ตระเวนคุยกับพี่ป้าน้าอา พ่อค้าแม่ค้าในม.กรุงเทพ เรียนรู้การทำธุรกิจหลัง Covid-19

เปิดใจพ่อค้าแม่ค้าชาว BU ถึงวิธีทำธุรกิจในยุค New Normal ด้วยใจที่เข้มแข็ง

            หลังสถานการณ์ Covid-19 ที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ภาวะปกติที่ใคร ๆ ต่างก็รักษาระยะห่าง เราก็ได้กลับมาเรียน และมากินอาหารอร่อย ๆ กับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพกันอีกครั้ง เราลงพื้นที่ ตระเวนพูดคุยกับพี่ป้าน้าอา ซึ่งเป็น แม่ค้าพ่อค้า ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพว่าพวกเขาปรับตัวและรับมือกับการทำธุรกิจในยุค New Normal กันอย่างไรบ้าง

ข้าวขาหมูมาลี ร้านเก่าแก่ในม.กรุงเทพ

            เจ้าของร้าน คือ คุณลุงพรและป้ามาลี ซึ่งร้านนี้ได้เปิดที่มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 รวมระยะเวลานานกว่า 23 ปีแล้ว คุณลุงพร เล่าให้เราฟังว่า ร้านข้าวขาหมูมาลี มีสองสาขา ร้านที่อยู่ตึกนิเทศเป็นสาขาสอง ส่วนสาขาแรก ตั้งอยู่ที่โรงอาหารคณะวิศวะ ปัจจุบันปิดไปหนึ่งสาขาแล้ว เหลือแค่ร้านเดียวที่โรงอาหารนิเทศเท่านั้น

            เราถามว่าขายดีไหม ? คุณลุงตอบว่า “กำไรในแต่ละเดือน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาในแต่ละช่วง อย่างช่วงเปิดเทอมก็จะขายดี เพราะมีนักศึกษามาเรียนเยอะ แต่อย่างในช่วงซัมเมอร์ ยอดขายก็จะลดลง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในมหาวิทยาลัยจะมีจำนวนคนซื้อแน่นอนกว่า แต่ถ้าขายข้างนอก ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาซื้อบ้าง” นี่คือเหตุผลที่ลุงพร ตัดสินใจมาขายที่ม.กรุงเทพเพียงที่เดียว

บทเรียนช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา

            คุณลุงพรบอกว่า ได้เตรียมใจไว้บ้างแล้ว จากสถานการณ์ที่เราตามข่าวสารอยู่ตลอด ก็คิดว่ามหาวิทยาลัยอาจจะปิดนะ แต่ลุงพรโชคดีที่วัตถุดิบในร้านเน่าเสียยาก เก็บได้นาน ตอนช่วงที่มหาวิทยาลัยปิด ส่วนตัวลุงไม่ได้ไปขายที่ไหนเลย แต่จะเป็นลูกสาวของลุง ที่นำขาหมู หรือน้ำพริกทำเอง ไปขายบนเพจเฟสบุ๊ค แต่ก็มีคนสั่งไม่เยอะ ก็พออยู่ได้ เพราะไม่ได้มีภาระอะไร ลูกก็โตมีการมีงานทำหมดแล้ว เลยไม่หนักใจเท่าไหร่

            ก่อนโควิดระบาด เป็นช่วงที่กำลังขายดีเลย เพราะเป็นช่วงที่นักศึกษามาเรียนกันครบ แต่หลังโควิดจำนวนนักศึกษาที่มาเรียนก็น้อยลง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คุณลุงพร ยังให้กำลังใจทุกคนว่า “เราไม่ได้โดนคนเดียว คนอื่นก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดนกันหมด ต้องคิดแบบนี้ไว้ก่อน เราจะได้ไม่ท้อ”

จากคาวมาถึงของหวาน ชื่นใจกับเครปญี่ปุ่นแสนอร่อย

            จากร้านข้าวขาหมู เรามาต่อกันที่ร้านขวัญใจเด็ก BU เครปบางกรอบนอก นุ่มละมุนจากข้างใน เครปญี่ปุ่น ร้านพี่เอ๋ม ใครไปใครมาก็ต้องมาต่อคิวยาว ๆ รอเครปร้อน ๆ

            พี่เอ๋ม-คุณพัทยา ก้อนผา ขายเครปมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นของการขายเครปญี่ปุ่น คือตอนนั้นพี่เอ๋มทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายไอติมที่มหาวิทยาลัยมาก่อน แล้วร้านไอติมเลิกขาย พี่เอ๋มตัดสินใจมาขายเครปแทน โดยที่ตัวเองเป็นเจ้าของร้าน และมีรายได้จากการขายเครปอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน

ใคร ๆ ก็ได้รับผลกระทบในช่วง Covid-19

            ร้านเครปของพี่เอ๋มก็ไม่แตกต่างจากร้านอื่น ๆ ที่ต้องหยุดค้าขายในช่วงโควิด พี่เอ๋ม บอกว่า “รู้สึกตกใจ กังวลว่า จะไม่มีรายได้ เพราะขายที่เดียว ไม่ได้ไปขายที่ไหน และไม่มีงานอื่นสำรอง ช่วงมหาวิทยาลัยปิด พี่มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่ช่วงนั้น พี่เลือกที่จะไม่ไปเปิดขายที่อื่น เพราะมองว่าการเปิดร้านใหม่จะใช้เงินลงทุน และพี่คิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย พี่ไม่เสี่ยงดีกว่า แต่ก็ไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยจะปิดนานขนาดนี้ด้วย”

            ความต่างของยอดขายเครปก่อนโควิดกับหลังโควิดเป็นยังไงบ้าง ? พี่เอ๋มบอกว่า “จำนวนนักศึกษาน้อยลง คงเป็นเพราะมีเรียนสลับกับออนไลน์ด้วย แล้วเด็กเลือกที่จะกินข้าวมากกว่าขนมนมเนย เด็กเขาเริ่มประหยัดกัน ยอดขายก็เลยลดลงจากเมื่อก่อนบ้าง แต่ก็พอได้อยู่ ตอนนี้ที่พี่ทำได้แค่เก็บเงินอย่างเดียว ก็จะเก็บเงินให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ร้านขายน้ำป้าน้อย

            เครื่องดื่มหลากสีสัน ที่วางอยู่ตรงหน้า นี่คือ ร้านของป้านิตยา เจ้าของร้านน้ำที่น่ารัก อัธยาศัยดี ป้าน้อย-นิตยา เนียมหอม เปิดขายน้ำ และเครื่องดื่มที่นี่ มานานกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนนี้ ป้าเป็นแม่บ้านอยู่ในมหาวิทยาลัยนี่แหละ แต่เมื่อเริ่มอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงเลือกที่จะเปิดร้านขายน้ำที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพนั่นเอง

ผลกระทบจาก Covid-19

            ป้าน้อย เล่าว่า ช่วงมหาวิทยาลัยปิด ผลกระทบหลักเลย ก็คือ รายได้ เพราะมหาวิทยาลัยปิดไป ป้าไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่ก็ยังต้องกิน ต้องใช้ ลำบากนะ ส่วนของที่เหลือจากที่ร้านก็ไม่ได้เอาไปขายที่ไหน ส่วนใหญ่นำไปกินเอง และสินค้าพวกนี้มีวันหมดอายุ ก็นำกลับมาขายใหม่ไม่ได้ด้วย ป้าไม่เคยคิดไปขายที่อื่นเลย เพราะป้าชินกับการขายที่นี่

            การปรับตัวช่วงหลังจากโควิด ป้าน้อย เลือกที่จะซื้อของให้น้อยลง แต่จะซื้อให้บ่อยขึ้นแทน ถึงแม้จะมีต้นทุนด้านค่าเดินทางเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังดีกว่าซื้อสินค้ามาสต็อคเยอะ ๆ ถ้าเกิดปัญหาที่ทำให้ขายไม่ได้ขึ้นมา ก็จะขาดทุนเลย เพราะสินค้าพวกนี้มีวันหมดอายุ

ตลาดของชาว BU ที่ตั้งของร้านยำลูกชิ้นปลา

            เราบุกไปที่ตลาดตรงตึก A8 เพื่อคุยกับ พี่ศิริมาศ-คุณศิริมาศ พุทธตรง เจ้าของร้านสุดแซ่บอย่าง ร้านยำลูกชิ้นปลา ซึ่งเริ่มขายลูกชิ้นมาตั้งแต่ปี 2561 พี่ศิริมาศ เลือกมาขายที่ตลาด BU เพราะมีคนแนะนำว่า มีนักศึกษาเยอะ น่าจะขายได้ ซึ่งพี่ก็พอใจกับรายได้ที่ขายที่นี่

รับมือ ตั้งสติ และเรียนรู้

            พี่ศิริมาศ บอกว่า ปกติก็จะมีขายที่อื่นอยู่ด้วย แต่ตอนที่เกิดสถานการณ์โควิดก็ไม่ได้ไปขายที่อื่นเลย เพราะก็รู้สึกกลัวโควิดเหมือนกัน รายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม ก็ต้องสู้กันไป ทำอะไรไม่ได้ อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด พอหลังโควิดเศรษฐกิจก็ซบเซา การใช้ชีวิตก็ยากขึ้น แต่รายได้ตอนนี้ก็ปกติดี เพราะอาหารที่พี่ขาย น้อง ๆ นักศึกษาชอบกัน อาจเพราะกินง่าย กินได้บ่อย แต่ก็มีปัญหานิดนึงตรงที่น้องเขาประหยัดขึ้น สถานการณ์ตอนนี้พี่ว่าเราก็ต้องตั้งสติ ยอมรับความจริงก่อน และก็เรียนรู้ไปกับมัน อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

ไข่เจียวแสนอร่อยต้องที่เจียวแหลก

            เดินทางมาถึงร้านสุดท้าย ร้านเจียวแหลก ที่ทุกคนก็ต้องเคยลิ้มลองรสชาติไข่เจียวแสนอร่อย เจ้าของร้าน คือ พี่เชอรี่คุณพัชรี ณรงค์ตะณุพล เราแอบถามอายุแต่พี่เขาขอให้เป็นความลับ แต่ความสวยนั่นไม่ลับเลย ซึ่งพี่เชอรี่ได้เปิดร้าน “เจียวแหลก” มา 3 ปีกว่าแล้ว สำหรับกำไรจากการขายไข่เจียวนั้น พี่เชอรี่ เปิดเผยว่ารายได้พออยู่ได้ไม่มากไม่น้อย

ปิดร้านเพื่อความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด

            พี่เชอรี่ บอกว่า ที่ผ่านมาเข้าใจว่าร้านต้องปิด เพราะโรคระบาดนี้ อันตรายมาก เราก็ต้องดูแลสุขภาพของเราและคนอื่นด้วย ก็คิดซะว่าถ้าไม่ได้ป่วย ยังไงก็ต้องได้กลับมาขายแน่ ๆ ช่วงปิดได้ไปขายของออนไลน์กับน้องชาย แต่ยอดขายก็ไม่ได้ดีนัก พี่เชอรี่ยังบอกอีกว่า ขอให้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกจะดีกว่า แต่ตอนนี้ทุกคนก็ต้องช่วยกันป้องกันให้มันไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นวิธีการรับมือที่ดีที่สุดของเราในตอนนี้

            ทั้งหมดนี้ คือเรื่องเล่าของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราขอส่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน และขอให้ทุกคนรับมือกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) ด้วยใจร่ม ๆ ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากาก และการ์ดอย่าตกกันนะคะ!!!

Writer

My type is INTJ. It’s really hard to find. You know? So, If you can find me. You are the luckiest person in the world : )

Writer

They say: Do what you love and the money will come to you. Just ordered pizza, now I am waiting

Writer

ชอบในการที่จะเป็นตัวของตัวเองและไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของคนอื่น รักอิสระ ชอบพบปะผู้คน อาจจะดูเป็นคนตรง ๆ แต่จริงใจ ชอบทำงานที่พัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอ

Writer

การบูสพลังที่ดีของผมคือการทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยเฉพาะการไปเที่ยวทะเล การหาทานอาหารที่อร่อย พออยู่สถานการณ์แบบนั้นมันมีความสุขมาก การถ่ายรูป การร้องเพลง การคิดสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้ผมเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

Writer

เป็นคนพูดมาก แต่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เลยดูเงียบ ๆ ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีเป้าหมายเป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่ แต่พยายามที่จะลองทำอะไรหลายอย่าง ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะอยากลองตามหาตัวเองตามหาสิ่งที่อยากทำจริง ๆ

Writer

เด็กบริหารที่ชื่นชอบการหาประสบการณ์ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะประสบการณ์จะทำให้เราเติบโตขึ้น

Writer

เป็นคนเงียบ ๆ ขี้อาย แต่ถ้ากับคนที่สนิทด้วยจะเป็นคนเฮฮา ตลกขบขัน เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เวลาว่างชอบดูซีรี่ย์ หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่กลัวที่จะลองสิ่งใหม่ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาตัวเอง

Photographer

ผมรักการที่จะมีวันพรุ่งนี้