปได้ คนคนนั้นถึงจะเป็นคนที่ตอบข้อสอบและได้เกรดดีครับ

            ในความคิดพี่คนที่เหมาะที่จะเรียนคณะนี้ คือคนที่มีทั้งเหตุและผลในชีวิตจริงเป็นส่วนประกอบครับ ถ้าอยากมาเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วไม่มีพื้นฐานอะไรเลยเรียนได้ เพราะว่าที่นี่เริ่มสอนตั้งแต่นับหนึ่ง นับหนึ่งในที่นี้คือกฎหมายเบื้องต้นเลย แต่ถ้าถามพี่นะมีพื้นฐานก็ดี พื้นฐานในที่นี้ คือเรื่องของการเขียนทั้งการตอบและการบรรยาย ถ้าเกิดใครที่มีทักษะในเรื่องนี้มาอยู่แล้วนะ พี่มองว่าจะเป็นทุนเดิมที่สามารถทำให้เรียนนิติศาสตร์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะในเรื่องของกฎหมาย คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน ก็อยากจะเอามาเรียน แต่เรื่องการเขียนสำคัญมาก

ท่องจำตีความแตกฉานคือหัวใจของเด็กนิติศาสตร์

            สิ่งที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับการเรียนคณะนี้ คงหนีไม่พ้นการท่องจำ แต่พี่เอ็มบอกว่า ถ้าเราตั้งใจเรียนจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อาจารย์สอนมันก็ไม่จำเป็นต้องจำเยอะขนาดนั้น

            ปฏิเสธไม่ได้นะว่าเรียนกฎหมายต้องจำ แต่หลายคนที่จะกลัวว่าเรียนกฎหมายต้องจำเยอะๆอะไรแบบนั้น จริง ๆ แล้วพี่ว่ามันไม่ใช่นะ มันจะเป็นเรื่องของความเข้าใจมากกว่า อันนี้พี่ไม่ได้จะตอบให้ดูดีอะไรนะ เราลองคิดดู มันเป็นกฎหมายที่เราเรียนมาตั้งแต่ปี 1 ถ้าถามว่าผู้เยาว์อายุ 20 ปีจะทำอะไรต่าง ๆ ได้บ้าง คำตอบคือต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมผู้ปกครอง ถามว่าทำไมเราสามารถจำได้เพราะเราเข้าใจเหตุและผลในการที่กฎหมายบัญญัติออกมา ถ้าพี่ท่องจำนะ 4 ปีแล้วมันจำไม่ได้หรอก

            คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาจะสอนให้เราเข้าใจมากกว่า ว่าทำไม เขาถึงบัญญัติกฎหมายไว้เป็นอย่างนั้น การที่จะต้องให้ผู้เยาว์จะทำอะไรแต่ละอย่าง ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม กฎหมายมองว่าแบบอาจจะถูกหลอกได้ง่าย ต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างนี้ มาออกความเห็น อนุญาตก่อน เหมือนถ้าเราเรียนด้วยความเข้าใจมันก็จะสามารถจำได้เอง คือมันไม่จำเป็นต้องจำขนาดนั้น ที่พี่มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องจำคือ การจำตัวเลข ตัวบทมาตรา เนื้อหาที่กฎหมายบัญญัติไว้ เรารู้อยู่แล้วแต่แค่มันยากตรงที่แบบ เรื่องที่พูดเมื่อกี้มันอยู่ตัวเลขอะไรแล้วนะ พี่มองว่าตรงนี้แหละคือสิ่งที่ต้องจำเยอะที่สุด

จุดเริ่มต้นและหน้าที่ของการเป็นประธานคณะนิติศาสตร์

            มีเพื่อนมาทาบทาม เหมือนมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่คอยสนับสนุนพี่ แล้วพี่ก็มองว่ามันเป็นโอกาสที่ดี คิดไว้อยู่แล้วแหละ ว่าการที่เราจะต้องมาเป็นประธานคณะมันจะได้ประสบการณ์หรืออะไรหลายอย่างที่คนทั่วไปถ้าเกิดไม่ได้มาทำตรงนี้มันก็ไม่ได้ กิจกรรมต่าง ๆ ของคณะนิติศาสตร์ คณบดีให้นักศึกษาเป็นคนจัดการเองทั้งหมด แต่จะมีอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมจะคอยบอกและคอยให้คำปรึกษา ว่าแบบเป็นยังไงบ้างและคอยสนับสนุนเรา คือกิจกรรมทั้งหมดของเรา นักศึกษาจะเป็นคนทำเอง

            เมื่อมีคำว่าหน้าที่ก็ต้องมาพร้อมกับคำว่ารับผิดชอบ เรียนดีกิจกรรมเด่น เกรดสูงสุดเป็นที่ 1 ในรุ่น พี่เอ็มได้เผยเคล็ด (ไม่) ลับให้ฟังว่า เมื่อไหร่ที่เรียนถึงเวลาเรียน พี่จะมุ่งไปทางเรียนเลยนะ พี่ก็จะแบบตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว แต่เมื่อไหร่ที่พี่หยุดพักจากการเรียน ไม่มีเรียน มีกิจกรรมเท่าไหร่พี่เต็มที่ได้หมด ในความคิดพี่นะ การที่เราตั้งใจเรียนในห้องเรียนเต็มที่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องมาอ่านหนังสืออะไรเยอะแยะ ถ้าเอาเวลาไปอ่านหนังสือทั้งหมด ก็ทำกิจกรรมไม่ได้

            ถ้าเกิดสมมุติมันมีเหตุการณ์ที่เหมือนกับว่าเรื่องเรียนก็ต้องเรียน คณะก็ต้องมีประชุมเหมือนกัน พี่ก็จะมองว่า อันไหนเป็นเรื่องสำคัญกว่า ถ้าการประชุมคณะนั้นมันเป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าไม่ได้มีอะไรคับขันอย่างนี้ ให้คนอื่นเข้าแทนได้ ก็ให้คนอื่นเข้าแทน แต่อะไรที่มันเป็นเรื่องที่แบบต้องระดมความคิด ต้องเคาะ ต้องวางแผน งานส่วนรวมมันก็ต้องสำคัญกว่าส่วนตัว

เรื่องเล่าในความทรงจำที่สุดแสนจะพิเศษ

            ประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้ฉุกคิดถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ตัดสินกันแค่เพียงสถานะ การศึกษาหรือว่าเชื้อชาติแต่มันตัดสินกันที่หัวใจ

            กิจกรรมที่พี่ชอบมากที่สุดก็จะเป็นค่ายเหนือ Lawbusrm จริง ๆ แล้วคือค่ายที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาครับ เป็นค่ายที่คณะนิติศาสตร์จัดขึ้นทุกปี ปีนี้ไปบ้านห้วยแห้ง บ้านห้วยกองแป อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่สะเรียง เป็นอำเภอที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ มีชาวเขาที่อาศัยอยู่บนถิ่นทุรกันดาร ลูกเกิดขึ้นมาปุ๊บ ไม่สะดวกที่จะพาลูกไปอำเภอ เลยกลายเป็นคนที่ไม่มีระบบข้อมูลในรัฐ ทั้งรัฐไทย รัฐพม่า เป็นคนที่เกิดมาแล้วไม่มีสัญชาติ คือเหมือนเป็นคนที่ไม่มีตัวตนในโลกใบนี้

            ซึ่งเราก็มีหน้าที่เพื่อที่จะไปทำเรื่องเกี่ยวกับการเดินเรื่องขอสัญชาติให้กับเขา ไปรวบรวมข้อมูล ซึ่งมันจะมีหลักกฎหมาย เกิดโดยใช้หลักดินแดนไทยและหลักการได้สัญชาติโดยดินแดน ถ้าเงื่อนไขครบถูกต้องตามกฎหมาย คุณก็มีสิทธิได้รับสัญชาติไทยได้ เราก็ไปช่วยเขา

            ที่นี่ค่อนข้างทุรกันดาร สัญญาณไม่มี โทรศัพท์ไม่มี น้ำประปาไม่มี ไฟฟ้าไม่มี ไฟฟ้าเขาใช้โซล่าเซลล์ จากตัวอำเภอแม่สะเรียงจะขึ้นไปถึงหมู่บ้าน เราจะต้องนั่งรถไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นระยะทางเขาอย่างเดียว คืออยู่ลึกมากจริง ๆ คนปกติไปควรจะนั่งฮอร์ มีห้วยลำธาร น้ำ เป็นหิน รถต้องลุยผ่านอย่างนี้ตลอดเลย แล้วเรารู้สึกว่าเราได้อะไรเยอะจากตรงนี้ คนบนเขา เขามองว่าพวกพี่ไปให้กำลังใจเขา แต่ส่วนตัวพี่แล้ว พี่รู้สึกว่า พี่ได้รับกำลังใจจากเขามากกว่า พี่สัมผัสได้ถึงความจริงใจจากเขา 5 วันที่พี่ไปอยู่ทำให้พี่ได้มุมมองแนวคิดใหม่ที่ไม่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่

            การกล้าที่จะมีความฝัน แม้รู้ว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เขาก็ไม่ยอมที่จะหยุดฝัน สัญชาติก็ยังไม่มี น้อง ๆ ที่นั่นบอกพี่ว่าอยากเป็นหมอ ทหาร แอร์โฮสเตส ดูเขาจะต้องผ่านอุปสรรคอีกหลายอย่างมากแต่เขายังกล้าฝันเลย มันเหมือนเป็นพลังบวกจริง ๆ คนที่ไม่ได้ไป จะไม่มีวันได้รับความรู้สึกแบบนี้

ทีมเวิร์คเมคเดอะดรีมเวิร์ค

            จากการตามติดชีวิตพี่เอ็ม เราได้เห็นในหลายมุมมาก ๆ ทั้งการเรียน กิจกรรม อีกทั้งยังมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่คือประธานคณะที่ต้องรับผิดชอบ เราได้ถามต่ออีกว่า มีวิธีจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาอย่างไร

            ถ้าเป็นเรื่องเรียน ส่วนใหญ่ของตัวพี่แล้ว พี่จะจัดการเรื่องเรียนได้ พี่จะไม่ค่อยเครียดเรื่องเรียนเลย ตอนนี้มีแต่เรื่องงานคณะเพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนรวม มันจะออกมาในทิศทางไหน มันขึ้นอยู่กับตัวพี่ด้วย พี่ก็จะเครียด เวลาคณะจะมีกิจกรรมหรือโครงการไหน พี่ก็อยากทำให้คณะของเราออกมาดีที่สุด ยกตัวอย่างล่าสุดมีการแข่งขันบัลลังก์เกมส์ บัลลังก์เกมส์เป็นการแข่งขันของคณะนิติศาสตร์ที่มีหลายมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมด้วย

            ซึ่งเราก็จะต้องคอยดู เวลาจัดกิจกรรมหรือการแข่งขันในรูปแบบนี้ ก็จะมีการที่เขาเอาเปรียบเรา เราก็ต้องเป็นคนนึงที่จะต้องไม่ยอม เราต้องรักษาสิทธิ์ให้กับทางคณะ ไม่ใช่แค่ว่าเรายอม มันไม่ได้เสียที่ตัวพี่ แต่มันเสียที่ตัวคณะ ก็ถ้าเครียดจะเครียดก็แต่เรื่องงานคณะนี่แหละ แต่คงเป็นเพราะพี่มีทีมคณะกรรมการของพี่ที่ดี ที่พี่มีปัญหาอะไร ก็เอามาคุยกัน เพื่อนทุกคนพร้อมที่จะเข้าใจและพร้อมที่จะซับพอร์ตในเรื่องต่าง ๆ มันก็ไม่เคยเครียดถึงมากมายอะไรนะ แต่เหมือนมันมีเพื่อน มีทีม มีอาจารย์คอยซับพอร์ต มันก็เลยไม่เท่าไหร่

เรียนรู้จากประสบการณ์ แก้ไขจากสถานการณ์จริง

            พี่เอ็มได้รับอะไรบ้าง จากการเป็นประธานคณะ เรื่องหลักจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจ เพราะอย่างในหนึ่งงานที่เราจัดขึ้นมา เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ยกตัวอย่างเช่น อย่างล่าสุดมีการจัดงานปลดติ้ง ปลดไทด์

            งานปลดติ้ง ปลดไทด์จะเป็นงานของเด็กคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่เด็กเฟรชชี่ที่เข้าใหม่ เราจะมีธรรมเนียมกัน ต้องใส่สูท ผูกเนคไทด์ ใส่ติ้ง ต้องแต่งตัวเรียบร้อย นักศึกษาผู้ชายต้องมีเชิ้ต ผูกไทด์ ใส่ติ้งตรงไทด์ กางเกงสแลคขายาว รองเท้าหนังคัทชู ก็จะเป็นแพทเทิร์นแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่ที่มีการปลดติ้ง ปลดไทด์ปุ๊บ เราจะปล่อยให้เด็กเป็นอิสระได้ ใส่โปโลมาเรียน ใส่อะไรก็ได้แต่ก็ต้องอยู่ในมารยาทที่เหมาะสมกับอาจารย์ผู้สอน

            ตอนเราแพลนงานนี้ เราไม่สามารถเห็นปัญหาทั้งหมดได้ แต่พอทำเข้าในงานจริงปุ๊บ ปัญหามันเกิดขึ้น นี่แหละ มันฝึกให้พี่กล้าตัดสินใจ  หากเกิดปัญหาเกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เราไม่มีเวลาที่จะไปคิด ไปทบทวนอะไรนาน เราต้องเหมือนแบบ common sense ของเรา มันจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง เราต้องกล้าตัดสินใจ กล้าบอกเพื่อนในตอนนั้นเลยว่า เอาแบบนี้ ทำแบบนี้เลย คือการตัดสินใจของเรามันต้องเร็วมาก

อนาคตที่วางและหลักการในการใช้ชีวิต

            ทุกคนล้วนมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ทัศนคติมุมมองการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สำหรับพี่เอ็มแล้ว เป็นคนที่เต็มที่กับชีวิตในทุกเรื่องไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องเที่ยว เรื่องเล่น แต่เราก็จะต้องไม่ลืมว่าอะไรคือหน้าที่ของเรา

            หลักการในการใช้ชีวิตหรอ ส่วนตัวนะครับ พี่เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่กับชีวิตครับ คือถ้าถึงเวลาเรียน พี่จะเรียนอย่างเต็มที่ เมื่อไหร่ที่เราว่างจากการเรียนเป็นวันหยุดหรือว่างจากการเลิกเรียน พี่ก็จะเอ็นจอยกับเพื่อน อนาคตที่ตั้งเป้าไว้คืออยากเป็นผู้พิพากษา ตอนนี้พี่สอบตั๋วทนายได้แล้ว แต่ว่ามันเป็นตั๋วทนายภาคทฤษฎีนะ คือพี่ขออนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปสอบก่อน ถ้าโดยปกติตามหลักแล้ว การสอบทนายความจะต้องจบปริญญาตรีแล้ว แต่ของพี่ยังไม่จบพี่เลยไปขอตัวอนุปริญญาไปสอบก่อนแล้วก็ผ่านแล้ว

            เวลาพี่จะทำอะไรพี่ก็จะทำให้สุด แต่พอเรื่องเรียนเราห้ามทิ้ง พ่อแม่ส่งมาให้เราเรียน ถึงพี่จะเอ็นจอยสังสรรค์กับเพื่อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เข้ามาในมหาวิทยาลัย เราต้องเต็มที่กับการเรียนและกิจกรรม พี่มองว่าในช่วงชีวิตหนึ่งมันจะมีความสนุกของแต่ละวัย อย่างตอนนี้อยู่มหาลัย พี่ยังไม่ต้องทำงาน พี่ว่าง พี่สามารถไปเอ็นจอยไปปาร์ตี้กับเพื่อนได้ แต่เมื่อไหร่ที่ทำงานปุ๊บ เราอาจจะใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ค่อยได้แล้ว พี่รู้สึกโอเค ตอนนี้เราอยู่มหาวิทยาลัย เรายังมีเวลาสนุกได้ เราจะสนุกไป แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ทิ้งการเรียนเพราะหน้าที่ของเราตอนนี้คือการเรียน

            กิจกรรมในไลฟ์สไตล์ชีวิตของพี่ ถ้าว่าง พี่พร้อมจะลองทำทุกอย่างอยู่แล้ว อย่างการวิ่ง ก็ลองดู วิ่ง 5-10กิโลจะเป็นยังไง เหมือนอย่างที่พี่บอก เต็มที่กับชีวิต ในช่วงนี้เราว่าง กลัวว่าเราทำงานแล้ว เราไม่มีเวลาไปวิ่ง ถ้าสมมุติทำงาน 5 วัน เสาร์-อาทิตย์ก็คงอยากจะนอนแล้ว คงไม่อยากตื่นพาร่างกายไปวิ่ง

นิติสัมพันธ์ พี่น้องกันไม่มีกฎเกณฑ์

            อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่พี่เอ็มอยากจะฝากบอกว่าความพิเศษของคณะนิติศาสตร์คือการอยู่กันอย่างครอบครัว เราจะมีอีกหนึ่งกิจกรรมเขาเรียกว่า นิติสัมพันธ์ คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่จำนวนเด็กไม่ได้เยอะมาก ถ้าเทียบกับคณะอื่นในมหาวิทยาลัย มันจำเป็นมากที่จะต้องทำให้รุ่นพี่กับรุ่นน้องสนิทกัน เราจะพยายามทำกิจกรรมที่ทำให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หนึ่งในนั้นก็จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า นิติสัมพันธ์ อันนี้จะเป็นการพารุ่นพี่รุ่นน้องออกไปนอกมหาวิทยาลัย แล้วไปทำกิจกรรมร่วมกัน

            อย่างปีล่าสุดไปทะเล ไปเล่นชักกะเย่อ ไปเล่นวอลเล่ย์บอลชายหาดด้วยกัน เป็นกิจกรรมที่พี่รู้สึกว่าได้อะไรจากหลายคนที่เขาไม่รู้จักกันเลย เขาจะไปรู้จักกันที่นี่เพราะว่าจะมิกซ์กลุ่มกันมั่วหมดเลย ปี 4 ไปอยู่กับปี 1 พี่ก็ได้ไปอยู่กับน้องปี 2 มันก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้พัฒนาความสัมพันธ์กันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องก็รู้สึกดีและประทับใจมาก

            สุดท้ายนี้พี่เอ็มยังฝากบอกอีกว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายอยู่นะ หากทุกคนในมหาลัยมีปัญหาชีวิต สามารถขอรับคำปรึกษาได้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ติดต่อที่ห้องคณะนิติศาสตร์ หรือติดต่อทางเฟสบุ๊คเพจ สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เลย

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่เอ็ม-ณัฐภัทร สุกิจพิรยพันธุ์ รุ่นพี่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ความพยายามจะทำให้คุณทำมันได้ คุณจะเสียใจถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างเลย

Writer

สาวแดนใต้ ตาคม ผมยาว เด็กนิเทศศาสตร์ผู้แบกความฝันของตัวเองและครอบครัว มีชีวิตอยู่เพื่อการเขียนและการพูด ความสุขของเธอคือการได้เรียงร้อยถ้อยคำผ่านตัวอักษรและถ่ายทอดผ่านน้ำเสียง หลงใหลในชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสระ ชอบเสน่ห์แห่งรอยยิ้มที่ได้เห็นทุกคนอ่านเรื่องราวผ่านปลายปากกาที่เธอเขียน

Photographer

เด็กนิเทศศาสตร์ เสพติดการดูซีรีส์ ชอบดูละคร ภาพยนตร์ และรายการแวดวงบันเทิงเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยากทำงานเบื้องหลัง ผลิตงานในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ดีเป็นที่รู้จัก