DIMA to BU 2020 Project

เพราะเราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โครงการเรียนรู้ สื่อสาร และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของนักศึกษาเกาหลีที่ ม.กรุงเทพ

            “อันยองฮาเซโย” คำทักทายด้วยภาษาเกาหลี และรอยยิ้มที่สดใสของสองหนุ่มสาวจากแดนกิมจิ ตัวแทนนักศึกษาเกาหลี ทำให้เราอดที่จะส่งยิ้มตอบไม่ได้ ยองจุน และแฮอึน นักศึกษาจาก Dong-Ah Institute of Media and Arts (DIMA) จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เดินทางมาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพในโครงการ DIMA to BU 2020 Project

            โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, Bangkok University International (BUI), คณะนิเทศศาสตร์ และ Dong-Ah Institute of Media and Arts (DIMA) จากประเทศเกาหลีใต้ โปรแกรมนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเกาหลี จำนวน 10 คน ร่วมกับนักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างชาติของม.กรุงเทพ อีกประมาณ 10 คน ได้ทำงานร่วมกัน มีกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ประกอบไปด้วย Communication Arts Workshops กิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ และการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย กับ คณะนิเทศศาสตร์ สาขา Innovative Media Production (IMI) เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์

            ไม่เพียงแต่พวกเขาจะเปลี่ยนที่เรียน แต่ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อรับประสบการณ์และความรู้ใหม่นี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหมายของการมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นความโชคดีมากที่เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขา ถึงแม้จะมีเวลาไม่นาน แต่สองหนุ่มสาวที่วัยใกล้เคียงกับเรา มีอะไรมากมายมาเล่าให้ฟัง

สัปดาห์ของโอปป้า เกาหลี ในรั้ว BU

            หนุ่มหล่อคนแรกที่เราขอแนะนำ KIM YONG JUN จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ยองจุน”

KIM YONG JUN หรือ ยองจุน นักศึกษาจาก DIMA

            ยองจุนได้เล่าถึงเหตุผลที่เลือกมาร่วมโครงการ DIMA to BU 2020 Project ไว้ว่า “ผมเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกาสามเดือน หลังจากนั้นจึงอยากมาแลกเปลี่ยนอีก ได้เห็นประกาศโครงการนี้ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สถาบันที่ผมเรียน ผมจึงหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พอได้เห็นข้อมูลว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ทำให้ผมอยากลองมาที่นี่” เราฟังยองจุนเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความประทับใจ

            หนุ่มเกาหลียังบอกถึงเรื่องการปรับตัวใช้ชีวิตในประเทศไทยว่า “ผมรู้สึกว่าที่ประเทศไทยทำอะไรสบาย ๆ ค่อนข้างช้า ไม่เหมือนที่ประเทศเกาหลีที่ทำอะไรก็จะรวดเร็วไปหมด รู้สึกว่าคนไทยใช้ชีวิตแบบ Slow life แถมคนไทยยังเป็นมิตร และใจดีมาก”

วัฒนธรรมการกินและผัดไทยที่ใคร ๆ ก็ชอบ

            อาหารการกินถือเป็นวัฒนธรรมที่คนต่างชาติสนใจเรียนรู้ “ส่วนเรื่องอาหารผมว่าคนไทยจะกินน้อยกว่าคนเกาหลี เพราะอาหารเกาหลีจะมีเครื่องเคียงเยอะกว่าอาหารไทย ช่วงแรกผมต้องกินข้าวสองจานต่อมื้อ ตอนหลังก็ปรับตัวได้แล้ว กินจานเดียวก็พอ”

            เราจึงถามต่อว่ายองจุนของเราชอบกินอะไรเป็นพิเศษ “อาหารที่ผมชอบเป็นพิเศษมีอยู่ 3 อย่าง คือ ส้มตำ เพราะรสชาติคล้ายกับกิมจิของเกาหลี  อย่างที่สองคือ ก๋วยเตี๋ยวไก่ เพราะผมได้กินตอนเช้าทุกวัน และสุดท้ายคือชาไทย เพราะรสชาติเหมือนชาที่ประเทศเกาหลี แต่สิ่งที่แปลกคือที่ประเทศไทยชาเป็นสีส้ม” ส่วนชาเกาหลีสีสันจะไม่จัดจ้านเท่าชาไทย

            คลาสเรียนที่นี่ยังจัดให้หนุ่มเกาหลีคนนี้ได้มีโอกาสทำอาหารไทย “ผมยังชอบการเรียนในคลาสทำอาหาร เพราะได้ทำผัดไทย ถึงผมไม่ได้เตรียมวัตถุดิบเอง แต่ผมได้ผัดเส้น และปรุงอาหารเอง ในคลาสเรียนเป็นผัดไทยไก่ แต่ผมเคยกินผัดไทยกุ้ง ผมชอบผัดไทยกุ้งมากกว่า” เขายังอธิบายท่าทางประกอบการทำอาหารให้ดูอีกด้วย

            การสอนทำผัดไทยและขนมไทยต่าง ๆ ยังได้เชฟมือดีมาให้ความรู้ เราตามไปดูที่คลาสนี้ เห็นเด็กเกาหลีและเด็กไทยสวมหมวกเชฟ และชุดเชฟอย่างทะมัดทะแมงยืนอยู่หน้าเตา ทำอาหารด้วยความตั้งใจ อาหารวันนั้นใครได้ลองชิมเป็นต้องติดใจไปตาม ๆ กัน เพราะแต่ละคน แต่ละทีมร่วมแรงใจทำอาหารกันอย่างเต็มที่ อิ่มท้องกับอาหารและยังอิ่มใจในมิตรภาพของเพื่อนใหม่ที่ได้ทำความรู้จักอีกด้วย

ทริปการเรียนรู้วัฒนธรรม

            ฟังเรื่องกินไปแล้ว มาถึงเรื่องเรียนในโปรแกรมนี้กันบ้าง ยองจุนได้เล่าถึงบรรยากาศการเรียนไว้ว่า “ผมชอบรูปแบบในการเรียนแบบนี้มาก ชอบทุกคลาสที่เข้าเลย ส่วนที่ชอบที่สุดคงเป็นการไปเข้าชมคานโชว์ที่พัทยา (KAAN SHOW PATTAYA) เป็นการไปชมโชว์เพื่อที่จะนำแรงบันดาลใจที่ได้มาทำ Final Project ตอนที่ผมไปดู ผมไม่ค่อยเข้าใจเนื้อเรื่องเท่าไหร่ เพราะเป็นวรรณคดีไทย เช่น เรื่องเงาะป่า ชาละวัน ถึงเป็นการแสดงแบบโชว์แต่ผมไม่ได้โฟกัสกับการแสดงเลย ผมไปโฟกัสกับ Special effect แทน ในการโชว์มีจอฉายภาพที่เป็นฉากหลัง นำเสนอแสง สี และเสียงประกอบการแสดง ทำให้การแสดงนี้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว”

            การไปชมโชว์ทำให้ยองจุนและเพื่อนคิดนำเสนอคลิปวิดีโอที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมไทย สื่อสารเป็นภาษาเกาหลี โดยยองจุนได้เรียนรู้การทำคลิปวิดีโอเพิ่มเติมในคลาสเรียนการเล่าเรื่องและการตัดต่อที่มีอาจารย์ให้คำแนะนำในการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลงานครั้งนี้เขากำลังเตรียมตัวนำเสนอในวันก่อนเดินทางกลับประเทศเกาหลี

จีบและตั้งวง

            รำไทยและคุณครูชาวไทยคืออีกสิ่งหนึ่งที่ยองจุนประทับใจ “พวกผมได้เรียนรำไทยกันด้วย แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การจีบและการตั้งวง เพราะมือของผมแข็ง ผมไม่สามารถทำให้มืออ่อนตามอาจารย์ผู้สอนได้ ทำให้ผมรู้สึกตึง และปวดที่หลังมือมาก รำไทยของที่นี่มีความคล้ายกับการแสดงของเกาหลี และในคลาสมีโจงกระเบนสำเร็จรูปให้ใส่ด้วย  พอใส่เข้าไปแล้วผมรู้สึกทะมัดทะแมง เดินสะดวกมากขึ้น”

            เราเห็นท่าทางที่ยองจุนพยายามตั้งวงและจีบให้เราดูด้วยความตั้งใจ ใครเห็นเป็นต้องหลงรักโอปป้าคนนี้แน่นอน

ล่องเรือเรียนรู้วิถีชีวิตริมน้ำเจ้าพระยา

            การล่องเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นกิจกรรมที่นักเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองไทยไม่ควรพลาด เพราะเราจะเห็นบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา วัดวาอารามในยามค่ำคืน “ผมได้ไปล่องเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ได้นั่งเรือแบบนี้ เรือมีการตกแต่งที่หรูหรามาก ผมเพลิดเพลินไปกับการชมวิวของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จนลืมกินข้าวเย็นไปเลย”

            ที่ยองจุนเล่ามานี้ ทั้งหมดคือกิจกรรมในคลาสที่เราได้จัดเตรียมไว้ให้ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปทำกิจกรรมนอกคลาสอีกด้วย ยองจุนได้ไปที่ไหนมาบ้างนะ ?

เพื่อนใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ

            ยองจุนบอกเล่ามิตรภาพของเพื่อนชาวไทยที่ได้รู้จักเพิ่มขึ้นให้ฟังว่า “ผมได้ไปเดินที่ Night Market ผมไปเจอร้านเพ้นท์ และเจ้าของร้านเพ้นท์เธอน่ารักมาก เราทั้งสองได้แลกข้อมูลการติดต่อกัน แล้วเธอพูดภาษาเกาหลีได้ ทำให้คุยกันง่ายขึ้น ซึ่งเธอก็พักในละแวกเดียวกันกับผม จึงมีโอกาสนัดกันไปทานข้าว และเธอบอกว่าเธอก็ชื่นชอบศิลปินเกาหลีมาก เราคุยกันเกี่ยวกับประเทศเกาหลี แถมผมยังได้สอนภาษาให้เธออีกด้วย”

ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด

เราได้พูดคุยกับยองจุงในวันที่เขากำลังจะนำเสนอ Final Project เพื่อส่งงานจบโปรแกรมการมาเรียนรู้ในครั้งนี้ โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาของไทยและเกาหลีมาร่วมฟังการนำเสนอมากมาย เขาตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ก็สนุกสนานในการนำเสนองาน พร้อมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์ เพื่อนำคำแนะนำไปปรับปรุงผลงานคลิปวิดีโอให้ดียิ่งขึ้น

            เดี๋ยวก็จะได้กลับบ้านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง เราถามคำถามสุดท้าย “รู้สึกเสียดายที่จะต้องกลับแล้ว เพราะมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ แต่วันแรกที่มาถึงผมรู้สึกว่าอากาศร้อนมาก ช่วงนี้ที่ประเทศเกาหลี -5 องศา แต่พออยู่มาสักพักก็เริ่มชิน ส่วนเรื่องอาหาร ตอนแรกยังไม่ค่อยชินสักเท่าไหร่ พออยู่สักพักก็เริ่มจะชินกับอาหารเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรผมบอกเลยว่าจะหาโอกาสกลับมาเที่ยวที่ประเทศไทยอีก”

            ประเทศไทยก็ยินดีต้อนรับเสมอ ต้องกลับมาให้ได้นะ เราย้ำกับยองจุน และสุดท้ายนี้อยากให้ยองจุนได้สรุปประสบการณ์ที่มาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ให้พวกเราฟังหน่อย “ผมพอใจกับโครงการนี้มาก ทำให้ผมได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย สิ่งที่ทำให้ผมพอใจมากที่สุดคือการได้พบเพื่อนใหม่  แต่สิบกว่าวันผมรู้สึกว่ามันน้อยเกินไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่กำลังทำให้ผมสนิทกับเพื่อนที่นี่ ถ้ามีเวลามากกว่านี้ผมก็จะทำความสนิทกับเพื่อนให้มากที่สุด พอใกล้วันกลับบ้านผมจึงเสียใจที่จะต้องจากกัน”

            ยองจุนยังบอกอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่อยากทำคือการเรียน “มวยไทย” เรารับรองว่าถ้าครั้งหน้ายองจุนแวะมาเยี่ยมเราที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราจะพาไปเข้าคลาสมวยไทยอย่างแน่นอน

            ได้ฟังเรื่องราวของหนุ่มหล่อกันไปแล้ว มาฟังเรื่องราวของสาวสวยระดับนางเอกซีรีย์เกาหลีกันบ้าง

สวัสดีเราชื่อ “แฮอึน”

            นับเป็นครั้งแรกของพวกเราก็ว่าได้ที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับพี่สาวที่ใจดี EO HYE EUN เป็นชื่อของเธอ แต่เรียก “แฮอึน” ก็ได้ เธอได้บอกกับเราว่าเธอเคยไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มาก่อน ส่วนตัวแล้วเธอไม่ได้รู้จักว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่เห็นในรายการทีวี และพวกรายการแนะนำการท่องเที่ยว นี่เลยเป็นเหตุผลที่อยากมาเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองไทย และอยากทำความรู้จักกับเพื่อนคนไทย

EO HYE EUN หรือ แฮอึน นักศึกษาจาก DIMA

            เราถามต่อว่าตอนนี้มีเพื่อนเป็นคนไทยบ้างหรือยัง แฮอึนบอกว่า “มีแล้ว เราได้รู้จักเพื่อนหลายแบบเลย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนคนไทยที่ม.กรุงเทพ ที่ได้มาร่วมโครงการด้วยกัน แล้วก็ได้รู้จักเพื่อนของเพื่อนที่เขาได้มาแนะนำให้รู้จักอีกที”

เปิดประสบการณ์ใหม่

            การมาเมืองไทยในครั้งนี้ พี่สาวคนสวยยังได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากมาย “เราได้เจอเพื่อนใหม่ที่ถนนข้าวสาร แลกข้อมูลการติดต่อกัน ได้รู้จักเพื่อนที่เป็นคนไทยที่เคยไปเรียนที่เกาหลี เขาพาเราไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ทำให้เรามีเพื่อนเยอะขึ้นไปอีก เรายังมีโอกาสได้ไปเที่ยวตลาดนัดรถไฟรัชดา ได้ไปทำเล็บ เพราะเป็นคนที่ชอบแต่งตัว ชอบที่เมืองไทยมาก เพราะของที่นี่ราคาย่อมเยากว่าประเทศเกาหลี”

            ทั้งได้เที่ยวและได้เพื่อนสมใจเธอเลย แฮอึนยังเล่าถึงการเดินทางที่ค่อนข้างหลากหลายในไทยว่า “การเดินทางที่เกาหลีมีแค่แท็กซี่ รถบัส รถไฟ แค่นี้ แต่ในกรุงเทพมีหลายอย่างมาก ทั้งรถตุ๊กตุ๊ก วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน ตัวเราเองเคยขึ้นเกือบหมดแล้วยกเว้นรถตุ๊กตุ๊ก” ถ้ามาประเทศไทยรอบหน้าแฮอึนต้องมาหาโอกาสขึ้นรถตุ๊กตุ๊กให้ได้ เราเสนอตัวเองเป็นไกด์พาเธอเที่ยว

ได้เรียนรู้จากคนเก่ง ๆ มากมาย

            เรากลับมาคุยเรื่องการเรียนในคลาสกันดีกว่า ว่าแฮอึนรู้สึกอย่างไรบ้าง “เรารู้สึกว่าทุกคลาสที่มหาวิทยาลัยจัดให้ เขาได้เชิญผู้บรรยายที่เป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในไทยมาบรรยายให้พวกเราฟัง ทั้ง Youtuber และได้เรียนรู้ในการทำ Music Video, ทำหนังสั้น (Short Film) อีกด้วย ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมการมาอย่างดี รู้สึกพอใจเป็นอย่างมากเลย”

            เรียนเยอะขนาดนี้แล้วแฮอึนชอบคลาสไหนที่สุด “เราชอบทุกคลาสเลยนะ”

            ส่วนที่ชอบเพิ่มเติมคือการได้ไปทัศนศึกษา (Field trip) “ชอบสุดก็คงเป็นการไปเที่ยวพัทยา เพราะชอบร้านอาหารที่พัทยา ร้านมุมอร่อย เป็นร้านอาหารซีฟู้ด เรากินแบบจัดหนักเลย วันนั้นเป็นวันที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ทั้งเรื่องอาหาร ที่ยังมีอาหารแบบพื้นเมือง อาหารทะเล ก๋วยเตี๋ยวเรือ และก็วิวสวยมากเลย”

ความแตกต่างคือความท้าทาย

            เราได้ฟังกิจกรรมสนุกสนานมากมายจากแฮอึน จึงอยากรู้ต่อว่า เธอเจอกับปัญหาอะไรบ้างไหมในการมาไทย “เรื่องแรกก็คืออากาศเพราะต้องปรับตัว อากาศทั้งร้อนและชื้น ไม่คุ้นเคย อีกอย่างอาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม หรือเป็นเพราะสภาพอากาศก็เป็นได้ ที่เกาหลีเราจะทำอะไรรวดเร็วและตรงต่อเวลามาก แต่ที่นี่ทุกคนอาจจะมีความสบายอยู่บ้าง” แฮฮึนอธิบายให้เราฟังด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจที่มีต่อวัฒนธรรมไทย

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก BU

            สุดท้ายนี้อยากให้แฮอึนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการมาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ “การมาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้มันคุ้มกว่าการมาแบบทัวร์ เราได้สัมผัสในหลายแง่มุม ได้ประสบการณ์หลายอย่าง และรู้สึกดีที่ทางมหาวิทยาลัย อาจารย์ และเพื่อน ๆ ที่นี่ ดูแลเรา เตรียมทุกอย่างมาดี ทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยทำให้ คือได้ผ่านการคิดมาดีแล้ว ทั้งการดูแล เทคแคร์ การเอาใจใส่ เรายังรู้สึกไม่อยากกลับประเทศเกาหลี เพราะว่าสามวันแรกป่วย แต่หลังจากที่หายป่วยแล้ว ทำให้การใช้ชีวิตที่กรุงเทพสนุกมากกว่าสามวันแรกที่มา เราคิดว่าแค่สัปดาห์กว่า น้อยเกินไปสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศไทย”

            เราพูดคุยกันมาได้สักพักใหญ่ เหลือบมองนาฬิกา ได้เวลาที่ยองจุน และแฮอึนต้องไปนำเสนองาน Final Project ก่อนเดินทางกลับเกาหลี

            “คัมซาฮัมนีดา” เราส่งภาษาเกาหลี ที่แปลว่าขอบคุณ ให้กับ ยองจุน และแฮอึน สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ในโครงการ DIMA to BU 2020 Project การเดินทางไปต่างแดน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ รู้จักเพื่อนใหม่ วัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เราเติบโตในการใช้ชีวิต มองโลกในมุมที่กว้างขึ้น เพราะเราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • DIMA to BU 2020 Project เป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-22 มกราคม 2563
  • สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สนใจเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ International Center Bangkok University และ Facebook Fanpage ของคณะนิเทศศาสตร์ BUCA International

 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก DIMA to BU 2020 Project

Writer & Photographer

ทุกการผิดพลาด จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เรายิ่งใหญ่

Writer

ชีวิตก็เหมือนกล้องถ่ายรูป โฟกัสเฉพาะจุดที่สำคัญแล้วเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์เอง

Writer

เป็นคนชอบถ่ายรูป เพราะการถ่ายภาพทำให้เราผ่อนคลาย และเป็นงานอดิเรกที่สามารถเยียวยาจิตใจ

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว

Photographer

เด็กนิเทศที่ชอบออกไปข้างนอก พบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย วัน ๆ อาจจะไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้ามีงานให้ทำก็เต็มที่ไปกับมัน ถึงนิสัยจะบ้าหน่อย แต่ก็รักการถ่ายรูป

Photographer

ศิลปะก็คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ที่เหลือก็อยู่ที่คุณเอง จะมองเห็นหรือเปล่า