มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า เส้นทางพิธีกรของ แผ่นฟิล์ม-อนันด้า ปุ้งหลู และโอ-ทินกร สมหาญ

เปิดประสบการณ์การเป็นพิธีกรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผ่านเส้นทางชีวิต สองเอ็มซีคู่ขวัญ เพราะความพยายามไม่เคยทรยศใคร

            Master of Ceremony หรือ การเป็นพิธีกร ที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า M.C. เป็นอีกงานสำคัญที่ต้องใช้คำพูดดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้ติดตามสิ่งที่ผู้ดำเนินรายการหรือพิธีกรนั้นนำเสนอ ซึ่งการเป็นพิธีกรที่ดีจะต้องทำให้ผู้ชมประทับใจ ทั้งท่วงท่า วาจา กิริยาอาการต่าง ๆ

            เราจะพามาเปิดประสบการณ์การเป็น M.C. ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผ่านเส้นทางชีวิตของ แผ่นฟิล์ม-อนันด้า ปุ้งหลู และ พี่โอ-ทินกร สมหาญ ทั้งคู่เรียนสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พร้อมแชร์เคล็ด (ไม่) ลับ เทคนิคการเป็นเอ็มซีสุดปัง และเป็นคู่ขวัญของบียู

ทุกก้าวด้วยความมั่นใจ ยืนหยัดในความพยายาม

            “สาวตาคมจากแดนใต้ แผ่นอะไรที่ว่าแน่ ก็ต้องยอมแพ้ให้กับ “แผ่นฟิล์ม” ไม่…ไม่หมวย ไม่ขาว แต่เร้าใจ ถ้าได้ลองแล้ว จะ…อื้อหือ” นี่คือ อีกหนึ่งสโลแกนที่คุ้นหูดังก้องกังวานเรียกชาวบียู ให้หันมาจับจ้องบนเวทีด้วยความสนใจ

            เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นพิธีกรมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แผ่นฟิล์ม เล่าให้ฟังว่า ชีวิตของเขานั้น ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ล้วนผ่านความพยายามมามากมาย แต่เขาก็ไม่เคยท้อ และทำทุกย่างก้าวอย่างดีที่สุด

แผ่นฟิล์ม หรือ นางสาวอนันด้า ปุ้งหลู

            เธอบอกว่า จริง ๆ แล้ว เป็นคนชอบการพูด อยากเป็นพิธีกรมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าพอเราเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพแล้ว เราก็พยายามหาโอกาสให้ตัวเองเกี่ยวกับด้านการพูด จนเราไปเจอชมรมปาฐกถาและโต้วาที เป็นชมรมที่ตอบโจทย์เราทุกอย่าง แต่ตอนนั้น เรายังไม่ได้เข้าชมรมนี้ตั้งแต่ทีแรก มันมีอีกหลายชมรมที่เราสมัครไว้ ช่วงนั้น คืองานสัปดาห์กิจกรรม แต่ละชมรมก็จะออกมาโปรโมทว่า ชมรมตัวเองทำอะไรบ้าง เราก็จะหาชมรมที่มีกิจกรรมประเภท ดีเจ พิธีกร นักพูดสุนทรพจน์ สมัครหมดเลย ที่มีเกี่ยวกับการด้านนี้ จนกระทั่งมาเจอชมรมปาฐกถาและโต้วาที เขารับแคสพิธีกร เลยคิดว่านี่แหละคงเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำสิ่งที่อยากทำ

            ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่า พิธีกรที่เขาต้องการ ต้องเป็นอย่างไร รู้แค่ว่าเป็นงาน ตักบาตรรำลึกสองปี การสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 สิ่งที่เราทำตอนนั้น คือเราเขียนสคริปท์สุนทรพจน์เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อไปแคสงานนี้ เขียนยาวมาก และเขียนเป็นพิธีการค่อนข้างสูง พูดเป็นสุนทรพจน์มีกลอนเกริ่นขึ้นนำ ถึงตอนแคสเราก็อ่านสุนทรพจน์นั้นให้ฟัง แล้วสิ่งที่รุ่นพี่พูดกับเรา คือเขาบอกเราว่า เราเหมือนนักพูดสุนทรพจน์ เขียนสคริปท์ คำบรรยาย พรรณนา ใช้ภาษาได้ดีมาก ไปแข่งพูดสุนทรพจน์ได้เลยนะ เหมาะกับการพูดสุนทรพจน์ แต่ตอนนั้น เรารู้สึกว่ามันคือคำติหรือเปล่า เพราะเราไปแคสงานพิธีกร

            เราถนัดการพูดสุนทรพจน์อยู่แล้ว เพราะเราแข่งตอนมัธยมบ่อย แต่ว่าพิธีกรเรายังไม่ได้ชำนาญ หรือเชี่ยวชาญเท่าไหร่ ว่าต้องเป็นประมาณไหน พอเราไปแคสเราก็เลยไปแบบนี้ เป็นสุนทรพจน์ ตอนนั้นคิดว่าคงไม่ได้งานนี้แน่ ๆ แต่ตอนเย็นพี่เขาโทรมาบอกว่าเราได้ วินาทีนั้นคิดเลยว่า ที่เรานั่งเขียนสคริปต์ทั้งคืน เขียนบทสุนทรพจน์ทั้งคืน มันได้ผล มันไม่เสียหาย อย่างน้อยความพยายามมันเห็นผลแล้ว

            งานพิธีกรครั้งแรก ทำให้ แผ่นฟิล์ม ได้เจอกับคู่ขวัญของเธอ นั่นคือพี่โอ ซึ่งนั่นก็เป็นงานแรกของพี่โอเหมือนกัน เรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งสองคน ที่ทำให้มีวันนี้

            งานนี้ เป็นงานที่เป็นทางการมาก เราพยายามทำอย่างดีที่สุด แม้จะมีอุปสรรค หรือติดขัดอะไรบ้าง แต่ก็ผ่านไปด้วยดี เพราะว่ามันเป็นคำราชาศัพท์หมดเลย แม้เราจะเคยพูดสุนทรพจน์มาก่อน ก็ค่อนข้างยาก เพราะพอเราต้องไปพูดสด ๆ ในตอนนั้น บางคำก็นึกไม่ออก ว่าสมควรจะใช้คำไหน เราจะพยายามเบี่ยงเบน แต่สุดท้ายแล้ว งานก็ออกมาดี

            พอจบงานเราได้รับคำชมจากอาจารย์ว่างานออกมาดีมาก ถ้าวันนี้งานไม่ได้พวกเราสองคน งานก็คงไม่ออกมาดีแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่า การเป็นพิธีกร มันไม่ใช่แค่การเป็นพิธีกร แต่คือการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็รู้เลยว่า นี่แหละคือความฝันของเรา ความสุขของเรา ต่อไปนี้ถ้ามีงานอะไรให้แคส เราก็จะไปแคสเรื่อย ๆ จะได้ ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

ความมุ่งมั่นและความพยายามจะทำให้เราประสบความสำเร็จ

            แผ่นฟิล์ม เล่าถึงชีวิตวัยเด็กไม่ได้ผ่านมาง่าย ๆ ความฝันที่เดินมาถึงวันนี้ ก็เพราะโดนคำสบประมาทในวันวาน

            เรามุ่งมั่นอยากทำให้ได้ เพราะคำดูถูกในวัยเด็ก ยังคงจำได้ฝังใจ เพราะเราเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบตลอด เป็นเด็กเรียน เกรดเฉลี่ย 4.00 ที่ 1 ของห้องทุกปี แต่ตอนเรียนชั้นประถม เราเป็นคนที่พูดไม่ชัด ออกเสียงไม่ได้เลย ก ร ค ล ยิ่งหนักเลย แต่เป็นคนพูดเก่งนะ แค่พูดไม่ชัด เวลาโรงเรียนมีส่งไปแข่งพูด แข่งสุนทรพจน์ เราก็อยากไปแข่งบ้าง  แต่ทุกคนก็มองข้ามเรา จนมีอาจารย์คนหนึ่งมาพูดกับเราว่า ถ้าเราพูดชัด เราน่าจะได้เป็นตัวแทนของโรงเรียน เราเลยรู้สึกว่า ทำไมต้องตัดโอกาสของเรา เพราะแค่เราพูดไม่ชัด

            มีอยู่งานงานหนึ่ง ตอนนั้น เราเรียนชั้น ป.5 แล้วได้เป็นพิธีกรงานวันเด็ก มีผู้ปกครองหลายคนชม ว่า ทำไมเด็กคนนี้พูดเก่งจัง แต่ก็ยังมีเสียงบางเสียงที่เขาว่า เราพูดไม่ชัด เอาเรามาเป็นพิธีกรได้ไง คำพูดมันติดตลกนะ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังเด็ก เราเลยคิดจริงจัง จำฝังใจ รู้สึกว่า เราต้องลบคำดูถูกนี้ให้ได้ ต้องขอบคุณอาจารย์ท่านนั้นตอนประถมนั่นแหละ ท่านเห็นพรสวรรค์ของเราว่า เราเป็นเด็กมีความพยายาม แล้วเราชอบในด้านนี้จริง ๆ ท่านก็เลยพาเราไปเข้าโครงการหมอภาษา เขาสอนเด็กที่ออกเสียงไม่ชัด ให้ออกเสียงชัดขึ้น

            เราจำได้ว่าเราฝึกทุกอย่างตั้งแต่พื้นฐานในการออกเสียง ก-ฮ ด้วยการเอากระดาษมาไว้ตรงปาก แล้วออกเสียงนี้ ลมห้ามออกมา ต้องฝึกอยู่อย่างนี้ เป็นร้อย ๆ ครั้ง ฝึกทุกวัน ตั้งแต่ตอนนั้น จนถึง ป.6 รู้สึกว่า ตัวเองพัฒนาขึ้น สามารถออกเสียง สามารถพูดได้อย่างชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ เราพร้อมในระดับหนึ่ง จนทางโรงเรียนส่งเราเข้าประกวดด้านการพูด ได้รางวัลกลับมาหลายรางวัล จึงมั่นใจ และแน่ใจแล้วว่า เราชอบการพูดจริง ๆ พยายามปรับปรุงพัฒนาตัวเอง อยากเป็นนักพูด พิธีกร หรือผู้ประกาศข่าวที่ประสบความสำเร็จ ความมุ่งมั่นของเรามาจากคำดูถูกในวันนั้น

แตกต่างอย่างเป็นตัวเอง

            การยอมรับข้อแตกต่าง และแก้ไขข้อบกพร่อง ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น และความแตกต่างนี่แหละ ทำให้แผ่นฟิล์มได้รับโอกาสอยู่เสมอ

            ทักษะในตัวเรา ที่ไม่เหมือนคนอื่น คือความเป็นตัวเองที่แตกต่าง เป็นคนร่าเริง สนุกสนาน ตลก บ้า ๆ บอ ๆ ของเรา เพราะเราไม่ได้เป็นพิธีกรที่เก่งที่สุด แล้วเราก็เชื่อว่า งานต่าง ๆ ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่เขาต้องการคนที่เป็นตัวเองมากที่สุด เพราะว่าความเป็นตัวเองมันไม่สามารถหาใครมาเหมือนได้ บางคนดูมีภาพลักษณ์ดี ภูมิฐาน พูดเก่ง รูปร่างหน้าตาดี สมบูรณ์แบบไปหมด แต่ขาดความเป็นตัวเอง มันทำให้ไม่น่าสนใจ

            พอเราเริ่มจับไมค์ มันคือตัวเรา เป็นเราที่มีความสุข จะทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลานั้น ไม่ต้องคิดอะไร ไม่อาย สามารถกระโดดโลดเต้นอะไรของเราได้อย่างสุดแรง ไม่มีอะไรที่ต้องคิดเลย สิ่งเดียวที่ต้องคิด ณ ตอนนั้น คือ คนที่ฟังอยู่ข้างหน้า เขาต้องมีความสุขไปกับเราให้ได้ เหมือนที่เรากำลังมีความสุข

            แผ่นฟิล์ม เริ่มต้นทักษะการพูดของตัวเองด้วยการเริ่มจากสุนทรพจน์หรืองานเขียน มาก่อน ทำให้ทุกงานมันไม่ยากเกินไป เพราะนี่คือ ทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นนักพูดหรือพิธีกร คนที่พูดได้ดี คือคนที่เขียนได้ดี

ความเชี่ยวชาญมาจากการฝึกฝน

            นอกจากความเป็นตัวเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอเหนือกว่าคนอื่น ๆ คือ การฝึกฝนตัวเอง ซึ่งทุกคนล้วนมีวิธีฝึก ตามแบบฉบับของตัวเอง

            เราคิดว่า คนที่เป็นพิธีกร น่าจะใช้วิธีการนี้เกือบทุกคน คือการฝึกพูดคนเดียว อย่างตัวเราเอง จะฝึกพูดหน้ากระจก และบันทึกเสียงตัวเองเอาไว้ แล้วก็เอามาฟังว่า ดีแล้วหรือยัง สนุกพอไหม บันทึกไว้ แล้วมานั่งเปรียบเทียบว่าแบบไหนดีกว่ากัน

            สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรารู้สึกว่า การฝึกฝนเพื่อเป็นพิธีกร สิ่งที่ดีที่สุด คือ การที่เราฝึกฝนจากประสบการณ์ เราต้องอยู่ในงานนั้นจริง ๆ ลงมือทำจริง ๆ งานมันจะช่วยให้เราเติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น เก่งขึ้น

            มากกว่านั้น คือ การเรียนรู้จากคนอื่น เช่น รุ่นพี่ เวลาเราอยากเป็นพิธีกรสายไหน เราก็จะไปเรียนรู้การเป็นพิธีกรจากสไตล์คนคนนั้น ว่า เขาพูดแบบไหน ท่าทีแบบไหน เขาแสดงอย่างไรบนเวที หลายคน เวลาดูรายการทีวี เขาก็จะดูโชว์ ดูศิลปิน ดูเนื้อหา แต่เราจะดูพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการตลอดว่า เขาดำเนินรายการยังไง ทำไมสนุกจัง ทำไม่น่าเบื่อ ทำไมเขาดูไม่กังวลอะไรเลย และอีกอย่าง คือ การฝึกฝนจากชมรม มีทั้ง Workshop การโปรเจคเสียง การใช้ภาษา การยืน บุคลิกภาพ ท่าเดิน การวางตัว ซึ่งมันไปปรับใช้ได้เยอะเลย

คนดูไม่ได้มาดูพิธีกร

            กว่าจะมีวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม

            แผ่นฟิล์ม ยืนยันว่า การเป็นเอ็มซียากตรงที่ เราจะต้องเป็นคนที่สนุกตลอดเวลา ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่า หลังเวทีเราต้องเจออะไรบ้าง บางทีเสื้อผ้าหน้าผมไม่พร้อม สคริปท์ไม่พร้อม งานยังไม่พร้อม แขกรับเชิญยังไม่พร้อม ไม่มีอะไรพร้อมเลย เครียดกับปัญหาชีวิต งานไม่เสร็จ แต่ขึ้นเวทีปุ๊บ เราจะต้องทิ้งทุกอย่าง จะต้องเป็นอีกคนให้ได้ที่มีความสุขที่สุด

            สิ่งสำคัญที่สุดในทุกครั้งที่เราเป็นพิธีกร เราจะต้องท่องไว้ให้ได้ว่า คนที่เขามา เขาไม่ได้มาดูพิธีกรนะ เขาไม่ได้มาดูเรา เขามาดูศิลปิน มาดูโชว์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ บางคนเขาไม่ได้รับรู้ว่า เราทำอะไรอยู่ เช่น แขกที่มาในงาน เขาก็อยากดูศิลปินเร็ว ๆ เขาก็จะรู้สึกว่า ทำไมพิธีกรคนนี้พูดนานจังเลย พูดอยู่นั่นแหละ พูดไม่หยุด จะดูศิลปิน แต่เขาไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว เราพยายามยื้อไว้ให้นาน เพราะว่าหลังเวทีเขายังไม่พร้อม ศิลปินยังไม่มาบ้าง ศิลปินยังไม่พร้อมบ้าง หน้าที่ของเราที่ต้องทำคือ เราต้องพยายามยื้อเวลาให้นานที่สุด เพื่อที่จะให้ทุกโชว์ออกมาดีสู่สายตาคนดูที่พร้อมมากที่สุด

การวางตัว ทัศนคติ และความสามารถ 3 สิ่ง ที่พิธีกรต้องมี

            นอกเหนือจากความสามารถแล้ว อีกสิ่งที่แผ่นฟิล์มให้ความสำคัญเสมอ ก็คือการวางตัวและทัศนคติ

            การเป็นนักพูดที่ดี ควรเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ถ้าไม่เริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี คุณจะไม่สามารถยืนตรงนี้ได้นานเลย เราต้องยอมรับและรับฟังมาก่อน เราถึงจะพูดได้ ทัศนคติ การวางตัวสำคัญมาก เป็นคนที่ขึ้นเวทีจะเป็นอีกแบบหนึ่ง พูดได้น้ำไหลไฟดับ จะสนุกสนานร่าเริง แต่เวลาเราใช้ชีวิตปกติ จะเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งเพื่อนสนิทจะรู้ดี พี่โอ เป็นคนที่สอนเรา ทำให้เรียนรู้การเป็นนักพูดที่ดี ต้องยกมือไหว้ทุกคน เราจะต้องถามเขาว่ามีอะไรต้องปรับบ้าง มีอะไรจะให้ทำเป็นพิเศษไหม ต้องแก้ไขยังไงบ้าง เราต้องให้เขาสามารถแนะนำเราได้ เราต้องทำให้เขาเห็นว่า เราไม่ได้มาเพราะพูดเป็นอย่างเดียวนะ เราฟังได้ด้วย

            พูดเป็นกับพูดได้ มันต่างกัน ยิ่งเราอยู่กับการพูด เราต้องทำงานร่วมกับคน เรายิ่งต้องรู้จักพูด สิ่งไหนควรพูด สิ่งไหนไม่ควร หลายคนชอบมองว่า การพูดตรง คือ คนตรง แต่จริง ๆ แล้ว มันมีเส้นบาง ๆ กั้นกัน พูดตรง กับพูดไม่เป็น ถ้าเราเป็นนักพูด การรู้จักพูดนั้นสำคัญ เพราะเราพูดอาจไม่คิดอะไร แต่คนที่ฟังเขาจำไม่ลืม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทัศนคติที่ดี เราจะต้องมีทัศนคติที่ดีควบคู่กันไปกับความสามารถ นี่แหละคือพิธีกรที่ดี

พิธีกรคู่ขวัญคู่ฮาที่ลุยงานไหนก็มีแต่…ความฮากระจาย

            แน่นอนว่าแผ่นฟิล์ม เป็นพิธีกรของมหาวิทยาลัยมาหลายงาน แต่ในเกือบทุกครั้ง ก็จะได้ยินเสียง “พี่โอ” พิธีกรคู่ขวัญเธอเช่นกัน แล้วอะไรกันที่ทำให้สองคนนี้เป็นที่จดจำ

            จริง ๆ เรามองว่า ไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะพิธีกรขนาดนั้น เพราะในมหาวิทยาลัยเรา ยังมีอีกหลายคนที่เป็นพิธีกรที่เก่ง แต่อาจเป็นเพราะเราแพ็คคู่กันบ่อย ซึ่งเราเป็นคนที่ล้น ๆ อยู่แล้ว และพี่โอ ก็คือ ฟิล์ม เวอร์ชั่นผู้ชาย ยิ่งล้นเข้าไปอีก บ้า ๆ บอ ๆ ทั้งคู่ ก็อาจทำให้งานมันยิ่งสนุก เราว่าน่าจะเป็นการพูดถึงปากต่อปาก เพราะเราก็ทำเต็มที่ของเราในทุกครั้ง ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่เราใส่เต็มร้อยทุกงาน เราไม่ได้โฟกัสว่ามันคืองานเล็ก งานใหญ่ เราโฟกัสว่ามันคืองานที่เรารัก ในทุกครั้ง ที่เราได้จับไมค์พูด เราไม่ได้มองว่า มีคนฟังเรากี่คน มีคนสนใจเรามั้ย มีคนมางานเยอะรึเปล่า เราแค่ทำมันด้วยความสุขและใจรักในทุกครั้ง ต่อให้ไม่มีคนฟังแม้แต่คนเดียว เราก็จะพูด พูดไปจนกว่าจะไม่มีเสียงให้พูด

            เราต่างส่งพลังบวกให้กันเสมอ เราต่างเชื่อมั่นว่าอีกคนจะต้องทำมันได้ เลยแฮปปี้ในทุกครั้งที่เราได้ทำ มันคือความสุข ที่ต่างคนต่างไว้ใจ มันเลยทำให้เราทำงานคู่กันออกมาได้ดี มันเคยมีงานที่เราไม่ได้คู่กัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เราต้องปรับเข้าหากันใหม่ ต่อให้เราทำงานคู่กับหลายๆ คน แต่เชื่อเลยว่า พิธีกรทุกคน จะมีคนๆ หนึ่งแหละ ที่เคมีเข้ากันที่สุด

ที่สุดแห่งความทรงจำ จะพูดไปจนกว่าจะไม่มีเสียงให้พูด

            งานที่ประทับใจที่สุด คงจะเป็นงาน  BU Music contest เป็นงานของชมรมดนตรีสากล ซึ่งได้ทำคู่กับ “พี่โอ” อีกเช่นเคย

            สิ่งที่เราประทับใจที่สุด คือ งานนี้เราได้ปลดล็อคตัวเอง คือต้องขอย้อนกลับไป ตอนเราเข้าชมรมแรก ๆ เราสร้างบาดแผลให้ตัวเอง ตอนนั้น เป็นผู้ดำเนินรายการของโต้วาที สิ่งที่ผิดพลาดและยิ่งใหญ่ที่สุดในการเป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ คือการที่เราประกาศฝั่งที่ชนะผิด ซึ่งฟิล์มประกาศผลผิด วันนั้นเราร้องไห้หนักมาก มีแรงกดดันหลายอย่าง แต่ละคณะทะเลาะกันส่วนหนึ่งเพราะเราประกาศผลผิด มันก็เลยยิ่งเป็นบาดแผลกับเรา เราสร้างเรื่องไว้ รู้สึกว่า การที่เราเป็นพิธีกร แล้วเราประกาศผลผิด มันคือ ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ มันก็เลยเป็นแผลฝังใจ หลังจากวันนั้น ก็ระวังมากขึ้น

            จนกระทั่งมางานนี้ ตอนวินาทีนั้น เขาส่งผลประกาศมาในมือเรา ก็หันไปมองหน้าพี่โอ แล้วพี่โอเห็นสายตาเรา สีหน้าเรา เขาจะรู้ดีว่าเราไม่กล้าประกาศ ตอนนั้น มันต้องประกาศแล้ว เพราะผลมันอยู่ในมือเรา เราเงียบไปพักหนึ่ง เรากังวล แต่สายตาของทุกคน ที่มองเราอยู่ข้างหน้า เรารู้ว่า เราจะไม่เคว้งคว้าง ถ้าเรามีความกังวลอะไร เราจะมองไปด้านล่างเวที เห็นเพื่อนเราตลอดว่า เพื่อนเราอยู่ไหม พอเราเห็น ก็บอกตัวเองได้ว่า ไม่เป็นไร มีพวกเขาอยู่ตรงนี้ ถ้าเราผิดพลาดขึ้นมา อย่างน้อยก็มีเพื่อนเราที่จะไม่ด่าเราอย่างแน่นอน

            วันนั้นบอกกับตัวเองว่าต้องปลดล็อคตัวเองให้ได้ ถ้าไม่เป็นวันนี้ วันอื่นเราก็จะทำไม่ได้อีก วินาทีที่เราจะประกาศจริง ๆ มือสั่น ขาสั่น แต่เราพยายามตั้งสติให้ดี อ่านผลประกาศให้ขึ้นใจ พอพูดออกไป แล้วก้มมอง คือ เฮ้ย!! เราประกาศถูกแล้ว ตอนนั้นคือใจฟูมาก บอกไม่ถูก รู้แค่ว่า เรากล้าประกาศรางวัลต่อไปเลย

การสมดุลเรื่องเวลา ทั้ง เรียน งาน กิจกรรมทำอย่างไร

            เราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพราะเราเป็นพี่คนโต เป็นเสาหลักต้องเลี้ยงดูครอบครัว  ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ต้องบอกก่อนว่า เราค่อนข้างโชคดี ตรงที่เรามีเพื่อนที่ดี ทุกครั้งที่เราไปทำงาน แทบไม่เคยต้องห่วงเลย ว่าเราจะตามงานทันไหม เรียนไม่ทันหรือเปล่า เพราะเพื่อนคอยตามคอยช่วยทุกอย่าง  แล้วจะพูดกับเราเสมอเลยว่า ไปทำงานที่เรารักเลย ไม่ต้องห่วงทางนี้ เขาจะอยู่ช่วยเรา ไม่ไปไหนแน่นอน

            เราเป็นคนที่ใช้ชีวิตค่อนข้างสุด เรียนคือเรียน รักษาเกรดอย่างดี แต่ไม่ใช่คนซีเรียส ค่อนข้างสนุกสนาน แทบไม่เคยโกรธใครเลย  ถ้าเล่นคือเล่น เที่ยวคือเที่ยว ทำงานคือทำงาน ทุกบทบาทเราจะทำมันให้ออกมาดีที่สุด

            เอาชนะความกลัวด้วยความกลัวกว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ฝันเป็นจริง เอ็มซีมือหนึ่งของมหาวิทยาลัย ยังบอกว่า น้อง ๆ ที่กลัวในการเริ่มทำความฝัน อยากให้เอาชนะความกลัว ด้วยความกลัวกว่า กลัวที่จะไม่ได้ทำมัน กลัวที่จะไม่ได้ในสิ่งที่ฝัน แล้วน้องจะไม่กลัวอีกต่อไป ส่วนใครที่อยากเป็นพิธีกร แล้วไม่กล้าพูด ไม่เป็นไร แต่น้องต้องกล้าที่จะพยายาม ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก หรือประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

สิ่งที่รักกับเส้นทางที่ครอบครัวเลือกให้ ???

            มาต่อกันที่มี “แมว” ต้องมี “โอ”  แต่ถ้าอยากมีหัวใจที่พองโต ต้องมี “โอ” ด้วยนะครับ ประโยคที่คุ้นหู มาพร้อมกับน้ำเสียงอันสดใสของ “พี่โอ” เชื่อว่าใครที่ได้ยินคงต้องรีบหันมองหาต้นเสียงแน่นอน

พี่โอ ทินกร สมหาญ

            พี่โอ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมาเป็นเอ็มซีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เดิมทีเคยเรียนก่อสร้างมา เพราะว่าที่บ้านส่วนใหญ่เขาทำงานเกี่ยวกับโยธา ผู้รับเหมา ซึ่งที่บ้านก็อยากให้เราไปสืบทอดกิจการ พอเราบอกไม่ชอบ พ่อก็อยากให้เราไปเรียนวิศวะ เราก็ไม่เอา ไม่เอาเลย ร้องไห้ ก็เลยคุยกับแม่ บอกแม่ว่า อยากไปเรียนนิเทศศาสตร์ เกี่ยวกับ ทีวี ดารา พิธีกร สุดท้ายแม่ยอมให้มา จริง ๆ เรียนก่อสร้างมันก็ไม่ได้แย่ แต่เราไม่ได้รัก

            เราเป็นคนชอบพูดอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ๆ คือ รู้สึกว่า การที่เราอยู่เบื้องหน้า แล้วมีคนมองเราหลายๆ คน พอเราพูดอะไรที่มันโดน เขาก็จะปรบมือ เราจะใจชื้น ชื่นใจ รู้สึกได้กำลังใจ จากคนรอบข้างมาก ๆ เลยมาเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็รู้สึกว่าที่นี่แหละ ที่ของเรา มันเป็นตัวเองมากที่สุด จากก่ออิฐ ก่อปูน ขน หาม มันต่างกันมาก

            มีความตั้งใจว่า ถ้ามาเรียนที่นี่จะทำงานเกี่ยวกับพิธีกร จะหางานเกี่ยวกับพิธีกร เราก็เดินไปดูงานสัปดาห์กิจกรรม ไปเจอชมรมปาฐกถา และโต้วาที ก็ได้เข้าไปถามพี่เขา รายละเอียดต่าง ๆ เขาบอกเป็นชมรมเกี่ยวกับการพูด การเป็นพิธีกร การเป็นนักโต้ ทีนี้เราสนใจก็สมัครเลย

            เราพยายามมาตลอด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแคสพิธีกร ร้องไห้ เข้าโรงพยาบาลเลยตอนนั้น ด้วยความเครียด ก็โทรคุยกับแม่ ร้องไห้กับแม่ ดราม่า ว่าทำไม ลูกถึงทำไม่ได้สักที เพราะอะไร แต่พอได้กำลังใจจากที่บ้าน ก็คิดได้ว่า ถ้ามีความฝันแล้ว ถ้าเราหยุด มันก็จะหยุดแค่นั้น

ความพยายาม คือ บันไดสู่ความสำเร็จ

            ทักษะและกระบวนการในการฝึกฝนของ “พี่โอ” เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีโอกาสก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองในทุกด้าน เพื่อให้ตัวเองเป็นพิธีกรที่ดี

            เราเป็นคนพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด เพราะว่าเป็นคนอีสาน มันก็จะมีออกติดสำเนียงอีสานมา เราก็ฝึกอ่าน ฝึกพูดหน้ากระจก ฟังข่าวเยอะ ๆ อ่านข่าวเยอะ ๆ ฝึกจนเรารู้สึกมั่นใจในคำพูดของเรา พูดชัดขึ้น บุคลิกดีขึ้น

            เราจะใช้ชีวิตในแต่ละวัน เปรียบเสมือนเราอยู่บนเวที เวลาไปกินข้าว ก็จะแบบ สวัสดีครับคุณป้าครับ พอดีผมขอซื้อกับข้าวหน่อยครับคุณป้า คือพูดติดพิธีกรไปเลย พูดในสำเนียงที่เป็นทางการนิดนึง พยายามคุยกับเพื่อน กับคนเยอะ ๆ กล้าแสดงออกหน้าห้อง เช่น อาสาไปพรีเซนท์งานหน้าห้อง หรือก่อนขึ้นเวที พี่จะละลายพฤติกรรมตัวเองก่อน ทำให้หลุดจากอาการเครียด วิตกกังวล เราจะปลดปล่อยด้วยการเต้น การกรี๊ด การร้อง ทำให้ตัวเองสนุกที่สุด ทั้งที่มันจะเป็นสถานการณ์ที่กดดันก็ตาม แล้วก็ให้กำลังใจตัวเองโดยการโทรหาแม่ ให้แม่ให้กำลังใจ พอเราได้กำลังใจจากคนที่เรารัก มันทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรต้องกลัวแล้ว

            ความฝันของเรา คือ อยากเป็นพิธีกร ตั้งนิพพานมาไว้แล้ว และเป็นสิ่งที่เราพูดกับครอบครัวไว้ด้วย  ว่าเรามีความชอบด้านการเป็นพิธีกร ถ้าได้ไปเรียน จะทำผลงานเกี่ยวกับพิธีกร หรือจะออกงานเบื้องหน้า จะทำให้ที่บ้านเห็นว่า เราก็มีความสามารถ มันก็เหมือนกับเราแบกรับคำพูดที่เราพูดไว้ ครอบครัวยอมให้มาเรียนแล้ว เราก็ต้องทำมันให้ได้

ปาฐกถาและโต้วาที ชมรมปากดีที่รวมนักพูด

            ประสบการณ์ของคนในชมรม มันจะมีคนที่เก่งกันอยู่แล้ว มีศิลปะด้านการพูด จะทำให้ตัวเราเป็นคนที่กล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น พูดเก่งมากขึ้น พูดรู้เรื่องมากขึ้น ตอนเราพูด จะมีพี่คอยบอกว่าเราออกเสียงไม่ชัด หรือมีคำไหนที่ไม่ได้เป็นทางการของพิธีกร เขาก็จะแนะนำซึ่งกันและกัน ชมรมปาฐกถา เป็นชมรมเกี่ยวกับการพูดเป็นหลัก จะมีงานพิธีกรให้น้อง ๆ คอยไปแคส คอยไปฝึกกัน

            สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลย หรือเป็นคนพูดไม่เก่ง พี่ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น เพราะสำหรับพี่การก้าวขาเข้ามาในชมรมนี้ คุณมีแค่ใจและความพยายาม มันก็สามารถทำให้คุณพัฒนาและก้าวเข้าไปเป็นตัวเองในที่สุด

พิธีกรอาชีพในแบบฉบับ…มีโอ

            เวลาพี่ไปทำงาน พี่ก็จะทักทายทุกคน เราจะศึกษาว่าใครทำอะไร พอเราลงจากเวทีเราก็จะมาถามความเห็นเขาว่า ผิดพลาดตรงไหนรึเปล่า ต้องแก้ตรงไหนไหม เอเนอร์จี้ผมพอรึเปล่า ถ้าเราทำอะไรผิดนะ พี่ก็จะขอโทษ จะไม่ปล่อยผ่าน การเป็นพิธีกรไม่ใช่แค่เรามีความสามารถ บางทีความสามารถเยอะ แต่ทัศนคติแย่ ไม่มีใครเอานะ มันคุยแล้วเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เขาก็ไม่ต้องการ การวางตัวก็สำคัญมันจะต้องมีการไปพูดต่อ ๆกันอยู่แล้วว่าเราเป็นคนน่ารัก เราสามารถรับฟังคำติชมของเจ้าของงาน ผิดพลาดตรงไหนก็ช่วยปรับแก้ร่วมกัน

สิ่งที่ต้องรับมือในอาชีพพิธีกร

            อาชีพพิธีกร ต้องเตรียมใจ โดนด่า และโดนเมิน เราต้องเตรียมใจ พอขึ้นเวทีเราไม่ต้องสน ไม่ต้องแคร์ ใครจะทำหน้าไม่พอใจ ประโยคที่ว่า โอ้ย ลงได้แล้ว อยากดูศิลปิน โดนหมดแหละ การเป็นพิธีกร เราจะทำลัดขั้นตอนไม่ได้ เราก็รับบรีฟมาจากโคเอ็มซีเหมือนกันว่าข้างหลังเวทียังไม่พร้อมนะ เราก็ต้องพูดยื้อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ให้เขาเบื่อ เล่นกับคนดู ถ้าคนดูไม่เล่นด้วย ก็เล่นกับตัวเอง มโนด้วยซ้ำ บางงานพี่เล่นมุกไปแล้ว ไม่มีใครหัวเราะ เราก็จะแบบ อุ้ย ข้างหน้าหัวเราะกันเต็มเลย ทั้งที่ไม่มีใครหัวเราะเราหรอก เราก็ต้องมโน ต้องทำให้ตัวเองสนุกตลอดเวลา เหมือนเราแสดงละคร

อุปสรรค คือ ความท้าทาย ยิ่งผ่านไปได้จะยิ่งพัฒนา

            สำหรับการเป็นพิธีกร นอกจากเราจะต้องรับมือกับอุปสรรคจากคนดูแล้ว อาชีพนี้มักมีบททดสอบที่ท้าทายมาให้เราได้ลองฝึกและพัฒนาแก้ไขสถานการณ์ไปกับมัน พี่โอบอกว่านอกจากหน้าที่ของเราแล้ว ความรู้รอบตัวที่เราจะต้องปรับให้เข้ากับงานนั้นก็สำคัญ

            งานในมหาลัยส่วนใหญ่คนที่มาดูเราจะเป็นนักศึกษา เราจะเอ็นจอย สนุก ใช้ศัพท์วัยรุ่นเขาก็จะเข้าใจ หัวเราะ แต่งานนอกที่พี่เคยไปเป็นพิธีกร ส่วนมากก็จะมีแต่ผู้ใหญ่ พอเราเล่นมุกอะไรไป เขาก็จะไม่เข้าใจ เราพูดไปเขา ก็จะไม่สนใจ มันเลยเป็นข้อแตกต่างตรงนี้ แต่จริง ๆ ก็เป็นข้อแตกต่างระหว่างวัยมากกว่า แต่พี่ก็ยังทำในแบบตัวตนของเรา

            ตัวอย่าง งานเกมส์ของมหาวิทยาลัย เป็นงานใหญ่มาก ซึ่งเป็นพิธีกรคู่กับน้องคนหนึ่ง ที่อาจจะยังไม่จูนกัน น้องมีความตื่นเต้น พอเราเห็นสีหน้าพิธีกรคู่ของเรา แล้วเขาหน้าเสีย เราจะหน้าเสียไปด้วย มันทำให้พลังงานลดลง เช่น เรายิงมุกไปแล้ว แต่เขาไม่รับ ก็มีแบบชะงักบ้าง พี่เองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง ฉะนั้นต้องเตรียมใจของเราไว้ก่อนเลยว่า เขาไม่ใช่พิธีกรที่รู้ใจกัน ถ้าจะเล่นอะไรแล้วเขาไม่ได้แก้ให้ ก็พยายามเลี่ยงมุก ที่เราส่งให้เขา แล้วเขาไม่ส่งกลับมาดีกว่า

ทำงานกับ M.C. คู่ขวัญ จะรู้ใจกันตบมุกมันส์ไม่มีพลาด

            การเป็นพิธีกรคู่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานมีสีสัน สำหรับ “พี่โอ” แล้ว การเป็นพิธีกรคู่ก็คงต้องยกให้ “แผ่นฟิล์ม” นอกจากจะมีแมวต้องมีโอแล้ว ก็ต้องมีพิธีกรคู่ขวัญ “แผ่นฟิล์ม” มาคอยตบมุกให้ด้วย

            เราเริ่มงานแรกด้วยกัน มาจากชมรมปาฐกถาและโต้วาทีเหมือนกัน การที่เราได้อยู่ด้วยกัน มันทำให้เรารู้สึกว่า เคมีของเราใกล้กันมาก มีข้อผิดพลาดเหมือนกัน คุยกันรู้เรื่อง พอเราได้ทำงานร่วมกัน เจอกันหลายครั้ง การทำงานมันราบรื่นและผ่านไปได้ด้วยดี ปล่อยมุกออกไป เราก็ไม่ต้องมานั่งกังวลว่า อีกฝ่ายจะแก้มุก ยิงมุกกลับให้เราไหม ยังมีเรื่องเรื่องการให้กำลังใจกันหรือทำงานก็จะคอยเตือนสติกันตลอด

ความสุขของอาชีพพิธีกร

            มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า คือ ความสุข แต่ที่สุขที่สุด คือ การทำให้ครอบครัวได้ภูมิใจ วันนี้ “พี่โอ” ได้แสดงศักยภาพหน้าที่พิธีกรให้คนได้ชื่นชม และครอบครัวได้ชื่นใจ

            เรารู้ว่าการจับไมค์การยืนอยู่บนเวทีนั่นแหละ คือ ความสุขของเรา เพราะว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ มันอยู่ในจุดที่เราฝัน สุดท้ายแล้วความฝันของเรามันเป็นจริง มีงานหนึ่ง เป็นงานแต่งงาน พี่ได้เป็นพิธีกรในงาน ญาติเราเยอะมาก แขกเขาก็นั่งกันเต็มเลย แล้วอยู่ ๆ เขาก็พูดว่า ทำไมเด็กคนนี้พูดเก่งจัง ไปเอาคำพูดมาจากไหน สรรหามาจากไหน มันก็เลยรู้สึกว่าการที่เราทำสิ่งที่ชอบออกมาดี ให้คนที่เรารักเห็น มันรู้สึกภูมิใจมาก ๆ

            การไม่ละทิ้งความฝันคือสิ่งที่สวยงาม ความพยายามจะทำให้เราทำมันได้และยังเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าเราได้ทำมัน เวลาเดินไปข้างหน้ากับตัวเราที่พร้อมพัฒนา เราจะชายน์ตัวเองออกมาของทุกการผ่านประสบการณ์

            ทุกคนมีความฝันอยู่แล้วเก็บความฝันไว้ อย่าทิ้งความฝัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังทำไม่เต็มที่หรือเปล่า เรายังตั้งใจไม่พอหรือเปล่า การที่เราจะประสบความสำเร็จ จริง ๆ มันไม่ได้ง่าย เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราจะต้องเจออุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ มากมาย

            เราเกิดมา ไม่ได้เก่งเหมือนคนอื่น แต่สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ ความพยายาม ซึ่งความพยายามมันจะสามารถพัฒนาเราให้เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ มันไม่ได้มีใครเก่งตั้งแต่เกิด ทุกคนที่เขาเก่ง เขาผ่านปัญหา เขาเจอปัญหา อุปสรรคมากมายมาแล้ว การที่เขาจะประสบความสำเร็จได้เขาก็ต้องอดทนและเข้มแข็ง

            มาถึงตรงนี้เราเชื่อแล้วว่าพรแสวงนั้นสำคัญกว่าพรสวรรค์ เพราะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ ถ้าเราพยายามมากพอ เหมือน MC คู่ขวัญของมหาวิทยาลัยทั้งสองคนนี้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ แผ่นฟิล์ม-อนันด้า ปุ้งหลู และโอ-ทินกร สมหาญ รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ความพยายามจะทำให้คุณทำมันได้ คุณจะเสียใจถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างเลย

Photographer

เรามีคนเดียวในโลก เป็นตัวเอง และภูมิใจกับมัน