เราอยากจะชวนมาตื่นรู้ทางความคิดกับหลักสูตรการอบรมการเป็นผู้นำ (Leadership Course) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติ ความคิด ทัศนคติ และคุณธรรม ไม่เพียงแค่ฝึกผู้นำทางด้านธุรกิจ ผู้นำทางด้านสังคม แต่ฝึกฝนผู้นำที่มีคุณธรรม ตื่นรู้ และเป็นนักฟังอย่างลึกซึ้ง
โครงการ Mindful Leadership Camp เป็นการฝึกแบบ Inside Out จากข้างในของเรา การที่รู้ถึงตัวเอง การคิดบวก การที่จะปรับให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เป็นผู้นำอย่างมีคุณภาพในสังคม การเข้าค่ายครั้งนี้จัดโดยมูลนิธิหอธรรมพระบารมี วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 พ.ย. 62 โดยเราได้ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าร่วมค่ายกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เราได้นั่งคุยกับน้องตัวแทนโครงการ จำนวน 4 คน ที่มาเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังของค่ายผู้นำแห่งการตื่นรู้
เปิดใจ ปรับตัว มองเห็นมุมมองใหม่
เราขอเริ่มต้นที่สาวสวย น้องเมนิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ เธอพูดคุยกับเราด้วยความสดใสและเป็นกันเอง
เราเริ่มต้นเปิดประเด็นว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้น้องเมนิวสมัครมาเข้าค่ายในครั้งนี้ “ด้วยความที่เราเรียน BUSEM อยู่แล้ว ซึ่งพออาจารย์เห็นข้อมูลค่ายจึงส่งมาให้ พอรู้ว่าเป็น Leadership Course ตัดสินใจลงสมัครเลย ซึ่งรายละเอียดบอกอยู่แล้วว่าค่ายนี้ไม่ได้เป็นผู้นำแค่ด้านธุรกิจ แต่เป็นการใช้คุณธรรมของผู้นำด้วย”
ข้อมูลของโครงการนี้เมนิวได้ทราบมาจากอาจารย์ที่คณะและอยากให้น้องเมนิวเป็นตัวแทน น้องเมนิวได้บอกถึงกิจกรรมไว้ว่า “ลักษณะกิจกรรมภายในค่ายจะคล้ายเป็นกิจกรรมนันทนาการ แต่แฝงนัยความลึกซึ้งในการทำความเข้าใจชีวิต บอกเลยว่ารุ่นพี่ที่คิดกิจกรรมนี้ไม่ธรรมดา เพราะเขาเป็นนักจิตวิทยา เขาสามารถคิดกิจกรรมที่สามารถเปิดใจให้ทุกคนปรับเข้าหากันได้ ซึ่งแต่ละคนต่างมีความเป็นผู้นำและอีโก้ค่อนข้างสูง”
น้องเมนิวยังบอกอีกว่า “เราเป็นคนหนึ่งที่ผ่านการเข้าค่ายมาค่อนข้างเยอะ ทำกิจกรรมในค่ายมามากมาย แต่เราชอบกิจกรรมของที่นี่มาก ถ้าเป็นค่ายอื่นเราพอเดากิจกรรมได้ แต่กิจกรรมที่นี่มันแปลกใหม่ เราชอบและตื่นเต้นเราสนุกกับทุกกิจกรรมซึ่งเราไม่เคยทำที่ไหนมากก่อน ต้องชมพวกพี่ ๆ เขาจริง ๆ ที่สามารถคิดกิจกรรมที่ทำให้เหล่าผู้นำ ที่ต่างความคิดต่างความเห็นมารวมกลุ่มเปิดใจคุยกันได้ และยังสร้างความสนุกอีกด้วย”
น้องเมนิวยังจำความคาดหวังก่อนที่จะไปค่ายกับความเป็นจริงที่พบ เธออธิบายว่า “ตอนแรกที่อาจารย์บอกคือเป็นค่ายที่อบรมเกี่ยวกับผู้นำ พอเข้าไปจริง ๆ เป็นค่ายที่บวกคุณธรรมมาด้วย การที่จะมีคุณธรรมก็ต้องเข้าอบรมแนวธรรมะนิดหนึ่ง ซึ่งวันแรกบอกได้เลยว่าแทบจะไม่เปิดใจเพราะไม่ได้เตรียมใจกับการมาฝึกสมาธิหรืออะไรแบบนี้เลย แต่ก็เริ่มปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสถานที่”
ผ่านเรื่องความท้าทายและความสนุกของกิจกรรมแล้ว เรามาถามลงลึกถึงสิ่งที่ได้จากการไปค่ายครั้งนี้ โดยน้องเมนิวได้บอกกับเราว่า “สิ่งที่ได้จากค่ายนี้คืออย่างแรกเลย มิตรภาพ เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นการนำเอาคนที่มีอีโก้สูง ๆ มารวมกัน แต่เราสามารถเปิดใจและปรับเข้ากันได้ เราได้มุมมองใหม่ เพราะว่าหลายคนมีความคิดที่ริเริ่ม การได้มุมมองใหม่ที่ไม่ซ้ำกันมันทำให้เราได้เห็นอีกมุมที่เราไม่เคยเห็นมาเติมเต็มสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน”
น้องเมนิวได้ให้ความหมายของการเป็นผู้นำไว้ว่า “จริง ๆ การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ ความคิด Mindset มุมมอง หรือว่าพลังด้านบวกที่จะส่งต่อไปหาคนรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความคุณธรรมด้วย โดยการนำความรู้จากที่ไปอบรมมา ในฐานะที่เราเรียน BUSEM คณะการเป็นเจ้าของธุรกิจฯ ซึ่งเราจะต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เราจะเอาพลังด้านบวก การที่มองเห็นโอกาสในอุปสรรคนำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจ”
ทบทวนตัวเอง อยู่กับตัวเองให้เห็น และกล้าตัดสินใจ
การมีเพื่อนดี มีครูดี และชักชวนกันไปทำสิ่งดี ๆ คือเหตุผลที่ น้องบิว-จักรี ทิพบุญชู นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เลือกตัดสินใจมาเข้าค่าย
เหตุผลในการตัดสินใจมาเข้าค่ายที่ใช้ระยะเวลายาวนานตั้ง 5 วัน อะไรคือเหตุผลนั้น เราถามจากน้องบิว “ตอนแรกที่ผมยังไม่ไปเข้าค่าย เขาบอกมาว่าคือค่ายที่เกี่ยวกับผู้นำ ผมยอมรับเลยว่าไม่ได้สนใจเอง คือมีอาจารย์กับเพื่อนมาชวน บอกว่าให้ผมไปเข้าค่าย ผมจึงได้โอกาสไปเข้าค่ายด้วยครับ” เรียกได้ว่ามีกัลยาณมิตรที่ดีนั่นเอง
น้องบิวยังเล่าให้เราฟังต่อถึงกิจกรรมภายในค่ายว่า “กิจกรรมหลัก ๆ เขาจะไม่ให้เราเป็นผู้นำโดยตรงเขาจะมีแบบกิจกรรมทั้งให้เราเป็นผู้ตามให้เราสังเกตตัวเอง ให้เราอยู่กับตัวเองให้เราทบทวนตัวเองแล้วเป็นกิจกรรมที่แบบว่า เหมือนนันทนาการทั่วไปที่เคยจัดตามค่ายทั่วไปแต่ทุกกิจกรรมเขาจะมีคำสอน และคำอธิบายที่พี่เขาจะบอกว่าหลังจากจบกิจกรรมเราได้สังเกตตัวเราเองเราทำอะไรไป เราคิดอะไรไปแล้วเราคิดว่าเกมนี้มันสื่อถึงอะไร”
กิจกรรมดีและแฝงข้อคิดดี ๆ แบบนี้น้องบิวชอบกิจกรรมไหนเป็นพิเศษ เราตั้งใจฟังรอคำตอบ “ผมจำชื่อกิจกรรมไม่ได้แต่ผมจำรายละเอียดกิจกรรมได้ กิจกรรมนี้คือจะถามเราว่าสองอย่างที่พี่เขากำหนดมาให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราชอบ อย่างเช่น ระหว่างไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นกับเที่ยวในเมืองไทยเราจะเลือกอันไหน ผมคิดว่ากิจกรรมนี้มันทำให้เราเป็นผู้นำตัวเอง เพราะว่าการที่เราต้องเลือก เราต้องถามใจตัวเองว่าเราชอบอันไหนมากกว่า เราต้องกล้าตัดสินใจ” ถือเป็นกิจกรรมที่ให้เราอยู่กับตัวเองทบทวนตัวเองและถามตัวเองไปในตัวแบบนี้น่าสนใจมากเลยทีเดียว
ฟังมาถึงตรงนี้ เราถามต่อว่าแล้วน้องบิวได้อะไรจากค่ายกัน น้องบิวย้อนทวนความคิดของตัวเองอีกครั้งก่อนมาค่าย “ตอนแรกผมไม่อยากไปค่าย คือถ้าเด็กยุคปัจจุบันได้ยินคำว่าค่ายคุณธรรมคือไปวัด แต่ว่าพอเราได้ไปสัมผัสจริง ๆ มันรู้สึกว่ามันคุ้มค่าจริง ๆ อันแรกคือได้ทบทวนตัวเองได้ไปพัฒนาความคิดที่เรายังไม่เปิดใจให้กับหลาย ๆ อย่าง ได้ฝึกสติ และสิ่งสำคัญก็คือความเป็นผู้นำของผมที่เพิ่มมากขึ้น ที่ผมประทับใจอีกอย่างหนึ่งคืออาจารย์ที่ไปดูแล เขาไม่ถือตัวเลยว่าเขาเป็นอาจารย์ กิจกรรมต่าง ๆ ในค่ายที่พวกเราทำ อาจารย์จะเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยตลอดเลย”
อาจารย์ถึงกับเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยแบบนี้กิจกรรมที่ทำต้องสนุกมาก ๆ เลย น้องบิวยังบอกกับเราเกี่ยวกับการเป็นผู้นำว่า “ผมคิดว่าผู้นำต้องมีคุณธรรม ต้องเป็นผู้นำของตัวเอง จริง ๆ ผมเป็นผู้นำตั้งแต่มัธยม ได้เป็นประธานชมรมบ้าง ได้ทำงานสภาบ้าง แล้วรู้สึกว่าหลังจากที่ไปค่ายนี้มันเปลี่ยนความคิดของผมเลยก็คือผู้นำไม่จำเป็นต้องพาทีมหรือพากลุ่มเดินหน้าไปอย่างเดียว แต่เราต้องรับฟังต้องเป็นผู้ที่ยอมรับในความคิดของคนอื่น พยายามทบทวนตัวเองให้มาก ๆ ว่าสิ่งที่ทำไปสิ่งที่เรากำลังจะทำมันจะดีหรือเปล่า” อย่างที่น้องบิวบอกเราจะทำอะไรเราควรตั้งสติและคิดดี ๆ หลังจากนั้นทบทวนมันว่าสิ่งที่ทำไปดีหรือเปล่า เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถไตร่ตรอง คิดทบทวน ให้เหตุผลด้วยความเข้าใจกับทุกการกระทำที่เราทำได้
โดยน้องบิวยังฝากบอกต่อถึงเพื่อนที่อ่านแล้วสนใจโครงการนี้ “ปีนี้เป็นปีของผมที่อาจารย์บอกว่าเป็นปีที่นำร่องให้เด็กมหาวิทยาลัยสนใจ เป็นรุ่นแรกที่อาจารย์คาดหวังให้ไปบอกต่อเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่อยากมีศักยภาพเพิ่มขึ้น หรือคนที่เคยเป็นแต่ผู้ตาม แล้วอยากมาเป็นผู้นำ”
น้องบิวชักชวนเพิ่มเติมอีกว่า “อยากฝากว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้เราได้จำลองสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา ให้เราได้เจอเหตุการณ์เอง อีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเจอกับอะไร พี่เขาจะให้เรารอเจอเองไปเรื่อย ๆ ทุกวัน มันเปรียบเหมือนการใช้ชีวิตของเราว่าในแต่ละวัน เราจะต้องเจออะไรบ้าง เราต้องมีสติมาก ๆ ฝากถึงน้อง ๆ คนไหนที่อยากจะเป็นผู้นำใครที่อยากเพิ่มศักยภาพในตัวเองให้ลองมาค่ายนี้ดู ดีมาก ๆ ครับ”
เปิดใจเรียนรู้ เคล็ดลับเอาชนะอุปสรรค
อีกหนึ่งคนที่เราอยากจะแนะนำให้รู้จัก น้องแทน-วิฒเนศ พามะณี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และประธาน BUCA Talents ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในฐานะผู้นำไว้มากมาย อีกทั้งการที่น้องแทนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดว่าไม่นับถือศาสนาก็เป็นความน่าสนใจในการทำความรู้จักตัวตนว่า เขามีความคิดความเชื่ออย่างไรกันในการใช้ชีวิต เรามาฟังกันความคิดเห็นของน้องแทนกันเลย
เราขอคุยกับน้องแทนด้วยประเด็นหนักหน่วงเรื่องการไม่นับถือศาสนา สิ่งที่น้องแทนจะเล่าต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล “แทนต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าแทนเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ไม่ว่าจะศาสนาไหน แล้วก่อนมาจริง ๆ อาจารย์เป็นคนเลือกว่าคนไหนเหมาะสมแล้วควรจะไป แน่นอนว่าแทนถูกเลือกเป็นหนึ่งในนั้น”
น้องแทนบอกอีกว่า “ก่อนไปไม่รู้ข้อมูลโครงการนี้สักเท่าไหร่ แต่พอรู้ว่าโครงการนี้จัดขึ้นที่วัด ตัวแทนเองเริ่มไม่โอเค และตัวเราเองยิ่งแอนตี้เรื่องนี้อยู่แล้ว จนรู้สึกอึดอัด ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่ยังไงก็มาแล้ว แทนพยายามตัดทิฐิทุกอย่างทิ้งออกไป แล้วลองเปิดใจรับมัน หลังจากที่เปิดใจรับได้แล้วมันก็ไม่ใช่อุปสรรคของเราอีกต่อไป” เพียงแค่เปิดใจเท่านั้นเอง ทำให้เราฝ่าฝันอุปสรรคไปได้
มาตามต่อกันเรื่องกิจกรรม น้องแทนเล่าถึงกิจกรรมไว้ว่า “กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการลงมือทำงานเป็นกลุ่มร่วมกัน กิจกรรมกลุ่มมีเกมให้เล่น พอจบเกมเราจะมานั่งล้อมเป็นวงกลม แล้วมาวิเคราะห์กันว่าเกมที่เราเล่นไปมันช่วยอะไรบ้าง ได้ฝึกทักษะอะไรบ้าง แล้วก็มีการสวดมนต์เดินจงกรมทำสมาธิ แต่กิจกรรมที่ชอบที่สุดก็คงเป็นการให้ไปเดินดูผลงานในแกลเลอรี แล้วเป็นการเดินในสวน ซึ่งการเดินจะเป็นการฝึกให้เดินอยู่กับตัวเอง ให้รู้ตัวเองว่าเรากำลังเดินอยู่ ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”
หลังจากที่ผ่านการอบรม น้องแทนกล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ว่า “แทนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองรับฟังตัวเองมากขึ้นเข้าใจตัวเองมากขึ้น ถ้าเกิดว่าเรายังไม่เข้าใจตัวเราเอง แล้วเราจะไปเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร คนที่จะต้องตามเราในฐานะผู้ตามเราก็จะไม่รู้ว่าคนอื่นเขาคิดอะไร ชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถึงจะทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น”
โดยน้องแทนยังได้อธิบายให้เราเห็นภาพเพิ่มเติมอีกว่า “หลังจากที่จบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งอบรมและการใช้ชีวิตในค่าย ทุกอย่างที่ค่ายสอนเราไปในตัวตลอด แทนรู้สึกได้ว่าสิ่งที่อบรมมาสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ และได้เยอะกว่าที่คิดด้วย เช่น การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ไม่สามารถทำงานออกมาให้มันดีได้ หรืองานที่ทำก็จะไม่สำเร็จเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน”
สุดยอดมากจริง ๆ กับหัวใจของน้องแทนที่แม้จะเจออุปสรรค หรือเรื่องไม่สบายใจแต่ก็สามารถหาวิธีผ่านมันไปได้ เพื่อน ๆ ลองทำตามน้องแทนกันได้ เพียงแค่เปิดใจแล้วศึกษากับมัน เราจะได้ทั้งประสบการณ์ใหม่ ๆ และความสบายใจอีกด้วย
ความคิดเห็นของน้องแทนต่อการเป็นผู้นำคือ “การที่เราจะเป็นผู้นำจะต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งตัวเราเองก่อนที่จะไปนำคนอื่น เราควรเป็นแบบอย่างให้เขาก่อน เราต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปรับผิดชอบชีวิตคนอื่น ถ้าเราเป็นแบบอย่างที่ดีแล้วคนที่จะเดินตามเราเขาก็จะรู้สึกไว้ใจที่จะตามเรา ไม่ว่าจะในด้านการทำงานหรือด้านอื่น ๆ” นี่แหละผู้นำที่ดี การเริ่มจากทำตัวเองให้ดี เพื่อเป็นแบบอย่างให้ทุกคนได้
สนุกในการเรียนรู้อย่างมีสติ
และแล้วเดินทางมาถึงคนสุดท้าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยร่วมโครงการเพื่อสังคมมากมาย กับ น้องเพลง-นภัสสร เสวยราช นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์
เรายิงคำถามเดียวกันว่าเข้าร่วมค่ายได้อย่างไร “เริ่มจากอาจารย์เป็นคนเลือกให้ไปอบรม แต่เราคิดไว้แล้วละจากที่อาจารย์บอกว่าน่าจะเป็นเข้าค่ายปฏิบัติธรรม แต่พอไปสัมผัสจริง ๆ มันคือเข้าค่ายธรรมะนั่นแหละ (แอบขำ) แต่ที่มันต่างจากค่ายอื่นคือการทำกิจกรรม สิ่งที่มันต่างจากค่ายอื่น ๆ คือกิจกรรมที่ทำจะสอนให้เราเป็นผู้นำและรู้จักตัวเอง”
เราแทบจะลืมค่ายธรรมมะในแบบเดิมไปเลย หลังจากที่ฟังน้องเพลงเล่าต่อ “ค่ายสนุกน่าสนใจ จนเวลาผ่านไปเร็วมาก แป๊บๆ ก็เย็นซะแล้ว ทั้งนี้ยังไม่ลืมความเป็นธรรมะเพราะยังมีทําวัตรเช้า ทําวัตรเย็นอยู่ด้วย และกิจกรรมที่เราประทับใจที่สุดคือกิจกรรมวาดรูป สุดยอดมากตรงที่เขาเชิญศิลปินระดับโลกของไทยมาสอนวาดรูป หลังจากการอบรมเรารู้ได้ทันที คือเรื่องของ Mindset เราต้องมีสติกับตัวเองตลอดเวลา หลังกลับมาจากค่ายมันเปลี่ยนไปจริง ๆ เรารู้สึกเราเป็นคนใจเย็นขึ้น ก่อนจะทำอะไรจะคิดให้ถี่ถ้วนก่อนตลอดเลย อีกอย่างหนึ่งคือการเป็นผู้นำ และเรื่องความสัมพันธ์ในการเข้าหาคนอื่น เราคิดว่าเราทำได้ดีขึ้น”
แต่เห็นสนุกกับกิจกรรมอย่างนี้ น้องเพลงกันยังเจอปัญหากับการปรับตัวเหมือนกัน เรามาฟังน้องเพลงกันดีกว่า “ตอนแรกที่โดนเลือกไปก็แบบ…(หนูไม่พูดดีกว่า) เพราะในความคิดเรามันคือเข้าค่ายธรรมะอะ เราไม่ชอบอะไรแบบนี้ แถมโดนยึดโทรศัพท์อีก การต้องอยู่ 5 วัน 4 คืน โดยไม่มีโทรศัพท์ คือไม่ไหวแน่ ๆ ตอนนั้นคิดแต่เรื่องแย่ ๆ ในแง่ลบ แต่มันก็เริ่มจะดีขึ้น ได้เห็นเพื่อน ๆ ที่น่ารัก ทุกคนนิสัยดีมาก จริง ๆ แล้วคิดประมาณว่าเพื่อนร่วมทุกข์ แต่กิจกรรมในค่ายนี้ ไม่เหมือนที่อื่น มีอะไรใหม่ ๆ แถมทุกคนช่วยเหลือกันดี ก็เลยสนิทกันเร็วมาก เรื่องไม่มีโทรศัพท์คือลืมไปเลย”
น้องเพลงได้บอกถึงการจะเป็นผู้นำที่ดีไว้ว่า “อย่างแรกผู้นำต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าตัวเองเป็นอย่างไร พอเข้าใจตัวเองแล้วเราถึงจะค่อยไปเริ่มเข้าใจคนอื่นว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องต้องรับฟังคนอื่นให้เยอะ ๆ ด้วย”
การที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น มันไม่ง่ายและก็ไม่ยากเลย แค่เริ่มจากการที่เรามองตัวเอง แล้วเข้าใจในตัวเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดีคือเมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราจะเริ่มแคร์คนอื่นในสิ่งที่ทำ ว่าทำไปแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ นั้นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราเข้าใจคนอื่น แล้วทำให้คนอื่นเชื่อใจเรา สมาชิกในทีมก็จะสามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานของพวกเรา เป็นอีกหนึ่งวันที่เราเองก็ได้ทำความเข้าใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น มองหลากหลายมุม เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีสติ และพร้อมที่จะปรับตัว รับมือกับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิตด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณภาพประกอบจากมูลนิธิหอธรรมพระบารมี วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา