ชั้นหนึ่ง (First Grade) เปิดมุมมองส่องการศึกษาไทยระดับปฐมวัย: ภาพอุดมคติ vs ความจริง

ล้อมวงพูดคุยเรื่องการศึกษากับคนทำภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

          “The most important period of life is not the age of university studies but the first one, the period from birth to the age of six ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตไม่ใช่ช่วงการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่คือช่วงปฐมวัย จากแรกเกิดจนถึงหกขวบ”- Maria Montessori

          ด้วยความสนใจในเรื่องการเรียนรู้ของ โสภาวรรณ บุญนิมิตร และพีรชัย เกิดสินธุ์ สองผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานสร้างชื่ออย่าง ที่ว่างระหว่างสมุทร The Isthmus (2013) ภาพยนตร์ได้รับการคัดเลือกให้ฉายรอบ World Premiere ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 18 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และล่าสุดภาพยนตร์สารคดีเรื่องติดถ้ำ The Caved Life : ปางหนองหล่ม A Village on a Fault (2020) อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ต่อยอดสร้างมาจากเรื่องจริงเหตุการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำ

          เมื่อโลกของการทำภาพยนตร์คือโลกของการเรียนรู้ที่ก้าวเดินไปพร้อมกัน ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้ทั้งสองสานต่อความหลงใหลในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ ครูยุ้ย-ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเกิดสารคดีที่พาเราไปสำรวจจุดเริ่มต้นและตั้งคำถามกับการศึกษาระดับปฐมวัยทั่วประเทศ ชั้นหนึ่ง (First Grade) คือภาพยนตร์สารคดีได้รับทุนสนับสนุนจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีแผนจะเข้าฉายทั่วประเทศในเร็ววันนี้

ครูยุ้ย-ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร และครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์

ส่องการศึกษาไทยระดับปฐมวัย: ภาพอุดมคติ vs ความจริง

          งานเสวนาออนไลน์ ส่องการศึกษาไทยระดับปฐมวัย: ภาพอุดมคติ vs ความจริง ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ครูยุ้ย-โสภาวรรณ บุญนิมิตร และครูเต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์ บอกเล่าถึงที่มาของภาพยนตร์เรื่องชั้นหนึ่งว่า เราสองคนสนใจประเด็นด้านการศึกษามานานพอสมควร ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่สุดสายพานของกระบวนการศึกษา พบเห็นปัญหามากมายโดยเฉพาะนิสิตหลายคนในช่วงหลังสังเกตว่าไม่มีความสุขเลยในการเรียนเลย แล้วหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เราจึงอยากจะตรวจสอบไปที่จุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทย

          ระหว่างทางการมีลูกแฝดน้องอู่ข้าว-อู่น้ำ ทำให้ครูยุ้ยและครูเต้ยได้เรียนรู้การเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการศึกษามากยิ่งขึ้น

          ครูยุ้ยบอกถึงความตั้งใจที่มี เราควรจะพูดเรื่องนี้ ปล่อยช้าไม่ได้ เราสนใจอยากจะกลับไปตรวจสอบ ในจุดเริ่มต้นก็ค่อนข้างจะทะเยอทะยาน คือเราอยากจะสำรวจระบบการศึกษาไทยในจุดแรกเริ่มทั่วประเทศ โชคดีเราได้รับทุนเบื้องต้นจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนจาก กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาทำให้โปรเจกต์นี้เป็นจริงขึ้นมา แต่เราก็คงทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ และถ้าหากจะพูดถึงปัญหาของการศึกษาไทยได้อย่างครบถ้วนก็ต้องมีอีกหลายโปรเจกต์ต่อเนื่อง

          การเดินทางเพื่อสำรวจเรียนรู้การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจากทั่วประเทศจึงเกิดขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา ภาพยนตร์พาเราไปเฝ้าสังเกตการณ์ชีวิตของเด็กของปฐมวัยและนั่งพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับครู ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกเล็ก เฝ้าดูและตามติดชีวิตของเด็กปฐมวัยจากในเมืองสู่ชนบท ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันคือเราเห็นจิตวิญญาณความเป็นเด็กน้อยที่สนใจเรียนรู้โลกกว้างอย่างไม่มีขีดจำกัด

          วงเสวนาออนไลน์ที่ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในครั้งนี้ จึงชักชวนผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษา สนใจเรื่องการจัดการเรียนรู้มาร่วมพูดคุยกัน ประกอบด้วย

          ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนเพลินพัฒนา และนายกสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์ค

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่

          ครูบี-มิรา เวฬุภาค นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือก CEO & Founder Flock Learning และ Mappa Platform แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครอง

หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ

          ชีวิตการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง โลกแห่งการเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงแต่การท่องจำ การสอบแข่งขัน แต่โลกการเรียนรู้ของเด็กคือการเล่น จินตนาการ สายใยรักจากพ่อแม่ และธรรมชาติรอบตัว นิยามความหมายของเด็กปฐมวัยคือ เด็กเล็กที่มีอายุระหว่างแรกเกิด ถึง 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่การเรียนรู้ของพวกเขาคือการเล่นสนุก เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ

          การรีบร้อนของผู้ใหญ่ที่จะเข้าไปจัดการศึกษา ผลักดันให้เด็กรีบโต รีบเรียน ท่องจำความรู้ สอบเข้าชั้นป.1 เติมเนื้อหาทางวิชาการที่มากมายจนเกินไป จึงอาจจะเป็นการสร้างบาดแผลและทำลายจิตวิญญาณการเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตของพวกเขา

ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง

          ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาระดับปฐมวัยมายาวนานกว่า 20 ปีที่อยากให้ยกเลิกการสอบเข้าของเด็กป.1 กล่าวในงานเสวนา ทำให้เรามองภาพของการศึกษาปฐมวัยเปลี่ยนไป

          เมื่อก่อนเราจะละเลยเด็กอนุบาลก็จะนึกว่ากิน ๆ เล่น ๆ หลับ ๆ นอน ๆ ครูก้ามาทำงานด้านการศึกษาปฐมวัยเพราะว่าความเป็นแม่ ตอนนี้ลูกโตไปแล้ว เราก็เห็นว่ามีรากฐานอะไรบางอย่างที่มาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ฉะนั้นเราจึงอยากเอาประสบการณ์ความเป็นแม่ลงไปเพื่อจะบอกเพื่อน ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองคนอื่น ก็เลยคิดที่จะทำโรงเรียนขึ้นมา โรงเรียนที่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นโรงเรียนของพ่อแม่และของเด็กด้วย เพราะครูก้าคิดว่าเรื่องพ่อแม่กับเด็กแยกกันไม่ออก เมื่อก่อนเราคิดว่าส่งเด็กเข้าไปในโรงเรียนแล้วก็เป็นเรื่องของโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่แล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญว่าทำไมเด็กปฐมวัยสำคัญและคนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทและต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

          สำหรับครูก้าแล้ว การเรียนรู้ของเด็กคือการปล่อยให้เขาได้ค่อย ๆ เรียนรู้และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การเข้าใจหัวใจของการเรียนรู้คือการเข้าใจหัวใจของเด็กที่อ่อนโยนและเปราะบาง การจัดการศึกษาไม่ว่าจะจัดโดยโรงเรียนหรือแม้กระทั่งพ่อแม่ ก็จัดด้วยความรักและก็ความหวังดี คือเราอยากจะให้เด็กเขาได้อะไร ส่วนมากก็บอกว่าอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกไม่เป็นภาระของสังคม

          ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นทัวร์ที่พาให้เราได้เห็นความหลากหลายของการจัดการศึกษาที่แต่ละท้องถิ่น แต่ละบริบท แต่ละข้อจำกัดก็มีความแตกต่างกันไป

          ถ้าเราจับที่หัวใจสำคัญ ไม่ใช่จับแค่ส่วนหัวและส่วนท้าย ถ้าเราจับหัวใจของมนุษย์จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเด็กปฐมวัย…เด็กจะไม่ต้องประสบปัญหาเหมือนกับที่เราเห็นทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้ด้วยความที่เรารัก เราหวังดี แต่บางวิธีที่ใช้อาจจะยังไม่รู้ว่ามันจะเกิดผลข้างเคียงอะไร เราลืมมองเรื่องผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก เราอาจจะเอาเด็กเป็นตัวตั้งน้อยไป เอาความคาดหวังหรือความหวังดีของเราเป็นตัวตั้งมากไปเท่านั้นเอง

          การลดความคาดหวังทางวิชาการในตัวเด็กเล็กลง อดทนรอคอย ปล่อยให้เขาได้วิ่งเล่น ไม่ต้องเร่งให้ท่องจำคำศัพท์ได้ นับเลขได้ อาจจะทำให้เราเห็นความมหัศจรรย์ที่เรียบง่ายจากการเรียนรู้ชีวิตและธรรมชาติรอบตัวของเด็กมากยิ่งขึ้น  

ฟูมฟักและดูแลหัวใจของการเรียนรู้

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่เราสร้างวัฒนธรรมมา แต่มันอัตโนมัติมากับตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเราเองก็ถูกหล่อหลอมมาโดยอัตโนมัติ เรารับมาก็ส่งต่อให้รุ่นต่อไป เรื่องนี้อาจจะต้องกลับมาย้อนถามตัวเองกับสังคมกลุ่มก้อนที่เราอยู่ด้วยกันว่า เราจะจัดการศึกษาเพื่ออะไรบ้าง เราทำไปเพื่อให้เด็กได้รู้จักค้นหาตัวเอง ได้รู้จักศักยภาพตัวเองหรือเปล่า หรือทำไปเพื่อเป็นใบเบิกทางทางสังคมบางอย่างให้กับเด็กหรือเรากันแน่ ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เราเองที่เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็คนที่อยู่รอบตัวเด็กก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าทั้งหมดที่เรากำลังทำอยู่เรากำลังทำเพื่อใครกันแน่

ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

          เราอาจจะต้องมาลองรื้อสิ่งที่เราคุ้นชินมาตลอดช่วงที่เราเติบโตมา เราเองก็เป็นคนที่เติบโตมากับการศึกษาในรูปแบบที่เราไม่เคยถูกถามว่า เราชอบอะไร สนใจอะไร ไม่ค่อยสนใจหัวใจเรา เราก็เรียนมาแบบนี้เหมือนกัน แต่พอเราเติบโตมานั้น เราก็มองว่า เอ๊ะ ? แต่ว่าในที่สุดแล้วเด็กเขามีหัวใจที่แบบไม่ต้องการอะไรที่ซับซ้อนและซ่อนเงื่อนไปกว่าการได้รับความรักแล้วก็ได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี มันช่วยฟูมฟักแล้วก็ดูแลหัวใจของการเรียนรู้ของเขา ถ้าเรามองเห็นตรงนี้จริง ๆ เราก็น่าจะสามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนรายละเอียดเชิงกระบวนการก็สุดแท้แต่ละครอบครัว

ครูบี-มิรา เวฬุภาค

          ครูบี-มิรา เวฬุภาค เป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจเรื่องการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ครูบีอธิบายว่า เด็กทุกคนต่างกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมอะไร ตรงไหน ศาสนาอะไร รูปแบบประเทศแบบไหน…นี่เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ว่าเด็กทุกคนต่างกัน

          นอกจากเรื่องของการเข้าใจเด็กแล้ว การศึกษายังเป็นเรื่องของโครงสร้างของรัฐ เป็นเรื่องของการ Educate คนในสังคม การศึกษาที่อยู่ในระบบโรงเรียนแบบหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนรู้…การเรียนรู้เป็นเรื่องของเด็กไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ การศึกษาปฐมวัยก็ต้องเป็นเรื่องของเด็กไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ การสนับสนุนสร้างการเรียนรู้ให้เด็กก็ต้องทำให้การเรียนรู้นี้เป็นของเด็กเช่นกัน

เพียงแค่กำแพงกั้น…ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

          ภาพความแตกต่างของการจัดการศึกษาของในโรงเรียนในเมืองและในชนบท ต้นทุน และทรัพยากรที่มีทำให้การศึกษาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จากกรุงเทพขึ้นไปเหนือและจรดใต้ ภาพยนตร์พาเราเดินทางเข้าไปในโรงเรียนที่แตกต่างทั้งวิธีคิดและการจัดการเรียนรู้ แม้กระทั่งโรงเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ เราก็มองเห็นความเหลื่อมล้ำเพียงแค่กำแพงที่กั้นอยู่ไม่ห่างกันมากนัก

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อธิบายว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาถ้ามองอย่างลงลึกแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้นตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ และส่งผลต่อเนื่องมาถึงเด็ก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างในช่วงที่เขากำลังเติบโต เรากำลังพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับปฐมวัยที่ค่อนข้างรุนแรง

          โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากเราเป็นครอบครัวที่เข้าไม่ถึงโอกาสอะไรเลย ยากมากที่เราจะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ  เพราะมีอุปสรรคเยอะเหลือเกิน ไม่ใช่ว่าครอบครัวเหล่านี้ไม่ทำงานหนัก เขาทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาที่จะใส่ใจดูแลเด็ก

          ยิ่งลงลึกในเรื่องโครงสร้างและพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็กเล็กก็ยิ่งทำให้เราเห็นภาพความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ครูจุ๊ยฉายภาพให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น

          โครงสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ต้องช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วย เราต้องให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่การเรียนรู้ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ในสังคมเราเองก็มีความเหลื่อมล้ำสูงมากเช่นกัน แล้วก็มีการพัฒนาอย่างผิดที่ผิดทางในหลายกรณี ถ้าเราอยู่กรุงเทพ เรานึกหลับตาแล้วอยากไปใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้ง ก็นึกไม่ออกแล้ว เพราะว่าถ้าเราจะเข้าห้างเราจะนึกออกว่าประมาณไหน แต่ถ้าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ เราอยากจะหาสนามเด็กเล่นที่ดีใกล้บ้าน เราก็สงสัยว่าทำไมไม่มีบ่อทรายใกล้บ้านที่เด็กจะไปเล่นได้ ภาครัฐเองก็ควรจะให้ความสำคัญ แต่ก็กลับไม่ได้ให้ความสำคัญ

          การให้เวลาดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ ครูจุ๊ยยกตัวอย่างพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าคุณอยากได้การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีคุณต้องซื้อเอา สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัย เด็กเล็ก ถ้าถามว่าคุณภาพของศูนย์เด็กเล็กของจังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือพ่อแม่จำเป็นที่จะต้องไปจ่ายเงิน เพื่อที่จะพาลูกเข้าไป Day Care หรือว่าศูนย์ที่รับดูแลเด็ก คือเขาไม่ได้เชื่อมั่นในศูนย์เด็กเล็กของรัฐ เขายอมที่จะดิ้นรนเพื่อที่จะไปจ่ายเงินให้กับศูนย์เด็กเล็กที่เป็นเอกชน เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าลูกเขาได้รับการดูแลที่เหมาะสม

          ส่วนทรัพยากรบุคคล คนที่เก่งควรจะได้รับการสนับสนุน พื้นที่ยากลำบากน่าจะต้องส่งคนที่เก่งมากเข้าไป โดยคุณต้องมีแรงจูงใจต่าง ๆ นานา อบรมฝึกฝนเขาให้สามารถดูแลพื้นที่ เป็นอุปสรรคและความยากลำบากแน่นอน ต้องใช้เงินและต้องใช้การพัฒนาเพิ่มขึ้นแล้วเราก็ต้องไปบริหารจัดการให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งพื้นที่ยากลำบากก็ยิ่งแพง แต่ตอนนี้เราสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือยิ่งพื้นที่ยากลำบากเงินยิ่งไปน้อย ยิ่งส่งคนไปน้อยเงินก็ไปน้อย ทรัพยากรก็ไปน้อย เป็นวิธีคิดที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล ดังนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้ยากมากที่จะลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทยโดยเฉพาะในระดับปฐมวัย

          ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของคนในสังคม ครูบี-มิรา เวฬุภาค สะท้อนว่า ค่านิยมหรือการให้คุณค่าทางสังคม (Social Value) ต่อเรื่องการศึกษามีความแตกต่างกัน การเกิดขึ้นของโรงเรียนมีความจำเป็น แต่เมื่อเราให้คุณค่าการเรียนรู้ทั้งหมดฝากไปที่โรงเรียน หรือว่าเรามองว่าคนที่จบจากโรงเรียนคือคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถคือคนที่จบมหาวิทยาลัยที่ดีหรือถึงจะเป็นคนที่มีคุณค่า เมื่อไหร่ที่เราให้ค่ากับสิ่งนี้ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทันที

          การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเด็กแต่ละคนมีความสนใจในการเรียนรู้แตกต่างกัน สำหรับลูกชายของครูบี การเรียนรู้เกิดขึ้นในป่า การเข้าป่าไปเรียนรู้เป็นเรื่องท้าทาย ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญการเดินป่า มีองค์ความรู้มากมาย แต่ไม่สามารถสืบทอดต่อได้ เพราะต้องส่งลูกไปเข้าโรงเรียน การให้คุณค่าต่อระบบการศึกษาที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ

          ครูบีเน้นย้ำว่า เราควรให้คุณค่ากับวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเรียนรู้จากธรรมชาติการใช้ประสาทสัมผัส (Sensing) กับธรรมชาติ ซึ่งเราก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีใครสืบทอดความรู้เหล่านี้ต่อ เขาบอกว่าจะมีได้ยังไงเพราะว่าลูกต้องไปโรงเรียน เป็นการให้คุณค่า (Value) อีกแบบหนึ่ง

          อีกตัวอย่างหนึ่งตอนนั้นไปทำวิจัย โรงเรียนได้ทำงานกับชุมชนปกาเกอะญอ ที่หมู่บ้านสมรัก จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านพูดคำหนึ่งว่าเขาต้องมาเรียนภาษากลาง แล้วลูกเขาคือ…เรานึกออกไหมคือเขาเดินเข้าป่าปุ๊บ เขาสามารถพกแต่พร้าเล่มเดียวแล้วเขาอยู่ได้เลย คือเขาใช้ชีวิตหนึ่งวันในป่าโดยที่เขามีพร้าเล่มเดียว

          ถ้าเราเข้าป่าไป เราแบกของแบกน้ำแบกข้าวเข้าไป แต่ชาวปกาเกอะญอไม่ต้องคือพร้าเล่มเดียวเขาอยู่ได้กินอิ่มสบายนอนได้ อยู่ในป่า แต่การเรียนรู้ของเขาไม่ใช่ระบบเดียวกับพวกเรา พอเขาไม่ได้ใช้ฟังก์ชันที่เขาควรจะทำ สิ่งที่เขาเป็นคือเรากำลังเทรนเจ้าป่า ให้เป็นเด็กปั๊มเพราะว่าจบมาเขาทำได้เท่านั้น ระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์คุณค่าของชีวิต ฉะนั้นเราต้องมาตั้งคำถามให้ดีว่าสังคมกำลังให้คุณค่ากับอะไร

การศึกษาคือการให้โอกาสในการเรียนรู้

          เมื่อการศึกษากลายเป็นความกดดัน พ่อแม่หลายคนอาจจะตั้งเป้าหมายว่าลูกต้องเก่ง ลูกต้องฉลาด ลูกต้องอ่านออกเขียนได้ การผลักดันให้เด็กเล็กก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษาเร็วขึ้น เป็นการจำกัดเขาไว้ด้วยกรอบทางวิชาการ ยิ่งเป็นการทำลายธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก เพราะการศึกษาปฐมวัยคือวัยแห่งรากฐานของชีวิต

          ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง บอกถึงเจตนารมย์อีกว่า การสอบเข้า ป.1 เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ทำงานรณรงค์กันมา 20 ปี ก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ คือเรื่องเหล่านี้ถ้านักการศึกษาพูดข้างเดียว ไม่ค่อยจะสำเร็จ ต้องมีนักวิทยาศาสตร์มาช่วยพูดด้วยคนจะเริ่มฟังมากขึ้น ถ้าเราย้าย Mindset มาให้ถูกต้องว่าเด็กวัยนี้ หัวใจของเด็กปฐมวัยที่จะทำให้เขาเติบโตไปแล้วเป็นเด็กที่เราอยากเห็นว่าโตขึ้น เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นคนที่ดีมีน้ำใจ เห็นภาพรวมของสังคมแล้วร่วมรับผิดชอบต่อสังคมได้ เป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ ร่วมดูแลรักษาคนอื่นได้ มีคุณค่าในสังคม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราเข้าใจว่าหัวใจของเด็กปฐมวัย คือหัวและใจ เราต้องดูแลเขาทั้งหัวสมองและทั้งจิตใจ

          เด็กปฐมวัย เขาต้องการแค่โอกาส โอกาสในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า โอกาสเรียนโรงเรียนดีเพียงอย่างเดียว แต่โอกาสที่เขาจะได้พัฒนาตัวเอง ที่สอดคล้องกับธรรมชาติสภาพแวดล้อม ส่วนมากเราไม่เชื่อ เราคิดว่าเด็กจะเติบโตและเรียนรู้ได้ เราต้องสอน แต่เราไม่นึกถึงว่าเราต้องให้โอกาสเด็กต่างหาก ทักษะสมอง Executive Function-EF หรือทักษะการบริหารจัดการตนเอง ก็บอกเช่นเดียวกันกับปรัชญาการศึกษาก็คือ ต้องให้โอกาสเด็ก ได้ลองผิดลองถูกได้ลงมือกระทำด้วยตัวเอง ได้ใช้กระบวนการคิดด้วยตัวเอง แล้วพอเขาคิดแล้วเขาลองทำ เขาเจอปัญหา เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

          การเรียนรู้ในช่วงเด็กเล็กจึงสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการเรียนรู้ให้กับเขา ให้เขาสนุกกับการเรียนรู้ ไม่ตัดสินคุณค่าของเขาด้วยคะแนนสอบ ครูก้ามองว่า เด็กในยุคปัจจุบันมีปัญหาในลักษณะที่รู้สึกตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า มีอาการซึมเศร้า เพราะตั้งแต่เล็กที่เขากำลังจะฟอร์มตัวในปฐมวัย คือวัยที่เขากำลังจะฟอร์มว่าเขาคือใคร…คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ พอเราไม่เข้าใจปุ๊บ เราไปปิดโอกาสหมดเลย แล้วเด็กเติบโตขึ้นมา น่าสงสารมาก เหมือนเขาไม่ค่อยมีพลัง มานั่งเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็เหมือนเด็กไม่ค่อยมีพลัง ไม่มีความกระตือรือร้นอยากรู้จริง ๆ ครูบอกแค่นี้ เดี๋ยวไปค้นคว้าเองหรือว่าอะไรอย่างนี้ มันต้องมีพลัง

          ปฐมวัยคือวัยที่เราต้องหล่อเลี้ยงพลังให้มากที่สุด ความที่อยากเรียน อยากทดลอง ลองผิดลองถูก เขามีติดตัวตั้งแต่เกิดแล้ว แต่เราไม่ให้เขา ครูก้าอยากมองว่า ถ้าเราหันกลับมาเริ่มต้นจากที่ทุกคนพยายามหาความรู้ความเข้าใจ แล้วเราเป็นผู้มอบโอกาสให้กับเด็กเท่าที่เราสามารถให้ได้ ใครรู้ให้ ใครเข้าใจก็ให้ ตรงนี้เด็กจะได้โอกาสขึ้นมามากขึ้น

          การศึกษาปฐมวัยคือการให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษามากกว่าให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ การคัดเลือก หรือการแข่งขัน การยกเลิกการสอบเข้าป.1 ของทุกโรงเรียนจึงเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการให้คุณค่าของการศึกษา โดยเฉพาะกฎหมายพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ไม่ให้มีการสอบเข้าป.1 ที่ทุกโรงเรียนต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรม

          ครูก้าโยงกลับไปอีกครั้งหนึ่งว่าผลที่เราเห็นเด็กโตขึ้นมา แล้วเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย ทำไมไม่มีพลังแห่งการเรียนรู้ ทำไมถึงซึมเศร้า เพราะฐานความรู้สึก ฐานใจของตัวเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ มาถูกทำลายไปเรื่อย ๆ เรียบร้อยแล้ว ความสัมพันธ์ในบ้านถูกทำลายไปเรียบร้อย แล้วแถมการศึกษาเรารุกราน เข้าไปในบ้านมาก เราไม่ยอมให้พ่อแม่ทำหน้าที่พ่อแม่ เข้าประถมไปแล้ว มีสอบ RT (Reading Test) ก็คือสอบอ่าน แล้วก็วัยประถมก็ยังอยู่ในวัยเด็กปฐมวัย รอยเชื่อมต่อเราไม่ยอมทำให้ราบรื่น เข้าไปแล้วมีการสอบอย่างนั้นอย่างนี้ มีการจัดลำดับ แถมยังมีการบ้านอีก

          ครูก้าเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านการบ้านมาก มีความรู้สึกว่าการบ้านเหมือนระเบิดที่โรงเรียนโยนไปให้ที่บ้าน แล้วบอกพ่อแม่ว่าคุณต้องรับผิดชอบลูกคุณ พ่อแม่ก็ไม่มีโอกาสทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ที่กำลังจะให้ความรู้สึกกับลูกว่า พ่อแม่คือคนที่เข้าใจหนู แล้วก็อยู่เคียงข้างหนู เป็นคนที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นและมั่นคงและปลอดภัย ปรากฏว่าอยู่โรงเรียนครูก็ดุ แล้วมาถึงบ้านแม่ก็ต้องมานั่งเคี่ยว นั่งดุให้ทำงานทำการบ้านอีก มันเหมือนโยนระเบิดไปที่บ้าน

          เราต้องกลับมาตระหนักให้ดีว่าการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัย ถ้าเป็นประเทศอื่น ยูนิเซฟเขาจะบอกว่า 0-8 ปี เพราะว่าเขาต้องการสร้างรอยเชื่อมต่อให้ดีไปจนถึงประถม เด็กมั่นคงแข็งแรงทั้งร่างกายจิตใจ แล้วก็สมองเรียบร้อย แล้วเขาพร้อมมากที่จะลุยไปกว่านั้นแล้วเราค่อยชวนเด็ก ๆ ลุยกัน แต่ในช่วงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากที่เราต้องคิด มิฉะนั้นเราจะเผลอไปทำลายรากฐานที่ดี ความรักที่แข็งแรงที่เขาจะต้องใช้ต่อไปตลอดชีวิตของเขา

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เสริมว่าการติดตั้งวิธีคิดนี้ให้กับผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญ สมมุติว่าถ้าเราอยู่ในโรงเรียนแล้วเป็นโรงเรียนที่ลูกเราไม่แฮปปี้เลย ทำยังไงดี ทั้งวันทำแต่การบ้าน นั่งเขียนทั้งวันเลย ท่องทั้งวันเลย ไม่ได้เล่นเลย ไม่มีเวลาส่วนตัวเลย เราก็ต้องเริ่มสงสัยแล้วในทุกระดับ ต้องเริ่มส่งเสียงออกมา ให้เป็นเสียงเดียวกันทั้งสังคมว่า เราจะเอาการศึกษาแบบไหน

          การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยจะเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กเล็กว่าการเล่นคือการเรียนรู้ รอจนกระทั่งเด็กเข้มแข็งทั้งหัวใจ เขาก็พร้อมจะเรียนรู้อย่างมีพลัง

เมื่อการประเมินผลต้องไม่ใช่การคัดเลือกหรือจัดลำดับ

          เด็กมีความสามารถในการจัดการตัวเองมากกว่าที่เราคิด ผู้ใหญ่มักจะคิดแทนเด็ก ประเมินเด็กหรือตัดสินพวกเขาโดยที่อาจจะไม่รู้ว่าเด็กมีความสามารถที่จะประเมินตัวเองได้

          ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง อธิบายเรื่องการประเมินผลว่า คำว่าประเมินเราพูดสั้นไป เราก็เลยลืมบทบาทสำคัญ ประเมินเพื่อพัฒนาเอาข้อมูลมาแล้วปรับปรุงตัวเราในฐานะผู้สอน นี่ควรจะเป็นชื่อยาวชื่อเต็ม ถ้าเราเข้าใจเจตนาของการประเมินแบบนี้ เราจะไม่ประเมินแล้วไปทำร้ายเด็ก

          ตั้งแต่ก่อนจะเข้าเรียน เราไม่ควรไปสอบเข้าเด็ก เราไม่ควรไปประเมินเด็ก ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กทุกคน ฉะนั้นการประเมินครูก้าอยากให้ออกกฎหมายตัวนี้มาก ประเมินการประเมินเด็กปฐมวัยว่าวัยนี้ 0 ถึง 8 ปี ประเมินผลได้ประมาณไหน อย่าไปคิดแค่อนุบาล การประเมินเด็กปฐมวัยทำได้เฉพาะกรณีที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเท่านั้น ต้องเป็นการประเมินรายบุคคลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กคนนั้น เน้นว่าไม่ใช่ประโยชน์ในการคัดเลือกจัดลำดับหรือจะเอานำไปใช้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน การประเมินก็เพื่อได้ข้อมูล มาปรับปรุงพัฒนาการสอนของเรา นี่คือหัวใจหลัก

          เด็กปฐมวัย เขาให้ใช้การสังเกต นั่นหมายความว่าเราเป็นผู้มอบโอกาส แล้วเราสังเกต แล้วเราดูผลออกมาว่า เด็กคนนี้ยังต้องการโอกาสมากขึ้นหรือเปล่า หรือเราเองให้โอกาสน้อยไปหรือเปล่า การประเมินไม่ใช่เอามาตรฐานเดียวกันมาวัดทั้งหมดกับเด็กทุกคนด้วย

          เราจะต้องรู้ว่าประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเพียงแค่จะรู้ข้อมูลว่า อ๋อ…คนนี้ทักษะสังคม ต้องเพิ่มเติมอีกหน่อย อ๋อ…เพราะว่าที่บ้านเขาคนน้อย บ้านนี้คนเยอะ เขามีต้นทุนมาเยอะแล้ว คนนี้ไม่ต้องห่วงเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น ประเมินเพื่อได้ข้อมูล อยากเห็นตรงนี้ว่าทำยังไงการประเมินจึงจะเป็นผลดีกับเด็ก ไม่ใช่เป็นผลไปทำร้ายจิตใจเด็ก เขาก็จะเสียเซลฟ์ลงไป

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ชวนให้คิดอีกว่า เรายังยัดเยียดความรู้ที่คิดว่าเด็กจะต้องรู้ เต็มไปหมดเลย เดี๋ยวเราต้องเช็คนะว่าเขารู้เรื่องนี้เรื่องนั้น แต่โลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กกว้างขวางมากกว่าใบความรู้ที่เราจะไปยัดให้เขาเยอะ ๆ เด็กบางคน อาจจะสนใจความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ละเอียดมาก เพราะเขาสนใจ แล้วคุณไม่สามารถสร้างเครื่องมือใด ๆ มาวัดสิ่งเหล่านี้ได้อยู่แล้ว มันเป็นไปตามความสนใจ

          วิธีการคือเราหลงทางมากและในหลายสถาบันการศึกษาเองก็หลงทางที่เรารีบยัดเยียดเอาทักษะ เพื่อการเรียนในระดับประถมศึกษามาวัดระหว่างนั้น แล้วก็ประเมินเด็กตั้งแต่ในระดับอนุบาล อันนี้เราพูดถึงในอนุบาลก่อน ไม่ว่าจะเป็นทักษะ อยากให้เขาเขียนได้เร็ว ๆ อยากให้เขาอ่านได้เยอะ ๆ แต่ไม่ได้ดูว่าความสนใจของเขามาจากไหน ถ้าเราสังเกตดี ๆ เด็กก็อยากจะอ่านเขียนเองอยู่แล้ว เพราะว่ามนุษย์รอบตัวเขาก็อ่านเขียนได้ แต่จังหวะก้าวไม่เท่ากันแค่นั้นเอง ก็มีช้ามีเร็ว แต่ความสนใจของเขายังอาจจะไปสนใจเรื่องอื่นก่อน การสนใจเรื่องอ่านเขียน บางคนสนใจเร็ว บางคนสนใจช้า แต่เรากลับรีบเอาสิ่งเหล่านี้ เข้าไปยัดเยียดให้เขาแล้วก็แปลงมาเป็นระบบประเมินว่า อ่านเขียนได้และเดี๋ยวไปสอบได้

          การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สนุกกับการเล่นนั่นคือการเรียนรู้ เด็กป.1 ยังเป็นเด็กที่ต้องการอิสระทางการเรียนรู้และการดูแลด้วยความรักจากผู้ใหญ่ ครูจุ๊ยบอกอีกว่า เด็กยังต้องการการดูแลแบบที่เป็นเด็กปฐมวัย การสังเกตว่าช่วงรอยต่อนี้เป็นอย่างไร พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเขาเป็นอย่างไร มีมุมที่เขายังได้เล่นได้สนุกสนาน คำว่าการสร้างกระบวนการให้เขาสนใจในสิ่งรอบตัวสำคัญมาก เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหาความสนใจใคร่ครวญความอยากเรียนรู้ของเขา ณ วันที่เราพาเขาขึ้นป.1 เพราะถ้าไม่สนุกแล้ว มันจบเลย เด็กขับเคลื่อนด้วยความสนใจ

          ฟินแลนด์เองก็พูดแล้วก็ย้ำมากว่า Pre-Primary เป็นช่วงที่สำคัญมาก เราจะเตรียมเขาอย่างไร ส่งต่อให้เขาได้ค่อย ๆ เติบโตอย่างไร อยากจะฝากไว้ทั้งโรงเรียนแล้วก็คนที่จัดการเรียนการศึกษา คุณพ่อคุณแม่ด้วย คือเด็กไม่ใช่ปลาทองหรือว่าปลาคาร์ฟ เราไม่ต้องไปเร่งมวลเร่งสีให้เยอะแยะ เราสามารถค่อย ๆ พัฒนาไป ส่งเสริมตามพัฒนาการของเขาได้

มอบอำนาจการประเมินตนเองคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก

          การส่งเสริมให้โลกภายในจิตใจของเด็กมีความอบอุ่น มีความมั่นคง ทำให้เขารู้จักตัวตน มีสติ ตัดสินใจและประเมินตนเองได้เป็นสิ่งสำคัญ เด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่ค่อยเชื่อในตัวเอง กังวลเรื่องความถูกผิด อาจจะเป็นเพราะในช่วงปฐมวัย เราไม่ได้สร้างเสริมกำลังใจและการตัดสินใจด้วยตนเองให้กับเขา

          ครูบี-มิรา เวฬุภาค มีมุมมองต่อเรื่องการประเมินผลว่า เรามักไม่ค่อยให้เด็กได้ประเมินตัวเอง ไม่มีโอกาสให้เขาได้ทำ Self-Assessment เลย อย่างเรื่องปีนต้นไม้ เรื่องนี้เล่าบ่อยมากทุกเวที คือการปีนต้นไม้ของเด็ก แม่บีเมื่อก่อนลูกปีนต้นไม้ เราก็จะเดี๋ยวก็ตกหรอก คือเราประเมินจากน้ำหนักตัวเองใช่ไหม ลูกเขาประเมินจากน้ำหนักเขาที่เขาอยู่บนต้นไม้

          การเปิดโอกาสให้เขาได้อยู่บนต้นไม้ คือการเปิดโอกาสให้เขาได้ประเมินสถานการณ์ตรงหน้าของเขาเอง ฉะนั้นเด็กได้มีโอกาสทำสิ่งนี้อยู่เรื่อย ๆ ถ้าเราเหมือน Encourage ให้เขาได้ทำอะไรแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ อำนาจการประเมินจะกลับมาที่เขา และเขาจะมีความมั่นใจทางการเรียนรู้ การมองเห็นว่าเขากำลังเรียนเรื่องอะไร สนใจเรื่องอะไร จะกลับมาที่เขา ไม่ได้แขวนไว้ที่เรา…นอกจากเรียนรู้ เขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้แล้วเขาก็เป็นเจ้าของการประเมินของตนเอง

          ครูเต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์ กล่าวเสริมในฐานะคนทำหนังว่า ฉากสำคัญในภาพยนตร์คือเรื่องการปีนต้นไม้ ทำให้เห็นว่าเด็กเขาตัดสินใจเองได้ ความยากอยู่ที่ตรงนี้ว่าผู้ปกครองจะรู้จักวิธีการรักษาระยะห่าง (Distance) ตรงนี้เอาไว้ได้แค่ไหน ในแบบที่ว่าไม่เข้าไปรบกวน (Interfere) การเรียนรู้ของเขา และในขณะเดียวกันก็ไม่ถอยซะจนเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา แล้วเราพุ่งเข้าไปช่วยเขาไม่ทัน

          อุปสรรคในการจัดการศึกษาที่สำคัญคือเรื่องเจตคติ คนที่อยู่แวดล้อมเด็กสำคัญที่สุด ผู้ปกครองไม่ใช่แค่พ่อแม่ ทั้งองคาพยพ ปู่ย่าตายาย เราเลี้ยงลูกเองก็รู้อยู่ เราทำกันมาในสิ่งเดิม ๆ บางทียากมากจนเราอาจจะไม่ได้มองอีกมุมหนึ่ง เราคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูก เวลาจะไปถกเถียงกับพ่อแม่ของเราเอง ก็จะมีคำถามตามมา ถือเป็นการเรียนรู้ภายในของเราเองด้วยว่าในฐานะพ่อแม่มือใหม่ นักวิชาการ และคนทำสื่อ เจตคติเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงมาก

          ทางเดียวที่น่าจะทำให้ทุกอย่างเดินต่อไปได้ ก่อนที่จะไปคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ใหญ่โต มาเริ่มจากตรงนี้ก่อนคือความเข้าใจที่ถูกต้องที่เรามีกับตนเองและเรามีกับเด็ก ตอนที่ทำสารคดีกับครูยุ้ยก็คิดอยู่ตลอดเวลา บางเรื่องเรารู้สึกอยากจะมีคอมเม้นท์กับการสอนแบบนี้ กับวิธีการที่โรงเรียนใช้ แต่เราก็ยั้งตัวเอง เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเป็นผู้รู้ดี คนที่อยู่ก็คิดว่าตรงนั้นดีที่สุดสำหรับเขา แต่ถ้าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการทำตามอดีตก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลง อยากให้ผู้ปกครอง นักวิชาการ นักการศึกษา ได้มารับฟัง การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องเรียน

          ขณะที่กำลังฟังการพูดคุยครูเต้ยบอกอีกว่าได้นึกถึงคำพูด (Quote) ของไอน์สไตน์ ที่กล่าวว่า The only thing that interferes with my learning is my education นี่เป็นปัญหาคลาสสิกตั้งแต่ยุคไอน์สไตน์เมื่อร้อยปีที่แล้ว และยังไม่เคยถูกแก้เลยในปัจจุบัน ยิ่งเราไปจัดการศึกษาแล้วไม่ได้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ยิ่งไปขัดขวางการเรียนรู้

การศึกษาต้องเริ่มที่การรับฟังเสียงของเด็ก

          จากวงเสวนาที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษา ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ายังมีปัญหาของการศึกษาไทยที่ยังรอการพูดคุยถกเถียงและแก้ไขอีกมากมาย ครูจุ๊ยเน้นย้ำว่า เราต้องถามตัวเองเสมอว่าเราจัดการศึกษาไปเพื่ออะไร ส่วนครูบีบอกว่า ชอบคำที่ครูก้าพูดว่า เราไม่อาจสอนการเรียนรู้ให้เด็กได้ เราทำได้แค่สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เขา เราทำได้ตลอดเวลา ถ้าใครทำก็เกิดผลทันทีโดยไม่ต้องรอระบบเปลี่ยน ไม่ต้องรอให้รัฐบาลออกนโยบาย อันนั้นเขาก็ต้องทำ แต่ว่าสิ่งที่เกิดได้ทันทีก็คือตอนนี้ทำได้เลย

          ครูก้าชวนให้พวกเราฉุกคิดว่า ทำไมเราอยากสร้างคนดีแล้วการศึกษาทำไมถึงสร้างคนดีน้อยลงไปเรื่อย ๆ คนเห็นแก่ตัวเยอะขึ้นเรื่อย ๆ สอบแข่งขันแล้วยิ่งสอบเท่าไหร ยิ่งเรียนกันเข้ม ติวเข้มแค่ไหนยิ่งได้คนเห็นแก่ตัวเยอะมากขึ้นเท่านั้น อันนี้น่าจะไม่ใช่หรือเปล่า ยูเทิร์นซะ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่

          ครูยุ้ย-โสภาวรรณ บุญนิมิตร ปิดท้ายว่า การศึกษาคือเรื่องของเด็ก แต่เราเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามที่จะจัดการให้เขา อะไรที่คิดว่าดีเราก็เข้าไปจัดการให้เขา แล้วก็ไปทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด โดยที่เราไม่ได้คำนึงเลยว่าในที่สุดแล้ว เด็กเขามีความสุขหรือไม่มีความสุข ก็อยากจะให้กลับมาว่าในที่สุดแล้วเราก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้ใหญ่เอง จะให้เด็กไม่พังก็คือผู้ใหญ่ต้องไม่พังก่อน

          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องหันมาทบทวนเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย ให้โอกาส สังเกต และรับฟังเสียงของพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น เด็กทุกคนมีธรรมชาติในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือโอกาสในการเรียนรู้ ความรัก และเวลาจากผู้ใหญ่ที่จะฟูกฟักหัวใจการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพวกเขาให้เติบโต


ขอแนะนำเพิ่มเติม

          ทำความรู้จักกับ ภาพยนตร์สารคดีชั้นหนึ่ง (First Grade) ให้มากยิ่งขึ้นและติดตามเรื่องราวของ ครูยุ้ย-ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร และครูเต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คนทำหนังที่มีหัวใจรักการเรียนรู้ได้ที่ Dream sequenze https://www.facebook.com/dreamsequenze

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

          Dream sequenze, โรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่, Flock Learning และ Mappa Platform แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครอง

Writer

ทำตัวให้เหมือนน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลา เพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

Writer

if you believe in yourself anything is possible

Writer

ทำในสิ่งที่รักให้เต็มที่ ถึงมันจะเหนื่อย แต่หมายความว่าเรายังหายใจอยู่