ความรักที่ดีมีได้ทุกวัน มุมมองความรักจาก รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ

ความรักมีความหมายที่กว้างขวาง ไร้ขอบเขต เป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

            เทศกาลแห่งความรักที่คนไทยให้ความสำคัญ เราอาจจะนึกถึงวันวาเลนไทน์ แต่นอกจากวันวาเลนไทน์แล้ว ยังมีอีกวันที่เป็นวันแห่งความรัก นั่นคือ วันมาฆบูชา เพราะวันดังกล่าวอาจจะนับได้ว่าเป็นวันแห่งความรักของทางพระพุทธศาสนา
            เรามาดูกันว่าอันที่จริงแล้ววันมาฆบูชามีความสำคัญแค่ไหน เชื่อมโยงกับวันแห่งความรักอย่างไร เราได้รับเกียรติอย่างสูงจาก รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ อาจารย์สละเวลามาเปิดมุมมองความรักในอีกด้านหนึ่ง เรามั่นใจว่าเรื่องราวนี้จะให้ข้อคิดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคตได้แน่นอน

ความรักทางหนุ่มสาวเหมือนความรักทางพระพุทธศาสนาหรือไม่

            ทางพุทธศาสนาไม่มีทางรักหรือทางชัง มีแต่ความพอดีอยู่ตรงกลางที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งก็คือทางสายกลาง ถ้าเรามองคำว่าทางสายกลางในภาพเชิงประจักษ์ก็จะง่าย เช่น โต๊ะตัวนี้มีความยาว 10 เมตร ครึ่งหนึ่งก็คือ 5 เมตร แต่เราลองนึกดูว่าถ้ามันไม่ใช่ภาพทางเชิงประจักษ์ แต่มันเป็นความคิดเรา จิตเรา แล้วตรงกลางจะอยู่ตรงไหน ซึ่งคำว่าตรงกลางก็จะแตกต่างกันไปตามฐานอารมณ์ของแต่ละคน

            ถ้ารักด้วยกิเลส รักอยากได้ รักอยากให้เขาอยู่กับเรา อยากให้เขาเป็นทุกอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น สิ่งนี้คือกิเลสหรือว่าความหลง ไม่ใช่ความรักที่แท้จริง ส่วนวันวาเลนไทน์จริง ๆ แล้วเป็นวันที่มนุษย์เราอุปโลกน์ขึ้น ไม่ได้มีอยู่จริงในปฏิทิน ในต่างประเทศเขาก็ไม่นิยมมากเท่ากับคนไทย แต่ก็ไม่ได้ผิดเพราะวันแห่งความรักย่อมดีเสมอถ้าเรารักแบบบริสุทธิ์ แต่เราจะสังเกตได้ว่าวันวาเลนไทน์ถูกใช้ไปในทางที่รักแบบมีกิเลสเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นพอผิดหวังก็มานั่งทุกข์ มีแต่ปัญหาไม่จบไม่สิ้น นั่นเพราะเรายังมีแต่ความหลงอยู่

ความรักคือความทุกข์จริงหรือ

            คนที่มีความตรงกลาง ที่พอดี สำหรับเขาแล้วจะไม่รู้สึกทุกข์ไม่รู้สึกสุข คือเขาจะมีแต่สุขจากการที่เขาไม่ทุกข์เพราะเขาอยู่ตรงกลางพอดี คนเรามักจะพูดว่าเราทำตัวเป็นกลาง แต่ทำไมยังทุกข์ล่ะ ทำไมถึงยังทะเลาะกับคนอื่นล่ะ เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ตรงกลางจริง ๆ ความยากทางพุทธศาสนาคือการหาตรงกลางของตัวเองในมโนใจของเราให้เจอ เพราะใจเราไม่สามารถเอาสายวัดมาวัดแล้วก็แบ่งครึ่งได้ เพราะฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจริง ๆ คือ ไม่มีรักไม่มีชัง ก็เพราะว่ารักมากก็ทุกข์มาก เวลาผิดหวังหรือเราชังคนมาก ๆ เราก็ทุกข์

ความเข้าใจในความรัก

            ความรักที่แท้คือการอยู่อย่างมีความสุขด้วย พรหมวิหาร 4 คำว่า พรหม คือผู้สร้าง ส่วนคำว่า วิหาร เปรียบเสมือนที่อยู่ เหมือนเราสร้างบ้าน บ้านเราต้องอยู่สบาย เราจึงจะสบาย พรหมวิหาร 4 มีดังนี้

            เมตตา คืออยากให้คนอื่นเขามีความสุข ถ้าคนอื่นมีความสุข เราก็มีความสุข คนอื่นทุกข์ เราก็ไม่มีความสุข

            กรุณา คืออยากช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ การช่วยเหลือเขาคือการกรุณา

            มุทิตา คือเวลาคนที่เขามีความสุข เราก็ยินดีกับเขา ไม่อิจฉาเขา

            อุเบกขา คือการปล่อยวาง โดยเราต้องเชื่อกฎแห่งกรรม เช่น เพื่อนเราเป็นคนดี แต่ไปทำความผิดร้ายแรงมา เพื่อนเราต้องโดนลงโทษเพราะเขาสมควรกับบทลงโทษนั้น เราจึงต้องวางเฉย ไม่ใช่ไปช่วยเขาหรือไปสงสารเขาจนกระทั่งเรามาเป็นทุกข์เอง

            เราต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย เพราะคำว่าอุเบกขาไม่ได้หมายความว่าให้เราเห็นแก่ตัวหรือไม่ช่วยใครเลย แต่เราต้องผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนข้างต้นมาแล้ว นั่นคือ เมตตา กรุณา และมุทิตา ไม่ใช่ว่าข้ามขั้นตอนมาที่อุเบกขาเลย ถ้าเป็นแบบนั้นเขาเรียกว่าเพิกเฉย ไม่ได้อยู่ในทางสายกลาง แต่เป็นความเห็นแก่ตัว

            เมื่อเมตตาบริสุทธิ์ กรุณาบริสุทธิ์ มุทิตาบริสุทธิ์ อุเบกขาก็บริสุทธิ์ เป็นความรู้สึกที่เป็นบริสุทธิ์ เป็นความสบายใจ นั่นคือความรักในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่รักด้วยกิเลสที่เป็นรักแบบอยากได้ รักอยากให้เขาอยู่กับเรา หรือเราอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น

ความรักที่แท้จริง อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

            หลักทางธรรมเป็นเรื่องที่ต้องฝึก อย่างพระเทศน์ถ้าเราฟังอย่างเดียวก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ถ้าพยายามฝึกด้วยความตั้งใจว่าเราจะต้องฝึกให้ได้ มันจะดีขึ้น แล้วเราจะพบว่ามีความสุขขึ้น เหมือนกับที่คนเราไม่ได้เชื่อในทางศาสนามากนัก แต่พอถึงวันเกิดก็ไปเข้าวัดทำบุญ เขาก็ไปเพราะเขาอยากหาความสุข

            เมื่อเขาไปทำบุญไปฟังธรรมแล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง ก็เพราะเขาสัมผัสได้ว่ามีความรู้สึกดี คงไม่มีใครไปวัดแล้วรู้สึกแย่ ความรู้สึกดีนั่นก็คือบุญที่เกิดในใจ บุญที่เกิดจากการกระทำ พอลงมือทำแล้วรู้สึกดี นั่นคือรู้สึกว่าสวรรค์อยู่ในใจ ซึ่งนับเป็นบุญที่ได้รับโดยไม่มีใครประทานให้ แต่เราประทานให้ตัวของเราเอง เป็นบุญที่ตัวเองสัมผัสเอง เหมือนการกินอาหาร แต่ละคนนั่งกินพร้อมกัน แต่ทำไมถึงอิ่มไม่พร้อมกัน แล้วความอิ่มก็ไม่เห็นต้องถามกันเลยว่าเธออิ่มหรือยัง แล้วฉันอิ่มหรือยัง ทำไมถึงไม่ต้องถามแต่ก็รู้ว่าตัวเองอิ่ม บุญก็เช่นกัน

            เมื่อเราเห็นถึงความต่างระหว่างทางพุทธศาสนากับทางโลกย์ จะพบว่าอันไหนทำให้เรารู้สึกเบาตัวแล้วก็สบายใจมากกว่ากัน อันไหนที่เราไม่ต้องแบกเลยถึงความกังวลถึงความทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้น อนาคตเราก็ไม่ต้องกังวลและมั่นใจว่าดีแน่ เพราะว่าวันนี้เราทำดีแล้ว

ความสำคัญของวันมาฆะบูชา

             วันมาฆบูชาเป็นวันที่องค์ประกอบ 4 ประการมาบรรจบกัน ประการแรก พระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย คือมาด้วยกิจเพื่อนมัสการและระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติหรือเรื่องอภินิหาร แต่เป็นสิ่งที่คนเราพร้อมเพรียงทำกันขึ้นมา

            ประการที่สอง พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าบวชให้ ประการที่สาม พระสงฆ์ทั้งหมดคือพระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้หมดกิเลส ผู้ที่กายกับจิตแยกกันโดยแท้ หมายถึงจิตไม่ยึดติดกับกาย สมมติกายไม่สวยไม่หล่อหรือว่าคนจะดูเราเป็นอย่างไร เราก็ไม่สนใจ เพราะว่าจิตกับกายเราแยกกัน กายก็เหมือนแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าจิตเราต้องออกจากร่างแล้ว ใครจะเอาร่างเราไปเผาหรือไปทำอะไร เราก็ไม่สนใจแล้ว ประการสุดท้าย พระพุทธเจ้าให้โอวาทปาฏิโมกข์ คือสอนให้มนุษย์มีความเมตตา ทำดี และละเว้นชั่ว

            วันมาฆบูชาจึงถือว่าเป็นวันสำคัญ ประเพณีเกี่ยวกับวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล แต่เริ่มมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 คือพระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งทั้ง 4 อย่างมาบรรจบเป็นเรื่องดี น่าจะทำบุญอะไรสักอย่างเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อก่อนจัดขึ้นแค่ในพระราชวัง ภายหลังก็เริ่มเผยแผ่ออกมาถึงประชาชนชาวบ้าน จนกลายเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่เราจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการที่เราไปทำบุญใส่บาตรที่วัดโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของวันนี้ ก็เป็นความรู้สึกแบบผิวเผิน แต่ถ้าเรารู้ จะทำให้เราทำบุญด้วยความตั้งใจขึ้น รู้คุณค่าของการทำบุญมากขึ้น

            เรื่องเหล่านี้สมควรเล่าต่อกันไป ไม่ใช่เพื่อให้ใครเชื่อหรือเพื่อให้ศรัทธา แต่เพื่อไม่ให้มันสูญหาย ซึ่งอะไรที่ตั้งใจทำและสืบสานต่อเขาเรียกว่าจารีตประเพณีและวัฒนธรรม สังเกตได้ว่าทุกคนจะมีความภาคภูมิใจเมื่อตัวเองมีจารีตประเพณีและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับตัวเราเองที่เมื่อมีอะไรที่ดี ๆ ก็คงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดและสืบทอดนั้น แต่เวลาที่เราจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้คนฟัง ก็ควรเล่าให้คนที่สนใจเรื่องที่เราพูด ไม่ใช่ว่าเราไปคุยกับคนที่เขาไม่สนใจ นั่นหมายความว่าเราต้องอุเบกขา อย่าไปบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนเรา เพราะขนาดเราเองยังบังคับความคิดของตัวเราเองไม่ได้ แล้วเราจะไปบังคับคนอื่นได้อย่างไร เราจะทุกข์เปล่า ๆ เพราะ “เมตตาเกินขอบเขตจะเป็นเหตุแห่งทุกข์” คำว่าเกินขอบเขตคืออาการของคนที่ล้นเกินไป เราจึงต้องดึงมาตรงกลาง เพราะถ้าเกิดเราไม่พยายามดึงตัวเองให้อยู่ตรงกลาง ทุกข์ก็ยึดติดทุกข์ สุขก็ยึดติดสุขอยู่อย่างนั้น ก็จะทำให้เราเกิดแต่ความทุกข์

การเข้าถึงพระพุทธศาสนา

            เราต้องมีกุศโลบาย เช่น อาจชวนเพื่อนไปทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลชีวิต ลองให้เขากราบพระ แล้วดูซิว่าความรู้สึกขณะกราบพระอย่างตั้งใจนั้นเป็นอย่างไร ถ้าสัมผัสถึงความสุขสงบ ก็เป็นบุญของเขาแล้ว และถ้ารู้สึกดีก็ถามตัวเองว่าทำไมเราถึงกราบ ? เพราะเรากราบเพื่อตั้งใจรำลึกถึงความลำบากของพระพุทธเจ้าที่ชี้ทางพ้นทุกข์ให้ทุกคนมีความสุข

            ลองเดินผ่านวัดหรือพระพุทธรูป แล้วก้มลงกราบแบบช้า ๆ พร้อมคิดพิจารณาดูว่าเรารู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วลองคิดว่ากว่าที่ศาสนาเราจะมาถึงทุกวันนี้ 2,500 กว่าปี พระพุทธเจ้าท่านต้องไปเดินธุดงค์ในป่ามากกว่า 6 ปี เพื่อที่จะหาหนทางสว่างให้กับมนุษย์อย่างเรา หรือลองดูพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ เวลาท่านกราบพระ ท่านจะกราบได้แบบงดงามเป็นอย่างมาก เพราะท่านได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกครั้งเวลากราบ การที่เรากราบลงไปคือการที่เราละตัวตน การละตัวตนได้จะทำให้เราเป็นคนไม่มีอีโก้สูงเกินไป พอเราไม่มีอีโก้สูง เราก็จะรับรู้และเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะเวลาที่เราก้มกราบจะทำให้เราลดทิฐิลงนั่นเอง

            หลักการทางสายกลางถือเป็นรากแก้วของศาสนา แต่บางคนคิดว่าการศรัทธาศาสนาคือความหัวโบราณ แต่อันที่จริงนี่เป็นหลักการสำหรับใช้ชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต ถ้าอดีตทำมาดีอย่างไร ปัจจุบันและอนาคตก็จะดีอย่างนั้น เพราะเป็นกฎแห่งกรรมซึ่งกรรมก็คือการกระทำ หลักการเหล่านี้หาอ่านได้ตามหนังสือพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมา แต่ให้ฟังและพิสูจน์ด้วยตัวเองหรือที่เรียกว่ากาลามสูตร ดังนั้นถ้าจะบอกว่าโบราณ ก็โบราณด้วยกาลเวลาเท่านั้น แต่หลักการเป็นความจริงที่ไม่เคยโบราณเลย

            ในฐานะเพื่อน เราควรชักชวนเพื่อนให้สนใจพระพุทธศาสนาด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา แต่ถ้าเราตั้งใจอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อนก็ยังไม่เชื่อ เราก็ต้องมีอุเบกขา แต่ถ้าเขาสนใจ หัวใจเขาจะพองโต หัวใจเราก็พองโตเช่นกันที่ได้เป็นสะพานบุญ

            จะเห็นแล้วว่าความรักทางโลกย์อย่างวันวาเลนไทน์กับความรักทางพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชาต่างกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามทั้งสองวันนี้เป็นวันที่ดีทั้งคู่ถ้าเรารู้จักความรักอย่างถ่องแท้ นั่นคือการที่ทุกคนอยู่บนความจริงและทางสายกลาง ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป เพราะนั่นจะกลายเป็นความหลงอันจะทำให้เราอยู่อย่างเป็นทุกข์

            การพูดคุยกับอาจารย์ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความสำคัญทั้ง 4 ประการที่มาบรรจบกันในวันมาฆบูชานั้น ก็สะท้อนถึงความรักในทางพระพุทธศาสนา นั่นคือไมตรีจิตที่มีต่อกันระหว่างพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้ได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มุมมองเกี่ยวกับความรักจะทำให้ทุกคนหันกลับมามองความรักของตนว่าเป็นความรักที่แท้หรือไม่ และการ รักให้เป็น นั้นเป็นอย่างไร

            ความรักที่ดีก็มีได้ในทุกวัน ความรักที่งดงามเราสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง

Writer

อุปสรรคล้วนเป็นยาขม ไม่มีใครอยากลิ้มลอง แต่ขึ้นชื่อว่ายาขม ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาที่ดีเสมอ