เชื่อว่าเพื่อน ๆ คงจะรู้จักตำแหน่ง LXD กันใช่ไหม แต่หลายคนกลับยังคงคิดกันว่า หน้าที่ LXD คือการเดินแจกกระดาษ เดินไปมาในห้องเรียน และทำตามที่อาจารย์สั่งเท่านั้น ถ้าเพื่อน ๆ คิดกันแบบนั้น เราขอบอกเลยว่าผิดถนัด เพราะจริง ๆ แล้ว LXD ยังมีหน้าที่อะไรอีกมากมายกว่าที่คิด
เราจึงไปคุยกับผู้ที่รับหน้าที่นี้ เขาและเธอจะมาเล่าประสบการณ์ ของการเป็น LXD เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักหน้าที่นี้ให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้รู้ว่า LXD ทำอะไรกันแน่ แต่ยังจะได้รับมุมมองใหม่ที่น่าสนใจจากพวกเขาด้วย
มุก-ศศิกาญจน์ สวัสดิ์เรือง
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง
LXD คืออะไร
LXD ย่อมาจาก Learning Experience Designer ถ้าแปลตามชื่อเลยก็คือ เราเป็นคนช่วยออกแบบประสบการณ์การเรียนการสอนให้ผู้เรียน เหมือนเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ในแต่ละคลาสเราก็จะมีการวางแผนก่อนว่าผู้เรียนต้องการอะไร เพราะเราก็ยังเป็นนักศึกษา จึงจะมีความคิดที่คล้ายกับผู้เรียนซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้ เหมือนเป็นตัวแทนถ่ายทอดความคิดและความต้องการของผู้เรียนให้อาจารย์
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ในแต่ละคลาสเราจะประชุมงานกับอาจารย์ก่อนว่า คลาสนี้อาจารย์จะสอนอะไร แล้วกิจกรรมอะไรที่เราสามารถดึงไปใช้ได้ โมดุลอะไรที่เราจะนำมาใช้ในการสอนผู้เรียนให้เข้ากับการเรียนในแต่ละเลเวล หรือบางทีเราไม่ได้ประชุม หน้างานวันที่เรามีเรียนก็ต้องคุยกับอาจารย์ว่า อาจารย์จะสอนและต้องการบอกอะไร ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในการประชุมนั้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมตอบคำถามของผู้เรียนให้ได้ เมื่อผู้เรียนถามมา เราก็ต้องตอบเขาให้ได้
การเป็น LXD มีการอบรมไหม
ช่วงประมาณกลางเทอมที่ผ่านมามีการอบรม และเราเป็น LXD ครั้งแรกก็ต้องผ่านการอบรมก่อน โดยอาจารย์ให้เราออกแบบกิจกรรมและให้ลองดำเนินการเอง กลุ่มหนึ่งประมาณ 10 กว่าคน เป็นการออกแบบกิจกรรมมากิจกรรมหนึ่งภายใต้โจทย์ที่อาจารย์มอบหมายให้หรือโมดุลที่จะนำมาใช้ จากนั้นก็ทำเป็นกิจกรรมขึ้นมา เหมือนเราสอนเพื่อน แต่ละกลุ่มก็จะผลัดกันสอน แล้วอาจารย์ก็จะดูว่ากิจกรรมของเราขาดเหลืออะไรไหมอะไร หลังจบกิจกรรมก็จะมีคอมเมนต์จากอาจารย์ด้วย
ทำแล้วได้อะไร
อย่างแรกเลยคือเราได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น แล้วเราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนดีขึ้น ทำให้เรากล้าพูดกล้าถาม บางทีผู้เรียนบางคนไม่กล้าถาม เราก็จะเดินไปถามเขา สงสัยอะไรไหม เราก็จะตอบเขาแทนอาจารย์ ได้ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางทีเราก็ไม่รู้อารมณ์ของผู้เรียน เราก็ต้องคิดว่าเราควรที่จะถามเขาว่าอย่างไร หรือบางทีผู้เรียนถามคำถามมาแบบห้วน ๆ เราจะไปโกรธเขาก็ไม่ได้ แต่ต้องใจเย็นแล้วตอบเขา
ทำไมถึงมาเป็น LXD
ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็น LXD เลย คิดว่าจะนั่งเรียนตามปกติ เพราะเราลงเรียนไว้แล้ว แต่เพื่อนชวนมาแบบ เราก็เลย—โอเคเราเป็นก็ได้—คือเป็นแบบไม่ได้คิดอะไรมากเลย คิดแค่ว่าอยากไปช่วยอาจารย์ แต่เรากลับได้อะไรหลาย ๆ อย่างกลับมาอย่างที่บอกซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนหรือแม้กระทั่งในชีวิตเราได้
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
สำหรับเราถือว่าดี เพราะเราจะได้รับการเทียบเกรด แต่สำหรับในการทำงาน เราก็เต็มที่กับงาน และคาดหวังว่าผู้เรียนแต่ละคนจะได้ในสิ่งที่โค้ชแต่ละท่านสอน มีเกรดที่ดีเพราะจากการช่วยตามงานของผู้เรียน จะเห็นว่าหลายคนมักคิดว่าวิชานี้อย่างไรก็มีเกรด จนทำให้มองข้ามวิชานี้ ถ้าถามว่าเราคาดหวังอะไรไหม เราแค่คาดหวังว่า อยากให้เป็นวิชาที่ทุกคนตั้งใจและใส่ใจในการเรียนเท่ากับวิชาตัวอื่นที่คุณเรียนปกติทั่วไป เพราะหน่วยกิตก็เท่ากับวิชาอื่น แล้วยังให้อะไรหลาย ๆ อย่างที่บางวิชาให้เราไม่ได้ ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต ในการทำงานจริง และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าสังคม เพราะคุณจะทำงานคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำงานกันเป็นกลุ่ม
รุ่ง-ภาคภูมิ คุ้มสุวรรณ์
คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ชั้นปีที่ 3
LXD คืออะไร
LXD สำหรับผมคือ ผู้ช่วยอาจารย์ในการสอน การให้ความรู้นักศึกษาผ่านการทำกิจกรรมและได้เปิดประสบการณ์ใหม่ การที่เราได้เรียนหนังสือคือเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเป็น LXD คือมองจากอีกมุมของอาจารย์ และได้สอนนักศึกษา ถ้าการเป็นนักเรียนคือการเตรียมตัวเรียน การเป็นอาจารย์ก็คือการเตรียมตัวสอน ดังนั้นการเป็น LXD ก็ทำให้เราต้องเตรียมตัวว่าเราจะต้องสอนอะไร และเราต้องทำอย่างไรให้เข้าใจเพื่อนนักศึกษามากขึ้น
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ต้องมีการวางแผนอาทิตย์ต่ออาทิตย์ว่าเราจะสอนอะไรให้กับนักศึกษา แล้วเราก็มาลงรายละเอียดว่า เรื่องที่เราจะสอนจะสอนอะไร สอนอย่างไร และสอนแบบไหนให้เข้าใจ เราจะเอาศาสตร์อะไรมาใช้กับนักศึกษา อย่างเช่นในเรื่องของการสร้างแบรนด์ เราจะเอาศาสตร์ไหนมาสอนให้ผู้เรียน เป็นการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเรา ผู้เรียน และมีอาจารย์คอยทำหน้าที่เป็นโค้ช ซึ่งคิดว่าวิธีการเรียนรู้ในแบบนี้ เราได้ฟังเสียงของวัยรุ่นจริง ๆ ว่าเขาต้องการเรียนรู้อะไร โดยมี LXD เป็นตัวเชื่อมประสาน
การเรียนรู้แต่ละครั้ง เราจึงต้องเตรียมการให้ดีว่าใครจะเดินไมค์ ใครจะเปิดสไลด์ ใครจะเป็นพิธีกร ใครจะถามตอบนักศึกษา ใครจะเป็นคนสร้างอารมณ์และบรรยากาศในการเรียน ต้องมีพี่เข้าประกบน้องแต่ละกลุ่ม มีการวางแผนว่า ใครเช็กชื่อ วันนี้จะเช็กชื่อแบบไหน วันนี้จะทำงานอย่างไร เรียกว่าทำทุกอย่างเลยตั้งแต่ต้นจนจบ หรืออย่างเนื้อหาการสอนบางทีอาจารย์จะหามา หรืออาจารย์อาจจะให้เรากระจายกันไปหาว่า เราอยากจะเอาเนื้อหาอะไรเข้ามาสอนบ้าง ระหว่างสัปดาห์เราก็จะมาเตรียมกัน ว่าใครพูดได้ไหม คนไหนพูดเก่งหรือสื่อสารเก่ง ถ้าใครพูดเก่งทำเก่งและกล้าแสดงออก เราก็จะให้เขาเป็นคนพูด ขณะที่บางคนพูดไม่เก่ง แต่อาจหาข้อมูลเก่ง เราก็ให้เขาเป็นคนหาข้อมูล ผมเลยคิดว่าการเป็น LXD ให้อะไรหลาย ๆ อย่างมากเลย
การเป็น LXD มีการอบรมไหม
ถ้าเราจะเป็นครูอาจารย์ก็ต้องสอบ การเป็น LXD ก็เหมือนกัน ต้องมีการอบรมก่อนว่า เรามีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก กล้าพูดกล้าคุยกับนักศึกษา กล้าเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาได้ บางทีอาจารย์มีอยู่แค่ 2 คน นักศึกษา 500-600 คน ทำให้ไม่สามารถคุมได้ทั้งหมด ถ้านักศึกษาเข้ามาปรึกษาอาจารย์พร้อมกัน อาจารย์ย่อมไม่สามารถตอบทัน เพราะฉะนั้น LXD จะเหมือนเป็นตัวช่วยของอาจารย์ ต้องตอบคำถามแทนอาจารย์ได้ และต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอบรมก่อนว่า LXD คืออะไรและต้องทำอะไรบ้าง ต่างจาก TA (Teacher Assistant) อย่างไร เพื่อเราจะได้รู้บทบาทของตัวเอง
ทำแล้วได้อะไร
อันดับแรกเลยคือได้ประสบการณ์ ทำให้เราได้รู้ว่าขั้นตอนการเตรียมการสอนมีอะไรบ้าง ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นผู้ช่วยครูตอนมัธยมมาแล้ว แต่มันแตกต่างกันมาก เพราะในระดับมัธยมมีเด็กเพียงไม่กี่คน แต่การสอนในระดับมหาวิทยาลัย เด็กนักศึกษาค่อนข้างที่จะเยอะ และเด็กทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกไม่เหมือนกัน มีทั้งกลุ่มนิเทศ กลุ่มบริหาร กลุ่มมนุษยศาสตร์ เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถคุยกันได้ นักศึกษาคนไหนมีปัญหา เราจะแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม ตรงไหนผิดพลาดก็ต้องมาคุยกัน รวมทั้งวางแผนเตรียมการเรียนการสอนในครั้งถัดไปด้วย
ทำไมถึงเป็น LXD
ผมเป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่เด็ก ชอบทำกิจกรรมทุกอย่างและเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่ง ถ้าเรียนเฉย ๆ จะรู้สึกว่าน่าเบื่อ เลยคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าเรามีอะไรทำ เริ่มจากการทำกิจกรรมของมหา’ลัย เป็นคณะกรรมการนักศึกษา คณะกรรมการสาขาโลจิสติกส์ฯ และเลือกตั้งคณะกรรมการสาขา พอเป็นประธานสาขา ช่วงที่เราว่าง เราเลยอยากมีประสบการณ์สอนนักศึกษาบ้าง มหาวิทยาลัยเราดีอย่างหนึ่งคือ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สอนนักศึกษาด้วยกันเองซึ่งถือเป็นข้อดี เป้าหมายของผมคืออยากเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา เลยอยากมีประสบการณ์ นี่จึงเป็นที่มาที่ว่าทำไมผมถึงมาทำ LXD
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
ผมคาดหวังว่าในอนาคตวิชา GE จะต้องพัฒนาต่อไป นักศึกษาบางคนอาจคิดว่า เป็นแค่วิชาช่วยดึงเกรดหรือเปล่า แต่ถ้าคุณไม่สนใจ คุณจะไม่ได้อะไรเลย ยอมรับตามตรงเลยว่าตอนปี 1 ผมเข้ามาตอนซัมเมอร์ ผมเรียนวิชาไหนไม่เข้าใจนอกจากวิชา GE เพราะให้ความรู้สึกเหมือนเรียนวิชาสังคม วิชาหน้าที่พลเมือง พอเราเข้ามาแล้วรู้สึกว่า มีวิชานี่แหละเรียนแล้วเข้าใจ พอเข้าใจแล้วก็ทำให้เราอยากเรียน
วิชา GE เป็นวิชาที่เนื้อหาศาสตร์ต่าง ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถเอามาผนวกกับการเรียนการสอนในทุกภาควิชา ผมคาดหวังว่าให้น้อง ๆ ปี 1 ปี 2 คนที่ชอบกิจกรรมหรือคนที่ไม่ชอบกิจกรรม ลองเข้าไปเป็น LXD ดู แล้วเราจะรู้ว่าการเป็น LXD ไม่ได้แค่มายืนช่วยอาจารย์สอน แต่เป็นมากกว่านั้น คือเป็นครอบครัวที่รู้สึกว่ารักกันมาก อยากให้นักศึกษาทุกคนลองเปิดใจ ยอมรับ LXD และไปช่วยพัฒนา LXD กับวิชา GE ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะวิชา GE มีนี้สามารถเอาไปต่อยอดในวิชาของภาคเราได้ และจะทำให้เราเป็นคนทำงานละเอียด สร้างสรรค์ และตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น
ดีน-อิศเรศ เกษะประกร
คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม ชั้นปีที่ 1
LXD คืออะไร
ผู้ช่วยออกแบบการเรียนการสอน โดยนำประสบการณ์ที่เรียนมาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนให้กับอาจารย์
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ตอนเทอม 1/1 ผมดูพี่ ๆ LXD ทำงานเกี่ยวกับการเก็บ ผมก็ไปช่วยด้วย แล้วพอเทอม 1/2 ผมก็ไปสมัคร LXD ของวิชา GE ที่ผมเรียนอยู่ ก่อนเริ่มกิจกรรมอย่างแรกคือ เอาอุปกรณ์การเรียนการสอนมาก่อน 1) ปากกาสีเมจิก 2) กระดาษปรู๊ฟหรือไม่ก็กระดาษเปล่า ประมาณ 3-4 แผ่น เอามาแจกให้เพื่อนในห้อง แล้วก็เอากระดาษเช็กรายชื่อมาวางไว้ตามโต๊ะ พอเวลา 09.15 น. ก็จะเก็บกระดาษใบรายชื่อ บางทีก็ยังช่วยออกแบบเกม เช่น เกม Kahoot
การเป็น LXD มีการอบรมไหม
มีอบรมครับ เพิ่งอบรมไปเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว หลังจากผ่านการอบรมแล้วก็จะได้บัตร LXD LXD ทุกคนต้องผ่านการอบรมนี้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องรอครั้งต่อไป
ทำแล้วได้อะไร
สิ่งที่ได้เลยคือความรับผิดชอบ การรู้หน้าที่ของตนเองว่าตัวเองควรทำอะไรในเวลาไหน และได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการเป็นผู้นำและการกล้าแสดงออก เรียกง่าย ๆ ว่าทุกอย่างของการเป็นผู้นำ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ LXD ต้องมาก่อนอาจารย์และนักศึกษาทั้งหมด และต้องมีความรอบคอบในการให้คะแนนเพื่อน ๆ จะให้คะแนนผิดพลาดแม้แต่นิดเดียวไม่ได้ เพราะเพื่อนอาจจะได้เกรดที่ผิด
ทำไมถึงเป็น LXD
จุดเริ่มต้นของผมก็คือในเทอม 1/2 มีการเปิดรับสมัครว่าใครอยากเป็น LXD บ้าง ผมเห็นจากเทอม 1/1 แล้วว่า เป็นงานที่ฝึกความรับผิดชอบดี ผมก็เลยยกมือสมัคร พอดีผมเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เช่น พวกงานสโมสรนักศึกษา แต่ตอนนี้ขอทุ่มให้กับ LXD เป็นหลักเลยครับ
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
ฝึกการเป็นผู้นำให้กับตนเอง เป็นคนที่ออกแบบกิจกรรมในการเรียน เราก็จะเป็นผู้ที่สามารถตอบคำถามให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนได้ เป็นที่ไว้วางใจของเพื่อนในการทำงานต่าง ๆ ทั้งในระดับคณะและสโมสร ผมจึงคาดหวังให้เพื่อน ๆ ไว้ใจเรา
ภูมิ-ภักษ์ภูมิ ซื่อสัตย์ประเสริฐ
คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาการจัดการธุรกิจสายการบิน ชั้นปีที่ 3
LXD คืออะไร
LXD เป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้สอนออกแบบคอร์สการเรียนว่า ทำอย่างไรให้เข้ากับเด็ก ๆ ที่เรียนกับอาจารย์มากที่สุด โดยมีทั้งหมดหลายระดับ ระดับสูงสุดคือ LD (Learning Designer) รองลงมาคือ LXD และ TA ตามลำดับ LXD มีหน้าที่ประสานงาน และคอยดูแลทั้งอาจารย์และผู้เรียน ห้องหนึ่งมีเด็กประมาณ 500-600 คน แน่นอนว่าอาจารย์จะดูแลเด็กทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น LXD ก็จะทำหน้าที่นำสื่อจากอาจารย์มาให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มที่ตนเองได้รับมอบหมาย และคอยเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไปรายงานให้กับอาจารย์ คอยช่วยอาจารย์ออกแบบการเรียนการสอนว่าควรออกมาเป็นแบบไหน เพราะว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องคอยเก็บข้อมูลของเด็ก สมมติว่าน้องกลุ่มนี้สอนแบบนี้ไม่ได้ เราก็ต้องดีไซน์การเรียนการสอนขึ้นมาใหม่เพื่อใช่กับผู้เรียนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขาไปถึงจุดหมายปลายทางที่อาจารย์ต้องการได้
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ผมขอตอบเป็น 2 แบบนะครับ เนื่องจากผมคอยช่วยอาจารย์หลาย ๆ ท่านในการเตรียมสไลด์ แบบแรกผมจึงต้องไปนั่งคุยกับอาจารย์ว่า อาทิตย์นี้อาจารย์อยากได้เนื้อหาอะไร และผมก็จะหาข้อมูล หาข่าว หาคลิปที่คิดว่าผู้เรียนสามารถเข้าใจง่าย นำมาให้อาจารย์ และคอยช่วยอาจารย์ทำสไลด์ แบบที่สองคือ อาทิตย์ไหนที่ผมไม่ได้ทำสื่อการสอน อาจารย์ก็จะส่งสไลด์มาให้ก่อนหน้าเพื่อให้ผมไปหาข้อมูลว่าสไลด์นี้มีเรื่องอะไรและทำความเข้าใจกับเรื่องที่อาจารย์กำลังจะสอน เราจะได้ไปส่งต่อให้ผู้เรียนได้ ถ้ามีกิจกรรมในการสอน ผมก็จะจับกลุ่มกับน้อง LXD คนอื่นลองทำกิจกรรมนั้นกันก่อน เพื่อดูว่ามีความบกพร่องตรงไหน เราจะได้แก้ไขปัญหาได้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น
การเป็น LXD มีการอบรมไหม
ก่อนมาเป็น LXD ผมเคยเป็น TA มาก่อน พอมีโปรเจ็กต์ LXD รุ่นแรก ๆ อาจารย์ก็เลยชวนผมมาเป็น ตอนนั้นผมเลยไม่ได้เข้าอบรมอะไร เพราะตอนนั้นไม่มีการอบรมเป็นกิจจะลักษณะ แต่ได้ยินมาอยู่ว่าเขามีการอบรมเหมือนเป็นการคัดกรอง ซึ่งถ้าให้เราเปรียบเทียบระหว่าง LXD กับ TA TA คงเหมือนสต๊าฟงานอีเว้นท์ มีหน้าที่ประสานงาน ดำเนินงาน ยื่นส่งเอกสาร แต่ LXD จะช่วยดีไซน์ ช่วยกันคิดหาวิธีการสอนใหม่ ๆ ด้วย
ทำแล้วได้อะไร
ผมได้รับความรู้ ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากผู้เรียนในกลุ่ม เพราะว่าโจทย์ที่อาจารย์แจกมาแต่ละครั้ง เราก็ต้องลองนำมาทำดูก่อน บางครั้งผมคิดว่าคำตอบเราค่อนข้างดีแล้ว แต่พออยู่หน้าห้อง เราได้เห็นไอเดียน้อง ๆ คนอื่นที่ดีมาก ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เรียกว่าผมจะได้ความรู้ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะจากผู้เรียนในคลาสหรืออาจารย์ผู้สอน
ทำไมถึงเป็น LXD
ตอนที่ผมอยู่มัธยม ผมเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน ผมจบมาด้วยเกรดเฉลี่ย 2 กว่า ๆ พอผมได้มาเรียน GE ตัวแรกผมได้เรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอน พูด และคอยแนะนำให้คำปรึกษาผม จนผมคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเด็กที่ไม่เรียนกลายเป็นเด็กที่สนใจในการเรียนเพื่อจะมีอนาคตข้างหน้าที่ดี ผมรู้สึกว่าวิชา GE ทำให้เด็กไม่เรียนคนหนึ่งกลายมาเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบในชีวิตได้ ผมจึงอยากส่งต่อความรู้ อยากช่วยให้คนอื่นพัฒนาเหมือนเรา เหมือนกับอาจารย์ท่านนั้นที่ทำให้ผมเป็นเด็กที่รู้จักพัฒนาตัวเอง
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
เราอยากเห็นน้อง ๆ LXD พัฒนาตัวเองจนเหนือกว่าเรา เห็นเขามีชีวิตที่ดี ตั้งใจเรียนขึ้น ส่วนวิชา GE ผมคิดว่าเป็นวิชาที่ดีอยู่แล้วนะ แต่ส่วนมากเด็ก ๆ ชอบมองข้าม ผมคิดว่าที่เขามองข้ามเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าวิชา GE ต้องการสอนอะไร ทำให้เด็กมองข้ามความสำคัญของวิชานี้ไป แต่ถ้าเขาเปิดใจจะเห็นว่าทุกบทเรียนที่อาจารย์สอนไม่ใช่แค่สอนให้จบไปทุกอาทิตย์ แต่อาจารย์สอนทักษะต่าง ๆ ให้ไปใช้ในชีวิตจริง เราแอบอยากให้เด็ก ๆ ลองเปิดใจกับวิชานี้เพราะเราก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปได้เพราะวิชานี้ครับ
แก๊ส-ศิขรินทร์ ปุ้นตันทอง
คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาภาพยนตร์ ชั้นปีที่ 1
LXD คืออะไร
LXD สำหรับผมคือผู้ช่วยอาจารย์ในการสอน ในห้องมีผู้เรียนเยอะ อาจารย์เลยไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง LXD ก็จะคอยช่วยอาจารย์ดูแล โดยเราจะได้รับมอบหมายข้อมูลจากอาจารย์ ก่อนจะนำไปบอกต่อให้กับผู้เรียนให้เข้าใจได้มากขึ้น
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ในคลาส GE มีการประกาศรับสมัคร ผมก็คิดว่าน่าสนใจดี อยากลองทำดู โดยยังไม่ได้เตรียมตัวอะไร แต่พอมาทำจริงพบว่า ก่อนทำงานต้องเตรียมกิจกรรมให้เพื่อน เรียนรู้ว่างานแต่ละงานต้องมีเกณฑ์ให้คะแนนอย่างไร
การเป็น LXD มีการอบรมไหม
มีจัดอบรมว่า LXD ต้องทำอะไรบ้าง มี LXD ประเภทไหนบ้าง ซึ่งการอบรมก็ทำให้เราได้เจอเพื่อน LXD เหมือนกัน พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง อาจารย์ก็จะให้เราเริ่มคิดกิจกรรม จุดนั้นทำให้ผมได้เห็นไอเดียที่หลากหลายจากเพื่อน ๆ ครับ
ทำแล้วได้อะไร
อย่างแรกคือต้องศึกษาเรื่องที่เราจะสอนเพื่อนให้เราเข้าใจอย่างแท้จริงก่อน เพื่อที่เราจะได้อธิบายให้กับผู้เรียนได้ และทำให้เราได้ฝึกทำงานจริง ได้ตรวจคะแนนจริง ๆ ได้เตรียมการสอนเหมือนเป็นอาจารย์ ได้ฝึกการทำงานไปด้วย สนุกมากครับ
ทำไมถึงเป็น LXD
ตอนที่ผมอยู่มัธยมปลาย ผมก็ได้ทำกิจกรรมที่คล้ายกับแบบนี้อยู่แล้ว พออาจารย์รับสมัครว่าอยากได้คนมาช่วย ผมเลยคิดว่าน่าจะสนุกมากกว่าการนั่งเรียนเฉย ๆ ครับ
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะออกมาเอนเตอร์เทนต่อหน้าคนอื่น เวลาออกหน้าห้องก็จะสั่น พอมาทำ LXD ผมก็กลายเป็นคนที่กล้าเอนเตอร์เทนในคลาสจนเริ่มรู้สึก ผมจึงคาดหวังอยากให้คนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกได้ลองมาทำงานตรงนี้ดูแล้วจะเปลี่ยนไปแบบผมครับ
บาร์บี้-พรไพลิน วรรณนิยม
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง
LXD คืออะไร
เป็นผู้ที่ช่วยออกแบบการเรียนการสอนกับอาจารย์ แล้วก็จะเป็นผู้ที่คอยดูผู้เรียนในคลาสว่าผู้เรียนต้องการอะไร ต้องการจะเรียนอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เราเคยเป็นผู้เรียนมาก่อน ทำให้เราเห็นการทำงานของ LXD เราจึงเอาภาพจำที่เราเห็นมาปรับใช้กับตัวเราเอง เลยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก
LXD มีการอบรมไหม
ต้นเทอมจะมีการอบรม LXD โดยจะสอนให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว LXD คืออะไรและทำงานอย่างไร เรียกว่าทดลองให้เราเป็น LXD เลย
ทำแล้วได้อะไร
ได้ทักษะการทำงานจากครูและทำงานเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้เพื่อนเยอะมากขึ้น และยังสนิทกับผู้เรียนในคลาส เวลาไปไหนมาไหนก็มีคนทักทาย ดังนั้นสิ่งที่ LXD ได้ก็คือการสื่อสารกับคนอื่นและทำให้สนิทกับผู้เรียน
ทำไมถึงเป็น LXD
จริง ๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจมาเป็น LXD แต่อาจารย์ชักชวนมา เราก็เลยลองดู พอเป็นแล้วก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด แถมได้ผลตอบรับที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนและอาจารย์มากขึ้น หรือเรื่องการทำงาน กระบวนการทางความคิด การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ประสบการณ์การเป็นผู้นำด้วย เรียกว่าคุ้มค่ามากที่ได้มาเป็น LXD ถ้ามีโอกาสก็อยากจะเป็นต่อไปเรื่อย ๆ
คาดหวังอะไรจากการเป็น LXD
คาดหวังให้วิชา GE น่าเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะมันเป็นวิชาที่ผู้เรียนมักจะคิดว่าเรียนไปทำไม แต่เราคิดว่าทุกคนต้องเรียนวิชา GE เพราะวิชานี้จะสอนกระบวนการทางความคิด สอนให้เราทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สอนให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องปรับ คือทำอย่างไรให้วิชา GE น่าเรียนมากขึ้น
คราวนี้เพื่อน ๆ คงรู้แล้วว่าหน้าที่ของ LXD คืออะไร เขามีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการสอน ต่อการสร้างเสียงหัวเราะความสนุกสนาน และสร้างกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้รับทั้งความรู้ควบคู่ความสุข ที่สำคัญคือได้รับรู้ว่าวิชา GE นั้นสำคัญต่อชีวิตอย่างไร
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม LXD ถึงอยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนวิชานี้ เพราะวิชา GE ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเหมือนเช่นการเป็น LXD นั่นเอง